ดวงฤทธิ์ บุนนาค : ‘ประเทศไทยต้องขายความคิดสร้างสรรค์’

เรื่อง : วรชัย รัตนดวงตา
ภาพ : อิศเรศน์ ช่อไสว

ราวปลายปีที่แล้วดูจะมีข่าวสั้นๆ แต่อยู่ในความสนใจของคนรุ่นใหม่อย่างล้นหลาม นั่นก็คือ ‘ดวงฤทธิ์ บุนนาค’ นักออกแบบและสถาปนิกชื่อดังของไทย ได้ออกมาโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กชื่อ ‘Duangrit Bunnag’ โดยมีใจความว่า รัฐบาลกำลังนำเรื่องเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบยุบหน่วยงานศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) และ OKMD องค์การมหาชนที่ดูแล TCDC (รวมถึง TK Park และมิวเซียมสยาม) ซึ่งเพียงไม่กี่นาทีต่อมาก็เกิดกระแสขุดคุ้ยค้นหาข้อเท็จจริงนี้กันอย่างครึกโครม และอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมาก็มีเสียงตอบกลับจากรัฐบาลว่ายังไม่มีการยุบ แต่ให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) กลับไปประเมินผลงานและบุคลากรภายใน 3 เดือน ว่าการใช้งบประมาณเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่

ประเด็นหลักๆ ที่ถกกันหนาหูก็คือ ‘เรื่องงบประมาณกับความคุ้มค่า’ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

จากจุดนี้ mars จึงขอปิดห้องคุยกับผู้ที่คลุกคลีกับ TCDC มาตั้งแต่ต้นในฐานะผู้ออกแบบ รวมทั้งเป็นผู้ตีฆ้องร้องป่าวและเป็นหนึ่งในคนไทยที่หายใจอยู่กับวงการสร้างสรรค์มาตลอดชีวิต

‘ดวงฤทธิ์ บุนนาค’

