Marsmag.net

มนุษย์คนสุดท้าย (?) ในโลกอัลเทอร์ฯ : โอ๊ต-กฤษฏา

“ผมเหมือนคนบ้า บ้าอดีต เชื่อไหมว่านาฬิกาผมหยุดหมุนตั้งแต่ปี 2540 ผมไม่ฟังเพลงใหม่ ผมฟังแต่เพลงเดิมๆ”

นั่นคือจุดเริ่มต้นของชายผู้หนึ่งซึ่งฝัง “อดีต” ของตนเองไว้กับดนตรีกระแสหลักในช่วงราวพุทธศักราช 2537-2542 หรือที่เราเรียกกันว่า ยุคอัลเทอร์เนทีฟครองเมือง

ขณะที่ใครหลายคนต่างลืมเลือนท่วงทำนองวันวาน!! ขณะที่ใครหลายคนบอกว่าเขาบ้า หลงยุค!! และหลายๆ คนมองว่าความตายคือ “กฎแห่งธรรมชาติ” ที่ทุกสรรพสิ่งล้วนต้องประสบพบเจอ หากแต่ว่า “โอ๊ต-กฤษฏา โสมนะพันธุ์” ข้าราชการหนุ่มกระทรวงแรงงาน วัย 30 ปี หนึ่งเดียวตัวจริงผู้หยัดยืนบนเส้นทางสาย “ขบถ” อัลเทอร์เนทีฟไทย กลับเลือกที่จะกรอม้วนเทปกลับจนสุดตลับ แล้วกดปุ่มสตาร์ท เริ่ม…ฟังใหม่

ชีวิต ดนตรี วิถี “อัลเทอร์”

“มันเริ่มจากตอนที่ผมอยู่ชั้นมัธยม 2 มีแฟนคนแรก” เขาเดินเครื่องเสียงย้อนอดีตให้ฟังถึงจุดแรกที่ดนตรี “อัลเทอร์เนทีฟ” ก้าวเข้ามาในชีวิต เช่นเดียวกับวัยรุ่นทั่วไปที่มักจะใช้บทเพลงเป็นสื่อขับขานแทนตัวตนความรู้สึก

“ผมเข้าใจว่าหลายคนคิดเหมือนผมนะ ช่วงวัยรุ่นมันเป็นช่วงเวลาที่เราได้เรียนรู้การใช้ชีวิตในหลากหลายด้าน ทั้งเรื่องชีวิต ความรัก อกหักคุณก็ฟังเพลง ซึ่งพอทุกสิ่งอย่างมันอยู่ในเพลง การที่คุณได้ยินมันอีกครั้ง มันจะทำให้คุณนึกย้อนกลับไปวันนั้น ทุกคนในวันนั้นฟังเพลงแล้วมีความสุขอย่างไร วันนี้ได้ฟังอีกก็จะมีความสุขเหมือนวันนั้น

“ฉะนั้น ยุคอัลเทอร์เนทีฟสำหรับผม มันจึงเหมือนได้บันทึกช่วงเวลาดีๆ ที่น่าจดจำเอาไว้ ซึ่งผมจะไม่ยอมให้ช่วงชีวิตนั้นผมหายไป”

เป็นระยะเวลากว่า 15 ปี นับตั้งแต่เด็กในยุคสมัยนั้นจนล่วงเลยก้าวผ่านสู่ผู้ใหญ่ในวันนี้ อัลเทอร์เนทีฟร่วงหล่นจากผังชาร์ตความนิยม แต่เขากลับรอผู้ที่จะมาสร้างคำว่า “อัลเทอร์เนทีฟ” ให้ปรากฏขึ้นและจารึกไว้ในประวัติศาสตร์วงการดนตรีไทย กระทั่งจนแล้วจนรอดมันก็ยังไม่เกิดขึ้น หรือว่าเขาเป็นคนเดียวในโลกหรือเปล่า? ที่ยังคงโหยหาห้วงเมโลดี้เหล่านี้อยู่

“ผมคือคนสุดท้ายในโลกที่ฟังอยู่หรือเปล่า แล้วทำไมคนอื่นไม่ฟัง ทำไมเราปล่อยให้ช่วงเวลาดีๆ ของเราถูกลบเลือนไปจากปฏิทิน เราปล่อยให้มันหายไป ทำไมเราไม่ร่วมอนุรักษ์ อย่างสุนทราภรณ์ วงชาตรี วงดิอิมพอสซิเบิลที่ยังคงอยู่ ทั้งๆ ที่มันน่าจะหยุดหายไปตั้งแต่ยุคสมัยพ่อแม่เรา แต่ทำไมทุกวันนี้เขายังจัดคอนเสิร์ตรำลึก แล้วทำไมช่วงเวลายุคอัลเทอร์เนทีฟมันหายไป ทำไมทุกคนพร้อมใจกันลืม ทำไม…

