หนังกลางแปลง : ลมหายใจในวัยสนธยา

กระดาษหนังสือพิมพ์ (ฉบับเมื่อหลายวันก่อนไม่ก็ฉบับกรอบเช้าของวันนั้น) หรือ แผ่นพลาสติกขนาดสี่เหลี่ยมจากเศษชิ้นห่อขนมถุง ดูจะเป็นอุปกรณ์ยอด “ฮิต” สำหรับจับจองทำเลผืนน้อย ก่อนโรงภาพยนตร์ในเครือใบเสมาจะเริ่มฉาดฉาย “ภาพ” เคลื่อนไหวบนผนังผ้าใบสีขาวผืนใหญ่หลังนี้ จนอาจจะเป็นชื่อเรียกตามลักษณะนามการกระทำที่คิดเอาแบบทีเล่นทีจริงขานต่อกันมาว่า “หนังกลางแปลง”

เสียง “คน” ในโรงหนัง (กลางแปลง) ร้าง

“เมื่อก่อนมันเป็นอย่างนั้น แต่เดี๋ยวนี้มันไม่มีแล้ว “ กำธร เอี่ยมสุวรรณ ประธานกลุ่มคนรักหนังกลางแปลง บุรุษผู้หลงเสน่ห์มหรสพ (ภาพยนตร์) กลางแจ้งเข้าหัวใจ จนเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นคน “เร่หนัง” ฉาย บอกเล่าเรื่องราวครั้งวันหน้าชื่นตาบานกับภาพเหล่าผู้คน ที่แห่แหนกันมาอื้ออึงทั่วท้องคุ้งอาณาบริเวณ “ลาน” ที่ตั้งโครงเหล็กและเต็นท์คณะหนังกลางแปลง ของวันวานที่หลงเหลือไว้เพียงความทรงจำและรอยยิ้มที่ผุดขึ้นขณะย้อนเรื่องราวครั้งกระโน้น

หากอายุอานามไม่อ่อนด้อยกว่าเลข 2 คงจะพอผ่านตา และจดจำเรื่องราวหลากรสที่ดำเนินเคียงคู่กงล้อฟิล์มหนังกลางแปลงได้เป็นอย่างดี ทั้งเสียงโหวกเหวกระหว่างผู้คน ไหนจะต้องกุลีกุจอไปชะเง้อคอแย่งแข่งกันมุงดูโปสเตอร์หนัง หรือเสียงหัวเราะ เสียงตกกะใจ ของเกลอมิตรร่วมโรง กระทั่งการจับกลุ่มเดินทางกลับบ้าน หลังผืนผ้าใบสีขาวเหลือเพียงความว่างเปล่า เหล่านั้นล้วนแล้วแต่คือสิ่งที่สัมผัสได้ก่อนวันวัยนี้ทั้งสิ้น

“เดี๋ยวนี้ฉายหนัง บางทีฉายเพื่อเป็นเพื่อน ฉายเพื่อเป็นประเพณี” กำธร เอ่ยถึงจุดวิกฤตของอารยธรรม “หนังกลางแปลง” ที่กำลังจวนเจียนสิ้นลมอยู่ทุกชั่วขณะในปัจจุบัน พร้อมกับยกตัวอย่างคนในแวดวง “หนังเร่” บางคนยังไม่เคยมีโอกาสหยิบจับสัมผัสบรรยากาศที่รายล้อมไปด้วยผู้คนเช่นครั้งอดีต ในทุกคราที่ผืนผ้าถูกกางออก

“อย่างเร็วๆ นี้ มีหนังเรื่องหนึ่งที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ย้อนกลับไปเมื่อ 30 40ปี ก่อน คือมันเป็นหนังกระแสซึ่งทำให้คนฉายหนังบางคนรู้สึกแปลกไปเลยทีเดียว เพราะในชีวิตบางคน ไม่เคยเห็นคนที่มารอดูหนังเยอะขนาดนี้ บางพื้นที่หนังยังไม่ฉายเลยด้วยซ้ำ สักประมาณ 1 ทุ่ม คนเต็มไปหมดแล้ว”

