พาราไดซ์ แบงค็อกฯ หมอลำเพิ่มเครื่อง เลื่องชื่อถึงยุโรป

เรื่อง : อิทธิพล / เอกลักษณ์
ภาพ : าณุวัฒน์ เงินพจน์

ปี 2013 ที่ Wasser Music Festival มหกรรมดนตรีกลางแจ้งของประเทศเยอรมนี ภาพผู้คนจากทั่วสารทิศกำลังขยับร่างกายไปตามจังหวะ ใบหน้าเปี่ยมด้วยความสุขเมื่อได้เสพผลงานศิลปินระดับโลกสมใจหลังรอคอยมานานนับปี

เรื่องน่าแปลกใจคือเสียงดนตรีที่สะกดอารมณ์ผู้ฟังอยู่นั้น เป็นการประสานกันอย่างลงตัวของ ‘พิณ’ และ ‘แคน’ สองเครื่องดนตรีคุ้นหูคนไทยกำลังบรรเลงเพลงหมอลำ มีเครื่องดนตรีสากล ทั้งกลองชุด เบส และ เครื่องประกอบจังหวะ (Percussion) มาเพิ่มดีกรีความสนุก โดยฝีมือศิลปินห้าชีวิตที่เรียกตัวเองว่า ‘พาราไดซ์ แบงค็อก หมอลำ อินเตอร์เนชันแนล แบนด์’ (Paradise Bangkok Molam International band)

พาราไดซ์ แบงค็อกฯ คือการรวมตัวของผู้รักในเสียงดนตรี แม้มีสารตั้งต้นแนวเพลงต่างกัน แต่สามารถนำเสนอสำเนียงเพลงอีสานแบบโบราณผสานดนตรีสมัยใหม่ กลายเป็นจังหวะสนุกสนาน กลมกล่อม สมาชิกในวงประกอบไปด้วย คำเม้า เปิดถนน มือพิณชั้นครู มีลีลาการเล่นแปลกใหม่, ไสว แก้วสมบัติ หมอแคน ผู้เจนเวทีมากว่า 40 ปี, ปั๊ม – ปิย์นาท โชติกเสถียร จากอพาร์ตเมนต์คุณป้ามาร่วมเดินเบส, อาร์ม – ภูษณะ ตรีบุรุษ มือกลองเชี่ยวชาญเพลงแนวเร็กเก้ และ คริส เมนิสต์ (Chris Menist) เพอร์คัสชั่น ซึ่งเป็นทั้งดีเจ และนักแต่งเพลงจากเกาะอังกฤษ
ไสว แก้วสมบัติ
คำเม้า เปิดถนน
ปั๊ม - ปิย์นาท โชติกเสถียร
อาร์ม - ภูษณะ ตรีบุรุษ
คริส เมนิสต์ และ ดีเจ มาฟท์ ไซ
ทั้งห้าร่ายมนต์เสน่ห์แห่ง ‘หมอลำ’ จนกลายเป็นจังหวะใหม่สำหรับชาวต่างชาติ หลายรายหลงใหลถึงขั้นติดตามผลงานอย่างต่อเนื่อง ให้ความสำคัญไม่ต่างจากแนวเพลงสากลอื่นๆ และด้วยความแรงของศิลปินกลุ่มดังกล่าว ทำให้ถูกเลือกเป็นอัลบั้มแห่งสัปดาห์ของสถานีวิทยุ BBC6 ที่ประเทศอังกฤษโดย ‘จาลส์ ปีเตอร์สัน’ หนึ่งในดีเจผู้ทรงอิทธิพลในยุโรป ซึ่ง mars ถือโอกาสบุกหลังเวทีเพื่อสัมภาษณ์ที่มาที่ไป รวมถึงการสร้างผลงานอันนำมาสู่ความนิยมในหมู่ชาวยุโรป

