Blowin’ in the songs
โดย : ประมวล ดาระดาษ
p_daradas@hotmail.com
ตำนานร็อกเรือเหาะ LED ZEPPELIN (6)
ไม่ว่าจะเป็นการเล่นกลองหรือดื่มสุรา จอห์น (บอนโซ) บอนแฮม ถือว่าเป็นเอกทั้งสองอย่าง คือ “ตีกลองดังกินเหล้าดุ”แบบหาใครทาบในยุคนั้น ยุคที่วงเลด เซพพลิน โด่งดังถึงขีดสุด ก็มือกลอง “ฟ้าคำรามบอนโซ” นี่แหละที่เป็นหนึ่งในอัตลักษณ์ของวง กับการใช้ไม้ตีกลองที่ยาว หนา เสียงจึงออกมาดังแน่น แบบคำรามเร้าใจ เป็นเสียงกลองที่ยิ่งใหญ่เท่าที่เคยมีมาในยุคนั้น แต่เสียงนี้ให้อาภัพนัก เมื่อ…Bonham died age 32 after drinking more than 40 shots of Vodka and vomiting in his sleep.
นั่นคือการเมาไม่ได้สติ และเกิดการอาเจียนอย่างต่อเนื่อง จนทำให้มือกลองอัจฉริยะแห่งยุคคนนี้ต้องม้วยมรณ์
จอห์น เฮนรี บอนแฮม (31 พฤษภาคม 1948 – 25 กันยายน 1980) จัดเป็นนักดนตรีและนักแต่งเพลงชาวอังกฤษที่รู้จักกันดีในฐานะมือกลองที่เป็นที่เคารพนับถือ และเป็นไอดอลของมือกลองรุ่นต่อมา ต่อเรื่องความเร็วกระเดื่อง หนักแน่น แม่นยำ และแนวทางใหม่ๆ ที่เสียงโดดเด่น เปี่ยมไปด้วยอารมณ์และความรู้สึกในแต่ละแทร็ก ทั้งในห้องอัด และการแสดงสด
เขาเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นหนึ่งในมือกลองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของดนตรีร็อก แปลกที่ว่า กว่า 30 ปีหลังจากการตายของเขาบอนแฮมยังคงได้รับรางวัล และการยกย่องอยู่เนืองๆ ปี 2011 นิตยสารโรลลิงสโตน อันทรงอิทธิพล ให้ผู้อ่านเลือกโหวตเขาคือ หนึ่งในสิบ “มือกลองที่ดีที่สุดตลอดกาล” และมือกลองยอดเยี่ยมตลอดกาลถึงขณะนี้
จอห์น บอนแฮม เจ้าตำรับตำนาน “เสียงกลองฟ้าคำราม” ในยุคกระโน้น ได้เล่าเรื่องชีวิตในวัยเด็กแบบเปี่ยมความทรงจำไว้ว่า เขานั้น อยากเป็นมือกลองมาตั้งแต่อายุห้าขวบแล้ว ด้วยการที่เป็นคนชอบเสียงปึงปัง โครมคราม โดยสัญชาตญาณ เขาบอกว่าชอบ เคาะตู้คอนเทนเนอร์ หรือกระป๋องกาแฟที่มีลวดพันหลวมๆ เพื่อให้ได้เสียงกลองสแนร์ โดยทั้งนี้ทั้งนั้นยังไม่รวมถึงหม้อ กระทะ กระติกน้ำ ของแม่ที่ในครัวอีกด้วย
ฝรั่งนั้นเลี้ยงลูกเป็น เมื่อเห็นลูกชอบสิ่งใด ก็มักจะสนับสนุนให้เป็น คือ พอ “บอนโซ” อายุสิบขวบแม่จึงซื้อกลองสแนร์ให้เล่น และพอเข้าสู่วัยรุ่นอายุสิบห้าปี พ่อก็ลงทุนซื้อกลองชุดสำหรับเด็กให้ ซึ่งสภาพของกลองในตอนนั้น มันโทรมเกือบจะเป็นกลองพระเจ้าเหาไปแล้ว คือ ผู้พ่อได้ไปหาซื้อของถูกๆ แถวร้านของเก่า สนิมเขรอะเชียว แต่จอห์น บอนแฮม ก็ดีใจแล้ว แม้ว่ากลองเล็ก หรือ สแนร์ดรัม (Snare drum) แผงลวดขึงรัดผ่านผิวหน้ากลองด้านล่างจะผุ จนเขาต้องไปจ้างช่างซ่อมให้ใช้การได้ แม้เสียงมันไม่ดีนัก เพราะตัวกลองนั้นโลหะสนิมเขรอะ ส่วนกลองทอม (Tom-tom drum) หรือเทเนอร์ดรัม (Tenor drum) ที่มีขนาดใหญ่กว่าสแนร์ดรัมก็มีสภาพเหลาเหย่พอกัน แต่ที่เขาชอบก็คือ มีไม้ชนิดหัวไม้หุ้มสักหลาดแถมมา พอลองตีเสียงมันก็แน่นดี
