'ค้ามนุษย์' ปัญหาเรื้อรังสังคมไทย ในมุมมองฝรั่ง

Thailand, The Land Never Smile?
Julia Manzanares, Derek Kent
จากเรื่องราวของเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง ถึงโครงสร้างของประเทศ

ลองจินตนาการถึงเพื่อนผู้เดินทางจากแดนไกลเพื่อมาเยี่ยมเยียนเราถึงบ้าน…

เขาเปิดประตู ส่งยิ้มทักทาย นั่งคุยกับเราบนโซฟา หันสำรวจบ้าน ก่อนจะบอกเรานิ่งๆ แต่เปี่ยมไปด้วยความหวังดีว่า “ทำไมบ้านของคุณถึงสกปรกจังเลย!”

นั่นคือคำทักทายที่ทำให้เราต้องมึนงง เพราะเราไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่า 'บ้าน' ที่เราอาศัยอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนั้น จะรก เลอะเทอะ และสกปรกจนทำให้เพื่อนต้องออกปากตักเตือนขนาดนี้

เราหลงคิดอยู่เสมอว่า บ้านของเราสะอาด ร่มรื่น น่าอยู่ แถมเจ้าของบ้านก็เป็นกันเองกว่าบ้านหลังไหนๆ ในละแวกนี้
แต่เพียงคำเตือนอันจริงใจประโยคนั้น มันก็ต้องทำให้เราหันกลับมาสำรวจความสะอาดสะอ้านของบ้าน หรือแม้กระทั่งจิตใจของตัวเองกันอีกรอบ

และแล้วเราก็พบว่า ไม่ใช่แค่บ้านหรอกที่เลอะเทอะสกปรก ทว่าแม้แต่ ‘รอยยิ้ม' ที่เรามอบให้เพื่อนๆ ก็เช่นกัน เพราะมันกลับซ่อนเรื่องเศร้าบางอย่างเอาไว้เต็มเปี่ยม

หนังสือชื่อ Only 13 : The True Story of Lon หรือ ‘แค่ 13’ ในพากย์แปลภาษาไทย ของ Julia Manzanares และ Derek Kent ที่ปัจจุบันถูกแปลไปแล้วถึง 9 ภาษา และเป็นหนังสือขายดีในหลายๆ ประเทศทำให้เรานึกถึงเพื่อนผู้เดินทางมาจากแดนไกลในท่วงทำนองนั้น

พวกเขาทั้งสองคือชาวต่างชาติแม่ลูก ผู้เดินทางมาจากลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา เพื่อมาเยี่ยมบ้านของเรานานถึง 15 ปี ด้วยการทำงานกับ 'องค์กรพัฒนาเอกชน' (NGO) ต่างๆ ที่มีอยู่ในประเทศไทย

จูเลีย แมนซานาเรส และเดเร็ก เคนต์ เคยเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ ก่อนเดินทางไปทั่วโลกเพื่อช่วยเหลือผู้คนที่ตกทุกข์ได้ยากด้วยความสามารถของพวกเขา พวกเขาจริงจัง และรู้สึกรันทดหดหู่ต่อโศกนาฏกรรมต่างๆ โดยเฉพาะเจาะจงไปที่ 'การค้ามนุษย์'
และตอนนี้ พวกเขาก็กำลังเตือนเราว่า ดินแดนแห่งนี้มีเรื่องราวน่าเศร้าชนิดเดียวกันนั้นซ่อนอยู่

เขาและเธอเตือนเรา ผ่านชีวิตของคนคนหนึ่งชื่อ 'ลอน' (บุญตา) เด็กหญิงชาวอีสานผู้ก้าวเข้าสู่เส้นทางค้าบริการทางเพศด้วยวัย 13 ปี ขายร่างกายซึ่งเป็นของมีค่าเพียงหนึ่งเดียวที่มีให้แก่แขกนับร้อยรายเพื่อแลกกับเงิน จนต้องทำแท้งในวัยเพียง 15 ปี และพยายามฆ่าตัวตายหลายต่อหลายครั้ง…

ทว่าเรื่องราวของ 'ลอน' ก็ไม่ใช่แค่ชีวิตหญิงผู้อาภัพในแบบเดียวกับบทเพลงเพื่อชีวิตที่เราเคยฟังกัน แต่มันยังสะท้อนถึงความสิ้นหวังที่เกี่ยวพันอยู่กับค่านิยม ความเชื่อ โครงสร้างเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำในประเทศ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง 'อำนาจ' ในสถาบันครอบครัว ที่มาในนาม ‘ความกตัญญู’ ซึ่งกลายเป็นบ่วงพันธนาการให้ชีวิตของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งต้องพบเจอกับความทุกข์ทรมาน จนกลายเป็นคนจิตใจเว้าแหว่งต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลในที่สุด

น้ำตาจากโศกนาฏกรรมที่มีอยู่ทั่วประเทศนี้เอง จะพาเราสำรวจ 'บ้าน' รวมถึง 'จิตใจของตัวเอง' เพื่อเตือนให้เราตั้งคำถามกันเสียบ้างว่า บ้านหรือดินแดนที่เราภูมิใจกันนักหนาว่าเป็น 'เมืองแห่งรอยยิ้ม' นั้น ผู้คนมอบรอยยิ้มให้แก่กันและกันอย่างจริงใจจริงไหม มันยังสะอาดสะอ้านอย่างที่เราคิดกันอยู่หรือไม่

และใช่ ดินแดนที่เรากำลังอยู่อาศัย มีกองขยะชื่อ 'ความเศร้า' ชนิดใดแอบซ่อนอยู่บ้าง!

