พายุสุริยะ มหันตภัยใกล้กว่าที่คิด


ดูหนังที่เกี่ยวกับพายุสุริยะมาก็หลายเรื่อง
รอดูข่าวทีวีมาก็หลายรอบ แต่ไม่เห็นเกิดอะไรขึ้นเลย คิดว่าหลายคนคงมีความรู้สึก “เฉยๆ” กับปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นที่อาจไม่มีอะไรมากนอกเสียจากภาพท้องฟ้าสวยๆ ที่ส่องประกายออร่าแสงเขียว ที่เรียกกันว่า “แสงเหนือใต้” โบกสะบัด หรือภาพพระอาทิตย์พิโรธเหมือนลูกบอลโดนราดน้ำมันแล้วจุดไฟเผาลุกกลางอวกาศ

เราเปิดนิตยสาร National Geographic ฉบับเดือนกรกฏาคม พบข้อมูลที่น่าสนใจหลายประการจนอยากเอามาเล่าสู่กันฟัง อาจจะเพราะหน้าปกที่โคลสอัพดวงอาทิตย์ที่เกิดพายุสุริยะ กับ ตัวหนังสือตัวโตพาด “มหาพายุสุริยะ มหันตภัยใกล้ตัวกว่าที่คุณคาดคิด” ที่ทำให้เราสะดุดตาก็เป็นได้

พายุสุริยะ คือ กระแสของอนุภาคพลังงานสูงที่พัดมาจากดวงอาทิตย์ด้วยปริมาณและความเร็วสูงกว่าระดับปกติ อนุภาคนี้มีทั้งอิเล็กตรอนและโปรตอน เป็นตัวการทำให้เกิดแสงเหนือใต้ และพายุแม่เหล็ก ซึ่งส่งผลต่อดาวเทียม ยานอวกาศ และระบบสายส่งบนโลก ปกติพายุสุริยะจะไม่ส่งผลโดยตรงต่อโลกและสิ่งมีชีวิตบนโลก เนื่องจากโลกมีบรรยากาศและสนามแม่เหล็กคุ้มกัน มีเพียงนักบินอวกาศที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในอวกาศเท่านั้นที่อาจได้รับอันตรายทั้งจากพายุสุริยะและรังสีจากดวงอาทิตย์


ในอดีตพายุสุริยะเคยสำแดงฤทธิ์เดชให้เห็นแล้วหลายครั้ง เช่น ใน ปี 1859 พายุสุริยะทำให้สายโทรเลขลัดวงจรจนทำให้เกิดเพลิงไหม้หลายแห่งในยุโรปและอเมริกา และ ปี 1989 พายุสุริยะก็เคยทำให้หม้อแปลงของไฟฟ้าระเบิดจนทำให้ไฟดับทั่วทั้งควิเบกของแคนาดามาแล้ว นอกจากนี้ดาวเทียมและยานอวกาศที่อยู่ในอวกาศก็อาจเสียหายจากพายุสุริยะได้ ในอดีตเคยมีดาวเทียมหลายดวงเสียหายจากเหตุการณ์นี้มาแล้ว เนื่องจากปัจจุบันชีวิตประจำวันของผู้คนต้องพึ่งพาเทคโนโลยีอวกาศมาก ทั้งโทรศัพท์ โทรทัศน์ การกระจายเสียงวิทยุ ระบบบอกพิกัด ฯลฯ ดังนั้นหากมีพายุสุริยะมาทำให้ดาวเทียมเหล่านี้เสียหายไป ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของผู้คนอย่างแน่นอน

คาร์ล ไชรเวอร์ นักดาราศาสตร์ในแคลิฟอร์เนีย ยอมรับว่า เราสามารถพยากรณ์ว่าดวงอาทิตย์จะทำอะไรล่วงหน้าได้เพียงไม่กี่วัน ดวงอาทิตย์ประกอบด้วยพลาสมา เมื่ออะตอมแตกตัวกลายเป็นโปรตอนกับอิเล็กตรอนอิสระ อนุภาคมีประจุเหล่านี้ทำให้พลาสมากลายเป็นตัวนำไฟฟ้าชั้นเยี่ยม นอกจากนี้ ดวงอาทิตย์ยังเต็มไปด้วยสนามแม่เหล็กที่ซ่อนอยู่ใต้พื้นผิว แต่บางครั้งก็เผยตัวออกมาเป็นท่อที่มีขนาดใหญ่กว่าความกว้างของโลก และเป็นต้นเหตุของพลังลมสุริยะที่พ่นพลาสมาวินาทีละ 1 ล้านตันออกมาด้วยความเร็ว 700 กิโลเมตรต่อวินาที


