เป็นไปแล้ว 'เพลงอีแซว' ติดบิลบอร์ด ชาร์ต!!!

Blowin’ in the songs
โดย : ประมวล ดาระดาษ
p_daradas@hotmail.com

เพลง “Holdin' On to Black Metal” ของวง My Morning Jacket ที่ซื้อลิขสิทธิ์ทำนองเพลงของ “แม่เพลงสุพรรณ” ศิลปินแห่งชาติสาขาเพลงพื้นบ้าน “ขวัญจิต ศรีประจันต์” ที่ประพันธ์คำร้องร่วมกับน้องสาว “ขวัญใจ ศรีประจันต์” ชื่อเพลง “ถามปัญหาหัวใจ” นั้น อัลบัมนี้โด่งดังติดอันดับในบิลบอร์ด ชาร์ต 200 ทีเดียว


วง My Morning Jacket เป็นวงร็อกที่ฟอร์มวงกันเมื่อปี 1988 พวกเขามาจากเคนทักกี้ วงประกอบด้วยหนุ่มฉกรรจ์วัย 34 ปี จิม เจมส์ ที่รับเหมาหน้าที่ทั้งร้องนำ เล่นกีตาร์และแต่งเพลง แถมยังมีนิกเนม “ยิ้มแย้มส์” (Yim Yames) ซึ่งน่าจะคุ้นเคยกับนิสัยอารมณ์ดี รักสนุกสนานแบบอัธยาศัยแบบคนไทย, ตามมาด้วยทอม แบลงเคนชิป นิกเนม หนุ่มสองเสียง (Two Tone Tommy) ในตำแหน่งมือเบส, คาร์ล โบรเมล ตำแหน่งกีตาร์ริธึ่ม กีตาร์สไลด์ แซกโซโฟน และร้องประสาน, เสริมทัพวงอีกคนที่เล่นเพอร์คัสชั่น/คีย์บอร์ด ร้องประสานโดย โบ บอสเตอร์ และสุดท้ายมือกลองคือ แพรตทริค แฮนลาฮัล
พวกเขาก็มีความสามารถเล่นสไตล์ร็อคกันได้หลายแนว ไม่ว่าจะเป็นนีโอ-ไซคีดีลิค ร็อค, คันทรี่ ร็อค, เซาธ์เทิร์น ร็อค หรือสมัยใหม่สุ้มเสียงไปได้กับยุคดิจิตอล แนวอินดี้ ร็อค
ประสบการณ์ของวงก็เคยเล่นสนับสนุนให้ศิลปินใหญ่ๆ อย่างนีล ยัง, เคิร์ก แฮมเล็ต แห่งเมทัลลิก้า เจมส์ บราวน์, คูลแอนด์ เดอะ แก๊งส์ และม็อทลีย์ ครูฯลฯ เรียกว่ากระดูกและประสบการณ์ทางดนตรีไม่ธรรมดาเลยทีเดียว
วง My Morning Jacket เคยผ่านเวทีในงานใหญ่ๆ ระดับโลกและรายการทีวีเด่นๆ อย่าง ซีเอ็นเอ็น งานคริสต์มาสอีฟ ปี 2009 ที่ถ่ายทอดสดจากเมดิสัน สแควร์ การ์เดน ร่วมกับศิลปินดังอย่างแอนเดอร์สัน คูเปอร์ และ แคธี่ กริฟฟิน
ปี 2010 ก็ได้เล่นที่เวที นิวยอร์ค เทอร์มินัล 5 เล่นโปรโมทผลงานสตูดิโออัลบัมอันได้แก่ The Tennessee Fire (1999)/ At Dawn (2001)/ It Still Moves (2003)/ Z (2005) และEvil Urges (2008) โดยเล่นเพลงอัลบัมในแต่ละคืน พร้อมกับเริ่มเล่นเพลงในอัลบัมใหม่ไปด้วย
และพอถึงตอนนั้น จิม เจมส์ ก็ให้ข่าวว่าจะมีอัลบัมใหม่ออกในฤดูใบไม้ผลิปีหน้า โดยได้ร่วมงานกับโปรดิวเซอร์ติดหนึ่งในร้อยอันดับโลกที่มีผลงานเข้าชิงรางวัลแกรมมี่ “ทัคเกอร์ มาร์ติน” ที่เคยสร้างสรรค์ผลงานร่วมกับศิลปินอย่าง R.E.M., Laura Veirs และ Spoon โดยใช้โบสถ์เก่าแก่ที่บ้านเกิดของเจมส์เป็นสตูดิโอผลิตงาน นั่นคือ อัลบัมที่ 6 ของวง Circuital ที่เปิดตัวในเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว

อัลบัม Circuital ของ My Morning Jacket นับว่าประสบความสำเร็จ ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ไปในเชิงบวก โดยสัปดาห์แรกที่เปิดตัวก็ขายไปแล้วกว่าหกหมื่นก๊อปปี้ ติดอันดับ 5 บนชาร์ตบิลบอร์ด 200 กระแสตอบรับดีกว่าอัลบัม Evil Urges (ปี 2008) ที่ว่าขายดีแล้วแบบน่าสนเท่ห์ เพราะอัลบัมนั้นไปได้แค่อันดับ 9
และกับการทำสิ่งแปลกในยุคดิจิตอล ทางวงกลับทำย้อนยุคโดยทำแผ่นไวนีล สปีด 45 เพื่อโปรโมทอัลบัมสำหรับการเล่นของนักอนุรักษ์เทิร์น เทเบิ้ล เครื่องเสียงยุควินเทจ แค่นั้นยังไม่พอ ทางวงยังให้ดาวน์โหลดฟรี/ต่อเพลง/สัปดาห์อยู่ช่วงหนึ่ง แต่การแสดงที่เทอร์มินัล 5 วงก็โปรโมท 5 ซิงเกิ้ลแรก และพอทำอัลบัมเต็มครบทุกเพลงในอัลบัม ก็วางแผงและประสบความสำเร็จเหนือกว่าทุกอัลบัมที่แล้วมา
ทุกแทร็กในอัลบัมนี้ เหมาเนื้อหาโดยฟร้อนท์แมน “ยิ้ม แย้มส์” แบบพลังเหลือ เรามาฟังแต่ละแทร็กร่วมกัน
“Victory Dance” – 5:40
บรรยากาศแบบสเปซ ร็อก ให้ความเวิ้งว้าง เสียงร้องของเจมส์ เหมือนไม่ต้องใส่อารมณ์มาก ปล่อยพลังออกจากอกให้ล่องลอยไปตามอากาศ ชั้นเชิงของกลอง เบส และการประสานและเมโลดี้ในจังหวะปานกลางนั้นตรึงใจแบบเอาอยู่ ช่วงท้ายแทร็ก สะกิดต่อมไซเคเดลิค ร็อกแบบลึกลับด้วยเทคนิคเอาต์โทร ชวนระทึก แบบเซอร์ไพรส์คนฟังให้มีตามในแทร็กต่อไป
“Circuital” ความยาว7:19 นาที
เหมือนจะไม่ง้อการโปรโมทแน่นอน…อินโทร ในสไตล์นีโอ- ไซคีดีลิค ร็อค, ไลน์เบสทำให้หวนรำลึกถึงงานยุคแรกๆ ของเดอะ โปลิศ เพลงนี้เน้นกีตาร์อะคูส ติกแบบโหมโรง และสับคอร์ดสวมแบบอึกทึกตาม ทั้งเพลงมีมิติ และกลิ่นไอของร็อคยุคบุปผาชน สวมกับแทร็กแรกได้แบบระทึก ท้ายๆ มีเสียงเปียโนที่แทรกประสานมาคือ เสน่ห์แบบได้ใจ ทำให้เพลงไม่น่าเบื่อ
“The Day Is Coming”
บีตติดกลิ่นเร็กเก้ ง่าย พวกเขาผ่อนแบบลดความซับซ้อนทางดนตรีลง หากทว่าสำเนียงและกลองดิบๆ แบบร็อค 60 วิญญาณเร็กเก้แท้ยังไม่มา ลูกผสมร็อค/เร็กเก้ แบบพัธุ์ทางยังไม่ลื่น ประสานเสียงคล้ายบี จีส์ อยู่
“Wonderful (The Way I Feel)”
แฟนๆ ในยูทูบชื่นชม บ้างก็ว่าจิม เจมส์คือพระเจ้า บางคนก็บอกว่าเอาไปบรรเลงในงานศพฉันด้วย เมโลดี้ที่เดินด้วยอะคูสติคกีตาร์, ไวโอลีน สไตล์คันทรี่ กลิ่นอายแนชวิลล์ ออกทางกว้างกรุ่นบรรยากาศแบบเปิดโล่ง จิม เจมส์ ร้องได้อารมณ์มาก
“Outta My System”
ร็อคในสำเนียงแบบเวสต์โคสต์ น่าจะได้อิทธิพล จาก เดอะ บีช บอย และแจ็คสัน บราวน์ มาพอสมควร ทั้งสำเนียงกีตาร์ลีด และสไตล์การเล่นสไลด์สตีล กีตาร์ ดูเหมือนการมิกซ์เสียงคีย์บอร์ดจะรกไปในช่วงท้าย
และอีกสามแทร็กต่อมาคือ “First Light” /”You Wanna Freak Out” /”Slow Slow Tune” ก็อยู่ในมาตรฐานของซาวนด์อินดี้กึ่งอัลเทเนตีฟ ร็อคที่ฟังสนุกสนานร่าเริง เหมาะสำหรับ สำหรับวัยผู้ฟังที่มีวุฒิภาวะแบบผู้ใหญ่ ไม่ใช่วัยรุ่นแนวป๊อปแดนซ์หวือหวาตามสมัยนิยมแล้ว

