3 กันยายน 2557 คือวันที่ลมหายใจสุดท้ายของ ถวัลย์ ดัชนี ได้ผ่อนผ่านไปจากโลก สีดำทะมึนอันดุดันเร้นลับกลายเป็นสีดำแห่งความโศกาอาดูร ทันทีที่ข่าวแพร่ออกไป ศิลปินหลายคนบรรจงสรรค์สร้างงานศิลป์รำลึก ความเศร้าลึกล้ำแผ่ปกคลุมโลกศิลปะ หากแต่คงไม่หนักหนาเท่าความเศร้าในใจของบุตรชายเพียงคนเดียว ‘ดอยธิเบศร์ ดัชนี’
“ไปไหนมาไหนยังนึกถึงพ่ออยู่นะครับ มาถึงตอนนี้ก็ไม่รู้จะซื้อของไปฝากใคร มันรู้สึกยังไม่ค่อยชิน แต่ชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไป สิ่งที่ทำมาตลอดหลังจากพ่อจากไปก็ต้องทำต่อ นั่นคือการทำให้บ้านดำมันอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง” น้ำเสียงของศิลปินหนุ่มที่เอื้อนเอ่ยถึงพ่อยังคงกังวานเศร้า “งานศิลปะที่เป็นลมหายใจของพ่อคือบ้านดำ”
'บ้านดำ' หรือ 'พิพิธภัณฑ์บ้านดำ' ยังคงนิ่งงันสงบราวกับไว้อาลัย ทว่าโลกไม่ได้สูญสลายไปพร้อมกับการจากไปของใครบางคน มันยังคงหมุนไปพร้อมกับเวลาที่ล่วงเลย บ้านดำนิ่งงันได้ไม่นาน มันยังคงต้อง 'หายใจ' ให้ได้ด้วยตัวของมันเอง…แม้ในวันที่ผู้ให้กำเนิดได้จากไปแล้ว
“ผมเชื่อว่าไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้าแน่นอน” ดอยธิเบศร์เอ่ยขึ้น “สิ่งสำคัญคือก่อนที่เราจะตาย เราได้สร้างประโยชน์ สร้างคุณงามความดีอะไรบ้าง ฉะนั้นสิ่งที่มันยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับผมก็คือทำยังไงให้บ้านดำมันอยู่ได้ ทำยังไงที่จะรักษาลมหายใจของพ่อให้อยู่สืบไป”
ในบ้านกึ่งออฟฟิซของเขา ทีมงาน mars เดินผ่านผลงานศิลปะของผู้เป็นพ่อที่วางเคียงอยู่กับรถเฟอร์รารี่ โมเดลของสะสมวางเคียงงานศิลปะโดยมีภาพวาดฝีแปรงดุดันเป็นพื้นหลัง หากขึ้นไปที่ชั้นสอง ดาบซามูไรหลากขนาดพร้อมชุดเกราะจัดเก็บในห้องเปี่ยมมนต์ขลัง
“ในฐานะลูกชาย ผมไม่เคยขอเงินพ่อ ถ้าท่านให้เราก็ยินดีรับไว้ แต่ไม่เคยขอ ทุกอย่างเราหามาด้วยตัวของเราเอง” เขาเอ่ยขึ้น ดูเหมือนสิ่งของพยายามจะบอกเล่าตัวตนอันหลากหลายของผู้เป็นเจ้าของ รถเฟอร์รารี่ โมเดลของสะสม ดาบซามูไร และภาพของพ่อ เหล่านี้ดูจะเป็นร่องรอยชีวิตไม่ธรรมดาของเขา ลูกศิลปินใหญ่ — ลมหายใจที่ยังมีชีวิตอยู่ของพ่อ…
ศิลปะคือเส้นเลือดใหญ่ของชีวิต
ในโลกแห่งศิลปะ คนทั่วไปอาจจินตนาการไม่ออก อาจพอกะเกณฑ์ได้เพียงว่าต้องเป็นโลกประหลาดล้ำยากจะเข้าใจ ชีวิตของศิลปินก็อาจเป็นสิ่งอยู่เหนือขอบเขตความคิด โดยเฉพาะชีวิตของศิลปินคนหนึ่งที่เป็นลูกของศิลปินรุ่นใหญ่ของประเทศอย่างดอยธิเบศร์
รูปวาดของพ่อมีมูลค่ามหาศาล ตวัดฝีแปรงเพียงไม่กี่ครั้งเงินหลักล้านก็มากองอยู่ตรงหน้า อาณาจักรที่มีชื่อว่าบ้านดำ คือเหย้าเรือนกว้างขวางน่าอิจฉา ทว่าความจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น เขาไม่ได้มีชีวิตที่สุขสบายนัก หากแต่แรกเริ่มชีวิตวัยเด็กกลับแยกขาดและไม่ได้อยู่กับพ่อ ซ้ำร้ายช่วงชีวิตที่ลำบากที่สุด เขาเคยถึงขั้นไม่มีบ้านอยู่ ด้วยอายุเพียง 17 ปี ออกมาจากบ้าน เช่าห้องหอ ทำงานศิลปะหาเลี้ยงชีพดูแลตัวเอง แต่สิ่งสำคัญที่พ่อของเขาทิ้งไว้ให้ยังคงไหลเวียนดุจดั่งสายเลือด สิ่งนั้นคือศิลปะ
Q: เริ่มทำงานศิลปะมาตั้งแต่เด็กๆ เลยหรือเปล่า
A: ผมเติบโตมาในครอบครัวของพ่อที่ทำงานศิลปะ ฉะนั้นจึงมีความผูกพันมาตั้งแต่เด็กว่าศิลปะมันอยู่ในสายเลือด อยู่ในจิตวิญญาณ อยู่ในความรู้สึกของเราตลอดเวลา แต่พอโตขึ้น แรกๆ ผมก็ไม่รู้หรอกผมชอบอะไร แต่สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดก็ยังคงเป็นงานศิลปะ ฉะนั้นผมจึงจับเรื่องงานศิลปะมาโดยตลอด พอโตมาก็มาเรียนต่อปริญญาตรีที่กรุงเทพฯ ด้านศิลปกรรม แล้วก็ต่อโทเกี่ยวกับการจัดการพิพิธภัณฑ์ ก่อนต่อเอกด้านจิตรกรรม ก็ชอบศิลปะมาตั้งแต่แรก
