เปลือยใจให้กับนู้ด…'แมท-โศภิรัตน์'


หากคำว่า “อุปสรรค” หรือ “คำติเตียน” ก่อให้เกิดการสร้างคนให้เป็นผู้ที่แข็งแกร่งในชีวิต โมงยามนี้ก็ถือว่าเป็นนิมิตหมายอันดีสำหรับวงการ “โฟโต้เปลือย” และวงการ “ศิลปะนู้ด” ทุกแขนงสาขา อย่างมิอาจปฏิเสธได้

เพราะหลังจากสารคดีเรื่องสั้น “นางเปลือย” ปลุกปั่นกระแส “ศิลปะ-อนาจาร” ให้ลุกขึ้นมาอีกครั้ง!! บนหน้าสื่อสังคมไทย และ (อีกครั้ง) เช่นเคย…ที่เรื่องเหล่านี้ดูจะมาพร้อมเสียงก่นด่าวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานา ถึงศีลธรรมจรรยาความถูก-ผิด

คุณเคยถามตัวเองหรือเปล่าว่า 'เปิดใจ' ยอมรับฟังเสียงแห่งร่างเปลือยเปล่านี้มากน้อยเท่าใด
และพยายาม “แง้ม” หรือ “แงะ” ปมที่พันธนาการศิลปะมาอย่างยาวนาน
ที่สำคัญคือ คุณเอาอะไรมาตัดสิน อคติ? ทฤษฎี? หรือเสียงข้างมากของคนในสังคมที่บ่มเพาะกันมา

ถ้าอย่างนั้นคงจะไม่มีอะไรดีไปกว่า การได้เรียนรู้เนื้อแท้ผ่านสายตาหลังเลนส์ชัตเตอร์ของผู้ที่คลุกคลีตีโมงในวงการ และยิ่งเป็นกุลสตรีสายเลือดไทยเต็มขั้นที่ต่างชาติให้การยอมรับในฐานะ “ศิลปิน” นู้ดอาร์ตคนหนึ่งของโลกนี้ เจ้าของผลงานอันเป็นที่ประจักษ์อย่าง “Halloween street art party” (nude art) 2013, Photo Fair Thailand 2013, Photo book “Being nude is a natural” 2013 และ “all about nude” Photo Exhibition 2014

“แมท-โศภิรัตน์ ม่วงคำ” หรือ “ผู้หญิงถือกล้อง” เชื่อว่าชื่อนี้คงจะดูโก้ไม่น้อยด้อยกว่าใคร ซ้ำยังน่าจะทำให้เส้นบางๆ แลกระจ่างชัดยิ่งขึ้นสำหรับคนนอกวงการอย่างเรา

ว่าด้วยเรื่อง “นู้ดๆ” ที่ควรจะเข้าใจ (ใหม่)

“นู้ด คือการเปลือย ไม่ว่าภาพจะออกมาแบบไหนก็แล้วแต่ คือถ้านางแบบเปลือยก็ถือเป็นนู้ดทั้งนั้น” แมท โศภิรัตน์ กล่าวเริ่มต้นขยายภาพกว้างๆ ของนิยามคำว่า “นู้ด” ให้เราเข้าใจ
“คนที่ไม่ได้อยู่ในวงการนี้ ย่อมมีคำถามมากมายเกี่ยวกับนู้ด เพราะงานนู้ดมีหลายประเภท แบ่งตามลักษณะการถ่ายและภาพที่ออกมา

“อย่างบนแผงหนังสือพวกแมกกาซีนต่างๆ ก็เป็นนู้ดเหมือนกัน เพียงแต่เป็นคอมเมอเชียลอาร์ต เป็นงานที่เอาไปใช้เชิงพาณิชย์ เป็นนู้ดที่จัดอยู่ในประเภท “Hiden or Corered Nude” (ไม่สามารถเผยให้เห็นหน้าอกและอวัยวะเพศ) “Semi Nude” (สามารถเผยหน้าอกแต่ไม่เผยอวัยวะเพศ) เราจึงเห็นแนวประเภทนี้เยอะกว่า เพราะเข้าทางกฎหมายไทยที่ห้ามไว้

