Slow Travel ยิ่งรีบ…ก็ยิ่งช้า


กินอาหารฟาสต์ฟูด นั่งเรือด่วนคลองแสนแสบ บางทีก็ต้องขึ้นทางด่วนเพราะไม่อยากนั่งรถเมล์ที่ขับซิ่งแย่งผู้โดยสาร ถึงออฟฟิศเจ้านายก็ยังเรียกเข้าประชุมด่วน ช่วงนี้ฝนตกต้องรีบกลับบ้านเดี๋ยวรถติด…นึกถึงตอนเช้าแล้วไม่อยากจะคิด เพราะต้องรีบออกจากบ้านแต่เช้ามืด (กลัวรถจะติดเหมือนกัน) ดูเหมือนกับว่า ทุกอย่างในชีวิตของเราทุกวันนี้ดูรีบเร่งไปหมดเสียทุกอย่าง

ไม่เว้นแม้แต่ตอนไปเที่ยว กว่าจะลางานได้ก็ต้องใช้ทุกนาทีแห่งการลาพักร้อนให้คุ้มค่า บางคนเดินทาง 1 ทริปใน 1 ปีก็หวังจะเก็บแต้มให้ครบ ทั้งทำสปา ขี่ช้าง ขี่ม้า ดูมวยไทย ไปทะเล แม่น้ำ น้ำตก เดินป่า ล่องแก่ง ฯลฯ หรือถ้าชอบภูเขาก็เก็บตั้งแต่ภูหลวง ภูเรือ ภูกระดึง เชียงคาน เขาค้อ ภูทับเบิก เขาใหญ่ ฯลฯ จนตารางเที่ยวแต่ละที่มีเวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง แน่นเอี้ยดยิ่งกว่าตารางทัวร์เกาหลีอันแสนทรหดด้วยซ้ำ เผลอๆ จะทำให้เรารู้สึกเหนื่อยกว่าวันทำงานปกติเสียอีก ลงท้ายด้วยการอดตาหลับขับตานอน เอารูปไปลงโชว์ในเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรมแล้วก็ตั้งสถานะอวดเพื่อนๆ

จริงๆ แล้วหากเราต้องการจะไปเที่ยวเพื่อการพักผ่อน สถานที่แห่งนั้นก็น่าจะต้องให้ความรู้สึกได้ว่าเรามาพักผ่อนจริงๆ ไม่ต้องเร่งรีบหรือแข่งขันกับใคร ไม่ต้องถูกกดดันจากอิทธิพลของระบบทุนมากนัก เป็นต้น ด้วยเหตุนี้เอง “Slow travel” หรือที่บางคนเรียกว่า “การท่องเที่ยวแบบเนิบช้า” จึงเกิดขึ้นมาเพื่อเป็นทางเลือกใหม่แก่สาวกการท่องเที่ยว ผู้ที่นิยมการเที่ยวแบบละเมียดละไม ให้เวลากับสิ่งรอบด้านมากขึ้น ใช้ประสาทสัมผัสที่มีให้มากขึ้นเพื่อซึมซับความสวยงามของสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบกาย
 
ใครที่ยังนึกไม่ออกว่าจะเริ่มอย่างไร ก็ให้ลองวางแผนในการเยี่ยมเยือนสถานที่รอบที่พักของเราดูเล่นๆ ทั้งวิถีชีวิตพื้นบ้าน หรือลองทำความรู้จักกับอาหารในท้องถิ่น การนั่งพูดคุยกับคนเฒ่าคนแก่ซึ่งรับรองได้เลยว่าจะได้สัมผัสกับแง่มุมใหม่ๆ ในชีวิตที่น้อยคนจะมีโอกาสสัมผัสอย่างแน่นอน

