หลากพระในหนังไทย น่ากราบไหว้ หรือแค่โล้นห่มเหลือง?

หลายครั้งหลายหนที่เราเห็นการนำเสนอข่าวในทางไม่ดีของพระพุทธศาสนาที่ถ่ายทอดให้เห็นเกือบจะเป็นเรื่องปกติไปแล้วในสังคมไทย อาทิ ข่าวลักลอบพาสีกาขึ้นกุฏิบ้าง, ข่าวการทะเลาะวิวาทของพระสงฆ์บ้าง, ฯลฯ อีกมากมาย ที่ถูกเปิดโปงโดยชาวบ้านที่เลื่อมใสศรัทธาต่อศาสนา เหล่านี้เองคือการแสดงออกถึงความไม่พอใจในการกระทำดังกล่าว

การนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับองค์กรศาสนาผ่านสื่อที่เราได้เห็นแจ้งเด่นชัดอีกทางนอกเหนือจากการตกเป็นข่าวแล้วเห็นจะเป็นสื่อภาพยนตร์ แม้การสร้างภาพยนตร์ที่พาดพิงถึงเรื่องดังกล่าวจะเป็นสิ่งที่กระทบกระเทือนต่อภาพลักษณ์ของผ้าเหลืองไปบ้าง แต่ในทางกลับกันสิ่งเหล่านี้เองก็เปรียบเสมือนกระจกที่คอยสะท้อนอีกหนึ่งมุมมองที่เกิดขึ้นจริงในสังคมบ้านเรา จึงทำให้เราได้เห็นภาพยนตร์ที่แทรกบทบาทหรือเรื่องราวของตัวละครที่เล่นเป็นพระเข้าไป ซึ่งบ้างก็เป็นพระดีที่ควรค่าแก่การเคารพและศรัทธา บ้างก็เป็นพระที่ไม่ควรค่าแก่การห่มจีวร ออกบิณฑบาตเอาซะเลย หนังไทยเรื่องไหนวางบทบาทพระสงฆ์ไว้อย่างไรมาดูกัน… ดีไม่ดีพระสงฆ์บางรูปจากจอภาพยนตร์อาจจะคล้ายกับพระสงฆ์ของโลกแห่งความเป็นจริงก็เป็นได้…

นาคปรก

ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นแนวดราม่าแอกชัน เป็นเรื่องราวของโจรสามคน ที่ร่วมกันวางแผนปล้นรถขนเงิน และนำไปซ่อนไว้ในวัด และตัดสินใจแฝงตัวเข้ามาอยู่ในวัดโดยบังคับให้หลวงตาบวชให้อยู่ที่วัดแห่งนี้ ขณะเดียวกันกับที่มัคนายกประจำวัดแห่งนี้กลับเป็นโจรเหมือนกัน เหตุการณ์พลิกผันของหนังเรื่องนี้จึงเริ่มต้นขึ้น

ทัศนะเกี่ยวกับหนัง : สะท้อนมุมมองด้านมืด ประกอบกับแสดงถึงกิเลสและความโลภที่เข้าครอบงำในจิตใจของมนุษย์

บทบาทของพระในเรื่อง : เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับพระสงฆ์โดยตรง ซึ่งสื่อให้เห็นถึงภาพการใช้ความรุนแรงต่อพระสงฆ์และภาพโจรในคราบพระ ซึ่งบทบาทเกี่ยวกับพระในหนังเรื่องนี้ค่อนข้างจะออกแนวรุนแรง จึงทำให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ตัดสินให้หนังได้รับเรต น 18+ และมีหลายฉากเกี่ยวกับพระสงฆ์ที่ไม่พึงกระทำ เช่น ฉากที่พระสงฆ์สัมผัสตัวสีกา, ฉากการสักร่างกายให้ฆราวาส ซึ่งทั้งสองอย่างที่กล่าวมาเป็นพฤติรรมที่ผิดต่อวินัยสงฆ์อย่างยิ่ง