“แต่ที่กำลังตกเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถกเถียงในสังคมว่าเป็นอนาจาร คือ นู้ด ประเภท “Nude or Casual nude” “Erotic Nude” และ “Adult Nude” ที่เปลือยเผยให้เห็นเรือนร่างเต็มตัว หรือมีการถ่ายยั่วยุกามารมณ์แบบมีศิลปะ”

“ซึ่งต้องทำความเข้าใจก่อนว่าที่คนมองเป็นอนาจาร เพราะว่ามันเกี่ยวกับจารีตประเพณี วัฒนธรรม การไม่เคยชินที่เห็นแบบนี้ ต่อให้ไม่มีกฎหมายมาย้ำ เขาก็คิดว่าเป็นอนาจารอยู่ดี” ช่างภาพสาวอธิบาย ก่อนจะชี้เหตุผลการที่คนส่วนใหญ่ในสังคมบ้านเรามองว่าเป็น “อนาจาร” มากกว่า “ศิลปะ” เพราะความไม่รู้และไม่เปิดใจ

“บ้านเรายังไม่เปิดใจเท่าไหร่ แต่บอกว่าตัวเองเป็นเมืองที่เจริญแล้ว ขณะที่เมืองนอกเขาถือว่า “นู้ด” เป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องของศิลปะ เป็นเรื่องที่ศึกษาเล่าเรียนกัน ไม่ใช่เรื่องที่ผิด

“และอีกอย่างด้วยว่าสมัยก่อนคนไม่รู้ คิดว่าภาพนู้ดที่ดีต้องไม่เห็นหัวนม ไม่เห็นอวัยวะเพศ ไม่ใช่!! คือมันเป็นการปลูกฝัง ถ้าไม่มีใครเคยรู้อะไรมาก่อน แล้วใครคนหนึ่งออกมาพูดหรือบอกอะไรสักอย่าง เขาก็จะเชื่อกันอย่างนั้นเรื่อยมา”

“มันขึ้นอยู่ที่ยุค” ช่างภาพสาวเผย “อย่างสมัยก่อนเขาก็ถอดหมดเหมือนกัน แล้วทำไมไม่บอกว่าภาพผู้หญิงเปลือยอกเป็นเรื่องผิด ดังนั้นถ้าทุกวันนี้เราปฏิเสธสิ่งที่เราทำว่าไม่มีตัวตน เท่ากับเราปฏิเสธประวัติศาสตร์ด้วยหรือเปล่า
“ถึงได้บอกว่าต้องเปิดใจ เพราะถ้าเป็นคนที่ถ่ายนู้ดจริงๆ เขามองข้ามจุดนั้นไปแล้ว 'บอดี้' คือส่วนประกอบหนึ่งของภาพ ฉะนั้นหัวนม ของลับ เราไม่ซีเรียส เพราะเรามีเจตนาสื่ออย่างอื่น”

“แล้วมันก็จะโยงมาที่คำถามที่ว่า “ศิลปะ” หรือ “อนาจาร” เราจะแยกแยะออกได้อย่างไร” เธอว่าพร้อมเว้นวรรคเล็กน้อย ก่อนจะบอกให้หลับตา แล้วนึกถึงภาพแรกที่แวบเข้ามาในหัวเป็น “หอศิลป์” หรือ “หนังสือปลุกใจเสือป่า”

“เวลาใครมาถามก็จะสมมติให้ง่ายๆ อย่างนี้เลย คือให้ดูที่ตัวงาน งานมันจะบอกเราเองว่าเป็น “ศิลปะ” หรือ “อนาจาร” คือถ้าแค่ถ่ายผู้หญิงเปลือย ไม่ได้สื่ออะไรเลยนอกจากหน้าอก เรือนร่างของนางแบบก็จบ ภาพมันจะฟ้อง มันซ่อนกันไม่ได้