กล่าวสำหรับบทเพลง “Holdin' On to Black Metal” ความยาว 4:19 นาที ที่วง My Morning Jacket ขอยืมกรู๊พไลน์ เมโลดี และเบสไลน์แบบโซล/ฟังค์ของลูกทุ่งไทยไปใช้ตลอดเพลงนั้น แทร็กนี้อยู่ในแทร็กที่ 6 ของอัลบัม เป็นเพลงต่อมาจากห้าเพลงแรกที่ทางวงสร้างสรรค์และเล่นที่ นิวยอร์ค เทอร์มินัล 5 มาก่อนนั่นเอง
เนื้อหาเพลงของขวัญจิต ศรีประจันต์ นั้น โดยโบราณ “เพลงอีแซว”(เก่าแก่มาร้อยปีแล้ว) นั้นเป็นเพลงที่มีต้นกำเนิดมาจากสุพรรณ-อ่างทอง โดยแท้ แนวเพลงมีลักษณะเป็นเพลงปฏิพากย์ (เพลงโต้ตอบ) ที่หนุ่มสาวใช้ร้องยั่วเย้า เกี้ยวพาราสีกันอย่างง่ายๆ สั้นๆ เทียบกับเพลงแนวโซลของอเมริกัน/แอฟริกันก็ว่ามีแนวทางร้อง/รับ-ส่ง/สนอง (call and response)
เพลง “ตอบปัญหาหัวใจ” ก็คงเหมือนกับการที่แม่เพลงขวัญจิต ศรีประจันต์ผู้นี้ ได้ทำการดัดแปลงเพลงพื้นบ้านมาอัดแผ่นเป็นเพลงลูกทุ่ง โดยมีเนื้อหาและพล็อตมาจากการตอบปัญหาหัวใจของ “ศิราณี” ในหนังสือพิมพ์หัวเขียวสมัยหนึ่ง ทว่าขวัญจิตต์นำมาล้อแทรกด้วยอารมณ์ขันคล้ายกับเพลงลูกทุ่งอื่นๆ เช่น เพลง กับข้าวเพชฌฆาต, ผัวบ้าๆ ฯลฯ
ส่วนเนื้อหาในเพลงของจิม เจมส์ ภาคภาษาอังกฤษไม่มีส่วนใดที่ได้อิทธิพลไปเลย จิม เจมส์ เขียนออกไปในทำนองเพลงรักร่วมสมัย คือออกไปในแนวทาง สอนสาวให้รู้จักกับแบล็ก เมทัล (สะแลง ที่ไม่เกี่ยวกับแนวดนตรีเมทัลสายหนึ่งแต่อย่างใด) ผู้เขียนให้ความหมายโยงถึงสัญชาตญาณดิบเถื่อนที่ซาตานลูซิเฟอร์(รูปหล่อ)ครอบงำ(สาว)
