พลันที่เราเห็นเธอคนนี้ในใจเราก็นึกสงสัยขึ้นมาทันทีว่าเธอต้องมีอะไรในตัวที่น่าทึ่งเป็นแน่ เพราะจากบุคลิก และการวางตัว เมื่อเราได้เริ่มเอื้อนเอ่ยสนทนากัน คำถามที่เราส่งไปได้แย้มความคิดของเธอให้ถูกเปิดออกเพียงเท่านั้นความคิดในช่วงต้นก็เกิดคลายข้อสงสัยไปได้ถนัดใจเพราะเธอช่างมีอะไรที่น่าทึ่งเสียจริง
สาวสูงโปร่งคนนี้เล่าความเป็นมาให้เราฟังว่าเธอเองก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองชื่นชอบดนตรีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ พอมารู้ตัวอีกทีดนตรีก็สร้างรายได้ให้กับเธอไปแล้ว ไม่เพียงเท่านั้นดนตรียังสร้างประโยชน์อีกมากมายให้กับเธอและผู้อื่นอีกด้วย จึงไม่แปลกใจเลยที่เธอเลือกเดินในเส้นทางนี้แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ไม่ได้เลือกมาตั้งแต่ต้นก็ตาม เนตรชนก สิงห์เห หรือ เมริญ นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยมหิดล สาขาดนตรีบำบัด ในสังกัดวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ อีกทั้งสาวหุ่นนางแบบคนนี้ยังมีอาชีพเป็นนักร้องที่ร้องเพลงตามสถานบันเทิงต่างๆ ไม่ใช่แค่นั้น เพราะอีกหนึ่งสิ่งที่เธอคนนี้ทำนั่นก็คือการเป็นนักดนตรีบำบัดในโรงพยาบาลศิริราชเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยอีกด้วย
แม้หลายคนจะมองว่าดนตรีมีให้แค่ความบันเทิง แต่หากย้อนดูในทางกลับกันสำหรับสาวเสียงสวยคนนี้ดนตรีนั้นสามารถสร้างประโยชน์ให้กับผู้คนได้อีกมากมาย และทว่าการเล่นดนตรีของเธอแม้ว่าจะมีความแตกต่างกันไปบ้าง แต่สิ่งหนึ่งที่เราเชื่อว่ามันไม่แตกต่างนั่นก็คือความสุขที่เธออยากจะถ่ายทอดให้เพื่อนมนุษย์ผ่านเสียงเพลงนั่นเอง
ก้าวเริ่มต้น บนเส้นทางดนตรี
แม้สาวร่างสูงโปร่งนักร้องอาชีพคนนี้จะไม่เคยรู้มาก่อนก็ตามว่าเธอเองเริ่มสนใจดนตรีมาตั้งแต่ตอนไหน แต่สิ่งที่เธอรู้นั่นก็คือ เวลาที่เธอได้หยิบจับเครื่องดนตรีมาเล่นแล้วเล่นได้ เธอจะรู้สึกดีและบันเทิงใจไปกับสิ่งที่ทำอยู่นี้อย่างบอกไม่ถูก
“จริงๆ เริ่มสนใจตั้งแต่ตอนไหนไม่รู้ แต่ถ้าถามว่าเริ่มเล่นดนตรีตอนไหนต้องบอกว่าตั้งแต่ประถมศึกษาปีที่ 6 เริ่มจากเล่นเครื่องดนตรีง่ายๆ ก่อน อย่างที่บ้านมีขลุ่ยก็จะเอาขลุ่ยมาเป่า พอเป่าได้เราก็รู้สึกสนุกบันเทิงใจไป พอขึ้นมัธยมต้นพอดีมีพี่สาวซึ่งพี่สาวชอบทำกิจกรรมและก็เล่นดนตรีพื้นเมืองทางภาคเหนืออยู่แล้ว ซึ่งพื้นเพตัวเราเองก็เป็นคนเหนือ เลยเล่นตามพี่สาว เริ่มจากเครื่องดนตรีทีละอย่างจากขลุ่ยพื้นเมือง มาเป็นสะล้อ มาเป็นซึง ระนาดเอก ขิม