“หากคุณเป็นคนขายก๋วยเตี๋ยว ไม่มีใครกินก๋วยเตี๋ยวคุณเลย คุณจะรู้สึกอย่างไร” เขาย้อนถาม

“ถ้าเราให้บริการสิ่งใดแล้วมีคนมารับบริการนั้นมากๆ แน่นอนที่สุดเราผู้ให้ย่อมมีความสุขอยู่แล้ว ยิ่งในนิยามของคนบันเทิงยิ่งชัดเจน ถ้าผมสร้างหนังมาแล้วคนยิ่งดูมากขึ้น คนสร้างยิ่งมีความสุข ผู้กำกับยิ่งมีความสุข นักแสดงยิ่งมีความสุข”

“ไอ้ผมมันอยู่ปลายแถวแล้ว แค่เอาหนังไปฉายให้คนดู ถ้ามีคนดูผมก็มีความสุขแล้วเช่นเดียวกัน” กำธร กล่าวเสริม ก่อนทอดถอนลมหายใจรำพึงรำพันถึงม่านผ้าใบม้วนนี้ที่กำลังถูกพับเก็บลงกล่อง

เมื่อวาน…!! ไปดูหนังกลางแปลงมาหรือเปล่า

ขึ้นชื่อว่า “หนังกลางแปลง” หลายคนคงปฎิเสธไม่ได้ว่า “ครั้งหนึ่ง” ม่านผ้าสีขาวขนาดยักษ์ที่ตั้งตระหง่านผืนนี้ เป็น “มหรสพ” ชั้นเยี่ยมของเหล่าผู้ลากมากดีทั้งหลายแหล่ ตั้งแต่ลูกเด็กเล็กแดงไล่เรียงไปจนคนจรผู้มีฟ้าเป็นมุ้ง

“เราจะบอกว่ามันเป็นมหรสพก็ได้ เพราะมันทำหน้าที่หลายอย่างมาก เมื่อก่อนนี้ ภาพยนตร์ที่มันฉายด้วยฟิล์ม ทำหน้าที่หลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือเรื่องของความบันเทิง” กำธรกล่าว

โดยหลักใหญ่ใจความของหนังกลางแปลงสมัยนั้น ไม่ได้ทำหน้าที่เพื่อความบันเทิงเพียงอย่างเดียว หากแต่ว่ายังเป็นพื้นที่ “สื่อ” ประชาสัมพันธ์อีกชนิดหนึ่ง ที่สามารถดึงดูดความสนใจของประชาชนได้เป็นอย่างดีเยี่ยม จุดนี้เองที่ทำให้ “หนังขายยา”

“เขาก็จับพวกนี้มาเพื่อ เป็นสื่อที่จะให้ความรู้ หนังของกระทรวงสาธารณสุขเป็นหนัง 16 มิล ก็ยกหน่วยกันไป ขับรถตู้กันไป แล้วก็ไปฉายกลางหมู่บ้านให้เด็กๆ ดู “

นอกจาก “หนังขายยา” ที่ตระเวนสร้างความบันเทิง ความรู้ และสินค้าราคาย่อมเยาไปทั่วท้องทุ่งแล้ว ยังมีธุรกิจโรงภาพยนตร์ล้อมผ้า หรือที่เรารู้จักมักคุ้นในชื่อ “หนังล้อมผ้า” เร่ฉายทั่วทุกหัวระแหงด้วยเช่นกัน

“เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะเป็นเรื่องของการเช่า เช่าเพื่อไปฉาย แต่ถ้าหากเป็นต่างจังหวัดแล้วก็จะมีสายหนังอยู่แต่ละเขตแล้วสายหนังพวกนี้ก็มักจะทำหนังด้วย เขาก็จะซื้อหนังโดยตรงจากสายหนังกรุงเทพฯ พอได้ลิขสิทธิ์มาก็นำหนังพวกนี้ออกไปฉาย” กำธรชี้แจงรายละเอียดก่อนบอกต่อว่า

