เพียงแค่ขายตัว ใช่หญิงคนชั่วแต่อย่างใด

ไม่ว่าจะเรียกว่า “หญิงงามเมือง”, “โสเภณี” ฯลฯ แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า อาชีพหญิงขายบริการ บรรเทาอารมณ์ใคร่ให้ผู้ชาย เป็นอาชีพหนึ่งซึ่งมีมาแต่บรรพกาล “หญิงงามเมือง” คือชื่อเรียกขานที่มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลด้วยซ้ำ นั่นย่อมสะท้อนให้เห็นว่า อาชีพนี้ ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น

ในบทเพลง ในงานวรรณกรรม เรื่องของหญิงที่ใช้เนื้อหนังมังสาในการประกอบอาชีพ ถูกบอกเล่าครั้งแล้วครั้งเล่า โดยเฉพาะการบอกกล่าวถึงชะตากรรมที่น่าเวทนาเห็นใจของพวกเธอ ความทุกข์ของหญิงขายร่าง ศักดิ์ศรีของสตรีขายตัว เหล่านี้คือเนื้อหาสามัญที่พบเห็นได้ในศิลปะแขนงที่ว่ามา

และในมุมของภาพยนตร์ ก็มีคนทำหนังจำนวนไม่น้อยที่หยิบเอาเรื่องราวของเหล่าโสเภณีมาถ่ายทอด ถ้าใครยังจำได้ หนังของต่างประเทศ (ฮอลลีวูด) อย่าง Pretty Woman ก็ทำให้คนดูซาบซึ้งกินใจมาแล้ว ด้วยการนำเอาตัวละครสองตัว โสเภณีกับประธานาธิบดี โคจรมาพบกัน ผ่านความสัมพันธ์ชั่วคืนที่พัฒนาไปสู่ความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนในฐานะคู่รัก จูเลีย โรเบิร์ต ดังมากจากบทหญิงขายตัวในหนังเรื่องนี้

ส่วนเมืองไทยบ้านเรา แม้เรื่องแบบนี้จะไม่เป็นที่ยอมรับนัก แต่กล่าวอย่างตรงไปตรงมา อาชีพหญิงขายบริการก็ยังมีอยู่ไปทั่ว แต่พวกเธอเป็นคนชั่วใช่ไหม? นั่นแล้วแต่มุมมองของใครว่าจะใช้อะไรเป็นมาตรฐานในการคิด แต่ความจริงอีกอย่างก็คือ เรื่องราวของพวกเธอ ก็ถูกหยิบยกมานำเสนอในหนังไทยมาแล้วหลายต่อหลายเรื่อง และนี่ก็คือเรื่องที่นักดูหนังทุกคนควรได้ดู

1.เทพธิดาโรงแรม

“มาลีเป็นกะหรี่ที่สวยที่สุดในโลก” ประโยคนี้ถูกพูดออกมาจากปากของแมงดาที่รับบทโดยสรพงศ์ ชาตรี เมื่อเขากล่าวกับ “เด็กในสังกัด”…เทพธิดาโรงแรม ถือเป็นหนังที่โด่งดังมากๆ เรื่องหนึ่งของท่านมุ้ย-ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล โดยต้นฉบับของเรื่องราวนั้น ดัดแปลงมาจากนวนิยายของณรงค์ จันทร์เรือง บทประพันธ์สะท้อนความเป็นจริงทางสังคม ตามขนบของงานเขียนยุคนั้นที่มุ่งเน้นทำหน้าที่เป็นกระจกสะท้อนภาพสังคม

เรื่องราวโดยย่อ เล่าถึงเส้นทางชีวิตที่ถูกกระแสแห่งชะตากรรมซัดพาอย่างไม่คิดว่าจะกลับมาเริ่มต้นชีวิตใหม่อย่างไร “มาลี” เป็นเด็กสาวบ้านนอก เดินทางสู่เมืองกรุง ก่อนจะกลายมาเป็นโสเภณีที่ต้องทนกับสถานการณ์หลากรูปแบบ จนนำไปสู่การพยายามฆ่าตัวตาย หนังบอกเล่าให้เห็นถึงโลกด้านมืดที่ซุกซ่อนอยู่ในหลืบมุมของสังคม กับชีวิตของคนคนหนึ่งซึ่งพยายามที่จะยกระดับชีวิตของตัวเองให้ดีขึ้น แต่ดูเหมือนว่าทางข้างหน้าที่เดินไป จะมีหายนะและคำว่า “บัดซบสิ้นดี” รออยู่ที่ปลายทาง แน่นอนครับ หนังเรื่องนี้ถือเป็นอีกหนึ่งตำนานของหนังไทยในยุคที่คนทำหนังมองหาวัตถุดิบที่ซีเรียสเพื่อนำมาตีแผ่ผ่านภาพยนตร์

2.เทพธิดาบาร์ 21
ภาพยนตร์เพลง (มิวสิเคิล) ที่ส่งให้ผู้กำกับอย่าง “ยุทธนา มุกดาสนิท” ติดอยู่ในเนมลิสต์คนทำหนังที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งแห่งยุคสมัย กรอบความคิดของหนังยังคงปักหลักอยู่ที่การสะท้อนให้เห็นถึงเส้นทางชีวิตของสาวบ้านนอกเข้ากรุงมาทำงานกลางคืนและลงเอยด้วยการเป็นวัตถุทางเพศบำบัดความใคร่ให้ชายเปลี่ยว

