Marsmag.net

‘อเล็กซ์ เรนเดล’ ชายผู้มอบหัวใจให้สิ่งแวดล้อม


“มาเรียมได้ใจของผม เหมือนที่คนไทยรักเธอ ผมคิดว่าทุกคนต้องมีความรู้มากขึ้นว่า สัตว์ที่น่ามหัศจรรย์ เช่น พะยูน ต้องเผชิญกับภัยคุกคามอะไรบ้าง’ นี่คือข้อความที่ ‘อเล็กซ์ เรนเดล’ พูดถึงการเสียชีวิตของพะยูนน้อย ‘มาเรียม’ …เรารู้จักชายหนุ่มที่ชื่อ ‘อเล็กซ์ เรนเดล’ ในฐานะนักแสดงที่เข้าสู่วงการบันเทิงมาตั้งแต่อายุ 4 ขวบ เล่นละครมาแล้วมากกว่า 40 เรื่อง รวมถึงหนังอีก 10 เรื่อง มีเรื่องรักๆ ใคร่ๆ เป็นข่าวอยู่บ้างพักหนึ่ง นั่นคือทั้งหมดที่หลายคนรู้เกี่ยวกับตัวเขา แต่อีกด้านที่แทบไม่ค่อยมีใครรู้เลย คือเขาหลงรักเรื่องสิ่งแวดล้อม และหลอมรวมตัวเองเข้าไปอยู่ในสิ่งที่รักจนกลายเป็นบริษัท EEC THAILAND (Environmental Education Centre Thailand) ค่ายเรียนรู้สิ่งแวดล้อมสำหรับเยาวชน เพื่อการเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจจากธรรมชาติสู่การอนุรักษ์อย่างยั่งยืนแห่งแรกของประเทศไทย mars ชวนไปเปิดมุมมองดีๆ ของชายผู้มอบหัวใจให้สิ่งแวดล้อมที่กำลังดังไกลไปถึงระดับโลกคนนี้

ความรัก ความสนใจในสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นได้อย่างไร?

คือผมเคยเรียนอะไรแบบนี้มาตั้งแต่เด็ก เมื่อตอน 10 ขวบผมไปเข้าป่ากับอาจารย์อลงกต ชูแก้ว ไปเดินป่าเขาใหญ่ แล้วเราก็ไปรักษาช้างป่าที่ขาเจ็บอยู่ ไปช่วยเอายาใส่อาหารให้กิน สุดท้ายแล้วมันเป็นอะไรที่เราชอบมาตั้งแต่ช่วงนั้น ทุกเสาร์อาทิตย์จะขอแม่ไปหาครูคนนี้ ทำอย่างนั้นอยู่ 2-3 ปี ครูก็ไปเรียนต่อต่างประเทศ ผมก็เรียนของผม พอจบมหาวิทยาลัยเราก็กลับไปเที่ยวเขาใหญ่ พบกับครูอีกครั้ง ครูอยู่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย เขาใหญ่ เห็นครูทำกิจกรรมกับคนตาบอด และหลายอย่างที่ทำผมไม่เคยเห็นมาก่อน อย่างเช่นการพัฒนาเด็กโดยใช้ช้าง หรือฟื้นฟูคนโดยใช้ช้างและธรรมชาติ แล้วช่วงนั้นเราไปดำน้ำแล้วก็ชอบ เลยคิดว่าอยากทำอะไรเกี่ยวกับพวกนี้ เปิดดำน้ำไหม? แต่มันก็ยังไม่ใช่ แต่เมื่อมาเห็นครูที่เขากำลังสอนเด็กเหมือนกับที่เคยสอนให้กับเรามันก็เริ่มจุดประกาย

เรามาคิดว่าถ้าจุดประสงค์ในการสอนเด็กคือให้ความรู้ คือเขาจะเอาเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้ามาอยู่ในใจของเขา พอเขาโตขึ้นมาเวลาที่จะตัดสินใจอะไรก็จะมีคำว่าสิ่งแวดล้อมอยู่ตรงนั้นด้วย แล้วมันไม่ได้ฝึกแค่การอนุรักษ์อย่างเดียว แต่ฝึกเรื่องความเป็นคนที่ดีต่อสังคม คนที่รับผิดชอบต่อสังคม เราสร้างเวทีให้เด็กคนหนึ่งได้ฝึกฝน ได้มีความแข็งแกร่งด้วยตัวเขาเอง โดยต่อไปเขาไม่ต้องให้สังคมมารอที่จะรับใช้เขา เขาแข็งแรงพอที่จะเปลี่ยนตัวเองเข้ากับสังคมที่ไหนก็ได้ที่เขาไป เราก็เลยทำค่ายตรงนี้

