จตุรงค์ สุขเอียด คนเฝ้าข่าว ผู้ทำหน้าที่ทวงคืนความถูกต้องและเป็นธรรม


จตุรงค์ สุขเอียด เพิ่งได้รับรางวัลคนค้นคนอวอร์ด ครั้งที่ 8 ในฐานะสื่อมวลชนผู้ทำหน้าที่ทวงคืนความเป็นธรรมและความถูกต้องให้กับผู้คนและสังคม สะท้อนการทำหน้าที่สื่อที่มีความเห็นอกเห็นใจต่อเพื่อนมนุษย์ ไม่เพิกเฉยต่อความอยุติธรรม

mars คุยกับเขาในวันที่คำพูดทำนอง “วงการข่าวกำลังจะล่มสลาย” ถูกพูดถึงอยู่บ่อยครั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลายคนตื่นตระหนก หลายคนโวยวาย หลายคนไม่มั่นใจและไม่เข้าใจว่า มันจะเป็นเช่นนั้นได้อย่างไร ในเมื่อข่าวอยู่รอบตัวเราตลอดเวลา ตื่นเช้าเปิดโทรทัศน์ก็เจอ ฟังวิทยุตอนขับรถไปทำงานก็ใช่ แม้กระทั่งเสียงซุบซิบนินทาของเพื่อนร่วมงานก็ไม่เว้น ยังไม่นับการเข้ามาของโซเชียลมีเดียและทีวีดิจิตอลที่ขยับขยายช่องทางการสื่อสารให้เพิ่มขึ้นอีกมากมาย ซึ่งทำให้วงการสื่อต่างคาดหวังว่า รุ่งอรุณของตนกำลังจะมาถึง

แต่หากโฟกัสไปที่สื่อข่าวที่สอดแทรกอยู่ในทุกพื้นที่ เอาแค่ในปีนี้ก็มีผู้คร่ำหวอดในวงการออกมาแสดงความเป็นห่วงใยกันอยู่เนืองๆ ไล่มาตั้งแต่ระดับโลกอย่าง John Oliver พิธีกรข่าวชื่อดังแห่งรายการ Last Week Tonight รายการจับกระแสสังคมจากอเมริกาที่พูดชัดถ้อยชัดคำว่า “วงการข่าวหนังสือพิมพ์กำลังพัง” หรือไม่กี่เดือนก่อนที่นักข่าวรุ่นอาวุโสของไทยอย่างสุทธิชัย หยุ่น กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง 'คนสื่อในอนาคต ทางรอดสื่อไทย ในยุคที่ใครๆ ก็เป็นสื่อได้' โดยระบุทำนองว่า “คนทำสื่อสารมวลชนกำลังเข้าสู่ภาวะล่มสลาย”

ไม่ใช่เพราะโลกเปลี่ยนไป ไม่ใช่เค้กชิ้นใหญ่ถูกตัดหั่นแบ่งให้แก่ใครต่อใครมากขึ้น แต่หลายคนต่างเห็นพ้องต้องกันว่า นั่นเพราะ 'คนทำข่าว' เองต่างหากที่กำลังขุดดินกลบฝังตัวเอง ด้วยการทำงานที่ด้อยคุณภาพ นำเสนอแต่เรื่องเดิมๆ ด้วยทัศนคติเดิมๆ แถมยังเป็นทัศนคติที่แบนราบไร้มิติอีกต่างหาก
เกิดอะไรขึ้นกับคนทำงานสายงานข่าวที่เคยได้ชื่อว่า เป็น 'ฐานันดรสี่' ผู้ชี้นำสังคม เหตุใดเราจึงมีแต่ข่าวซุบซิบใต้เตียงดารา หรือข่าวดราม่าที่ไม่นำพาไปไหนมากกว่าความสะใจของแต่ละฝ่าย เลยไปไกลถึงขั้นที่พฤติกรรมเสียๆ หายๆ ของนักข่าวกลับกลายเป็นข่าวเองเสียได้ ทั้งที่การเข้ามาของเทคโนโลยีอย่างกูเกิ้ล เฟซบุ๊ก สมาร์ทโฟน ก็น่าจะควรนำข่าวขยับขยายเพดานไปสู่ที่ทางใหม่ ๆ

“เหมือนมีหมาหลายตัว ช่วยกันเห่า ช่วยกันเฝ้า แต่กลายเป็นว่า หมากลับไปเฝ้ากันอยู่แค่ประตูเดียว คนร้ายก็อาจจะแอบเข้ามาทางข้างหลัง” นักข่าวสายแข็งคนหนึ่งของวงการอย่าง ‘จตุรงค์ สุขเอียด’ ผู้เป็นที่รู้จักมาจากรายการข่าวเจาะชื่อดังเมื่อครั้งอดีตอย่าง 'ถอดรหัส' ว่าแบบนั้น

เรานั่งลงพูดคุยกับเขา พร้อมความสงสัยในย่อหน้าบนๆ ฟังน้ำเสียงจริงจัง และพินิจแววตามุ่งมั่นของคนที่เชื่อในการงานของตน นี่คือหนึ่งในนักข่าวที่ยังคงทำงานอย่างหนัก อันจะสังเกตได้จากรายการที่เขาดูแลอยู่ 2 รายการอย่าง 'ข่าว 3 มิติ' และ 'คนเฝ้าข่าว' ที่ยังนำเสนอประเด็นต่างๆ ของสังคมได้เข้มข้น

“มันไม่ใช่ขาลง เพราะนักข่าวจริงๆ ไม่ขึ้นไม่ลง เขาทำของเขาไปเรื่อยๆ”