“เพราะคนที่กำหนดทิศทางงานคือช่างภาพ มันจะสะท้อนสิ่งที่ช่างภาพคิด และต้องการสื่อในภาพ มันจะมีกระบวนการ มีความคิด ไม่อย่างนั้นจะเรียกศิลปะหรือ ศิลปะมันต้องมีคอนเซ็ปต์ เพื่อสร้างกรอบให้คนดูงานเราไปในทิศทางเดียวกับเรา”

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ก่อนจะได้ยลผลงานเรา จะได้ยินเสียงศิลปิน “อารัมภบท” ยาวยืดเกี่ยวกับเรื่องราวที่มาเป็นแรงบันดาลใจ กระทั่งรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ใช้ในการสร้างงานแต่ละชิ้น นั่นก็เพราะต้องการสร้างองค์ความรู้ทางศิลปะให้กับผู้เสพ

“เพราะเราต้องคำนึงถึงผู้เสพด้วย ความรู้ทางศิลปะแต่ละคนมีไม่เท่ากัน คือเรารู้อยู่แล้วว่ามันเป็นอาร์ต แต่ถ้าคนเสพไม่มีองค์ความรู้มาก่อน เขาจะไม่มองอย่างเดียวกับเรา

“เขาอาจจะมองว่าเป็นแรงกระตุ้นทางเพศ ทำให้เกิดปัญหาการข่มขืนอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ จริงๆ มันไม่ใช่ เพราะงานนู้ดที่เป็นศิลปะอยู่ที่หอศิลป์ แล้วคนกี่เปอร์เซ็นต์ที่เข้าหอศิลป์ ถ้าไม่ใช่คนในวงการศิลปะ

“อีกอย่างที่อยากจะบอกก็คือ ศิลปะทุกแขนง ไม่ว่าจะเป็นภาพวาด ภาพเพนต์ รูปถ่าย หรือเสียงเพลง มันทำให้คนจิตใจดีขึ้น ถ้าเขาต้องการลดเรื่องของภัยสังคม ควรจะไปสอนให้คนรู้จักจิตสำนึกที่ดี ไม่ใช่มาบอกว่านี่เป็นต้นเหตุ เป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นอารมณ์”
Ying Yang : ความสมดุลย์จากหนึ่งสิ่งในโลกนี้ ไม่มี... มีแต่ต้องเติมเต็ม
เรื่องของ “นู้ด” คือเรื่องของใจ

อย่างที่หลายๆ คนคงเข้าใจดีแล้วว่าไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่ “แค่ปลดเปลื้องเปลือยอาภรณ์” แล้วนู้ดจะมาเป็นนู้ดได้ในทันทีทันใด หากแต่ว่ามันต้องผ่านกระบวนการตั้งไข่ทางความคิดเพื่อให้ภาพหนึ่งเฟรมมีสาระสารสื่อถึงคนเสพอย่างละเอียด นี่ยังไม่นับเรื่องยิบย่อยอย่างหาสถานที่โลเกชัน หาแบบหญิงชาย หรือหาข้อมูลพื้นฐานรองรับแนวความคิด แล้วไหนจะต้องรบราราวทำสงครามกับกระแสแง่ลบที่คอยถากถางดับฝันอนาคตของศิลปินอีก ไหนจะเรื่องเงินกับคำว่าศิลปินไส้แห้งอีกล่ะ

“เรื่องเงินไม่ต้องพูดถึงเลย ถ้าพูดในฐานะที่จะกำหนดตัวเองเป็นศิลปิน เพราะคงไม่ได้มีใครมาถ่ายอย่างนี้กันบ่อยๆ แล้วงานศิลปะก็เป็นงานที่ค่อนข้างใช้เวลาการสร้างงานเป็นอย่างมาก จะยึดเป็นอาชีพหลักได้ก็นอกจากมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง”

