คารวาลัย 3 มหาเทพแห่งร็อก

Blowin’ in the songs
โดย : ประมวล ดาระดาษ
p_daradas@hotmail.com

“วันที่ดนตรีตาย” (The Day the Music Died) นั้นเป็นวลีท่อนหนึ่งในเพลงดังของ ดอน แมคคลีน “อเมริกัน พาย” (American Pie) เพลงชื่อเดียวกับอัลบัมปี 1971 ที่เขาเขียนอาลัย อุทิศย้ำความทรงจำกับกรณีอุบัติเหตุเครื่องบินตก และทำให้สามสุดยอดศิลปินร็อก แอนด์ โรลที่โด่งดังที่สุดในยุค 60 ขณะนั้น ต้องเสียชีวิตแบบดาวร่วงสามดวงพร้อมกัน

เป็นประวัติศาสตร์ช็อกโลกของวงการเพลงอีกคราหนึ่ง ดาราร็อกสามคนที่กำลังแตกพะเนียงเป็นพลุโชนแสงยามนั้นมี บัดดี้ ฮอลลี่, ริทชี่ วาเลนส์ และ เจ.พี.เดอะ บิ๊ก บูปเปอร์ ริชาร์ดสัน ทั้งหมดเสียชีวิตพร้อมกันกับนักบินอีกหนึ่งคน โดยเครื่องบินโดยสารขนาดเล็ก “บีชคราฟท์ โบนันซา” ซึ่งเครื่องขัดข้องกลางอากาศและตกโหม่งโลกใกล้ทะเลสาบ ที่ไอโอวา เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 1959

อุบัติเหตุในวันนั้น นับเป็นวันแห่งความเศร้าแบบที่โลกนี้เหมือนจะสูญสิ้นเสียงเพลงไปเลยทีเดียว

มาย้อนรำลึกโศกนาฏกรรมครั้งนั้น กับการบันทึกประวัติศาสตร์สังคมผ่านบริบทแห่งเนื้อเพลงจากฝีมือการเขียนของดอน แมคคลีน ที่เหมือนจะเล่าเรื่องราวของผู้คนในสังคมยามนั้นไว้มากมาย โดยเฉพาะมิส อเมริกัน พาย ผู้เป็นตัวละครหลักแห่งเรื่องสะเทือนใจ ที่เรื่องราวในเพลงเป็นมากกว่าการจบชีวิตของดาวดังและเสียงดนตรี

การเขียนเนื้อร้องของดอน แมคคลีน และแม้จะเป็นจังหวะระทึกก็ให้อารมณ์หม่นเศร้า เน้นการโหยหาภาพอดีตแสนงามที่พังทลายลงไปต่อหน้า เหมือนสังคมอเมริกันโดยรวมขณะนั้นจะสิ้นความฝันและสุนทรียะแห่งความงามไปเลยทีเดียว

จากยุคดนตรีร็อก แอนด์ โรล ทศวรรษ 60 ก็สู่ยุค 70 ฮาร์ด ร็อค และเฮฟวี่ เมทัล ในกาลต่อมา โลกดนตรีสมัยใหม่ มีวัฒนาการก้าวไป หากทว่ายังสืบขนบสานต่อท่วงทำนองมาจากยุคคลาสสิก จนถึงขณะนี้ สหัสวรรษใหม่ที่ดนตรีแนวฮิป ฮ็อป อาร์ แอนด์ บี และป๊อบ แดนซ์ รุ่งเรืองสุดขีด กลบดนตรียุค 70-80 ซึ่งเป็นยุคที่ได้รับการยอมรับว่า ดนตรีมีสุนทรียะ ความงาม ของรูปแบบ และท่วงทำนองแบบเจริญเติบโตสุดขีด จัดเป็นปรากฎการณ์และตำนานที่จะต้องถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ดนตรี