ข่าวอยู่รอบตัวเราตลอดเวลา แต่จริงๆ แล้วนักข่าวคืออะไร?
เดิมคนทำข่าวอย่างผมเองก็ไม่รู้หรอกว่านักข่าวคืออะไร เราแค่คิดว่ามันเป็นอาชีพหนึ่งที่รับคำสั่งมาให้ออกไปหาข่าวว่า เหตุการณ์เกิดที่ไหน อย่างไร สิ้นเดือนก็รอรับเงินตอบแทน นั่นคือการไปหาข่าวเพื่อเลี้ยงชีพ แต่พอผ่านไปเราคิดว่ามันต้องมีอะไรมากกว่านั้น คนอื่นมองว่านักข่าวต้องมีอะไรมากกว่าการทำงานแลกเงินเดือน มันต้องมีจิตวิญญาณ ต้องมีสปิริต ต้องเอาข้อมูลมาเปิดเผย โดยสิ่งแลกเปลี่ยนอาจไม่จำเป็นต้องเป็นเงิน ข้อมูลพวกนี้อาจต้องเอาชีวิตเข้าเสี่ยง โดยไม่เอาเงินเป็นตัวตั้ง ซึ่งคนที่เงินเดือนน้อยอาจไม่อยากเสี่ยง เพราะคิดว่าไม่คุ้ม นั่นคือวิธีคิดแบบคนทำงานเอาค่าจ้าง แต่คนที่ตั้งใจมาทำงานข่าวจริงๆ ด้วยใจมุ่งมั่น ไม่ว่าอย่างไรเขาจะพาตัวเองเข้าไปหาข่าวให้ได้ จะไม่มาชั่งน้ำหนักว่าคุ้มหรือไม่คุ้ม ความเป็นนักข่าวเกิดจากการที่เรายอมทำงานเสี่ยงอันตราย แล้วไม่มามองว่าค่าตอบแทนนั้นจะถูกหรือแพง

เสี่ยงอันตรายเพื่ออะไร?
เพราะข้อมูลบางอย่างอาจมีประโยชน์ต่อคนอื่น ต่อสังคม ข้อมูลของเราอาจเตือนภัยสังคมได้ การกระทำของเรามันทำประโยชน์ให้แก่คนอื่น หรือแม้กระทั่งได้ประโยชน์กับตัวเราเอง ดังนั้น นักข่าวจริงๆ ก็คือนักข่าวที่ทำเพื่อคนอื่น แค่นั้นเอง

หลังจากได้ทำข่าวเจาะที่ตีแผ่สังคมมากขึ้น มีภาวะที่ทำให้คิดว่าเรากำลังเป็นผู้ผดุงคุณธรรมผุดขึ้นมาในหัวและหลงใหลไปกับภาวะแบบนั้นบ้างไหม?
ไม่ พอทำไปสักช่วงหนึ่งจะรู้สึกว่า เรื่องพวกนี้อันตราย ยิ่งเราเข้าไปใกล้ยิ่งอันตราย เพราะเรื่องที่เราทำคือการเข้าไปทำลายผลประโยชน์ของคนอื่น ไปขัดขวางสิ่งที่เขาจะได้ ไปตีแผ่เรื่องที่เขาปกปิด ไปทำให้เขาทำงานยากขึ้น เขาจะมองว่าเราไปเปิดโปง ขัดขวางเขา มันอันตรายนะ บางทีเราก็เริ่มคิดถึงครอบครัวเราเหมือนกัน

ใครเสี่ยงมากกว่ากันระหว่างนักข่าวที่ลงพื้นที่กับผู้ดำเนินรายการ?
นักข่าวที่ไปทำข่าวก็เสี่ยง เพราะต้องพกกล้องไปเข้าบ่อน จับเรื่องหวย ยาบ้า ส่วย เรื่องนั้นมันเสี่ยงอยู่แล้ว ถ้าถูกจับได้ก็ซวย แต่ถ้ากลับมาอย่างปลอดภัย เขาหาตัวคนไปสืบเรื่องไม่ได้ทุกอย่างจะโฟกัสไปที่ตัวพิธีกร ซึ่งจะเป็นเป้าได้ง่าย เป็นเป้านิ่งเลย ทุกคนเสี่ยง เสี่ยงคนละแบบ แต่ถ้าเราไม่ทำงานที่มันต้องอาศัยความกล้าหาญเลย แล้วจะให้เราไปทำอะไร เราเห็นความจริงว่ามันเป็นแบบนี้ แต่เราไม่กล้าเปิดโปงมันออกมา แล้วเราจะมาทำอาชีพนี้ทำไม เพราะอาชีพเรามีหน้าที่เปิดโปงเพื่อปกป้องสังคมไม่ใช่เหรอ ถ้าจะเป็นอะไรก็ขอให้สิ่งที่เราทำมีประโยชน์แก่คนอื่น เราทำโดยสุจริตใจ เราเปิดโปงคนนี้ เพราะมีหลักฐานว่าเขาทำอย่างนั้นจริงๆ เราใช้ความกล้าเปิดโปง ถ้าคาหนังคาเขา เขาต้องยอมรับ เถียงไม่ได้ ทุกอย่างที่เราทำไม่มีผลประโยชน์แอบแฝงเลยนะ เราทำไปเพราะเขาทำไม่ถูกต้อง คนผิดยังยอมรับเลยว่าเราทำด้วยใจบริสุทธิ์ ผมคิดว่า ถ้าเราไปขอเงินจากเขา พอเขาไม่ให้ ก็ไปเปิดโปงเขา แบบนั้นมันอันตรายมากกว่าอีก

เหตุการณ์ไหนหนักสุดเท่าที่เคยเจอมา?
เจอเป็นช่วงๆ เจอบางแบบ บางครั้งเราไม่รู้ว่ามีคนพยายามทำร้ายเราด้วยซ้ำ เช่น พวกมือปืน แต่พอเราได้มีโอกาสไปคลุกคลีกับคนเหล่านี้ เราจะพบว่า คนพวกนี้ไม่ได้เป็นคนไม่ดีไปเสียทั้งหมดนะครับ เขาแค่คิดว่าคนที่เขาฆ่าสมควรตาย เพราะค้ายาเสพติด เป็นภัยสังคม เขาจึงฆ่า มือปืนแทบทุกคนไม่ได้คิดว่าเขาเป็นคนชั่ว นี่คือสิ่งที่เราสัมผัสมา ตอนทำรายการได้คุยตั้งแต่มือปืนรับจ้าง ทหารที่เป็นมือปืนรับจ้าง พวกซุ้มมือปืน เราเข้าถึงพวกที่อยู่ด้านมืดทั้งหมด เรื่องหวยเราเข้าไปถึงเจ้ามือหวยตัวใหญ่สุด เพื่อเจาะว่าธุรกิจของเขาเป็นอย่างไร แล้วคนพวกนี้ไม่ได้มองว่าตัวเองมีความผิดเลยนะ เขามองว่าตัวเองเป็นผู้ปลดปล่อยสังคมด้วยซ้ำ พวกนายทุนเงินกู้นอกระบบ เขาไม่คิดว่าเขารับเงินบาป เขาแค่คิดว่าถ้าไม่มีเงินกู้นอกระบบ คนจนจะลำบากเพราะธนาคารไม่ให้กู้ เพราะฉะนั้นเขาจึงเป็นพระเจ้าของคนจน มองว่าธนาคารเอาแต่ตักตวงผลประโยชน์ จะให้กู้ต่อเมื่อมีทรัพย์สินมาค้ำประกัน หรือมีรายได้เป็นหลักประกัน ซึ่งพอเราเข้าไปทำความรู้จักกับด้านมืด เราจะเห็นวิธีคิดที่แตกต่างไปเลย อย่างมือปืนบางคนเป็นกุ๊กในภัตตาคาร เวลามีงาน เขาจะถามว่าคนนี้เป็นคนอย่างไร ถ้ารู้ว่าเป็นคนเลว เขาก็มีหน้าที่ต้องกำจัด เพราะถือว่าเขาปลดปล่อยสังคม

