‘Hipster’ แฟชั่นตามกระแส หรือเนื้อแท้แห่งไลฟ์สไตล์


ยังคงเป็นปริศนาที่ไม่มีคำตอบแน่ชัด ว่าเป็นความลื่นไหลทางวัฒนธรรม หรือเพียงความเคลื่อนไหวของแฟชั่นกันแน่ สำหรับ ‘ฮิปสเตอร์’ (Hipster) ที่กลายเป็นกระแสวิพากษ์ทางสังคมในบ้านเรา ต่างพยายามตีความไปต่างๆ นานาถึงแก่นแท้ความเป็นฮิปสเตอร์ มีทั้งชื่นชมในความแปลกแยก หรือนิ่งเฉยเพราะมองว่าคือเรื่องธรรมดาของไลฟ์สไตล์ส่วนตัว และสุดท้ายกลุ่มที่ออกมาวิจารณ์ในด้านลบหรือรู้จักกันดีในนาม ‘anti-hipster’
ภาพประกอบจาก ksblack51
มีข้อสันนิษฐานว่า Hipster แผลงมาจาก hep/hip คำแสลงที่เกิดขึ้นมาตั้งยุคต้นศตวรรษที่ 20 แปลว่ารู้เท่าทัน และทันสมัย โดยใน ค.ศ. 1941 คำว่าฮิปสเตอร์เริ่มเป็นที่แพร่หลาย หมายถึงผู้มีความทันสมัย เน้นไปยังกลุ่มวัยรุ่นชนชั้นกลางผิวขาวที่สร้างภาษาของตนเองขึ้นมาสำหรับพูดคุยระหว่างกัน แต่ในอีกแง่หมายถึงกลุ่มคนใช้ชีวิตเสรีด้วยการโบกรถไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อตามหาจิตวิญญาณของตนเอง

อย่างไรก็ตามคงต้องแยกแยะความเกี่ยวพันระหว่างฮิปสเตอร์ออกจากฮิปปี้ (Hippie) เนื่องจากมีความต่างทางทัศนคติอยู่พอสมควร ซึ่งฮิปปี้นั้นแม้จะมีไลฟ์สไตล์คล้ายคลึงกัน แต่พวกเขาจะแยกตัวออกจากสังคมอย่างเห็นได้ชัด ส่วนฮิปสเตอร์ยังคงมีโลกของโซเชียลเป็นพื้นฐานของการปฏิสัมพันธ์กับสังคมวงกว้าง
ภาพประกอบจาก philosophybistro.com
กฎพื้นฐานของโลกฮิปสเตอร์
เชื่อว่าหลายท่านน่าจะพอรับทราบอุปนิสัยพื้นฐานของฮิปสเตอร์มาบ้าง แต่สำหรับใครที่ยังนึกไม่ออก ลองมองไปรอบๆ ตัวว่ารู้จักใครบ้างที่มีพฤติกรรมเหล่านี้

