“บันไดสู่สรวง” ของ เลด เซพพลิน

Blowin’ in the songs
โดย : ประมวล ดาระดาษ
p_daradas@hotmail.com

อัลบัมที่ 4 อันเกรียงไกรของวง เลด เซพพลิน หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “อัลบัมสี่สัญลักษณ์” ในวงการเพลงร็อกต่างยอมรับนับถือกันว่า วงเลด เซพพลิน เป็นหัวขบวนแห่งวงการโปรเกรสซีฟ ร็อก โดยแท้ อย่างอัลบัมที่สี่ ที่มีรูปแบบล้ำสมัย ต่อการออกแบบปก แบบครีเอตให้ไม่ปรากฎตัวอักษร ชื่อวง หรือชื่ออัลบัมเลย พวกเขากล้าเสี่ยงที่จะเดิน โดยไม่ฟังการทัดทานของบริษัทแผ่นเสียงที่ตำหนิว่าจะเป็นการฆ่าตัวตาย

แต่เรื่องธุรกิจนั้นคงไม่มีความจำเป็นสำหรับพวกเขา ในวันคืนที่เคยอดอยาก อย่าง โรเบิร์ต แพลนท์ นั้นเคยไปเป็นจับกังสร้างถนนก็เคย เมื่อถึงเวลาที่จะสร้างศิลปะบริสุทธิ์ เขาก็อาจหาญกล้าเดินนำ โดยเฉพาะตัวเพลง “สแตร์เวย์ ทู เฮฟเวน” นั้น จัดเป็นเพลงโปรเกรสซีฟ ร็อก แทร็กแรกก็ยังได้ โดยมูฟเมนต์ของเพลงที่เปลี่ยนชั่วเวลาแปดนาทีถึง 3 ครั้ง นั่นไม่ใช่รูปแบบมาตรฐานของร็อก โดยทั่วไป เลด เซพพลิน คือผู้ก้าวนำก่อน

หน้าปกอัลบัมชุดที่ 4 ของวงเป็นกรอบรูปชายชราแบกฟืน ติดที่ฝาผนังเก่าร่อนผุๆ เรามาดูเบื้องหลังความคิดของพวกเขา

จิมมี เพจ “เราเริ่มทำบางแทร็กที่สตูดิโอในลอนดอน ที่นิวไอร์แลนด์ เมื่อเดือนธันวาคม ปี 70s แต่พอตอนกลับบ้านใน เฮดลีย์ แกรนจ์ ในแฮมเชียร์ ที่ซึ่งเราใช้ซ้อมกันบ่อยๆ เหตุผลบางอย่างทำให้เราตกลงใจที่จะใช้รถบรรทุกอัดเสียงของวงโรลลิ่ง สโตนส์ที่นั่น เพราะว่าเราต้องการสถานที่ซึ่งคล้ายกับเป็นขอบเขต เราเคยอาศัยที่นั่น ระหว่างการซ้อมอันยาวนาน มันเป็นความคิด เหมือนในขณะเดียวกับความคิดที่เราได้อัดลงในเทป ในแนวทางนั้น มันย่อมเป็นวิธีที่ดีที่สุด ความผิดพลาดก็คือเราตื่นเต้นต่อความคิดที่เราใส่ลงไปในเทป ซึ่งเป็นความเร่งรีบที่จะจบรูปแบบที่เหมาะสมนั่นเอง ทำให้เป็นผลงานที่เหมือนจะเร่งรีบ ดังนั้น จึงเป็นเพียงความตื่นเต้นที่เรามีความสะดวกคล่องแคล่วที่นี่”

โรเบิร์ต แพลนท์ กล่าวว่า “ทุกอย่างในอัลบัมนี้ทั้งหมด ไม่เคยมีในอัลบัมก่อนๆ เลย เราทำกันในแมนชันเก่าๆ ออกไปนอกเมือง และไม่น่าเชื่อว่าเราใส่อารมณ์และความคิดลงไปในแผ่นสปอตก่อนแล้วฟังในตอนนั้นเลย ไม่มีการรออะไร กระทั่งได้งานออกมาจากสตูดิโอเลยทีเดียว”