การตกผลึกทางเมโลดี้ของ พาราไดซ์ แบงค็อกฯ
“ผู้จุดประกายการทำวงคือ ดีเจ มาฟท์ ไซ-ณัฐพล เสียงสุคนธ์ คนไทยซึ่งไปโตในประเทศอังกฤษ สนใจเก็บแผ่นเสียงเพลงต่างๆ โดยเฉพาะดนตรี world music จากทั่วโลก สุดท้ายพอมาเมืองไทยก็สนใจดนตรีพื้นบ้านนั่นคือลูกทุ่งหมอลำ นำแผ่นเสียงเหล่านี้มาจัดปาร์ตี้ ซื้อลิขสิทธิ์เพลงจากค่ายต่างๆ มาแล้วรวมขายในยุโรปเผยแพร่จนมีคนรู้จัก” ปั๊ม – ปิย์นาท เริ่มต้นบทสนทนาด้วยการกล่าวถึง ดีเจ มาฟท์ ไซ (Dj Maft Sai)จ้าของค่ายสุดแรงม้าแผ่นเสียง (Zudrangma Records) และ สวรรค์บางกอก(Paradise Bangkok) ผู้ชักชวนให้เริ่มก่อตั้งวง ‘พาราไดซ์ แบงค็อก หมอลำ อินเทอร์เนชันแนล แบนด์’

“หลังได้รู้จัก ณัฐ (ดีเจ มาฟท์ ไซ) ได้ดูงานที่นำศิลปินพื้นบ้าน หมอลำ ที่เขาจัดขึ้น วันหนึ่ง ณัฐ โทรมาถามว่าสนใจไหมถ้าจะทำวงที่ผสมความเป็นหมอลำ กับเครื่องดนตรีสมัยใหม่ ต้องการให้ดนตรีก้าวไปข้างหน้า เพราะอย่างที่พอทราบว่าดนตรีพื้นบ้านไทยโดนแช่แข็งมา 30- 40 ปีแล้ว

“แช่แข็งในที่นี้หมายความว่าอะไร หมายความว่าไม่มีการพัฒนา หรือถ้าพัฒนาก็ถูกทำโดยที่ประชุมของนายทุนทางการตลาด จะขายได้ต้องแก้ผ้านิดนึง คือดนตรีมันไม่ได้ถูกพัฒนาด้วยนักดนตรี ตรงนี้ถ้าพาดพิงใครคงต้องขอโทษด้วยนะครับ เพราะเป็นการยกตัวอย่าง

“เราจึงมาคิดว่าลองทำดูกัน ดนตรีแบบนี้เราจะทำอะไรกับมันได้บ้าง ซึ่งจริงๆ แล้วที่ ณัฐ ชวนมาก็ใจตรงกับผมมาก เพราะหลังไปปาร์ตี้ของเขาหลายครั้งได้เห็นถึงเสน่ห์ของ พิณ กับ แคน ฟังเสียงแล้วจินตนาการต่อได้ไกลมาก คือแทนที่เบส และกลองจะเล่นซ้ำซากในเวลา 3-4 ชม. มันสามารถที่จะสร้างบรรยากาศใหม่ๆ ได้” ปั๊ม – ปิย์นาท กล่าวต่อ

ชื่อ ‘พาราไดซ์ แบงค็อก หมอลำ อินเทอร์เนชันแนล แบนด์’
“ตรงนี้ มาฟท์ ไซ เป็นคนตั้ง ซึ่งผมมานั่งคิดย้อนดูแล้ว มันคือความแยบยลของนักการตลาดที่เก่งมากๆ เขามีค่ายชื่อสุดแรงม้า เป็นชื่อร้านแผ่นเสียง กับเว็บไซต์ และ ค่ายสตูดิโอลำจะทำแต่เพลงใหม่ เพื่อได้ไม่สับสน การนำชื่อพาราไดซ์แบงค็อก อยู่ข้างหน้าจะรู้เลยว่ามาจากไหน และหมอลำเข้าไปให้รู้ว่าเราเล่นดนตรีแนวใด” ปั๊ม – ปิย์นาท บอกกับเราเกี่ยวกับที่มาของชื่อซึ่งแม้จะดูยาว แต่ก็ถือว่าตรง และครบถ้วนในการสื่อความหมาย ทั้งนี้ อาร์ม – ภูษณะ มือกลองของวงได้เพิ่มเติมข้อมูลว่า