สุดท้ายพอเราเจอคนทุกรูปแบบ มันไม่มีใครยอมรับหรอกว่าตัวเองเป็นคนชั่ว 100% มันเป็นความดีในอีกมุมมองหนึ่งของเขาเท่านั้น ซุ้มมือปืนก็เหมือนกัน เขาเอาคนพวกนี้มาเลี้ยงดูเพื่อที่จะได้ไม่ไปเกเรทำร้ายคนอื่น

ความเป็นกลางในอาชีพนักข่าวมีจริงไหม?
ความเป็นกลางมันมี แต่ส่วนใหญ่นักข่าวไปถึงข้อมูลที่รอบด้านหรือเปล่า เอาแค่เรื่องธรรมดาอย่างประปา ไฟฟ้าที่ชาวบ้านร้องเรียนกัน ถ้าเราคิดแค่ว่าการประปา การไฟฟ้าเป็นฝ่ายผิด เข้าข้างชาวบ้านไปก่อน แล้วไม่ไปถามการประปาว่าทำไมไม่เดินท่อประปา ไม่ไปถามการไฟฟ้าว่าทำไมไม่เดินสายไฟให้ชาวบ้าน เราก็ไม่เป็นกลางแล้ว ปัจจุบันเราเจอคนโพสต์เฟซบุ๊กร้องเรียนเรื่องน้ำเรื่องถนนเยอะมาก ถ้าเราไม่ถามกรมชลประทาน หรือกรมทางหลวงชนบทว่าทำไมไม่ทำทางให้ดี เราจะไม่มีวันรู้ว่า จริงๆ แล้วเขาอาจไม่ได้ละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ แต่อาจเป็นเพราะชาวบ้านเองไม่ได้ส่งมอบเส้นทางให้รัฐเยอะมาก เขาถึงพัฒนาไม่ได้ ถ้าไปถามอบต. อบจ. หรือจังหวัด ก็จะพบว่า จริงๆ แล้วในบางพื้นที่ที่ทำไม่ได้ เพราะชาวบ้านไม่ยินยอมมอบทางให้เจ้าหน้าที่ หรืออาจติดกลไกบางอย่าง เช่น ตอนนี้เป็นฤดูฝน มันยังทำไม่ได้ ต้องรอให้หน้าฝนผ่านไปก่อน แล้วสมมุติเราไปออกข่าวข้างเดียวว่า จังหวัดนี้ไม่ดูแลถนนหนทางให้ชาวบ้านมันจะเป็นอย่างไร ความเป็นกลางมันมีอยู่ แต่ขึ้นอยู่กับว่านักข่าวจะนำเสนอข้อมูลในทุกพื้นที่ของความขัดแย้งออกมาไหม ถ้าเป็นความขัดแย้งระหว่างสองฝั่ง เราก็จำเป็นต้องนำเสนอข้อมูลของทั้งสองฝั่ง

คุณมองว่าข่าวที่มีเพียงมิติเดียวจากข้อมูลเชิงเดี่ยว เป็นแค่การรายงาน เน้นความรวดเร็ว จะทำให้สังคมเกิดปัญหา?
ข่าวแบบนั้น ส่วนใหญ่ทุกวันนี้เราจะพบบ่อยในเฟซบุ๊ก เห็นแล้วแชร์เลยโดยไม่ได้เช็กข้อมูล ซึ่งมันจะเหมือนกับข่าวยุคก่อนๆ เช่น ข่าวหนังสือพิมพ์ที่มาจากบันทึกแจ้งความ แล้วคัดมาลงตามนั้นเลย โดยเป็นแค่ข้อมูลด้านเดียว ข้อมูลแบบนี้แหละทำให้เกิดแพะจำนวนมาก ซึ่งนี่คือเรื่องที่เราต้องตามหาความเป็นธรรมให้เขา หน้าที่ของนักข่าวเวลาตำรวจจับใครมา ไม่ใช่การไปบอกว่าตำรวจจับใครมาได้ ชื่นชมว่าตำรวจเก่งมาก แต่ต้องไปตรวจสอบว่าคดีนี้เป็นการจับแพะหรือเปล่า นายคนนี้เป็นใคร ทำผิดอะไร ตำรวจมีพยานหลักฐานไหมว่าเขาทำผิดจริง นักข่าวต้องไปงานแถลงข่าวเพื่อเป็นพยานให้แก่ผู้ที่ถูกจับว่าตำรวจจับมาได้ถูกต้อง ถูกตัว ไม่กลั่นแกล้ง ขอให้ช่วยถอดเสื้อผ้าออกดูว่ามีรอยถูกซ้อมไหม ถอดรองเท้าดูใต้ฝ่าเท้าว่ามีรอยถูกไฟชอร์ตเพื่อให้ยอมรับสารภาพหรือเปล่า แต่ตอนนี้ กลายเป็นว่านักข่าวไม่ได้ทำหน้าที่เหล่านั้นเลย แค่ออกข่าวว่าตำรวจจับใครมาได้ ลงรูปเขา แล้วก็จบ นี่คือสิ่งที่ทำให้เกิดคดีเชอร์รี่แอน ดันแคน คดีตายายเก็บเห็ด หรือคดีหญิงไก่ เพราะนักข่าวไม่ได้เป็นหูเป็นตาให้ประชาชน นักข่าวเวลาไปโรงพัก เห็นตำรวจจับผู้ต้องสงสัยมา สิ่งแรกที่ต้องทำเลยคือไม่เชื่อว่าตำรวจจับถูกตัวไว้ก่อนจนกว่าจะสิ้นสงสัย เรามีหน้าที่เป็นเพื่อนประชาชน ไม่ใช่ยกย่องผลงานตำรวจ