1. มีอัตตาสูง โลกส่วนตัวของพวกเขาถูกสงวนไว้ในพื้นที่จำเพาะ
2. ออกอาการเมื่อพบเห็นสิ่งไม่พึงใจ พร้อมแสดงตัวต่อต้านโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เหตุนี้ทำให้ฮิปสเตอร์ถูกมองว่าเป็น ‘หัวขบถ’ จากกลุ่มนายทุน หรือรัฐบาลที่วางนโยบายพัฒนาสิ่งใดๆ ก็ตามซึ่งมีผลกระทบต่อสภาวะแวดล้อม
3. เชื่อมั่นในวิทยาศาสตร์ ถึงขั้นมองผู้คนที่แสวงหาศรัทธาจากสิ่งลี้ลับว่าเป็นพวกงมงาย ไร้เหตุผล
4. ความรักในศิลปะทำให้พวกเขาใช้เวลาอยู่กับงานศิลป์ หรือสร้างสรรค์ผลงานจำพวกแฮนด์เมด รวมถึงอุดหนุนสินค้าประเภทที่ต้องมีสไตล์ไม่ซ้ำใคร
5. ฟังดนตรีทางเลือก โดยเฉพาะแนวอินดี้ที่ไม่ได้รับความนิยมในคนหมู่มาก
ภาพประกอบจาก hercampus.com
6. ดูหนังนอกกระแส
7. รักการถ่ายภาพ แต่ต้องเป็นกล้องฟิล์มเท่านั้น เนื่องจากยังมีส่วนของความคิดอนุรักษนิยม รวมถึงมองว่าฟิล์มสามารถถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก และสีสันได้มากกว่าไฟล์ดิจิทัล
8. แต่งกายเรียบง่าย ไม่เน้นเรียบร้อย กระนั้นก็ยังแฝงไว้ด้วยรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เช่น เสื้ออาจสกรีนข้อความต่อต้านสังคม ต้านเขื่อน เรียกร้องสิทธิ รวมถึงมีชื่อวงอินดี้ที่พวกเขาคลั่งไคล้ แต่เชื่อหรือไม่ว่าราคาเสื้อผ้าพวกนี้ไม่ได้ถูกๆ เลย
9. รักการอ่าน เน้นไปยังหนังสือพวก text น้อยภาพเยอะ ทำให้นิยายอาจไม่อยู่ในความสนใจ ส่วนนิตยสารที่ได้ชื่อว่าเป็นคัมภีร์แห่งการใช้ชีวิตของเหล่าฮิปสเตอร์คือ Kinfolk
10. อ่านหนังสือให้ได้อารมณ์ต้องนั่งตามร้านกาแฟเท่านั้น แต่จะเป็นร้านดาดๆ ข้างถนน หรือแฟรนไชส์ที่มีอยู่เกลื่อนเมืองไม่ได้ ร้านต้องดูดีมีสไตล์ โดยเฉพาะแนววินเทจยิ่งได้รับความสนใจ
ภาพประกอบจาก windsorstar.com
11. ใส่ใจสุขภาพ เน้นมากเรื่องการบริโภคอาหารจำพวกผักออร์แกนิก ไร้สาร ไม่มีการดัดแปลงหรือตัดแต่งพันธุกรรมด้วยวิธีการทางพันธุวิศวกรรม (GMO)
12. จักรยานคืออวัยวะที่ 34 ต่อจากกล้องถ่ายรูป สาเหตุมาจากความมีหัวอนุรักษ์ ไม่อยากก่อมลภาวะ รวมถึงต่อยอดคำว่ารักสุขภาพ ซึ่งจักรยานต้องแนววินเทจเท่านั้น
13. แม้ดูเป็นคนมีโลกส่วนตัวสูง แต่ไม่ใช่ว่าจะปิดกั้นข่าวสารเสียทีเดียว ดังนั้นการติดตามโลกโซเชียล เข้าไป Like-Share จึงเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน
14. รักสัตว์ทุกชนิด แต่ดูเหมือน ‘แมว’ จะกลายเป็นเครื่องหมายการค้าของชาวฮิปสเตอร์ อาจเพราะเลี้ยงดูง่าย แถมแมวมีความคล้ายคลึงฮิปสเตอร์ตรงความเป็นตัวของตัวเอง และรักอิสระ
15. ปลูกกระบองเพชร
16. ใช้เทคโนโลยีจากค่าย Apple อย่าง iPhone, iPad หรือ MacBook
ภาพประกอบจาก wheretoget.it
จากข้อมูลข้างต้นน่าจะพอทำให้ใครที่ยังไม่รู้จักกลุ่มวัฒนธรรมแบบนี้พอมองเห็นภาพได้บ้าง แต่หากลองสังเกตบริบทโดยรวม ประมวลได้ว่าราคาที่ต้องจ่ายสำหรับการเป็น ‘ฮิปสเตอร์’ นั้นไม่ใช่ถูกๆ ต้องมีความพร้อมในหลายด้านโดยเฉพาะปัจจัยด้านทุนทรัพย์ เพื่อให้การดำเนินชีวิตแบบ ‘slow life’ หรือใช้ชีวิต ‘เนิบช้า’ ขับเคลื่อนได้ตามสิ่งที่มันเป็น

เกิดคำถามว่า ‘ฮิปสเตอร์’ เกิดด้วยเนื้อแท้ของตัวตน หรือเพียงตามกระแสใช้สร้างภาพลักษณ์ให้ดูโดดเด่นเท่านั้น เพราะถ้าเป็นอย่างหลัง ความยั่งยืนคงไม่บังเกิด สุดท้ายจะเลือนหายไปจากสังคมไทยไม่ต่างจากวัฒนธรรมอื่นที่ไหลบ่าเข้ามา และระเหยเป็นอากาศธาตุพัดผ่านไป