เรื่องของ TCDC, TK Park และมิวเซียมสยาม ถามว่าจำเป็นแค่ไหนในวันนี้และอนาคต
เอาเป็นว่ามันเกิดขึ้นยังไงก่อนดีกว่า เวลาที่จะมีอะไรเริ่มต้นในประเทศนี้จะมาจากผู้บริหารของประเทศ อยากทำเรื่องนี้ก็ลุกขึ้นมาทำ แล้วมันมีน้อยครั้งมากที่จะมีเรื่องโดนใจ ซึ่งการเกิดตอนแรกก็ไม่ใช่เรื่องฟลุก เพราะว่ามีคนกลุ่มหนึ่งไปยืนยันกดดันผู้ที่มีอำนาจตอนนั้นว่าอยากได้สิ่งนี้เพราะคิดว่าสิ่งนี้จำเป็น แล้วก็มาสู่คำถามที่ว่าแหล่งเรียนรู้พวกนี้มันจะมีทำไม? ซึ่งผมต้องถามก่อนว่าอนาคตของประเทศมันจะไปทางไหน? อะไรมันจะเป็นเครื่องจักรที่ขับเคลื่อนประเทศในแง่ของเศรษฐกิจ
คุณคิดว่าเป็นเรื่องอุตสาหกรรมหรือเปล่า? ถ้าคุณคิดว่าจะเป็นสุดยอดทางการผลิตคุณสู้จีนเขาไม่ได้นะ แม้แต่ Garment ที่เราภูมิใจนักหนาเราก็ยังสู้จีนไม่ได้ ทั้งในแง่คุณภาพ ทั้งในเรื่องราคา แล้วคุณจะเอาอะไรเป็นตัวยึด การเกษตรเราก็แย่ลงเรื่อยๆ ข้าวเราก็ไม่ได้เป็นที่ 1 แล้ว ส่วนการท่องเที่ยวเราก็มีข้อจำกัด การท่องเที่ยวมันสำคัญก็จริงแต่ก็ไม่ได้เป็นสิ่งขับเคลื่อนประเทศได้ เป็นแค่ยาลดไข้บรรเทาปวดที่ช่วยได้ชั่วครั้งชั่วคราว เขาคิดกันมาหมดแล้ว เขานี่คือทั้งโลกนะ
คำว่า Creative Economy มันไม่ได้เริ่มจากประเทศไทย เริ่มมาจากองค์การสหประชาชาติก็พูดถึงมัน ในช่วงหนึ่งของยุค 80s ก็พูดกันว่า Information Technology ช่วงนั้นเป็นเรื่องใหญ่นะ เราก็ไปส่งเสริมกันเรื่องนี้ แต่ตอนนี้เขาบอกว่าความคิดมนุษย์เป็นเรื่องใหญ่ ในวิธีที่เราจะสร้างเศรษฐกิจขึ้นมาใหม่ได้มันต้องมีความคิด ไม่ว่าธุรกิจก็ดี โปรดักต์ก็ดี มันต้องมีความคิด โปรดักต์ทุกวันนี้ที่ยิ่งใหญ่อย่างของค่าย Apple มันก็เริ่มมาจากความคิด เขาก็บอกว่าในยุคต่อไปมันเริ่มจากความคิดสร้างสรรค์นี่แหละที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
โชคดีมากที่ประเทศไทยมีคนฉลาดๆ มีคนเก่งๆ เยอะไปหมด แต่ไม่มีใครส่งเสริม เด็กไทยนี่เก่งที่สุดในโลกผมบอกได้เลยแต่ไม่มีใครส่งเสริม ทุกวันนี้เขาเอาตัวรอดกันเอง เมื่อ 10 ปีที่แล้วภาครัฐก็บอกว่าฉันจะส่งเสริมก็เลยตั้งองค์การมหาชน OKMD ขึ้นมา แล้ว OKMD ก็ตั้ง TK Park, TCDC และมิวเซียมสยาม แล้วก็มีอย่างอื่นอีกสองสามอันที่ตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ของมนุษย์ คือที่เขาตั้งองค์การมหาชนมาเพื่อให้คนไทยฉลาดขึ้น นี่เป็นอุดมคติที่ถ้าเกิดขึ้นจริงจะดีมาก นั่นแหละครับทั้งหมดที่เกิดขึ้นก็เพราะอยากเห็นเด็กไทยฉลาดขึ้น ผมถามว่ามันดีไหมล่ะ? ถ้าเขาฉลาดขึ้น คิดเองได้เมื่อโตขึ้น ก็เป็นได้ทั้งเจ้าของกิจการ นักวิทยาศาสตร์ เป็นอะไรก็ตามที่เขาอยากเป็น แต่ว่าเก่งขึ้นฉลาดขึ้น แล้วผมถามกลับว่าไม่มีได้ไหม? ก็ได้นะ แล้วคุณเสียภาษีไปทำไม คุณเสียภาษีเงินได้แบบบุคคลไม่น้อยนะในปีหนึ่งๆ คุณเสียภาษีไปสร้างถนนสร้างสะพานอย่างเดียวเหรอ ทีนี้เราบอกว่าเอาภาษีส่วนหนึ่งมาลงทุนเพื่ออนาคตลูกหลานคุณว่ามันดีไหม แล้วทำไมคุณจะไม่ลงทุนล่ะ