Q: การทำงานในฐานะศิลปินมีกรรมวิธีอย่างไรบ้าง
A: งานผมเองตอนทำส่วนใหญ่ใช้เวลาไม่นาน แต่เวลาหาแรงบันดาลใจ หาข้อมูล สเกตช์ร่าง จะใช้เวลานาน บางทีอาจจะหาข้อมูลหลายเดือนกว่าจะเอามาทำสเกตช์ อย่างผมเองสนใจเรื่องตะวันออก แรงบันดาลใจของผมก็มักจะอยู่ที่ศิลปวัฒนธรรม อยู่ที่วัดที่โบราณสถาน ผมอาจจะไปท่องเที่ยวหาข้อมูลจากวัด ใช้เวลาตั้งแต่ทางเหนือไปในหลายๆ จังหวัด พอได้ข้อมูลก็จะทำสเกตช์ จากนั้นจะทำการทดลองซึ่งก็ใช้เวลาพอสมควรกว่าจะเริ่มลงมือทำจริงๆ คืองานศิลปะมันไม่ได้อยู่ดีๆ ใช้อารมณ์แล้วมากระชากๆ เลย มันก็คือการทำงานอย่างหนึ่ง ต้องมีการวางแผนทุกขั้นตอนเหมือนการทำงานอย่างอื่น เพียงแต่คนส่วนใหญ่อาจจะเข้าใจว่างานศิลปะมันไม่ต้องเรียนหนังสืออะไรมาหรอก แค่ใช้พรสวรรค์ จริงๆ ไม่ใช่ มันเป็นการวางแผน มีขั้นตอนของมัน ไม่ต่างจากการสร้างบ้านที่ต้องมีแบบแปลน มันมีกระบวนการของมันเหมือนงานอื่นๆ
Q: บนเส้นทางการทำงาน ตัวตนทางศิลปะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
A: งานศิลปะของผมเริ่มต้นจริงๆ ตอนผมอายุ 17 คือเริ่มรับจ๊อบทำงานแบบอาชีพ มันเริ่มจากตอนผมเรียนปริญญาตรีซึ่งต้องทำงานศิลปะส่งอาจารย์ ผมแอบทำงานช่วยเพื่อนไปด้วย 2 คนเพราะเพื่อนไม่ค่อยเก่ง ช่วงนั้นผมจึงทำงานเป็น 3 เท่าของคนอื่นๆ แต่ละคลาสแต่ละวีคต้องมีงาน 3 ชิ้น ช่วงนั้นมันทำให้ผมได้มีโอกาสฝึกฝีมือ ได้ทดลองอะไรมากกว่าคนอื่น นอกจากนี้ผมค่อนข้างจะมีโอกาสมากกว่าคนอื่น คือผมได้รับงานจากพี่ๆ ที่เขาเมตตา ไม่ว่าจะเป็นงานภาพประกอบ งานเวที งานประกอบฉาก งานอะไรก็ตามที่มันเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ ตอนนั้นผมมีคอนเส็ปต์ว่า ทำอะไรก็ได้ที่มันเกี่ยวข้องกับศิลปะ เพราะเราถือว่าศิลปะเป็นเส้นเลือดใหญ่ของเรา เราต้องพยายามทำงานอะไรที่มันส่งเสริมตัวเราด้วย
แต่ตอนแรกผมก็ยังไม่มีแนวทางของตัวเอง กระทั่งต่อมาถึงจะเริ่มรู้สึกว่าเราหาตัวเองเจอ มันเกิดจากการทดลองทำงานที่หลากหลาย มาถึงจุดหนึ่งก็ค้นพบเทคนิคหรือลักษณะของตัวเอง แล้วก็เริ่มใช้ตรงนี้พัฒนาต่อยอด ซึ่งรวมๆ แล้วก็นับสิบปีเหมือนกันกว่าจะค่อยๆ เจอ แล้วก็ใช้เวลาเกือบ 20 ปีทำงานลักษณะที่เป็นของตัวเองขึ้นมา ทั้งหมดมันไม่ได้ใช้เวลาแป๊บเดียว มันต้องสร้างบุคลิกให้เป็นปัจเจกภาพส่วนบุคคลให้มันชัดเจนในสิ่งที่ตัวเองทำ จากตอนแรกเป็นเพนติ้งก็มาเป็นมิกซ์มีเดีย เป็นสื่อผสม ที่เอาวัสดุ เอาเทกซ์เจอร์ เอาอะไรหลายๆ อย่างมาผสมผสานกัน
หลากหัวโขน…หลายบทบาทของศิลปินยุคใหม่
ภาพศิลปินที่ตัดขาดจากโลกอาจเป็นภาพคุ้นเคยของใครหลายคนเวลานึกถึงสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าศิลปิน อันที่จริงไม่ต้องมองไปอื่นไกล ผู้เป็นพ่อของเขาเองเมื่อจะทำงานศิลปะก็จำเป็นจะต้องใช้พื้นที่ว่าง ตัดขาดจากโลก ทุ่มเทสมาธิจดจ่ออยู่กับผลงาน แต่กับศิลปินยุคใหม่ในทัศนะของเขา เพียงทำงานศิลปะอย่างเดียวอาจไม่พอ
มือถือกลายเป็นเครื่องมือทำงาน ผลงานพาณิชยศิลป์ของลูกน้องถูกส่งมา เขาตรวจงานส่งคืน ในวันจันทร์ถึงศุกร์เขาเข้าประชุมคุยงาน จัดการออฟฟิซ ทำงานศิลปะของเขาเอง หลังจากนั้นบ้านดำเข้ามาอยู่ในความสนใจ ก่อร่างสร้างตัวเป็นพิพิธภัณฑ์ กลายเป็นแกลเลอรี่ ก่อนจะขยับขยายกลายเป็นอาร์ตสเปซในอนาคตอันใกล้ สำหรับเขา ชีวิตในฐานะศิลปินต้องมีหลายบทบาทในตัวเอง
Q: ปัจจุบันนี้ทำงานอะไรบ้าง
A: ผมค่อนข้างเป็นคนมีหลายพาร์ตในตัวเอง ตอนนี้ก็ทำงานหลายอย่าง ส่วนหนึ่งก็เป็นศิลปินอิสระและเป็นอาจารย์พิเศษ อีกส่วนหนึ่งก็เป็นนักศึกษาปริญญาเอก และอีกส่วนหนึ่งคือต้องจัดการแกลเลอรี่ของตัวเองที่เชียงราย พิพิธภัณฑ์ที่ต้องดูแล ยังมีส่วนงานออฟฟิซที่กรุงเทพฯ เพื่อที่จะรองรับซัพพอร์ตการบริหารจัดการที่เชียงรายในอนาคต ซึ่งผมทำมาเป็นสิบๆ ปีแล้ว คือเรามีการออกแบบผลิตสินค้าของที่ระลึกส่งไปขายที่เชียงรายเพื่อให้มันเป็นรายได้เข้าบ้านดำ