“ใช้ใจล้วนๆ ค่ะ” ช่างภาพสาวกล่าวย้ำยืนยัน “แล้วมันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย คนอาจจะคิดว่างานนู้ดเป็นงานที่ง่าย สบายๆ แค่ลั่นชัตเตอร์ถ่ายภาพเปลือย หรือทำงานในสตูดิโอห้องแอร์”

“เปล่าเลย…มันยากนะที่จะเอาคนเปลือยมาแล้วให้คนรู้สึก คือถ้าเป็นแฟชั่นเรายังใช้เครื่องประดับ ใช้การแต่งหน้า หรือใช้องค์ประกอบอื่นๆ แต่ถ้าเราใช้นู้ดเป็นตัวสื่ออารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแสงเงา เรื่องโลเกชัน ทักษะในการถ่ายรูป คอมโพซิชัน แล้วก็อะไรอีกหลายอย่าง

“อย่างการสร้างงานหนึ่งชิ้นของเรา ก็ต้องมีสตอรีเรื่องราว ตั้งโจทย์ในหัว เพราะอะไร ทำไม ถึงอยากทำ ซึ่งแรงบันดาลใจอาจจะเกิดจากการเห็นโลเกชันที่เวลาขับรถต้องสอดส่ายสายตา เจอะเจออะไรที่น่าสนใจก็เข้าไปดูไปสำรวจ บ้านร้าง บ่อโคลน ป่า มีหมด

“หรือแรงบันดาลใจอาจจะได้รับแรงกระตุ้นจากการดูข่าว เราต้องการจะเสียดสีสังคมที่กำลังเป็นประเด็นในขณะนี้ ก็ต้องไปสืบค้นหาข้อมูลเรื่องที่จะทำ อย่างเรื่องจิตใต้สำนึก ได้คอนเซ็ปต์มาก็ลงงานสำรวจ เก็บหาข้อมูล อ่านหนังสือ แล้วค่อยมาสเกตช์ภาพร่าง หาแบบ หาโลเกชัน”
Scrap : ร่องรอยของความเจ็บ เวลาโดนความรักทำร้าย จำความรู้สึกไม่ได้ แต่รู้ว่ามันเคยมี
และก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อีกเช่นกันหากจะคิดว่า “แบบนู้ด” เป็นกันง่ายๆ ความจริงตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง เพราะการจะมีทักษะและสกิลความสามารสำหรับบ้านเราได้นั้น ต้องเรียนรู้เองจากการลงมือปฏิบัติ ไม่ได้มีตำรับตำราเรียนเปิดสอนเหมือนต่างชาติ

“แบบนู้ดไม่ใช่ใครก็เป็นได้และไม่ใช่ใครก็ได้” เธอว่า ก่อนจะเสริมถึงวิธีการเฟ้นหาแบบสักคนหนึ่งสำหรับเธอ

“สิ่งที่แบบควรต้องมีเลยคือ หนึ่ง ทักษะเรื่องการจัดระเบียบร่างกาย รู้ว่าควรจะเอามือ เอาเท้า ไว้ตรงส่วนไหน ปลายเท้าต้องจัดวางอย่างไร มือไม้ต้องสวย

“อย่างที่สอง ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ถ้าร่างกายไม่มีความแข็งแรง ยืดหยุ่น เวลาโพสท่าจะอยู่ได้ไม่นาน นั่นคือหลักๆ ที่แบบทุกคนพึงมี”

ทั้งนี้ทั้งนั้นนอกจากจะต้องคำนึงถึงความสามารถพื้นฐานที่เธอบอกกับเรา เหนือสิ่งอื่นใดคือ “หัวใจ” อันบริสุทธิ์ที่ต้องการสร้างงานศิลปะ คือยอดแบบที่เธอถวิลหามากที่สุด

