ธิดา BIOSCOPE นักวิจารณ์หนังยังจำเป็น..?

เรื่อง : เอกลักษณ์ มุสิกะนันทน์
ภาพ : อิศเรศน์ ช่อไสว

ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นวันนี้ หรือเมื่อวาน แต่ภาพยนตร์ได้กลายเป็นวัฒนธรรมการเสพมหรสพมานับตั้งแต่มนุษย์เริ่มบอกเล่าเรื่องราวผ่านแผ่นฟิล์ม สิ่งที่ได้รับนอกจากความบันเทิง หรือสร้างอารมณ์ร่วมแล้ว หนังยังสะท้อนถึงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ กระบวนการคิด และทัศนคติของคนในสังคมยุคนั้นๆ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อบันเทิงประเภทนี้คือบันทึกความทรงจำของมนุษย์ได้ดีในระดับหนึ่ง

อาชีพที่เติบโตชนิดที่เรียกว่าตีคู่มาพร้อมๆ การสร้างสรรค์ภาพยนตร์ คือเหล่านักวิจารณ์ผู้นำเสนออีกด้านของผลงาน ทั้งข้อเท็จจริงตามหลักวิชาการ มุมมองทางศิลปะ รวมถึงความชอบ ไม่ชอบส่วนตัว แต่จะมีนักวิจารณ์สักกี่คนได้รับการยอมรับในวงกว้าง มีอิทธิพลต่อการจุดประกายความอยากในการเสพหนังเรื่องนั้นๆ

สำหรับนักคิดนักเขียนอย่างคุณ ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ บรรณาธิการนิตยสาร BIOSCOPE นับว่าประสบความสำเร็จในฐานะนักเขียนเชิงวิจารณ์ ที่แม้เธอบอกกับ mars ว่าช่วงหลังไม่ค่อยได้ตวัดปลายปากกาวิจารณ์มาสักระยะก็ตาม แต่หากให้นึกถึงคนในสายงานนี้ ชื่อของคุณธิดา น่าจะผุดขึ้นในความคิดของคอหนังเป็นอันดับต้นๆ และ mars พาคุณมารู้จักหญิงเก่งท่านนี้ พร้อมถอดรหัสความเป็นไปในวงการภาพยนตร์ว่าจะมีทิศทางอย่างไร รวมถึงบทบาทของนักวิจารณ์ในยุคที่โลกโซเชียลคืบคลานเข้าครอบคลุมแทบทุกสิ่ง ไม่เว้นแม้รูปแบบการทำงานของสื่อ

อะไรทำให้เลือกก้าวเข้าสู่การเป็นนักเขียนแนวบันเทิงภาพยนตร์ ?
ชอบดูหนังมาตั้งแต่เด็กๆ แต่เริ่มรู้สึกจริงจังเนื่องจากพี่ชายเป็นคอหนัง แล้วเราจะคุ้นกับภาพที่บ้านมีแมกกาซีน มีสตาร์พิกส์สมัย ‘อาจารย์แดง’ (กิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน) สะสมพวก DVD หนังหาดูยาก จึงคุ้น พออยู่ช่วงมหาวิทยาลัย เริ่มมีแมกกาซีนหนัง และวิดีโอ ฟิล์มวิว ซึ่งจริงจังมากกว่าไบโอสโคปอีก ก็จะรู้สึกว่ามีคนทำหนังสือแบบนี้ด้วยหรือ มีหนังแบบนี้ด้วยหรือ พูดถึงหนังแปลกๆ ในโลกนี้ มีวิธีคิด บทวิเคราะห์ อะไรที่แตกต่างจากที่เราคุ้นเคย

“พอเรียนจบด้านกราฟิกส์ สถาปัตย์จุฬา แนวโน้มตอนนั้นก็ควรจะไปทำงานเอเจนซี่โฆษณาอะไรประมาณนี้ แต่หางานไม่ได้ (หัวเราะ) เพราะเด็กจบใหม่ยังไม่มีโปรไฟล์อะไรดีพอ ในช่วงระหว่างรองานคิดว่าเราควรทำอย่างอื่นนอกเหนือจากที่เรียนมา สำรวจตัวเองเรามีอะไรอยู่ในตัวที่พอต่อยอดได้ จึงนึกถึงหนัง แล้วพอดีสตาร์พิกส์เขาเปิดรับนักวิจารณ์อยู่ เลยสมัครดู

คือถ้าจะทำออกนอกสายที่เรียนเสียแล้วก็ขอให้เป็นสายที่รู้ว่าเรายึดโยงอยู่กับอะไร ไม่ใช่กระเด็นกระดอนไปทำอะไรก็ไม่รู้ จากนั้นก็ทำยาวไปเรื่อยๆ”