Q: ในฐานะนักการตลาดและศิลปินในคนเดียวกัน มีวิธีในการเข้าถึงตลาดอย่างไร
A: จริงๆ เราไม่ได้คิดถึงเรื่องเงินเป็นหลัก เมื่อไหร่ที่คิดแบบนั้นเราเจ๊ง ผมใช้วิธีการบริหารจัดการชีวิตโดยเอาศิลปะเป็นตัวตั้ง ไม่เหมือนคนอื่นที่จะเป็นนักธุรกิจ ฉะนั้นเราทำงานออกมาก่อน ส่วนรายได้มันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เงินเป็นคำตอบสุดท้าย ไม่ใช่ทุกอย่าง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการที่เราได้ทำในสิ่งที่เรารัก ทุกอย่างที่ทำเราต้องรักและเข้าใจถึงจะทำออกมาได้ดี ส่วนจะไปขายยังไงก็อีกเรื่องหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น ผมทำของที่ระลึกออกมา เป็นรูปม้าที่อยู่ในโรงรถรูปนี้ (ผลงานของพ่อ) ซึ่งผมทำออกมา 100 รูปในราคารูปละ 35,000 บาท ขาย 100 รูปก็ได้ 3,500,000 บาทแล้ว เราสามารถที่จะเอาเงินก้อนนั้นมาดูแลบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ได้โดยที่เราไม่ต้องขายรูปจริง แต่ในอดีตพ่ออาจจะคิดว่าก็ขายรูปไป ขายได้ 3,500,000 บาท จบ แต่อนาคตคนมาบ้านเราจะดูอะไร ดังนั้นอย่างน้อยที่สุดเราเอาสิ่งที่เรามีมาสร้างให้เกิดมูลค่าขึ้น โดยอาจจะมาทำเป็นรีโปรดักต์ เป็นก๊อบปี้ เป็นภาพพิมพ์ เป็นของที่ระลึกเพื่อให้มันเกิดรายได้ เราต้องรู้จักต่อยอดจากสิ่งที่เรามี ก็ต้องดูก่อนว่าในสิ่งที่เรามี เรามีอะไรบ้าง แล้วค่อยมาต่อยอดไป
Q: มีวิธีการจัดการออฟฟิซศิลปะของตัวเองอย่างไร
A: ผมเป็นคนที่ทำธุรกิจไม่เหมือนชาวบ้าน คือผมไม่อยู่ออฟฟิซเลย ผมมีแค่มือถืออันเดียวแล้วก็ตรวจงาน ทุกคนรู้หน้าที่ตัวเอง บางทีเราให้เขาออกแบบกราฟฟิกแล้วส่งอีเมลมาให้ ผมก็จะมีเวลาเข้าออฟฟิซประชุมบ้างอะไรบ้างเป็นส่วนหนึ่ง แล้วเราก็จะใช้ชีวิตทำอย่างอื่นไป เพราะคนคนเดียวจะทำหลายๆ อย่างพร้อมกัน มันต้องมีทีมเวิร์กที่ค่อนข้างดี ไม่งั้นมันก็พังหมด
Q: ช่วงเวลาไหนที่เหมาะกับการทำงานศิลปะที่สุด
A: งานศิลปะต้องทำในช่วงที่เรามีประจุพลังพอ ความหมายคือผมต้องสะสมประจุพลัง สมมุติว่าเป็นงานที่สื่อถึงอารมณ์ เป็นเอ็กซ์เพรสชั่นแบบนี้ (ภาพของพ่อ) มันไม่สามารถจะอยู่ดีๆ แล้วมานั่งวาด ถ้าเราสังเกต การตวัดฝีแปรงมันทำได้ครั้งเดียว มันเป็นอารมณ์ความรู้สึก ฉะนั้นถ้าชาร์จพลังมาไม่พอทำไม่ได้แน่นอน และต้องทำให้เสร็จในชั่ววูบ ซึ่งรูปเหล่านี้ก็จะถูกร่างขึ้นมาก่อน ถูกศึกษามาก่อนว่าม้ารูปร่างต้องเป็นแบบไหน ต้องวาดแบ็กกราวด์ขึ้นมาก่อน แล้วก็ต้องเตรียมพื้นเตรียมโน่นเตรียมนี่แล้วถึงจะสาดสีทีหลังสุด ฉะนั้นงานทุกอย่างมีการวางแผน รอสีหมาดตอนไหน รอสีแห้งตอนไหน
Q: ตอนทำงานศิลปะแตกต่างจากตัวตนอื่นอย่างไร
A: ช่วงที่ทำงานศิลปะผมจะมียูนิฟอร์มเป็นชุดหมีเหมือนชุดช่างเพราะสีมันเลอะเทอะมาก ผมใส่ชุดนั้นมาตั้งแต่อายุ 17 ปี แล้วผมจะมีสเปซของผมคือให้คนดูได้แต่อย่ามายุ่ง เพราะตอนที่สะบัดสีสาดสีมันจะเลอะ ซึ่งมาถึงจุดจุดหนึ่งเราก็สามารถทำงานแบบนี้ในที่สาธารณะได้เหมือนพ่อ แต่การทำแบบนั้นเราต้องมีสมาธิมาก ซึ่งในช่วงเวลานั้นทุกอย่างมันจะเป็นศูนย์หมดเลย เราไม่รับรู้อะไรแล้ว ตัดขาดจากทางโลกเหมือนเราเข้าฌาน สมาธิเราจะจดจ่อกับการทำงานตรงนั้นอย่างเดียว
สังคมไทยเห็นศิลปะเพียงแค่มูลค่า…ไม่ใช่คุณค่า
หลายพื้นที่บนโลกมีศิลปะงอกงามไปคู่กับสังคม ทว่าพื้นที่แผ่นดินรูปขวานอย่างประเทศไทย ศิลปะเหมือนอยู่ในช่วงรอยต่อของความเจริญงอกงาม เรามีหอศิลป์กรุงเทพฯ ที่จัดแสดงงานศิลปะมากมาย มีผู้คนเดินขวักไขว่ แต่นั่นกลับกลายเป็นการเดินเล่นเหมือนอยู่ในห้างสรรพสินค้า
ดอยธิเบศร์ดูจะไม่ยี่หระกับปัญหาเหล่านั้น เพราะเมื่อกะเทาะเอาเปลือกนอกออกทั้งหมด คุณค่าที่แท้จริงของศิลปะก็ยังคงอยู่ที่ตัวศิลปะนั่นเอง เขามองว่ามันเฝ้าจรรโลงสังคมรายล้อมตัวผู้คนอยู่ทุกวัน เพียงแต่ทุกคนไม่ทันสังเกตเห็นเท่านั้น
Q: การทำงานศิลปะในสังคมไทยมีความยากลำบากอย่างไร
A: ผมว่าคนทำงานศิลปะส่วนใหญ่ใช้สมองซีกเดียว สมมุติว่าเราจะขายรูป เราก็ต้องพึ่งแกลเลอรี่ต้องพึ่งคนขาย เราไม่รู้จักการตลาดเลย ฉะนั้นศิลปินส่วนใหญ่จะวาดรูปอย่างเดียว ทำอย่างอื่นไม่เป็น เพราะฉะนั้นผมจะไม่เหมือนคนอื่น คือผมใช้สมองสองซีก ผมเรียนทางด้านบริหารจัดการมา ฉะนั้นผมจะรู้ว่าการตลาดคืออะไร ผมจะไม่เอารูปไปเร่ขาย ผมเลือกทำงานคอมเมอร์เชียลให้บางบริษัทซึ่งผมได้เงินพอสมควรเทียบกับงานในลักษณะทำแล้วแขวนโชว์ตามแกลเลอรี่ แต่มันจะเป็นลักษณะที่คุยกันแล้วมันลงตัว มันน่าสนใจ ผมชอบทำงานที่ยากและท้าทาย ทั้งในเชิงความคิด เชิงรูปแบบ ส่วนใหญ่โอกาสมันจะเข้ามาหาเรา อยู่ที่เราจะคว้ามันไว้หรือเปล่าเท่านั้น
Q: นิยามศิลปะอย่างไร
A: ผมคิดว่าสูงสุดของการใช้ชีวิตแบบมีศิลปะคือการที่เราได้เกิดมาบนโลกแล้วได้ทิ้งสิ่งดีๆ สิ่งที่มันมีคุณค่าให้กับผู้อื่นบ้าง ไม่ใช่เกิดมาแล้วก็เสพสุข ทำประโยชน์ส่วนตนแล้วก็ตายไป ผมว่ามันเป็นการใช้ชีวิตแบบ… ไม่รู้นะ แต่ว่าสำหรับผม การเกิดเป็นมนุษย์เราน่าจะมีคุณค่าในตัวเอง เราน่าจะได้ทำประโยชน์ เราน่าจะได้ทำสิ่งที่มันมีคุณค่าให้กับโลกบ้าง ฉะนั้นสิ่งสำคัญคือ เราเกิดมาแล้ว ในช่วงที่เรามีชีวิตอยู่คนจะจดจำเราในฐานะอะไร
คนคงไม่สนใจหรอกว่าคุณมีเงินในบัญชีเท่าไหร่ มีรถกี่คัน คุณจะมีเครื่องบินกี่ลำ เขาสนใจสิ่งที่คุณทำแล้วทิ้งอะไรไว้ให้กับแผ่นดินมากกว่า ตรงนั้นสำคัญกว่า เพราะฉะนั้นสิ่งที่ยิ่งใหญ่สำหรับผมก็คือทำบ้านดำให้มันอยู่ได้ แล้วก็ทำให้มันอยู่ไปชั่วลูกชั่วหลาน
Q: งานศิลปะสำคัญที่การอยู่ร่วมกับผู้คนต่อไปได้?
A: คือจริงๆ ศิลปะมันอยู่ในชีวิตประจำวันของเราอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเรามองเห็นมันหรือเปล่าเท่านั้นเอง ทุกอย่างมันเป็นศิลปะในการออกแบบ ในการใช้ความคิดสร้างสรรค์ทั้งหมดอยู่แล้ว เราไม่สามารถจะคิดอะไรขึ้นมาโดยที่ไม่ได้ใช้การออกแบบหรือไม่ใช้ศิลปะเข้ามามีส่วนร่วม แต่ว่าผมเองเป็นมนุษย์ที่เราเลือกเดินทางมาทางนี้ เราก็คิดว่าศิลปะเป็นเส้นเลือดใหญ่ของเรา เราก็ใช้ศิลปะในการดำเนินชีวิต เป็นเข็มทิศนำทางของเรา
Q: ในสังคมไทยมีข้อจำกัดอะไรสำหรับศิลปะ
A: คนไทยไม่ค่อยมีวัฒนธรรมที่สนใจเรื่องของศิลปะ มองศิลปะเป็นแค่รูปติดข้างฝาเท่านั้น แล้วก็ไม่เห็นคุณค่าอะไรของงานศิลปะ กลับเห็นแต่มูลค่า คนนี้วาดได้แพง โห! ขายแพง …ตื่นเต้น แต่จริงๆ แล้วงานทุกชิ้นมันมีคุณค่าโดยตัวมันเอง เพียงแต่เราจะทำยังไงให้เกิดประโยชน์ บางครั้งผมคิดว่างานศิลปะมันให้อะไรกับเราได้มากกว่าที่เราเห็น ไม่ว่าจะเป็นจิตรกรรมฝาผนังในวัดในโบสถ์ ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ จะทำได้เลย ฉะนั้นถามว่า งานศิลปะที่สร้างประโยชน์ให้กับผู้คน มันควรจะเปลี่ยนมุมมองของคนได้โดยที่ทำให้มันเข้าถึงด้วย
ดาบที่กวัดแกว่งดั่งฝีแปรงที่ตวัด
ดาบซามูไรหลายเล่มนิ่งงันอยู่บนแท่นวาง เกราะซามูไรวางท่าทีราวกับคนนั่งขัดสมาธิเรียงรายอยู่รอบห้อง ธนูคันใหญ่ยักษ์ยืนหลบมุมอยู่ไกลๆ ดอยธิเบศร์ชักดาบเล่มยาวจากฝักอย่างชำนิชำนาญ ปลุกเอาบรรยากาศขรึมขลังขึ้นมาปกคลุมห้อง เขาหลับตาทำสมาธิ ช่างภาพลั่นชัตเตอร์
สิ่งของเหล่านั้นคือส่วนหนึ่งของชีวิตเขา ศิลปะป้องกันตัวคือความสนใจหนึ่งที่เชื่อมโยงเขากับความสนใจในวัฒนธรรมตะวันออก เส้นสายของคมดาบ การเคลื่อนไหวในชั่ววูบของการชักดาบประหนึ่งตวัดฝีแปรงในงานศิลปะ