จะเข้ อะไรก็ตามทุกอย่างที่เป็นเครื่องดนตรีที่เรามีโอกาสได้จับก็จะจับมาเล่นหมด จากนั้นก็ขยับมาเล่นดนตรีสากลด้วยการเข้าไปเล่นในวงโยธวาทิต ได้จับแซกโซโฟน ทรัมเป็ต ปิคโคโล่และก็ฟลุต แล้วจากนั้นเริ่มมาเล่นกีตาร์ซึ่งกีตาร์กลายเป็นหลักๆ ที่เราเล่นประจำอยู่ ณ ตอนนี้ จับกีตาร์ด้วยเหตุที่ว่าเห็นพี่สาวเล่น เห็นเพื่อนพี่สาวเล่นแล้วอยากลองเล่นดูบ้างเลยไปบอกกับรุ่นพี่ที่โรงเรียนว่าให้ช่วยสอนหน่อย แต่ได้รับคำตอบที่ประทับใจมาว่าอย่าเล่นเลยเธอเล่นไม่ได้หรอก เราก็จี๊ดปรี๊ดเลยสิ หลังจากที่ได้ยินคำสบประมาทวันนั้นด้วยความที่เลือดนักสู้หรือยังไงไม่ทราบเลยคิดว่าเราลองหัดเองโดยไม่ง้อคนสอนก็ได้”
เพียงเพราะคำสบประมาทนำมาสู่การลุกขึ้นฮึดสู้ สู่การเล่นดนตรีหารายได้จุนเจือตัวเองจนกระทั่งปัจจุบัน
“จากที่โดนสบประมาทในวันนั้น เราเลยเริ่มที่จะเอากีตาร์ที่มีรุ่นพี่ฝากไว้ที่บ้านและก็ทุกที่ที่มีกีตาร์วางอยู่จะไปขอเขาเอามาจับหมดเพื่อลองหัดร้องหัดเล่น ลองหัดเล่นง่ายๆ ด้วยการเปิดหนังสือเพลงซึ่งแต่ก่อนอินเทอร์เน็ตยังไม่เป็นที่รู้จักเท่าไหร่ เราก็จะใช้หนังสือเพลง ตารางคอร์ด ฟังเพลง ดูเอ็มวี ดูวิธีการเล่นจากคนอื่น ทุกอย่างที่สามารถทำให้เราเล่นได้เราทำหมด ใช้เวลาปิดเทอมทั้งหมด 4 เดือน วันละ 8 ชั่วโมง ซ้อมตลอด ซ้อมทุกเวลา ซ้อมจนได้ แล้วโรงเรียนมีส่งประกวดที่ประทับใจสุดๆ เลยก็คือชนะรุ่นพี่เราที่บอกว่าเราเล่นไม่ได้นั่นแหละ เรากลายเป็นมือกีตาร์ผู้หญิงที่มีชื่อเสียงขึ้นมาในโรงเรียนเล็กๆ ในจังหวัดทางภาคเหนือ จากนั้นก็มีคนชื่นชมมาเรื่อยๆ มีผลงานมาเรื่อยๆ จนกระทั่งที่บ้านเกิดวิกฤตมีปัญหาเรื่องรายได้ ตอนนั้นอยู่มัธยมปีที่ 3 จะขึ้นมัธยมปีที่ 4 ต้องช่วยเหลือตัวเองให้ได้ เลยคิดว่าเราต้องออกไปทำงานแล้วล่ะ จึงตัดสินใจเลือกทำงานโดยการเล่นดนตรีตั้งแต่วันนั้นมาจนถึงปัจจุบันนี้”
ดนตรีไม่ใช่ความฝัน
แม้ว่าหารายได้ช่วยเหลือตัวเองด้วยการเล่นดนตรีมาตั้งแต่เด็กๆ แต่ด้วยความที่เป็นสาวห้าว ชอบบู๊ ชอบลุย ความฝันของเธอจริงๆ จึงคือการทำงานเกี่ยวกับความถูกต้อง ความยุติธรรมอย่างนักกฎหมาย ตำรวจ หรือไม่ก็ทหารเสียมากกว่า แต่เพราะอะไรเธอจึงเลือกสู่เส้นทาง “นักดนตรีอาชีพ”
