Blowin’ in the songs
โดย : ประมวล ดาระดาษ
p_daradas@hotmail.com
“ซิสตาร์” (SISTAR) เกิร์ลกรุ๊ปของเกาหลี ที่เห็นฝึกเต้นกับกระจกโดยใช้อุปกรณ์แค่เก้าอี้คนละตัวนี้คือ “โบรา” และ “ฮโยริน” (หัวหน้าวง) ขาดไปอีกสองคนคือ “ดาซม” และ ”โซยุ” ถ้ามาก็จะเป็นไพ่รัมมี่เต็มวง ครบขา
เกิร์ลกรุ๊ปชื่อเสียงพอประมาณในเมืองไทยกลุ่มนี้ เป็นศิลปินอยู่ภายใต้สังกัด Starship Entertainment ที่ทำการตลาดต่อยอดวัฒนธรรมเคป็อปมานานแล้วตามนโยบายครอบงำย้ำบอก และส่งออกทางวัฒนธรรมไปทั่วแถบเอเชียใต้ โดยมีแม่แบบคือวัฒนธรรมตะวันตกที่ลอกมาทั้งดุ้น
ที่ยกเอาซิสตาร์มาเขียน เพราะเผอิญท่องเที่ยวไปในยูทูบ และเห็นยอดเกือบ 30 ล้านคลิกวิวของวิดีโอที่นัยว่าเป็นการ “ฝึกเต้น” ของสองสาวน้อยนี้ ที่หน้ากระจก แบบน่าสนใจมาก โดยเฉพาะการไล่อ่านเมนต์บนยูทูบนั้น อ่านกันไม่หวาดไหว นัยว่าเป็นหนุ่มไทยเสียมาก ซึ่งน่าจะประทับใจในสาวทรงเสน่ห์เหล่านี้อยู่
ตามปูมประวัติของวงที่เพิ่งฟอร์มมาแค่ 2-3 ปี ชื่อวง SISTAR ก็คิดค้นคอนเซ็ปต์และจุดขายโดยมีที่มาจากการสนธิคำระหว่าง Sister และ Star หมายถึง การมีภาพลักษณ์ของสาวน้อยทั้งสี่ในวงเดียวกัน ที่มีสัมพันธ์อันแสนสนิทสนมในแบบพี่สาวน้องสาว และมีความทะเยอทะยานเพื่อการเป็นดาวดวงใหม่แห่งวงการเพลงเกาหลี
ดูประวัติการตลาด พวกเธอเปิดตัวครั้งแรกผ่านนิตยสาร Ceci Magazine และถึงปีนี้เธอมีซิงเกิลถึง 3 ชุดแล้ว และทุกชุดได้รับการตอบรับอย่างดีมากจากผู้ชม
โลกของการผ่องถ่ายทางวัฒนธรรมที่ชนผิวเหลืองเอเชียรองรับมาจากตะวันตกอีกทีนั้น ญี่ปุ่น ฮ่องกงและไต้หวัน เคยเฟื่องฟูมาก่อน ทั้งทางด้านภาพยนตร์และศิลปินนักร้อง แต่ตอนนี้ ที่ขึ้นหม้อที่สุดก็ต้องยกให้ เพลงเคป็อปวัฒนธรรมดัดแปลงกลายร่างและผลิตซ้ำย้ำทำของเกาหลีเขาล่ะ
นี่ว่าเฉพาะเพลงจากเกาหลีใต้ที่ส่งออกเท่านั้น ไม่ได้หมายถึงภาพยนตร์ ละคร วงการเคป็อปของเกาหลีนั้น มีทั้งศิลปินกลุ่มและเดี่ยวอยู่มากมายอย่าง ชินฮวา, โบอา, เรน, เซเว่น, ดงบังชินกิ, วันเดอร์เกิร์ลส์, ซูเปอร์จูเนียร์ และบิ๊กแบง ฯลฯ หากทว่าที่ได้รับความนิยมนอกเกาหลี อย่างเช่น ในประเทศจีน, ญี่ปุ่น, ไต้หวัน, ฮ่องกง, ฟิลิปปินส์, ประเทศไทย หรือประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ย่อมเป็นความนิยมคลั่งไคล้ในกระแสเกาหลี และนิยมในวัฒนธรรมข้ามชาติของคนเอเชียแบบไม่น่าจะเกิดฟีเวอร์ขึ้นได้ง่ายนัก น่าจะมีกลยุทธ์ ยุทธศาสตร์ ยุทธศิลป์ และยุทธวิธีหลากหลาย