แล้วสร้างหลักสูตรยังไง เพราะถ้าว่ากันเรื่องสิ่งแวดล้อมจริงๆ มันหลากหลายมาก

ตัวหลักสูตรก็มี อ. อลงกต ชูแก้วนี่และครับ เป็น Program Director ส่วนผมจะดูพาร์ตของออฟฟิศ ดูแลเรื่องการจัดการ ส่วนพี่สาวผมก็มาเป็นผู้จัดการ ส่วน อ. อลงกตก็จะเขียนหลักสูตรของแต่ละค่ายหรือวิธีสอนของแต่ละค่าย อย่างค่ายที่เราทำอยู่คือค่ายช้าง เด็กๆ ก็จะได้ศึกษาเรื่องโครงกระดูกช้างว่ามันคล้ายคนยังไง เอาขี้ช้างมาทำเป็น LAB ให้เด็กๆ ดูกล้องจุลทรรศน์เพื่อให้เห็นโครงสร้างข้างใน ช้างมีหน้าที่อะไรในระบบนิเวศ คือของพวกนี้เราต้องรู้ เราไม่ได้ให้เด็กๆ ไปกับเจ้าหน้าที่ทั่วไป แต่ว่าครูของเราเป็นระดับด็อกเตอร์หมด เป็นระดับปริญญาเอกที่จะมาสอน เพราะวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมมันต้องลึกและเป๊ะ

ต้องให้คนที่รู้ลึกจริงๆ มาสอน อย่างสอนเรื่องผีเสื้อและแมลง เด็กๆ ก็จะขึ้นไปในจุดที่มีผีเสื้อเยอะที่สุดในเมืองไทย เขาจะบอร์ดของเขาว่าเขาทำอะไรมาบ้าง อาจจะเอาตัวที่ตายแล้วมาส่องในกล้องจุลทรรศน์ว่ามันเป็นอย่างไร ให้เขาเขียนออกมา ได้สอนได้ทำในสิ่งที่โรงเรียนเขาไม่ได้สอนให้ทำตั้งแต่ยังเด็ก เด็กโตก็เขียนเป็นไดอะแกรมวงจรชีวิต มาเล่าให้น้องๆ ฟัง น้องๆ ก็ได้พี่ๆ เป็นแรงบันดาลใจ พี่ก็ได้ฝึกเพื่อวันหนึ่งเขาจะขึ้นมาเป็นผู้นำ เขาจะได้ฝึกจากเวทีแบบนี้ก่อน

เด็กๆ เหล่านี้ที่มาเข้าค่ายค่อนข้างที่จะมาจากครอบครัวที่ดีเหมือนกัน คุณพ่อคุณแม่เป็นนักธุรกิจ ในเขาใหญ่เนี่ยบางคนมีบ้านหลังละเป็น 100 ล้าน แต่เขาเลือกมานอนเต็นท์ พ่อแม่เขาส่งมานอนพื้นกับพวกเรา ผมคิดว่า 70% ที่มาเข้าค่ายกับเรามีคุณพ่อคุณแม่เป็นนักธุรกิจหมดเลย เมื่อโตขึ้นมาเขาก็ต้องมาสานต่อธุรกิจตรงนั้น การที่เราให้กิจกรรมแบบนี้ไปกับเขา เขาจะนึกถึงสังคม นึกถึงคนรอบข้างกับคนที่เขาทำงานด้วย ไม่ใช่แค่นั้น เมื่อเขาต้องตัดสินใจอะไรใหญ่ๆ สักวันหนึ่งที่มีผลต่อประเทศเขาจะไม่ตัดสินใจอะไรที่มันกระทบคนหมู่มาก หรือกระทบคนในพื้นที่ เพราะเขาเติบโตมาคลุกคลีอยู่กับชาวบ้าน ทุกวันนี้เราให้เขาไปทำแบบสอบถามกับชาวบ้าน ไปนอนกับชาวบ้าน ซึ่งวันหนึ่งเขาจะมาเป็นผู้นำ สมมุติว่ามี 20 คน 20 คนนี้ก็จะมาดูแลบริษัทที่เป็นผู้นำของประเทศไทยที่ไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม แค่นี้ก็สร้างอนาคตที่ดีให้กับสังคมไทยแล้ว