“ไม่ใช่เลย ดนตรีไม่ใช่ความฝันเลย จริงๆ ตอนแรกอยากจะเป็นตำรวจ อยากจะเป็นทหาร อยากจะทำงานเกี่ยวกับความถูกต้อง อยากจะทำงานทางด้านกฎหมาย คุณพ่อก็ให้หนังสือกฎหมายมาอ่านเยอะ ชอบความยุติธรรม ชอบเป็นผู้นำ เป็นคนที่ค่อนข้างจะชอบอะไรบู๊ๆ เพราะว่าส่วนตัวเป็นผู้หญิงห้าว ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะมาเป็นนักดนตรีอาชีพ คิดแค่ว่าดนตรีทำเงินให้เราได้เท่านั้นเอง จนกระทั่งจุดเปลี่ยนเรามาคิดได้ตอนจะจบมหาวิทยาลัยปี 4 ช่วงนั้นต้องดูแลตัวเองอย่างเต็มตัวแล้ว ในระหว่างที่ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยที่บ้านก็จะช่วยเหลือส่วนหนึ่งแต่ช่วยได้ไม่เยอะ ทั้งหมดทั้งมวลต้องหาเองถึง 80% เราเลยรู้สึกว่าเราต้องช่วยเหลือตัวเองให้ได้ 100% สิ่งนี้เลยทำให้เรานึกขึ้นมาว่าเราต้องทำมาหากินอะไร”
“ส่วนตัวเรียนจบด้านวารสารศาสตร์มา ไม่ได้จบดนตรีก็มาคิดนั่งตรึกตรองดู ทบทวนชีวิตตัวเอง ว่าจริงๆ แล้วที่เราเติบโตจนกระทั่งเรียนจบปริญญาตรีได้ก็มาจากการเล่นดนตรีแล้วเราก็ทำได้ดีด้วย ทำไมเราไม่ทำให้มันดีไปเลย อีกอย่างเคยไปทำงานในแบบที่เรียนมามันไม่ใช่ มันเป็นสิ่งที่เราทำได้นะทำได้ดีและทำได้โอเคด้วย แต่เราคิดว่ามันไม่ใช่ตัวเรา มันไม่มีความสุขตลอดเวลาเหมือนกับการเล่นดนตรี แต่กับดนตรีทุกครั้งที่ได้เล่นได้ร้องเราคิดว่าเราไม่ได้ทำงาน มันเหมือนเป็นกิจวัตรประจำวันของเราที่เราทำเป็นประจำอยู่แล้ว จากนั้นเลยคิดว่าเอาดีทางด้านนี้แหละ”
เมื่อรู้ว่าชอบอะไร ต้องเดินหน้าลุย
เมื่อประสบความสำเร็จและเรียนรู้ตัวเองดีพอแล้วว่าสิ่งที่ต้องการทั้งหมดไม่ใช่สิ่งที่เรียนปริญญาตรีมาตลอด 4 ปี เธอจึงมุ่งพัฒนาศักยภาพตัวเองและเดินหน้าลุย เลือกเรียนต่อในสายงานที่เธอรักอย่างจริงจัง ด้วยการเรียนต่อปริญญาโทสาขาดนตรีบำบัดในสังกัดวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล นั่นเอง
“พูดไปแล้วอาจจะดูเหมือนนางฟ้านะ (หัวเราะ) ที่เลือกเรียนสาขานี้ จริงๆ ไม่รู้เลยว่าจะสามารถเลี้ยงชีพตัวเองได้หรือเปล่าแต่ที่รู้อย่างเดียวก็คือฉันรักดนตรีและฉันก็อยากจะช่วยเหลือคน ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำอยู่ทุกวันนี้จะถามตัวเองก่อนว่าทำแล้วมีความสุขไหม ทำแล้วได้อะไร ทำแล้วจะอดทนได้แค่ไหน เรารอเรียนดนตรีบำบัดมา 1 ปีเต็มโดยการย้ายไปทำงานที่ภูเก็ต ไปใช้ความคิดว่าเราต้องเอาอย่างไรกับชีวิตต่อไป
จริงๆ ค้นหาเรื่องดนตรีบำบัดมา 2 ปีเต็มก่อนที่จะมาเรียนตั้งแต่ปี 2000 เพราะตอนนั้นดนตรีบำบัดยังไม่เปิดในประเทศไทย คิดว่าถ้ายังไม่เปิดอีกจะขอทุนไปเรียนต่างประเทศแล้ว ทั้งๆ ที่ไม่ได้รู้เลยว่าจะเอาเงินมาจากไหน จนกระทั่งฟ้าเป็นใจให้ได้เรียน ซึ่งการสมัครยากมากกว่าจะได้ (หัวเราะ) เขาเลือกคนจริงๆ เลือกมากๆ จากเป็นร้อยคนเหลือ 6 คน”
สู่วิถี “นักดนตรีบำบัด”