“เริ่มจากปาร์ตี้ก่อนครับ ปาร์ตี้พาราไดซ์แบงค็อก ซึ่งจะมีอยู่หลักๆ 2 แบบ คืออีสานแดนซ์ฮอลล์ซึ่งจะเป็นโซนบูทดีเจ แต่พาราไดซ์แบงค็อกจะเป็นแบนด์ มีนักร้องมาร้อง แล้วเป้าหมายจริงๆ ที่เขาจะทำแบนด์ คือเป็นสถานที่รองรับนักร้อง แต่ผลตอบรับกลับดีกว่าที่คิดไว้ เกินความคาดหมาย”

การผสานกันระหว่างหลายเผ่าพันธุ์ทางดนตรี
ไสว แก้วสมบัติ หมอแคนมีเอกลักษณ์โดดเด่นในทางดนตรีของตัวเอง ตัดสินใจเข้าร่วมวง เนื่องจากมีความท้าทายซ่อนอยู่ภายใต้จังหวะดนตรีที่ตนคุ้นเคย

“ได้รับการเชิญชวนแบบคนรู้จักกันธรรมดา ผมไม่รู้ว่าเขาจะพาผมไปไหน ให้ตั้งวงก็มาเล่นรวมกัน ก็อยากรู้ว่าการมารวมกันของดนตรีสองสายพันธุ์มันเป็นอย่างไร พอเริ่มต้นก็ตุปัดตุเป๋พอได้ แต่พวกเรามีจังหวะอยู่ในสมองทุกคนแล้ว คือหมายความว่าหงายท้องก็เล่นได้ นอนคว่ำก็เล่นได้ น้องๆ ทั้งเบส กลองก็เยี่ยมมาแล้ว”

ส่วน คำเม้า เปิดถนน มือพิณชั้นครู เป็นอีกคนหนึ่งที่ตั้งคำถามกับตัวเองในระยะเริ่มแรก ว่าการมาร่วมวงกันนั้นจะมีหน้าตาออกมาอย่างไร

“คือมันแปลกตรงการเล่นของอีสานสามารถมองเห็นภาพว่าเราจะทำอะไร แต่มาเล่นกับวงนี้นึกไม่ออก บางครั้งมาถึงจุดหนึ่งที่เคยเล่นแบบเดิมกลับไม่ใช่แล้ว ต้องดูว่ากลองพาไปแบบไหน ผมก็เล่นไปอีกแบบเลย จึงต้องคิด ณ ตรงนั้น คิดล่วงหน้าไม่เกิน 2 วินาที เรียกว่าเราต้องปรับ เพราะจังหวะมันจะลงเหมือนที่เราเคยเล่นในอีสานไม่ได้ บอกเลยว่าการเล่นแต่ละครั้งมันจะแตกต่างไปเรื่อย ต้องศึกษาซึ่งกันและกัน ขณะเล่นเลย” คำเม้า กล่าว

“ใช่ครับ ตอนแรกก็ต้องจูนกัน ไม่ใช่มาถึงดีดนิ้วปั้งได้เลย” ปั๊ม – ปิย์นาท เสริม

“ผมว่าวิธีการทำเพลงจะแปลกกว่าวงคนเลย คือวงสมัยนี้เค้าจะคิดกันเป็นบล็อก เซ็ตมาแล้วว่าอะไรเข้าตรงไหน เหมือนวางไว้แล้วว่ากรอบจะเป็นอย่างไร แต่กับวงเรามันมีเสน่ห์ตรงเป็นแจมแบนด์ บางทีพี่ปั๊มให้โจทย์ผมมา เราก็ต้องตีโจทย์ออกมาเป็นอารมณ์ดนตรีให้ได้” อาร์ม – ภูษณะ กล่าวต่อ

ด้วยวิธีทำเพลงตั้งแต่อดีตของ ปั๊ม – ปิย์นาท ที่มักวาดภาพว่าเพลงไหนมีบริบทในช่วงกลางวันหรือกลางคืน มีสภาพแวดล้อมอย่างไร พูดถึงอะไร และมีตัวละครตัวไหนบ้างทำให้เพลงของ พาราไดซ์ แบงค็อกฯ สามารถสื่ออารมณ์ได้ตามจินตนาการผู้เล่น

“เพลง ลำสั้นดิสโก้ (Lam San Disco) พี่คำเม้า พี่ไสวเล่นขึ้นมาก่อนเป็นลายลำสั้นเล่นกัน 2 คน เราจินตนาการว่าพี่ทั้งสองกำลังเล่นอยู่ในทุ่ง สักพักพวกผมเอารถมารับ พาไปเที่ยว กลองเข้าจังหวะตามเลย เหมือนพาไปซิ่งดูแสง สี เสียง ทานอาหารอร่อยๆ แล้วก็พาไปส่งบ้าน จากนั้นจึงเฝดออกไป การทำเพลงมันจะสนุกตรงนี้ มันมีหลายอารมณ์ มีจินตนาการของสถานที่ และเหตุการณ์

“อย่างเพลง สาวสะกิดแม่ สำหรับเรามันเป็นเหมือนบทสนทนา พี่ไสวขึ้นมาพูดก่อน พี่คำเม่าตาม ผมก็ค่อยๆ เข้ามาทักทาย มันจึงเหมือนการสนทนากัน

“เพลงกวางน้อย เกิดขึ้นจากพี่คำเม่าไม่ว่างมาซ้อม จึงให้พี่ไสวเป่ามาไลน์นึงอะไรก็ได้ แล้วตอนนั้นอาร์มมีฟิลเร็กเก้มา จึงลองเล่นใส่เข้าไปด้วยบีทที่เร็กเก้แต่เร็วขึ้น จากนั้นผมใส่เบสเข้าไปอีก มันดันเข้ากันแบบงงๆ พอเอาที่อัดไว้มาเปิดฟังย้อน รู้สึกว่าเพลงมันเจ๋ง ลองซ้อมกันดู

มันคือการให้แรงบันดาลใจระหว่างกัน และกัน พี่คำเม้าพูดถึงแมลงสักตัวอย่างแมงม่วง เอามาย่างกิน เราก็ต้องพูดต่อแล้วว่าแมลงนี่หน้าตาเป็นอย่างไร มันอยู่ของมันอย่างไร มีมากฤดูไหน

“การเป็นวงแจมกัน ด้นสดกัน แน่นอนว่าเราต้องฟังกันว่าอยู่ในภาวะอารมณ์ตรงไหน ดูว่าตอนนี้พี่คำเม่ากำลังโซโล่เดือด กลองกับเบสก็ต้องตามให้ทัน จะมาดึงแกไว้ก็ไม่ใช่ ถ้าพี่เขาเริ่มหมดแรง เราก็ต้องผ่อน

“นี่คือหัวใจหลักเลยของการ อิมโพรไวซ์ ไม่ว่าจะเป็นแจ๊ซหรืออะไรก็ตาม จริงๆ แล้วความเป็นแจมแบนด์ ความสนุกของการด้นสด ไม่ใช่แค่ภาวะการได้ยิน การได้สบตาเพื่อนร่วมวง มันคือใบไม้ใบหญ้า อากาศหนาวเย็นแค่ไหน แสงแดดเป็นอย่างไร สีหน้าคนดูเป็นอย่างไร อาการที่ทานขึ้นไปก่อนขึ้นเวที ดื่มเบียร์ไปกี่แก้ว ทุกอย่างมีผลหมดต่อการทำโชว์นั้น พลังที่คนดูส่งกลับมา อย่างถ้าส่วนตัวผม ถ้าเล่นแล้วคนดูไม่เอาเรา ไม่สนุกกับเราผมก็จะหันไปเล่นกับเพื่อนในวงเอง ตรงนี้เป็นทางออก แต่อย่างในยุโรปนี่ไม่น่าเชื่อเลย” ปั๊ม – ปิย์นาท กล่าว

