เทพธิดาชุด “แดง” : เทย์เลอร์ สวิฟท์


Blowin’ in the songs
โดย : ประมวล ดาระดาษ
p_daradas@hotmail.com

“RED” อัลบัมใหม่ล่าสุดของเจ้าหญิงคันทรีแห่งยุค เทย์เลอร์ สวิฟท์ วางแผงไปเมื่อเดือนตุลาคม 55 นี้ โดย บิ๊ก แมชชีน เรคคอร์ด หลังจากที่เธอประสบความสำเร็จมาแล้วกับอัลบัมชุดก่อน speak now (2010)

เพียงแค่สัปดาห์แรกที่เปิดตัวแทร็ก “We Are Never Ever Getting Back Together” ก็เข้าสู่อันดับ 1 ของบิลบอร์ด ฮอต 100, บิลบอร์ด 200, คันทรี ซอง, คันทรี อัลบัม และยังคว้าอันดับ 1 บนชาร์ต iTunes ในอีก 32 ประเทศทั่วโลก และกับยุคดิจิตอลมาเนีย เธอยังเปิดตัวอัลบัมผ่านยูทูบ เว็บ แชธ ซึ่งมีผู้ชมมากเกือบ 5 แสนคนทั่วโลก และล่าสุดมีผู้เข้าชมคลิปนี้แล้วกว่าล้านคน

กับอัลบัมนี้ เทย์เลอร์ สวิฟท์ กล่าวตอบแฟนเพลงผ่านทวิตเตอร์ ต่อกระแสต้อนรับที่ดีเกินคาดคราวนี้ว่า “ขอขอบคุณทุกๆ คนที่มอบสัปดาห์แรกของการเปิดตัวเพลง We Are Never Ever Getting Back Together ได้ยิ่งใหญ่ที่สุด ฉันมีความสุขมาก พวกคุณช่างวิเศษจริงๆ…”

Red นำเสนอด้วยปกอัลบัมที่เป็นรูปใบหน้าของเทย์เลอร์ สวิฟท์ ด้านข้าง ผมสีทองยาวสลวยประบ่า มีเงาหมวกดำบังใบหน้า รูปริมฝีปากอวบอิ่ม ทาลิปติกสีแดง และมีชื่อ Red อักษรสีแดงเด่นสง่ามุมล่างซ้าย ด้านล่างก็คำว่า Taylor Swift สีขาว เรียบง่ายไม่ซับซ้อน นัยที่ต้องการนำเสนอเสียงร้องของเธอ ผ่านความร้อนแรงเพิ่มมากขึ้น

ลุคแบบนี้ทำให้โยงความคิดไปถึงนักแสดง มาริลิน มอนโร ในยุค 60's ที่เธอเล่าว่า เธอค้นพบว่าตนมีเสน่ห์ดึงดูดทางเพศ เมื่อครั้งที่เธอสวมสเวตเตอร์พร้อมกับทาลิปสติกเป็นครั้งแรกไปโรงเรียน โดยมีนักเรียนชายต่างก็มองเธอเป็นตาเดียว บางคนก็ผิวปาก และบางคนก็ปรี่เข้ามาทักทายแทบจะสวมกอด ในขณะที่นักเรียนหญิงต่างก็มองเธอด้วยความสนใจ และอิจฉาเธอ ในสไตล์เจ้าหญิงเดินดินผู้โฉบเฉี่ยว

ก็ประสบความสำเร็จอีกเช่นเคย กับการเปิดตัวซิงเกิลที่เธอสามารถพาขึ้นอันดับ บิลบอร์ด ฮอต 100 ได้อย่างไม่ยาก และ… นี่คือตัวจริง เสียงจริงแห่งวงการคันทรียุคนี้