เรื่องราวของ ‘ลอน’ น่าสนใจในแง่ไหน ทำไมพวกคุณถึงเลือกเรื่องราวของเธอมาเขียนเป็นหนังสือ
เดเร็ก: เรารู้จักกับลอนมา 15 ปีแล้ว ตอนนั้นเธออาศัยอยู่กับเพื่อนของพวกเราในพัทยา ลอนเป็นคนช่างพูด และไม่เคยพยายามหยุดทำความรู้จักผู้คนใหม่ๆ เมื่อเธอเห็นว่าผมสามารถพูดไทยได้ เธอก็บอกกับเพื่อนของเราว่า 'โอ้ ฉันต้องการรู้จักผู้คนใหม่ๆ เพื่อที่ฉันจะได้ส่งจดหมายไปถึงพวกเขา' เธอเริ่มเขียนจดหมายจากที่นั่น ก่อนจะย้ายไปอยู่ซาอุดีอาระเบีย แล้วเริ่มส่งจดหมายหาเรา เธอเขียนจดหมายหาผู้คนมากมายเหลือเกิน แม้ตอนนี้เธอจะอยู่ในโรงพยาบาล (โรงพยาบาลจิตเวชในประเทศอังกฤษ) แต่เธอก็เขียนจดหมายหาผู้คนมากมายจากที่นั่น

จูเลีย: และเธอก็ยังคุยโทรศัพท์กับคนอื่นๆ วันละไม่ต่ำกว่า 3 ชั่วโมงอีกด้วย

เดเร็ก: ส่วนหนังสือเล่มนี้มันเริ่มต้นในตอนที่เธอใช้ชีวิตอยู่ในสวีเดนในปี 2001 ตอนนั้นผมแชตกับแฟนของเธอ เธอจะเล่าเรื่องชีวิตของเธอให้แฟนฟัง เพื่อที่เขาจะได้พิมพ์ส่งมันมาให้พวกเราอ่าน ผมเลยบอกเขาว่า เขาน่าจะเขียนหนังสือเกี่ยวกับเธอนะ แต่เขาก็บอกว่าเขาไม่มีเวลา 'งั้นคุณก็เขียนสิ' เขาบอกผมแบบนั้น และนั่นคือจุดเริ่มต้นของเรื่องราวของลอนในหนังสือเล่มนี้

จูเลีย: จุดร่วมที่น่าสนใจสำหรับหนังสือเล่มนี้คือ ลอนต้องการแบ่งปันเรื่องราวของเธอ เธอต้องการแบ่งปันเรื่องราวของผู้หญิงคนหนึ่ง ผู้หญิงที่เดินทางมาจากอีสาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเดินทางมาจากดินแดนอันยากไร้ เธอต้องการแบ่งปันโศกนาฏกรรมในชีวิตของเธอ ให้ผู้คนได้รับรู้ว่าชีวิตของเธอน่าเศร้าเพียงใด ลอนเป็นคนที่มีหัวใจยิ่งใหญ่ เธอเป็นคนที่แข็งแกร่งอย่างไม่น่าเชื่อ เธอไม่อยากให้ผู้หญิงคนอื่นๆ ต้องก้าวเข้ามาในเส้นทางที่เธอเคยเดินมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงจากอีสาน หรือผู้หญิงจากกรุงเทพฯ ก็ตาม เธอไม่อยากเห็นใครต้องตกอยู่ในโศกนาฏกรรมแบบนั้น เธออยากให้ทุกคนรับรู้ถึงความน่ากลัวของสิ่งเหล่านี้ เพราะเธอทุกข์ทรมานเหลือเกินในห้วงปีที่ต้องทำงานค้าบริการทางเพศ ในช่วงที่เรากำลังเขียนหนังสือเล่มนี้อยู่ เธอจะคอยกระตุ้นให้เดเร็กเขียนอยู่เสมอ นั่นคือแรงผลักดันจริงๆ ที่ทำให้หนังสือเล่มนี้เกิดขึ้น และถ้าได้อ่านหนังสือ เราจะเห็นว่าเธอพยายามทำงานอย่างหนัก หาเงินส่งกลับบ้าน เพื่อที่แม่จะได้นำมันไปส่งเสียให้น้องสาวของเธอได้ร่ำเรียน เธอไม่ต้องการให้น้องสาวเข้าสู่วังวนของการค้าบริการทางเพศแบบเธอ นี่คือเรื่องอันแสนเศร้าและน่าสลดหดหู่อย่างยิ่ง

แล้วตอนนี้ล่ะ ชีวิตของลอนเป็นอย่างไรบ้าง
จูเลีย: เธออยู่ห่างไกลจากคำว่า 'ความสุข' เหลือเกิน ฉันหมายถึงเมื่อเธอต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล เธอห่างไกลจากคำว่าความสุขในชีวิต เพราะเธอรู้สึกว่าเธอเหมือนนกที่ถูกขังอยู่ในกรง การใช้ชีวิตอยู่ในโรงพยาบาลเป็นเรื่องยากมากสำหรับเธอ

ทำไมพวกคุณถึงเลือกที่จะเล่าเรื่องของลอนออกมาในรูปแบบที่คล้ายกับ 'บทบันทึก' ของเธอเอง
เดเร็ก: นี่คือเรื่องราวของลอน มันไม่ใช่คำพูดของพวกเราเกี่ยวกับตัวเธอ เธอคือคนที่ยืนอยู่หน้าม่านของเรื่องราวเหล่านั้น และนี่คือเรื่องราวจากปากคำของเธอเอง ดังนั้นผมจึงอยากเล่าเรื่องราวของเธออย่างตรงไปตรงมาที่สุดเท่าที่จะทำได้

