ถ้าคุณติดตามข่าวการประกวดภาพยนตร์ในเทศกาลหนังเมืองคานส์ที่เพิ่งผ่านไปเมื่อไม่กี่วันก่อน คุณจะพบว่า นอกจากชมพู่-อารยา แล้ว ยังมีคนไทยอีกคนสองคนที่ได้มีโอกาสไปวางเท้าเหยียบย่างบนพรมแดงแห่งนั้นด้วย หนึ่งคนคือสาวสวยที่กำลังฮอตฮิตที่สุดคนหนึ่ง “ญาญ่า หญิง” แต่อีกคนหนึ่ง หลายคนอาจจะบอกว่า เขาเป็นใครมาจากไหน?
ถ้าคุณมีคำถามแบบนั้น ก็ไม่ผิดหรอก เพราะเราก็สงสัยแบบเดียวกัน ผู้ชายสูงวัย ดูคล้ายธรรมดาๆ หน้าตาบ้านๆ เดินเคียงคู่ไปกับหญิงงามอย่างญาญ่า หญิง เขามีบทบาทความสำคัญอะไรถึงเพียงนั้นหรือ?
ใช่, “ปู-วิทยา ปานศรีงาม” อาจไม่ใช่ดาราระดับซูเปอร์สตาร์ หรือดารารุ่นใหญ่ที่ค่อยๆ สร้างเนื้อสร้างตัวมาตั้งแต่วัยเยาว์และมีคนรู้จักไปทั่ว แต่เขา “เกิดมาแล้วใหญ่เลย” หมายถึง แจ้งเกิดมาในอายุอานามประมาณนี้เลย ในวัยเลยเลข 5 ผลงานของเขาอาจไม่มาก แต่ด้วยทักษะและฝีมือการแสดง บวกกับบุคลิกเฉพาะตัว กลายเป็นที่ต้องการของผู้กำกับชื่อดังเจ้าของรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเมืองคานส์เมื่อปีก่อน อย่าง “นิโคลัส เวนดิ้ง เรเฟิน” และปีนี้ เขาก็พา Only God Forgives เข้าไปประกาศตัวในงานพรมแดงที่เมืองคานส์ด้วย
ไม่ใช่ดาราใหญ่ แต่ไปไกลระดับสากล “ปู-วิทยา ปานศรีงาม” เป็นใครมาจากไหน บรรทัดถัดไป มีคำตอบ…
จู่ๆ ชื่อของ “วิทยา ปานศรีงาม” ก็ดังขึ้นมาในวงการ เขาเป็นใครมาจากไหน?
โดยส่วนตัวไม่ได้เดินทางสายงานบันเทิงมาก่อน เพียงแต่ว่าไปอยู่ต่างประเทศ ไปเรียนหนังสือปกติ กลับมาเมืองไทยก็ทำธุรกิจส่วนตัวอยู่พักหนึ่ง แล้วก็เมื่อประมาณ 18 ปีที่แล้ว เปิดโรงเรียนสอนบัลเลต์ เพิ่งจะหันเข้าสู่วงการได้เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา บังเอิญมีเพื่อนสนิทคนหนึ่งพบกันตอนไปสังสรรค์ ซึ่งเขารู้จักกับช่างภาพชาวออสเตรเลีย ซึ่งช่างภาพคนนี้เขาอยากทำหนังสั้นเกี่ยวกับคดีฆาตกรรม และต้องการหานักแสดงที่มีคาแรกเตอร์มาแสดงเป็นตำรวจสืบสวน ในห้องสืบสวนคดี ซึ่งหนังมีความยาว 8 นาที ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไรเขาเห็นผมเลยบอกว่า คุณพอจะมาเล่นเป็นตำรวจได้ไหม
เพราะคาแรกเตอร์ของเราเหมือนตำรวจ?
อาจจะเป็นในเรื่องของรูปร่างหน้าตาด้วยหรือเปล่า หรือว่าลักษณะท่าทาง ต้องบอกตามตรง บางครั้งไปเดินแถวพันธุ์ทิพย์ เขาเก็บแผงหนีเร็วมาก ผมสงสัยมาก (หัวเราะ) ว่าจะไปซื้อแผ่นการ์ตูนให้ลูกสักหน่อย
การได้ร่วมงานกับทีมหนังต่างประเทศ มีอะไรประทับใจเราบ้าง?