หากดูจากตัวเลขภาษีทั้งหมดต่อปีแล้ว นับเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ที่เอามาลงกับหน่วยงานที่ว่ามา
อุ๊ย! ขี้ผงมาก ปีหนึ่งเรามีงบประมาณกี่แสนล้านล่ะ? TCDC ใช้เงินไปต่อปีพันกว่าล้านเอง ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับภาษีทั้งหมด แล้วลงทุนพวกนี้ลูกหลานทั้งนั้นที่ได้ประโยชน์ แล้วก็มีการวัดผลว่าองค์การเหล่านี้มันทำงานจริงๆ มันสร้างผลลัพธ์ให้เกิดขึ้นกับคนจริงๆ ทำไมเวลาที่เราโยนคำถามไปว่า TCDC จะถูกปิด คนจะกระทืบกันตาย เพราะเขาได้ประโยชน์จากองค์การเหล่านี้ แล้วถามว่าจะปิดทำไม? บางคนก็บอกว่ามันฟุ่มเฟือย คือเราเสียภาษีไปเพื่อให้ได้ประโยชน์กลับมา แล้วอันนี้คือเวิร์กสุดแล้ว คุณจะเก็บเงินไว้ทำไมล่ะ ทำไมไม่ลงทุน อย่างราชการเขาก็พยายามใช้งบให้หมดโดยเอาไปดูงานต่างประเทศกันเพื่อตั้งงบใหม่ คุณรู้ไหมว่าเงินภาษีของพวกคุณในแต่ละปีเขาก็พยายามผลาญกันให้หมดในทุกๆ ปี
อันนี้มันกำลังสร้างอนาคตให้ลูกหลานเรา สร้างอนาคตให้กับประเทศเรา มีหลายคนที่ได้ประโยชน์จาก TCDC ในการเชื่อมต่อทางธุรกิจ เด็กหลายคนมีโอกาสไปอ่านหนังสือใน TK Park แล้วก็นำไปสร้างประโยชน์ในการเรียนการแข่งขันต่างๆ หลายคนดูงานในมิวเซียมสยามแล้วเกิดไอเดียพัฒนาเป็นธุรกิจ นี่คือสิ่งที่เกิดตลอด 10 ปีที่ผ่านมา แล้วหากไม่มีสถานที่พวกนี้ เราเท่ากับสูญเสียประโยชน์มหาศาลในอนาคต แล้วเราจะไม่ลงทุนกับอนาคตของเราเลยเหรอ? อนาคตเศรษฐกิจของเราจะขึ้นอยู่กับอะไรล่ะ? เกษตรกรรม อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว ทั้งหมดนี้มีอะไรที่มีอนาคตสดใสบ้าง
ผมมองว่าความคิดสร้างสรรค์คืออนาคตที่สดใส เพราะคนไทยโคตรฉลาดในระดับท็อปของโลกนะ ลองไปดูพวกทำงานโฆษณา ดูพวกนักออกแบบสิ เรื่องความคิดเราเก่งมาก ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหนเขาก็เป็นคนไทย สร้างผลลัพธ์ออกมาก็ยังอยู่ในชื่อของคนไทย เป็นการลงทุนที่ไม่สูญเปล่าเลย
เมื่อไม่นานมานี้ก็มีข่าวอีกครั้งในเรื่องการยกเลิกระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการสนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ นโยบายสำนักนายกฯ เรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์มันมีมาตั้งแต่สมัยคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งเขาก็ทำมาตลอดทุกรัฐบาลเพราะมันเป็นประกาศจาก UNESCO จะเปลี่ยนข้างไหนมันก็ทำมาตลอดเพราะทุกคนเห็นว่ามีประโยชน์
เวลาเรามีนโยบายหรือโครงการในการสนับสนุนผู้คนหรือทำงานเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เช่น สนับสนุนดีไซเนอร์ หรือสนับสนุนกิจกรรมอะไรต่างๆ เขาก็สนับสนุนได้ เพราะมันมีระเบียบสำนักนายกฯ เรื่องนี้อยู่ แต่เมื่อยกระเบียบนี้ออกไป กระทรวง ทบวง กรมก็ไม่มีต้นตอแล้ว สมมุติกรมส่งเสริมการค้า กระทรวงพาณิชย์ จะทำโครงการอะไรบางอย่างขึ้นมาเพื่อสนับสนุนคนทำงานด้านนี้ ก็อ้างเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไม่ได้แล้วเพราะว่าระเบียบมันหายไป ฉะนั้นตอนนี้ก็เหมือนค่อยๆ ตัดให้เรามีเชื้อในการทำเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์น้อยลงไปเรื่อยๆ