นั่นคือ ดนตรีผ่านยุคโมเดิร์น อันมีรากสืบสานมาจากยุคคลาสสิก บาโรค และการก็เหมือนจะย้อนรอย “วันที่ดนตรีตาย”ในปี 59 มาสู่ “ปีที่ดนตรีเมทัลตาย”ในลักษณะที่ตัวศิลปินผู้สร้างสรรค์ได้ถูกมัจจุราชคร่ากุมไปตามวัยและสังขาร แม้นจะไม่ได้ช็อก ด้วยอุบัติเหตุแบบสิ้นชะตากรรมพร้อมกัน แบบเครื่องบินตกตายทั้งลำ

หากทว่าการค่อยๆ ทยอยร่วงไปแบบใบไม้ปลิดขั้วตามธรรมชาติ แบบนี้ ก็คงทำให้แฟนๆ ดนตรี ที่ยังปลื้มอยู่ในสกุลขนบสุนทรียะยุคโมเดิร์นได้ใจหายพอๆ กัน เหมือนโลกดนตรีที่ซาบซึ้ง สุขุม นุ่มลึก หนักแน่น ว่องไว เข้มทรงพลัง และงดงามด้วยท่วงทำนองเสนาะหู จักสูญสิ้นเมื่อถูกกลบด้วยดนตรีสมัยใหม่ที่ส่วนมากเหมือนจะไร้แก่น สะเปะสะปะ ประเมินคุณค่าได้ยากตามแบบฉบับของดนตรียุค โพสต์ โมเดิร์น (หลังปี 2000)

สิ่งเหล่านี้มันหายไปพร้อมกับ สตาร์ เมทัล ชื่อก้องที่จะยกตัวอย่างและบทเพลงมาเป็นสังเขปสักสามดวงเหมือนกับ “วันที่ดนตรีตาย” ในครั้งกระโน้น แบบเทียบเคียง

1.“เมทัลลุกคอทอง” รอนนี เจมส์ ดิโอ
ย้อนกลับไปปี 2009 รอนนี เจมส์ ดิโอ แห่งคณะดิโอ ยอดนักร้องสายเมทัล ได้ออกมาเปิดเผยเรื่องอาการป่วยของตน ก่อนหน้าจะออกทัวร์คอนเสิร์ตกับเพื่อนๆ อดีตวง “แบล็ก ซับบัธ” (มีข่าวว่า “ซับบัธ” จะกลับมารียูเนี่ยนอีกครั้งกับอัลบัมใหม่เมื่อเดือนที่แล้ว) ร่วมกับมือกีตาร์หัวหน้าวง โทนี่ ไอโอมี่ และกีเซอร์ บัทเลอร์ ภายใต้ชื่อวงใหม่ Heaven & Hell ขณะที่แผนการทัวร์ในฤดูร้อนปีนั้นลงตัว แต่ก็ต้องถูกยกเลิกไปโดยปริยาย เพราะอาการป่วยของ ดีโอ เริ่มแย่ลง แม้จะมีการพยายามรักษามาตลอดระยะเวลาเจ็ดเดือนที่ผ่านมาก็ตาม

ดีโอ กล่าวแถลงต่อสื่อมวลชน ก่อนเสียชีวิตไม่นาน ด้วยความมั่นใจว่า “ด้วยความรักและกำลังใจจากทุกคน เราคณะเฮฟเวน แอนด์ เฮล จะสู้ต่อไป และจะต้องมีทัวร์คอนเสิร์ต กับผลงานเพลงใหม่ มีชีวิตก้าวไป เราจะสร้างสรรค์ผลงานที่บันดาลจากใจด้วยกันจนกว่าลมหายใจจะสิ้น”

และเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2010 ปีถัดมา จากอาการโรคมะเร็งในช่องท้องก็กำเริบเกินจะเยียวยา พญาราชสีห์สุดยอดฟร้อนท์แมน เมทัล ก็จากแฟนๆ ไปเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2010