ดังนั้น ดวงอาทิตย์จึงเป็นเสมือนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดมหึมา เส้นสนามแม่เหล็กที่โอบรอบจากขั้วสู่ขั้ว เส้นสนามแม่เหล็กย่อยที่พัวพันกับพลาสมาในเขตความร้อนมักบิดและงอจนทะลุพื้นผิวขึ้นมาให้เห็นเป็นบ่วงพลาสมาอันร้อนแรงเจิดจ้า เมื่อสองบ่วงชนกันอาจเกิดไฟฟ้าลัดวงจรและนำไปสู่ระเบิดครั้งใหญ่รุนแรงเท่าระเบิด TNT หลายร้อยล้านเมกะตัน

ปรากฏการณ์พายุสุริยะที่คาร์ริงตันเมื่อปี 1859 เกิดอนุภาคที่มีประจุพุ่งเข้าสู่บรรยากาศโลกชั้นบน ก่อให้เกิดแสงเหนือใต้เข้มข้นที่เห็นได้เกือบทั้งโลก บางคนถึงกับคิดว่ากำลังเกิดอัคคีภัยลุกใหม้ทั่วทั้งเมือง! เหตุการณ์ครั้งนั้นถือเป็นการระเบิดที่รุนแรงครั้งหนึ่งในรอบหลายศตวรรษ เมื่อมนุษย์ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีที่ติดตั้งไว้ในอวกาศมากขึ้นเรื่อยๆ พายุสุริยะจึงสร้างความเสียหายได้อย่างใหญ่หลวง

1) เมื่อภูมิอากาศขัดข้อง มีผลให้นักบินเที่ยวพาณิชย์ที่ในแต่ละปีต้องบินผ่านขั้วโลกเหนือกว่า 11,000 เที่ยวเกิดขัดข้องเนื่องจากวิทยุคลื่นสั้นที่ใช้ในการสื่อสารถูกรบกวน นักบินต้องเปลี่ยนเส้นทางบิน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงถึงเที่ยวละ 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ
2) ชั้นบรรยากาศไอโอโนสเฟียร์ที่ปั่นป่วนจะรบกวนสัญญาณจีพีเอส ส่งผลให้การกำหนดพิกัดอาจผิดพลาดได้มากถึง 50 เมตร แท่นขุดเจาะน้ำมันลอยน้ำจะปรับตำแหน่งให้อยู่กับที่ได้ยากและนักบินยังไม่สามารถพึ่งพาระบบจีพีเอสที่ใช้ตามสนามบินต่างๆ ที่ใช้ในการลงจอดได้
3) การลุกจ้าของดวงอาทิตย์ยังรบกวนวงโคจรดาวเทียมด้วยการทำให้บรรยากาศร้อนขึ้นซึ่งจะเป็นการเพิ่มแรงดัน นาซาบอกว่าสถานีอวกาศนานาชาติลดระดับลงวันละ 300 เมตร นอกจากนี้พายุสุริยะยังอาจทำลายระบบอิเล็กทรอนิกส์ในดาวเทียมสื่อสารที่ลอยคว้างไปในวงโคจรจนใช้การไม่ได้
4) หม้อแปลงขนาดใหญ่มักต่อสายดินลงพื้นโลกโดยตรง พายุสุริยะจึงอาจเหนี่ยวนำให้เกิดกระแสไฟฟ้าแปลงร้อนจัดจนลุกเป็นไฟหรือระเบิดได้ ความเสียหายรุนแรงถึงขั้นหายนะ จากพายุสุริยะที่เกิดขึ้นเมื่อปี 1921 หากเกิดขึ้นวันนี้จะทำให้ไฟฟ้าในทวีปอเมริกาเหนือดับไปกว่าครึ่ง คนหลายร้อยล้านต้องกลับไปใช้ชีวิตเหมือนสมัยที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้เป็นเวลาหลายสัปดาห์หรืออาจจะหลายเดือน


ดังนั้น นักวิจัยจึงมุ่งพยากรณ์ความรุนแรงของพายุสุริยะและเวลาที่น่าจะมาถึง เพื่อเตรียมความพร้อมให้ระบบต่างๆ ที่อาจได้รับความเสียหาย ล่าสุดได้เริ่มใช้แบบจำลองคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ชื่อ “เอ็นลิล” ที่สามารถทำนายเวลาได้ช้าเร็วไม่เกิน 6 ชั่วโมง ซึ่งเมื่อ 8 มีนาคมที่ผ่านมา เอ็นลิลพยากรณ์ว่าพายุอาจมีขนาดใหญ่เกิดขึ้น ปรากฏว่าคลาดเคลื่อนไปเพียง 45 นาทีเท่านั้น พายุคราวนั้นเป็นแค่สายลมแผ่วๆ แต่คราวหน้าเราอาจไม่โชคดีอย่างนั้นอีก



No Comments Yet

Comments are closed

user's Blog!

49/1 ชั้น 4 อาคารบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

49/1 4th floor, Phra-A-Thit Road, Chanasongkhram,Phanakorn Bangkok 10200

Tel. 02 629 2211 #2256 #2226

Email : mars.magazine@gmail.com

FOLLOW US ON

SUBSCRIBE