จิมมี เพจ เล่าต่อว่า “เราตัดสินใจในอัลบัมที่สี่นี่เราจะต้องปรึกษาหารือสมาชิกทุกคนในวง อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ควรจะมีความคิดของคนภายนอก ทั้งชื่ออัลบัม ปก และอะไรอื่น”

ต่อข้อถามเกี่ยวกับนัยของปก จิมมี เพจ กล่าวว่า “ก็ไม่น่าจะหมายถึงสิ่งใด เลด เซพพลิน หมายความถึงอะไรหรือ ไม่หรอกนะ ดนตรีของเราคืออะไรกัน ถ้าเราไม่บรรเลงดนตรีที่ดี ใครไหนเลยจะมาแคร์ต่อเรื่องเรียกขานเราว่าอย่างไร ถ้าดนตรีมันดี เราสามารถเรียกขานตัวเองได้ คำว่า เลด เซพพลิน ไม่ปรากฎบนปกอัลบัม เครดิตใครอื่นต่างๆ ก็ไม่มีด้วย เราถกกันเอาเป็นเอาตายต่อเรื่องนี้ บริษัทแผ่นเสียงบอกว่าเป็นการฆ่าตัวตายของมืออาชีพ แต่เราก็ยืนยันว่าต้องการความบริสุทธิ์แห่งดนตรี

ชายแก่ที่กำลังแบกฟืนบนปก นั่นคือท่วงทำนองภาวะสอดคล้องกับธรรมชาติ เขานำมันมาจากธรรมชาติและนำกลับไปยังผืนดิน มันเป็นวงวัฏฏะของธรรมชาติ แน่ล่ะ กระท่อมเก่าๆ ทำให้ดูทรุดโทรมตกต่ำ เหมือนอยู่ในสถานที่เสื่อมโทรม ที่น่ารังเกียจ แต่ชายแก่ก็เหมือนกับตัวฤๅษีในไพ่ทาโรห์ เป็นสัญลักษณ์แห่งความเชื่อมั่น และปรัชญาวิเศษ

โชคไม่ดีที่ฟิล์มเนกาทีฟเสีย จึงทำให้ไม่เห็นชายคนหนึ่งนอนตายแบมือขอความช่วยเหลือประทังความหิวโหยข้างตึก ถ้าเห็นฟิล์มก่อนพิมพ์ก็จะมีภาพอย่างที่ว่า แต่อย่างไรก็ตาม ไม่มีอักษรใดๆ เขียนบนปกนี้ทั้งสิ้น

โรเบิร์ต แพลนท์ เสริมว่า “พวกเราตัดสินใจกันว่า อัลบัมนี้จะไม่เรียกว่า “เลด เซพพลิน 4” เราก็คิดมหัศจรรย์พันลึกกันว่าอะไรที่สมควรจะเป็น พวกเราคนหนึ่งตกลงใจที่จะให้มันเกี่ยวข้องกับจิตใจและความเป็นอยู่ของมนุษย์ แสวงหาเป็นสัญลักษณ์ของแต่ละปัจเจกแห่งเรา แสดงสภาวะแห่งจิตใจ ความคิดเห็น และบางสิ่งที่เราจักต้องเข้มแข็งเกี่ยวกับมัน แล้วกลับมาร่วมสร้างสัญลักษณ์นั้น

สัญลักษณ์ของเราถูกวาดเป็นสัญลักษณ์เพื่อการสักการะของชนเผ่ามู (MU) ซึ่งเคยมีความเจริญและดำรงชีวิตอยู่เมื่อ 15,000 ปีก่อน เป็นส่วนหนึ่งของทวีปที่สาบสูญไปในมหาสมุทรแปซิฟิก ระหว่างจีนผืนแผ่นดินใหญ่และประเทศเม็กซิโก และสิ่งเล็กๆ น้อยๆ นั้นก็เกี่ยวพันกับความศิวิไลซ์ ของชนเผ่ามู ชนเผ่านี้ทิ้งหินจารึกไว้มากมายใน เม็กซิโก อียิปต์ เอธิโอเปีย อินเดีย จีน และที่อื่นๆ ในยุคสมัยเดียวกันนั้น ชาวจีนว่าเขามาจากทางตะวันออก เม็กซิกันว่ามาจากตะวันตก แท้จริงแล้วน่าจะเป็นบางแห่งอยู่ตรงกลาง ประมาณนั้น