หากจะยกตัวอย่างของ Slow travel ในบ้านเราที่น่าสนใจสักที่ก็คงจะหนีไม่พ้น ชุมชนบ้านไม้ริมฝั่งโขงที่ อ.เชียงคาน จ.เลย ซึ่งชุมชนแห่งนี้มีวิถีชีวิตชาวบ้านที่เรียบง่าย เงียบสงบและน่าสนใจไม่แพ้ที่ใดๆ ในต่างประเทศเลย เริ่มจากลองพยายามตื่นแต่เช้ามาใส่บาตรด้วยข้าวเหนียวที่หยิบเป็นก้อนๆ อย่างพอเหมาะพอดี บรรจงใส่บาตรอย่างเบามือและสำรวม จากนั้นก็หาจักรยานสักคันออกแรงปั่นไปที่ตลาดเช้าที่อยู่ในละแวกนั้น เพื่อไปสำรวจว่าในตลาดที่นั่นมีอะไรที่แตกต่างไปจากตลาดบ้านเราบ้าง พลันสายตาก็เหลือบไปเห็นร้านขาย ขนมปังบาเก็ตไส้ตับบด ซึ่งความพิเศษจะอยู่ที่ไส้ตับบดปรุงรสหอมๆ นุ่มๆ และน้ำจิ้มสูตรพิเศษนั่นเอง หลังจากอิ่มแล้วก็ปั่นจักรยานลัดเลาะไปตามร้านรวงต่างๆ ที่ตั้งอยู่ตลอดสองข้างทาง เพราะดูเหมือนว่าเกือบทุกร้านจะยินดีต้อนรับผู้ที่มาเยือนเสมือนเป็นมิตรสหายอยู่เสมอ

หรืออย่างเช่นร้าน นิยมไทย ซึ่งเป็นร้านเก่าแก่ที่สืบทอดการทำผ้าห่มนวมมาตั้งแต่บรรพบุรุษ จนถึงรุ่นปัจจุบันซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่สามเข้าไปแล้วก็นับว่าเป็นมืออาชีพในการทำผ้าห่มนวมจริงๆ ต่อจากนั้นก็ปั่นลัดเลาะฝั่งโขงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเจอบาร์เล็กๆ น่ารัก จึงแวะไปทักทายพี่เจ้าของร้านที่เปี่ยมไปด้วยอัธยาศัยอันดี ปิดท้ายด้วยการไปไหว้พระยังวัดต่างๆ ที่เงียบสงบ โดยวัดเหล่านี้ล้วนอยู่ในละแวกใกล้เคียง

…จักรยานคันน้อยปั่นๆ หยุดๆ ไปตลอดทางละเลียดทัวร์ หวังเพียงเพื่อจะหยุดวิ่งตามหรือวิ่งหนีโลก…ที่นี่ เวลาช้าลง เพียงแค่หยุด แล้วหันมาใส่ใจรายละเอียดของสิ่งต่างๆ รอบตัวให้มากขึ้น สิ่งนี้นับว่าเป็นความหมายของ Slow travel ที่แท้จริงซึ่งยังประโยชน์ให้เราได้เปิดใจ เปิดรับสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยรับรู้มาก่อนว่ามีอยู่ ได้พักหัวใจที่อ่อนล้าจากเรื่องต่างๆ นอกจากนี้ หากเราได้ใช้เวลาในการละเลียด นิ่งพักในแหล่งท่องเที่ยวได้นานเท่าไหร่ (เท่าที่สามารถทำได้) เจ้าของชุมชนแหล่งท่องเที่ยวย่อมได้ประโยชน์ตามไปด้วยจากรายได้เล็กๆ น้อยๆ ที่เราจ่ายออกไปอย่างเต็มใจ

อย่าตั้งความหวังว่าถ้าไม่ได้ไปที่โน่นที่นี่ แล้วจะได้ชื่อว่าไปไม่ถึงที่ เพราะจุดหมายที่เรามุ่งมั่นมากเกินไป อาจทำให้เราละเลยสองข้างทางอันสวยงามไปอย่างน่าเสียดาย ยังมีสิ่งดีๆ ที่รออยู่ ไม่ว่าจะเป็นรอยยิ้มที่เป็นมิตร ความใสซื่อบริสุทธิ์ไม่มีสิ่งเคลือบแฝงของธรรมชาติและบางสังคม ซึ่งหากใครสัมผัสได้จะได้ชื่อว่าสามารถค้นพบความสุขที่แท้จริงซึ่งเก็บเกี่ยวได้จากการเดินทาง











No Comments Yet

Comments are closed

user's Blog!

49/1 ชั้น 4 อาคารบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

49/1 4th floor, Phra-A-Thit Road, Chanasongkhram,Phanakorn Bangkok 10200

Tel. 02 629 2211 #2256 #2226

Email : mars.magazine@gmail.com

FOLLOW US ON

SUBSCRIBE