หมายถึงอะไรที่ว่าตัดให้เรามีเชื้อเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์น้อยลงไปเรื่อยๆ
แปลว่ารัฐบาลฉันไม่สนใจแล้วเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ แล้วผมก็สงสัยว่าแล้วทำอย่างนั้นทำไม? เป็นเรื่องงบประมาณจริงเหรอ? ไม่รู้สิ แต่ถ้าเราตั้งใจจะซื้อเรือดำน้ำได้ งบประมาณมันน่าจะพอกับทุกอย่างหรือเปล่า? (หัวเราะ) ผมว่าประเทศเราคงไม่ได้จนขนาดนั้นหรอกถ้าดูจากวิธีการใช้เงิน ถ้าจะใช้เงินแบบนี้ก็พอที่จะมาทำห้องสมุดให้เด็ก หรือมาทำเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้ แต่คุณต้องเข้าใจนะ ผมไม่ได้โทษพวกเขา ผมไม่ได้มีสีอะไร แต่ผมเข้าใจโลกของเขาเลย คือโลกของข้าราชการไม่เหมือนกับเรา คือข้าราชการเขาอยู่ได้ด้วยเงินเดือน เงินเดือนมาจากภาษีเรา ไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดีเขาก็ได้เงินเดือน ไม่เหมือนเอกชนที่เศรษฐกิจไม่ดีเงินเดือนคุณก็น้อยลง คือถ้าคุณลองให้ข้าราชการมีระบบแปรผันสิว่าถ้าเศรษฐกิจแย่ให้เงินเดือนน้อยลง ผมว่าเขาจะตื่นเต้นกันมากเรื่องเศรษฐกิจ ตอนนี้เขาก็ไม่สนใจหรอกว่าเศรษฐกิจจะเป็นยังไง เพราะยังไงเขาก็ได้เงินเดือนเท่าเดิม ซึ่งตรงนี้มันจะเป็นความหายนะของเรา เขาจะไม่สนใจว่าทำไมต้องสร้างอนาคตให้เราด้วย เขาก็แค่ดูงบประมาณปีต่อปี เขาไม่คิดไป 5 ปี 10 ปี แต่พวกเราเป็นภาคเอกชนต้องคิด ถ้าเศรษฐกิจไม่ดีเราอาจจะไม่มีงานทำ อันนี้มันเป็นความแตกต่างซึ่งก็ไม่รู้จะอธิบายยังไงให้เข้าใจกันได้
เมื่อก่อนประเทศเรามี 2 ด้าน คือมีนักการเมืองที่เกลียดเขานักหนาว่าขี้โกง แล้วก็มีข้าราชการ พวกนี้จะถ่วงดุลกัน นักการเมืองมาจากประชาชน คือต่อให้เขาซื้อเสียงมาเขาก็กลัวประชาชนด่า ยังไงเขาก็ต้องทำงานเอาใจประชาชนโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง แต่ข้าราชการไม่ เขาจะทำในโหมดที่ว่าข้าราชการเป็นศูนย์กลาง ทำยังไงก็ได้ให้ฉันทำงานง่าย ฉันไม่ต้องทำงานหนัก ทำยังไงให้สะดวกรวดเร็ว แต่ตอนนี้มันไม่มีฟากการเมืองอยู่ เราก็ไม่โทษเขานะ เราเข้าใจเขา แต่ก็ต้องมีคนคอยเตือนเขาว่าอันนี้ไม่เวิร์ก เพราะฉะนั้นบทสนทนาเรื่อง TCDC ที่เราคุยกันนี้ก็คือหนึ่งในกระบวนการเตือนเขาแหละ ว่าสิ่งนี้มันเป็นประโยชน์ต่อฉันนะ อย่าเอาของฉันไป ซึ่งจริงๆ มันเป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะต้องทำ ผมทำบางสิ่งบางอย่างลงไปไม่ได้มีเรื่องความเกลียดชังของการเมืองเลย ผมทำเพราะเป็นหน้าที่ของประชาชนที่พึงต้องทำเพราะเป็นเงินภาษีของผมที่จ่ายไป ผมอยากให้มันเวิร์กสำหรับทุกๆ คน

แต่หลายคนก็มองว่า TCDC หรือ TK Park ก็กระจุกอยู่แค่ในตัวเมือง
เขาไปต่างจังหวัดกันเต็มไปหมดเลยนะ อย่างมิวเซียมสยามเขาลงกันไปถึงภาคใต้เลย เขาออกไปทำเป็นมิวเซียมสยามเวอร์ชั่นมินิ แล้วเขาก็ไปช่วยทำงานกับเครือข่ายมิวเซียมของเขาตามต่างจังหวัด TCDC ก็ไปทั่วประเทศ คือบทสนทนาเรื่องนี้มันหมดไปนานแล้วครับ มันเป็นการสนทนาในช่วงที่รัฐบาล รสช. จะยุบ TCDC หลังจากนั้นมา 5-6 ปีเขาก็กระจายความเจริญไปหมดแล้ว ดังนั้นเราต้องดูความจริง
TCDC มีประโยชน์จริง มิวเซียมสยามมีประโยชน์จริง เพราะเขาทำงานกับเครือข่าย TK Park ก็มีหน่วยกระจายออกไป ซึ่งก็ได้ประโยชน์กับหลายๆ กลุ่ม