3.หลงไฟ
ชื่อหนังก็บอกกล่าวเป็นนัยๆ ถึงเรื่องราวที่คุณจะได้พบในงานชิ้นนี้ “ฮันนี่-ภัสสร บุณยเกียรติ” ดาราสาวเซ็กซี่แห่งยุค รับบทบาทแรงๆ อีกครั้ง กับการเป็นนักศึกษาขายตัว ก่อนจะถูกหลอกไปขายตัวที่เมืองนอกและหลังจากนั้น ชีวิตก็มีแต่จะบอบช้ำลงไปอย่างฉุดไม่อยู่

หนังเรื่องนี้ น่าจะเป็นอีกหนึ่งกระแสทางสังคมยุคนั้นที่มักจะมีเรื่องของการล่อลวงหญิงไทยไปทำงานในต่างแดน โดยอ้างว่าเป็นงานนั่นนี่ แต่สุดท้าย ก็ไปเป็นโสเภณีขายบริการทางเพศ และส่วนใหญ่ก็ล้วนต้องเจอกับสภาพการกดขี่ทรมาน แม้ไม่อยากทำ ก็จำต้องทำ คุณภัสสร บุณยเกียรติ อินกับบทบาทนี้มากถึงขนาดส่งให้เธอได้รับรางวัลตุ๊กตาทองในฐานะนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม

4.เสียดาย
ในยุคที่ท่านมุ้ย ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล สนุกกับการทำหนังซีเรียสสะท้อนสังคม นี่คืออีกหนึ่งผลงานของท่านที่ถือว่าเป็นตำนานอีกหนึ่งหน้าของประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย จากเรื่องราวของวัยรุ่นหญิงกลุ่มหนึ่งที่เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ไม่สมบูรณ์พร้อมในแต่ละด้านแตกต่างกันไป ซึ่งกลายเป็นเงื่อนไขปัจจัยผลักให้ชีวิตของพวกเขาเข้ารกเข้าพง บางคนติดผงขาวยาเสพติด และบางคนก็ต้องขายตัว หนังถ่ายทอดออกมาได้น่าสะเทือนใจ เท่าๆ กับที่ให้ความสำคัญกับประเด็นทางความคิดที่น้อมนำคนดูผู้ชมให้ขบคิดอย่างเข้มข้น

5.สนิมสร้อย
บทประพันธ์จากปลายปากกาของพญาอินทรีแห่งวงวรรณกรรมผู้ล่วงลับ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ เรื่องนี้ ถูกจับขึ้นจอภาพยนตร์แล้วถึงสองครั้ง โลเกชั่นของเรื่องทั้งหมด เกิดขึ้นในซ่องแห่งหนึ่งกลางเมืองหลวง ’รงค์ วงษ์สวรรค์ เขียนนิยายเรื่องนี้อย่างเจาะเข้าไปถึงแก่นแท้เนื้อในของความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าสามัญชนคนทั่วไปหรือใครก็ตามที่สังคมขนานนามว่ากะหรี่ มันก็มีทั้งมุมละเอียดและมุมหยาบด้วยกันทั้งนั้น ไอ้ที่เรายกยอกันว่าเป็นผู้ลากมากดี บางครั้งก็มีความเป็นกะหรี่อยู่ในตัวเองอย่างบัดซบ ป.ล.แนะนำให้อ่านหนังสือ หนังทำออกมาได้ไม่ถึงเลย

6.เสียงซึงที่สันทราย
นี่ก็เรื่องทำนอง “รูปแบบสำเร็จรูป” แบบเดียวกับหนังสาวเหนือ “สาวเครือฟ้า” อีกหลายเรื่อง (เช่น แม่อายสะอื้น) ที่มักจะถูกนำเสนอออกมาเวลาเอ่ยถึงอาชีพโสเภณี นอกจากโดนหลอกโดนลวงหรือจงใจเป็นเอง ก็มีแง่มุมที่ว่าต้องทำตามคำสั่งของใครสักคน มีปัญหาทางบ้าน เหมือนสองสาว “พิมพ์” และ “แก้ว” ในหนังเรื่องนี้ที่ถูกแม่บังคับให้ไปขายตัว เพื่อหาเงินมาใช้หนี้ แล้วเรื่องราวชีวิตบัดซบก็เกิดกับตัวละครราวกับถูกโชคชะตารุมสกรัม

7.นาคปรก
การนำองค์ประกอบด้านตัวละครหลากหลายสถานะโคจรมาพบกันในจังหวะวิกฤต ทั้งโสเภณี โจร รวมทั้งพระ แฝงด้วยเจตนาบางอย่างที่หนังต้องการกระทบกระเทียบเปรียบเปรยเหน็บแนมสังคมที่จอมปลอม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในแง่ของการยืนยันคุณค่าของความเป็นคนที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานที่เป็นอยู่ หรือ “เสื้อคลุมที่คุณสวม” คำกล่าวคำหนึ่งของหญิงขายตัวในเรื่องที่รับบทโดย ทราย เจริญปุระ คือถ้อยคำที่ถือได้ว่าเจ็บแสบที่สุด เท่าที่หนังซึ่งว่าด้วยโสเภณีเคยมีมา เธอพูดกับอดีตคู่นอนของเธอซึ่งอยู่ในชุดเหลืองแบบพระ
“ถ้าคนอย่างมึงเป็นพระได้ กะหรี่อย่างกูก็เป็นนายกรัฐมนตรีได้เหมือนกันว่ะ”

No Comments Yet

Comments are closed

user's Blog!

49/1 ชั้น 4 อาคารบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

49/1 4th floor, Phra-A-Thit Road, Chanasongkhram,Phanakorn Bangkok 10200

Tel. 02 629 2211 #2256 #2226

Email : mars.magazine@gmail.com

FOLLOW US ON

SUBSCRIBE