ศพไม่เงียบ

เป็นเรื่องราวของเด็กจรจัดในมูลนิธิเด็กไร้บ้านภายในวัดถูกฆาตรกรรม ซึ่งตำรวจไม่ได้ให้ความสนใจในคดีนี้ จึงทำให้พระซึ่งเคยเป็นอดีตตำรวจสืบสวนคดีฆาตกรรมพร้อมกับลูกศิษย์ ได้ค้นหาสาเหตุและคดีฆาตกรรมในครั้งนี้ จนสามารถเปิดโปงนำไปสู่การจับผู้ที่กระทำผิดและฆาตกรที่อยู่เบื้องหลังได้สำเร็จ

ทัศนะเกี่ยวกับหนัง : สะท้อนให้เห็นถึงความเสื่อมของวงการศาสนา ซึ่งเป็นการนำเสนอภาพ “ที่ไม่น่าเคารพนับถือ” ของพระสงฆ์องค์เจ้า และอาจเป็นภาพที่หลายคนคงเคยได้เห็นในโลกของความเป็นจริงกันแล้วบ้าง

บทบาทของพระในเรื่อง : มีบทบาทของพระปลอม พระดูดวง พระใบ้หวย ตลอดจนถึงพระตุ๊ดพระกะเทย และพวก “มารศาสนา” ที่มาอาศัยวัดวาอารามทำมาหากินโดยอ้างโครงการการกุศลที่แฝงอยู่ในวัดวาอารามที่เราเคารพศรัทธา

โอเคเบตง

เป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับพระรูปหนึ่งที่บวชอยู่ที่วัดป่า โดยศึกษาธรรมะมาตั้งแต่ยังเด็ก และต้องลาสิกขาออกมาเพื่อดูแลลูกของพี่สาวที่เสียชีวิตกะทันหัน จึงเป็นเหตุการณ์เริ่มต้นที่ปรับตัวของพระรูปนี้

ทัศนะเกี่ยวกับหนัง : เรื่องราวเกี่ยวกับชาวไทยศาสนาพุทธและศาสนาอิสลามที่ต้องอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ท่ามกลางความไม่สงบของจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เริ่มก่อตัวขึ้น

บทบาทของพระในเรื่อง : สะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวของพระที่ลาสิกขาที่จากเดิมใช้ชีวิตทางธรรมออกมาใช้ชีวิตทางโลก และเกิดกิเลสในเรื่องของความรักโดยผิดหวังจากความรัก ทำให้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของอบายมุข แม้ท้ายสุดจะปรับตัวหันมาใช้ชีวิตอย่างมีสติ แต่หนังเรื่องนี้ก็สะท้อนอีกมุมมองของสังคมให้ได้เห็นว่าแม้บุคคลท่านนี้จะเคยห่มผ้าเหลืองบวชเป็นพระมาอย่างยาวนาน แต่ด้วยสิ่งที่เรียกว่ากิเลสก็ไม่สามารถทำให้มนุษย์หักห้ามใจได้

15 ค่ำ เดือน 11

ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างมาจากความเชื่อของคนไทยแถบภาคอีสาน เกี่ยวกับปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค เรื่องนำเสนอให้เห็นว่าเป็นฝีมือของพระภิกษุที่จำวัดอยู่ในประเทศลาว ซึ่งให้เด็กที่อยู่ในวัดดำน้ำไปจุดพลุ จุดประสงค์เพื่อให้คนหันมาศรัทธาในพระพุทธศาสนามากขึ้น ซึ่งช่วงหลังเด็กวัดไม่อยากหลอกลวงประชาชนอีกแล้ว จึงทำให้พระภิกษุรูปนี้ตัดสินใจทำด้วยตนเอง

ทัศนะเกี่ยวกับหนัง : สะท้อนความเชื่อของคนไทยในแถบอีสานเกี่ยวกับสิ่งเร้นลับมหัศจรรย์

บทบาทของพระในเรื่อง : นำเสนอให้เห็นถึงพระที่ยอมตายเพื่อความเชื่อของตัวเอง ซึ่งเป็นความผิดโดยสุจริต เจตนาที่ทำโดยคงไว้ซึ่งศาสนานั่นเอง