พวกคุณค้นคว้าเรื่องราวของเธอ หรือบริบทอื่นๆ ในหนังสือเล่มนี้ด้วยวิธีไหน
เดเร็ก: ส่วนใหญ่แล้วเรื่องราวในหนังสือจะมาจากไดอารี่ของลอน มันเป็นน้ำเสียงที่มาจากชีวิตของเธอ เกี่ยวกับมุมมองของเธอ ความสัมพันธ์ของเธอกับครอบครัวและคนอื่นๆ ซึ่งเรื่องราวของเธอเกิดขึ้นที่นี่ (ประเทศไทย) และผมก็อยู่ที่นี่มานานพอที่จะเข้าใจประเด็นเหล่านั้น

จูเลีย: ตอนที่ฉันเข้ามามีส่วนร่วมในการเขียนหนังสือเล่มนี้ หรือตอนที่ฉันได้พบกับลอนครั้งแรก หรือตอนที่ได้อ่านร่างแรกของหนังสือ ในฐานะที่ฉันเป็นผู้หญิงชาวตะวันตก เรื่องราวเหล่านี้ดูเหมือนจะอยู่นอกเหนือจากความเข้าใจของฉันเหลือเกิน เพราะมันมีมุมมองที่แตกต่างออกไปเกี่ยวกับผู้หญิงขายบริการในอเมริกากับประเทศไทย ผู้หญิงขายบริการในอเมริกาส่วนใหญ่มักมีเรื่องของยาเสพติดเข้ามาเกี่ยวข้อง นั่นคือเรื่องน่าสลดของอเมริกา แต่เมื่อฉันค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับลอน ฉันก็ต้องเบื้อใบ้เมื่อพบว่าเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ ผู้กลายมาเป็นสาวค้าบริการนั้น กลับมาจากการที่พวกเธอต้องการหาเงินเพื่อนำไปจุนเจือครอบครัว
ในฐานะที่ฉันเป็นแม่คนและเป็นผู้หญิง ฉันไม่สามารถทำความเข้าใจเรื่องราวเหล่านี้ได้ อันดับแรกคือ การที่พ่อแม่ส่งลูกสาวไปทำงานพวกนั้น ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่ามันเลวร้ายแค่ไหน ใช่ แม้พวกเขาจะบอกไม่รู้ แต่จริงๆ แล้วพวกเขารู้ดีว่าอะไรกำลังรอลูกๆ ของพวกเขาอยู่ พ่อแม่ต่างเชื่อว่าเด็กๆ มีหนี้ที่ต้องชำระให้แก่พวกเขา นี่คือเรื่องใหม่สำหรับฉัน เพราะฉันอยู่เมืองไทยมานานหลายปี แต่กลับไม่เคยใช้เวลาอย่างจริงจังในการทำความเข้าใจกับวัฒนธรรมทั้งหมดของที่นี่เลย ราวกับว่าฉันมองเห็นแต่ความงดงามของเมืองเมืองนี้ในฐานะของนักท่องเที่ยวทั่วไป แล้วฉันก็ต้องไร้คำพูดและหัวใจแหลกสลายเมื่อพบความจริงที่เกิดขึ้นกับเด็กสาวมากมายผู้เดินทางมาจากอีสาน

ดังนั้นฉันจึงใช้เวลา 6 เดือนเพื่อค้นคว้าข้อมูลเชิงวิชาการ และพาตัวเองไปสัมผัสกับสังคมจริงๆ ในหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งในอีสาน ซึ่งมีเดือนหนึ่งในระยะเวลา 6 เดือนนั้น ที่ได้ทำให้ฉันต้องหยุดชะงัก เพราะฉันได้ตกอยู่ในภาวะซึมเศร้าจากสิ่งที่ฉันได้อ่าน หัวใจของฉันแหลกสลาย เมื่อฉันได้อ่านเรื่องราวของผู้หญิงและเด็กสาวมากมายที่ต้องตายลงด้วยหนทางเดียวกับที่ลอนเคยเจอ ฉันได้อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับพ่อแม่ที่ขายลูกเพื่อเอาเงินมาซื้อทอง มากกว่าที่จะเอามันไปซื้ออาหาร