ไม่ได้เรียนจบด้านภาพยนตร์มาโดยตรงแล้วมองหาความรู้เชิงทฤษฎีจากไหน?
“หลังทำงานไปสักระยะ ช่วงนั้นทางชมรมวิจารณ์บันเทิง มีการจัดอบรมภาพยนตร์พื้นฐานทุกปี จึงเป็นเบื้องต้นที่เราไปเรียน แต่จริงๆ ก็เหมือนเรียนด้วยตัวเองทั้งหมด ในแง่หนึ่งคืออ่านหนังสือเชิงวิชาการทางภาพยนตร์ พยายามอุดช่องว่างให้ตัวเอง เพราะต้องทำงานคอนเทนส์อีกต่างหาก พยายามพูดคุย สะสมความรู้เรื่อยๆ

การเรียนสถาปัตย์ช่วยเติมเต็มแนวคิดเกี่ยวกับงานเขียนได้อย่างไร ?
“พอมาย้อนมองสิ่งหนึ่ง เป็นจุดเด่นการเรียนสถาปัตย์ คือสอนให้คิดต่าง คิดในเชิงสร้างสรรค์ หลักการเรียนสถาปัตย์ไม่ใช่เรียนเพียวอาร์ต เป็นอาร์ตเพื่อ Commercial (เชิงพาณิชย์) อาร์ตเพื่อการใช้งาน ดังนั้นการเริ่มต้นคือมาจากคิดฟังก์ชั่นเสมอ ว่าสิ่งที่เราจะดีไซน์นั้นตอบสนองโจทย์อะไร ใครเป็นผู้ใช้ คือรู้สึกว่าชุดวิธีคิดที่ติดตัวมาตลอดจนถึงทุกวันนี้ไม่ว่าเป็นการทำโปรเจกต์ สื่อสารอะไร จะเริ่มต้นจากคิดขึ้นมาโดยสัญชาตญาณ ดังนั้นตอนทำงานจะรู้สึกว่ามีหมวดนี้อยู่ในใจ เวลาเขียนเราใช้ภาษาแบบนี้ เรานำเสนอข้อมูลชุดนี้ เรากำลังจะพูดอะไร กับใคร จนถึงตอนนี้ทำ Documentary Club ก็ทำบนแกนวิธีคิดเดียวกัน”

จากจุดเริ่มกระทั่งถึงวันนี้วงการนักวิจารณ์มีอะไรเปลี่ยนไป ?
ตอนเริ่มต้นทำงานช่วงนั้นรู้สึกว่าวงการวิจารณ์หนังบ้านเรากำลังเติบโต แม้หลายคนไม่ได้เรียนภาพยนตร์มาโดยตรง แต่เป็นคนรักหนัง หาความรู้เรื่องหนัง แล้วสามารถพูดถึงหนังได้หลากหลายมุม เรียกว่าเป็นกลุ่มก้อนของนักวิจารณ์ชัดเจน มีแฟนติดตาม สร้างความคิดใหม่ๆ

“ต่อมาคือช่วงเวลาที่หนังเป็น Pop Culture (วัฒนธรรมร่วมสมัย) ชัดเจนขึ้น หมายความว่าไม่ได้มีพื้นที่แค่ในโรง หรือแง่ของความบันเทิงอย่างเดียว แต่ถูกวงการวิชาการเอาเข้ามาใช้งาน เราจะเห็นคนอย่าง ธเนศ วงศ์ยานนาวา ที่มาเขียนถึงหนัง บางท่านเขียนเชิงวิชาการ รู้สึกว่าช่วงนั้นที่เข้ามาทำงานใหม่ๆ ในระยะ 10 ปีแรก มันเฟื่องฟูมาก เพราะหนังมีบทบาทในหลายบริบท มีโอกาสได้เห็นคนวิจารณ์หนังในหลายมุม มีแบบทฤษฎีภาพยนตร์ล้วนๆ เชิงใช้ทฤษฎีสังคมวิทยา จิตวิทยา มานุษยวิทยา คือมันแตกแขนงไปอีกเยอะ

“หลังจากนั้นไม่รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น วงการนักวิจารณ์มันหดตัวลง แม้ในแง่หนึ่งดูเหมือนขยายขึ้นเพราะมีโซเชียลมีเดีย ทุกคนสามารถเปิดเพจวิจารณ์หนังได้ ตรงนี้เป็นความจริงในแง่หนึ่ง แต่ว่านักวิจารณ์ใหม่ๆ ที่เข้ามาก็ไม่ค่อยให้ความรู้ ไม่ให้ความสำคัญเรื่องการหาข้อมูล กลายเป็นเรื่องของการเขียนบนฐานของการไม่ได้รู้ว่าภาษาภาพยนตร์อันนั้นมันมีเพื่ออะไร คุณไม่สามารถอธิบายว่าภาพยนตร์ทำงานอย่างไรนอกจากบอกว่าฉันคิดอะไร คือมันไม่ใช่แล้ว