หลวงพี่เท่ง

ภาพยนตร์แนวตลกเมื่อพระรูปหนึ่ง (หลวงพี่เท่ง) ที่เคยเป็นอดีตนักเลงเก่าได้กลับตัวกลับใจหันมาห่มผ้าเหลือง ประจวบกับที่ชาวบ้านกำลังเสื่อมใสศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาแล้วหันไปพึ่งพาไสยศาสตร์ ทำให้หลวงพี่เท่งต้องพัฒนาจิตใจชาวบ้านให้ดีขึ้นให้ได้ แต่กลับโดนคนที่พยายามหลอกลวงชาวบ้านใส่ความเข้าให้

ทัศนะเกี่ยวกับหนัง : มีการนำเสนอถึงวิถีชีวิตของคนไทยในชนบทที่ละเลยต่อศาสนาและหันไปงมงายกับเรื่องไสยศาสตร์

บทบาทของพระในเรื่อง : เรื่องนี้นับว่าพระถือเป็นแบบอย่างได้ดีกับประชาชนอย่างมาก เพราะสามารถใช้ธรรมะไปช่วยลบล้างความเชื่อผิดๆ อย่างเรื่องไสยศาสตร์ได้

มากับพระ

ภาพยนตร์แนวคอเมดี้ เป็นเรื่องราวการเดินทางของลูกเศรษฐีที่บวชเณรใหม่ ซึ่งการเดินทางครั้งนี้ทำให้เณรได้พบเจอกับชายหนุ่มตกอับกับหญิงสาวที่เพิ่งเลิกรากับแฟน ทำให้ทั้งสามคนรู้จักกันโดยบังเอิญ

ทัศนะเกี่ยวกับหนัง : เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของพระที่คนในเมืองส่วนใหญ่ไม่เคยเห็นมาก่อน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นความพอเพียง เรียบง่าย และสงบสุข

บทบาทของพระในเรื่อง : พระที่ใช้ชีวิตในชนบท แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของพระที่ขี่ม้าออกบิณฑบาต การใช้ชีวิตเรียบง่าย พอเพียง และไร้ซึ่งเทคโนโลยีทันสมัย

โกยเถอะโยม

ภาพยนตร์แนวตลก เป็นเรื่องราวของผีเด็กเร่ร่อน ซึ่งตายโดยถูกทำแท้ง ผีเด็กตนนี้มักปรากฏตัวให้ชาวบ้านได้เห็น จนชาวบ้านต้องหันไปพึ่งพระที่เป็นเจ้าอาวาสของวัดในหมู่บ้าน จึงเกิดเรื่องราววุ่นๆ ขึ้น

ทัศนะเกี่ยวกับหนัง : อาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับศาสนาโดยตรง แต่เป็นการสะท้อนสังคมไทยในเรื่องของการไม่พร้อมตั้งครรภ์ ที่สื่อออกมาให้เข้าใจได้ง่ายโดยการใช้เรื่องตลกขบขันเข้ามาดำเนินเรื่อง

บทบาทของพระในเรื่อง : เป็นมุมมองที่แสดงให้เห็นความเชื่อ ความศรัทธาของชาวบ้านที่มีต่อพระ ซึ่งพระยังเป็นที่พึ่งทางใจได้ดี

เท่ง โหน่ง จีวรบิน

ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์แนวตลก เป็นเรื่องที่พระรูปหนึ่งหลบลี้หนีความวุ่นวายไปจำศีลภาวนายังต่างประเทศ ก่อนที่จะตัดสินใจวางแผนกลับมาจำวัดยังประเทศไทย แต่ตั๋วเครื่องบินนั้นกลับเต็มไปเสียก่อน ด้วยความบังเอิญจึงได้พบกับพ่อค้าอัญมณีมหาเศรษฐีจึงถูกชวนให้นั่งเครื่องบินที่เศรษฐีคนนี้เช่าเหมาลำกลับมาพร้อมกัน