มีเรื่องหนึ่งที่ฉันอยากเล่าให้คุณฟัง ในตอนที่ฉันใช้ชีวิตอยู่ในหมู่บ้าน อาศัยอยู่ในบ้านหลังเล็กที่มีหน้าต่างบานใหญ่ ฉันมักเห็นเด็กกลุ่มหนึ่งโบกมือให้ฉันจากนอกหน้าต่างอยู่เสมอ เป็นเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 6 ขวบถึงประมาณ 17 ปี พวกเขาดูมีความอยากรู้อยากเห็นเป็นอย่างมาก ดังนั้นฉันจึงคิดว่า ฉันจะทำอะไรให้แก่พวกเขาได้บ้าง ซึ่งสิ่งที่ฉันน่าจะทำได้ดีที่สุดนั่นก็คือการสอนภาษาอังกฤษ ดังนั้นฉันจึงชวนพวกเขาให้มาเรียนภาษาอังกฤษกับฉัน ซึ่งดูเหมือนพวกเขาจะชอบกันมาก ฉันกำลังคิดว่า ถ้าเด็กพวกนั้นได้เรียนหนังสือ ได้เรียนภาษาอังกฤษ มันจะทำให้พวกเขามีโอกาสที่ดีในชีวิตเพิ่มขึ้น บางทีอาจไม่ต้องเข้าไปสู่วังวนเหล่านั้นเหมือนลอน แต่แล้ว 5 ปีหลังจากนั้น ในขณะที่ฉันกำลังใช้ชีวิตอยู่ในพัทยา อยู่ๆ ฉันก็ได้เจอเด็กผู้หญิงอายุประมาณ 15 คนหนึ่ง เธอกำลังเรียกชื่อของฉัน ใช่ เธอคือเด็กน้อยที่เคยเป็นลูกศิษย์ของฉัน นั่นคือสิ่งที่ทำให้ฉันเบื้อใบ้หลังจากเวลาผ่านไปนานหลายปี เพราะตอนนี้ เด็กผู้หญิงคนนั้นกลับกลายเป็นสาวค้าบริการไปแล้ว เธอกำลังร้องไห้และพยายามกลั้นน้ำตา หัวใจของเธอกำลังแหลกสลายอยู่ตรงนั้น 

คุณรู้ไหมว่าคนไทย โดยเฉพาะ ‘ชนชั้นกลาง’ ในเมืองส่วนใหญ่ ไม่ได้สนใจโศกนาฏกรรมเหล่านี้เลย พวกเขาหลอกตัวเองว่านี่คือ ‘สยามเมืองยิ้ม’ ตลอดมา ทั้งๆ ที่มีน้ำตาจากโศกนาฏกรรมเช่นเดียวกับชีวิตของลอนอยู่เต็มประเทศ เราจะทำอย่างไรให้พวกเขาตระหนักถึงเรื่องราวอันน่ารันทดเหล่านี้

เดเร็ก: ถ้ามองกลับไปที่อเมริกา เราจะเห็นผู้คนมากมายที่ไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องราวเหล่านี้เช่นเดียวกัน ในซานดิเอโก หรือในซานฟรานซิสโก เรามีคนยากจนจำนวนมาก ใช่ อเมริกาก็มีพื้นที่ยากไร้ และชนชั้นกลาง หรือชนชั้นที่อยู่สูงกว่านั้นก็ไม่ได้สนใจโศกนาฏกรรมแห่งความยากไร้เหมือนๆ กัน ดังนั้นมันคงไม่ยุติธรรมนักที่จะบอกว่า 'โอ้ ชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ไม่สนใจเรื่องราวเหล่านี้เลย’ เพราะในอเมริกาก็เป็นเหมือนกัน เรื่องราวเหล่านี้มีอยู่ในทุกประเทศ ไม่ใช่ประเทศใดประเทศหนึ่ง

จูเลีย: ทุกประเทศมีด้านมืดของตัวเอง มีสถานการณ์เกี่ยวกับการค้าประเวณีแบบนี้อยู่เต็มไปหมด และตลาดค้าบริการทางเพศก็มักถูกซ่อนอยู่ในซอกหลืบ นั่นคือสิ่งที่ทำให้ฉันเศร้า เพราะฉันรู้ว่าการค้าบริการสร้างบาดแผลให้ผู้หญิงอย่างไร

แต่ถ้าพูดถึงชนชั้นกลางในประเทศไทย ฉันมีเพื่อนชาวไทยเยอะมากที่ส่วนใหญ่ตระหนักถึงปัญหา แม้กระทั่งเพื่อนคนหนึ่งของฉันที่ตาบอด เขาก็ยังรับรู้ถึงการมีอยู่ของมัน พวกเขาทุกคนห่วงใยปัญหา ฉันกำลังจะบอกว่า เราทุกคนต้องมีหัวใจที่จะใส่ใจเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับเด็กสาวผู้โชคร้ายเหล่านั้น ไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เราอยู่ในที่ประชุม และกำลังถกเถียงกันว่า 'เราจะสามารถทำอะไรได้บ้าง' แน่นอน เรายังไม่มีคำตอบแน่ชัด เราเป็นคนต่างชาติ และคงไม่มีสิทธิ์ที่จะมายัดเยียดค่านิยมหรือความเชื่อของเราให้แก่คุณ แต่สิ่งที่ชัดเจนที่เราได้เรียนรู้จากเรื่องราวของลอนคือ 'การศึกษา' อาจเป็นทางออกของปัญหาเหล่านี้ ซึ่งแม้ปัจจุบันจะมีนโยบายเรียนฟรี แต่เราจะเห็นว่าเด็กบางคนไม่สามารถไปเรียนหนังสือได้ นั่นเพราะพวกเขาไม่มีเงินที่จะไปซื้อชุดนักเรียน ไม่มีเงินซื้อแม้กระทั่งหนังสือหรือดินสอ