“ผมเลยคิดว่าต้องทำ “คอมมูนิตี้” สักอย่างหนึ่ง เพราะคิดว่ารอไม่ได้แล้ว ถ้าผมไม่ทำแล้วใครจะทำ ถ้าไม่ทำมันไปแน่ มันตายแน่ แรกๆ ผมรอนะ รอคนอื่นที่จะมาทำตรงนี้ รอที่จะไปเป็นส่วนหนึ่ง แต่รอมา 15 ปี ตั้งแต่วันนั้นจนปี 2011 ก็ยังไม่มีใครทำ ผมก็เลยเริ่มทำเพจเฟซบุ๊กอัลเทอร์เนทีฟขึ้นมา”

5 พฤศจิกายน ปี 2011 เพจเฟซบุ๊กชื่อ “อัลเทอร์เนทีฟ : ยุคไทยรุ่งเรือง” จึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อไม่ให้ “ความทรงจำ” สูญหายไปกับตัวเอง

“ผมตัดสินใจนำข้อมูลที่ตัวเองมีอยู่ทั้งหมด เหมือนเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวหรือไดอารีบันทึกเรื่องราวส่วนตัวออกมาแสดง ซึ่งบังเอิญพอดีกับจังหวะที่เฟซบุ๊กรูปแบบ “เพจ” เข้ามา ณ ตอนนั้นผมกำลังมองว่าหากทำเป็นเว็บมันเข้าถึงกลุ่มคนได้ยาก และต้องมีพื้นฐานความรู้พอสมควรซึ่งแน่นอนว่าไม่มีเวลา แต่มันผิดกับเฟซบุ๊ก เพราะตอนนั้นเฟซบุ๊กเป็นอะไรที่ทุกคนมี แล้วมันยังสามารถแชร์ ส่งต่อ สามารถเข้าถึงกันได้ง่ายกว่า ก็เลยทำ แรกๆ ที่ทำก็เป็นการเอาเพลงที่ตัวเองมี เอาความรู้ต่างๆ ที่ตัวเองมี ที่เราค้นหาตัดเก็บสะสมมาใส่เข้าไป อย่างเพลงไหนที่เราไม่มีเราก็ไปหาในยูทูป เพลงไหนที่เรามีแต่ยูทูปไม่มี เราก็อัปขึ้น แล้วเราก็เอามาแปะๆ ไว้ สำหรับฟังเองหรือเพื่อเพื่อนสนิทได้ฟัง”

แต่แล้ววันหนึ่งเขาก็สะดุด หยุดกับความเหนื่อยล้าที่ไม่มีราคาค่างวด แถมแรงเชียร์ตอบรับก็สะท้อนกลับมาเพียงน้อยนิด เมื่อบรรลุความต้องการส่วนตัว “พอทำไปได้สักระยะหนึ่ง ผมก็ทิ้งไว้เลย เพราะมันเหมือนทำแล้วเหนื่อย 10-20 ไลค์ แล้วก็นิ่งไป”

อย่างไรก็ดี ขณะที่เขากำลังชั่งใจต่อการยุติบทบาท ตัวเลขยอดไลค์แฟนเพจกลับค่อยๆ เพิ่มจำนวนขึ้น จากหลักสิบกลายเป็นหลักร้อยโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว และนั่นเองที่ทำให้กลับมาเดินหน้าลุยต่อ พร้อมกับสิ่งใหม่ๆ ทั้งจุดประสงค์ และจำนวนมิตรสหายที่สนนกำลังเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบรรดาสมาชิกเพจที่เขาชักชวนมาร่วมเป็นแอดมินทัง 6 คน ได้แก่ โอ๊ต-รัตนพล ปัตตพงศ์, วุธ-คฑาวุธ เวชวิฐาน, โจ๊ก-สิทธิพงษ์ จำนงค์ศรี, เพชร-พชรพล วงศ์สุธัญวัฒน์ และกุ้ง-รัตติกาล ศรีกุญชร หรือกลุ่มคนวงการดนตรี อย่างเจ้าของค่ายเพลงในอดีต ผู้จัดการวงดนตรี กระทั่งตัวศิลปินยุคอัลเทอร์เนทีฟเองก็ตาม ก็ตบเท้าเข้ามาสรรค์สร้างให้เพจกลับมามีความลื่นไหลครบถ้วนด้วยเนื้อหามากยิ่งขึ้น

