กองหน้าอันดับหนึ่งและเป็นความหวังของไทย ในการคว้าแชมป์เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2016 มุ้ย-ธีรศิลป์ แดงดา เพิ่งเหมาสองประตูในเกมทีมชาติไทยเอาชนะทีมชาติเมียนมา 2-0 ในศึกเอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ รอบรองชนะเลิศ นัดแรก และนำโด่งดาวซัลโวอยู่ในขณะนี้
‘เทพมุ้ย’ เคยมีโอกาสไปร่วมฝึกซ้อมกับทีมดังจากลีกอังกฤษอย่าง ‘แมนเชสเตอร์ซิตี้’ เคยโดนเรียกตัวให้ไปทดสอบฝีเท้ากับยอดทีมจากสเปนอย่าง ‘แอตเลติโก มาดริด’ และเคยบินลัดฟ้าไปค้าแข้งในลาลีกาลีกของสเปนกับสโมสร ‘อัลเมเรีย’
เขาถูกยกให้เป็นความหวัง ไม่ใช่เพราะจากฝีเท้าฉกาจฉกรรจ์ แต่เพราะเขาไม่ได้คิดถึงแค่ตัวเอง หากคิดถึงภาพรวม โดยการพยายามแปรตัวเองให้กลายเป็นแรงบันดาลใจ เพื่อให้นักฟุตบอลด้วยกันมีกำลังใจในการพัฒนาฝีเท้ามากขึ้น
ด้วยวัยหนุ่มเช่นนี้ เขามักพูดอยู่เสมอว่า “ถ้าคุณเก่งพอ คุณก็แก่พอ” ใช่! นั่นอาจรวมถึงวงการฟุตบอลไทยที่กำลังอยู่ในช่วงกลับมาคึกคัก
และหาก ‘คุณเก่งพอ’ มันก็คงไม่ใช่เรื่องยากกระมังที่จะทำให้คุณ ‘แกร่งพอ’ เพื่อสอดแทรกเข้าไปในมหกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติอย่างฟุตบอลโลกได้ในสักวัน
ในสายตาของมุ้ย ฟุตบอลทีมชาติไทยตอนนี้อยู่ในระดับไหน?
ผมเป็นนักฟุตบอลคนหนึ่ง ผมไม่สามารถพูดอะไรได้มากเหมือนกัน หน้าที่ของผมคือเตะฟุตบอล ผมมีโอกาสได้รับใช้ชาติ ผมทำเต็มที่
สำหรับไทยลีกที่เริ่มมาบูมในช่วงปีหลังๆ มุ้ยได้เห็นพัฒนาการอะไรบ้าง?
มันมีการแข่งขันที่สูงมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างแต่ก่อนคนที่อยู่ข้างบน คนที่เก่งอยู่แล้ว ก็จะไม่ค่อยมีความมุ่งมั่น ไม่ค่อยดูแลตัวเอง เพราะคนที่เป็นสำรองก็ไม่สามารถมาแทนคนที่เก่งได้ ทุกวันนี้คนที่เก่งอยู่เฉยๆ ไม่ได้ เพราะอัตราการแข่งขันสูง มีคนต้องการไปอยู่ในตำแหน่งนั้นเยอะ คนที่เก่งอยู่แล้วก็ยังต้องพัฒนาตัวเอง เหมือนเป็นการยกระดับฟุตบอลไทยมากขึ้น แล้วผมเห็นมาตั้งแต่เด็กไง ณ ตอนนี้ที่เป็นอยู่โอเคแล้วแหละ แต่ไอ้สิ่งที่ต้องทำก็คือ ถ้าเรามีรากฐานทีมเยาวชนที่ดี น่าจะโอเคมากกว่าเดิม คือแต่ละทีมมีทีมเยาวชน แต่ผมคิดว่าเด็กทุกคนเขาต้องการแมตช์การแข่งขัน ไม่ใช่แค่ซ้อมอย่างเดียว ลีกสำรองเราก็ไม่มี เรามีแค่ลีกอาชีพอย่างเดียว ถ้ามี เยาวชนจะมีการแข่งขัน มีเกมให้เล่นในทุกๆ สัปดาห์
จากการที่มุ้ยได้ไปเห็นฟุตบอลลีกในยุโรปอย่างอังกฤษ หรือสเปนมาแล้ว คิดว่าไทยลีกอยู่ระดับไหนของเขา?
