Blowin’ in the songs
โดย : ประมวล ดาระดาษ
p_daradas@hotmail.com
สัมพันธภาพในครอบครัวระหว่างพ่อกับลูกนั้นเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ สำคัญมากต่อการสร้างสรรค์ศักยภาพ และความเป็นไปของสังคม ลูกจะได้ต้นแบบมาจากพ่อ ไม่ว่าจะด้านดี หรือด้านร้าย อารมณ์ ความรัก ความหวัง และความผูกพัน เหล่านี้ สามารถสะท้อนผ่านออกมาในรูปศิลปะแห่งวรรณกรรม ภาพยนตร์ และตนตรี
มีบทเพลงที่แสดงถึงความสัมพันธ์ดังกล่าวมากมาย จะยกมาเล่าถึงแรงบันดาลใจของศิลปิน ที่สร้างสรรค์ ความงดงามของสัมพันธภาพระหว่างลูกกับพ่อ แบบที่สุดของเพลงพ่อ
“Father and Son” โดย Cat Stevens
เพลงนี้ขึ้นหิ้งเพลงโฟล์ก คลาสสิก ไปเรียบร้อยแล้ว โดย แคท สตีเวน ได้เขียนกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนหนุ่มและคนชรา คนหนุ่มนั้นต้องการจะจากครอบครัวออกไป สร้างโลกและครอบครัวของตนตามอุดมคติ อุดมการณ์อันแสวงหา ด้วยความฝัน และความสดใส ตามวัย
ในขณะที่ผู้อาวุโสกว่า ก็คอยเป็นห่วงเป็นใย หากทว่าเข้าใจในสภาวะอยู่ สุดท้ายผู้เป็นพ่อก็คงจักต้อง ส่งพลังใจให้คนหนุ่ม ตามประสาพ่อที่รักลูกและเข้าใจโลกของความเป็นหนุ่มสาว ว่า.”พ่อเข้าใจลูก ตามสบาย โลกนี้มันง่ายอยู่แล้ว” ในท่วงทำนองแบบสอนสั่งอยู่ในที
แคท สตีเวน ใช้เทคนิคการเขียนเนื้อร้อง ออกเป็นสี่บท โดยบทแรก เป็นเหตุผลของพ่อ ที่ไม่ต้องการให้ลูกออกไปสู่โลกกว้าง ออกไปร่วมต่อสู้ แสวงหา โลกอุดมคติของนักแสวงหา ที่ไม่มีวันที่จะย่ำอยู่กับที่ กับต่อสู้เพื่อภราดรภาพ เสมอภาค และความยุติธรรม
อีกสภาวะหนึ่ง พ่อก็มีเหตุผลของพ่อแบบนักอนุรักษนิยม ที่มีชีวิตพื้นๆ แบบต่อการเกิด เติบโต เป็นหนุ่ม และหาหญิงสาวสักคนเพื่อที่จะรัก เพื่อจะสร้างครอบครัว และมีลูก และบอกลูกว่ามันเร็วเกินไปไหม ที่ลูกจะจากไปสร้างโลกตามอุดมคติของตน
บทที่สองก็เป็นเหตุผลของคนหนุ่มสาว ที่จะต้องก้าวออกไปเพื่ออิสรเสรี แห่งปัจเจก และอัตวิสัย เป็นความก้าวหน้าของโลกสมัยใหม่ ยุคแสวงหา และโต้แย้งพ่อแบบมีเหตุผลว่า พ่อก็อ้างแต่เหตุผลซ้ำๆ จนไม่รู้จะหาเหตุผลอะไรมาหักล้างดี พ่อพูดก็ยอมรับ ทว่า…แต่ ตนเองก็จะโต้แย้งอยู่อย่างนี้ เป็นเชิงน้อยอกน้อยใจ และดำรงจุดหมายและความต้องการของตนไว้
เป็นเพลงในยุค 70s ที่ยิ่งใหญ่ สะท้อนสภาวะปัจเจกภายในของ แคท สตีเวน ที่เกิดในครอบครัวโลกมุสลิมอนุรักษนิยม โดยเขาได้แรงบันดาลใจมาจากการร่วมรับรู้ แบบหนุ่มสาวที่ต้องออกไปสู่แนวทางประท้วงสังคม เพื่อให้เกิดการปฏิวัติมวลชน
บทเพลงมีท่วงทำนองเชิงสังคม ที่หนุ่มสาวมีจิตสำนึกทางสังคมมาก ในขณะนั้น ส่วนผู้เป็นพ่อ มีหัวด้านอนุรักษนิยม เพลงนี้ให้สัมพันธภาพที่แย้งระหว่างพ่อกับลูก แต่ที่สำคัญมันฉายภาพบรรยากาศแห่งความผูกพันระหว่างพ่อกับลูกได้ดิ่งลึกสะเทือนใจ
“My Father’s Eyes” โดย Eric Clapton
โลกในวัยเด็กมักส่งผลต่อความเป็นศิลปินอย่างใหญ่หลวง ศิลปินที่ยิ่งใหญ่ของโลกหลายต่อหลายคนมี โลกกำพร้า ถูกทอดทิ้งในวัยเด็ก และสิ่งเหล่านี้มักจะสร้างตราบาปให้แก่บรรดาศิลปิน ส่งผลกระทบทางด้านจิตใจจนสามารถสร้างสรรค์งานที่ยิ่งใหญ่ออกมาได้ไม่รู้จบ
สัมพันธภาพในครอบครัว พ่อ แม่ ลูก การพลัดพราก การถูกละทิ้ง มรณกรรมและความตาย เหล่านี้สื่อ ความหมายตราตรึงฝังลึก อยู่ในจิตสำนึก เป็นโลกที่ขาดแคลน ถวิลไห้ โหยหา อยู่ลึกๆ และศิลปินมักหยิบฉวยมันสื่อสารออกมาในรูปของสุนทรยศิลป์สะเทือนใจ