Q: นอกจากศิลปะ มีความสนใจอะไรอื่นบ้าง
A: ผมสนใจเรื่องของศิลปะป้องกันตัวเพราะผมได้เรียนรู้มันมาตั้งแต่เด็ก พอโตมาผมก็เรียนเทควันโด เรียนศิลปะป้องกันตัวหลายๆ อย่างจนเป็นอาจารย์สอน จากนั้นเมื่อมีโอกาสก็เริ่มเก็บของอะไรที่รู้สึกว่ามันเป็นประโยชน์และศึกษาสิ่งที่เก็บมาอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเรื่องของดาบ เรื่องของญี่ปุ่น นอกจากนี้ก็มีเรื่องของรถยนต์ คือเราเป็นศิลปิน เราชอบเส้นสาย ชอบดีไซน์ แล้วสิ่งเหล่านี้มันก็เหมือน passion เหมือนอะไรบางอย่างที่เป็นเป้าหมายที่ทำให้เราก้าวไปหรือขยับไปในชีวิตได้
เพราะผมไม่เคยมานั่งขอเงินพ่อ คือถ้าแกให้เราก็รับ แต่ในชีวิตลูกผู้ชายเราก็ควรจะขวนขวายหาด้วยตัวเอง แกส่งเราเรียนหนังสือผมว่านั่นก็เป็นหน้าที่พ่อแม่ที่ดีที่สุดแล้ว หลังจากนั้นเราก็ควรจะทำมาหากินด้วยตัวเอง แล้วรถทุกคันของผม สมบัติทุกอย่างที่ผมมี ผมซื้อด้วยเงินตัวเอง
Q: ศิลปะป้องกันตัวหรือกระทั่งรถยนต์ มีส่วนเชื่อมโยงกับงานศิลปะอย่างไร
A: ผมเรียนพื้นฐานถึงมวย เทควันโด คาราเต้ ดาบ แต่สิ่งที่สนใจจริงๆ คือเรื่องดาบ เพราะสิ่งนี้เอามาใช้ในงานได้ ความชอบทุกอย่างมันต้องมีเหตุผลด้วย รถยนต์ก็เช่นกัน กระทั่งเรื่องดาบ เวลาเราฟันดาบ การที่ชักดาบหรือฟันดาบ มันจะมีท่าของมัน เราใช้ความรู้สึกหรืออะไรเหล่านี้มาใช้กับงาน คล้ายรูป brushwork แบบญี่ปุ่น หรือการตวัดพู่กันจีน การชักดาบออกจากฝักเป็นการทำสมาธิแบบเซนอย่างหนึ่ง ฉะนั้นของพวกนี้มันเชื่อมโยงถึงกันได้
ท้ายที่สุดของที่ผมมีทั้งหมดก็คงเอาไปทำพิพิธภัณฑ์ที่เชียงรายต่อเนื่องไป เพราะว่ามันเป็นสมบัติที่ไม่ได้หาได้ง่ายๆ แล้วเราก็อยากให้มันเกิดประโยชน์ การที่เรามีสมบัติแล้วเก็บไว้คนเดียวมันไม่เกิดประโยชน์อะไร ตายไปก็เผาไป เอาไปไม่ได้ ฉะนั้นทำให้มันเกิดประโยชน์ด้วยการสร้างพิพิธภัณฑ์เอาไว้ให้คนดู ให้คนได้ศึกษาเป็นการต่อยอดดีกว่า
Q: ในความเป็นนักสะสม มีวิธีเลือกเก็บของอย่างไร
A: เราไม่ได้มีเงินเยอะพอที่จะเก็บทุกอย่าง แล้วพ่อก็เป็นคนที่เก็บอาวุธเยอะด้วย ที่บ้านก็จะมีมีด มีทุกอย่าง คือของพวกนี้มันไม่ใช่ของเก็บสะสม มันเป็นของที่ให้แรงบันดาลใจเสียมากกว่า อย่างเขาสัตว์พวกนี้ จริงๆ ผมไม่ได้ชอบหรอก ซื้อมาเตรียมไว้ให้พ่อเท่านั้นแหละ ซื้อไว้ให้แกเป็นแรงบันดาลใจ การที่เราจะวาดรูปอะไรสักอย่างเราต้องมีต้นแบบของแรงบันดาลใจ เราจะวาดม้าสักตัวหนึ่งแต่ไม่เคยเห็นม้าแล้วจะวาดได้ยังไง ที่บ้านเลี้ยงม้าไว้ตัวหนึ่งเอาไว้ดูมูฟเมนต์ ดูสรีระของมัน เราไม่ได้สร้างทุกอย่างจากจินตนาการได้หมด ต้องศึกษาจากของจริงหลายปีจนชำนาญ จนสามารถวาดม้าของตัวเองออกมาได้ ทุกอย่างมีเหตุและผล มีที่มาและที่ไป
ชื่อที่พ่อตั้งให้ 'เทพเจ้าแห่งขุนเขา'
ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ-ลูก มีสายใยบางอย่างถักทออยู่แม้จะมองไม่เห็น บางครั้งไม่มีเหตุผล สิ่งหนึ่งที่เป็นหมุดหมายแรกของความเชื่อมโยงพ่อ-ลูกในฐานะเจตจำนงความคิดบางอย่างก็คือชื่อ ชื่อที่ดูแปลกชวนให้หลายคนเข้าใจผิด
ดอยธิเบศร์เผยว่า 'ดอย' สื่อถึงขุนเขาในถิ่นฐานบ้านเกิดทางภาคเหนือของพ่อ และ 'ธิเบศร์' แปลความได้ว่าเทพเจ้า มิใช่ชื่อประเทศทิเบตแต่ประการใด ไม่มีเรื่องเล่าที่เขาไปเกิดที่ทิเบต มีเพียงพ่อตั้งชื่อให้ลูกว่า เทพเจ้าแห่งขุนเขา! หวังให้เป็นที่พึ่งพิงของคนอื่นๆ
Q: การเป็นลูกศิลปินดังมีผลต่อการทำงานศิลปะหรือไม่