ผมว่าก็ยังมีความต่างอยู่พอสมควร คืออย่างของเรา เรามองว่าฟุตบอลเป็นกีฬา เป็นการแข่งขัน แต่อย่างที่ยุโรปเขามีมานาน มันไม่ใช่กีฬาอย่างเดียวอีกแล้ว มันกลายเป็นวัฒนธรรรมของเขา คือเสาร์อาทิตย์ ถ้ามองดู จะเห็นพ่อแม่จูงลูกไปสนามบอล ไปดูบอล ที่ไทยเพิ่งจะเริ่มเห็นน่ะ แล้วเรายังไม่รู้ว่าจะเห็นแบบนี้ไปอีกนานเท่าไหร่ จะนานเท่าเขาหรือเปล่า แต่อย่างอังกฤษ อย่างสเปน มันเป็นวัฒนธรรม เขาเชียร์เหมือนกับว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่เขาเชื่อ ทีมจะเป็นอย่างไรเขาก็เชียร์ เล่นอยู่ลีกล่าง จะแพ้ไม่ได้แชมป์ เขาก็จะเชียร์ในนัดข้างหน้า แต่ของเรายังไม่ถึงขนาดนั้น พอทีมผลงานไม่ดีคนก็จะเริ่มน้อยแล้ว เริ่มไม่หวังผลแล้ว ที่โน่นเขาเชียร์โดยไม่สนใจว่าทีมจะแพ้หรือชนะ มันคือสิ่งหนึ่งที่เขาต้องทำ เป็นระบบต่อๆ กันมา เขาทำมานานแล้ว เป็นวัฏจักรที่วนอยู่ในตัว
เล่นฟุตบอลมาตั้งแต่เด็ก จริงๆ แล้วจุดเริ่มต้นที่ทำให้รู้จักกีฬาชนิดนี้จนกลายมาเป็นอาชีพที่ใช้ทำมาหากินคืออะไร?
พ่อผมเป็นคนที่ชอบฟุตบอล ชอบนี่น่าจะเป็นรักจนเกือบๆ บ้า คือไม่ใช่คนที่เล่นฟุตบอลเก่ง แต่ชอบที่จะเล่นฟุตบอล ชอบไปเตะฟุตบอลทุกเย็น พ่อผมเป็นทหารอากาศ พ่อก็จะเล่าให้ฟังว่าตอนเด็กๆ ปู่ไม่ให้ไปเล่นบอล แต่พ่อก็หนีออกไป พอกลับมาจะกินข้าวเย็นก็กินไม่ได้แล้ว เพราะพ่อกลับมาดึก ต้องนอนโดยที่หิวข้าว (หัวเราะ) อันนี้คือเรื่องที่พ่อเล่าให้ฟัง ผมก็คิดว่า โห ตั้งแต่เด็กเลยเหรอ ซึ่ง ณ ตอนนั้นยังมองไม่เห็นว่าฟุตบอลสามารถเป็นอาชีพได้ ผมฟังแล้วเก็บไว้ในใจ แล้วก็พ่อนี่แหละครับส่งเสริมให้เล่นฟุตบอล เวลาพ่อไปซ้อม หรือเวลาพ่อไปเตะฟุตบอล ผมจะตามพ่อไป ตอนนั้นเรายังไม่ได้ชอบ หรือไม่ได้รู้เรื่องเกี่ยวกับฟุตบอล จะไปนั่งหลับบ้าง ไปนั่งดูบ้าง บางทีโดนเพื่อนพ่อแกล้งบ้าง เตะบอลอัด เรานอนๆ อยู่ก็มาปลุกให้เราตกใจ คือด้วยความที่เราเป็นเด็ก เรายังไม่รู้หรอกว่ามันเป็นอย่างไร แต่พอโตขึ้นมาสักระยะหนึ่ง ประมาณเจ็ดขวบพ่อเริ่มสอนแล้ว