ในประเทศไทย วัฒนธรรมเดียวกันนี้กำลังเป็นที่จับตามอง บุคคลในวงการบันเทิงหลายคนมีไลฟ์สไตล์ตรงกับกฎพื้นฐานของโลกฮิปสเตอร์
หนึ่งในนั้นคือ ‘โทนี่ รากแก่น’ หรือ ธีรชัย วิมลชัยฤกษ์ นักแสดง นายแบบ ผู้มาพร้อมภาพลักษณ์ที่ดูเป็นคนมีโลกส่วนตัว ใช้ชีวิต และแต่งกายเข้าคอนเส็ปต์ ทำให้ถูกมองเป็นหนึ่งในเผ่าพันธุ์ฮิปสเตอร์ ส่วนโทนี่จะมองเรื่องนี้อย่างไรนั้น mars ได้พูดคุยและรับทราบว่า แท้จริงการแสดงออกของเจ้าตัวนั้นคืออะไร
ภาพประกอบจาก instagram : tonirakkaen
“ผมไม่เคยมองว่าตัวเองคือฮิปสเตอร์นะครับ แต่ก็น่าแปลกที่หลายคนบอกว่าผมเป็น”
โทนี่ตอบคำถามของเราที่ว่า ‘คิดอย่างไรเมื่อมีคนมองว่าเป็นฮิปสเตอร์’

คตินิยมของ ‘ฮิปสเตอร์’
“ฮิปสเตอร์คือคนที่ทำอะไรแหวกแนว แตกต่าง อาจมองดูขัดกับสังคม แต่ผมไม่ได้เป็นฮิปสเตอร์ เป็นแค่คนที่มีสิ่งที่ตัวเองชอบ และรักจะทำมัน บางครั้งเราก็ไม่ได้มานั่งใส่ใจสังคมอะไรมากมายว่าเราจะต้องทำแบบนั้นแบบนี้ให้มันเหมือนใคร

ไม่ใช่ตั้งใจว่าจะแตกต่าง แค่มีสิ่งที่เรารักเราชอบ สมมุติผมชอบการแต่งบ้าน ก็จะมีสไตล์การแต่งบ้านตามแบบของตัวเอง ไม่ได้มองว่าสไตล์นี้กำลังมา อย่างนั้นกำลังฮิต คือส่วนมากเขาจะสร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นมาเพื่อเอาใจคนอื่น ผมว่ามันไม่ใช่ราทำเพื่อความสุขตัวเองอะไรแบบนี้มากกว่า” โทนี่ขยายความเกี่ยวกับรสนิยมของตนเอง
โทนี่ รากแก่น
แต่งกายต้องเหมาะสมกับกาลเทศะ
“แต่งตัวตามสภาพอากาศ โอกาส เช่น กรณีไปงานทางการหน่อย แน่นอนเราต้องให้เกียรติเจ้าของงาน ดูว่าเขาแต่งตัวกันในระดับใด หรือใช้สีสันให้เหมาะสม

“ถ้าวันไหนว่างไปเดินสวนจตุจักร หรือไปร้านรุ่นพี่ก็จะอีกแบบ เป็นอะไรชิลล์ๆ แค่เสื้อยืด กางเกงยีนส์ รองเท้าแตะ ส่วนพวกเครื่องแต่งกายอื่นๆ ก็จะเป็นของที่เราชอบ ส่วนมากออกแนววินเทจ ตรงนี้มันมีที่มาที่ไปนะครับ ผมว่างานสมัยก่อนเค้าค่อนข้างใส่ใจในรายละเอียดหลายๆ อย่าง วิธีการออกแบบ ลักษณะการใช้งาน ซึ่งส่วนตัวจะชอบมากถ้าเป็นเสื้อผ้าออกแนวทหารสมัยสงครามโลก เสื้อทหารเรือ ส่วนที่เห็นแล้วต้องซื้อตลอดคือแจ๊กเกต”
ภาพประกอบจาก instagram : tonirakkaen
กล้องถ่ายรูป อวัยวะที่ 33
“เรื่องการถ่ายภาพไม่ได้มีกล้องฟิล์มติดตัวตลอดเวลา ยังเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง ใช้กล้องมือถือถ่ายตลอด ผมถ่ายมันด้วยไอโฟนนี่แหละครับ