A: ผมว่ามันเป็นเรื่องปกติของลูกคนที่มีชื่อเสียงหรือที่มีความสามารถทั้งหลายที่คนมักมีการเปรียบเทียบ แบบพ่อมันเก่ง ลูกมันไม่เก่ง ซึ่งมันจะมีอยู่ 2 ประเด็น คือถ้าผมเก่ง คนจะบอกว่าเก่งเหมือนพ่อ แต่ถ้าเขามองว่าผมไม่เก่ง ก็จะบอกว่าทำไมไม่เห็นเก่งเหมือนพ่อ มันเสมอตัว แต่ผมก็ไม่ได้กังวลอะไร เพราะถ้าเรารู้จักมองให้แรงกดดันทั้งหลายเหล่านี้มันเป็นแรงบวก เราก็จะทะยานไปข้างหน้าได้เร็วกว่าคนอื่น ชีวิตผมถูกเคี่ยวกรำมามากกว่าคนอื่น สิ่งต่างๆ ที่ผ่านมามันทำให้เราเข้มแข็ง ทำให้เราแกร่ง จนไม่ว่าเราจะเจออุปสรรคอะไรมันก็ต้องผ่านไปได้
Q: พ่อมีวิธีเลี้ยงดูเรามาอย่างไร
A: พ่อเลี้ยงแบบไม่เลี้ยง สอนแบบไม่สอน แกทำตัวให้เป็นตัวอย่าง และตัวอย่างที่ดีมีค่ามากกว่าคำสอน คือพ่อประพฤติปฏิบัติตัวเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกเสมอ ก็อยู่ที่เราว่าจะทำหรือเปล่า และเรารักดีหรือเปล่าเท่านั้นเอง
Q: รู้สึกเกร็งกับการทำงานศิลปะหรือไม่
A: แรกๆ ก็อาจจะมีบ้าง เพียงแต่เวลาเราทำงานเราไม่เหมือนพ่อลูก เราเหมือนเป็นคนทำงานศิลปะร่วมกัน เวลาพ่อคิดงานใหม่ได้แกก็จะมานั่งคุยให้เราฟัง เราจะไม่เหมือนพ่อลูกทั่วๆ ไปที่คุยกันเรื่องดินฟ้าอากาศ เราจะคุยกันเรื่องงานศิลปะ พ่อจะเอางานมาให้ดูว่า เออ ช่วงนี้พัฒนาการทางความคิดเป็นยังไง เอาสเกตช์มาให้ดู นี่คือสิ่งที่คิดใหม่ได้ เราจะซึมซับกันและกัน พอเรามีงานใหม่เราก็จะมาเสนอว่า นี่ เรามีงานชิ้นนี้ เรากำลังทำสิ่งนี้อยู่ เราจะคุยกันแบบนี้มากกว่า
Q: ความเป็นศิลปินของพ่อทำให้ได้ใช้เวลาร่วมกันน้อยหรือเปล่า
A: พ่อเอาผมมาอยู่กับย่าตั้งแต่อายุ 2 อาทิตย์ วันหยุดเสาร์-อาทิตย์เท่านั้นถึงจะได้เจอพ่อบ้าง ผมอยู่ในเมือง แกอยู่ห่างออกไป 10 กว่ากิโล คือตัวแกต้องการพื้นที่ส่วนตัว คนทำงานศิลปะไม่เหมือนอาชีพอื่นๆ จนช่วงสุดท้ายของชีวิตแก แกก็ต้องการพื้นที่ส่วนตัว หมายความว่าตั้งแต่แกเด็ก เริ่มทำงานศิลปะ จนแก่ แกต้องการโลกของแก สมมุติเวลาวาดรูปแกก็ไม่ให้ใครกวนเพราะมันก็จะเป็นช่วงที่ต้องใช้สมาธิสูง อารมณ์ ความรู้สึก สมาธิ สำคัญมาก บางทีตวัดฝีแปรงทีเดียว ถ้าพลาดก็พลาดเลย เราไม่สามารถที่จะย้อนคืนเหมือนทำในคอมพ์ได้
Q: ในมุมของลูกชาย คิดว่าพ่อมีความยิ่งใหญ่อย่างไร
A: พ่อเป็นคนที่รักในสิ่งที่ตัวเองทำ แล้วก็มีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจน และไม่ได้มีความเก่งแค่ด้านเดียว เป็นคนที่จะเรียกว่าอัจฉริยะก็ว่าได้ สามารถทำทุกอย่างได้และเก่งในทุกๆ ทางที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็นจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม งานออกแบบสร้างสรรค์ เรื่องของวรรณกรรม แกเก่งหมด แล้วแกทำอะไรแก่การศึกษาจริงจังมาก และแกทำตลอดชีวิต
ถามว่ามันแปลกมั้ยที่แกประสบความสำเร็จ? ผมว่าจริงๆ มันไม่แปลก เพราะเราเห็นชีวิต เราเห็นในสิ่งที่แกทำ ใน 1 วัน แกทำ 8-9 ชั่วโมงเหมือนคนทำงานเข้า 8 โมงเช้าเลิก 5 โมงเย็น แกก็ทำงานที่เป็นลักษณะแบบนั้นตลอดเวลา แล้วแกก็เป็นคนขวนขวายใฝ่รู้ตลอด ฉะนั้นไม่แปลกที่แกจะประสบความสำเร็จในชีวิต เพราะว่าแกเคี่ยวกรำตัวเองมา เหมือนคนฝึกวิทยายุทธ์ มันไม่สามารถจะเก่งในชั่วข้ามคืน แต่ต้องใช้ทั้งชีวิตทุ่มเทให้มัน
บางคนทำงานศิลปะก็เป็นอาจารย์ไปด้วย ไปสอนหนังสือด้วย แล้วก็เดินทางทำโน่นทำนี่ มันเลยทำให้ความเข้มข้นหรือพลังในการทำงานไม่เต็มที่ แต่พ่อทุ่มเทชีวิตให้กับศิลปะอย่างเดียว แล้วสิ่งที่สำคัญที่ผมเห็นพ่อสร้างไว้ งานศิลปะที่เป็นลมหายใจของพ่อคือบ้านดำ เป็นอาณาจักรที่เป็นองค์ความรู้แล้วก็ให้คืนกลับแผ่นดิน ผมเชื่อว่าสิ่งนี้มันแตกต่างจากศิลปินคนอื่นและเป็นสิ่งที่วิเศษมาก
Q: ในวันที่พ่อไม่อยู่ เป็นจุดเปลี่ยนอะไรหรือเปล่า