ทัศนะเกี่ยวกับหนัง : สะท้อนออกมาโดยใช้ความครื้นเครงและแฝงไปด้วยธรรมะ

บทบาทของพระในเรื่อง : พระหนุ่มที่มีกิริยาค่อนข้างสำรวม เป็นพระที่ศึกษาทางธรรมะมาค่อนข้างมาก ซึ่งในเรื่องนี้พระต้องเข้าไปอยู่กับกองโจร ทำให้มีการนำธรรมะที่ตนศึกษามาเข้าไปขัดเกลาโจร แต่อีกมุมมองหนึ่งในการอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ที่อลหม่านของกองโจรทำให้พระเกิดหลุดความสำรวมไปบ้าง เช่น มีการกระโดดจากเครื่องบิน, พระขับเครื่องบิน ฯลฯ

ไม่ได้ขอให้มารัก 

เป็นภาพยนตร์แนวโรแมนติก-คอเมดี้ เกี่ยวกับการเดินทางตามหารักแท้ และเกิดความปั่นป่วนในเรื่องของความรักเกิดขึ้น โดยเล่าเรื่องราวให้เห็นถึงความรู้สึกของเพศที่สาม แม้แต่เพศที่สามในคราบผ้าเหลืองก็ถูกหยิบยกมาถ่ายทอดผ่านหนังเรื่องนี้

ทัศนะเกี่ยวกับหนัง : เป็นการสะท้อนมุมมองของเพศที่ 3 ในสังคมไทยปัจจุบัน

บทบาทของพระในเรื่อง : เป็นบทบาทของพระที่มีความรักต่อพระด้วยกัน หรือเรียกว่า พระเกย์ ที่หลายคนมองว่าไม่สมควร

ไผ่แดง

นวนิยายเสียดสีสังคมและการเมืองในสมัยที่การใช้นโยบายต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ เป็นบทประพันธ์ดัดแปลงของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ในปี พ.ศ. 2497 และถูกหยิบยกขึ้นมาทำเป็นภาพยนตร์ ซึ่งเป็นเรื่องที่กล่าวถึงสมภารกร่าง พระเจ้าอาวาสวัดไผ่แดง ผู้ครองตัวเป็นสมณเพศในร่มเงาศาสนา แต่มีจิตใจลุ่มหลงอยู่ในกิเลส ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เป็นการตอบโต้ความคิดกันเองในจิตของคนคนเดียว สามารถเป็นหลักพักพิงแก่ผู้อื่นทั้งทางโลกและทางธรรมได้ ทั้งนี้ยังสอดแทรกเรื่องของการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยสมภารต้องต่อสู้กับคอมมิวนิสต์โดยใช้พระพุทธศาสนาเข้าช่วย

ทัศนะเกี่ยวกับหนัง : เป็นการสะท้อนถึงสังคมและการเมืองในสมัยที่การใช้นโยบายต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ในสมัยนั้น ซึ่งมีทั้งความขัดแย้งของกลุ่มคนต่างๆ ในลัทธิใหม่และลัทธิเก่า อุดมการณ์ทางการเมือง สังคมชนบทที่ห่างไกลจากแหล่งความรู้คือเมืองหลวงในสมัยนั้น ฯลฯ

บทบาทของพระในเรื่อง : บทบาทของพระผู้ครองตัวเป็นสมณเพศในร่มเงาศาสนา แต่ก็ยังหลงเหลือสิ่งที่เรียกว่า กิเลส แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เสมือนการถ่วงดุลความคิดขั้วตรงข้าม 2 ขั้ว ที่ตอบโต้กันในจิตของคนคนเดียว

หลวงตา ฉบับล้อต๊อก

เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับหลวงตาที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูเด็กวัด ผู้ที่มีแม่มีอาชีพที่สังคมรังเกียจ หลวงตาต๊อกดูแลเคี่ยวเข็ญเด็กวัดชุดนี้ เหมือนพ่อดูแลลูก และมีสถานการณ์หนึ่งที่โจรหนีตำรวจเข้าไปในกุฏิจับหลวงตาเป็นตัวประกัน จนสุดท้ายหลวงตาก็ใช้ธรรมะเข้าข่มเทศน์จนคนร้ายยอมมอบตัว