แต่หน่วยงานรัฐเองก็มีห้องสมุดประชาชนอยู่
คุณเคยไปไหมล่ะ? ผมว่าองค์กร 3 องค์กรนี้มันไม่เกี่ยวกับห้องสมุดหรอก มันเกี่ยวกับวิธีการบริหารจัดการ ฉะนั้นเขาจะมีตัววัดในเรื่องของประสิทธิภาพประสิทธิผล ถ้าคนมาใช้แล้วไม่แฮปปี้เขาเดือดร้อนนะ ดังนั้นเขาต้องมีการเสริมสร้างการให้บริการที่ยอดเยี่ยมอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นคนที่ไปก็ถือว่าได้รับการบริการที่ดีตลอดเวลา แต่ในระบบราชการไม่มีการวัดผลความพึงพอใจใดๆ เพราะเป็นการทำงานคนละ Mindset กัน ฉะนั้นการทำงานแบบนี้จะดีกว่าเรื่องของการทำงานในระบบราชการทั่วไป

ในสายตาคุณ คุณคิดว่าคนไทยในระดับฐานรากมีความคิดสร้างสรรค์แค่ไหน
โอ้โห! คุณเคยคุยกับชาวบ้านไหม ผมนี่โคตรชอบคุยกับชาวบ้านมากเลยนะ เวลาไปต่างจังหวัด เราทำงานสถาปัตย์ เราจะได้เจอคนงานก่อสร้างซึ่งผมต้องคุยกับคนเหล่านี้เยอะมาก หรือเวลาไปยะลาเราก็ไปคุยกับชาวบ้านในตลาด คือคุณรู้ไหมว่าคนพวกนี้เขามหัศจรรย์ ซึ่งเราไปดูถูกไม่ได้เลยนะ คือเขาจะคิดอะไรแปลกๆ ซึ่งเราสนุกไปกับความคิดเขา ผมก็ไม่รู้ว่าคุณจะเรียกมันว่าความคิดสร้างสรรค์หรือเปล่า แต่ผมว่าความคิดที่ฮานี่มันใช่ล่ะ อย่างคนที่หาของแปลกๆ มาขายที่ตลาดยะลาได้นี่ต้องมีความคิดสร้างสรรค์สูงมาก แล้วคุณคิดว่าภาคการเกษตรไม่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์เหรอ? ดูอย่างข้าวอินทรีย์ทุกวันนี้สิ ผมได้ความรู้มาจากเพื่อนผมที่ชื่อวิลิต (วิลิต เตชะไพบูลย์) เขาก็บอกว่าทุกวันนี้เราปลูกข้าวโดยใช้พันธุ์ข้าวที่ถูกออกแบบมาให้ใช้สารเคมีทั้งยาฆ่าแมลงและปุ๋ย คือผมสันนิษฐานว่ามันเป็นการคอร์รัปชั่นระดับรากหญ้าเลยนะ พันธุ์ข้าวที่เอาไปแจกมันต้องพึ่งสารเคมี ชาวนาถึงได้เป็นหนี้กันทั้งชาติไง แต่จริงๆ พันธุ์ข้าวดั้งเดิมของเราไม่ต้องอาศัย
เวลาเอาข้าวอินทรีย์มาขายมันก็ต้องอาศัยดีไซน์แพ็กเกจให้มันดูน่ากินน่าใช้ หรือแม้กระทั่งทำสับปะรดกระป๋องก็ต้องทำให้น่ากินน่าใช้ เพราะฉะนั้นก็ต้องใช้ดีไซน์เข้ามาช่วย เรื่องการออกแบบหรือความคิดสร้างสรรค์มันแทรกอยู่ในทุกๆ อัน เขาจะทำการตลาดเขาจะขายของก็ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ฉะนั้นผมบอกได้เลยว่าในอนาคตมันจะไม่มีพื้นที่ไหนเลยที่มันจะไม่แทรกซึมเข้าไป มันไม่ใช่แค่ธุรกิจอย่างที่พวกผมทำหรือแค่ดีไซเนอร์หรือครีเอทีฟ แต่มันแทรกซึมอยู่ในทุกอณูของเศรษฐกิจไทยในอนาคต ไม่มีเหตุผลเลยที่เราจะปฏิเสธมัน
ถ้าวันหนึ่งเราขายข้าวได้ดีชาวนาก็ได้ประโยชน์ วันนี้ข้าวเราแข่งกับเวียดนามไม่ได้ แล้วถามว่าจะทำอย่างไรล่ะให้มันมีโพสิชั่นทางตลาดให้ดีขึ้น ทำอย่างไรที่จะขายน้อยกว่าแล้วได้ราคาดีขึ้น นั่นคือการขายความคิดสร้างสรรค์ ผมถามว่าในโลกเทคโนโลยี ถ้าเราอยากจะสร้างอะไรบางอย่างขึ้นมาแล้วขายไปได้ทั่วโลกก็ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ใช่ไหม ผมถึงบอกว่าทุกคนได้ประโยชน์หมด ไม่จำกัดที่อยู่ความจนความรวย และถ้าคุณไปดูดีๆ ชาวบ้านบ้านเรานี่เป็นต้นกำเนิดของความคิดสร้างสรรค์เลย โอเค เขาไม่ได้มีโอกาสที่จะเรียน แต่ลองนึกภาพว่าเขามีไอเดียความคิดสร้างสรรค์อยู่แล้วและได้เปิดหนังสือใน TCDC มันยิ่งไปกันใหญ่เลย อันนี้คือโอกาสที่เราหยิบยื่นให้กับพวกเขาได้