“ในการฉายของเขาก็มีหลายลักษณะ ก็คือมีทั้งการฉายลักษณะที่เราเรียกว่า 'ฉายเร่' ก็คือพอไปถึงปุ๊บคนฉายก็จะล้อมผ้า เขาก็เลยเรียกกันว่า 'หนังล้อมผ้า' แล้วก็เก็บตังค์ ค่าเข้าดู 20 บาท 30 บาท 50 บาท ก็แล้วแต่ราคาเช่าหนัง”

เรียกได้ว่าเป็น “ยุคทอง” ของหนังกลางแปลงอย่างแท้จริง

“ตอนนั้นฉลองกรุงเขามีการระดมหนังกลางแปลงจากทั่วประเทศให้เข้ามาฉายในกรุงเทพฯ มีสปอนเซอร์มีอะไร คือเมื่อก่อนร้านหนังก็ไม่ได้มีร้านเดียว มันมีหลายร้านมาก เป็น 'เวิ้ง' เลย เขาเรียก 'เวิ้งเฉลิมกรุง' ทุกตรอกซอกซอยในใจกลางของกรุงเทพมหานคร จะมีหนังเยอะมากช่วงนั้นผมว่ามันเป็นช่วงที่บูมที่สุดของหนังกลางแปลง ผมไปเดินอยู่ทั้งคืน ความรู้สึกในตอนนั้นคือไม่อยากจะแวะยืนตรงไหนนานๆ เลย เพราะกลัวว่าจะไปไม่หมด”

“ชาตะ” สุดท้ายของคนฉาย “หนังกลางแปลง”

ท่ามกลาง “โลก” ใหม่ใบเก่าในยุคเทคโนโลยีหมุนผ่านระยะทางเพียงปลายนิ้ว “ใคร” ที่ตามไม่ทัน ก็ย่อมต้องถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง เช่นเดียวกับ “หนังกลางแปลง” เศษซากชิ้นส่วนของสายพาน “ภาพยนตร์” ที่ตกร่องแผ่นแห่งยุคสมัย ไม่ต่างไปจาก “ชาตะ” ม้วนวิดีโอ ที่กลายเป็นของเก่า “เก็บ” นอนแน่นิ่งในลิ้นชักตู้โชว์

“ทุกวันนี้คำพูดถึง 'ดิจิตอล' กระทบกระเทือนวงการแผ่นฟิล์มมากที่สุด” กำธร ขยายให้ฟังว่า

“ดิจิตอลที่จะเข้ามามีบทบาทแทนฟิล์ม คือดิจิตอลที่มาในรูปแบบมีเดียบนฮาร์ดดิสก์ ซึ่งเอามาใช้กับโรงภาพยนตร์ ในวงการก็ส่งซิกแนลเรื่องพวกนี้อยู่ตลอดเวลา”

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ทุกวันนี้เรื่องของ “ฟิล์ม” กำลังจะหมดไปในไม่ช้า เห็นได้จากการปิดตัวของผู้ผลิตฟิล์มบางราย หรือการที่ผู้ผลิตฟิล์มบางเจ้าหันทิศปรับทางเข้าหา “ดิจิตอล” กันเป็นแถว
“ถ้าคุณคิดในมุมเรื่องของผู้ผลิต ตอนนี้ยังมีบริษัทที่ให้ผลิตฟิล์มอยู่หรือเปล่า วัตถุดิบที่เป็นเนกาทีฟ ยังมีอยู่หรือเปล่า บริษัทต่างประเทศยังผลิตแผ่นฟิลม์อยู่ไหม แล้วบริษัทที่พรินต์ยังมีอยู่หรือเปล่า พิมพ์ฟิล์มออกมาให้ฉายกันยังมีอยู่ไหม ถ้ายังมีอยู่แล้วยังทำอยู่มันก็ยังไม่ตายภายในปีนี้ หรือภายในอีก 1 ปี แต่ถ้าคุณบอกว่าไม่มีล่ะ” กำธรตั้งคำถามก่อนจะต่อต้นตอคำตอบให้ฟังว่า