อัลบัม RED เปิดตัวด้วย

“We Are Never Ever Getting Back Together”
ซิงเกิลแรก สวิฟท์ร่วมเขียนเนื้อร้อง ร่วมกับนักแต่งเพลงชื่อดัง แมกซ์ มาร์ติน และเชลแบ็ก เป็นเพลงแนวบับเบิล กัม ป้อป ที่หวานแบบเคี้ยวแล้วคายทิ้ง ไม่ต้องคิดอะไรมาก กับเครื่องดนตรีอฺเล็กทรอนิกส์ และการร้องออกแนวป็อปใสกิ๊ก ก็เป็นการก้าวย่างขยับจากแนวเพลงคันทรี มาสู่แนวป็อปเน้นๆ ของเธอ หากทว่าได้ใหม่ก็ยังไม่ลืมเก่า คือ แทร็กนี้ยังมีอีกเวอร์ชันที่เป็นคันทรีแท้ๆ สำหรับเปิดในสถานีวิทยุคันทรี ให้เลือกเสพ

เนื้อหาว่าด้วยความรักของหนุ่มสาว การรักแล้วเลิก เลิกแล้วกลับมารักกัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ด้านความรัก ที่จัดเจนในชีวิตจริงของเธอ

ต่อสภาพเจ้าหญิงที่รวยความรัก ทำให้เธอกลายเป็นนักร้องสาวที่ขึ้นชื่อว่า มักจะแต่งเพลงเกี่ยวกับบรรดาแฟนเก่า หรืออดีตชายหนุ่มที่เธอเคยคบหาอยู่เสมอ เรียกว่าหาวัตถุดิบการเขียนเพลงมาจากประสบการณ์ตรงนั่นเอง เช่น เพลง Dear John ที่เชื่อกันว่าเป็นผลพวงมาจากการคบหากับจอห์น เมเยอร์

ส่วนรายชื่อบรรดาหนุ่มๆ ที่เคยคบหากับเธอมาแล้วมีทั้งเทย์เลอร์ เลาท์เนอร์, เจค จิลเลนฮาล และ โครี มอนเธท ไปจนถึง คอนเนอร์ เคเนดี คนสกุลเคเนดี้ เป็นรายล่าสุดที่เพิ่งเลิกรากันไป

“Begin Again”
ซิงเกิลที่สอง เหมือนจะเป็นเพลงที่โชว์ความสามารถในระดับราชินีคันทรีโดยแท้ ทั้งภาคเสียงร้อง และการเรียบเรียงดนตรี สวิฟท์ บอกว่าเนื้อหานั้นก็กล่าวโดยรวมถึง “อุปสรรคแห่งความสัมพันธ์ที่มันเลวร้ายสุดๆ แล้ว เมื่อคุณปัดฝุ่นมันออก และกลับไปพิจารณาดูวันสุดยอดเลวร้ายรุนแรงนั้น ความอ่อนแอก็จะหายไปตาม”

เป็นอีกนิยามของการเขียนเพลง แนวรักที่มีมุมมองด้านบวก เหมาะสมกับยุคสมัย กับดนตรีคันทรี การสไลด์ พีดัล สตีล ในขนบหวานเวิ้งว้าง กีตาร์เมโลดี้ปิ๊กกิ้งสไตล์ กับเสียงร้องที่ชัดเจนแจ่มใส ย้ำตัวตนของเจ้าหญิงคันทรีที่ชัดเจน

“I Knew You Were Trouble”
อีกซิงเกิลที่สวิฟท์เปลี่ยนแนวเพลงไปสู่แนวยอดนิยมแห่งยุค แนว “ดับสเต็ป” แบบฉีกภาพลักษณ์ออกทดลองไป ใครฟังแล้วก็คงคิดว่า “ก็ดีนะ” นั่นคือ เธอมีบารมีเพียงพอแล้วที่จะนำเสนอ หรือทดลองสิ่งใหม่ๆ ได้แบบไม่ขัดเขิน ถึงขนาดได้รับรีวิวจากนักวิจารณ์ในนิวยอร์ก ไทมส์ การันตีว่า “อีกหนึ่ง…ในสุดยอดเพลงป็อปแห่งปี”