ซึ่ง ณ ตอนนั้นต้องบอกว่าไม่ได้ชอบฟุตบอล ด้วยความที่เราเป็นเด็ก ความคิดเด็กก็คือตอนเย็นทำไมเราต้องมาเตะฟุตบอล มาสนามฟุตบอล ซึ่งไม่มีเด็กรุ่นเดียวกันกับเรามาสนามฟุตบอล เขาเลิกเรียนกันเขาก็ไปทำอย่างอื่น แล้วผมไม่เคยรู้เลยว่าเขาไปทำอะไรกันบ้าง เพราะเราอยู่สนามฟุตบอลทุกวัน พอเราไป เวลาพ่อเขาลงเล่นเป็นทีมกันในสนาม เราก็จะต้องนั่งอยู่เฉยๆ โดยที่มีบอลลูกหนึ่ง ซึ่งเราไม่รู้ว่าจะทำอะไร เพราะเราไม่สามารถไปเล่นกับผู้ใหญ่ได้ มันทำให้รู้สึกว่าเรามาทำไม เหมือนมันไม่ใช่ที่ของเด็ก มีแต่ผู้ใหญ่มาเตะกัน แต่พ่อคอยบังคับตลอด แบบเลิกเรียนต้องไปสนามนะ เราก็ไป บางทีจะมีผู้ใหญ่มาเตะกับเราบ้างในตอนที่เขายังไม่ได้ลงเล่นกัน
พอโตมาสักระยะหนึ่งเริ่มมีเพื่อน เย็นๆ เขาจะมาเตะบอลเหมือนกัน มีรุ่นโตกว่าเราหน่อย ทำให้เริ่มสนุก เหมือนเรามีกลุ่มของเรา มันก็ทำให้โอเค หนึ่ง-มีเพื่อน เหมือนเราเริ่มเข้าถึงฟุตบอลแล้วว่าคนที่เขารักฟุตบอลเขารู้สึกอย่างไร มันรู้สึกสนุก มีมิตรภาพเกิดขึ้น รู้สึกได้เจอผู้คนมากมาย พ่อจะคอยบอกว่าให้ไปทุกวัน เราก็ไปๆๆ จนถึงวันหนึ่งพ่อจะไม่ได้บังคับแล้วว่า เฮ้ย วันนี้ต้องไปสนามฟุตบอลนะ พอวันหนึ่งเราไม่รู้ว่าเราจะทำอะไร เพราะว่าเราไปเกือบทุกวันอยู่แล้ว เราจะเริ่มไปสนามเอง มันจะค่อยๆ ซึม โดยมีพ่อกับแม่คอยสนับสนุน
ตอนเด็กๆ ได้ฉุกคิดหรือยังว่า กีฬาฟุตบอลมันสามารถเป็นอาชีพได้?
ไม่เคยคิดครับ เตะกับพ่ออยู่สองสามคน ไม่สามารถรวมเป็นทีมได้ เล่นกันเฉพาะแค่เด็กสี่ห้าคนเอง ไม่สามารถรวมเป็นทีมได้ ไม่มีแมตช์แข่งขัน จนวันหนึ่งมีเด็กๆ แถวๆ บ้าน แถวๆ ดอนเมืองมารวมตัวกัน เขามาเตะบอลทุกวันๆ วันหนึ่งพวกผู้ปกครองเขาเห็นว่า เออ มันมีเด็กเยอะนะ เรามารวมกลุ่มกันไหม มาสอนเตะบอลกัน ผู้ปกครองเขาช่วยกันซื้อลูกบอล ซื้ออุปกรณ์อะไรต่างๆ ซึ่งก็ไม่ได้เยอะมาก โดยที่จะให้เด็กมาเล่นบอลเพื่อให้ห่างไกลจากอย่างอื่นที่ไม่มีประโยชน์ พ่อผมก็จะเป็นคนสอน
แล้วเริ่มต้นสู่เส้นทางของนักฟุตบอลอาชีพได้อย่างไร?