“สำหรับเราช่างภาพนู้ดอาร์ต มันเหมือนเป็นการให้เกียรติกัน ให้เกียรติงาน ให้เกียรติตัวเอง เพราะถ้าคุณไม่บริสุทธิ์ใจจะมาเป็นส่วนหนึ่งในงาน หรือต้องการมาเป็นแบบเพื่อจุดประสงค์อื่นที่ไม่ดี เราเป็นคนถ่าย “ชื่อ” ของเรามันติดไปอยู่ที่รูปเขา แล้วถ้าวันหนึ่งเขาทำอะไรแอบแฝงล่ะ มันก็จะส่งผลมาถึงเราได้

“ถึงได้บอกว่าต้องใช้ใจ ภาพหนึ่งภาพจะดีไม่ได้ถ้ามีแค่แบบดีหรือช่างภาพดี งานนู้ดที่ดีนอกจากต้องเจอแบบที่ดีแล้ว ต้องเจอช่างภาพที่ดีด้วย ดังนั้นแบบก็ต้องให้ใจช่างภาพ ช่างภาพก็ต้องให้ใจแบบ นี่คือสิ่งที่อยากจะบอกว่า “นู้ด” นอกจากการเปลือยร่างกายแล้ว ต้องเปลือยใจด้วย”

เป็นอยู่อย่าง “นู้ด”

เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมานับแรมปีและไม่มีทีท่าว่าจะยุติในเร็ววัน แต่ครั้นจะปฏิเสธถึงการไม่มีอยู่ของศิลปะอนาจารในความคิดหลายๆ คน ก็ดูจะบิดเบือนสิ่งที่เป็นอยู่ เมื่อเป็นอย่างนั้นคำถามที่น่าค้นศึกษาหาคำตอบก็คือ เรื่องภายใน “วงการนู้ด” เป็นอยู่ และมีชีวิตอย่างไร

“ยังไม่ถือว่าเปิดมาก แต่ก็นับว่าดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก ฟีดแบ็กมันค่อนข้างดีขึ้นเรื่อยๆ คือตั้งแต่ปลายปีก่อนแล้ว ที่เริ่มมีงานนู้ดที่ถูกต้อง มีนิทรรศการ ยิ่งมีสารคดี “นางเปลือย” เข้ามา จากที่เป็นกลุ่มที่ทุกคนไม่คิดว่ามีในประเทศ ก็กลายเป็นว่าคนก็เริ่มยอมรับ เริ่มสนใจมากขึ้น”

“แต่ก็ยังไม่ถึงกับขึ้นมาบนดิน ยังเป็นอันเดอร์กราวนด์ เป็นครึ่งบกครึ่งน้ำอยู่” ช่างภาพสาว ชี้ทิศทางสถานการณ์ปัจจุบันของวงการโฟโต้นู้ดอาร์ตในสังคมบ้านเราขณะนี้ ที่แม้จะแง้มบานประตูหัวใจเปิดรับบ้างแล้วไม่มากก็น้อย แต่กระนั้นวงการนู้ดก็ยังเป็นโฟกัสที่ไม่สมบูรณ์

“ที่บอกยังไม่ถือว่าเปิดมาก สาเหตุส่วนหนึ่งก็มาจากประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ แล้วอีกส่วนหนึ่งก็ด้วยมีแต่คนทำแต่ไม่มีคนโชว์ คือศิลปินช่างภาพบางคนเขาต้องการแค่มีความสุขที่สร้างงานอยู่ตรงจุดนั้นของเขา เขาไม่ต้องการให้ความวุ่นวายของสังคมเข้ามาข้องเกี่ยว”
“การเสพงานเลยเป็นไปได้ยาก งานนู้ดจริงๆ ที่เป็นเอ็กซิบิชันนู้ดอย่างเดียวแทบไม่มีเลย แต่ถ้างานโฟโต้ก็พอมีบ้างแซมๆ สักรูป 2 รูป”

“ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงฝีมือหรือผลงานนู้ดคนไทยไม่ด้อยกว่าต่างชาติเลย” เธอว่าพลางยืนยัน “ที่รู้เพราะว่า พอไปเห็น ไปเจอ ยังตกใจเลยว่าเขามีงานแบบนี้ด้วยเหรอ