ทัศนะเกี่ยวกับหนัง : เป็นสิ่งที่สะท้อนมาจากข่าวที่สะเทือนวงการพระสงฆ์ในขณะนั้นๆ ซึ่งจากในเรื่องจะมีบทที่แสดงความรุนแรงต่อศาสนา เป็นฉากที่โจรใช้ปืนจ่อหัวพระ

บทบาทของพระในเรื่อง : เป็นบทบาทพระที่ต้องรับหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูเด็กวัดที่พ่อแม่ทำอาชีพที่สังคมรังเกียจเดียดฉันท์ ทำให้พระในเรื่องนี้เปรียบเสมือนพ่อที่คอยปกป้องดูแลลูกๆ คอยสั่งสอน ถูกว่าตามถูก ผิดว่าตามผิด

แสงศตวรรษ

แม้ภาพยนตร์เรื่องนี้จะไม่ถูกฉายในประเทศไทยเพราะไม่ผ่านกองเซ็นเซอร์ เพราะมีฉากไม่เหมาะสมต่อองค์กรศาสนาและองค์กรทางการแพทย์ ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องราวชีวิตของแพทย์หญิงในโรงพยาบาลเล็กๆ ในต่างจังหวัด และชีวิตของแพทย์ทหารหนุ่มในโรงพยาบาลทันสมัยในเมือง

ทัศนะเกี่ยวกับหนัง : เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงภาพลักษณ์ขององค์กรศาสนาและองค์กรทางการแพทย์อีกมุมหนึ่ง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วภาพเหล่านี้อาจเกิดขึ้นให้เราได้เห็นบ้างแล้วในสังคมปัจจุบัน และเป็นภาพที่ไม่เหมาะสมยิ่งนักเพราะหากเกิดขึ้นจริง แน่นอนว่าต้องส่งผลกระทบต่อองค์กรดังกล่าว

บทบาทของพระในเรื่อง : นำเสนอบทบาทของพระภิกษุอีกหนึ่งมุมมอง เช่น ฉากพระเล่นกีตาร์หรือพระเล่นเครื่องร่อน ซึ่งทั้งสองฉากที่กล่าวมาเป็นฉากที่ไม่ผ่านกองเซ็นเซอร์ทั้งสิ้น

หลวงตา” (หนังสั้น-ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ)

ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นหนังสั้นเรื่องราวของเด็กชายคนหนึ่งชื่อ “น้อย” ที่ถูกพ่อกับแม่นำมาฝากไว้กับหลวงตาที่วัดแห่งหนึ่ง ทุกๆ เช้า น้อยต้องออกเดินตามหลวงตาไปบิณฑบาต จนกระทั่งได้เห็นถึงพฤติกรรมไม่เหมาะสมของหลวงตาเกิดขึ้น

ทัศนะเกี่ยวกับหนัง : สะท้อนความจริงและเรื่องราวในสังคมไทยปัจจุบัน ที่แสดงให้เห็น
ความเสื่อมของวงการศาสนา

บทบาทของพระในเรื่อง : พระสงฆ์รูปหนึ่งที่เนื้อเรื่องตอนแรกนำเสนอว่าเป็นอัมพาตเดินไม่ได้ ชาวบ้านจึงรู้สึกสงสารและถวายปัจจัยใจให้ แต่เรื่องกลับตาลปัตรเพราะพระรูปนี้หลอกลวงชาวบ้าน แท้จริงแล้วกลับเดินได้ปกติ

No Comments Yet

Comments are closed

user's Blog!

49/1 ชั้น 4 อาคารบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

49/1 4th floor, Phra-A-Thit Road, Chanasongkhram,Phanakorn Bangkok 10200

Tel. 02 629 2211 #2256 #2226

Email : mars.magazine@gmail.com

FOLLOW US ON

SUBSCRIBE