การศึกษาสำหรับเด็กนั้นสำคัญแน่ แต่อีกมุมหนึ่ง การสร้างรายได้ให้แก่พ่อแม่ของเด็กๆ ก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน เพราะถ้าพวกเขามีเงิน มันก็น่าจะลดแนวโน้มที่จะทำให้พวกเขาต้องขายลูกตัวเอง หรือผลักให้เด็กๆ ต้องมุ่งหน้าสู่เมืองใหญ่ได้ ฉันขอยก 'มูลนิธิสายน้ำ' ขึ้นมาเป็นตัวอย่าง เพราะนี่คือองค์กรที่มองเห็นปัญหาเหล่านี้ ในตอนที่ ‘คลอดิโอ โรมาโน’ (ประธานมูลนิธิสายน้ำ) ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ เขาบอกกับเราว่า 'ผมอยากทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยเหลือหญิงสาวที่ต้องตกไปสู่วังวนของการค้าประเวณี' เขาจึงพัฒนามูลนิธิสายน้ำให้เป็น NGO ที่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลไทย นี่คือองค์กรที่เข้ามาช่วยเหลือด้านโอกาสทางการศึกษา, การรักษาโรค, อาหาร และที่พักอาศัยให้แก่ผู้คนในภาคอีสานและชุมชนแออัดในกรุงเทพฯ แต่ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขายังมีหลักสูตรที่จะมอบการศึกษาให้แก่พ่อแม่ของเด็ก ทั้งหลักสูตรการเกษตร หรือหัตถกรรมอย่างทอผ้าไหม หรือแม้กระทั่งหลักสูตรช่างยนต์ ซึ่งจะทำให้พ่อแม่ของเด็กสามารถใช้หารายได้ให้แก่ตัวเองได้

เราจะเห็นว่า สุดท้าย มันจะวนกลับไปที่เรื่องการศึกษา เพราะเมื่อผู้ปกครองของเด็กๆ ไม่ได้รับการศึกษา พวกเขาจะไม่มีทักษะใดๆ ในการยังชีพเลย

หนังสือของพวกคุณเริ่มต้นโดยเน้นไปที่คำว่า ‘ความน่าอเนจอนาถ’ แล้วความน่าอเนจอนาถ หรือโศกนาฏกรรมที่แท้จริงของชีวิตลอนคืออะไร
เดเร็ก: โศกนาฏกรรมที่แท้จริงของลอนโดยย่นย่อคือ ลอนเป็นคนอารมณ์แปรปรวนมาตั้งแต่เด็ก ตอนอายุ 9 ขวบเธอได้พบหมอ แต่หมอก็ไม่เข้าใจว่าเธอป่วยเป็นอะไร พวกเขาไม่รู้ว่าควรเยียวยาเธออย่างไร พวกเขาได้แต่คาดการณ์ว่าเธอมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิตเท่านั้น — ถ้าเห็นเครื่องบินบินผ่านไปบนท้องฟ้า ลอนจะวิ่งตามเครื่องบินเป็นชั่วโมงๆ ก่อนจะกลับมาอีกหลายชั่วโมงหลังจากนั้น ลอนมีปัญหาทางจิตอย่างมาก และท่ามกลางปัญหาเหล่านั้น แม่ของเธอกลับมองว่าเธอคือตัวการที่ทำให้พ่อตาย และเมื่อเธอต้องออกจากบ้านมาทำงาน เธอจะย้ำกับตัวเองตลอดเวลาว่า 'ฉันต้องทำทุกอย่างเพื่อไถ่โทษสำหรับความตายของพ่อ' และในความคิดของแม่ สิ่งเดียวที่ลอนจะไถ่โทษสำหรับความตายของพ่อได้ นั่นคือเธอต้องหาเงินส่งกลับบ้านเท่านั้น

จูเลีย: จากจุดนั้น มันทำให้เห็นว่า ลอนราวกับเกิดมาเพื่อเป็นแพะรับบาปในครอบครัว เธอคือแกะดำ เธอโดนโบยตีและโดนทารุณกรรมมาตั้งแต่เด็ก ฉันกำลังจะบอกว่า คงมีแค่พระเจ้าเท่านั้นที่รู้ว่า เหตุใดเธอถึงถูกเลือกให้กลายผู้โชคร้ายคนนั้น แต่เรื่องราวทำนองนี้ก็มีอยู่ทั่วโลก และในครอบครัวแบบนั้นก็มักจะมีใครสักคนที่ต้องตกอยู่ในชะตากรรมเช่นเดียวกับลอน ใครสักคนที่ถูกเลือกออกมาเพื่อรองรับความโกรธเกรี้ยวของคนในครอบครัว และลอนคือหนึ่งในนั้น

คุณคิดว่าอะไรคือแรงผลักดันที่ทำให้แม่ของลอนปฏิบัติต่อเธออย่างไม่ไยดี เช่น ต้องการเงินจากลอนตลอดเวลา โดยไม่สนใจเลยว่าลูกสาวจะต้องไปขายตัวหรือไม่
เดเร็ก: เธอต้องการเป็นคนที่มีหน้ามีตาในหมู่บ้านของตัวเองตลอดเวลา เธอจัดงานเลี้ยงอยู่บ่อยครั้ง เชิญชวนผู้คนในหมู่บ้านมา แล้วประกาศว่า 'ลูกสาวฉันส่งเงินมาให้ พวกเรามีชีวิตที่ร่ำรวย' เธอบอกแบบนี้กับทุกคน

ในสังคมตะวันตกมีวัฒนธรรมการ 'อยากมีหน้ามีตา' แบบนี้ไหม
จูเลีย: นี่เป็นเรื่องจริงในอเมริกาเช่นกัน ในอเมริกา 'การมีหน้ามีตา' จะถูกเรียกว่า 'ไม่ยอมแพ้พวกโจนเซส (keep up with the Jonses)' แปลว่า 'พยายามมีเงินไม่ให้แพ้เพื่อนบ้าน' เช่น ถ้าเพื่อนบ้านมีรถเบนซ์ขับ ฉันจะต้องมีรถเบนซ์รุ่นที่ดีกว่าของเพื่อนบ้าน นี่คือสำนวนของอเมริกันในศตวรรษที่ 20 แต่นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในชนชั้นกลางชาวอเมริกันเท่านั้น คนรวยไม่มีความจำเป็นต้องชิงดีชิงเด่นกับเพื่อนบ้าน เพราะพวกเขามีทุกอย่างที่จำเป็นเพื่อแสดงความมั่งคั่งต่อสังคมอยู่แล้ว