นอกจากเธอจะร้องเพลงเพื่อหารายได้มาจุนเจือตัวเองแล้ว ยังไม่พอ เธอยังใช้สิ่งที่เธอรักส่งผ่านไปให้ผู้อื่นอีกด้วย นักดนตรีบำบัดจึงเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เธอทำนอกจากการเป็นนักร้องอาชีพ
“ณ ตอนนี้เล่นดนตรีอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช ภายใต้มูลนิธิดนตรีเพื่อสุขภาพศิริราช ตอนนี้ทีมทั้งหมดนักศึกษาปริญญาโทมิวสิกเทอราพีมีทั้งหมด 6 คน และถือว่าเป็น 6 คนแรกในประเทศไทยที่เริ่มต้นขึ้นมา หลักๆ เคสหนักๆ ที่เราช่วยตอนนี้จะเป็นผู้ป่วยโรคมะเร็งทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยว่าต้องการอะไร จิตใจ หรือพัฒนาทักษะทางด้านร่างกาย เพราะว่าโรคมะเร็งหลายๆ แบบต้องถูกตัดอวัยวะ เราก็ต้องรักษาทั้งทางด้านจิตใจและพัฒนาศักยภาพในการใช้ร่างกายในส่วนที่เหลือของเขาด้วย บางทีเราเจอเขา อาทิตย์นี้เจอกันยังดีอยู่เลย อาทิตย์ต่อมาโดนตัดขาไปแล้วแบบนี้ ส่วนเราเองก็ต้องทำใจให้หนักด้วยก่อนจะไปช่วยเขา (หัวเราะ)”
สาวรักดนตรีคนนี้บอกกับเราอีกด้วยว่าที่เธอเลือกเรียนดนตรีบำบัดนั่นก็เพราะรักในดนตรีและอยากให้เพื่อนมนุษย์มีความสุข
“ทุกครั้งที่เราได้เห็นคนยิ้ม คนฟังเขาอิน เค้าฟิน มีความสุขแล้ว เราค้นพบแล้วว่าการที่ทำให้คนอื่นมีความสุขมันคือความสุขของเราด้วย แล้วอะไรในตัวเราล่ะที่จะทำให้คนอื่นมีความสุขได้ สิ่งที่เราทำได้ดีนั่นก็คือการเล่นดนตรี เราเชื่ออย่างหนึ่งว่าถ้าเราทำอะไรแล้วมีความสุข สิ่งที่เราส่งออกไปนั้นมันจะมีส่วนผสมของความสุขออกไปด้วย จะทำให้คนรับสัมผัสได้ ดนตรีที่ดีมาจากความรู้สึกที่ดี มาจากใจที่ดี เชื่อว่าจะทำให้คนคนนั้นรู้สึกดีได้”
ความเหมือนที่แตกต่าง
แม้การหารายได้และความชอบที่จะช่วยเหลือเพื่อนร่วมโลกนั้นต้องพึ่งพาอาศัยดนตรีเฉกเช่นเดียวกัน แต่ทว่านั่นคือความเหมือนที่แตกต่างของเธอเลยทีเดียว
“ดนตรีที่เล่นหารายได้กับดนตรีบำบัดมันต่างกันนะ อย่างดนตรีธรรมดาเรามองว่ามันต้องเล่นกับตัวบุคคล เพลงเศร้าก็จะดึงความเศร้าความทุกข์ เพลงสมัยนี้เล่นเอาตายได้เลย การเล่นดนตรีเฉยๆ มันสามารถดึงคนมาอยู่ในอารมณ์อารมณ์หนึ่งซึ่งเป็นสุขเป็นเศร้าไม่รู้แหละ แต่สามารถสนองตอบทางด้านอารมณ์ที่คละเคล้ากันไปได้หมด มุมนี้ก็เหมือนเราเองเป็นซาตานที่ทำงานในนรก คือซาตานไม่ใช่ไม่ดีนะแต่เขาต้องทำหน้าที่ของเขาตรงนั้น ทีนี้ย้ายมาทางฝั่งดนตรีบำบัด คือดนตรีบำบัดที่ทำอยู่ทำอย่างเดียวเลยคือทำให้คนดีขึ้น ไม่ได้ช่วยด้วยการมอมเมา เพลงที่ร้องในโรงพยาบาลต่างกันเลยกับเพลงที่ร้องหาเงินตามสถานบันเทิง ไม่มีมาเศร้าเสียใจอะไรทั้งนั้น แต่จะเป็นเพลงที่สร้างสรรค์ทัศนคติ ทำให้คนคิดไปในทางที่ดีขึ้น อะไรก็ได้ที่ทำให้คนคิดดีขึ้น ให้เขารู้สึกดีขึ้น มีชีวิตที่ดีขึ้น เหมือนกับเทวดาที่ทำงานบนสวรรค์ คือทั้งสองอย่างต่างมีหน้าที่ที่ต่างกัน ไม่ใช่ไม่ดีนะเพียงแต่เราทำหน้าที่ของเรา เราต้องแยกให้ออก”