A: มันเปลี่ยนอยู่แล้วชีวิตของแต่ละคน อย่างแรกคือสูญเสีย เพียงแต่เราจะทำยังไงไม่ให้มันเสียศูนย์ บางคนก็เป็นห่วงว่าผมจะจัดการกับสิ่งที่พ่อสร้างไว้ต่อไปยังไง ผมรู้สึกว่าหลายคนยังไม่รู้จักผม เพราะจริงๆ แล้วผมกับพ่อจะรู้กันดีว่าเราคิดอะไร แล้วเราจะทำอะไร เราไม่ใช่ว่าปุบปับผมไปสานงานต่อจากพ่อหลังจากที่แกจากไปแล้ว แต่ผมทำมาก่อน ทำมาตลอดชีวิตและรู้ว่าควรจะทำอะไร นี่คือสาเหตุที่ผมต้องไปเรียนมาโดยตรง ต้องมาริเริ่มสร้างสรรค์หรือต้องมาทำบ้านดำแกลเลอรี่ ผมต้องมาทำเว็บไซต์ ต้องทำของทำโน่นนี่ เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าเราจะต้องทำอะไร แล้วเราจะทำยังไงให้บ้านดำอยู่ได้
แต่ความเปลี่ยนแปลงหลักก็คือบางทีผมอาจจะมีปรับตัวไม่ทัน เพราะเราเป็นลูกคนเดียว เราทำอะไรจะนึกถึงพ่อก่อน บางทีเราไปซื้อของไปอะไรส่วนมากเราซื้อของฝากพ่อตลอด พอแกไม่อยู่ก็ไม่รู้จะซื้อไปฝากใคร ยังปรับตัวไม่ค่อยทันเพราะว่าแกเพิ่งเสียไม่นาน มันก็อาจจะเป็นช่วงที่ต้องใช้เวลาปรับตัวสักพักหนึ่ง ยังต้องปรับตัวทางความรู้สึกมากกว่า แต่อย่างอื่นก็ดำเนินต่อไป
Q: นอกจากในด้านของศิลปะแล้ว ชีวิตด้านอื่นมีความคล้ายหรือแตกต่างจากพ่ออย่างไรบ้าง
A: มันมีทั้งความคล้ายและความต่าง สิ่งที่คล้ายกันน่าจะเป็นวิธีการดำเนินชีวิต แต่ของผมกับพ่อจะแตกต่างกันที่… อย่างของพ่อจะเป็นคนที่เข้มงวดกับชีวิตมาก จะไม่ทำอย่างอื่น ทำอย่างใดอย่างหนึ่งชัดเจนไปเลย อย่างเช่น วันนี้วางแผนว่าจะไปทำบัตรประชาชนหมดอายุก็ทำอย่างเดียว แกจะไม่ทำอย่างอื่นเลย แต่ของผมก็วางแผนเหมือนกันแต่เราทำหลายๆ อย่างในตัวเอง เพราะเราจะทำอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ เราต้องมีช่วงที่สวมหัวโขนสลับกัน ดังนั้นผมสามารถทำอะไรหลายๆ อย่างได้พร้อมๆ กัน ความต่างมันเกิดจากผมเอาเรื่องการบริหารจัดการเข้ามาใช้ในชีวิต พ่อจะเน้นที่ทำงานศิลปะอย่างเดียวและไม่ทำอย่างอื่นเลย
Q: คิดว่าคำสอนอะไรที่สำคัญที่สุดที่พ่อทิ้งไว้ให้
A: ผมว่าเป็นวิธีการดำเนินชีวิตแก เป็นลมหายใจที่แกสอนให้เรารู้ว่าการที่เราจะอยู่บนโลกนี้ได้ เราต้องรู้จักอะไรหลายอย่าง เราต้องรู้จักเรียนรู้ที่จะหายใจ แล้วถ้าเรารู้ว่าศิลปะเป็นเส้นเลือดใหญ่ ถ้าเรามีเป้าหมายชัดเจน เราก็ต้องเดินไปให้ถึงฝัน ฉะนั้นมันไม่มีอะไรที่ได้มาง่าย หรือได้มาแบบฟลุก ในชีวิตผมที่ผ่านมาก็เจออะไรมาเยอะมาก จนเราได้เรียนรู้ว่าสิ่งที่แกสอน สิ่งที่แกพยายามทำมันเป็นการฝึกเรา ฉะนั้นถามว่าพ่อผมเลี้ยงลูกยังไง พ่อเลี้ยงลูกแบบสิงโต คือลูกสิงโตมันเกิดมาธรรมชาติจะคัดสรรตัวที่ไม่แข็งแรงมันก็ต้องตาย ตัวที่มันอยู่ไม่ได้มันก็ต้องตาย และแกเชื่อในเลือดของแก เชื่อในสัญชาตญาณ ส่วนผมจะดีจะเลวอะไรแกไม่เคยมายุ่งเลย เราก็รู้และสัมผัสได้ด้วยตัวเองว่าอะไรเราควรหรือไม่ควรทำอะไร
บ้านดำ…ลมหายใจที่เหลืออยู่ของพ่อ
หลังลมหายใจสุดท้ายของถวัลย์ ดัชนีผ่อนผ่านไป มันไม่ได้หายไป หากแต่ยังคงอยู่เป็นผลงานศิลปะในนามของ 'บ้านดำ' ทว่าดอยธิเบศร์ก็ถือเป็นลมหายใจที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ยังคงมุ่งมั่นที่จะสานต่อลมหายใจที่เหลือไว้ของพ่อให้ดำรงอยู่ต่อไป
40 ปีที่บ้านดำเป็นอาณาจักรที่แฝงเร้นไปด้วยงานศิลปะ หากแต่ไม่มีรายได้ แต่กลับเต็มไปด้วยรายจ่าย อนาคตอันใกล้มันคงไม่อาจดำรงอยู่ได้ แต่ราว 8 ปีก่อนบ้านดำก็เริ่มเปลี่ยนแปลงตัว มันเริ่มหายใจได้ด้วยตัวเอง เริ่มมีรายได้เข้ามา และมองเห็นอนาคตที่จะยืนอยู่ได้ เบื้องหลังลมหายใจของบ้านดำคือเขานั่นเอง
Q: งานดูแลบ้านดำนั้นต้องบริหารจัดการอะไรบ้าง