ถ้าเป็นเรื่องของการทำงานแน่นอนว่าทุกกองต้องมีการเตรียมตัวอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราเห็นมากไปกว่านั้นคือเราจะเห็นการวางแผน การจัดตารางเวลาการทำงาน จะค่อนข้างเที่ยงตรง แม่นยำ ไม่มาสาย ไม่ผิดนัดประมาณนั้น
แล้วโปรเจกต์ Only god Forgives เข้ามาถึงตัวเราตอนไหน?
เป็นเส้นทางที่ค่อนข้างจะยาวนานพอสมควร เรื่องที่น่าสนใจอยู่ตรงนี้ครับ ตอนที่ผมเริ่มเข้าสู่วงการก็วัยเกือบจะ 50 ปี ผมก็ไปบวช เริ่มจากการที่สึกออกมาก่อน พอสึกออกมาปุ๊บก็ได้แสดงภาพยนตร์ The Prince and me 4 ซึ่งศีรษะยังเป็นพระอยู่เลย และก็ได้มีการติดต่อจากคุณทอม วอลเลอร์ ผู้กำกับ “ศพไม่เงียบ” ให้รับบทเป็นพระ ซึ่งศีรษะก็ยังคงเป็นพระอยู่เหมือนเดิม จากนั้นประมาณ 4 ปีก็มีผู้กำกับอยากจะทำหนังเรื่อง Only god Forgives ปรากฎว่าพอส่งเทปแคสติ้งไป ผู้กำกับชอบ ด้วยคาแรกเตอร์อย่างที่บอก ว่าเขาต้องการตำรวจ ต้องการคนที่มีความลี้ลับ ความหลากหลายของคาแรกเตอร์ แต่ปรากฎว่าตอนนั้นเองผู้กำกับได้ไปทำภาพยนตร์เรื่อง Drive ก็เลยส่งข่าวมาว่า Only god Forgives ให้รอไปก่อนนะ
ภาพยนตร์เรื่อง Only god Forgives กับ Drive จะเป็นสไตล์เดียวกันไหม?
ผมขอบอกไว้ก่อนเลยว่าภาพยนตร์มีคอนเซ็ปต์ที่แตกต่างกันอยู่แล้ว เมื่อปี 2011 ผู้กำกับเรื่อง Drive ได้รางวัลจากเมืองคานส์ ยิ่งทำให้ Drive เป็นภาพยนตร์ที่มีคนติดตามอยู่ทั่วโลก ความกดดันเลยต้องเกิดกับผู้กำกับว่าจะกลับมาทำ Only god Forgives ต้องพยายามสรรหาคนที่เหมาะสมที่สุด หลังจากที่แคสต์ผ่านไปแล้ว 2 ปี แทบจะเหมือนต้องแคสต์ใหม่ คือเขาต้องทำให้ดีกว่า Drive
เราต้องเรียนรู้อะไรเพิ่มเติมหรือเปล่ากับการที่ต้องแสดงในหนังเรื่องนี้?
ฝึกซ้อมมวยครับ ซึ่งส่วนตัวเป็นนักกีฬาเคนโด เคนโดก็คือศิลปะการต่อสู้ด้วยดาบของญี่ปุ่น เป็นดาบไม้ แต่พอมาเป็นนักมวย มันคนละเรื่องกันเลยกับศิลปะการต่อสู้ที่เราเรียนมาตั้งนาน เพราะฉะนั้น สิ่งแรกเราต้องฟิตร่างกายของตัวเองเหมือนกับว่าเราเคยเป็นนักมวยมาก่อน ก็ต้องเข้าไปฝึก ก่อนช่วงใกล้ๆ แสดงก็จะเข้าไปซ้อมที่ค่ายของคุณสามารถ พยัคฆ์อรุณ
การเป็นนักเคนโดเกี่ยวกับการที่ได้รับบทนี้ไหม?