“มีอยู่วันหนึ่ง ผมกลับเข้าไปเล่นๆ กลายเป็นว่า เฮ้ย! มันขึ้นเป็น 200 ไลค์ แล้วก็มีคนอินบ็อกซ์ข้อความมาคุยกับผม บอก “ชอบมาก” “ขอบคุณมาก” ที่ทำเพจนี้ขึ้นมา ทุกคนชื่นชอบ ทุกคนชื่นชมหมด ผมก็เลยมีความคิดที่ว่า เราไม่ได้อยู่คนเดียวแล้วนี่หว่า มันก็มีคนแบบเราเหมือนกัน ดังนั้น การกลับมาทำอีกครั้งของผม วัตถุประสงค์จึงเปลี่ยนไป

“จากตอนแรกที่ทำเพื่อตัวคนเดียว อัปเดตคนเดียว ก็มีการแนะนำเข้ามา มันเกิดเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ขณะที่คนรู้จักก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ หลากหลายอาชีพ บางคนเป็นเซลส์ ก็พาหาสปอนเซอร์ บางคนเป็นอีเวนต์มาร์เกตติ้ง ก็มาช่วยเวลาจัดคอนเสิร์ต เป็นนักดนตรี ก็ช่วยแกะเพลง เอาคอร์ดที่ตัวเองมีออกมา มันเป็นการช่วยกันของพวกแอดมิน หรือกระทั่งอดีตผู้จัดการวงดนตรี เจ้าของค่ายเพลงในสมัยก่อน หรือตัวศิลปินในยุคนั้นเอง เขาก็เข้ามาให้ข้อมูลที่เอ็กซ์คลูซีฟขึ้น ลึกขึ้น ครอบคลุมขึ้น

“ณ จุดนี้ มันจึงเป็นเรื่องของการรวมตัวของคนที่มีใจรักเหมือนๆ กัน เรื่องเงินไม่คุย ใจอย่างเดียว เพื่อหวังจะปลุกกระแส ปลุกชีพอัลเทอร์เนทีฟให้กลับมา”

เส้นทางสาย “ขบถ”

จากการรวมตัวของเหล่าเด็กอัลเทอร์ฯ นี่เองที่ทำให้เกิดการ “ร่วมย้อนอดีต” ในรูปแบบที่หลากหลาย เกิดเป็นเว็บไซต์ “อัลเทอร์เนทีฟไทยแลนด์” เกิดเป็นสถานีวิทยุ “อัลเทอร์เนทีฟไทยแลนด์” เกิดช่องแชนแนลยูทูป “อัลเทอร์เนทีฟไทย” และเกิดคอนเสิร์ต meet&greet กับศิลปินยุคอัลเทอร์เนทีฟ “ครั้งแรก” ในรอบ 10 กว่าปี หลังจากคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งแรกครั้งเดียว “เทศกาลดนตรีอัลเทอร์เนทีฟไทย” ในปี 2550 ที่เขาบอกว่าเป็นเสมือนแรงบันดาลใจที่สำคัญสำหรับตัวเขา

“ผมพยายามทำให้มันหลากหลาย โดยสำรวจปัญหาของตัวเองก่อน อย่างสถานีวิทยุออนไลน์ 24 ชั่วโมง เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองใครที่อยากฟังแล้วหาฟังไม่ได้ ไม่ต้องไปหาหรือดาวน์โหลดที่ไหน สามารถรับฟังได้ทั้งบนมือถือและหน้าจอคอมพ์ ใครอยากฟังเพลงอะไรขอมาทางเฟซบุ๊ก คืออยากให้เป็นกลิ่นอายเหมือนสมัยก่อน ถ้าอยากดูงานกิจกรรมต่างๆ ก็ต้องโน่นเลย แชนแนลยูทูป ทั้งคลิปสัมภาษณ์ งานคอนเสิร์ต