ฉันคิดว่าสิ่งที่ชัดเจนมากๆ ในกรณีนี้ มันคือความรู้สึก 'ไม่พอเพียง' ที่ใครหลายคนมี พวกเขาเลยต้องหาปัจจัยภายนอกเข้ามาเพื่อทำให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น ฉันคิดว่านี่คือวิถีที่สังคมอีสานกำลังเป็นอยู่ มีบ่อยครั้งมากที่ลอนคิดจะหลีกหนีจากการทำงานแบบนั้น เธอไม่ต้องการขายตัว ฉันกำลังบอกว่า เธอรู้ดีว่ามีหนทางอื่นที่จะทำให้เธอไม่ต้องมาค้าบริการทางเพศ แต่เธอก็ไม่สามารถทำได้ เพราะแม่ของเธอจะบอกเธอตลอดเวลาว่า 'ถ้าแกไม่ส่งเงิน 5,000 บาทมาให้ แกก็ไม่ต้องกลับบ้าน' และหลายปีที่ผ่านมา ลอนก็สามารถส่งเงินกลับบ้านได้เดือนละ 30,000 บาทแบบสบายๆ นั่นคือสิ่งที่เด็กน้อยอายุแค่ 14-16 ทำ เธอจ่ายเงินให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่แม่ต้องการ และแม่ของเธอก็เรียกร้องแบบนี้หลายต่อหลายครั้งมามากกว่า 10-15 ปี ลอนสร้างบ้านให้แม่ ซื้อโทรศัพท์ ซื้อโทรทัศน์ และอื่นๆ อีกมากมาย และหากย้อนกลับไปไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ เราจะพบว่าแม่ของลอนมีแฟนใหม่ และต้องการให้ลอนส่งเงินกลับไปให้เธอและแฟนของเธอใช้ ความโลภคือส่วนสำคัญของเรื่องนี้ แม่ของลอนต้องการมีหน้ามีตา มากกว่าจะสนใจศักดิ์ศรีหรือสุขภาพของลอน

แน่นอนว่าอเมริกาก็มีเรื่องราวแบบนั้น แต่เท่าที่ฉันรู้ เราไม่ค่อยพบแม่ในแบบที่แม่ของลอนเป็นสักเท่าไหร่ ฉันหมายความว่าจริงๆ แล้ว อาจมีแม่สัก 1-2 ล้านคนที่จะพูดว่า 'แกห้ามกลับบ้านโดยไม่มีเงินกลับมาให้' แต่พวกเธอจะเลือกเก็บมันไว้ในใจ

เรื่องราวของลอนเต็มไปด้วยความสิ้นหวัง มันเป็นความสิ้นหวังที่เกี่ยวข้องกับค่านิยม ความเชื่อ โครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ และเฉพาะอย่างยิ่ง 'อำนาจ' ในสถาบันครอบครัวที่มาในชื่อ ‘ความกตัญญู’ คำถามคือ ความหวังที่จะสามารถแก้ไขปัญหาของเรื่องราวทั้งหมดนี้อยู่ที่ไหน
เดเร็ก: ไม่ว่าใครก็ตามคงไม่มีคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับเรื่องนี้ เราไม่สามารถแก้ไขปัญหาทั้งหมดในโลกได้ แต่ไม่ว่าอย่างไร มันก็ยังนับเป็นเรื่องโชคดีไม่น้อยที่ปัญหาเหล่านั้นคือส่วนน้อยของปัญหาทั้งหมดในโลกใบนี้
จูเลีย: แต่ฉันก็ยังเชื่อว่าเราต้องให้ความรู้กับพวกเขานะ นั่นเพราะพวกเขาต้องการการศึกษามากกว่านี้เพื่อให้พวกเขาตระหนักให้ได้ว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนั้นไม่ใช่เรื่องโอเค แต่พวกเขาบางคนกลับชอบที่จะดูเคเบิลทีวีมากกว่า (หัวเราะ)

ส่วนในแง่ของความกตัญญูนั้น ตอนนี้เราอยู่ที่นี่ ด้วยค่านิยมของที่นี่ ดังนั้นสิ่งที่เราสามารถทำได้จริงๆ คือการมอบโอกาสที่จะทำให้ชีวิตของเด็กผู้หญิงสักคนดีขึ้น นั่นคือสิ่งที่เรากังวล มันเป็นภารกิจของเรา เพราะในแง่ของการศึกษา การศึกษานั่นแหละคือหนทางให้เด็กสาวผู้โชคร้ายเหล่านั้นค้นหาตัวเองพบ