กับแนวคิดหนึ่งที่ว่า “ฉันพบว่าพวกผู้ชายในวงการที่ฉันคบด้วย สามารถทำตัวเป็นคู่แข่งได้จริงๆ ฉันได้เจอกลุ่มเพื่อนผู้หญิงที่อยู่ในวงการเดียวกัน แต่เราไม่เคยต้องมาแข่งขันกันเลย แต่ขณะเดียวกันพวกผู้ชายกลับเริ่มเปรียบเทียบเรื่องงานและมันเป็นเหมือน…ความท้าทาย”

หรือนั่นคือปัญหาของเธอ หรือตัวเธอเป็นปัญหาเสียเอง

นั่นคือซิงเกิลเปิดตัวแบบสุดฮิต อัลบัมโดยรวมจะเป็นอย่างไร เพราะพริ้ง และฉีกแนวเพลงออกไปเพียงใด ก็หาฟังกันได้ มีแทร็กดีๆ อีก 13 แทร็ก แบบน่าสนใจ

ด้านเนื้อหาสไตล์คันทรี ที่เหมือนจะลงมาอยู่กับปัจเจกแห่งยุค นั่นคือตัวใครตัวมัน ฉันเป็นฉัน หมกมุ่นอยู่กับเรื่องความรักแบบอัตวิสัย เทย์เลอร์ สวิฟท์ จมอยู่กับวัยในการเขียนเนื้อแบบนักเรียนไฮสคูลเหล่านี้ น่าจะเป็นจุดอ่อนในตัวเพลงและตัวตน ที่ไม่คัมมิ่ง ออฟ เอจ ก้าวไปตามวัยที่วัฒนา

เทย์เลอร์ สวิฟท์ ยังเล่นและเชื่อมันอยู่กับวาทกรรมที่จะนำมาสร้างสรรค์เป็นเพลง เหมือนโลกของหญิงวัยรุ่นที่ย้ำคิด ย้ำทำ หลงในมายาชื่อเสียงและตัวตน อย่าง “สิ่งสุดท้ายที่ฉันคิดเวลาที่ตกหลุมรักใครสักคน คือ พวกเขาทำอะไร ใช้ชีวิตกันยังไง คือ ฉันอยากรู้จักคนคนนั้นให้มากขึ้น มันมักจบลงแบบนั้นเสมอ”

เกี่ยวกับเรื่องความรักแบบปั๊ปปี้เลิฟ

“…ไม่คิดว่าจะมีผู้ชายคนไหนมาขอร้องและวิงวอน ไม่ให้เธอแต่งเพลงเกี่ยวกับความรู้สึกของเธอเองไปในเนื้อเพลงต่างๆ เพราะพวกเขาควรจะยอมรับว่ามันเป็นการ “สละสิทธิ์” ที่จะเดตกับฉันแล้ว…”

“เป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นอยู่นะ กับการที่ผู้ชายบางคนทำให้มีแรงบันดาลใจแต่งเพลง บางคนบอกว่า “ขอร้องเถอะ อย่าแต่งเพลงเกี่ยวกับผมเลย” ซึ่งอันที่จริง มันเกิดขึ้นเฉพาะเวลาที่จะเลิกกันเท่านั้น …”

และ “จริงๆ แล้วฉันแต่งเพลงเกี่ยวกับชีวิตของฉัน มันไม่ใช่เรื่องที่ฉันต้องเก็บเป็นความลับซะหน่อย” ฯลฯ