“มันเลยเป็นเรื่องที่น่าเสียใจ เสียใจตรงที่ว่า ช่างภาพรุ่นใหญ่ๆ ที่สร้างงานนู้ดดีๆ เขาแทบจะไม่อยู่เมืองไทยเลย เพราะเขามีความรู้สึกว่า การที่ต้องมาทนแรงกดดันของสังคม สู้เขาเอาเวลาหรือเก็บแรงพวกนั้นไปสร้างงานดีกว่า ไปโกอินเตอร์ดีกว่า”

ดังนั้นถ้าเกิดให้วัดระดับภูมิความรู้หรือขั้นการศึกษาคนในบ้านเราจึงอยู่ที่ “ขั้นแรก” ยังไม่สามารถแยกแยะศิลปะ-อนาจารได้ทั้งหมดด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่มีบุคลากรชั้นดีแฝงตัวอยู่ในประเทศที่สามารถชี้แนะได้

“นี่คือจุดประกายและเหตุผลที่ทำให้ตัดสินใจขึ้นมาเสนอหน้าข้างบน ก็เลยไปชวนสมัครพรรคพวกที่ชื่นชอบรสนิยมนู้ดอาร์ตเหมือนๆ กันให้มาร่วมแนวความคิดนี้ เพราะแต่ก่อนเราคอยแต่รับเสียงด่า โน่นก็อนาจาร นั่นก็อนาจาร โดยที่ไม่บอกไม่ชี้แจงให้ลึกซึ้ง เราทำงานกันแบบเงียบๆ แต่เราลืมย้อนกลับมาถามตัวเองว่าเราทำถูก เราก็รู้สึกว่ามันเป็นความผิดของเราหรือเปล่า เราควรจะมาบอกให้คนที่ยังไม่รู้เข้าใจไหม จะได้ไม่มีงานที่ผิด หรือค่านิยมผิดๆ ออกมาสู่สังคม

”คือเราอยากจะให้คนเข้าใจนู้ดอาร์ตจริงๆ มากขึ้น ว่านู้ดที่ดีต้องแสดงในที่สาธารณะได้ เพราะมันเป็นศิลปะ เราไม่ได้ผลักดันให้ตัวเองมีชื่อเสียงหรือว่าเงินทอง เราจัดแสดงเองเราก็ต้องออกเองไม่มีสปอนเซอร์

แต่ที่เราทำทุกวันนี้ก็เพราะมันคือความสุข สุขที่ได้ทำมัน เรารู้ตัวเองว่านู้ดเป็นชีวิตของเรา และถ้างานนู้ดของเราเผยแพร่แล้วมันให้อะไรกับสังคมได้บ้าง หรือช่วยให้งานศิลปะมันก้าวหน้า นั่นก็ถือเป็นข้อดีที่ได้ทำจากตรงนั้น”

Hot Questions!

เวลาที่ช่างภาพเห็นร่างเปลือยเปล่าของแบบนู้ดเพศตรงข้าม อารมณ์ความรู้สึกทางเพศสามารถเกิดขึ้นกันได้บ้าง หรือไม่? แล้วเคยมีการล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้นบ้างหรือเปล่า

ผู้หญิงถือกล้อง : ง่ายๆ เลยคือ พัก ให้สติกับสมาธิกลับมา เพราะมันเกิดขึ้นกันได้ ต่อให้เรามีจิตมุ่งมั่นแค่ไหนก็ตาม เพียงแต่ว่าเราจัดการกับมันยังไง อย่างคนที่ไม่เคยถ่ายหรือชั่วโมงบินน้อยก็อาจจะมีการประหม่า แวบๆ เข้ามาบ้าง ดังนั้นการฝึกฝนค่อนข้างสำคัญ พอเราถ่ายบ่อยๆ ด้วยใจที่ตั้งมั่นในการสร้างงาน ตรงนั้นมันก็จะหายไปเอง แต่เท่าที่เจอไม่เคยมีใครมีอารมณ์ทางเพศ มีแต่ประหม่าวางตัวไม่ถูก