จัดลำดับความสำคัญของเรื่องที่จะเลือกทำข่าวอย่างไร?
อันดับหนึ่งคือความทุกข์ร้อนต่อชีวิต หรือต่อครอบครัว ประสบการณ์ทำให้เราเลือกได้ง่ายขึ้น อย่างมีเรื่องถนนพัง ถ้าไม่ไปตอนนี้ อาจจะเดินทางลำบากหน่อย ไฟดับอาจรอก่อนได้ หรือเรื่องฉ้อโกงที่ไม่ได้เป็นภัยต่อชีวิต เป็นเรื่องของทรัพย์สิน ไม่ได้คอขาดบาดตาย หรือเรื่องเพื่อนบ้านเสียงดัง มันเป็นเรื่องของความรำคาญ แต่ถ้าเรื่องที่เป็นภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งเร่งด่วนเราต้องหยิบขึ้นมาแทรกก่อน

ในวงการข่าวจะมีการถกเถียงถึงเรื่องเส้นแบ่งทางศีลธรรมมาโดยตลอด เช่น ภาพข่าวที่ได้รางวัลพูลิตเซอร์หลายภาพ ซึ่งเป็นภาพที่แสดงให้เห็นถึงความทุกข์ยากของใครสักคน อย่างภาพของเด็กที่โดนระเบิด ก็จะถูกตั้งข้อสังเกตว่าทำไมนักข่าวถึงไม่ช่วยเหลือคนเหล่านั้น แต่กลับเลือกที่จะถ่ายภาพทำข่าวแทน คุณคิดอย่างไรกับประเด็นเหล่านี้?
เวลาที่เขาสอนนักข่าวเขาจะใช้ภาพพวกนี้แหละมาบอกว่า นักข่าวควรเป็นตัวแทนของเพื่อนมนุษย์ คือคำถามที่ว่า ทำไมถึงไม่เข้าไปช่วย เราอาจอธิบายได้ว่า การเลือกถ่ายภาพคือการสะท้อนภัยของสงคราม ถ้าเลือกช่วยเด็กไว้หนึ่งคน เราจะไม่มีภาพข่าวที่อาจช่วยเหลือให้เด็กอีกเป็นร้อยคนรอดพ้นจากภาวะแบบนั้น เหตุการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นต่อไป โดยไม่มีใครสนใจ แต่ถ้าภาพเด็กคนที่เพิ่งโดนระเบิดตีพิมพ์ออกไป อาจจะทำให้เห็นว่าสงครามทำให้เด็กอีกพันๆ คนมีสภาพไม่ต่างจากเด็กคนนี้ มันอาจช่วยหยุดสงครามได้มากกว่า อาจมีเด็กอีกเป็นร้อยเป็นพันที่จะรอดพ้นจากสงคราม และไม่กลายเป็นเหมือนเด็กคนนี้ การอุ้มเด็กคนหนึ่งขึ้นมา ไม่สามารถทำให้คนอื่นมองเห็นการก่ออาชญากรรม หรือการก่อการร้าย หรือจริงๆ แล้วนักข่าวอาจถ่ายภาพก่อน แล้วค่อยเข้าไปช่วยก็ได้ เพียงแค่เขาไม่ได้ถ่ายภาพตอนเข้าไปช่วยเท่านั้นเอง เพราะตอนช่วยมือเขาไม่ว่างจะบันทึกภาพของตัวเอง หรือถ้านักข่าวอุ้มเด็ก แล้วถ่ายภาพตัวเอง ประกาศให้คนอื่นรู้ว่าเขาช่วยเด็กคนนี้จากสงคราม ภาพนี้จะช่วยหยุดสงครามได้ไหม ไม่ได้หรอก เพราะมันไม่มีพลังมากพอ นักข่าวอาจไม่ได้บอกสิ่งที่ตัวเองทำทุกอย่าง เราคิดว่ามันอยู่ที่เจตนา เช่น ภาพนั้นสื่อไปทางลามกอนาจาร ปลุกกำหนัด เป็นภาพโป๊เปลือยหรือเปล่า ภาพมันบอกได้ว่าคนถ่ายต้องการสื่อสารอะไร มันแตกต่างกัน

แล้วอย่างกรณีของปอ-ทฤษฎี สหวงษ์ ที่นักข่าวหลายคนเข้าไปรุมถ่ายภาพศพจนผ้าคลุมศพถูกเปิดออก ทำไมนักข่าวต้องทำขนาดนั้น ถ้าได้ภาพศพนักข่าวจะได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นหรืออย่างไร?
วันนั้นที่เห็นข่าว ผมโพสต์ไปเหมือนกันว่า มันเป็นความบกพร่องของคนที่สอนนักข่าว สื่อสารมวลชนบ้านเรามันโตไวเกินไป เลยไม่ได้สอนกันว่า ภาพข่าวแบบไหนที่เหมาะสม อย่างข่าวอาชญากรรม จริงๆ แล้วเขาจะไม่ถ่ายศพกันนะ เขาจะไม่ถ่ายให้เห็นเลือดเลย เพราะตอนที่ข่าวออก มันอาจจะตรงกับเวลาที่คนดูกำลังกินข้าว ภาพที่ดูสยดสยองเขาไม่ใช้กัน เราใช้ภาพแทนอื่นๆ ได้ เช่น คนตาย เราอาจถ่ายแค่ภาพรองเท้าข้างเดียว ซึ่งการเข้าไปแย่งกันถ่ายหน้าศพ มันเป็นความเข้าใจผิดมากกว่า การจะถ่ายศพว่าใช่ปอหรือไม่ใช่ จำเป็นต้องถ่ายหน้าของเขาหรือ แค่ถ่ายภาพญาติเขาร้องไห้ก็พอแล้ว หรือขึ้นเครื่องหมายสีดำแล้วบอกว่าปอ ทฤษฎีตาย คนจะไม่เชื่อเชียวเหรอว่าปอตายแล้วจริงๆ การไปถ่ายหน้าปอเพื่อยืนยันว่าปอตายจริงหรือตายปลอมมันเป็นความบกพร่อง คือเข้าใจได้นะว่า ก่อนหน้านี้ในไทยมันเคยมีการตายเทียมเกิดขึ้นจริง ผู้หญิงคนหนึ่งถูกพิพากษาประหารชีวิตข้อหาจ้างวานฆ่า แล้วไปร่วมกับเจ้าพนักงานคนหนึ่งออกใบมรณบัตรว่าตาย ออกใบให้ไปเผาศพด่วนที่วัด แต่จริงๆ ไม่ได้ตาย ไปเปลี่ยนชื่อนามสกุลใหม่ แต่ก็ถูกจับได้ หน้าของคนแบบนี้ต่างหากที่ควรถูกพิสูจน์ว่าตายจริงหรือไม่ เพื่อยืนยันตัวตน เพราะนี่คืออาชญากร แต่สำหรับกรณีปอ เราเชื่อตั้งแต่หมอแถลงแล้วว่าปอเสียชีวิต แล้วมันจำเป็นอะไรที่ต้องเอาภาพหน้าปอตอนเสียชีวิตมาออกข่าว จริงๆ แล้วมันควรเป็นภาพที่เขากำลังยิ้มๆ หรือเปล่า เพราะเขาเป็นพระเอก เป็นนักแสดงที่ให้ความบันเทิงแก่คนดู