ท่วงทำนองไลน์โน้ตอินโทร จัดเป็นเมโลดี้หลักในสไตล์ โซล/ฟังค์ มีการวนทำนองซ้ำไปมาตลอดเพลง ที่สวมทับกันพอดี ระหว่างเพลงไทยที่นำเครื่องเป่าของฝรั่งมาใช้ แบบเพลงลูกทุ่งยุค 60-70 ที่มาเป็นไลน์แบคอัพให้ กับเพลงอีแซว ซึ่งตามที่เรียกกันในสมัยก่อนว่า “เพลงตบแผละ” ที่เน้นการตบมือให้จังหวะจากกลุ่มผู้เล่นร้องทั้งสองฝ่าย และ/โดยมีเฉพาะการเอื้อนลูกคอในท่วงทำนอง “ซะ เอิง เงิง เอย…”ในลักษณะร้องเล่นแบบพื้นบ้านซ้ำวนทำนองหลักไปมาได้ ตลอดคืน จะมีเพียงแต่กลอนเพลงอีแซวเท่านั้นที่ก้าวไป
นั่นคือ จิม เจมส์ ได้นำท่วงทำนองของเพลงอีแซวดังเดิม ที่มีกลิ่นอายเพลงลูกทุ่งที่ยืมท่วงทำนองโซลของตะวันตกมาใช้ในไลน์เครื่องเป่าและจังหวะแบบตะวันตกกลับไปแล้ว
การหยิบยืม หวังหวะ ทำนอง ที่ผู้เรียบเรียงเพลงไทยนำเครื่องเป่าและกลองสากลมาใช้นั้น นับแต่วงการเพลงไทย ที่พัฒนาจากท่วงทำนองไทยเดิม และเริ่มรับวัฒนธรรมจากตะวันตก ซึ่งมีพัฒนาการแยกย่อยแตกแขนงมาเป็นเพลงไทยลูกกรุง เพลงไทยลูกทุ่งนั้น เป็นการถ่ายเททางวัฒนธรรมเสียงเพลง ที่มีมานานแล้ว ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดพิสดารอะไร
เพลงไทยสากลหลายๆ เพลง ไลน์อินไทร/ท่วงทำนอง กรู๊ฟ,เทมโป้ และการเลือกใช้ เครื่องมือ เครื่องดนตรีนั้นได้รับอิทธิพลมาจากเพลงโซล แอนด์ ฟังค์ เพลงแจ๊ส เพลงบลูส์ เพลงริธึ่ม แอนด์ บลูส์ฯลฯ ของตะวันตกมามีใช่น้อย เริ่มมาตั้งแต่ยุค 60-70-80 ต่อถึงกลางยุค 90 ซึ่งปัญหาลิขสิทธิ์ข้ามโลก เป็นตัวตัดตอน ทำให้การลอกท่วงทำนองและการหยิบยืมจากเพลงสากลลดน้อยถอยลงไป
ตัวอย่างการอินโทรไลน์กีตาร์ ของเพลง “ฝนตกฟ้าร้อง” ของศรคีรี ศรีประจวบ ที่ได้รับมาจากวง Shocking Blue เพลง Venus คือตัวอย่าง