ฉันได้ไปซาอุดีอาระเบียหลายครั้งในรอบหลายปีที่ผ่านมา เพราะงานของฉันมีอยู่ทั่วโลก ฉันเพิ่งเล่าให้เดเร็กฟังตอนที่นั่งรถมาที่นี่ว่า ในปี 1998 ฉันไปซาอุดีอาระเบีย และมีลูกศิษย์อายุประมาณ 20 ต้นๆ ผู้มีลูกวัยกระเตาะประมาณ 8-9 ขวบอยู่เป็นจำนวนมาก นั่นหมายความว่า เด็กพวกนั้นมีลูกคนแรกตั้งแต่พวกเขาอายุประมาณ 12 ปี ฉันจำเด็กผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งมีอายุ 20 ต้นๆ แต่มีลูกอายุ 8 ขวบได้ดี เพราะในตอนนั้นครอบครัวของเธอกำลังต้องการให้เธอแต่งงานเป็นรอบที่สอง! นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 1988 แต่ใจความสำคัญของเรื่องนี้คือ ฉันสอนอยู่ที่นั่นหลายปี และเมื่อฉันลาออกจากมหาวิทยาลัยในปี 2009 ฉันก็กลับพบว่า ไม่มีเด็กนักเรียนของฉันคนไหนอีกแล้วที่อยากจะแต่งงานด้วยวัย 12, 14 หรือแม้กระทั่ง 16 ปี พวกเธอจะปฏิเสธมัน ปฏิเสธที่จะมีลูกในช่วงวัยเช่นนั้น คุณรู้ใช่ไหมว่า ชาวอาหรับมีประชากรเด็กอยู่เยอะมาก อาจประมาณ 30% ของประชากรทั้งหมด และเด็กผู้หญิงรุ่นใหม่ก็ปฏิเสธการสร้างเด็กเพิ่ม พวกเขาทั้งหมดกำลังยืนยันว่า การศึกษาได้เปลี่ยนแปลงความคิดเหล่านั้นไปหมดแล้ว

ย้อนกลับไปที่เรื่องความรุนแรงต่อสตรี ในภาพรวมของโลก ทำไมเหยื่อของความรุนแรงถึงมักจะเป็นเพศหญิงเป็นส่วนใหญ่
จูเลีย: ผู้หญิงกลายเป็นเหยื่อความรุนแรงทั่วโลก เพราะพวกเธอไม่ได้รับความเคารพจากผู้ชาย และส่วนใหญ่จะไม่ได้รับความเคารพจากผู้ชายที่รู้สึกว่าตนเองไม่เท่าเทียมกับคนอื่น โดยทั่วไปในประเทศยากจน ผู้ชายที่ขาดไร้พื้นที่ทางสังคมมักจะทารุณกรรมผู้หญิง นั่นเพราะผู้ชายเหล่านั้นรู้สึกต่ำต้อย พวกเขาจึงต้องการใครสักคนเพื่อมากดไว้ให้ต่ำกว่าตัวเอง

แต่ไม่ว่าจะเป็นคนจนหรือคนรวยก็มักมีแนวโน้มจะกดขี่คนที่พวกเขารู้สึกว่าคงไม่มีความสามารถตอบโต้พวกเขาได้ทั้งนั้น ส่วนใหญ่แล้วอาจมาจากเรื่องทางกายภาพของร่างกาย พละกำลัง และสถานภาพในสังคมโลก ซึ่งผู้หญิงและเด็กจะอ่อนแอกว่าผู้ชายอยู่แล้ว ในระดับโลก แม้ผู้ชายที่มีอำนาจในวงการธุรกิจหรือการเมืองก็ยังเป็นคนที่ชื่นชอบการกดขี่ได้ เหตุผลไม่ได้อยู่ที่ตำแหน่งหรือความร่ำรวยของพวกเขา แต่อยู่ที่ความคิดของพวกเขาต่อตัวเอง หากพวกเขารู้สึกว่าตัวเองไม่เท่าเทียมและขาดความมั่นใจ แม้ว่าจะมีศักยภาพภายนอกเป็นอย่างไร พวกเขาจะระบายความรู้สึกขาดนี้ใส่คนที่อ่อนแอกว่าอยู่ดี

ตัวอย่างล่าสุดของการขาดความเคารพนี้ คือเรื่องที่มีแก๊งป่าเถื่อนไปข่มขืนนักศึกษาแพทย์ชาวอินเดียขณะอยู่บนรถเมล์กับแฟนของเธอในนิวเดลีเมื่อปี 2012 หนึ่งในคนที่ข่มขืนเธอซึ่งถูกตัดสินประหารชีวิตบอกว่า เธอตายเพราะความผิดของเธอเอง เขาบอกว่าเธอน่าจะอยู่เงียบๆ และไม่โต้ตอบคนที่ข่มขืนเธอ เขาบอกว่าเธอไม่น่าจะออกมาตอนกลางคืน แต่ควรอยู่บ้าน สหประชาชาติรายงานว่ามีคดีข่มขืนกว่า 250,000 คดีใน 65 ประเทศต่อปี ซึ่งไม่รวมอีกหลายพันคดีที่ไม่มีการแจ้งความเพราะเหยื่อกลัวว่าจะมีการแก้แค้น หรือกลัวเสื่อมเสียชื่อเสียง แถมตำรวจบางคนก็ยังไม่รับแจ้งความอีกด้วย
นั่นแหละ การข่มขืนแสดงถึงการขาดความเคารพต่อผู้หญิงได้อย่างชัดเจนที่สุดในโลก

ปัญหาเหล่านี้เกิดจากการไม่เชื่อในเรื่องความเท่าเทียมของมนุษย์?
เดเร็ก: ใช่ และคุณจะพบว่ามันมีทุกหนทุกแห่งแม้กระทั่งวงการศาสนา ผมขอย้ำอีกครั้งว่า นี่ไม่ใช่แค่สถานการณ์ของประเทศไทย คุณสามารถพบมันได้แม้กระทั่งศาสนา พบมันได้ในทุกๆ วัฒนธรรม