แล้วระบบการศึกษาไทยไม่ได้ช่วยกระตุ้นหรือเอื้อระบบคิดของเราในด้านนี้เหรอ
เอาจริงๆ คุณคิดว่ามันช่วยไหมล่ะ? ผมมีทฤษฎีสมคบคิดอยู่ว่า เขาไม่อยากให้เราฉลาดหรอก เขาอยากให้เราโง่ ซึ่งระบบการศึกษาของเราถูกออกแบบมาให้เด็กไทยโง่ไปนิดนึง เพราะว่าฉลาดมันปกครองยาก คือจริงๆ มันมีวิธีประมาณล้านกว่าวิธีที่ทำให้การศึกษาไทยดีกว่านี้ แต่เขาทำไมไม่ทำกัน ถ้าย้อนกลับไปดูผมถามว่ามีใครจบจากมหาวิทยาลัยแล้วทำงานได้เลย ทำงานได้เลยคือไม่ต้องมีเทรนนิ่งนะ มันน้อยมาก ซึ่งมันบอกได้ว่าระบบการศึกษาของเรามันล้มเหลว ในขณะที่ต่างประเทศคนจะเข้าสู่ระบบการทำงานเร็วมาก ญี่ปุ่น อเมริกา อังกฤษ พวกนี้จบแล้วใช้เวลาในการปรับตัวเพื่อทำงานสั้นมาก นี่ผมพูดจากอาชีพสถาปนิกของผมเลยนะ อย่างเด็กจบในไทยต้องใช้เวลาฝึกงานกันปีหนึ่งกว่าจะเริ่มจริงจังได้ แต่ในเมืองนอกให้เวลา 4-5 เดือนเขาก็จับทางกันได้แล้ว
แต่ประเด็นคือไอ้หน่วยงานอย่าง TCDC, TK Park หรือมิวเซียมสยาม มันเข้ามาทำงานส่วนที่เหลือจากระบบการศึกษา เข้ามาทำงานในส่วนที่การศึกษาไม่ได้ทำ ซึ่งพวกนี้เราต้องสร้างให้เยอะๆ ขึ้น แนวความคิดในเรื่องที่จะยุบหรือประหยัดงบประมาณผมคิดตรงกันข้าม คุณต้องทำให้เยอะขึ้นสิ มันควรจะมีทุกหัวเมืองสิ เขาบอกว่าไม่ได้ยุบแต่แค่ไปอยู่กับหน่วยงานอื่น ผมยังนึกภาพไม่ออกว่ามันจะไปอยู่หน่วยงานไหน กระทรวงพาณิชย์เหรอ? มันก็ไม่เกี่ยวกันเท่าไหร่
อย่างคนที่เคยอยู่เขาได้เงินเดือนสูงเขาถึงมาอยู่กัน เขาก็ทำงานคุ้มน่ะ คือคนเก่งๆ เขาจะอยู่กับภาคเอกชน ซึ่งองค์กรเหล่านี้ก็กึ่งเอกชน ซึ่งถ้าหากเป็นระบบราชการเงินเดือนก็หายไปครึ่งแล้ว คนพวกนี้จะไปอยู่ไหมล่ะ พอเขาไม่อยู่หน่วยงานเหล่านี้ก็จะล่มสลายไปโดยอัตโนมัติ คืออะไรก็ตามที่มันดีอยู่แล้วในประเทศอย่าไปทำลายเลยครับ เอะอะอะไรเราก็จะมีคำถามเรื่องเกี่ยวกับความโปร่งใส แล้วอย่าง TCDC, TK Park และมิวเซียมสยาม เอาจริงๆ มันโปร่งใสมากเลย ต้องรอตรวจทุกปีแต่หาที่ผิดไม่ได้ ทุกหน่วยงานที่เข้ามาตรวจสอบไม่เจอสิ่งใดผิดปกติเลย เพราะฉะนั้นไม่ต้องนินทาว่ามันโปร่งใสหรือเปล่า
การที่เราสร้างคุณประโยชน์ให้กับประเทศแล้วจะคอร์รัปชั่นได้ สำหรับผมต้องเคลียร์เรื่องนี้เลยนะ โกงบาทเดียวก็ไม่ได้ ต่อให้คุณสร้างคุณประโยชน์ หาเงินให้ประเทศเป็นแสนล้าน แต่มาโกง มันก็ไม่ถูก ฉะนั้นตรงนี้ต้องเคลียร์ว่ามันไม่ได้ ผมทำงานอยู่ตรงนี้ผมบอกได้เลยว่าบาทหนึ่งผมก็ไม่เคยโกงใคร แล้วมันก็อยู่ได้เว้ย มันเป็นไปได้ที่มนุษย์จะอยู่บนโลกใบนี้ มีอาชีพ มีการงานที่ดี แล้วก็ไม่ต้องโกงใครแม้แต่บาทเดียว เพราะฉะนั้นประเทศมันก็ต้องเป็นแบบนั้น