พอโตมา พอจบ ป.6 ผมยังเล่นบอลอยู่แถวบ้าน ตอนนั้นรวมเป็นทีมได้แล้ว รวมกลุ่มกันไปแข่งที่อื่นบ้าง จนจบ ป.6 สมัยนั้นนักฟุตบอลจะมีโควตาตามโรงเรียนต่างๆ ซึ่งไม่ต้องจ่ายค่าเทอม ผมลองไปคัดดู ตอน ม.1 เลยได้เข้าไปเรียนอัสสัมชัญธนบุรี เหมือนเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ เหมือนกัน พอไปอยู่ตรงนั้น ก็จะมีคนที่เริ่มจะไม่ได้เตะฟุตบอลเล่นๆ แล้ว เริ่มจริงจังมากขึ้น เพราะทางโรงเรียนมีโควตา มีค่าดูแล เริ่มเจอเพื่อนที่มีความคิดเหมือนกัน ผมอยู่อัสสัมชัญธนบุรีตั้งแต่ ม.1 จนถึง ม.6 ตอนนั้นแข่งฟุตบอลนักเรียน
ตอนนั้นเก่งหรือยัง?
ยัง ยังไม่เก่ง (หัวเราะ) คือในนามโรงเรียนก็เป็นตัวจริง แต่พอเป็นทีมชาติก็จะมีรุ่น 14 ปี 16 ปี เราติดบ้างไม่ติดบ้าง ยังไม่ได้เก่งอะไรมากมาย พอจบ ม.6 มีแข่งฟุตบอลทีมชาติ ตอนนั้นเป็นปรีโอลิมปิก พอจบปรีโอลิมปิกจะมีรายการเอเชียนคัพตอนปี 2007 เป็นชิงแชมป์เอเชียของฟุตบอล ตอนนั้นผมได้ไปเก็บตัวทีมชาติ โอ้โห มีพี่ซิโก้ (เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง), พี่แบน (ตะวัน หรือธชตวัน ศรีปาน) เราเป็นเด็กที่มีโอกาส ตอนนั้นยังไม่ได้ตัดตัว ไปกันประมาณ 20-30 คน ไปเก็บตัวก่อนแข่ง แล้วค่อยกลับมาตัดตัว และตอนนั้นเป็นจังหวะคาบเกี่ยวกับช่วงที่กำลังจะเข้ามหาวิทยาลัยพอดี เป็นช่วงที่พอดีกันเลย คือถ้าผมเลือกเรียน ผมจะไม่ได้ไปเล่นบอล ถ้าเล่นบอล ก็ไม่ได้เรียน เราก็ตัดสินลองดู ไปเก็บตัวกับชุดใหญ่ ไปเยอรมันเดือนหนึ่ง ผมว่านี่คือจุดเปลี่ยน และตอนนั้นผมไม่ได้สนใจเลยด้วยว่าจะต้องกลับมาเรียนหรือเปล่า พอกลับมา นั่นคือครั้งแรกที่ผมมีชื่อติดทีมชาติชุดใหญ่ และมันเป็นรายการที่ใหญ่มากๆ มันเป็นความรู้สึกที่ผมบอกไม่ถูกน่ะ มันดีใจ ไม่เชื่อว่าจะเกิดขึ้น เป็นจุดเริ่มต้นแรกๆ แถมยังติดทีมชาติชุดใหญ่ด้วย พอได้เล่นรายการนี้เรื่องเรียนผมก็ดาวน์ลงไปเลย เริ่มไม่ได้สนใจมากนัก
ไม่ได้คิดว่าเราเสียโอกาสทางการเรียน?