เพราะคำว่าวัฒนธรรมป็อปนั้น แต่ก่อนส่วนมาก ต้องมาจากฝรั่งตาน้ำข้าวเท่านั้น คนเอเชียจึงจะยอมรับ เอเชียด้วยกันก็จะมีแต่ดูถูก ทับถมกันเองไปเท่านั้น หายากที่จะยอมรับในชาติพันธุ์สีผิวและกำพืดที่ใกล้เคียงระดับหรือระนาบเดียวกันได้ แต่แล้วพอขึ้นสหัสวรรษใหม่ โลกเปลี่ยนไป ศูนย์กลางการส่งออก ป็อป-คัลเจอร์ ของฝรั่งก็เปลี่ยนฐานไป จากต้องข้ามน้ำข้ามทะเลมา ก็ย้ายฐานการผลิต เป็นในเอเชียนี่เอง สร้างโดยคนเอง และร่วมเสพกันเองแล้ว
มีความเป็นมาอย่างไรกับวัฒนธรรมเพลงป็อปแดนซ์ แน่นอนก็มาจากแนวเพลงแม่แบบ ป็อป/ฮิปฮอป/อาร์แอนด์บี/ดนตรีเฮาส์/เออร์เบิน คอนเทมโพรารี ยู.เค.การาจ (อิเล็กทรอนิกส์ แดนซ์) ฯลฯ และแหล่งกำเนิดแนวเพลงในทศวรรษ 1990 และยุค 2000 เรื่อยล้นมาอีกทศวรรษ ที่เกาหลีใต้ก็เกิดบูมสนั่นลั่นเอเชียอยู่ตอนนี้แหละ
นั่นล่ะ ต้นกำเนิดรากที่แท้จริงมาจากชาวตะวันตกในยุคที่กล่าวโน้น…
ลองไล่ลำดับดู ก็น่าจะเริ่มต้นในยุคทศวรรษ 60 ที่มิตรรักนักเพลงยังมีรายการเพลงยอดนิยมให้ฟังทางวิทยุอย่างสนุกสนานเป็นพื้น ทางโลกตะวันตกมีรายการสุดฮิตอย่าง เอ็ด ซุลลิแวน โชว์ และต่อมาก็เริ่มลามเข้าสู่ยุคร็อกแอนด์โรล สู่ยุคไซเคเดลิก ร็อก ซึ่งต่อมาองค์ประกอบจากการเล่นและฟัง ก็เป็นดนตรีที่ฟังและเต้นกันแบบฟรีฟอร์ม ในรูปแบบอิสระแบบคลี่คลายไร้รูปแบบ ซึ่งโดยส่วนมากทั้งหมดก็หมกมุ่นกันอยู่ในโลกของเสียงเพลง ความเพ้อฝัน จินตนาการล่องลอย และเน้นการเต้นการแสดงออกที่เรียกว่า เสรีภาพเต็มเปี่ยม อันเป็นการเริ่มต้นของการแสดงออกของหนุ่มสาวในยุคนั้น ที่ขัดหูขัดตาต่อนักศีลธรรม นักจริยธรรมนิยมแบบรับไม่ได้
จากนั้นเมื่อมาถึงยุคดิสโก้ การเต้นรำในบาร์ ในแดนซ์ฮอล ก็ยิ่งทวีความอิสระ จะเหวี่ยงแขน ขาอย่างไรก็ได้บนฟลอร์ที่ระทึกดนตรีและแสงสีระยับพราว ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ต่างจากการเต้นเชิง/แนวป็อปแดนซ์ ในยุคนี้เท่าไรนัก