มีวิธีการวัดผลยังไงที่เป็นรูปธรรม

มันมีหลายแบบนะ อย่างเด็กคนหนึ่งที่มีคุณพ่อคุณแม่ทำโรงงานพลาสติกเขาก็บอกว่าวันหนึ่งถ้าเขามาเป็นบอส เขาจะเขียนข้อความว่าห้ามโยนลงทะเลไว้ข้างรองเท้าแตะ นึกออกไหม? เพราะเขาได้ไปเห็นตอนเข้าค่ายว่าพลาสติกมันเป็นสิ่งที่อันตรายต่อสัตว์น้ำหรือระบบนิเวศมาก นี่คือสิ่งที่เขาคิดได้ หรือคุณพ่อคุณแม่ท่านหนึ่งผลิตขวดให้กับบริษัทหลายๆ บริษัทที่ต้องใช้ขวด เราจะผลิตยังไงให้เขาไม่ทิ้งเกลื่อนกลาด

สิ่งที่เราทำอยู่ตอนนี้ก็มีอีกโปรเจ็กต์หนึ่งคือความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เราคัดเด็ก 20-25 คนที่อยู่ในระดับแอดวานซ์แล้ว มาเรียนรู้เรื่องสัตว์ 5 ตัว มีพะยูน มีฉลามวาฬ มีเต่ามะเฟือง มีกวางผา แล้วก็มีค้างคาวคุณกิตติ อยู่ 5 จังหวัด เมื่อช่วงที่ผ่านมาเราไปออกค่ายทีเดียว 5 จังหวัด ไปประมาณ 3 อาทิตย์เพื่อไปทำวิจัยหาทางออกไม่ให้สัตว์พวกนี้สูญพันธุ์ ประเด็นที่จะเล่าคือเด็กๆ เขาไปทำรีเสิร์ชกับชาวบ้าน ไปเจอสัตว์พวกนี้ อย่างพะยูนไปที่ตรัง ฉลามวาฬไปที่เกาะลันตา ไปที่เชียงใหม่ ไปที่กาญจนบุรี ไปที่หาดท้ายเหมือง ให้เด็กๆ เหล่านี้ไปลงพื้นที่สัมภาษณ์คนนั้นคนนี้ แล้วสิ่งที่เขาทำต่อก็คือไปพูดให้คนในเมืองฟัง โดยเราจัดงานที่ The Commons ทองหล่อซอย 17 ซึ่งเด็กๆ ก็เอาความรู้ที่ตัวเองไปทำวิจัยมาพูดกับคนในเมืองแล้วเด็กๆ ทำเป็นบูธ เขาจะมอบความรู้ให้กับเด็กๆ อีกรุ่นหนึ่ง คือเด็กสอนเด็กนะ ไม่ใช่ครูไปสอนเด็ก ผมคิดว่าแค่นี้ก็วัดผลได้มาก

ถามว่าเด็กเหล่านี้โตขึ้นอยากเป็นอะไร? บางคนอยากเป็นนักชีววิทยาทางทะเล อยากจะเป็นนักชีววิทยาเชิงอนุรักษ์ อยากจะดูแลช้างป่า แต่เมื่อเขาได้ทำเสื้อออกมาเพื่อระดมทุนในการออกบูธ เด็ก 10 ขวบมานั่งประชุมกันเอง มานั่งเขียนรูปกันเอง นั่นคือเขาจัดการกันเอง มันไม่ใช่แค่เรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว แต่เป็นเรื่องของการจัดการที่เขาได้ฝึกตั้งแต่ยังเด็ก ไปเปิดบัญชีด้วยกัน ระดมทุนด้วยกัน เด็กเหล่านี้คิดเองนะครับ เราทำได้แค่เป็นตัวอย่าง และเป็นไกด์เขา