รอนนี เจมส์ ดิโอ เริ่มเป็นที่รู้จักเมื่อปี 1975 ในฐานะนักร้องนำคนแรกของวงเฮฟวี่ เมทัล ฉายา “สายรุ้งสกาวสดใส” วง “เรนโบว์” ที่มี ริทชี่ แบล็คมอร์ มือกีตาร์ที่เพิ่งออกจากวงพี่ “ดีพ เพอร์เพิล” มาหมาดๆ เป็นผู้ก่อตั้ง

ดิโอ เคยเข้าไปร้องนำในวง แบล็ก ซับบัธ แทนตำแหน่งของ ออซซี่ ออสบอร์น เมื่อปี 1980 สร้างอัลบัม “Heaven And Hell” ที่ต่อมาถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในอัลบัมเฮฟวี่ เมทัลที่ดีที่สุดตลอดกาลแบบขึ้นหิ้ง

หลังจากนั้นเขาก็โลดแล่นอยู่ในวงการเมทัลอีกหลายวง แบบสร้างชื่อเป็นตำนานนักร้องเมทัลติดทำเนียบ ติดโผที่สุดตลอดกาล และเขายังแยกออกมาตั้งวง “ดิโอ” ของตน มีผลงานประดับวงการอยู่ระยะหนึ่ง แม้จะโด่งดังไม่เท่ากับสมัยที่เขาสร้างสรรค์ร่วมกับรีทชี แบล็กมอร์ สมัยอยู่ “เรนโบว์” ก็ตามที

Heaven And Hell, Man from silver mountain และ Stargazer คือ ส่วนหนึ่งของผลงานเพลงจากฝีมือเขาที่กลายเป็น ผลงานระดับคลาสสิคขึ้นหิ้ง ในประวัติศาสตร์ของดนตรีเอฟวี่ เมทัล

รอนนี เจมส์ ดีโอ ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การดนตรี คนหนึ่ง เขามีแบบฉบับและสไตล์การร้องในอัตลักษณ์แห่ง “ดิโอ” คือไม่เค้นเสียงสำราก ความดิบโหดมากนัก เขามีแก้วเสียงและลูกคอกังวาน ร้องชัดพยางค์ พร้อมเน้นพลังเสียงเข้ม ราวกับเป็นดนตรีชิ้นหนึ่ง โดยใช้ไมโครโฟนและลูกคอเป็นเครื่องมืออันทรงพลัง


2.“เทพบลูส์ ร็อค ไอร์แลนด์” แกรี มัวร์
“โรเบิร์ต วิลเลียม แกรี มัวร์” เป็นนักกีตาร์ นักร้อง นักแต่งเพลงแนวบลูส์ ร็อกจากเบลฟาสต์ ไอร์แลนด์เหนือ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในนาม “แกรี มัวร์”

เริ่มอาชีพดนตรี มาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1960 เมื่ออายุเพียง 17 ปี เคยขึ้นแจมเวทีดนตรีร่วมกับนักดนตรีในระดับตำนานบลูส์ เช่น บี. บี. คิง, อัลเบิร์ต คิง, กับหนึ่งในอดีตผู้ยิ่งใหญ่บีทเทิลส์ จอร์จ แฮร์ริสัน, มาร์ก นอฟเลอร์แห่ง ไดร์ สเตรตส์ และ เดวิด กิลมอร์ แห่งโปรเกรสสีฟ ร็อคตลอดกาล พิงค์ ฟลอยด์

เขามีผลงานทดลองในแนวทางต่างๆ มากมาย ทั้งดนตรีร็อก, แจ๊ส, บลูส์, คันทรี อิเล็กทรอนิกส์ ฮาร์ด ร็อก และเฮฟวี่ เมทัล แบบเล่นได้หลากหลายพัฒนาสไตล์ไม่หยุดนิ่ง

ผลงานที่สร้างชื่อเสียงที่สุดของเขา คืออัลบัมและซิงเกิ้ล Still Got the Blues ในปี 1990 และก็เหมือนเป็นกรรม ผลงานชิ้นนี้ถูกกล่าวหาว่าลอกเลียนลูกลิคโซโลเข้มหยดย้อยในแนวทางบลูส์ มาจากเพลงโปรเกรสสีฟ Nordrach (1974)วงเยอรมันนาม Jud's Gallery

เขาปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ว่าไม่รู้จักเพลงดังกล่าว ทว่าศาลเยอรมันก็พิพากษาในปี 2008 ว่า แกรี มัวร์นั้นอาจไม่ได้มีเจตนาก็จริง ทว่าเมโลดี้เพลงทั้งสองใกล้เคียงกันมาก จึงไม่ยกประโยชน์ให้จำเลย นั่นคือ ผลมีคำพิพากษาออกมาถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ นี่คือตราบาปที่อาจทำให้เขากลัดกลุ้ม นอกจากเสื่อมเกียรติยศแล้ว ยังต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับเจอร์เกน วินเทอร์ หัวหน้าวง Jud's Gallery แบบต้องจำนน

แกรี มัวร์เสียชีวิตอย่างกะทันหันเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2011) ด้วยวัยเพียง 58 ปี ขณะเดินทางไปพักผ่อนในประเทศสเปนกับแฟนสาว แพทย์สันนิษฐานว่า เนื่องจากอาการหัวใจล้มเหลว

ถ้าไม่นับกรณีละเมิดลิขสิทธิ์ แกรี มัวร์ จัดเป็นบลูส์ เมทัลฮีโร อีกหนึ่งตำนาน

เรามาฟังเพลงแนวโพรเกรสสีฟ ร็อค ที่ซับซ้อนและมีสามแพทเทิร์นในหนึ่งเพลง “Nordrach” (1974) ตั้งแต่นาทีที่ 6 ไปแหละครับ ที่ Still got the blue ของแกรี มัวร์ ไปแฝดคล้ายเข้า



3.“เทพแฮมมอนด์” จอน ลอร์ด
ล่วงลับไปเมื่อ 17 ก.ค.2012 กับตำนานเทพแห่งคีย์บอร์ด และแฮมมอนด์ ซาวนด์ แบบจิ๊กโก๋สุดสะเด่า ยุค 70 เขาคือโจนาทาน ดักลาส “จอน” ลอร์ด (Jonathan Douglas “Jon” Lord) นักแต่งเพลง นักเปียโนและออร์แกน มีชื่อเสียงในฐานะนักดนตรีผู้บุกเบิกดนตรีแนวผสมผสานระหว่างคลาสสิก ร็อกโดยการประยุกต์ท่วงทำนองมาจากยุคบาโรก ที่เพราะพริ้งให้มาร่วมสมัยกับดนตรีร็อก ในทศวรรษ 70-80

เขาเป็นผู้นำและบุกเบิกท่วงทำนอง เนื้อร้อง ของดนตรีฮาร์ด ร็อกพัฒนามาสู่เฮฟวี่ เมทัล โดยเป็นอดีตหัวหน้าวงและผู้ก่อตั้งวง ดีพ เพอร์เพิล ยุคเริ่มแรกในปี 1968 โดยเป็นสมาชิกหลักของวงร่วมกับเอียน เพซ มือกลอง และได้พัฒนาแนวทางเพลงร่วมกับมือกีตาร์สุดอหังการ ริทชี แบล็คมอร์

ลีลาบรรเลงออร์แกนอันซับซ้อน ร่ายมนตราแบบขมังเวทย์ ราวนิ้วทั้งสิบคือหนวดปลาหมึก เป็นสไตล์พลิ้วพราย รวดเร็ว แม่นยำ ยกตัวอย่างท่อนโซโล คีย์บอร์ด บทเพลง “Highway Star” อันอมตะที่สร้างความตื่นตา เร้าใจ ทะลวงโสตในยุคนั้น มันแสดงถึงทักษะและทีมเวิร์คที่ช่ำชอง ทำให้วง “ดีพ เพอร์เพิล” ได้รับฉายา “ผู้ว่องไวดุจสายฟ้า” แห่งวงการเฮฟวี่ ฮาร์ด ฮ็อตแห่งยุค ตอนนั้นนิยาม “เฮฟวี่ เมทัล” ยังไม่มา