เกี่ยวอย่างมากเลย เพราะว่าตอนแรกที่ได้อ่านบท ยังแอบพูดในใจเลยว่าใช่ตัวเราหรือเปล่า เราสามารถจะเล่นมันได้ไหม เพราะว่าในเรื่องคาแรกเตอร์ที่ใช้ชื่อว่า “ช้าง” เขามีความเชื่อว่าเขาเป็นเทพ ถ้าบ้านเราจะเรียกว่ามีองค์ แล้วเทพองค์นี้จะเป็นเทพแห่งการลงโทษหรือการล้างแค้น แล้วต้องมีการลงโทษซึ่งจะมีอาวุธที่ใช้ในการลงโทษ ซึ่งผู้กำกับเขาก็ให้ความกรุณามาก เพราะรู้ว่าเราเล่นกีฬาที่ใช้ดาบ ก็ให้อาวุธนี้เป็นอาวุธดาบ ก็มาเข้าทางเราพอดี
แสดงว่าตอนแรกไม่ใช่ดาบ?
ไม่ใช่ดาบครับ เป็นอาวุธอย่างอื่น และในเรื่องนี้ค่อนข้างจะเป็นคาแรกเตอร์ที่ไม่ได้แสดงอารมณ์บนสีหน้าเท่าไหร่ จะต้องใช้อารมณ์ที่เกิดจากสายตาและพลังภายในมากๆ เลย พอเราได้ใช้ดาบหรืออาวุธประเภทนี้เราต้องใช้อารมณ์จากด้านในเยอะมาก เช่นเดียวกัน พอนำมาใช้กับภาพยนตร์เรื่องนี้ก็จะได้ถูกนำออกมาใช้ตลอดเวลา
ในมุมมองของคุณ ผู้กำกับนิโคลัส เวนดิ้ง เรเฟิน เป็นยังไง?
นิโคลัสเป็นผู้กำกับเดนมาร์กที่โตในนิวยอร์ก เป็นคนที่รักภาพยนตร์มาก รักในแนวที่ค่อนข้างจะเป็นประเภทแอกชัน ใช้ความรุนแรงบ้างพอสมควร แต่พอในเดนมาร์ก หนังเขาจะเป็นหนังประเภท Underground มุมมืดของสังคม ได้รับความนิยมมากในยุโรป และมีอยู่พักหนึ่งเขาได้ทำหนังชื่อว่า Bonson ได้ ทอม ฮาร์ดี้ มารับบท ซึ่งเปิดตัวทอมจนตอนนี้ทอมดังไปแล้ว ทำให้ผู้กำกับคนนี้กลายเป็นดังพลุแตกไปเลย ที่สำคัญที่สุดคือเขาสามารถปลุกอารมณ์นักแสดง ให้เชื่อหรือให้มีความมั่นใจในคาแรกเตอร์ของคนคนนั้น
ซึ่งในส่วนของผม เขาบอกว่าเล่นเป็นเทพ เขาก็พยายามมากล่อมเรา คุยให้เราฟังว่าเราเป็นเทพนะ เราต้องมีพลังตรงนี้นะ อะไรประมาณนี้ และวิธีการสอนเราก็ไม่ได้มีความฉุนเฉียวเกรี้ยวกราดเลย เราจะเคยได้ยินว่าบางทีผู้กำกับหลายๆ คนจะมีอารมณ์ขึ้นกันบ้าง แต่ผู้กำกับคนนี้เขาปรนนิบัติกับนักแสดงเหมือนกับว่าเป็นแผ่นทอง ค่อนข้างจะละเอียดอ่อน ให้ความอ่อนโยนอย่างมาก ซึ่งขัดจากหนังที่เราเห็นโดยสิ้นเชิง (หัวเราะ) ด้วยความที่ว่าเราถ่ายเทกเยอะมากสำหรับผู้กำกับคนนี้ 10 เทก 15 เทก ถือว่าเป็นเรื่องปกติ เขาจะบอกว่าดีแล้วเอาอีก ดีแล้วเอาอีก จนเราได้ยินคำว่าดีแล้ว เราก็นึกไปว่าอย่ามาหลอกฉันเลย เดี๋ยวก็ถ่ายอีก ก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ (หัวเราะ) แต่เราเข้าใจเขา เพราะเป็นวิธีการทำงานของเขา
เป็นอย่างนี้ทั้งเรื่อง?