เลาะเรื่อยมาถึงยุคการถือกำเนิดของ ”เอ็ม. ทีวี” นั่นคือต้นเค้าของวัฒนธรรมป็อปแดนซ์ โดยต้องวาดภาพและย้อนไปถึงรอยต่อของการถดถอยและเสื่อมของยุคดิสโก้ ในปี 1980 ที่เฟื่องฟูก่อนหน้านั้นมานาน จากดนตรีร็อกก็แตกแขนงออกมาให้ท่วงทำนองดนตรีที่ติดหูง่าย กลายมาเป็นดนตรีป็อปอย่างเต็มตัว มีการออกแบบท่าเต้นให้ศิลปิน นั่นคือ ยุคแรกๆ ของไมเคิล แจ็กสัน และป็อปแดนซ์ตัวแม่ ”มาดอนน่า” ที่ผสมผสานกับภาพลักษณ์ อัตลักษณ์และเทคโนโลยีเปลี่ยนถ่ายจากยุคอะนาล็อก สู่ดิจิตอล นั่นคือวัฒนาการสู่โลกของป็อป และนวัตกรรมป็อป คัลเจอร์สมัยใหม่
และต่อมาในยุคต้นของ 90s ถึงสหัสวรรษใหม่ วง ”บอยแบนด์” ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น และเป็นยุคของนักร้องเสียงหล่อ ที่เกิดฮิตและบูมสุดขีดแบบเวอร์/ล้ำ ในปี 1990 ซึ่งแนวนี้ ฝ่ายหญิงก็จะหนีไม่พ้นวง เดสตินีไชลด์ ตามมาด้วยบริตนีย์ สเปียร์ส และคริสตินา อากีเลรา สมทบด้วยวง แบ็คสตรีทบอย เอ็นซินซ์ โดยเฉพาะเกิร์ลกรุ๊ประดับโลก อันมี สไปซ์ เกิร์ล, TLC, บานานารามา และพุซซี่แค็ท ดอลส์ ฯลฯ นั่นคือ การร้องและแสงสีบนเวที ที่ท่วงทำนอง ความไพเราะได้ตกเป็นรองการเต้น และออกลีลาท่าทางอย่างว่า ถึงตอนนี้เกิร์ลแบนด์ก็ถือกำเนิดขึ้นมาแบบไม่น้อยหน้า นอกจาก เกิร์ลกรุ๊ปศิลปินตัวหลักอยู่ข้างหน้าแล้วยังเสริมทัพด้วยบรรดาแดนเซอร์ด้านหลังแบบอลังการอีก ทำให้วงการป็อปแดนซ์รุ่งเรืองถึงขีดสุดในโลกตะวันตก และลามมาสู่เอเชียแบบแตกแขนงต่อยอด
อาวุธลับของเหล่าเกิร์ลกรุ๊ป คือ การใช้ MV ในการเผยแพร่และโปรโมตผลงาน “ซิสตาร์” ก็เหมือนศิลปินกลุ่มอื่นๆ ทั่วโลก โด่งดังด้วยการเปิดตัวซิงเกิลฮิตจากการวางแผนโปรโมตวิดีโอเพลงของบริษัทอย่างเป็นระลอก เริ่มด้วยเพลง “Push Push” ตามด้วย “Shady Girl” และเพลง “How Dare You” พร้อมทั้งการเปิดตัวในการแสดงสดตามเวทีต่างๆ และทำให้วงประสบความสำเร็จยิ่ง ตลอดปี 2010 ทั้งในเกาหลีใต้ และเอเชียอาคเนย์
เมื่อเพลงมีไว้ดูคนร้อง/เต้น ไม่มีไว้ฟังแต่เพียงอย่างเดียว จากการโหวตและสำรวจจากการแสดงสดผ่านโลกอินเทอร์เน็ต แฟนเค ป็อป ทั้งในและนอกประเทศต่างยกให้ “ฮโยริน” แห่งวงซิสตาร์ คือที่สุดแห่งสาวผู้มีรูปร่างและทรวดทรงเซ็กซี่ เปี่ยมเซ็กซ์แอปพีลมากที่สุด ตามมาด้วย “ฮโยซอง” แห่งซีเคร็ต และ “ยูริ” แห่งเกิร์ลส์ เจเนอเรชั่น
ทั้งนี้โดยการวิเคราะห์เจาะลงลึกลงไปในรายละเอียด ว่าการเต้นนั้น จะมีสง่าบารมีเป็นที่เสน่หาแก่ผู้ชมได้นั้น ย่อมต้องประกอบด้วยการมีเรือนร่างที่สมส่วนงดงาม มีความเป็นธรรมชาติ นุ่มนวล สอดผสานผสมในความแข็งแรงเจือความเซ็กซี่ไปด้วยจึงจะถือว่าสมบูรณ์แบบ