แสดงว่าการทำงานด้านนี้มันไม่ได้ทำให้เขารู้จักต้นไม้ สัตว์ป่า หรือสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว ยังทำให้เด็กรู้จักตัวเองเพิ่มขึ้นด้วย

ผมว่าเด็กเขาไม่รู้ตัวหรอกว่าสิ่งที่เขาได้ มันคืออะไร เพราะมันเป็นธรรมชาติและเขายังเด็กเกิน แต่คุณพ่อคุณแม่รับรู้ได้ว่าลูกตัวเองเปลี่ยนไป มีการจัดการตัวเองที่ดีขึ้น มีสังคมที่ดีขึ้น แล้วสังคมใน EEC มันเป็นสังคมที่ปลอดภัยมาก เพราะมีเด็กๆ ที่ชอบสัตว์ด้วยกันมารวมตัวกัน ไปเข้าค่ายด้วยกัน อย่างเราฟังเขาพูดว่า “ที่นี่ต่างจากสิมิลันนะ เพราะระบบนิเวศมีความหลากหลายและสมบูรณ์” เขาพูดแบบนี้นะ เราอายุ 14-15 เท่าเขายังพูดหยาบคายอยู่เลย ผมคิดว่าพ่อแม่เห็นตรงนี้นะ

เมื่อเขากล้าเปิด กล้าคุย กล้ารู้จัก อันนี้มันเป็นทักษะชีวิต ผมจะบอกเสมอเลยนะครับว่า ถ้าเกิดเอาลูกคุณมาเข้าค่ายของผม แล้วคิดว่าต้องให้ลูกมานอนแบบนี้กินแบบนี้เหรอ ผมสามารถที่จะแนะนำบริษัททัวร์ได้เยอะ แต่ถ้าคุณมองว่า คุณเอาลูกคุณมาเข้าค่ายและจะได้ทักษะชีวิตไปตลอดชีวิตนี่ถูกต้องแล้ว เพราะเราจดทะเบียนเป็นการศึกษาไม่ใช่บริษัททัวร์ ส่วนเรื่องความปลอดภัยเราต้องปลอดภัยที่สุด เรามีคนเชี่ยวชาญด้านป่าและมีประสบการณ์การเดินป่า โดยรวบรวมคนเก่งๆ เข้ามาไว้ด้วยกัน

ที่ผ่านมาในการทำค่ายกับเด็กๆ เวลาเราเห็นเด็กๆ เหล่านั้นเราเห็นอะไร

เราเห็นหลายอย่าง เราได้เห็นความคิดการดำเนินชีวิตของตัวเองที่เปลี่ยนไป รวมไปถึงการเข้าสังคมของสังคมวงการบันเทิง ผมคิดว่ามองโลกในแง่ดีขึ้นมา 80% คือเมื่อก่อนเราจะเป็นคนขวางโลก ถ้าไม่ดีเราก็จะนิ่งไว้ก่อนตามธรรมชาติของเรา แต่ว่าวันนี้มันได้เปลี่ยน

แล้วเรื่องของการซื้อของ ทุกวันนี้ผมไม่สามารถใส่เข็มขัดแพงๆ ได้แล้วจริงๆ อย่างผมไปที่ฝรั่งเศส แล้วผมซื้อเข็มขัดหลุยส์มา 15,000 ทุกวันนี้ผมยังไม่ได้ใส่เลย เพราะผมรู้สึกว่าผมอายที่จะใส่ มันเปลี่ยนความคิดของเราจริงๆ ช่วงหลังๆ เราไม่ได้ไปช็อปปิ้งเลยนะ

ทุกอย่างเมื่ออยู่กับเด็กมันก็ช้าลง เราไม่สามารถที่จะโกรธหรือโมโหเขาได้ เราทำไม่ได้ แววตาเขาใสเกิน เราเพียงแต่สอนเขาหรือไกด์เขาได้ ทุกอย่างมันต้องนิ่ง คุยกับเขาต้องคุยดีๆ ต้องคุยเหตุผล ผมจะบอกทุกคนในบริษัทว่าเราจะไม่ใช้อำนาจกับเด็ก เราจะไม่มีการยึดโทรศัพท์