ทั้งเรื่องครับ เป็นสโลแกนของผู้กำกับและเป็นสโลแกนของพวกเราที่แสดงทุกคนเลยว่า “It perfects, let's do a again” ดีแล้ว แต่เอาอีก (หัวเราะ)
Only god Forgives หนังเรื่องนี้เกี่ยวกับอะไร?
เป็นเรื่องเกี่ยวกับพี่น้องคู่หนึ่งซึ่งหนีคดีมาจากต่างประเทศ เขาสองคนเป็นลูกของมาเฟียหญิง ที่ค่อนข้างจะมีอิทธิพลอย่างมากในไมอามี ลูกคนหนึ่งไปก่อคดีฆาตกรรมขึ้นมา แทนที่เจ้าหน้าที่จะดำเนินการตามกฎหมาย ก็ใช้วิธีการเรียกเทพแห่งการลงโทษมาซึ่งรับบทโดยผมนี่แหละ โดยเราก็จะจัดการโดยการสังหารพี่ชายของตัวพระเอก จากนั้นก็เกิดการล้างแค้นกันขึ้น มีการจ้างวานให้ล้างแค้นกัน ฉากที่ได้เห็นก็จะเป็นการใช้ปืนกลเข้ามาสังหาร ซึ่งหลายๆ ฉากเราต้องทำให้เต็มที่ เพราะฉะนั้น ภาพที่ออกมาจะต้องสมจริง
มีฉากไหนที่ถือเป็นไฮไลต์และไม่อยากให้เราพลาด?
ฉากที่เป็นไฮไลต์เลยก็ฉากที่ผมประลองมวยไทยกับไรอัน กอสลิ่ง ซึ่งต้องชกจริง ถีบจริงเลย พยายามจะเลี่ยง จะเฉี่ยว หรือเป็นไปได้จะไม่ให้โดนกันเลย
เราอยากทราบว่ามุมมองเกี่ยวกับเมืองไทยในหนังเรื่องนี้เป็นอย่างไรบ้าง?
ต้องเข้าใจก่อนว่ามันเป็นเรื่องของความเป็นจริง ก็แค่เมืองไทยที่มีทั้งด้านบวกและลบ โตเกียว นิวยอร์ก ผมว่าทุกที่แหละครับ แน่นอนที่สุดว่าเรานำเสนอมุมหนึ่งแค่นั้นเอง เราไม่ได้กำลังบอกว่าทั้งหมดหรือทั้งสังคมเป็นแบบนั้น และแน่นอนที่สุดว่าเราก็ไม่ได้นำเสนอด้านที่เป็นโปสการ์ดอย่างเดียวเหมือนกัน (ทำนองว่าภาพสวยๆ มุมดีๆ) ไม่อย่างนั้นเราไปดูสารคดีไม่ดีกว่าเหรอ ส่วนนี้เป็นแค่อารมณ์ของหนังซึ่งต้องการให้คนมีส่วนร่วมและทำความเข้าใจว่า ปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันเกิดจากสังคมด้านมืดเหมือนกัน ปัญหายาเสพติด อาชญากรรม โสเภณี ต่างๆ เหล่านี้มันก็เป็นปํญหาของสังคม ซึ่งตรงนี้ก็เป็นส่วนที่เราอยากให้เกิดการรับรู้ รับทราบเช่นเดียวกัน ซึ่งผมมองแล้ว เขาไม่ได้จะทำให้คนมองภาพของประเทศเราเสียหายเลย
สำหรับคนไทย Only god Forgives ควรไปดูอะไร?
