เพียงแค่ปีแรก ก็เปิดตัวได้อย่างสวยงามแล้วสำหรับการส่งผลงานเข้าประกวดในงานการ์ตูนนานาชาติ ครั้งที่ 6 (The Sixth International MANGA Award 2013) ประเทศญี่ปุ่น เมื่อการ์ตูนเรื่อง “แว่วกริ่งกังสดาล” ของ “หมู-โกสินทร์ จีนสีคง” คว้ารางวัลชนะเลิศ Gold Award มาครอง
สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดประกวดนี้ ก็เพื่อส่งเสริมการเผยแพร่วัฒนธรรมการ์ตูนในต่างประเทศและส่งเสริมความเข้าใจอันดีต่อวัฒนธรรมนิยมของประเทศญี่ปุ่น และเพื่อมอบเป็นเกียรติแก่นักวาดการ์ตูนทั่วโลก
ภายหลังกลับจากเดินทางไปรับมอบรางวัลที่แดนอาทิตย์อุทัยเมื่อไม่กี่วันก่อน “โกสินทร์ จีนสีคง” มีเรื่องเล่าบางเรื่องเกี่ยวกับผลงานชิ้นนี้ แนวคิด แรงบันดาลใจ ตลอดจนที่มาที่ไปของการ์ตูนระดับรางวัล และเชื่อเถอะว่า นับจากนี้ไป ชื่อของเขาจะหอมกรุ่นและคุ้นเคยในกลุ่มคนรักการ์ตูนอย่างแน่นอน…
ก่อนจะเขียนเรื่อง “แว่วกริ่งกังสดาล” คุณมีผลงานอะไรมาก่อนบ้าง?
มากมายหลายเรื่องครับ ส่วนใหญ่จะเป็นพวกการ์ตูนโปรโมตภาพยนตร์ที่ต้องทำงานร่วมกันเป็นทีมการ์ตูนไทยฯ เช่น ปิดเทอมใหญ่หัวใจว้าวุ่น, อนึ่งคิดถึงเป็นอย่างยิ่ง, รูมเมท, ห้าแพร่ง, ฯลฯ แต่ถ้าจะนับแบบที่เป็นงานเดี่ยวของตัวเองจริงๆ ก็มี Let’s Rock กับ Crossroad ครับ
การ์ตูนเรื่อง “แว่วกริ่งกังสดาล” เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร?
เกี่ยวกับมือกลองร็อกเกอร์หนุ่มน้อยชื่อขุนทอง ที่จู่ๆ ก็กลายเป็นคนไม่มีที่ซุกหัวนอนอย่างกะทันหัน อันเนื่องมาจากแม่ที่หย่ากับพ่อของเขานานแล้วนั้นกำลังจะแต่งงานใหม่กับมหาเศรษฐีที่ดูไบ และตัดสินใจขายบ้านทิ้งไป ไอ้ขุนทองจึงต้องระเห็จไปหาพ่อผู้เป็นครูสอนดนตรีไทยฝีมือฉกาจที่เกาะระฆัง แต่จะมาอยู่บ้านครูดนตรีไทยแล้วเล่นดนตรีร็อกมันก็กระไรอยู่ เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม ดังนั้น ร็อกเกอร์หนุ่มจึงต้องมาหัดเล่นระนาดเอก เรื่องราวสนุกๆ จึงเกิดขึ้น
อะไรคือแรงบันดาลใจในการเขียนการ์ตูนเรื่องนี้?
แรงบันดาลใจในการสร้างผลงานทุกเรื่องของผมนั้นมาจากเสียงดนตรีครับ อย่างก่อนหน้านี้ ผมชอบฟังแต่เพลงแนว Rock ก็เลยเขียนเรื่อง Let’s Rock!! ออกมา แต่พอเวลาผ่านไป เริ่มโตขึ้น ฟังเพลงหลากหลายแนวขึ้น จึงเขียนเรื่อง Crossroad ออกมา จนกระทั่งล่าสุดผมได้มาพบกับดนตรีไทย ผลลัพธ์ก็เลยออกมาอย่างที่เห็นนี่แหละครับ
คุณคิดว่าอะไรคือจุดเด่นของการ์ตูนเรื่องนี้ที่ทำให้ชนะใจกรรมการ?
ผมคิดว่าน่าจะเป็นเพราะบรรยากาศ วิถีชีวิต วัฒนธรรมแบบไทยๆ ที่สอดแทรกอยู่ในนั้น แบบว่ามันคงเป็นอะไรที่หาดูได้ยากในสายตาคนญี่ปุ่นเขาล่ะมั้งครับ
กระบวนการในการสร้างงานอย่าง “แว่วกริ่งกังสดาล” มีความยากง่ายอย่างไรบ้าง?
ความยากอยู่ที่การรีเสิร์ชข้อมูลครับ เพราะสำหรับผมแล้ว ดนตรีไทยเป็นอะไรที่ไม่ได้ข้องแวะด้วยบ่อยเหมือนดนตรีแนวอื่นๆ เพราะฉะนั้นจึงต้องเริ่มต้นทำความรู้จักกันใหม่ตั้งแต่ศูนย์เลยทีเดียว ไม่ว่าจะเรื่องเพลง, เครื่องดนตรี ไปจนถึงขนบประเพณีต่างๆ ซึ่งมันยังมีอะไรให้ผมต้องศึกษาเรียนรู้อีกมากมาย แต่ก็สนุกดีครับ
“แว่วกริ่งกังสดาล” น่าจะเข้าถึงกลุ่มผู้อ่านแนวไหนมากที่สุด เพราะอะไร?
คิดว่าน่าจะเข้าถึงทุกเพศทุกวัยนะครับเพราะว่ามันเป็นการ์ตูนแนวคอเมดี้
มีแพลนที่จะเขียนกี่เล่มจบ?
คงราวๆ 5-6 เล่มครับ
คิดว่าผู้อ่านจะได้รับอะไรจากการอ่านการ์ตูนเรื่องนี้?
ได้รับความสนุกสนานผสมผสานสาระความรู้เกี่ยวกับดนตรีไทยครับ และผมขอขอบคุณผู้อ่านทุกท่านที่เปิดใจยอมรับและให้การสนับสนุนการ์ตูนไทยครับ