ส่วนกลองใหญ่ หรือ กลองเบส (Bass drum) เขานั่งลูบคลำด้วยดีใจ มันเป็นกลองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยมี มันประกอบด้วยตัวกลองที่ทำด้วยไม้และมีหนังกลองทั้งสองด้าน เสียงมันดี หนักแน่น ลองตีดูก็เสียงปาน แบบฟ้าคำรามทีเดียว แม้จะไม่ตรงกับระดับเสียงที่กำหนดไว้ทางตัวโน้ตก็จริง ทว่าเสียงรัวกวาดก็เข้าท่ามาก
เสียดาย ไม่มีกลองทิมปานี หรือกลองเค็ตเทิลดรัม…(กลองที่มีลักษณะเป็นหม้อ ซื่งมีหน้าหนังกลองหุ้มทับอยู่ด้านบน เป็นกลองชนิดเดียวที่ขึ้นเสียงแล้วได้ระดับเสียงที่แน่นอน เมื่อคลายหรือขันหน้ากลองโดยใช้วิธีขันสกรู ซึ่งตีได้ทั้งเป็นริทึ่มและโน้ตรัวเขบ็ต) เขาก็ต้องไปหามาเสริม ส่วนฉาบ หรือ ซิมบัล (Cymbal) นั้นเขาเล่าว่าไม่ค่อยสนใจหรือให้ความสำคัญกับมันนัก (จึงสังเกตว่าบอนแฮมไม่ค่อยตีฉาบเท่าไร ในแต่ละแทร็ก)
บอนแฮมเล่าว่า “ผมก็รักและขัดสีมันให้ดูดี ใครที่ไม่เคยได้ แต่อยากมี ก็มาว่าอะไรผมไม่ได้ เพราะมันแลดูเรี่ยมเร้ขึ้นโดยพลันในทันทีที่มาอยู่กับผม” ขณะเดียวกันเขาก็ออกจากโรงเรียนเพื่อไปเป็นมือกลองและก็เป็นได้จริง ในวง “เทอร์รี่ เว็บบ์ แอนด์ เดอะ สไปเดอร์”
เขาเล่าต่อว่า “พวกเราถูกบังคับให้แต่งตัวด้วยเสื้อแจ็กเกตม่วง คอกำมะหยี่แบะ นักร้องสวมแจ็กเกตปักดิ้นทอง หัวใส่น้ำมันเยิ้ม ผูกไทหลวมๆ เท่เหลือเกินล่ะ…”
นั่นคือ แนวคัสตูมที่ทางผู้จัดการวงคิดสร้างสรรค์ให้แต่งกัน
เมื่อออกจากโรงเรียนเขาเคยไปอยู่ในแวดวงธุรกิจกับพ่อ พ่อมีธุรกิจด้านก่อสร้าง เขาก็ต้องการอย่างนั้นอยู่เช่นกัน แต่การตีกลองก็เป็นอีกอย่างที่เขารักและถนัด แถมทำได้ดีอีกต่างหาก
“…ผมก็เลยฝืนทำงานนั้นได้สามสี่ปี โดยคิดว่า ถ้าชีวิตด้านดนตรีล้มเหลวผมก็สามารถกลับไปทำธุรกิจก่อนเก่าได้…”
เขามีวงกับนิกกี้ เจมส์ และนักร้องนำที่ไม่ค่อยได้รับการชื่นชมเท่าไร แต่เขาก็บอกว่ามีเครื่องดนตรีมากมาย จากการเช่าซื้อ และต่อมาพวกเขาก็ต้องหยุดเพราะเครื่องถูกยึด
“…นิกกี้มีเพื่อนฝูงเยอะมาก และเขาก็สามารถร้องเพลงได้หลายสไตล์ แต่เขียนเพลงเองไม่เป็น พวกเราจึงมีคลับหลายๆ คลับที่ตระเวนเล่นรอบๆ เมืองเบอร์มิงแฮมในตอนนั้น รวมถึงการเล่นในคลับบอลลูนสำหรับเต้นรำด้วย ซึ่งเดี๋ยวนี้ไม่มีแล้วซินะ…”
สิ่งที่เขามี คือความภาคภูมิใจในแนวทางของตน สิ่งนี้ เยาวชนไทยจะไม่ค่อยมีนัก จอห์น บอนแฮม กับวิถีทางคนดนตรีที่เขาเลือก เขาว่า
“…ผมยอดเยี่ยมมากนะครับ กับการออกจากโรงเรียนแล้วมาเล่นดนตรี เล่นก็ไม่ได้หวังอะไรมากมายด้วย ความจริงก็อยากเล่นนานๆ แต่พ่อไม่ยอมตามกลับไป ผมสัญญาและสาบานกับแพ็ท (แฟนสาว) ว่าจะเลิกเล่นเมื่อแต่งงาน แต่ทุกคืนที่ผมกลับถึงบ้านก็จะนั่งหลังกลอง มันไม่มีความสุขถ้าไม่ได้เล่น…”