ฮโยริน แห่งวงซิสตาร์นั้นถูกจับตาตั้งแต่เปิดตัวครั้งแรกแล้ว เธอได้รับความสนใจอย่างท่วมท้น จากรูปลักษณ์และร่างกายที่แข็งแรงแบบน่าตื่นตาตื่นใจ แบบน่ามหัศจรรย์ของเธอ เธอสร้างอัตลักษณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในท่าเต้นโยกเหวี่ยงเรียวขา ในการแสดงแบบสวยงามน่าประทับใจผู้ชม
ปี 2011 ซิสตาร์ ก็ตอกย้ำความโด่งดัง โดยการแยกกรุ๊ปย่อยออกมาเป็น ซิสตาร์ 19 ในซิงเกิลฮิต “so cool” โดยสองสตาร์หลัก คือ ฮโยรินและโบรา แยกตัวออกมาทำและประสบความสำเร็จอย่างยิ่งด้วย ซิสตาร์ 19 “Ma boy” และปีนี้พวกเธอก็กลับมาอีกใน มินิอัลบัม Alone และนำซิงเกิลฮิตในชื่อเดียวกับอัลบัม แบบเต็มความสามารถ ของการหวนคืนวงแบบครบเต็มทีม ซึ่งขณะนี้ ซิง เกิล “Alone” (2012) ของวง ซิงเกิลฮิตชื่อเดียวกับมินิอัลบัม ติดอันดับ เคป็อป ของบิลบอร์ด ชาร์ตทีเดียว
อันว่า ดนตรีในสไตล์ป็อปแดนซ์นั้น แม้จะมีท่วงทำนองซ้ำๆ บีตที่สามารถจะเร่งเร้าด้วยจังหวะธรรมดา ให้อยู่ในแนวระนาบเดียวกับสไตล์ อาร์แอนด์บี หรืออิเล็กทรอนิกส์ ป็อปแดนซ์ อันมีเครื่องดนตรีพื้นฐานอย่างกีตาร์ เบส กลอง หรือจะขยับไปใช้ดรัม แมชชีน คีย์บอร์ด และซินธิไซเซอร์ แบบสังเคราะห์เสียงเป็นหลัก ในการแปลงแนวหรือขยายออกไปได้อย่างกว้างขวางที่วัฒนาการมาจากดนตรีแนว ดิสโก้ หรือแนวแดนซ์ฮอลยุคกระโน้น
ถึงที่สุด กับหนทางพณิชศิลป์ แบบป็อป คัลเจอร์ ดนตรีเหล่านี้จะถูกลดบทบาทให้เป็นเรื่องรองลงไป เมื่อมีแบบอย่างวงสไตล์ บอยแบนด์ และเกิร์ลกรุ๊ปเฟื่องฟู โดยมีคอนเซ็ปต์ที่เน้นหน้าตาและรูปร่างของศิลปิน อีกทั้งการเต้นแบบได้รับการฝึกฝน การออกแบบท่าเต้น คอสตูมเครื่องแต่งกาย และจริตจะก้านบนเวที เหล่านี้คือจุดขาย ทั้งนี้ จะตอบสนองต่อความต้องการของผู้เสพศิลปะเหล่านี้ อย่างถูกจริตด้วยกันทั้งผู้ผลิตและผู้เสพ อันถือเป็นความต้องการพื้นฐานของคนแบบเจริญรุดไปตามกาล
นั่นคือ ดนตรี ไม่ได้มีไว้เสพด้วยโสตแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว เราใช้ตาดูและเพ่งพิจารณาด้วยความเพลิดเพลินยิ่งแล้ว 30 ล้านวิว ของโบราและฮโยริน คือตัวอย่างที่เด่นชัดต่อการตอบสนองในสัญชาตญาณส่วนลึกนั่นเชียว
**ต้นแบบตัวแม่ “มาดอนน่า” กับการฝึกเต้นกับกระจก และท่วงทำนองเพลงแดนซ์ที่มีกลิ่นของเพลงดิสโก้