ก็ต้องยอมรับกันว่า เอกลักษณ์ของวงดีพ เพอร์เพิลนั้น ส่วนหนึ่ง มาจากมันสมองแห่งการสร้างสรรค์บรรเลงของจอน ลอร์ด กับออร์แกนแฮมมอนด์ โดยการสร้างสำเนียงดิสทอร์ชั่นแตกพร่า กับเทคนิคการใช้แอมปลิไฟล์ Leslie และตู้ลำโพงแบบหมุน ที่เรียกว่าอัตลักษณ์เสียงแบบ เลสลี ซาวนด์ เมื่อเสียงนี้ประสานรับกับเสียงกีตาร์อันเร่าร้อนของ ริทชี แบล็คมอร์ ก็กลายเป็นความโดดเด่น สร้างชื่อให้กับวง และกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปินที่เน้นเทคนิค และความเร็วในยุคต่อมา ที่เรียกว่ายุค “นีโอคลาสสิก”

ตำนานอย่าง จอน ลอร์ด ยังสร้างปรากฏการณ์ให้กับวงการเพลงโดยนำวงดีพ เพอร์เพิล แสดงร่วมบรรเลงกับ วง Royal Philharmonic Orchestra ในเพลง Concerto for Group and Orchestra สร้างความตื่นตาให้กับผู้ชมในยุคนั้น มันแสดงให้เห็นว่าดนตรีไร้พรมแดนโดยแท้ ต่อรูปแบบและวิธีการนำเสนอ โดยที่ผู้คนมักปักใจ และอาจคิดว่า คงเข้ากันไม่ได้ กับดนตรีของจิ๊กโก๋ดิบเถื่อนที่จะมาผสมผสานกับดนตรีคลาสสิคซิมโฟนี่ แต่ก็เป็นไปแล้ว

ทั้งนี้ กับการสร้างสรรค์คราวนั้น มันคือต้นแบบให้กับศิลปินเมทัลรุ่นต่อมา หันมาร่วมงานกับวงออร์เคสตรา อย่างเมทัลลิกา และสกอร์เปี้ยนส์ ได้เดินเจริญตามรอย

หลังจากจอน ลอร์ด ออกจากวงดีพ เพอร์เพิล ในปี 2002 เขาได้ให้ความสนใจกับดนตรีอันคืนสู่รากเหง้าพื้นฐานคลาสสิกที่บรรเลงด้วยเปียโน และประพันธ์เพลง Durham Concerto ฉลองวาระ 175 ปีมหาวิทยาลัย Durham ประเทศอังกฤษ

กับชีวิตที่อุทิศตัวให้กับวงการเพลง ทำให้ จอน ลอร์ด ได้รับปริญญาเอกกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยในบ้านเกิด เมืองเลสเตอร์ ในปีที่แล้ว ช่วงเวลาเดียวกันนั้นเองที่แพทย์ตรวจพบมะเร็งตับอ่อน และนำไปสู่การเสียชีวิตในวัย 71 ปี

ขอจงร่วมคาระวาลัยเทพแห่งแฮมมอนด์ หรือ “แฮมมอนด์ ลอร์ด” (Hammond Lord) ด้วยแทร็กแสดงสด กับการบรรเลงผลงานซิมโฟนีของมหาคีตประพันกร “เบโธเฟน” แทร็กนี้ พร้อมกัน

No Comments Yet

Comments are closed

user's Blog!

49/1 ชั้น 4 อาคารบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

49/1 4th floor, Phra-A-Thit Road, Chanasongkhram,Phanakorn Bangkok 10200

Tel. 02 629 2211 #2256 #2226

Email : mars.magazine@gmail.com

FOLLOW US ON

SUBSCRIBE