โดยนัยสัญลักษณ์ของเราน่าจะให้ความหมายไปไกลกว่านั้น และทั้งหมดที่ผมสามารถจะแนะนำคือ ให้ผู้คนมองงานและคิดพาดพิงย้อนกลับไปในแนวทางที่เหมาะสม

จิมมี เพจ เล่าต่อ “สัญลักษณ์ จอห์น พอล โจนส์ อันที่สอง ถัดจากปกด้านซ้าย มาจากหนังสือเล่มหนึ่ง เกี่ยวกับการหนี ดังนั้นจึงเป็นตัวแทนของการหนีจากอำนาจบังคับ แต่มันก็วาดได้ยากมาก ส่วนความคิดของบอนแฮมก็มาจากหนังสือเล่มเดียวกัน เขาเพิ่งหยิบออกมาเพราะว่าชอบมัน”

โรเบิร์ต แพลนท์ “ผมคิดว่าสัญลักษณ์ของบอนโซ เป็นไตรภาค คือ ชาย หญิง และเด็ก ผมตั้งใจว่ามันมีบางสิ่งบางอย่างที่จะทำเป็นหลักสำคัญของความเชื่อของมนุษย์ ณ จุดหนึ่ง คิดว่า ในพิตต์สเบิร์ก ผมคิด เราสังเกตกันว่านั่นเป็นเครื่องหมายของเบียร์บัลเลนไทน์ คุณอย่าเพิ่งเชื่อสิ่งนี้ แต่ครั้งหนึ่งแพกกีพาผมไปแล้วพูดว่า “ดูซิ ฉันกำลังจะบอกคุณในความหมายของสิ่งนี้ และจะไม่กล่าวชมถึงมันอีก หรืออย่างน้อยก็ตลอดไป จริงนะ”

และผมก็ลืมมันไปแล้วล่ะ ว่ามันหมายถึงอะไร และเดี๋ยวนี้แพกกีก็ไม่ยอมบอกด้วย ถ้าเจอหนังสือเล่มนั้นที่สูญไปก็พอจะพบคำตอบได้บ้าง

เราใช้เวลาถกเถียงกัน เพื่อจะปิดอัลบัม เสียงของห้องที่ใช้บันทึก ซึ่ง แอนดี โจนส์ ผู้ควบคุมการผลิตให้ข้อสังเกตในความไม่ลงตัว จิมมีจึงต้องอัดทับ มีการอัดเสียงใหม่ ความกังวลอันนั้นทำให้ต้องทำงานหลายครั้ง

จิมมี เพจ เล่าเกี่ยวกับเรื่องของบทเพลงว่า “เพลง” เดอะ บาทเทิล ออฟ เอฟเวอร์ มอร์”..อือม ผมลืมไปว่า ไม่ว่าใครจะไปนอนแต่หัวค่ำหรือไม่ก็ตาม แต่มันก็ไหลออกมา ผมหยิบแมนโดลินของจอห์น พอล โจนส์ได้ ก็เล่นคอร์ดที่ลื่นไหลออกมา เป็นคราแรกที่ผมลองเล่นแมนโดลิน ผมคิดว่านักสีแมนโดลินที่เก่งๆ จะต้องหัวเราะก๊าก มันหน่อมแน้มที่จะเล่นคอร์ดมาตรฐานพวกนี้ เป็นไปได้ว่าฝีมือจะไม่ก้าวไกลไปกว่านี้ อย่างไรก็ตาม มันก็เป็นบางสิ่งที่เป็นไป ภายใต้เครื่องดนตรีที่มีข้อจำกัด แต่ผลอันนั้นมันก็อยู่ในขอบวงหลักที่ต้องการก็เลยปล่อย