A: จริงๆ บ้านดำมันมีมา 40 ปีแล้วแต่ไม่ได้มีรายได้หรือไม่มีอะไรสักอย่าง ฉะนั้นมันมีแต่รายจ่าย ซึ่งในอนาคตผมก็ไม่รู้ว่ามันจะอยู่ได้ยังไง ฉะนั้นสิ่งที่ผมคิดก็คือว่าทำยังไงให้มันเกิดรายได้ขึ้นมา ก็เลยคิดว่าเราจะทำเป็นแกลเลอรี่ขึ้นมา คือบ้านดำมันจะมี 2 ส่วน คือส่วนที่เป็นพิพิธภัณฑ์ กับส่วนที่เป็นแกลเลอรี่ ในแกลเลอรี่จะมีที่แสดงรูปที่ขายของที่ระลึก ฉะนั้นพอมันมีรายได้เข้ามา อย่างน้อยที่สุดรายได้พวกนี้มันก็เลี้ยงคนงาน เลี้ยงพนักงานของบ้านดำ ซึ่งยิ่งมันขยายมากเท่าไหร่รายได้ก็ยิ่งมากขึ้น มันก็จะเลี้ยงคนได้มากขึ้น ซึ่งเราก็ไม่ได้คาดหวังผลกำไรตอบแทนมากมาย หรือจะขายของเอาตังค์มาใช้เอง คือเราขายของเป็นที่ระลึกเล็กๆ น้อยๆ ให้แก่นักท่องเที่ยว เพราะเราไม่ได้เก็บค่าบัตรค่าเข้าชม
Q: ในส่วนของการเป็นภัณฑารักษ์ มีการรวบรวมงานมาจัดแสดงอย่างไร
A: ผมก็มีหน้าที่ดูแลแล้วก็จัดเอ็กซิบิชั่นดีไซน์ของพ่อหลายๆ ครั้ง ตั้งแต่สมัยที่ยังจัดแสดงที่หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าฯ เราก็ช่วยกันออกแบบ ซึ่งผมค่อนข้างรู้รายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับบ้านดำ เพราะตอนปริญญาโทผมก็ทำเรื่องเกี่ยวกับบ้านดำโดยตรง ฉะนั้นสิ่งที่ผมศึกษาค้นคว้าแล้วก็ถอดรหัสจากหลายๆ จุดทำให้เราได้รู้ว่าบ้านแต่ละหลังหมายความว่าอะไร ในอนาคตเราก็จะมีการนำชม เพราะทุกวันนี้คนเข้ามาดูแบบตัวใครตัวมัน ไม่มีองค์ความรู้อะไรกลับไป ฉะนั้นอีกส่วนเราก็มีเว็บไซต์แฟนเพจ มีอะไรหลายอย่างที่สามารถให้คนได้ดูได้ศึกษาก่อนจะมาได้
Q: เป้าหมายของชีวิตตอนนี้คือการทำให้บ้านดำอยู่ได้?
A: เป้าหมายของผมมันอาจจะแตกต่างจากคนอื่น คือเรามีภาระและหน้าที่ ฉะนั้นสิ่งที่มันเกิดมากับเราก็คือสิ่งที่พ่อสร้างไว้ เราต้องจัดการตรงนี้ให้เรียบร้อย ในส่วนหนึ่งเราก็มีความฝันของตัวเอง เช่น เราอยากทำงานศิลปะ เราอยากเรียน เราอยากจะทำอะไรที่มันเป็นของตัวเอง เราก็ต้องพยายามประคับประคองมันไปให้ได้ เพราะจริงๆ มนุษย์เราแค่เกิดมาดูแลตัวเองมันก็ยากแล้วก็เหนื่อยแล้ว แต่ของผมมันต้องดูแลอะไรหลายๆ อย่าง ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มันก็ไม่ยากเกินความสามารถของมนุษย์
สิ่งที่ผมสนใจตอนนี้คือทำยังไงให้บ้านดำอยู่ได้ ทำยังไงให้ลมหายใจของพ่อยังมีชีวิตอยู่ได้และดำรงสืบต่อไป เพราะผมเชื่อว่าไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้าแน่นอน แต่สิ่งสำคัญคือก่อนที่เราจะตาย เราได้สร้างประโยชน์ สร้างคุณงามความดีอะไรบ้าง ฉะนั้นสิ่งที่มันยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับผมก็คือว่า ทำยังไงให้บ้านดำมันอยู่ได้ แค่นั้นเอง หลังจากที่ผมทำเสร็จแล้ว มันอยู่ได้เป็นระบบแล้ว ผมก็สามารถที่จะไปนั่งวาดรูปอะไรของผมโดยที่ไม่ต้องมานั่งห่วงอะไรอีก
Q: บ้านดำในอนาคตจะมีหน้าตาออกมาเป็นอย่างไร
A: ผมก็พยายามจะทำสิ่งที่วางแผนไว้ให้ออกมาเป็นรูปธรรมมากขึ้น คือเราคาดหวังว่าจะทำบ้านดำให้มันเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่ครบวงจร ผมจะทำจากบ้านดำแกลเลอรี่ให้เป็นบ้านดำอาร์ตสเปซซึ่งประกอบด้วยอาร์ตติสต์เรสซิเดนซ์ อาร์ตไลบรารี่ แล้วก็สิ่งต่างๆ ที่มันเกี่ยวข้องกับงานศิลปะทั้งหมด มันจะเป็น one stop service ของศิลปะ หมายความว่าพอคุณไปคุณจะมีที่พัก ซึ่งมีจัดเวิร์กช็อปเพื่อแสดงงาน มีห้องสมุด ร้านขายของที่ระลึก ร้านกาแฟ ร้านอาหาร มันจะมีทุกอย่างอยู่ในนั้น ซึ่งคุณสามารถไปได้ทั้งครอบครัว และเราคาดหวังที่จะทำให้มันเป็นระดับนานาชาติ เราจะมีระบบอะไรที่มันเป็นรูปธรรมมากขึ้น เพราะก่อนนี้เราเริ่มจากติดลบ ไม่ได้มีเงินเยอะก็ค่อยๆ ทำ ผมเอาระบบกล้องวงจรปิดไปติด เอาระบบยามเข้าไป เอาทุกอย่างเข้าไปบริหารจัดการ ซึ่งตอนที่พ่อยังอยู่เราก็พยายามทำในส่วนของเราให้มากที่สุด ถึงตอนนี้ก็ทำต่อไป
เรื่อง : อธิเจต มงคลโสฬศ
ภาพ : สุวิทย์ กิตติเธียร, วิสุทธิ์ แซ่แต้