กลุ่มผู้ฟังขยายตัวเพียงไม่กี่อึดใจ
“ณัฐ โทรมาบอกว่า ตอนนี้ ‘โอลิมปิก’ (Olympic Music Festival) โทรหาผมแล้ว กลาสตันเบอรี ก็โทรหาว่าต้องการวงนี้ (กลาสตันเบอรี หรือ glasto มหกรรมดนตรีร่วมสมัยใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง บนพื้นที่จัดงานกว่า 900 ไร่) กลายเป็นว่ามันมีความต้องการจากยุโรปที่ต้องการฟังอยู่แล้ว ด้วยความเป็นนักการตลาดชั้นเลิศของ ณัฐ เขามองเห็นตรงนี้ แล้วยังบอกว่าในปีสองปี น่าจะได้ไปยุโรปกัน ปรากฏว่าเพียง 10 เดือน หลังตั้งวง เราได้ไปทัวร์ยุโรป” ปั๊ม – ปิย์นาท เผยถึงการก้าวสู่ระดับสากลของวง

อาร์ม – ภูษณะ กล่าวเสริมว่า พาราไดซ์ แบงค็อกฯ เป็นวงแรกที่ไม่ได้ออกอัลบั้ม เพียงปล่อยใน You tube สองคลิปก็สามารถทัวร์ยุโรปแล้ว
“ผู้ชมมีอารมณ์ร่วมกับเรา สนใจเรามาก อย่างใน Fusion Festival ที่เยอรมัน คนดูผู้ชายถึงขั้นถอดเสื้อ ทำเอาพี่คำเม้าตกใจแถมพอพี่เขาเล่นใส่เข้าไปอีก ผู้ชมก็กระโดดใส่อีก กลายเป็นว่าคอนเสิร์ตนั้นสนุกที่สุด มันมาก”

สำหรับพี่ไสว นี่คือเวทีของการเผยแพร่วัฒนธรรมความเป็นไทยที่ตนรัก และทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อการฝึกฝน และใช้แคนสื่อความรู้สึกผ่านเสียงเพลง
“คือเขาให้เกียรติเรา มาฟังเยอะจริงๆ เล่นจบก็มาถามว่าเครื่องดนตรีนี้เรียกว่าอะไร เสียงมันมาได้อย่างไร เพราะแคนคือเครื่องดนตรีแปลกตาสำหรับชาวต่างชาติ ตรงนี้เราอธิบายตามความเข้าใจเท่าที่เรารู้”
FUSION FESTIVAL


ความต่างทางวัฒนธรรมระหว่างตะวันออก กับตะวันตกในการเข้าถึงหมอลำ
“ด้วยวัฒนธรรมของคนเอเชีย ไม่ว่า ไทย พม่า เวียดนาม เราเป็นชาติที่ไม่ถูกสอนให้แสดงความรู้สึกมาก ถูกสอนให้สงบเสงี่ยมเรียบร้อย ฉะนั้นการแสดงออกในฐานะผู้สร้างงาน และศิลปะ ผู้สัมผัส ผู้รับชม มันแตกต่างมาก อย่างผมไปเล่นที่นครสวรรค์ สามีภรรยาดูอยู่ พอสามีลุกขึ้นเต้น ภรรยาตีเลย บอกอายเขา ตรงนี้มันสะท้อนว่าเราเป็นชาติที่คิดเยอะว่าคนอื่นจะมองตัวเองอย่างไร

“กับทางฝั่งยุโรปนั้นดีใจจริงๆ ไม่น่าเชื่อว่าเราจะมีการตอบรับดีมาก โดยเฉพาะจาก BBC6 ของอังกฤษ กูรูเพลง ชาร์ล ปีเตอสัน เขาคือผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีระดับโลก เอาเพลงเราไปให้เป็นอัลบั้มของอาทิตย์ เสนอชื่อเป็น 20 อัลบั้มที่ดีที่สุดในโลก 2015 ในนั้นมี เอเพ็คทวิน ฟลายอิ้งโลตัส ที่ได้แกรมมี่อวอร์ดล่าสุด