มันเกิดอะไรขึ้น ทำไมกรณีแบบนี้เกิดขึ้นเยอะมาก ไม่ใช่แค่กรณีปอ ทฤษฎี กรณีเดียว? 
นักข่าวกลัวตกข่าว ไม่มีใครกล้าเลือกทางข่าวของตัวเอง เขาเรียกว่าเป็นนักข่าวกระแส พอคนอื่นทำ ก็ต้องทำด้วย ตอนนี้เรามีทีวีกว่าสี่สิบช่อง แต่เรากลับมีข่าวเหมือนกันกว่า 90% ทั้งที่นักข่าวกว่าสี่สิบช่องสามารถกระจายไปทำข่าวคนละเรื่อง แล้วทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ช่วยเหลือสังคมในวงกว้างได้ แต่กลายเป็นว่าทุกคนไปทำข่าวเดียวกันหมด เรื่องอื่นๆ ที่เหลือไม่มีใครเป็นหูเป็นตาเลย แต่อย่างเรา เราไม่ใช่นักข่าวกระแส หรือต่อให้ทำตามกระแสก็จะทำในแง่มุมที่มองเห็นว่ามันมีปมบางอย่างให้สืบสวนต่อ เช่น กรณีเกาะเต่าที่มีคำถามว่าผู้ต้องหาสองคนนั้นเป็นแพะหรือเปล่า

หลังจากการเข้ามาของโซเชียลมีเดีย หรือทีวีดิจิตอล ที่ทำให้มีช่องทางการนำเสนอมากขึ้น ทำให้สื่อข่าวเปลี่ยนแปลงไปในแง่ไหนบ้าง?
จริงๆ แล้วการมีสื่อมากๆ มันดี เพราะจะทำให้เกิดการตรวจสอบกันเองของนักข่าว อย่างเมื่อก่อนจะมีกรณีนักข่าวไปขอเงิน เพื่อจะลงหรือไม่ลงหรือบิดเบือนข่าว แต่พอมีนักข่าวมากๆ อย่างไรคนที่จ่ายเขาก็ให้ได้ไม่หมดหรอก ยิ่งมีนักข่าวมาก คนก็ยิ่งทำอะไรที่ไม่ถูกต้องได้ยากขึ้น นี่เป็นข้อดี เหมือนมีหมาหลายตัว ช่วยกันเห่า ช่วยกันเฝ้า แต่กลายเป็นว่า หมากลับไปเฝ้ากันอยู่แค่ประตูเดียว คนร้ายก็อาจจะแอบเข้ามาทางข้างหลัง ตอนนี้สื่อโซเชียลมีเดียมาเฝ้าหมาอีกทีหนึ่ง มาตลบหลังสื่ออีกที เป็นตัวตรวจสอบและสะท้อนสื่อด้วย แต่ก่อนสื่อด้วยกันจะไม่ค่อยตรวจสอบ ไม่ค่อยยุ่งกัน เรื่องของใครของมัน เด็กบ้านเอ็งผิดข้าไม่ยุ่ง เด็กบ้านข้าผิดเอ็งอย่ายุ่ง แต่เดี๋ยวนี้ประชาชนเป็นคนตรวจสอบสื่อ คนที่เป็นสื่อจริงๆ คือประชาชนที่ใช้โซเชียลมีเดีย เป็นสื่อที่เร็ว ทำหน้าที่ได้เร็วกว่านักข่าว ด่วนกว่านักข่าว แต่เขาอาจขาดการเชื่อมโยงข้อมูลที่ดีกว่านักข่าว มิติใหม่ของนักข่าวคือต้องเป็นผู้เชื่อมโยงจากการแชร์ของคนคนหนึ่งไปสู่อีกเรื่องราวหนึ่ง วิเคราะห์หรือนำเสนอว่า เรื่องที่เขาแชร์มามีต้นสายปลายเหตุอย่างไร ควรแก้ไขอย่างไร ทำให้การแชร์นั้นมีประโยชน์ นักข่าวมีหน้าที่ต้องทำข้อมูลให้ครบถ้วน อัพเกรดขึ้นมา มีภูมิรู้มากขึ้น แทนที่สังคมจะได้เห็นข้อความเดียว แชร์ภาพเดียว ก็เกิดเรื่องราว เป็นภาพใหญ่ขึ้นมา ถ้าทำแบบนี้ไม่ได้คุณจะแพ้โซเชียลมีเดีย คุณจะตกงาน นักข่าวที่จะอยู่ต่อไปได้คือคนที่มองเห็นว่า ข้อมูลนั้นๆ จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมได้อย่างไร โซเชียลมีเดียมันส่งไปถึงคนกลุ่มเดียว แต่นักข่าวตรวจสอบความถูกต้องให้ได้ รู้ทางออกของปัญหา เพื่อนำไปสู่การแก้ไขได้

อะไรคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้นักข่าวต้องไปเฝ้าอยู่แค่ประตูบานเดียว?
นักข่าวเป็นอย่างไรก็สะท้อนคนดูด้วย เพราะนักข่าวทำข่าวให้คนดู เพราะนักข่าวรู้ว่าคนชอบดูแบบนี้ แล้วมันจะทำให้เรตติ้งดี กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ เป็นเรื่องของอุปสงค์อุปทาน คนดูเป็นอย่างไรนักข่าวก็เป็นอย่างนั้น อย่างการบอกว่านักข่าวไปรุมถ่ายเหี้ยที่สวนลุมฯ แต่คนพูดถึงทั้งบ้านทั้งเมืองใช่ไหม ดังนั้นนักข่าวเขาก็ไปทำข่าวที่คนจะพูดถึงนั่นแหละ คือความหลากหลายมันมีนะครับ แต่แค่มันไปกระจุกอยู่บางจุด อย่างตอนที่ผมไปทำเรื่องตายายเก็บเห็ด ผมก็ทำอยู่คนเดียว ทำอยู่ครึ่งปีไม่มีคนไปรุม จนเขาเข้ามาในกรุงเทพฯ ไปร้องที่กองปราบ นักข่าวคนอื่นๆ ก็เริ่มเข้ามา อันนี้เราไม่ได้ไปเรียกร้องอะไรนะ เพียงแต่มันเป็นสิ่งที่เราเลือกจะทำ

ในฐานะสื่อเราทำอะไรได้มากกว่านี้ไหมเพื่อทำให้สื่อมีคุณภาพมากขึ้น? 
ผมคิดว่า อย่างนักข่าวภาคสนาม จะไปโทษตัวนักข่าวไม่ได้ ต้องโทษ บก. ต้องมองไปที่กอง บก. ถ้า บก.ไม่ออกหมายให้ นักข่าวก็ไม่ไปหรอก ถ้าไม่อนุญาตเขาคงไม่ไป เพราะมันจะไม่ได้ออกอากาศ เพราะฉะนั้นอย่าไปโทษนักข่าวภาคสนาม ให้มองกลับไปดูว่า เขามาจากที่ไหน บก. เป็นคนพิจารณาใช่ไหม ความผิดอยู่ที่ใคร สถานีคิดอะไรอยู่ เขาก็อาจจะคิดถึงผู้ชมไง ผู้ชมบอกว่าฉันไม่ดูข่าวประเภทนี้ ฉันจะไม่เอาข่าวประเภทนี้มาแชร์ ฉันจะไม่พูดถึงข่าวประเภทนี้ ถ้าคนดูเปลี่ยนไปสนใจข่าวสิ่งประดิษฐ์วิทยาศาสตร์ เชื่อสิว่านักข่าวก็จะไปทำข่าวเหล่านี้

เป็นเรื่องของอำนาจของการตลาด?
ผู้ที่มีอำนาจในการชี้ชะตาคนทำข่าวคือคนดู ประชาชนเป็นคนซื้อสินค้า สื่ออยู่ได้เพราะเงินโฆษณา โฆษณาต้องการลูกค้า ลูกค้าคือผู้ชม โฆษณาจะซื้อพื้นที่ของเราต่อเมื่อเรตติ้งดี รู้ไว้เลยว่า ทิศทางของสื่ออยู่ในมือของประชาชน ไม่ได้อยู่ที่ผู้บริหารนะครับ เรตติ้ง ทิศทางมันถูกกำหนดด้วยประชาชน เวลาเราเห็นนักข่าวทำข่าวที่ไม่ได้เรื่อง ให้ลองถามตัวเองกลับด้วย อาจจะไม่ใช่ทุกคนที่คิดแบบนี้ แต่นักข่าวจำนวนไม่น้อยคิดว่าคนอยากดูข่าวแบบนี้ เลยทำแบบนั้น ถ้าเราอยากจะเปลี่ยนสื่อ มันต้องกำหนดรสนิยมในการดูสื่อใหม่ เขาก็จะตอบสนองให้เราเอง

มองว่าสื่อข่าวกำลังอยู่ในช่วงขาลงอย่างที่คนพูดถึงเรื่องวิกฤตทีวีดิจิตอลไหม?
ไม่ๆ ทีวีดิจิตอลมันเป็นลูกโป่ง เดิมไม่ใช่ลูกโป่งแบบนี้ วิกฤตสื่อคืออยู่ๆ ลูกโป่งก็แตก ลูกโป่งที่สร้างปลอมๆ ขึ้นมาแค่หายไป นักข่าวที่ทำข่าวอย่างจริงจังมาตลอดยังอยู่ แต่นักข่าวที่โป่งพองขึ้นมา ทำงานปีสองปีแล้วอัพตัวเองเป็น บก. เป็นผู้บริหารหรือมีโปรไฟล์สูงๆ เงินเดือนมากๆ จะหมดไป มันเหมือนเราเคยมีวัด 6 วัด แล้วอยู่ๆ มีการตั้งวัดขึ้นมาอีก 14 วัด แต่วัดทุกวัดต้องมีเจ้าอาวาสและมีพระลูกวัดจึงจะครบองค์สวดใช่ไหม ทีนี้พอวัดมันเยอะขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว พระเลยมีไม่พอ ก็ไปเกณฑ์คนมาบวชกัน ตั้งเป็นเจ้าอาวาส ซึ่งคนที่ยังไม่แตกพรรษา จะไปเทศน์ให้ใครฟังได้ อาจจะไปดึงพระหรือเณรจากวัดหนึ่งขึ้นมาตั้งเป็นเจ้าอาวาส นั่นก็เป็นธรรมะของสามเณร คนที่เป็นพระเถระอยู่แล้วเขาดูรู้ว่ามันเป็นการสร้างวัดขึ้นมาเพื่อต้องการเงินบริจาค ต้องการทำให้วัดรวยขึ้น ไม่ใช่ประโยชน์ที่สังคมจะได้ การประมูลทีวีดิจิตอลไม่ได้เกิดจากการที่สังคมขาดสื่อนะครับ เกิดจากนายทุนต้องการเงินจากโฆษณา เพียงแต่องค์ประกอบในสัญญาระบุว่าต้องมีข่าว 30-50% ไง มันเกิดจากธุรกิจ ไม่ได้เกิดจากการที่ประชาชนไม่มีที่ร้องเรียน ดังนั้นมันไม่ใช่ขาลง เพราะนักข่าวจริงๆ ไม่ขึ้นไม่ลง เขาทำของเขาไปเรื่อยๆ