ผมไม่ได้คิดว่าจำเป็นต้องเรียน คือผมเชื่อว่า โอเค ถ้าผมไม่ได้เตะบอลแล้ว ผมยังสามารถกลับไปเรียนได้ แต่ถ้าเกิดอายุ 30 ผมเรียนจบ ถึงตอนนั้นผมไม่สามารถจะกลับมาเล่นฟุตบอลได้แล้ว ซึ่งคุณพ่อคุณแม่คอยสนับสนุนตั้งแต่ตอนเรียนแล้วว่า ไม่จำเป็นต้องผ่านหมดทุกวิชา คือถ้าตกก็ซ่อม แต่ขอให้มันจบ ผมตกเทอมละ 5-6 ตัว (หัวเราะ) โอเค พอเป็นแบบนี้ เรารู้สึกว่าพ่อกับแม่สนับสนุนเราตลอด เวลาเราเรียนเราไม่ได้จริงจังน่ะ ตกก็ซ่อม พ่อไม่ได้คาดหวังว่าต้องเรียนได้เกรดเท่านี้ๆ พอเป็นแบบนี้ผมมีเวลา มีสมาธิให้ฟุตบอลมากขึ้นกว่าเดิม
พอจบเอเชียนคัพปุ๊บ วงการฟุตบอลของไทยเริ่มจะกลับมาบูมแล้ว มีคนมาสนใจมากขึ้น ผมคิดว่ามันเป็นจังหวะชีวิตที่พอดีมากๆ เพราะมีนักฟุตบอลรุ่นพี่ผมหลายคนที่เก่งกว่าผม ซึ่งพอเล่นบอลแล้วมันยังไม่มีอาชีพที่มารองรับ เขาก็เลือกไปเรียน เลยทำให้เรื่องฟุตบอลดาวน์ลงไป ของผมเรื่องเรียนน่ะดาวน์ลง แต่ผมเลือกฟุตบอล เลยทำให้ผมมีสมาธิในเรื่องฟุตบอลมากกว่า เป็นช่วงต่อเนื่องพอดี ผม 18-19 กำลังจะเริ่มเรียน แต่ไม่ได้เรียน มาเล่นฟุตบอล แต่บางคนแวะไปเรียน 2-3 ปี มันก็ขาด ไม่ต่อเนื่อง เป็นจังหวะชีวิตที่โชคดีของผม
จริงๆ แล้วในปัจจุบันอาชีพนักฟุตบอลในบ้านเรามั่นคงแค่ไหน?
ณ ตอนนี้ ผมว่ามันเป็นอาชีพสายกีฬาอาชีพหนึ่งที่น่าสนใจพอสมควร มีการแข่งขันกันที่สูงมาก นักฟุตบอลที่อยู่ทีมชุดใหญ่แล้ว เราก็จะเห็นว่ามีเยาวชนอีกหลายๆ คนเลยที่พร้อมจะขึ้นมาชุดใหญ่ ตัวเลือกในทีมชาติก็มีมากขึ้น ผมว่าเป็นเรื่องดีที่มีนักเตะใหม่ๆ ขึ้นมา มีนักเตะรุ่นน้อง และผมคิดว่าหลายๆ คนก็เชื่อว่ามันอาจไม่ได้ยั่งยืน เราอาจจะไม่ได้เตะฟุตบอลเป็น 20 ปี แต่ว่ามันก็เป็นต้นทุนที่ดี คือตอนนี้มันก็ได้รับเงินตอบแทนที่สูง น่าจะเอาตรงนี้ไปต่อยอด ไปทำอย่างอื่นได้ ความคิดผมก็คือ ถ้าผมเป็นพนักงานบริษัท ผมต้องใช้เวลา 30 ปีกว่าจะได้ล้านหนึ่ง แต่ถ้าเป็นนักฟุตบอลอาจจะใช้เวลา 10 ปี แล้วเงินล้านนั้นเราสามารถเอาไปต่อยอดทำอย่างอื่นได้ เพียงแต่ว่าเราทำงานหนักในช่วงเวลาที่สั้นกว่าแค่นั้นเอง
สำหรับมุ้ย อายุของอาชีพนักฟุตบอลที่สั้นไม่ได้เป็นปัญหา?