“ส่วนความพึงพอใจนั้นแน่นอนว่าชุดแรกได้รับความสนใจ เพลงเปิดในยุโรปมากขึ้น เรามีงานติดต่อเข้ามา อย่างปีนี้จะเดินทางไป 2 รอบ คือฤดูใบไม้ผลิ มีประมาณ 14 โชว์เช่นในสวิสเซอร์แลนด์ ซูริค ลูเซิร์น ซึ่งเคยไปแล้ว มีเดนมาร์ก สวีเดน ฮอลล์แลนด์ เบลเยี่ยม และในช่วงฤดูร้อนก็จะไปกันอีก
WASSERMUSIK FESTIVAL


ฝากถึงคนไทยโดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ที่กำลังมองข้ามรากเหง้าทางวัฒนธรรม
ปั๊ม – ปิย์นาท
“อยากเชิญชวนนะครับว่าดนตรีไม่ว่าจะวงของเราหรือวงไหนก็ตาม มันเป็นสิ่งที่สามารรถเสริมสร้างจินตนาการของเราได้ ทำให้เราได้ปลดปล่อยความรู้สึกหลายๆ อย่างทำให้เราได้สัมผัสความเป็นตัวตนของศิลปินและนักดนตรีคนอื่น ทำให้เกิดความสามัคคี เป็นเรื่องที่เราแบ่งปันกับเพื่อนฝูงได้ ในฐานะ ผู้เล่น ผู้ผลิตงาน และผู้ฟัง ถ้ามีโอกาสอยากเชิญชวนมาชม รวมถึงสามารถเป็นเจ้าของได้ทั้งแผ่นเสียงและซีดี

“ผมดีใจกับโปรเจกต์นี้ มันเป็นการสะท้อนให้เห็นหลายๆ อย่าง เช่นเรื่องที่มาที่ไป อย่างอาร์มคุณพ่อเป็นคนใต้ แม่คนเหนือ พี่คำเม่าเป็นคนอีสานพี่ไสวคนภาคกลาง ผมเป็นเด็กเมืองสุดๆ คือกรุงเทพ แต่ละคนมันสะท้อนให้เห็นว่าถ้าเราฟังกันมันก็สามารถสร้างอะไรขึ้นมาได้”

คำเม้า เปิดถนน
“วัยรุ่นไทยทุกวันนี้รับเพลงจากต่างประเทศมามาก อยากให้ลองหันมาฟังดนตรีเราด้วย อย่าลืมของพื้นบ้าน ดูว่าขนาดคนต่างชาติยังฟังเรา”
ไสว แก้วสมบัติ
“ส่วนตัวผมได้ใช้ music instrument ของตัวเองไปโชว์ ซึ่งแคนนี่มันมีแห่งเดียวในโลกคืออีสาน ไม่มีที่อื่น ไปเป่าที่อเมริกาก็คือคนอีสาน เมื่อเรามีโอกาสได้นำเครื่องดนตรีชิ้นนี้ไปให้เขาชม จึงถือว่าเป็นเกียรติประวัติโดยเฉพาะการได้ไปโชว์ในการแสดงระดับโลก เราไปแล้วก็ไม่ได้อายเขา”
อาร์ม – ภูษณะ
“อยากบอกเด็กรุ่นใหม่ว่าอย่ามองข้ามเรื่องอารมณ์ของดนตรี อย่างเรื่องเทคนิคมันเป็นเรื่องของการเริ่มต้นเล่นอะไรสักอย่าง ถามตัวเองว่าเราเล่นไปเพื่ออะไร เพื่อให้รู้สึกดีหรือเปล่า อย่าไปเล่นเพื่อกดดันตัวเอง ผมสังเกตว่ามันหายกันไปเยอะ แม้มีทักษะแต่ถ้าไม่สามารถถ่ายทอดความรู้สึกตัวเองไปได้มันก็ไม่มีประโยชน์”
 
เรื่อง : อิทธิพล / เอกลักษณ์
ภาพ : พาณุวัฒน์ เงินพจน์

No Comments Yet

Comments are closed

user's Blog!

49/1 ชั้น 4 อาคารบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

49/1 4th floor, Phra-A-Thit Road, Chanasongkhram,Phanakorn Bangkok 10200

Tel. 02 629 2211 #2256 #2226

Email : mars.magazine@gmail.com

FOLLOW US ON

SUBSCRIBE