ในอนาคต คนรุ่นใหม่เราต้องมีความคิดสร้างสรรค์ด้านไหนมากที่สุด
คุณมองเห็นด้านไหนล่ะ? สำหรับผมมันไม่ค่อยมีด้าน ความสร้างสรรค์คือความคิดโดยรวม อย่างคุณเป็นนักเขียน คุณมีความคิดสร้างสรรค์มันก็ดีใช่ไหม คุณเป็นนักวิทยาศาสตร์ คุณเป็นนายธนาคาร ถ้าคุณมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นมันก็ดี ความคิดสร้างสรรค์มันเหมือนผงชูรส ใส่ลงไปในอะไรมันก็อร่อยดี แล้วในโลกแห่งการแข่งขันระดับประเทศต่อประเทศนี่มันเฉือนกันแบบปลายจมูก อะไรที่มันเร่งให้ดีขึ้นมานิดหนึ่งมันก็ดีหมด ฉะนั้นในโลกของผมมันไม่มีความคิดสร้างสรรค์ด้านไหน แต่มันอยู่ในทุกอณู ลองนึกภาพสิ่งที่เราขายตอนนี้ ถ้ามันได้เงินเพิ่มอีกเท่าตัวเข้าประเทศ นั่นคือสิ่งที่เราต้องทำ เราต้องขายมันได้มากขึ้น