กับพัฒนาการในแวดวงเสียงเพลง ต่อทักษะการร้องเพลงของเทเลอร์ สวิฟท์ ได้รับอิทธิพลและแรงบันดาลใจมาจากคุณยาย ซึ่งเป็นนักร้องโอเปรา และนักร้องคันทรีสาวต้นแบบ ลีแอน ไรมส์ กับเมื่ออายุ 11 ขวบ ออกแสวงหาไปยังสำนักตักสิลาแห่งเพลงคันทรี แนชวิลล์ เสนอเดโมเทปต่อค่ายเพลงต่างๆ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ หากทว่า ก็ไม่ละความพยายามต่อการหาโอกาส จนกระทั่งครอบครัวของเธอตัดสินใจย้ายบ้านไปยังย่านชานเมืองแนชวิลล์ เมื่ออายุได้ 15 ปี เธอจึงได้รับข้อเสนอจากค่ายเพลงอยู่บ้าง กับการแสวงหาอัตลักษณ์ตัวตน แต่เธอปฏิเสธเนื่องจากทางห้างไม่ยอมไห้เธออัดเพลงที่ตนเองเขียน

นั่นคือ การยึดมั่น เชื่อมั่นในตนเอง ไม่ยอมอยู่ภายใต้การบงการตัวตนของค่ายเพลง แบบศิลปินวัยรุ่นไทย

และเธอก็คิดถูก เมื่อต่อมาเธอมีโอกาสไปเล่นที่ “The Bluebird Café” เธอจึงได้เซ็นสัญญากับบิ๊กแมกชีน เรคคอร์ด ที่ร่วมกันสร้างสรรค์อัลบัมนี้

และล่าสุด เทย์เลอร์ สวิฟท์ ในวัย 22 ปี ก็คว้ารางวัลใหญ่ในงาน เอ็มทีวี ยุโรป มิวสิค อวอร์ด ที่จัดขึ้นในแฟรงก์เฟิร์ต โดยคว้ารางวัลกลับบ้านไปถึง 3 รางวัล คือ Best Female Act, Best Live Act และ Best Look ยืนยันถึงความสำเร็จนั้น

ภายใต้สภาวะถดถอยของวงการดนตรี บรรษัทเพลงข้ามโลกวิตกกับยอดขายที่ตกต่ำ สังคมโลกตกอยู่ในความเครียดกับสภาวะเศรษฐกิจ เป็นกังวลกับการหมดคุณค่าของงานดนตรี และโลกเหมือนจะไร้เพลงฮิตเชิงคุณค่ามานานนับ

RED อัลบัมที่ตอกย้ำความสำเร็จของราชินีคันทรี เทย์เลอร์ สวิฟท์ อีกอัลบัมหนึ่งเพื่อส่งท้ายปี 2012 ที่ต้องหาฟังกัน โดยเฉพาะหนุ่มๆ ที่พึงใจในอัตลักษณ์เจ้าหญิงคันทรีแห่งยุค ในช่วงเวลาแห่งความเป็นปัจเจกอัตวิสัยกำลังบูม

แต่ทว่า…หากโลกและวิสัยทัศน์ในการเขียนเนื้อร้องยังย่ำอยู่กับความรัก เรื่องส่วนตัวเช่นนี้แล้ว ก็อย่าหวังว่า พัฒนาการและความก้าวหน้าจะเกิดขึ้น

การฉีกแนวดนตรีจากคันทรีแท้ๆ มาสู่แนวป็อปสมัยนิยม แม้จะเป็นการก้าวเปลี่ยนถ่ายในด้านรูปแบบ แต่การกลับว่า เนื้อหากลับย่ำอยู่ที่เดิมเชิ่นนี้ กลิ่นที่โชยมาในอนาคตข้างหน้ากับอัลบัมใหม่ย่อมจะไม่สู้ดีนักแน่นอน

user's Blog!

49/1 ชั้น 4 อาคารบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

49/1 4th floor, Phra-A-Thit Road, Chanasongkhram,Phanakorn Bangkok 10200

Tel. 02 629 2211 #2256 #2226

Email : mars.magazine@gmail.com

FOLLOW US ON

SUBSCRIBE