เอริค แคลปตัน เกิดมาไม่เคยเห็นหน้าพ่อเลย ไม่เคยรู้ว่าพ่อเป็นใคร เขาถูกป้าเลี้ยงดูจนเติบใหญ่และกลายมาเป็นศิลปินระดับโลก
ปี 1991 ลุกชายวันสี่ขวบของเขาที่กำพร้าแม่ ก็ตกอพาร์ตเมนต์สิ้นชีวิตไปอีกคน เหตุการณ์นี้สร้างความสะเทือนใจล้ำลึกให้แก่ตัวเขา เป็นสำนึกแห่งพ่อ เป็นตราบาป เป็นความพลัดพรากของความเป็นพ่อกับลุกที่มาหลอกหลอนย้ำเตือนถึงสองครั้งในชีวิต ครั้งแรกขาดพ่อ ไม่เคยได้ความรัก ห่วงหาอาทรจากพ่อ ครั้งหลัง เขาอยากให้ลูก อยากมีลูกเลี้ยงลูกให้ได้รับความอบอุ่นเพื่อลบปมอดีต
ทว่า อนิจจา ลูกที่เขาฟูมฟัก เลี้ยงดูก็มาด่วนจากไป เหมือนโลกนี้จะโหดแล้วยิ่งแล้ว
บทเพลง “My Father’s Eyes” สะท้อนความโหยหาพ่อ และบทเพลง “Tear in heaven” นั้น สะท้อนทั้งสองนัยของเขา และก็คงเหลือจักแต่ในแดนสรวงเท่านั้น ที่จะทำให้เขาพบคนทั้งสองได้
แคลปตัน นำเรื่องราวจากชีวิตจริง มารังสรรค์ศิลปะ เขาเขียนเพลงนี้ ระบายอารมณ์ ถวิลหา แบบโศกนาฏกรรมเรียลิสม์ ที่ไม่มีใคร ศิลปินคนใดสร้างได้ เพราะมันมาจากประสบการณ์ตรง
แคลปตัน ยิ่งใหญ่กับสองแทร็กนี้ มันคือ โลกจริงที่แสนโหดร้ายของเขา ที่รจนาถ้อยคำผ่านรูปแบบดนตรี คีตกวีศิลป์อันเรียบง่าย งดงาม สะเทือนใจ เชิงความสัมพันธ์ระหว่างพ่อและลูก
Papa โดย Paul Anka
ผู้เขียนก็ต้องขอขอบพระคุณ เจ้าของลิงก์นี้ในยูทูป และขอนำข้อเขียนของท่านมาแปะไว้ที่นี่ด้วย “อัปโหลดโดย khunkea เมื่อ 4 ธ.ค. 2011
”วันพ่อทีไร จะนึกถึงเพลงนี้เป็นเพลงแรกเสมอ แม้เนื้อหาของเพลงไม่ได้ตรงกับตัวเองเลยสักนิด แต่ชอบเพลงนี้มาก มันให้ความรู้สึกเพราะปนเศร้า ยิ่งคนที่ไม่เคยได้ใกล้ชิดหรือได้อยู่กับพ่อฟังแล้วยิ่งทวีความเศร้า ได้แต่ถวิลหาคนเป็นพ่อ พ่อที่ไม่เคยได้ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน พ่อที่ทั้งชีวิตนี้ก็ยังไม่เคยได้บอกรักพ่อสักครั้ง
“ชอบเพลงนี้มาก แต่พอเข้ายูทูบฟังเพลงนี้ทีไร ก็แอบขัดใจที่เพลงเพราะๆ ไม่มีภาพสวยๆ ให้ดู ตัดสินใจทำเองซะ ด้วยการนำภาพน่ารักๆ ของพ่อกับลูกมาใส่ หวังว่ารับชมแล้วคงชอบนะคะ”
พอล แองกา เกิด 1941 ในออตทาวา รัฐออนแทริโอ แคนาดา เป็นนักร้อง นักแต่งเพลง นักแสดงชาวแคนาดา เชื้อสายเลบานอน และมาเป็นพลเมืองอเมริกันในปี 1990 แองกา โด่งดังในฐานะทีนไอดอลในช่วงปลายทศวรรษ 50-60 เขามีเพลงดังอย่าง “Diana”, “Lonely Boy”, และ “Put Your Head on My Shoulder” และเพลงดังของทอม โจนส์ ที่ชื่อ She's A Lady และแต่งเนื้อให้กับเพลงประจำตัวแบบอัตลักษณ์ ของแฟรงก์ ซินาตรา ที่ชื่อ “My Way”
Papa เป็นเพลงป็อปที่โด่งดังที่สุดมากในประเทศไทย มีเนื้อหากล่าวถึงพ่อที่ดีในขนบของฝรั่งตะวันตก ผู้ซื่อสัตย์ต่อภรรยา แม้เธอจะสิ้นไปแล้วก็ตาม มีความถวิลหา ความรับผิดชอบ สามารถเลี้ยงลูกและดูแลครอบครัว ได้เต็มความสามารถ
เนื้อเพลงฉายให้เห็นถึงความอบอุ่นของครอบครัว ที่มีพ่อผู้แสนดี และมีความรับผิดชอบอันใหญ่หลวงต่อครอบครัว
I remember every word my papa used to say
I live that every day
He taught me well that way
จำได้ในทุกถ้อยคำที่พ่อเคยพูดสอน
ผมเองก็ยึดมั่นในแนวทางดังกล่าวทุกวัน
พ่อเคยสอนผมไว้เป็นอย่างดีเช่นนั้น
(วรรคจบของเพลง Papa)