แต่สำนักข่าวหลายแห่งตอนนี้ก็เริ่มมีการลดขนาดตัวเองลง? 
มันเป็นธุรกิจ อย่างเราเองก็เป็นเจ้าของธุรกิจเหมือนกัน ทุกคนอยู่ได้ด้วยเงิน มีค่าน้ำมัน ค่าน้ำไฟ ค่าตอบแทน องค์กรที่อยู่มายาวนาน มีคนอายุมาก ก็ยิ่งต้องใช้เงินมาก ปริมาณของคนอายุเยอะที่เงินเดือนเยอะ แต่นั่งอยู่กับโต๊ะเฉยๆ ก็มากตามไปด้วย คนทำงานภาคสนามเป็นเด็กที่ได้เงินเดือนน้อย ตอนนี้เหมือนกับเด็กหาเลี้ยงผู้ใหญ่ องค์กรที่มีคนแก่มากจะเจอแบบนี้ทุกราย คนอายุน้อยเงินเดือนน้อยทำงานมาก แต่คนอายุมากเงินเดือนมากทำงานน้อย จริงๆ ถ้าตัดคนที่ไม่ได้ทำงานออก เหลือแค่คนที่ทำงานอยู่ในกลไกของมัน มันก็จะอยู่ได้ เพราะข่าวเกิดจากคนออกไปหาข่าว สถาบันข่าวไม่ได้เกิดจากที่ประชุม ไม่ได้เกิดจากการออกแบบ เราต้องการคนออกแบบไม่มาก มันเป็นเรื่องของธุรกิจ มันไม่เกี่ยวกับข่าวดีหรือไม่ดีนะ มันเป็นเรื่องของการบริหารจัดการ ถ้าขยายธุรกิจไม่ออก เงินเดือนกับรายได้ก็จะยิ่งลดลง

สื่อข่าวยังเป็นฐานันดรสี่ที่ชี้นำสังคมได้อยู่ไหม?
เราไม่ได้เรียนนิเทศศาสตร์มา แต่เคยได้ยินคนพูดว่านักข่าวเป็นอาชีพพิเศษ เราถามว่าพิเศษอย่างไร เขาก็บอกว่ามีสิทธิ์ในการเข้าไปตรวจสอบตรงไหนก็ได้ แต่จริงๆ แล้วไม่จริงครับ นักข่าวต้องเข้าไปตรวจสอบอย่างเปิดเผยเท่านั้น เช่นบ้านนี้เรารู้ว่ามีปัญหา แต่ปัญหาส่วนตัวเราไม่เกี่ยว เข้าไม่ได้ ใครมีปัญหากับคนอื่นก็ร้องเรียนมา แต่ถ้าเขาไม่เปิดประตูให้ เราก็เข้าไปไม่ได้ ผมเห็นบ้านคุณจับสุนัขมาฆ่า จริงหรือเปล่า ถ้าบริสุทธิ์ใจขอเข้าไปดูหน่อย คนจะได้สบายใจ แต่ถ้าเขาบอกว่าไม่ได้ เราจะพยายามติดต่อบ้านที่แจ้งมา ว่าเจ้าของบ้านปฏิเสธที่จะให้เราเข้าไป เรามีหน้าที่แค่นี้ แต่ถ้าเราอยากเข้าไปให้ได้ ต้องไปติดต่อตำรวจให้ออกหมายค้น แล้วเราก็ขอเข้าไปด้วย

กับคำพูดที่ว่าปากกาคืออำนาจ และนักข่าวเป็นผู้กุมความจริง คุณเห็นด้วยไหม?
ไม่จริง ตอนนี้สังคมเป็นคนตลบหลังคนทำข่าว คำว่าฐานันดรที่สี่มันไม่มีหรอก ไม่มีอาชีพไหนมีฐานันดรด้วย แม้แต่นายกรัฐมนตรีก็ต้องถูกตรวจสอบ ขนาดนายกยังถูกตรวจสอบได้ นักข่าว องค์กรข่าวทำไมจะถูกตรวจสอบไม่ได้

จิตวิญญาณของนักข่าวเมื่อยี่สิบสามสิบปีก่อนกับตอนนี้ไม่ได้แตกต่างกัน?
เรื่องจิตวิญญาณมันวัดกันไม่ได้ เราคิดว่านักข่าวส่วนใหญ่ที่มาทำอาชีพนี้ เขารู้อยู่แล้วว่าข่าวคืออะไร สิ่งที่เขาทำไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องส่วนรวม ซึ่งนักข่าวส่วนใหญ่มีอุดมการณ์ มีจิตวิญญาณอยู่แล้ว จะไปบอกว่าใครมีมากมีน้อยไม่ได้ ต้องดูว่าเขาทำอะไรและอย่างไร

มองกว้างๆ ในภาพใหญ่ ในฐานะคนที่ทำข่าวคลุกคลีกับปัญหาต่างๆ มานาน มองว่าอะไรคือปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ?
มันอาจเหมือนกับที่ใครหลายคนคิดว่าทำไมชีวิตเราแย่ เราจน ทำไม่มีใครมาช่วยให้เรารวย แต่เราอาจไม่เคยถามตัวเองเลยว่า เราทำอะไรให้ตัวเองบ้างหรือยัง คนไทยมักชอบโทษว่าตัวเองไม่รวย จน ตกงาน เพราะเศรษฐกิจไม่ดี ผู้บริหารประเทศจัดการไม่ดี ทั้งที่เราหางานให้ตัวเราเองได้ สร้างฐานะให้ตัวเองได้ Know How เรามีอยู่กับตัวเอง เขาไม่ได้ห้ามเรานี่ เราโทษคนอื่น เราโทษองค์กร ขณะที่ไปต่างจังหวัด คนเขาก็ยังทำสวนทำนาของเขาไป โดยไม่ต้องมานั่งโทษรัฐบาลว่าจะพาเขาไปล่มจมที่ไหน แค่เขาทำงาน ก็มีกินมีใช้ในแบบของเขาไป แน่นอนว่า เศรษฐกิจควบคุมโดยกลไกของรัฐ แต่พอเศรษฐกิจไม่ดีก็จะมองแค่ว่ากลไกของรัฐไม่ดี แต่จริงๆ แล้ว มันจำเป็นไหมที่ต้องพึ่งพาองค์กรขนาดนั้น ทำไมเราไม่ลงจากตึกไปพัฒนา Know How พัฒนาโปรไฟล์ของเรา สร้างตัวเราขึ้นมา เรายังเกาะตึกไว้ ไม่กล้าทิ้งห้องแอร์ ไม่กล้าทิ้งคอมพิวเตอร์ ไม่กล้าเดินไปสู่โลกของเราเอง มีคนอีกเยอะที่ไม่รอรัฐบาล เดินหน้าพัฒนาตัวเขาไป การเปลี่ยนแปลงสังคมต้องเปลี่ยนที่ตัวเรา