“คือหลังจากมีคนมาช่วย ผมก็เริ่มที่จะออกผจญภัยตามหาศิลปิน ขอสัมภาษณ์ ขอถ่ายรูป คนโน้นทีคนนี้ทีไปเรื่อยๆ ซึ่งในทุกครั้งที่ได้พูดคุย ผมจะบอกพวกเขาเสมอๆ ว่า “พี่รู้ไหม ยังมีคนอยากฟังเพลงพี่” เขาก็ตกใจ แล้วก็ดีใจ คือทุกคนอยากกลับมาเล่น ซึ่งบังเอิญศิลปินวงเดอะมัส (The Must) ชักชวนเราว่า ทำมีตแอนด์กรี๊ดกันไหม…พอตกลง มันก็เลยเป็นที่มาของการร่วมจัดคอนเสิร์ตครั้งแรกกับศิลปินของผม” เขาเผยรอยยิ้มอันแสนภาคภูมิใจ

“คอนเสิร์ตที่จัดเป็นคอนเสิร์ตแบบแฟนคลับ เป็นการกุศลหาเงินช่วยเด็กตาบอดพิการซ้ำซ้อน ตอนแรกกำหนดไว้ 50 คน ปรากฏว่าวันงานมากัน 500 คน ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ทุกคนตั้งใจมา ทุกคนแฮปปี้ มันเป็นภาพความทรงจำ ที่ผมถือว่าผมประสบความสำเร็จแล้ว ผมทำมาถึงจุดจุดนี้ ผมพอใจแล้ว จากนี้คือกำไร กำไรในสิ่งที่ผมจะทำเพื่อคนอื่นบ้าง เพื่อส่วนรวมบ้าง”

อัลเทอร์ฯ เนเวอร์ดาย

ถึงตอนนี้แม้ว่ากระแสอัลเทอร์เนทีฟจะยังไม่กลับมาตามเป้า แต่เขาก็ยังเลือกสานต่อ พร้อมค้นคิดไอเดียต่างๆ ทั้ง “พิพิธภัณฑ์อัลเทอร์เนทีฟ” (ชั้น 1 เป็นร้านเหล้า เล่นแต่เพลงยุคอัลเทอร์เนทีฟ ชั้น 2 เป็นหอจดหมายเหตุอัลเทอร์ฯ รวบรวมเทป ซีดี โปสเตอร์ หรือของสะสมต่างๆ ในยุคอัลเทอร์ฯ) รวมทั้งคอนเสิร์ตใหญ่ และประสานกับค่ายเพลง

“ผมพยายามจะขายไอเดียตรงนี้ออกไป แต่ไม่รู้มันจะไปถึงใครคนนั้นหรือเปล่า มีคนมาเตือนว่าพูดมากเดี๋ยวก็โดน คนอื่นเอาไปทำ มึงก็ทำเหอะ กูจะได้เลิกคิด แล้วกูจะได้ไปช่วย ผมขอเป็นทีมงาน ผมขอสมัครเป็นลูกจ้าง ผมพร้อมทำถวายหัวเลย คือถ้าคุณมีโอกาสคุณทำผมแฮปปี้ ดีกว่าเก็บความคิดไว้คนเดียวแล้วไม่ได้ทำ จะไปกั๊กคนอื่นเขาทำไมล่ะ ก็เลยพูดออกไป เราถือว่าเรามีส่วนช่วยทำแล้ว

“เพราะมันเป็นอะไรที่เหมือนนั่งดูรูปเก่า แต่ทำไมเราดูแล้วเรามีความสุขกว่าดูรูปใหม่ ก็เหมือนกัน…สมมติว่าเป็นอัลบัมเฟรนด์ชิป เราก็จะดูแล้วนึกถึงหน้าคนโน้นหน้าคนนี้ ทุกเรื่องราว มันเป็นอะไรที่ลืมไม่ได้จนวันตาย มันไม่ใช่แค่การฟังเพลง ผมว่าเพลงมันเป็นแค่ส่วนหนึ่ง ตัวศิลปินทุกอย่างเป็นองค์ประกอบที่ลงตัวของช่วงชีวิต ทุกอย่างมันมาพร้อมกันหมด เหมือนมันสตัฟฟ์ชีวิตเราไปเลย”

“ถ้าถามผมเกิดมาเพื่ออะไร ผมตอบไม่ได้นะในสมัยก่อน แต่ ณ วันนี้ผมกล้าบอกว่า ผมเกิดมาเพื่อทำสิ่งนี้ ความสุขของผมคือสิ่งนี้ ถ้าไม่ทำผมคงนอนตายตาไม่หลับ”



เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล

เครดิตภาพ : เฟซบุ๊กเพจอัลเทอร์เนทีฟไทย :ยุครุ่งเรือง