ส่วนกรณีล่วงเกินทางเพศ มันเป็นเรื่องของการใช้กล้องบังหน้ามากกว่า คือไม่ได้คิดสร้างงานจริงๆ ใจเขาไม่คิดที่จะควบคุมตั้งแต่ทีแรกแล้ว เรื่องล่วงเกินทางเพศมันคือผลที่ตามมา ฉะนั้นคนที่เป็นแบบก็ต้องรู้จักเลือกช่างภาพให้ถูกให้เป็นเพื่อป้องกันตัวเอง เพราะสังคมนู้ดเปลี่ยนไปเยอะตั้งแต่พี่กลับมาเมืองไทย มันมีอะไรแฝงเยอะจนน่าเกลียด การเผยแพร่สิ่งที่ถูกต้องมันจึงเป็นหนทางที่ทำให้เขารู้ว่าอะไรที่ใช่ อะไรไม่ใช่ แล้วถ้าฝ่ายที่ทำดีมีเยอะกว่า กลุ่มที่ไม่ใช่ก็จะฝ่อไปเอง
Triangle
Harmony : กลมกลืน
Hungry Love : ทุกสิ่งมีชีวิตบนโลก ย่อมโหยหาความรัก
Minimal : Less is more
Everyone has got their own world : ทุกคนย่อมมีโลกส่วนตัว
Childhood : บางครั้งเราก็ต้องใส่หน้ากาก แสร้งเป็นผู้ใหญ่ เข้าใจกับทุกเรื่อง ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว เราทุกคนมีความไร้เดียงสาในตัวเอง
Barbarian : เพียงแค่นุ่งลม ห่มฟ้า แต่ไม่ได้หมายความว่า จะเป็นคนป่า อย่างที่ใครเข้าใจ... ตราบใดที่มนุษย์ยังมองกันฉาบฉวยเพียงแค่วัตถุ เราจะไม่มีวันเข้าใจสิ่งใด
Subconscious : ภาพชุดที่จะท้อนความต้องการในส่วนลึกของมนุษย์ รอยสัก เปรียบเสมือนการแสดงว่า บางครั้งมนุษย์เราได้ทำอะไรตามใจตนเองแล้วนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้รับอิสระ หรืออยู่นอกกรอบของสังคมอย่างแท้จริง ตราบใดที่เรายังต้องอยู่ในสังคม เชือก และ กุญแจมือ ยังคงเป็นตัวแทนของกรอบ กฏ ระเบียบของสังคม ที่บางครั้งเราเองก็ไม่สามารถที่จะทำอะไรได้อย่างตามอำเภอใจ ส่วนที่เลือก งู มาร่วมในภาพชุดนี้ เพราะงูนั้นเป็นสัญลักษณ์ที่ได้ยอมรับว่าเป็นตัวแทนของความชั่วร้าย ภายในภาพได้ปล่อยให้งูเป็นอิสระ เปรียบเหมือนจิตใจมนุษย์ที่ยามใดที่ได้รับการกดดัน บังคมมากๆนั้น จิตใต้สำนึกอาจจะหลุดออกมาได้โดยไม่รู้ตัว
เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : พลภัทร วรรณดี และจากผลงาน “ผู้หญิงถือกล้อง”
อัปเดตหลากหลายเรื่องราวข่าวสาร สาระบันเทิงได้ที่แฟนเพจ mars magazine

No Comments Yet

Comments are closed

user's Blog!

49/1 ชั้น 4 อาคารบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

49/1 4th floor, Phra-A-Thit Road, Chanasongkhram,Phanakorn Bangkok 10200

Tel. 02 629 2211 #2256 #2226

Email : mars.magazine@gmail.com

FOLLOW US ON

SUBSCRIBE