แต่ถ้าระบบดี มันก็น่าจะนำมาซึ่งประชากรที่มีคุณภาพไม่ใช่หรือ?
ตอนนี้เขาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ปราบโกง ปราบอะไรของเขาไป เชื่อเถอะว่าประกาศใช้ไปก็จะมีคนที่หาหนทางโกงได้อยู่ดี เด็กไทยเรียนรู้วิธีการทุจริตมาตั้งแต่อนุบาล เพราะรู้ว่าพ่อไปจ่ายแป๊ะเจี๊ยะเพื่อให้ได้เข้าโรงเรียน ให้เงินใต้โต๊ะเพื่อลูกจะได้เข้ารับราชการ มันเห็นตั้งแต่ที่บ้าน ถึงเวลาเลยทำบ้าง เมื่อคุณสอนให้ลูกเห็นว่าเขาเข้าเรียนได้ด้วยเงินแป๊ะเจี๊ยะ คุณจะบอกลูกว่าให้ตั้งใจเรียนให้ดีนะ พ่ออุตส่าห์จ่ายไปตั้งหกหมื่นได้อย่างไร เพราะเขาเห็นแล้ว

ถ้าเอาแค่อุดมคติ ในฐานะนักข่าวคุณอยากให้พื้นที่กับข่าวแบบไหนมากที่สุด?
เมื่อก่อนเคยทำเรื่องใหญ่ๆ นะ แต่ตอนหลังเราเปลี่ยนมาทำเรื่องเล็กๆ อย่างการช่วยคนต่อคน คดีต่อคดี เพราะคิดว่าการเปลี่ยนแปลงระบบคอร์รัปชั่นมันใหญ่เกินไป เราเปลี่ยนโครงสร้างใหญ่ไม่ได้ แต่เราช่วยคนทีละคนสองคนให้ได้รับความเป็นธรรมได้ เราเปลี่ยนโลกไม่ได้ จะเปลี่ยนประเทศมันก็ไปติดขัดอำนาจเงินบางอย่าง แล้วก็เสี่ยงด้วย เคยสู้กับพวกนี้มาหลายปีจนเราท้อว่าทำไมมีแต่พวกนี้ จับตรงไหนก็มีแต่พวกกูพวกมึง ทำข่าวไปไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง เลยลงมาช่วยชาวบ้านดีกว่า ใช้ข่าวเป็นปากเสียง ปีที่ผ่านมาช่วยให้คนที่ติดคุกซึ่งไม่มีความผิดให้เป็นอิสระ มันรู้สึกอิ่มใจมากกว่าการไปเปลี่ยนแปลงระบบ แบบนั้นก็เคยทำ จับนักการเมืองคอร์รัปชั่นโครงการผักสวนครัวรั้วกินได้ ทุจริตยา อีกหลายโครงการเลย แต่ทำไปแล้วผ่านมากี่ปีๆ ปัญหาพวกนี้ก็ยังอยู่ เพียงแค่เปลี่ยนคนทำ แต่อย่างการที่เราไปช่วยตายายเก็บเห็ด เขาอยู่ในคุก ครอบครัวเขาเป็นทุกข์หมดเลยนะ เหมือนติดคุกกันทั้งครอบครัว พอเราทำ ช่วยเขาออกมา มันก็เหมือนเราได้ให้โลกใหม่แก่เขา ในรอบปีที่ผ่านมามีเป็นสิบคดี เราเห็นว่าเราช่วยคนได้จริงๆ นะ ข่าวของเรามีประโยชน์จริงๆ นะ ทำให้สังคมเห็นจริงๆ นะ เป็นที่พึ่งให้ประชาชนได้จริงๆ แค่นี้เราก็มีความสุขกับอาชีพของเราแล้ว ถามว่าเสี่ยงไหมก็เสี่ยงเหมือนกัน เพราะเราสู้กับศาลที่สั่งขังเราได้ทันที อย่างตำรวจยังต้องแจ้งข้อหา สืบสวนกันเป็นปี แต่ศาลใช้กระดาษแผ่นเดียวแจ้งว่าเราหมิ่นประมาทศาลได้เลย เรากำลังสู้เพื่อเหยื่อที่อยู่ในที่ที่ต่ำที่สุดในสังคม แต่อยู่ในมือของคนที่มีอำนาจที่สุด กระดาษใบเดียว ติดคุก ตายายชาวบ้านเนี่ยเปรียบเหมือนอยู่ในสถานะที่ต่ำที่สุด ดังนั้นจะไม่มีอะไรตอบแทนเรากลับมาได้เลยนอกจากคำขอบคุณ นั่นทำให้ข่าวของเรามีความหมายขึ้น

มนุษย์ไม่เสพข่าวได้ไหม?
ข่าวเหมือนอาหาร เราจำเป็นจะต้องรู้แม้กระทั่งเวลาเราเดินทางไปหน้าปากซอยว่า ถนนเส้นนี้มันมีปัญหาอะไรไหม เป็นหลุมเป็นบ่อหรือเปล่า หรือข้างหน้ามีรถชนกันอยู่ห้ามผ่านไหม นั่นก็คือข่าว เพื่อนโทรมาบอกว่าสุขุมวิทรถติดก็คือข่าว แม้ไม่อ่านจากสื่อ แต่การสื่อสารระหว่างกันก็คือข่าว ชีวิตเราประกอบด้วยข่าวอยู่แล้ว เราพูดกันก็คือข่าว ข่าวไม่จำเป็นต้องไปเสพจากสำนักข่าว ข่าวคือสิ่งที่เราแลกเปลี่ยนกัน เราไม่แลกเปลี่ยนกันเลยได้ไหม ได้ แต่จะเป็นแบบนั้นต่อเมื่อเรานิพพานไปแล้ว ไม่ต้องรับรู้อะไรแล้ว แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เราต้องเกี่ยวข้องกับคนอื่น ข่าวก็จะอยู่ในทุกลมหายใจของเรา
เรื่อง : ฆนาธร ขาวสนิท
ภาพ : พาณุวัฒน์ เงินพจน์

No Comments Yet

Comments are closed

user's Blog!

49/1 ชั้น 4 อาคารบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

49/1 4th floor, Phra-A-Thit Road, Chanasongkhram,Phanakorn Bangkok 10200

Tel. 02 629 2211 #2256 #2226

Email : mars.magazine@gmail.com

FOLLOW US ON

SUBSCRIBE