การทำงานกับธรรมชาติ อยู่กับเด็ก อยู่กับสัตว์ มันทำให้เรามีความคิดที่ดีขึ้น แล้วก็ได้รู้จักว่าอะไรสำคัญและไม่สำคัญ เราได้รู้ว่าเราพอใจกับการอยู่ตรงนี้ มันคือการจัดการตัวเองที่เราค้นพบ หรือแม้กระทั่งการมาเปิดบริษัทผมเริ่มกับเต้ยสองคน แล้วก็ค่อยๆ เพิ่มคนเข้ามา คือถ้าเราไม่ทำตรงนี้เราจะไม่รู้เลยในเรื่องของการจัดการองค์กร จัดการธุรกิจ และวิธีการคิดพวกนี้มันสอนให้เราโตขึ้น มีประสบการณ์ชีวิตที่มากขึ้น

จริงๆ หาเงินจากการเป็นนักแสดงก็เยอะกว่า ทำไมถึงมาทำแบบนี้

ก็เยอะกว่า แต่เราเตรียมมาดี ผมเรียนนานาชาติมา เรียนจบจุฬาฯ มา ตอนนี้เรียนปริญญาโทอยู่มหิดล ผมเลยคิดว่าน่าจะทำอะไรที่สามารถใช้ความคิดเราได้ นี่คือความคิดของเรา คือบ้านเรา ตัวตนจริงๆ ของเราที่จะประสบความสำเร็จกับเราได้ เราอยากมอบอะไรดีๆ ให้กับสังคม ในวันนี้เรามีเสียง มีคนมาสัมภาษณ์เรา เราไปไหนมีคนมองเรา ฟังเรา ถ้าผมพูดอะไรออกไป ครูของผมที่ทำเรื่องช้างมา 20 ปี ยังมีคนฟังเขาไม่เท่าเรา เรามีเสียงตรงนี้เราสามารถมอบความเปลี่ยนแปลงอะไรได้ โดยเฉพาะการให้ความรู้กับคน ถ้าคนฟังแล้วเข้าไปในจิตใจเขา เราจะอยู่บ้านเฉยๆ ทำไม

พอมาเรียนรู้เรื่องธรรมชาติ อยู่กับเด็กๆ มันทำให้เราเป็นคนยังไง

พูดตามตรงเราก็ยังมีเที่ยวมีดื่มกับเพื่อนอยู่นะ เป็นปกติของวัยผม ส่วนในเรื่องตัวงานผมก็เต็มที่ แต่ผมไม่ได้โลภกับมัน ไม่ได้มีอะไรที่อยากได้จนเราโลภ แต่เราทำอย่างมีสติให้ฐานมันค่อยๆ ใหญ่ขึ้นๆ วิธีคิดของผมค่อยๆ เริ่มจาก 1 แล้วไปเรื่อยๆ ส่วนเรื่องความเป็นนักแสดงของเรายิ่งทำไปมากยิ่งมีประสบการณ์ และเชื่อว่าวันข้างหน้าเราจะเป็นนักแสดงที่ดีให้กับวงการได้ แค่นี้ผมว่าก็พอใจแล้ว ถ้ามีอะไรมากกว่านี้ก็คงโลภแล้วล่ะ แค่นี้มันก็มีความสุขมากๆ อยู่แล้ว

ตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา เราพูดเรื่องธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมกันมาก แต่เราก็ยังเห็นข่าวการตัดไม้ทำลายป่า การบุกรุกที่ป่า ในฐานะที่เราคลุกคลีกับเรื่องสิ่งแวดล้อมเรามองเรื่องพวกนี้ยังไง และคิดว่าจะแก้ยังไง

ผมคิดว่าท้ายที่สุดเลยมันมาจากจิตใต้สำนึกของคน สมมุติว่ามีคนคนหนึ่งเขามีลูกมีภรรยาอยู่ที่บ้าน แล้วเขาต้องออกไปตกปลาเพื่อมาเลี้ยงลูกของเขา แต่เขตนั้นเป็นเขตที่ผิดกฎหมายโดยที่เขาไม่รู้ตัว แล้วจู่ๆ ก็โดนจับ โดนจับเพราะเขาต้องทำมาหากิน ซึ่งของพวกนี้ทุกเคสไม่สามารถบอกว่าถูกผิดได้ ทุกคนมีเหตุและผลของตัวเอง เพียงแต่การจัดการมันอาจจะยังไม่เป๊ะ 100% แต่ทั้งหมดทั้งมวลนั้นเป็นเรื่องของการศึกษา บางคนไม่รู้ว่าสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ทำลายอะไรบ้าง เพราะเขาไม่มีการศึกษาในเรื่องนี้ ผมถึงคิดว่าการไปให้ความรู้คนในต่างจังหวัด ตามชายแดน หรือหมู่บ้านชาวประมง นี่จะเป็นสิ่งที่นำการเปลี่ยนแปลงมา