“หากถามว่าชอบการถ่ายภาพไหม หลักๆ คือชอบความสวยงาม มักมองหามุมมองที่รู้สึกว่าสวยงาม หรือสื่อความหมายได้แล้วถ่ายเก็บไว้ เรื่องสิ่งของก็เช่นกัน ถึงจะชื่นชอบแค่ไหนก็ไม่ถึงกับต้องถ่ายรูปไปเสียหมด”

คลีนฟู้ดเท่านั้น?
ผมยอมรับนะครับว่าดูเรื่องหน้าตาของอาหารเป็นอันดับแรก มันต้องดึงดูด รู้สึกได้ว่าคนทำเขาใส่ใจ ส่วนเรื่องรับประทานผมเฉยๆ ไม่ได้ต้องไขว่คว้าตามหาร้านมีเมนูอะไรที่มันอร่อยระดับภัตตาคาร อาจเพราะผมทานมังสวิรัติอยู่แล้ว จึงไม่ใช่อาหารหาทานได้ง่ายๆ ทั่วไป อย่างในกองละครทำอะไรให้ เราก็ทานไปอย่างนั้น จึงไม่ใช่ประเด็นสำคัญสำหรับผมเท่าไรในเรื่องอาหาร”
ภาพประกอบจาก instagram : tonirakkaen
โลกฮิปสเตอร์กับตัวตนบนโลกความจริง
“ขอบคุณนะครับที่เห็นผมเป็นฮิปสเตอร์ และมีเราเป็นแบบอย่าง แต่ได้บอกไปแล้ว ผมมองตัวเองไม่ใช่ฮิปสเตอร์ เพียงทำในสิ่งที่เราเป็น ไม่ว่าจะวิธีคิด ไลฟ์สไตล์ หรือการแต่งกาย พยายามใช้ชีวิตในเส้นทางที่ไม่ได้ไปทำร้ายใครให้เดือดร้อน

“ผมว่าทุกคนมีความแตกต่างอยู่ในตัว ไม่มีใครเหมือนกันสักคน เพียงแค่วันนี้คุณยังหาตัวเองไม่เจอหรือเปล่า เราต้องใช้เวลาครับ คือของพวกนี้มันต้องออกไปสัมผัสสิ่งอื่นๆ อย่าปิดกั้นตัวเอง การมีคนอื่นเป็นแบบอย่างผมว่ามันโอเคนะ แต่สุดท้ายเราต้องหาตัวเองให้พบ”
ภาพประกอบจาก fourangrydrunks.bandcamp.com
จากบทสัมภาษณ์ ‘โทนี่ รากแก่น’ ทำให้มองเห็นมุมเล็กๆ มุมหนึ่งว่า ‘ฮิปสเตอร์’ เป็นเพียงกรอบที่คนอื่นพยายามขีดให้กับกลุ่มคนที่มีความเป็นตัวของตัวเองด้านไลฟ์สไตล์เท่านั้น ขณะที่ตัวบุคคลซึ่งถูกตัดสินให้เป็นอาจไม่ได้อยากให้ใครเรียกเช่นนั้นเสียด้วยซ้ำ

ทั้งยังหาข้อสรุปไม่ได้ด้วยว่าคนที่ใช้ชีวิตแบบเนิบช้า หรือ slow life ในประเทศไทยนั้น เขามุ่งหมายให้ชีวิตขับเคลื่อนไปแบบนั้นจริงๆ หรือเพื่อดำเนินตามกระแสแฟชั่นกันแน่ ตรงนี้คนที่จะตอบคำถามว่า 'คุณคือฮิปสเตอร์หรือไม่' ได้ดีที่สุดคือ ‘ตัวเอง’ เท่านั้น

user's Blog!

49/1 ชั้น 4 อาคารบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

49/1 4th floor, Phra-A-Thit Road, Chanasongkhram,Phanakorn Bangkok 10200

Tel. 02 629 2211 #2256 #2226

Email : mars.magazine@gmail.com

FOLLOW US ON

SUBSCRIBE