โรเบิร์ต แพลนท์ เล่าถึงความเป็นมาในการเฟ้นหาสัญลักษณ์ใส่บนปกและวัตถุดิบในการเขียนเพลง “ผมอ่านหนังสือเกี่ยวกับสงครามในสกอตแลนด์ ก่อนที่จะไปที่เฮดลีย์ แกรนจ์ มันเป็นบทละครมากกว่าจะเป็นเนื้อเพลง หลังจากที่ผมเขียน ผมก็ตกลงใจว่าจะต้องทำให้ตอนจบสมบูรณ์แตกต่างกว่าที่คิดไว้ เพื่อจะได้กระทบใจ

ดังนั้น จึงขอร้องแซนดี เดนนี ให้มาร้องในแทร็กนี้ ก็ได้รับผลปรารถนาที่พึงใจเมื่อได้คนร้องที่มีรูปลักษณ์แตกต่างไปจากตนเอง ผมก็ร้องเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเพลง แซนดี้พูดว่าถ้าหล่อนเป็นคนที่ต้องรับชะตากรรมจากสงครามในครานั้น ก็จะรับบทบาทของนักร้องไห้โหยหวนคร่ำครวญเพื่อให้พวกเขาวางอาวุธ

จิมมี เพจ เล่าแทรกว่า “ดนตรี ร็อกแอนด์โรล ได้ระเบิดขึ้นในทันทีทันใด เราเกี่ยวข้องกับสิ่งอื่นๆ อีกในช่วงเวลานั้น นอกจากบอนโซได้เล่นกลองตอนเริ่มต้นให้ลิตเติล ริชาร์ด ในเพลง “กูด กอลลี มิส มอลลี” โดยอัดใส่เทป ผมได้แนวทางเริ่มลูกริฟฟ์กีตาร์ มันก็ไม่ค่อยจะราบลื่น คือ ตะกุกตะกักไป 12 ห้อง แต่มันพอเพียงที่จะอ้างได้ว่าเรามีส่วนร่วมกับมัน โรเบิร์ต ก็เคยนำมาร้องในเวลาต่อมา

สำหรับผม คิดว่า “สแตร์เวย์ ทู เฮเวน” เป็นแก้วที่เจียระไน ด้วยความประณีตสวยงามสำหรับวงของเรา เพลงนี้มีทุกสิ่งทุกอย่างรวมอยู่ในนั้น และแสดงให้เห็นว่าวงเราสุดยอด มีความลงตัว อย่าไปพูดถึงเฉพาะการโซโลหรือสิ่งอื่นใดล่ะ เรารอบคอบที่จะไม่วางแผงในรูปของแผ่นซิงเกิล มันเป็นหลักไมล์ของเรา นักดนตรีทุกคนต้องการทำจุดสุดท้ายหรือจุดจบของงานให้สวยสดและมีคุณภาพ บางสิ่งที่เรายกระดับให้อยู่ในกาลเวลา

ผมขอบอกว่า “สแตร์เวย์” คือสิ่งที่เราทำไว้ให้แล้ว พีท ทาวน์เซน (มือกลองเดอะ ฮู) ก็คิดว่าเขามีอย่างนี้เหมือนกันในเพลง “ทอมมี” ผมก็ไม่รู้ว่าสิ่งดีๆ อย่างนี้จะเกิดขึ้นกับเราอีกหรือไม่ ผมต้องทำงานหนักมากกว่าจะได้งานในระดับนี้ เป็นศักยภาพแห่งมันสมองทั้งหมด”

No Comments Yet

Comments are closed

user's Blog!

49/1 ชั้น 4 อาคารบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

49/1 4th floor, Phra-A-Thit Road, Chanasongkhram,Phanakorn Bangkok 10200

Tel. 02 629 2211 #2256 #2226

Email : mars.magazine@gmail.com

FOLLOW US ON

SUBSCRIBE