ใครๆ ก็ต้องเคยผ่านคำถามอย่าง 'โตขึ้นอยากเป็นอะไร?' มาในชีวิตไม่น้อยกว่า 5 ครั้ง
อยากเป็นตำรวจ นักบิน กวี แอร์โฮสเตส และที่ยอดฮิตติดปากเด็กๆ ไม่ว่าวันเวลาจะเคลื่อนผ่านมากี่ยุคกี่สมัยจริงๆ นั่นก็คือ 'หมอ'
อาชีพอันดับหนึ่งที่ใครๆ ก็ใฝ่ฝัน เป็นอาชีพที่ดูดีในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือนที่สามารถเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้ สวัสดิการต่างๆ ที่ดีกว่าอาชีพไหนๆ ภาพลักษณ์ที่ยืนอยู่เหนือยอดพีระมิดในโลกของผู้ใหญ่ ที่ถึงขั้นถูกบางสังคม-บางยุคสมัยยกให้เป็นเทพ เป็นเทวดา ด้วยความรู้ความสามารถที่สามารถช่วยคนอื่นได้ เป็นอาชีพเดียวที่ได้อภิสิทธิ์ให้ยืนอยู่บนขอบเหวแห่งความตาย เพื่อยื้อยุดคนที่ใกล้จะพลาดตกขอบให้ฟื้นตื่นกลับมามีชีวิต
ทว่าหากมองอีกด้าน การถูกยกย่องให้กลายเป็นภาพแทนของอาชีพที่แตะต้องไม่ได้ ก็กลับทำให้ผู้ป่วยทั่วไปไม่กล้าเอ่ยปากคุยกับหมอผู้เปรียบเสมือนเทวดาได้อย่างถนัดปากนัก บางคนเขินอายเพราะคิดว่าตัวเองมีสถานะต่ำกว่า บางคนไม่กล้าบอกอาการเชิงลึกหากต้องนั่งคุยกันต่อหน้า
แต่แล้ว ด้วยการเข้ามาของอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะวัฒนธรรมการสร้างแฟนเพจผ่านเว็บไซต์อย่างเฟซบุ๊ก ก็ได้ทำให้ปัญหาเหล่านั้นเริ่มคลี่คลาย เมื่อหมอเริ่มถูกเหวี่ยงจากตำแหน่งเทวดาที่ยืนไม่ติดพื้น กลับมาเป็นมนุษย์ผู้มีชีวิตทั้งด้านดีและร้ายเหมือนคนเดินดินทั่วไป ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเพจยอดไลค์เกือบสองแสนอย่าง 'บันทึกหมอโหด' บทบันทึกการแพทย์แบบโหดๆ ฮาๆ แฝงความรู้ (และความอาฆาต–ฮา) จากคุณหมอผู้ปิดซ่อนตัวตน เพื่อที่จะได้บอกเล่าเรื่องที่คล้ายจะเล่าไม่ได้ออกมาได้อย่างถนัดปาก
“หมอก็เป็นอาชีพหนึ่ง ไม่ได้สูงส่งกว่าใคร เป็นมนุษย์ธรรมดา ไม่จำเป็นต้องเชิดชูมากมาย โอเค เขาช่วยเหลือเรา แต่นั่นก็คือหน้าที่ของเขาที่ต้องช่วย เขาทำงานนี้ เขาก็ได้เงินตอบแทน เราต้องมองทั้งสองด้าน หมอให้เกียรติคนไข้ คนไข้ให้เกียรติหมอ เราให้เกียรติซึ่งกันและกัน”
จากเด็กน้อยที่หลงใหลในการ์ตูนที่มีคุณหมอเป็นตัวเอกอย่าง Dr. K และ Black Jack สู่การตัดสินใจสอบเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยในสายวิชาด้านการแพทย์ จบออกมาเป็นแพทย์ในภูมิภาคที่ตนถือกำเนิดมา ก่อนตัดสินใจอีกครั้ง ลาออกจากโรงพยาบาลเพื่อมาเปิดคลินิกของตัวเอง ด้วยคิดว่าระบบราชการไม่เหมาะกับลักษณะนิสัยของตน แต่ก็ยังนำประสบการณ์ที่เคยพบเจอมาเล่าในท่วงทำนองขำๆ ปนความรู้ พ้นห่างจากศัพท์แสงเชิงวิชาการ เพื่อทำให้คนทั่วไปเข้าใจได้ง่ายขึ้น
“ผมมองว่าการเข้ามาของอินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องดี เพราะเมื่อก่อนต้องยอมรับว่าหมอเป็นอาชีพที่เข้าถึงยาก ทั้งเรื่องเทคโนโลยี คมนาคม และความเชื่อ ที่มองหมอเหมือนเทพเจ้า ไม่สามารถเอื้อมได้ถึง แต่การเปิดเพจ การไม่เปิดเผยตัวตนทำให้คนกล้าเข้ามาถาม กล้าแสดงออก กล้ามาพูดคุยด้วย เช่น ผู้หญิงบางคนที่มาปรึกษาเรา เขาไม่กล้าเอาเรื่องนี้ไปปรึกษาใคร ไม่กล้าแม้แต่จะไปหาหมอ แต่เอามาคุยกับเราทางเพจในเฟซบุ๊กได้ นั่นคือข้อดี”
แต่เรื่องราวในโลกนี้ ไม่ว่าอย่างไรมันก็เหมือนเหรียญที่ย่อมต้องมีสองด้านเสมอ