บรรเลงเพลงส่งคนตายอย่างยินดี
เพราะความรักที่มีให้กับดนตรีและชอบช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ เธอคนนี้จึงปูทางชีวิตว่าอยากจะนำทั้งสองสิ่งนี้มาสร้างประโยชน์ให้ควบคู่กันไปด้วยการเปิดคลินิก โรงพยาบาลหรือสถานบำบัดส่งทุกคนให้ตายอย่างยินดี
“ตอนนี้วางแผนอยากทำคลินิก โรงพยาบาลหรือสถานบำบัดที่จะเอาดนตรีบำบัดเข้ามาช่วยได้ อยากให้คนเดินเข้ามาในคลินิกดนตรีบำบัด เข้ามาชำระล้างจิตใจของตัวเอง ให้เหมือนกับคนที่เดินเข้าไปสถานเสริมความงาม ในเมื่อคนอยากจะดูดีจากภายนอกแล้วเราก็อยากให้เขาดูดีจากภายในด้วย เพราะดนตรีบำบัดส่วนหนึ่งที่ง่ายที่สุดคือการชำระล้างจิตใจ อยากให้คนที่กำลังหาสิ่งที่เป็นที่พึ่งทางใจ หันเข้าหาสิ่งนี้บ้าง เหมือนเป็นตัวเลือกอีกทางหนึ่งและอยากทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้น อยากจะขอโอกาสให้ดนตรีบำบัดได้นำมาใช้จริงๆ ซึ่งตัวเราเองสนใจผู้ป่วยระยะสุดท้าย อยากส่งคนที่กำลังจะตายให้ตายแบบยินดี เรามองการตายเป็นเรื่องดี เราจะทำยังไงให้น่ายินดีเหมือนตอนเกิด และดนตรีบำบัดไม่ได้ทำแค่กับผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงญาติผู้ป่วยอีกด้วย”
ไม่ว่าใครจะมองอย่างไร แต่จะว่าไปแล้วดนตรีนั้นก็คือสัจนิรันดร์ เป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเรามาตั้งแต่เกิดไม่เว้นแต่ศาสนาเพียงขึ้นอยู่กับว่าเราจะหยิบจับมันมาบรรเลงให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร เหมือนที่สาวคนนี้ได้พูดทิ้งท้ายไว้ว่า
“ดนตรีคือสัจนิรันดร์ เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งเดียวที่เป็นเอกภาพ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับใคร ทุกศาสนามีบทเพลง สังเกตจากบทสวดมนต์ องค์ประกอบของเพลงประกอบด้วยอะไรบ้าง โน้ตขึ้นๆ ลงๆ สวดมนต์ก็ต้องมีจังหวะความสม่ำเสมอ บทเพลงมันแทรกอยู่ในศาสนา เสียงเต้นของหัวใจเราก็เป็นจังหวะ จังหวะก็คือองค์ประกอบหนึ่งของดนตรี มันแทรกอยู่ในทุกอย่างของชีวิตเราเพียงแต่เราจะทำยังไงให้มีประโยชน์ขึ้นมาเท่านั้นเอง น้ำจะเป็นน้ำแข็งก็ได้ เป็นน้ำร้อนก็ได้ น้ำเย็นก็ได้ เป็นไอก็ยังได้ ก็เหมือนดนตรี”
ผลงานตัวอย่าง
เรื่อง : วรัญญา งามขำ
ภาพ : วชิร สายจำปา