วันนี้นักวิจารณ์ต้องปรับตัวให้ทันโลกโซเชียล ?
“เรื่องหน้าที่นักวิจารณ์เป็นที่พูดถึงเยอะ ในต่างประเทศเองมันก็ผ่านช่วงวิกฤติ อย่าง 3 – 4 ปีที่ผ่านมาหนังสือพิมพ์หัวใหญ่ๆ ของสหรัฐอเมริกามีการไล่นักวิจารณ์ออก เพราะเขารู้สึกว่าโซเชียลมันเป็นคำตอบมากกว่า คือทุกอย่างพอผ่านเวลาแล้วจะค่อยๆ ตบตัวเองให้กลมขึ้น เริ่มมีความรู้สึกว่า ณ เวลานี้ นักวิจารณ์กลับมามีบทบาทอีกครั้ง เพียงแต่อาจอยู่บนพื้นที่ที่ไม่เหมือนเดิม

“ดูหนังจบแล้วคุยกันในหมู่เพื่อนก็เรื่องหนึ่ง แต่คนที่ตั้งตนเปิดเพจนั้นมันเยอะมาก ไม่มีมาตรฐานน่าเชื่อถือ หรือมีหลักการที่ดีพอ มันก็เฝือนะ ในที่สุดคนอ่านแล้วจะรู้สึกว่าไม่ได้อะไร ฟังเพื่อนก็ได้เท่าๆ กัน หรือเข้าใจกว่า ในบรรยากาศที่มันเฝือ ไม่มีมาตรฐาน ในที่สุดคนมีหลักการเชื่อถือได้ก็จะมีบทบาทขึ้นมา ทุกอย่างก็จะหมุนวนกลับมา นักวิจารณ์จึงยังมีความสำคัญอยู่ จริงๆ แล้วเรายังต้องการใครบางคนที่รู้สึกว่ามีหลักคิดเชื่อถือได้ประมาณหนึ่ง เราอยากฟังความคิดเห็นส่วนตัวที่ให้ประโยชน์”

หนังดีๆ สักเรื่องอาจถูกทำลายเพียงเพราะการวิจารณ์เชิงลบบนโซเชียลเลยหรือเปล่า ?
คนดูหนังทั่วไปจะมีจุดที่ว่าฉันก็ตัดสินเองได้ ถึงนักวิจารณ์มีพื้นที่ มีบทบาท แต่ไม่ได้หมายความว่าคนอ่านจะเชื่อไปเสียหมด ในที่สุดแล้วเราก็จะดูหนังเพื่อความบันเทิง และรสนิยมส่วนตัวมากกว่า

อย่างถ้าพูดถึงหนังที่ตลาดมากๆ คนชอบกันมาก แต่นักวิจารณ์ออกมาชี้ว่าหนังมันเลว นักวิจารณ์จะไม่ค่อยมีความสำคัญในพื้นที่เหล่านั้น ตรงกันข้ามเขากลับมีความสำคัญในจุดที่คนไม่สามารถเอื้อมมือเข้าไปได้ เช่น การที่นักวิจารณ์พูดถึงหนังเล็กๆ ที่ไม่มีแผนการตลาดใหญ่โตที่จะแข่งกับหนังใหญ่ หนังแปลกๆ หรือหนังที่ดูยาก คนไม่ค่อยคุ้นชิน ตรงนี้เป็นหน้าที่หลักที่พึงกระทำ เพื่อเปิดโลกทัศน์คน

“ส่วนคำถามในแง่ที่ว่ามีคนเขียนเพจแบบไม่มีความรู้ ด่าทอหนัง ตรงนี้คงต้องสู้กันตรงสติปัญญาของค่ายหนังที่คิดว่าตรงนั้นตรงนี้ไม่ยุติธรรม คุณต้องสร้างคอนเทนส์ขึ้นมาสู้ สุดท้ายค่ายหนังต้องพิสูจน์ตนเองด้วยผลงาน แล้วคนจะตัดสินด้วยตัวของเขาเอง ว่ามันเชื่อได้หรือไม่ คิดว่าตอนนี้ต่อให้บทวิจารณ์พอลงมาบนเพจแล้วคนแชร์มาเป็นพัน ก็ไม่ได้แปลว่ามีผลต่อความคิดของคนสักเท่าไร