“แต่ข้อเสียคือ การให้ข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตทำให้เราไม่สามารถลงรายละเอียดได้มากนัก การคุยผ่านเพจเป็นเหมือนแค่การซักประวัติ สิ่งสำคัญจริงๆ คือการตรวจร่างกาย การวินิจฉัยโรคอะไรสักโรคต้องระวังเรื่องการให้ข้อมูลค่อนข้างเยอะ อย่างมากการคุยผ่านอินเทอร์เน็ตเราก็ทำได้แค่ให้คำแนะนำ ซึ่งจุดประสงค์ตอนแรกก็คือ เพื่อบอกเล่าว่ามีกรณีอย่างนี้เกิดขึ้นในโรงพยาบาล ในแง่มุมที่คนทั่วไปซึ่งไม่ได้ทำงานในสาขานี้ไม่ค่อยทราบ”
และอีกเรื่องที่แอดมินเพจบันทึกหมอโหดให้ความสนใจ นั่นคือเรื่องของการให้ข้อมูลทางการแพทย์แบบผิดๆ ผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งถูกแชร์มาตั้งแต่ยุคฟอร์เวิร์ดเมลเฟื่องฟู และยังดำรงอยู่จนปัจจุบัน โดยเขาหวังว่าเพจของเขาจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประชาชนทั่วไปมีความรู้ที่ถูกต้องมากขึ้น
“ความรู้ทางการแพทย์ผิดๆ เดี๋ยวนี้มีเยอะมากเลย เช่น เรื่องโซดาไฟทำให้ตาย หรือเรื่องอาหารเสริมต่างๆ ที่ช่วงนี้มีค่อนข้างมากและมีการโฆษณาเกินจริง เราก็จะพยายามเอามาลง เพราะผมมองว่าเรื่องพวกนี้เป็นปัญหา เช่น กินน้ำมะนาวรักษามะเร็งได้ ซึ่งไม่จริง–แต่เอาจริงๆ ถ้าคนทั่วไปจะทำตามบทความพวกนี้ แต่ยังไปรักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบันตามปกติ ผมก็ไม่ซีเรียสอะไร แต่ถ้ามีบางคนที่รักษาด้วยน้ำมะนาวจริงๆ จังๆ อันนี้คือไม่ไหว ไม่ได้ โดยส่วนตัวผมคิดว่าเราต้องใช้วิจารณญาณนะ เพราะความรู้ทางการแพทย์เป็นความรู้เฉพาะทาง และต้องใช้การศึกษาค่อนข้างเยอะ“
และเมื่อเราถามว่า คุณสมบัติของหมอที่ดีในยุคปัจจุบัน ในความคิดของหมอผู้บอกเล่าเรื่องราวแบบโหดๆ อย่างแอดมินควรเป็นอย่างไร เขาก็บอกกับเราอย่างตรงไปตรงมาว่า
“พูดยากนะ เพราะผมก็ไม่ใช่หมอที่ดีเท่าไหร่ (หัวเราะ) แต่ผมคิดว่าเรื่องความรู้เป็นเรื่องจำเป็นมาก แต่อีกอย่างที่สำคัญกว่าคือเรื่องความรับผิดชอบ เพราะจากประสบการณ์ หรือเท่าที่ได้ยินมาจากเพื่อนๆ หมอ ความรับผิดชอบของหมอในปัจจุบันดูเหมือนจะน้อยลงเรื่อยๆ และนี่คือสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาระหว่างหมอกับคนไข้ เช่น ตามตัวหมอมา แต่หมอไม่มาดูคนไข้ เนื่องจากจำนวนคนไข้ที่มีมากมายมหาศาล ทำให้ไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง บางเคสเลยเกิดการลัดขั้นตอนอะไรบางอย่างขึ้น เช่น ใช้สูตรสำเร็จในการรักษา ซึ่งผมมองว่าในบางกรณีถ้าเกิดความผิดพลาดขึ้นมา บางอย่างมันไม่สามารถย้อนกลับมาแก้ไขได้ และตรงนี้จะทำให้เกิดปัญหาทั้งหมอและคนไข้แน่ๆ”
ส่วนเด็กๆ ที่ยังอยู่ในวัยที่กำลังตัดสินใจเลือกสาขาวิชาชีพเพื่อนำพาตัวเองก้าวไปสู่สิ่งที่ตัวเองใฝ่ฝันในอนาคต คุณหมอของเราก็ได้แสดงความคิดทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า
“ใครที่อยากเป็นหมอ ผมคิดว่าเขามีสิทธิ์ที่จะลองนะ ไม่ว่าจะโง่หรือฉลาด ไม่ว่าคุณจบมหาวิทยาลัยไหน คุณก็เป็นหมอได้เหมือนกัน แต่เมื่อมาเป็น คุณจะชอบหรือไม่ชอบนั่นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะงานสายนี้มันหนักพอสมควร จะอดทนอยู่ต่อไป หรือจะเปลี่ยนสายก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่อยากให้คิดดีๆ สักนิดหนึ่งก่อน เพราะเพื่อนผมหลายคนที่มาเป็นหมอเพราะพ่อแม่ผู้ปกครองผลักดัน แต่สุดท้ายไม่มีความสุข ไม่ใช่ชีวิตที่ตัวเองเลือกเอง เขาก็เดินจากไป”
นั่นล่ะ แม้ว่าเราจะเป็นแค่มนุษย์คนหนึ่งที่ไม่ใช่เทวดามาจากสวรรค์ชั้นไหน แต่ถึงอย่างไร เราก็ย่อมต้องเลือกหนทางเดินที่เหมาะสมให้แก่ตัวเอง
เรื่อง : ฆนาธร ขาวสนิท
ภาพ : บันทึกหมอโหด