ผมว่าเราเคยเห็นหนังต่างประเทศหลายเรื่องที่ถ่ายในประเทศไทย ถ้าเราหวังจะดูโปสการ์ดไม่ใช่แน่ แต่ถ้าเราหวังจะดูศิลปะของหนังประเภทนี้ ที่ออกมาแล้วได้อรรถรสจริงๆ เป็นหนังซึ่งใช้คำง่ายๆ เลยว่า เท่ ผมเชื่อว่าหนังเรื่องนี้ไม่ต่างเลยกับหนังที่ใช้งบประมาณเป็นหลายร้อยล้านเหรียญทำ ไม่ว่าจะซูเปอร์ฮีโร่ประเภทไหนก็ตาม นี่ก็จะเป็นหนังซูเปร์ฮีโร่อีกแบบหนึ่ง เป็นซูเปอร์ฮีโร่ที่เป็นมนุษย์จริงๆ แล้วก็ภาพเอย เพลงประกอบเอย มันจะได้อารมณ์อีกแบบ แม้กระทั่งตัวอาร์ตไดเรกเตอร์ของ Drive ก็มาทำให้ เหมือนประมาณว่าเราได้พ่อครัวชุดเดิม แต่มาปรุงอาหารจานใหม่ให้กับคุณผู้ชม
นอกจาก Only god Forgives คุณจะมีผลงานใหม่อะไรอีกบ้าง?
เป็นงานที่กำลังเตรียมการอยู่ ก็คือหลังจากที่ความสำเร็จของ “ศพไม่เงียบ” อาจจะไม่ใช่เรื่องกำรี้กำไรสักเท่าไหร่ แต่ผลการตอบรับของกลุ่มผู้ชม แล้วเราก็ได้กลุ่มคนทั้งไทยและเทศ ซึ่งในต่างประเทศก็รอดูหนังที่ทางผู้กำกับก็คือคุณทอม วอลเลอร์ และผมร่วมกันสร้างในเรื่องต่อไป เรื่อง The Last Executioner เพชฌฆาตคนสุดท้าย จะเป็นเรื่องชีวิตจริงของคุณเชาวเรช จารุบุญ ซึ่งท่านเป็นเพชฌฆาตคนสุดท้ายของคุกบางขวางที่ใช้ปืนกลในการประหารชีวิตก่อนที่จะมีวิธีการฉีดยาประหารชีวิต ซึ่งจะเป็นเรื่องของท่านตั้งแต่วัยรุ่น ซึ่งตัวท่านเองมาจากการเป็นนักดนตรีอาชีพ ร้องเพลงตามค่ายทหารจีไอ จากนั้นด้วยวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ต้องดูแลครอบครัว ต้องดำเนินชีวิต ต้องปรับตัวเอง เลยเข้ารับราชการในกรมราชทัณฑ์ ในที่สุดชีวิตท่านก็ผันมาเป็นเพชฌฆาต โดยผมต้องเตรียมหาข้อมูล หาขั้นตอนการทำงานของตัวท่านเองตอนที่ท่านทำงานอยู่ที่คุกบางขวาง และพบปะกับครอบครัวของท่าน ซึ่งตัวท่านเองเพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อปีที่แล้วนี้เอง ต้องศึกษานิสัยใจคอ หรือว่าลักษณะท่าทางของท่านเป็นยังไง
หนังเรื่องเพชฌฆาตคนสุดท้ายมีแพลนยังไง?
ตอนนี้บทเราได้นักเขียนท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นคนอเมริกัน ซึ่งเขียนออกมาแล้วเป็นภาษาอังกฤษ และก็ต้องมีการแปล ส่วนผมก็ทำหน้าที่แปลและปรับบทให้เป็นภาษาไทย จากนั้นก็จะเตรียมเป็นพรีโปรดักชันสำหรับในการถ่ายทำซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าอาจจะก่อนสิ้นปีนี้ เราคงจะได้ถ่าย และถ้าเป็นไปได้เหมือนกันเราก็จะมีเทศกาลภาพยนตร์ที่รออยู่ ซึ่งเราหมายมั่นปั้นมือเหลือเกินว่าเราอยากจะเอาไปส่งเข้าประกวด
***บทสัมภาษณ์จากรายการ Viewfinder ช่องซูเปอร์บันเทิง***