“เทรนด์มันมีวี่แววมาแล้ว กันตนาเลิกทำ ซีเนแล็บเลิกทำ โกดักเลิกผลิต ฟูจิเลิกผลิต เลิกกันหมดจบแล้ว วัตถุดิบไม่มี ทำอะไรไม่ได้เราไม่สามารถผลิตแผ่นฟิล์มเองได้ อย่างนี้ก็ถือว่าจบในเรื่องของไม่มีของใหม่ แต่ยังมีของเก่าซึ่งเป็นสต๊อกค้างอยู่ที่บริษัทหนัง ยังสามารถเอามาใช้ฉายได้ โดยใช้นิยามเดิม 'หนังกลางแปลงระบบแผ่นฟิล์ม' แค่นั้นเอง”

นอกจากถึงช่วงอายุของการเปลี่ยนผ่าน จากสิ่งเก่าไปสิ่งใหม่ เฉกเช่นที่เป็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เงาภาพบนผืนผ้าใบสีขาวของหนังกลางแปลงเจือจางลงคือ “ขาดแคลนใบไม้ใบใหม่ที่ผลัดแทนใบเก่าที่ล่วงหล่น”

“หนังมันบูมเมื่อสัก 30-40 ปีที่แล้ว รุ่นคนที่ทำในยุคนั้นอาจจะอายุประมาณ 20 30 ปี ซึ่งกำลังเป็นพ่อของเด็กตัวเล็กๆ คนหนึ่ง เมื่อเวลาผ่านไปสัก 20 ปี 30 ปี จนถึงปัจจุบัน เขาคงทำหน้าที่หัวหน้าครอบครัวเลี้ยงดูจากการฉายหนัง ส่งลูกเรียนดีๆ เรียนต่างประเทศไปหมดแล้ว แล้วเด็กเหล่านั้นก็คงจะไม่กลับมารับช่วงต่อ เพราะฉะนั้นเมื่อหมดยุคของคนรุ่นนั้น ก็คงไม่มีใครมาสืบต่อ หนังกลางแปลงก็คงจะหายไป ซึ่งคนรุ่นนั้นคงไม่ได้ซีเรียสอะไรกับดิจิตอลที่จะเข้ามา เขาคงพูดประมาณว่า “ยูเข้ามาเมื่อไหร่ ไอก็ไป” คงจะลักษณะนั้น แต่คนที่ทุกวันนี้ยังหากินกับหนังกลางแปลงอยู่ก็คงต้องเริ่มคิดใหม่

“ถ้าคนไม่ทำใจ ก็คงใจหายเหมือนกัน” กำธรเอ่ยปากยอมรับ ก่อนจะทบทวนกับตัวเองว่าตัวเขานั้น “ใจหายไหม” สำหรับเรื่องนี้

“ถ้าคนทำใจได้ ก็คิดว่าไม่หาย ส่วนตัวผมที่เข้ามาทำหนังเพราะผมทำด้วยใจรัก อยากจะรักษาอยากจะเก็บ ซึ่งข้อนี้ผมไม่หาย ผมยังมีอุปกรณ์อะไรต่อมิอะไรที่มันเกี่ยวข้องอยู่ แต่คนที่ทำหนังกลางแปลงเป็นอาชีพ อันนี้ก็อีกความรู้สึกหนึ่ง ถ้าพูดเรื่องตรงจุดนี้ ผมว่าเขาต้องคิดใหม่ ต้องเตรียมปรับสภาพรับมือกับสิ่งที่มันกำลังจะเกิดขึ้น” กำธรเผยก่อนจะทิ้งท้ายไว้ว่า
“ด้วยอุดมการณ์ของผม ด้วยความรักของผม ก็คงอยู่รักษา อยู่กับแผ่นฟิล์มตรงนี้ต่อไป”

No Comments Yet

Comments are closed

user's Blog!

49/1 ชั้น 4 อาคารบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

49/1 4th floor, Phra-A-Thit Road, Chanasongkhram,Phanakorn Bangkok 10200

Tel. 02 629 2211 #2256 #2226

Email : mars.magazine@gmail.com

FOLLOW US ON

SUBSCRIBE