บทวิจารณ์ที่ด่าสาดเสียเทเสียอย่างรุนแรง อาจมีคนที่ชอบเพราะอ่านแล้วสะใจ แต่เชื่อว่าทุกคนมีสัญชาตญาณที่จะคิดว่ามันไม่ใช่แล้ว

พฤติกรรมคนดูหนังปัจจุบันเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ?
โดยภาพรวมไม่ได้เปลี่ยน คือถ้าย้อนไปสมัยที่ยังไม่มีสตูดิโอใหญ่ๆ มาบ้านเรา คนสมัยก่อนจะดูหนังหลากหลายกว่า ด้วยบรรยากาศของธุรกิจไม่มีลักษณะผูกขาด อย่างเช่นโรงหนังสแตนด์อโลน (stand-alone movie theaters หรือ โรงภาพยนตร์เดี่ยว)มียิบย่อยไปหมด แล้วแต่ใครจะเอาหนังเข้ามา คนสามารถดูอะไรก็ได้ แต่พอโรงหนังผูกขาด สตูดิโอฮอลลีวู้ดเข้ามา มันก็มีบรรยากาศแบบตอนนี้ สตาร์วอร์สมาทีก็ฉายทั่วประเทศจนแทบจะไม่มีอย่างอื่นให้ดู

คนดูหนังส่วนใหญ่ก็ถูกขับเคลื่อนด้วยกระแสการตลาด สัปดาห์นี้เราต้องดู เจมส์บอนด์ วีคนี้ต้องดูฟาสต์ 7 อะไรแบบนี้ แต่ใจกลางสิ่งเหล่านี้ก็จะมีกลุ่มคนที่ไม่เป็นแบบนั้น คนที่ต้องการอะไรบางอย่างตอบสนองสิ่งที่หายไป คนกลุ่มนี้จะมีเรื่อยๆ”

อยากเห็นอะไรในหนังบ้านเรา ?
สังคมบ้านเราอาจยังไม่คิดว่าความหลากหลายนั้นสำคัญ เช่นหนังของ ‘จักรวาล’ ได้รางวัล (จักรวาล นิลธำรงค์ ผู้กำกับ Vanishing Point หนังรางวัล Tiger Award) ‘เจ้ย’ ได้รางวัล (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับลุงบุญมีระลึกชาติ และ แสงศตวรรษ) มีทีวีช่องไหนทำข่าวบ้าง น้อยมากเลยนะนอกจากช่องที่เขาจัดสรรพื้นที่ตัวเองอยู่แล้ว อย่างวอยซ์ทีวี TPBS คือแค่นี้คุณยังไม่เห็นค่า เป็นสิ่งที่ต้องรวมกันสร้าง แต่ทำไมไม่ทำ คุณสร้างธุรกิจจากความเป็นแมสอย่างเดียวโดยไม่มองด้านอื่น มันเป็นไปไม่ได้ วิธีคิดมันไม่ใช่

ฝากถึงคนดูหนัง…
“จริงๆ แล้วการดูหนังมันคือความบันเทิง แต่ความบันเทิงมีหลายแบบ พอเราโตขึ้นพร้อมโลกทัศน์ที่กว้างขึ้นก็สำคัญ เราต้องรับวัฒนธรรมหลากหลายขึ้น เราดูหนังแมสปกติก็ไม่เป็นไร แต่ในสัปดาห์ที่มีกำลังทรัพย์ มีเวลา อยากลองให้ความสำคัญกับอย่างอื่นๆ ที่เราไม่คุ้นชิน คำพูดบางประเภทควรเลิกได้แล้ว อย่างดูยาก ดูแล้วหลับ ปีนบันไดดู คือปีนบันไดมันก็เป็นหน้าที่ที่เราต้องปีนนะ อย่าปล่อยให้คุ้นเคยแค่การบอกเล่าในแบบภาษาหนังฮอลลีวู้ดจาก 1-10 ความสนุกของการเสพงานวัฒนธรรมคือเราตื่นเต้นกับความคาดไม่ถึง

ดังนั้นลองเปิดกว้าง หาคำตอบเอง ไม่ใช่เราต้องทานแฮมเบอร์เกอร์ทุกวัน ลองอาหารแบบอื่นดูมันก็อร่อย มันก็ค่อยๆ ชิน ในที่สุดเราอาจไม่ได้ชอบทุกแบบ แต่สิ่งที่ดีคือโลกทัศน์เราเปิดกว้าง

user's Blog!

49/1 ชั้น 4 อาคารบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

49/1 4th floor, Phra-A-Thit Road, Chanasongkhram,Phanakorn Bangkok 10200

Tel. 02 629 2211 #2256 #2226

Email : mars.magazine@gmail.com

FOLLOW US ON

SUBSCRIBE