ไม่ได้เป็นปัญหา นักฟุตบอลหลายๆ คนบางทีถ้าเขาเลือกไปเรียน บางทีมันต้องรอจนกว่าจบปริญญาตรี 24-25 ถึงจะเริ่มมีเงินเดือน แต่นักฟุตบอลประมาณ 18-19 ก็มีเงินเดือนที่สูงแล้ว ถ้ามีความสามารถจริงๆ จะมีรายได้ที่สูง แต่ก็ต้องทำงานหนักกว่าคนอื่น
ทำงานหนักที่ว่าคือทำงานหนักอย่างไร อย่างบางคน ถ้ามีพรสวรรค์อยู่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องทำงานหนักมากหรือเปล่า?
สำหรับผม พรสวรรค์กับพรแสวงต้องมาพร้อมกัน ในความคิดผม ถ้าให้แปบอลเหมือนกัน คนที่มีพรสวรรค์น่าจะใช้เวลาเรียนรู้ได้เร็วกว่าคนที่ไม่มีพรสวรรค์ แต่ถ้าคุณไม่มีพรสวรรค์คุณก็ใช้พรแสวง เพียงแต่ว่าคุณต้องใช้เวลา แต่ถ้ามีทั้งคู่ มันจะเป็นการพัฒนาที่ดีมาก พรสวรรค์อย่างเดียวก็ไม่ได้สำหรับฟุตบอล ณ ตอนนี้ มันไม่ใช่แค่ใช้ความสามารถอย่างเดียว มันต้องใช้พละกำลัง ต้องใช้แรง ถ้าคุณทำงานหนักกว่า คุณก็จะเหนือกว่าคนอื่น และความเป็นทีมเวิร์กก็สำคัญเหมือนกัน คือถ้าทำงานหนักคนเดียวเราก็สามารถเก่งกว่าคนอื่นได้ แต่ว่าถ้าเราทำงานหนักทั้งทีม เราก็จะเป็นทีมที่แข็งแกร่งทีมหนึ่ง
ถ้าได้เป็นผู้จัดการทีมฟุตบอลสักทีม หากได้ซื้อตัวนักเตะ จะซื้อนักเตะที่มีลักษณะอย่างไร?
อย่างหนึ่งที่ต้องมีก็คือ หนึ่ง-ทัศนคติ ถ้ามีทัศนคติต่อฟุตบอล เราจะไม่ปิดกั้นตัวเอง เราจะเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ตลอด มีนักฟุตบอลหลายๆ คนที่เล่นแบบนี้ แล้วโค้ชต้องการให้เราเล่นอีกแบบหนึ่ง เราก็จะปิดกั้นว่าจะไม่ทำ กูทำไม่ได้ แต่ไม่เคยลองทำในสิ่งใหม่เลย นั่นแหละ ผมว่ามันเป็นทัศนคติที่ปิดกั้นตัวเอง คือถ้าเราเล่นของเราได้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่โค้ชให้ทำมันเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ซึ่งถ้าเรามีทัศนคติที่ดี เราจะสามารถลองซ้อมอีกแบบหนึ่งก็ได้ เพราะแบบเดิมเราทำได้อยู่แล้ว ถ้าเราทำได้อีกแบบหนึ่ง เราก็จะมีสองแบบในตัวเรา
สอง-น่าจะเป็นวินัย ทั้งในสนามและนอกสนาม ในสนามต้องเชื่อฟังโค้ช เล่นตามแท็กติก ส่วนนอกสนามก็ดูแลตัวเอง พักผ่อน กินอาหารตรงเวลา ซึ่งถ้าเรามีวินัยนอกสนาม มันจะส่งผลในสนามด้วย เพราะขนาดนอกสนามไม่มีใครมาบอก แต่เรายังดูแลตัวเองได้ ถ้าอยู่ในสนามเราก็จะสามารถทำตามที่โค้ชสั่งได้
อีกอย่าง ผมคิดว่าน่าจะเป็นการทำงานหนัก ทุกอาชีพถ้าต้องการเป็นเลิศ เราต้องทำงานหนัก ผมเชื่อว่าอย่างเมสซี หรือโรนัลโด้ ณ ตอนนี้มีเงินเดือน เงินค่าเหนื่อยเป็นหลายล้าน แต่ว่าทำไมเขายังต้องการที่จะเก่ง ยังต้องการที่จะเล่นฟุตบอล ผมเชื่อว่าเขาอยากเป็น The best คือเงินก็ได้แล้ว ชีวิตไม่ต้องการอะไรแล้ว แต่เขายังทำงานหนัก ยังฝึกซ้อมทุกวัน ผมเชื่อว่านักฟุตบอลที่ดีควรจะมีความคิดแบบนี้
การเตะฟุตบอลพอมาถึงจุดหนึ่งมันก็จะกลายเป็นเรื่องของ passion มากกว่าตัวเงิน?