ถึงปัจจุบัน ในฟากฝั่งของกระแสดนตรีหลักจากตะวันตกที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นวัฒนธรรมป๊อป คัลเจอร์ที่ส่งผลต่อรสนิยมการฟังดนตรีไปทั้งโลกนั้น
เพลงสไตล์ร็อก ของคนขาวที่พยายามจะหาที่อยู่ที่ยืนใหม่ ให้กับตนเองที่ต่างก็เหมือนจะผ่านจุดรุ่งเรือง และถึงขั้นอยู่ตัว สงบนิ่ง อยู่ขณะนี้
ฝ่ายการตลาดพาณิชย์ศิลป์ ก็ต้องขวนขวายเพื่อหนีเพลงที่อยู่ในกระแสหลักและดูเหมือนจะตีบตันต่อการพัฒนาแนวทางซ้ำซาก โดยหลบหลีกจาก เพลงแนวฮิป ฮ็อป /ป๊อป แดนซ์/อาร์ แอนด์ บี/อีเล็กทรอนิกส์ แดนซ์ ฯลฯ ที่เคยขึ้นหม้อและรอวันนิ่ง
และโดยภาพรวมของแนวโน้มดนตรีตะวันตกขณะนี้ ที่ท่วงทำนองของเพลงที่ได้รับความนิยมในกระแส เหมือนศิลปินและค่ายเพลงต้องการเสาะแสวงหา ท่วงทำนอง และเมโลดี้ใหม่ๆ เพื่อมาตอบโจทย์การตลาด ที่กระแสดนตรีมหาชนเริ่มจำเจเฝือเฝื่อน แบบยังไม่มีอะไรใหม่
ถึงสหัสวรรษนี้ ศิลปินตะวันตกจึงมีแนวโน้มจะย้อนยุคกลับไปสู่รากของตนในแนวดนตรีร็อค ยุค 60-70-80 ซึ่งถือว่าเป็นยุคที่มีท่วงทำนองสวยงาม และรุ่งเรืองมากที่สุด
ท่วงทำนองเพลงไทยพื้นบ้าน อย่างเพลง “อีแซว” ที่มีกรูฟ ไลน์ร่องเสียงในแนวสนุกสนาน และท่วงทำนองซ้ำ เล่นวนไปวนมาทั้งเพลง และแปลงมาเป็นเพลงโซลแบบไทยๆ พันทางที่ได้อิทธิพลจากตะวันตกมาในยุค 60 นั้น บัดนี้ กลายพันธุ์และไปกันได้ด้วยดี กับเครื่องดนตรีสากล ในแนวร็อก และแนวทางอินดี้อย่างวง My Morning Jacket นั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่แปลกใหม่ น่าตื่นเต้นหรือฟูมฟาย แบบน่าตีอกชกหัว แต่อย่างใด
กล่าวสำหรับ My Morning Jacket วงระดับโลกและค่ายเพลงดาร์ลา เร็กคอร์ดที่มีวิสัยทัศน์กว้าง และแสวงหาสุ้มเสียงแปลกใหม่มาแทนน้ำเสียงกระแสหลักที่ซ้ำซากจำเจ แท้จริงแล้ว พวกเขาหันมาพิเคราะห์และจับสุ้มเสียงของตะวันออก และตอนนี้พวกเขามานำกลับไปสร้างสรรค์ในรูปแบบวัฒนธรรมร็อคของคนผิวขาวที่เจือกลิ่นตะวันออกแบบให้เกียรติกับเจ้าของ
โดยแทร็กนี้น่าจะเป็นรูปแบบการทดลองสร้างสรรค์ในแนวใหม่ การยึดเครื่องเป่าเป็นหลักและการร้องประสานเสียงของกลุ่มคอรัสหญิงในเพลงนั้นให้อารมณ์ทางเพลงอีแซวต้นฉบับอยู่ สมบูรณ์และแข็งแกร่งในสไตล์ร็อคแบบแปลกใหม่ เพียงแต่มันราบเรียบไป ไร้ท่อนฮุคของการเน้นโฟกัสในสไตล์ป๊อป/ร็อค แบบขาดจุดสลบโป้งเดียวจอด แต่ทว่าพวกเขาก็ชาญฉลาด ที่จะขายองค์ประกอบโยรวมๆ พื้นๆ
เรื่องธรรมดาสามัญของศิลปะ/วัฒนธรรมที่ไหลเลื่อนเคลื่อนไปมาผสมผสานกันทั้งโลกแบบโลกาภิวัตน์ อันเป็นสมบัติร่วมกันของคนทั้งโลก

user's Blog!

49/1 ชั้น 4 อาคารบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

49/1 4th floor, Phra-A-Thit Road, Chanasongkhram,Phanakorn Bangkok 10200

Tel. 02 629 2211 #2256 #2226

Email : mars.magazine@gmail.com

FOLLOW US ON

SUBSCRIBE