แล้วถ้าวันหนึ่งเกิดภาวะหลุมดำ ดูดหน่วยงานทุกสิ่งทุกอย่างที่ว่ามานี้ คุณคิดว่าอนาคตเป็นยังไง
รัฐบาลต้องตอบผมให้ได้ว่า คุณจะพาประเทศไปทางไหนในอีก 10 ปีข้างหน้า ผมไม่รู้ว่ารัฐบาลนี้จะอยู่ถึงแค่ไหน แต่มันก็ไม่ใช่ปัญหา สิ่งที่เราต้องทำคือคุณต้องรับผิดชอบในวันนี้ในการวางรากฐานประเทศไทยว่าอีก 10 ปีมันจะไปทางไหน ไม่ใช่อยู่เอาตัวรอดแค่ 2 ปีก็จบ ผมถามว่าวันนี้คุณรับผิดชอบอนาคตข้างหน้าของประเทศอีก 10 ปียังไงบ้าง อุตสาหกรรม กสิกรรม ว่ามาสิ ตอนนี้คุณสมคิด (สมคิด จาตุศรีพิทักษ์) เขาก็เก่งนะ ให้ยาแรงแก้ไข้อยู่ แต่มันไม่มีใครมองไปอีก 10 ปีข้างหน้า ตอนนี้ทุกคนเอาตัวรอดก่อน ซึ่งอันนี้ไม่ถูกเพราะมันต้องมองอนาคตด้วย คุณทำบริษัทเอกชน ถ้าบริษัทคุณคิดแบบวันต่อวันมันก็ตายนะ มันต้องคิดเป็นปี มียุทธศาสตร์วางไว้ในหลายๆ ปีข้างหน้า ประเทศก็เหมือนกัน ไม่ได้คิดกันปีสองปี
ตอนนี้ในภาคธุรกิจเราก็พยายามเอาตัวรอดกันอยู่ แต่ละที่ก็มี R&D (Research & Development-การวิจัยและพัฒนา) ไม่มีปัญหา แต่ว่าเราก็จะไม่มีบุคลากร เราก็ต้องจ้างบุคลากรข้างนอกเข้ามา แล้วเสียดายตรงที่ว่าคนไทยสมองดีที่สุดในโลก แต่เราไม่ได้พัฒนาพวกเขา ทรัพยากรที่เรามีเราใช้ศักยภาพแค่ 5-10% แทนที่เราจะใช้ 25-30% มันไม่มีอะไรผิดนะ แต่คุณไม่เสียดายโอกาสที่ประเทศจะรวยกว่าเดิมเหรอ

ถ้าไม่มีเศรษฐกิจสร้างสรรค์เลย แล้วเราจะไปยังไงต่อ
มองไม่เห็นอนาคตเลยนะ เศรษฐกิจสร้างสรรค์มันคือเชื้อไฟบางอย่าง ผมถามดอกเตอร์สมคิดว่า ท่านครับ ถ้าไม่มีแล้วเราจะไปยังไงกันต่อในอีก 5 ปี 10 ปีข้างหน้า อะไรที่จะทำให้ประเทศเคลื่อนไปต่อได้ละครับ ประชากรเราเพิ่มมากขึ้น การแข่งขันเราก็สูงขึ้น ทรัพยากรเราก็ด้อยลง ผมถามว่าแล้วเราจะพาประเทศนี้ไปยังไงครับถ้าเราไม่ฟลุกขุดเจอบ่อน้ำมัน ผมก็มองไม่ออกว่าจะไปยังไงต่อ เศรษฐกิจสร้างสรรค์มันเหมือนลมหายใจ เป็นความหวังเลยนะ ถ้าคุณดับเรื่องนี้ไปมันเหมือนคุณเอาเครื่องจักรที่สำคัญต่ออนาคตออกไปตัวหนึ่ง ผมบอกเลยว่าอันนี้หายนะ เอาออกก็ได้ แต่เครื่องจักรตัวอื่นจะไปได้กี่ปี ไปแล้วรอดไหม ทำให้ผมเห็นหน่อยเถอะว่ามันจะรอด
ถ้าเราเก่งจริงทำไมแต่ละด้านเราไม่เป็นอันดับหนึ่งของโลก สิ่งที่เราเป็นอันดับ 2 ของโลกคือการเป็นเจ้าของกิจการ เรามีคนรุ่นใหม่ที่เป็นเจ้าของกิจการเป็นอันดับ 2 ของโลก นั่นแปลว่าเขาสามารถจะออกไปแล้วสามารถสร้างธุรกิจของตัวเองได้ ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอัตราการว่างงานต่ำที่สุดนะ ไม่ใช่ว่าบริษัทเราดี แต่คนพวกนี้ออกมาแล้วสร้างธุรกิจได้ แล้วคุณคิดว่าคนพวกนี้ออกมาสร้างได้เพราะอะไร เพราะเศรษฐกิจสร้างสรรค์หรือเปล่า?



No Comments Yet

Comments are closed

user's Blog!

49/1 ชั้น 4 อาคารบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

49/1 4th floor, Phra-A-Thit Road, Chanasongkhram,Phanakorn Bangkok 10200

Tel. 02 629 2211 #2256 #2226

Email : mars.magazine@gmail.com

FOLLOW US ON

SUBSCRIBE