เมื่อไม่นานมานี้ เว็บไซต์ TripAdvisor.com ได้ประกาศผลรางวัล Traveler’s Choice 2012 Hotels for Family ในทวีปเอเชีย ซึ่งได้รับการโหวตจากนักท่องเที่ยวทั่วโลกนับล้านคนให้โรงแรมในประเทศไทยติดระดับโลกสูงสุดในลำดับที่ 6 จากการลงมติของนักท่องเว็บในโลกออนไลน์ และในการจัดอันดับของทางองค์การท่องเที่ยวโลก ประเทศไทยก็ติดอยู่ในอันดับ 11 ของโลก แต่หากมองในระดับอาเซียน เราก็มีรายได้ด้านการท่องเที่ยวเป็นอันดับ 1 ขณะที่กรุงเทพมหานครก็ติดอันดับเมืองน่าเที่ยว 1 ใน 5 ทุกครั้งของทุกสถาบัน โดยเฉพาะโพลมาสเตอร์การ์ด ก็ยังยกระดับให้เมืองหลวงของเราเป็นรองแค่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษและกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เลยทีเดียว
เรทติ้งน่าชื่นชมขนาดนี้ ไม่ใช่เพราะแค่โชคช่วยเท่านั้น
สยามเมืองยิ้ม ต้มยำกุ้ง มวยไทย แมวไทย ช้างไทย และสัญลักษณ์อื่นๆ อีกมากมายที่เห็นหรือได้ยินครั้งเดียว ผู้คนเกือบทั้งโลกก็รู้แล้วว่ามันมาจากไหน
เป็นที่รู้กันดีว่านักท่องเที่ยวต่างชาติล้วนรู้จักไทยในฐานะดินแดนที่รุ่มรวยวัฒนธรรม ร่องรอยทางประวัติศาสตร์ผ่านโบราณกาลสมัย ทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ และรอยยิ้มน้ำใจไมตรีจิตของคนไทย เหล่านี้เป็นปัจจัยเกื้อหนุนที่ทำให้เกิดรายได้เข้าประเทศเป็นสัดส่วนที่มากและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเป็นดัชนีชี้วัดที่กระตุ้นให้ทางภาครัฐต้องส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวมากขึ้น นโยบายด้านการท่องเที่ยวส่วนใหญ่เน้นเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยว พร้อมกับพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก โดยหวังเม็ดเงินที่เข้ามาอย่างมหาศาลในอนาคต แต่แผนการส่งเสริมการท่องเที่ยวเช่นนี้อาจไม่เป็นผลบวกต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเท่าที่ควร คำกล่าวนี้คืออะไร อยากให้ลองสังเกตดู…
ตลาดยุโรปเป็นตลาดสำคัญของการท่องเที่ยวไทยมานาน เป็นตลาดที่มีราคาต่อจำนวนวันเข้าพักเฉลี่ยสูง ใช้จ่ายมาก เนื่องจากการเดินทางมาเที่ยวแต่ละครั้งใช้เวลาเดินทางนาน จึงต้องการเที่ยวให้คุ้มค่า แม้ว่าขณะนี้ยุโรปกำลังเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจ แต่ก็ยังมีประเทศในภาคพื้นยุโรปที่ไม่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะรัสเซียที่กำลังเนื้อหอม เพราะนอกจากไม่สะทกสะท้านวิกฤติยุโรปแล้ว เศรษฐกิจยังดีวันดีคืน ล่าสุดการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ร่วมงานแมทธิว-ลีเชอร์ 2012 ช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ที่กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย โดยงานนี้เป็นงานส่งเสริมการขายด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญในตลาดรัสเซีย รวมถึงประเทศในกลุ่มเครือรัฐเอกราช (ซีไอเอส) หรือประเทศที่แตกตัวออกมาจากสหภาพโซเวียตนั่นเอง เรียกว่าทั้ง ททท. และเอกชน ต่างก็มั่นใจไปในทิศทางเดียวกันว่าตลาดรัสเซียจะเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ผลักดันให้การท่องเที่ยวไทยยังเติบโตอยู่
โดยปกติ นักท่องเที่ยวยุโรปส่วนใหญ่มักมีกำลังซื้อมากกว่านักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นๆ เนื่องจากปัจจัยเรื่องเป้าหมายและรสนิยมเรื่องการท่องเที่ยวที่แตกต่างกัน นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มักใช้จ่ายอย่างเต็มที่เพื่อสนองความต้องการสูงสุด ซึ่งต่างกับนักท่องเที่ยวเอเชียโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนอย่างชัดเจน และนักท่องเที่ยวยุโรปมักจะมีทัศนคติที่ดีกับเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมและมีจิตใจที่เปิดกว้าง รักการเรียนรู้ และต้องการที่จะสัมผัสสิ่งที่เป็นตะวันออก อันเป็นอัตลักษณ์ความเป็นไทย ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวจีน รสนิยมเรื่องการจับจ่ายก็ไม่ต่างกับคนไทย (ชอบของฟรี ของถูก) จึงออกมาเป็นดัชนีที่แตกต่างกันดังกล่าว
แต่จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้นจนรองรับไม่ไหว ก็เป็นหอกข้างแคร่เหมือนกัน เพราะทรัพยากรนั้นมีอันจำกัด ใช่ว่าจะใช้ไม่มีวันหมดเสียหน่อย
ด้วยเหตุนี้ทางองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) จึงได้จัดทำนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เรียกว่า Quality Tourism หรือท่องเที่ยวคุณภาพ เป็นการท่องเที่ยวแนวคิดใหม่ที่เชิดชูคุณค่าเอกลักษณ์ความเป็นไทย นำเสนอแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ชุมชน และแนวคิดเรื่องการรักษาธรรมชาติ เพื่อสร้างความเป็นธรรม ด้วยการกระจายรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่นที่เป็นพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว
ท่องเที่ยวคุณภาพจะเน้นการส่งเสริมการเข้ามาเยือนของนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวยุโรปเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก ซึ่งเป็นการส่งเสริมปัจจัยเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาเยือน อันประกอบด้วยแผนการท่องเที่ยวแบบใหม่ที่ให้นักท่องเที่ยวใช้เวลาในการศึกษาวิถีชีวิตชุมชน ค่อยๆ ซึมซับขนบธรรมเนียมผสมผสานกับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง รวมทั้งแผนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม อันจะทำให้เกิดผลเชิงรูปธรรม ซึ่งการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพนี้สามารถให้ประโยชน์กับทุกฝ่ายทั้งชาวบ้าน นักท่องเที่ยว และสิ่งแวดล้อม
ทรัพยากรใช้ได้ไม่หมด ได้ประโยชน์ทุกฝ่าย ชาวบ้านมีรายได้ นักท่องเที่ยวซึมซับความเป็นไทย นี่สิถึงจะเรียกว่า สยามเมืองยิ้ม ที่เราร่วมกันรักษาไว้เป็นการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน