“ถามว่าอายไหมที่เกิดเป็นคนอีสาน
ขอบอกตรงนี้เลยว่า
จะน่าอายมากกว่า
ถ้าเราดูถูกตัวเองและไม่รักตัวเราเอง”
นั่นคือคำพูดที่ออกจากปากสาววัยรุ่นอายุ 20 ปีที่มีภูมิลำเนาเป็นคนอีสานโดยกำเนิด เจ้าของเพจบนเฟซบุ๊กในโลกเสมือน ที่ใช้ชื่อว่า “สี นานวล” แต่สำหรับคนในโลกความเป็นจริง จะรู้จักเธอในชื่อ “ออย”
มองเผินๆ ออยก็ดูไม่แตกต่างจาก “ผู้สาวส่ำน้อย” ทั่วไป เรียนหนังสือ มีเพื่อนฝูง เสพสื่อสังคมออนไลน์ แต่สิ่งซึ่งทำให้เธอแตกต่างจากเด็กวัยรุ่นส่วนใหญ่ นั่นก็คือ แม้จะเล่นเฟซบุ๊ก แต่เฟซบุ๊กของเธอ กลับเสนอตัวเองในฐานะพื้นที่สำหรับการแบ่งปันความรู้สึกของคนที่ต้องอยู่ไกลบ้าน สืบสานและอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สเตตัสที่เล่นกับคำคมแบบอีสานหรือที่เรียกว่า “ผญา” ตลอดจนภาพท้องไร่ท้องนาและวิถีชีวิตการอยู่การกินของคนอีสาน ก็ก่อให้เกิดบรรยากาศถวิลหาได้อย่างดีเยี่ยม
ไม่บ่อยครั้งนักที่เราจะเห็นเด็กวัยรุ่นใช้สื่อออนไลน์อย่างไม่หลงใหลเผลอไผลไปกับมัน
ไม่บ่อยครั้งนักที่เราจะเห็นเด็กวัยรุ่นสักคน หนักแน่นในรากเหง้าและตัวตนของตนเองอย่างไม่รู้สึกว่าต้องเลื่อนไหลไปตามกระแส
อย่างไรก็ดี ทั้งหมดที่ว่ามา ถูกนำเสนอด้วยจังหวะลีลาแบบผ่อนคลาย และคงเกี่ยวข้องกับช่วงวัยของเจ้าของเพจอย่างปฏิเสธไม่ได้ เธอทำให้เรื่องราววิถีชีวิตแบบคนอีสาน ดูมีชีวิตชีวา น่าหลงใหลรื่นรมย์ ที่พูดนี่ไม่ได้ชม แต่จากยอดไลค์ในเพจของเธอ ก็น่าจะเป็นคำตอบที่ชัดแจ้งอยู่แล้วในตัวของมันเอง
ขณะสนทนา สาวน้อย “สี นานวล” กระซิบบอกกับเราว่า เร็วๆ นี้เธอกำลังซุ่มพิมพ์รวมเล่มผญา (คำคม) ที่มาจากในเพจ นี่สินะที่เขาว่า “เฮ็ดในสิ่งที่เชื่อ เชื่อในสิ่งที่เฮ็ด” โดยแท้จริง…
เสียงแคน ฟากท่ง
จากฝั่งฟากของความถวิลหา
“ยามค่ำค้อยแสงแดดอ่อน อัสดง
ทางเขตท่ง พงไพรในป่าดงดอน
เสียงฮ่ำฮอน สองตายายถ่าลูกมายามบ้าน
ถิ่นอีสานผ่านก้ำลูกคำมิดจี่หลี่ อยู่ป่าดงพงภี
กาเหว่ามีเสียงฮ่ำฮ้อง ออนซอนให้ห่วงหา”
(สเตตัสจากเพจ “สี นานวล”)
“เสียงแคน ฟากท่ง” (เสียงแคน ฟากทุ่ง) เป็นชื่อเพจเฟซบุ๊กที่สาวอีสานแต่กำเนิดคนนี้เป็นผู้ริเริ่มขึ้น จุดประสงค์หลักนั่นก็เพราะอยากสื่อความรู้สึกนี้ไปถึงคนอีสานที่จำต้องจากบ้านเกิดเมืองนอนเพื่อไปสานฝันของตนต่อยังเมืองหลวง
“จุดเริ่มต้นเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘เสียงแคน ฟากท่ง’ เกิดขึ้นเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ที่สร้างขึ้นมาส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าคิดถึงบ้าน อีกอย่าง ออยเชื่อว่ามันเป็นความบันเทิงเดียวที่หาให้กับชีวิตตัวเองได้โดยไม่เสียเงินและเสียเวลา ออยเลยคิดว่าเราน่าจะแบ่งปันความรู้สึกนี้ไปให้กับคนอีสานที่ต้องไปไกลบ้าน แล้วคิดถึงบ้านอย่างเราได้บ้าง
“ส่วนชื่อเสียงแคน ฟากท่ง มาจากที่ตอนเด็กๆ ออยชอบออกไปทุ่งนาท้ายหมู่บ้าน ซึ่งตอนคล้อยค่ำท้ายหมู่บ้านก็จะมองเห็นแต่ท้องทุ่งนาสุดสายตาเป็นทิวป่าซึ่งสวยงามมาก บางครั้งก็จะได้ยินเสียงพิณ เสียงแคน จากหมู่บ้านอื่นลอยมากับลมข้ามทุ่งนาเข้ามายังที่เราอยู่ คำว่าฟากท่งเลยมาจากตรงนี้ ซึ่งรวมๆ แล้วมันก็หมายความว่า เสียงแคนจากอีกฟากฝั่งของทุ่งนา…ที่อยากให้เธอได้ยิน อะไรทำนองนี้ (ยิ้ม)”
แม้จะทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าการสร้างพื้นที่สาธารณะเพื่อแชร์ความรู้สึกบนโลกออนไลน์ เพียงเพราะอยากส่งสารถึงคนที่ต้องไกลบ้าน แต่ทว่าสิ่งที่เธอทำก็ทำเอามีผู้ติดตามเป็นจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว
“กระแสตอบรับดีมาก แฟนเพจตอนนี้มีราวๆ หมื่นกว่าคนค่ะ ส่วนใหญ่ก็คนอีสานและคนที่ชื่นชอบวิถีชีวิตที่เรียบง่ายแบบเรานี่แหละค่ะ อย่างถ้าเราโพสต์กลอนหรือคำคมอะไรไป เขาก็จะเข้ามากดไลค์และแสดงความคิดเห็น ชื่นชม และให้กำลังใจกันอยู่ตลอด” (ยิ้ม)
อีสานล้านเปอร์เซ็นต์
ขณะที่โลกวิ่งไปสู่ความเป็นโกลบอลไลซ์ ไร้พรมแดน วิถีชีวิตจากซีกโลก สามารถส่งอิทธิพลข้ามพ้นเขตคาม และทำให้วิถีของแต่ละท้องถิ่นแปรเปลี่ยนไป การถูกกลืนกินทางวัฒนธรรมกลายเป็นปรากฏการณ์สามัญ แต่นั่นไม่น่าจะใช่สำหรับหญิงสาวคนที่เรากำลังสนทนาด้วยนี้
“ออยจะแต่งตัวตามวัยปกติทั่วไปเลย ง่ายๆ สบายๆ ที่สำคัญต้องราคาถูก แต่รวมๆ แล้วการแต่งตัวของออยต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานอันดีงามของสังคมด้วยนะ พูดให้เข้าใจตรงกันก็คือต้องมีกาลเทศะ อย่างตอนนี้มีเทรนด์เกาหลี เทรนด์นู่นเทรนด์นี่กำลังดัง เอาจริงๆ ออยไม่เคยแม้แต่จะไปคิดถึงเทรนด์เหล่านี้เลย ยังไม่อยากศึกษาหรือรับรู้ อาจจะเพราะเวลาและสภาวะแวดล้อมของเรามีจำกัดด้วย แต่ออยไม่ได้ว่าคนที่เขาชอบพวกนี้ว่าผิดนะ
“คือใครชอบอะไรก็เป็นความสุขของแต่ละคน ส่วนออยชอบแบบนี้ก็เป็นความสุขของออยค่ะ (ยิ้ม) ออยคิดว่าการวิ่งตามกระแสมันก็คือสิ่งที่อาจจะทำให้เราเสียเงินเสียเวลา และเราอาจทิ้งตัวตนของเราได้
“ส่วนตัวไม่ชอบแฟชั่นเลย อาจจะเป็นเพราะเกิดมาในครอบครัวที่ยากจนด้วย ทำให้เราได้เรียนรู้และซึมซับว่าเงินทุกบาททุกสตางค์มีค่าและมีความหมาย แต่ถ้าต่อให้มีเงินแค่ไหน ก็คงไม่กล้าใช้ไปกับเรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวกับการเรียนอย่างแน่นอน”
ไม่มีที่ไหน
สุขใจเท่าบ้านเฮา
“คิดฮอดข้าว คิดฮอดปลา คิดฮอดคำเว้าม่วนๆ
คิดฮอดมวลหมู่พวก เคยออกไปเก็บเห็ด
คิดฮอดหลายเด้บักตู้ ควายน้อยเป็นตาฮัก
คิดฮอดคักคักแท้ บ่โดนดอกสิตาวคืน”
(สเตตัสจากเพจ “สี นานวล”)
อนาคตของสาวคนนี้คงไม่ต่างอะไรกับคนทั่วไปมาก ที่อยากจะมีอาชีพที่เลี้ยงตัวเองและพ่อแม่ได้ แต่ทว่ายังมีอีกสิ่งหนึ่งที่เธออยากทำที่สุดในตอนนี้ก็คือกลับไปยังบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเอง
“อนาคตคิดอยู่เสมอว่า ถ้ามีโอกาสเมื่อไหร่ออยจะกลับไปบ้านเกิด เพราะออยชอบธรรมชาติที่นั่นมาก อีกอย่างอาจจะไปหาธุรกิจที่พอเลี้ยงตัวเองและแม่ได้ แค่นี้ก็เกินพอแล้วสำหรับชีวิตอย่างเรา”
“ออยอยากสืบสานวัฒนธรรมของบ้านเกิดนะ เพราะว่าจารีตประเพณีเก่าๆ ของทุกภาคล้วนงดงามน่าศึกษาและอนุรักษ์ไว้ มันคือสมบัติล้ำค่าที่เรามีอยู่แล้ว แต่เรามีกำลังเพียงเท่านี้ เลยยังทำได้แค่เพียงเท่านี้ไปก่อน”
สุดท้ายเธออยากฝากบอกเยาวชนรุ่นหลังๆ ให้รักและภูมิใจในถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเองไว้ว่า
“ออยเชื่อว่าต่างคนก็ย่อมต้องมีต่างมุมมอง ต่างความคิด ต่างสภาวะสิ่งแวดล้อมที่หล่อหลอมมาเป็นตัวเรา อยู่ที่ตัวเราว่าจะเลือกอะไร ส่วนตัวออยชอบอ่านหนังสือเพราะคิดว่าหนังสือคือครูชั้นดี เพราะบุคคลที่แต่งหนังสือต่างมีความคิดมุมมองของชีวิตผ่านเรื่องราวมาก่อนเรา เวลาเจอคำสอนดีๆ ออยก็จะเก็บมาใช้ในชีวิตเท่าที่สามารถใช้ได้ คือจะใช้ชีวิตและเวลาที่มีให้เป็นประโยชน์ต่อตัวเองและคนอื่น ถ้าเราไม่เดือดร้อนไม่เสียหายเสียเงินหรือเสียเวลาก็จงทำต่อไป
“จริงๆ เด็กรุ่นหลังก็ยังรู้อะไรไม่เยอะมาก ส่วนตัวคิดว่าพวกเขายังต้องเรียนรู้อีกค่อนข้างมาก ซึ่งออยเองก็ยังคงต้องเรียนรู้ต่อไปเหมือนกัน ออยว่าไม่มีที่ไหนจะสุขใจเท่าบ้านเกิดของเราอีกแล้ว เพราะมันเป็นที่ที่สวยงามในหัวใจ เป็นสิ่งที่มีค่าที่ทุกคนน่าจะกลับไปดูแลและพัฒนาค่ะ”
เรื่อง : วรัญญา งามขำ
ภาพ : เฟซบุ๊ก เสียงแคน ฟากท่ง
https://www.facebook.com/SeiyngKhaenFakThng?fref=ts
อัปเดตหลากหลายเรื่องราวข่าวสาร สาระบันเทิงได้ที่แฟนเพจ mars magazine