ใช่ครับ บางทีเราไม่คิดถึงเรื่องเงินเป็นอันดับแรก คือมันอาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ แต่ไม่ได้สำคัญที่สุด สำหรับนักฟุตบอลผมเชื่อว่าหลายๆ คนเขาต้องการที่จะเล่นบอล ต้องการที่จะเป็น The best ในตำแหน่งของเขา
มองกันยาวๆ ไปถึงอนาคตข้างหน้าเมื่อแขวนสตั๊ดแล้ว มุ้ยคิดจะไปทำอะไรต่อ?
ณ ตอนนี้ที่ผมคิดไว้ก็คือ ผมยังอยากอยู่ในวงการฟุตบอล ต้องยอมรับว่าผมโชคดีที่ได้ไปทั้งแมนเชสเตอร์ซิตี้, แอตเลติโก มาดริด ได้ไปเห็นระบบอาชีพที่ยุโรป ซึ่งน้อยคนในประเทศไทยจะมีโอกาส ผมอยากนำประสบการณ์ตรงนี้ที่ได้ไปเรียนรู้มาทั้งหมด นำมาให้คนอื่นได้รับรู้เหมือนที่ผมรู้ คือร้อยคน ผมอาจจะสอนเข้าใจ 5 คนก็จริง แต่อย่างน้อย 5 คนนี้มีความคิดที่ดีต่อฟุตบอล ผมอยากเป็นโค้ช แต่อนาคตเราก็ไม่รู้ จริงๆ แล้วเป็นอะไรก็ได้ที่สามารถพัฒนาวงการฟุตบอลไทย
เล่นฟุตบอลมาเกือบทั้งชีวิต ฟุตบอลให้อะไรแก่มุ้ยบ้าง?
ฟุตบอลมันสนุก ได้เพื่อน ได้เจอผู้คนมากมาย ในสนามเราเตะกันเอาเป็นเอาตาย เราไม่ยอมกัน แต่นอกสนามเรารู้จักกัน เราเป็นเพื่อนกัน เหมือนผมมีครอบครัวใหญ่ๆ ครอบครัวหนึ่งเป็นนักฟุตบอลด้วยกัน ฟุตบอลให้ผมทุกอย่าง ทั้งชื่อเสียง เงินทอง ส่งผลไปถึงครอบครัวของผมด้วย ให้ทุกอย่าง มีรายได้ที่สูงขึ้น ผมไม่ต้องลำบากแบบแต่ก่อน มีชีวิตที่ดีขึ้น มีโอกาสได้รับใช้ชาติ ผมไม่เตะฟุตบอลก็คงต้องไปเป็นทหารอย่างเดียวน่ะ ถ้าอยากรับใช้ชาติ (หัวเราะ)
เรื่อง : ฆนาธร ขาวสนิท
ภาพ : พาณุวัฒน์ เงินพจน์