ผมจะไม่มีวันเดินถือป้ายไปสู้โปรเจ็กต์ใหญ่ๆ แน่นอน ผมไม่ใช่นักสู้แบบนั้น ผมไปให้ความรู้กับคนรุ่นต่อๆ ไปดีกว่า หรือบางข่าวบอกว่าตรงนี้กำลังจะสร้างและไปทำลายสิ่งแวดล้อม เราจะไปทำอะไรเขาได้ เราเริ่มจากเจนฯ ใหม่นี่แหละ สร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ ดีกว่าที่จะสั่งคนที่ทำอยู่หยุดทำ ตรงนั้นมันยาก คนที่ทำมา 30-40 ปี อยู่ๆ มีคนมาบอกว่าทำผิด มันไม่ได้

ผมเรียนนานาชาติมาก็มีเรียนสิ่งแวดล้อม แต่ว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมมันไม่ใช่วิชากระแสหลัก คนก็จะไม่ให้ความสำคัญ คนฟังแล้วก็ผ่านไป ซึ่งผมมีความฝันอยากจะเปลี่ยนตรงนี้ ทำเรื่องสิ่งแวดล้อมให้เป็นกระแสหลักบ้าง ทำเรื่องความเสี่ยงในการสูญพันธุ์ของสัตว์ เอาเด็กๆ มาพูดเรื่องสิ่งแวดล้อมให้คนในเมืองฟัง

ยังทันอยู่ไหม เรื่องที่เราจะเอาระบบนิเวศแบบเดิมกลับมา เอาสิ่งแวดล้อมที่ดีกลับมา

ทันครับ ผมคิดว่าโลกร้อนก็ทัน ถ้าเราไม่ทำอะไรเลยมันก็ไม่ทัน อย่างเด็กๆ ที่มาเข้าค่ายกับเราก็สร้างความเปลี่ยนแปลงให้คนเป็นพันได้ ผมเชื่อว่าอย่างนั้น แต่ว่ามันจะมีบางอย่างที่เราต้องยอมรับว่าไม่ทันแล้ว แต่ก็ใช่ว่ามันจะหมดไปเลยซะทีเดียว อย่างเช่นเรื่องการดูแลทะเลอันดามันของเรา หรือการดูแลป่าที่เขาใหญ่มันส่งผลกระทบต่อแพลงตอนที่ฉลามวาฬกินอยู่ที่เกาะลันตา มันเชื่อมโยงกันยังไง ความสำคัญของป่าชายเลนเป็นยังไง

การเปลี่ยนแปลงที่เราทำอยู่มันอาจจะเล็กในโลกใบใหญ่ แต่มันก็คือการเปลี่ยนแปลงที่เราทำอยู่ หรือถ้าวันหนึ่งบริษัทเราจะกลายเป็นองค์กรสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ขึ้น ผมคิดว่ามันก็จะสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรให้ประเทศเราได้เยอะมาก มันต้องเริ่มที่เจเนอเรชั่นใหม่

เชื่อหรือไม่ว่า เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว

ผมว่ามันก็มีลิงก์อะไรบางอย่างอยู่ แม้ว่าทุกวันนี้เราจะมองมันไม่ครบนะ เพราะสิ่งแวดล้อมมันกว้างมาก แต่เราเชื่อว่ามันมีเหตุและผลถึงกัน มีแต่มนุษย์เรานี่แหละที่สร้างอะไรที่เราไม่รู้ว่าทำไม มนุษย์เรานี่แหละที่ทำลายธรรมชาติ ธรรมชาติมันลิงก์กันหมด

เรื่อง : วรชัย รัตนดวงตา
ภาพ : พาณุวัฒน์ เงินพจน์ และ EEC Thailand