ถ้ามันมีอยู่ในทุกวัฒนธรรมจริง เราจะสามารถพูดได้ไหมว่านี่คือธรรมชาติของมนุษย์
เดเร็ก: อาจพูดแบบนั้นได้ แต่ผมคิดว่าควรใช้ 'พบได้มากในค่านิยมของมนุษย์ รวมถึงศาสนาและวัฒนธรรม' มากกว่า

จูเลีย: ฉันคิดว่าสำหรับผู้คนที่ขาดไร้ความนับถือในจิตวิญญาณของมนุษย์นั้นอาจจะจริง แต่ในคนที่มีจิตวิญญาณอย่างผู้นับถือศาสนาคริสต์ พุทธ ฮินดู นั้นย่อมแตกต่าง ฉันหมายถึงคนที่ยึดมั่นในคำสอนตามหลักศาสนาจริงๆ นะ ไม่ใช่คนที่พูดว่านับถือศาสนาแค่ปาก — เราจะเห็นได้ชัดเจนเลยว่ามีการข่มขืนท่ามกลางดินแดนที่มีอารยธรรมอยู่เป็นจำนวนมากทั่วโลก และใช่ แม้แต่ในคนที่กล่าวอ้างว่าพวกเขาเป็นฮินดู พุทธ หรืออะไรก็ตาม คุณรู้ใช่ไหม จริงๆ แล้วคนพวกนี้ไม่ได้เป็นศาสนิกชนของศาสนานั้นๆ จริงๆ หรอก พวกเขาแค่พูดว่าฉันมีศาสนา แต่ไม่ได้นับถือมันอย่างแท้จริงเลย ไม่งั้นพวกเขาคงไม่ทำสิ่งเลวร้ายเหล่านั้น

แต่สำหรับผู้คนที่ยึดมั่นในจิตวิญญาณของมนุษย์ พวกเขาจะมองเห็นคุณค่าของมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน ฉันเห็นลอนเป็นคนเท่ากับฉัน แม้บางครั้งเธอจะยั่วโมโหฉันบ้าง (หัวเราะ) ฉันชอบเวลาได้คุยโทรศัพท์กับเธอ แต่ไม่ใช่เธอแค่คนเดียวหรอกนะที่ฉันมองว่าเป็นคนเท่าตัวเอง ฉันหมายความว่า มนุษย์มักมีแนวคิดที่แตกต่างกัน ฉันมักครุ่นคิดอยู่เสมอว่าจะทำอย่างไรให้คนที่มีความเชื่อสองความเชื่ออยู่ร่วมกันได้ ด้วยการเปิดตาที่ถูกปิดไว้อีกข้างของคุณ เพื่อจะได้มองเห็นความจริงแท้ของมนุษย์

มนุษย์สามารถเท่าเทียมกันได้จริงๆ หรือ อย่างในหนังสือของพวกคุณเอง ลอนก็พูดถึงชะตาชีวิตที่ 'เลือกเกิดไม่ได้' อยู่บ่อยครั้ง แถมยังมีบรรทัดหนึ่งที่เธอบอกว่า 'แค่เกิดมาชาติหน้าเป็นผู้ชายยังไม่พอหรอก ต้องขอเกิดเป็นผู้ชายชาวตะวันตกด้วย'
เดเร็ก: พวกเราควรจะมีสิทธิเท่าเทียมกัน มีโอกาสที่เท่าเทียมกัน เราสามารถประสบความสำเร็จได้เหมือนกัน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเท่าเทียมกันได้ในทางคณิตศาสตร์ คุณก็รู้ว่าไม่มีใครมีความสามารถในการวาด การเขียน หรือการคำนวณได้เท่ากัน แต่สิทธิและโอกาสที่เท่ากันนั้นย่อมใช่

จูเลีย: ฉันขอพูดเพิ่มเติมในประเด็นเรื่องจิตวิญญาณ โดยส่วนตัวแล้วฉันเชื่อว่าเราคือบุตร-ธิดาของพระเจ้า ดังนั้นภายใต้ความเชื่อนี้ เราทุกคนจึงเท่าเทียมกัน มันไม่สำคัญเลยว่าคุณจะเป็นคนประเทศไหนหรือศาสนาใด — การที่คนเราจะเกิดมาพิการ ยากจนหรือขัดสนกว่าคนอื่นนั้น เกิดจากการรับรู้ที่จำกัด 'ในสายพระเนตรของพระเจ้า' แต่ไม่ว่าอย่างไร พวกเรายังเท่าเทียมกัน อย่างที่เดเร็กบอก พวกเราเกิดมามีพรสวรรค์ หรือความสามารถที่จะทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นหรือโลกแตกต่างกันไป บางคนสามารถเต้น บางคนสามารถร้องเพลง เพื่อทำให้โลกนี้ดีขึ้น เพื่อให้เราได้อาศัย เติบโต และบรรลุศักยภาพของเรา

ในแง่ของสังคมศาสตร์หรือเศรษฐศาสตร์ล่ะ ถ้าความยากจนหมดไป เราจะสามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ หรือแม้กระทั่งปัญหาการส่งลูกไปขายบริการทางเพศได้ไหม
จูเลีย: ลดลง

เดเร็ก: ไม่หายไป แต่จะลดลง

จูเลีย: 30 ปีก่อน ตอนที่ชาวญี่ปุ่นเริ่มเข้ามาลงทุนในประเทศไทย มีผู้คนมากมายเข้ามาทำงานที่นี่บนพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจแบบแลกเปลี่ยน มีการค้าขายเกิดขึ้นมากมาย เช่น ตลาดค้าไก่ไข่ หรือตลาดค้าข้าว นั่นหมายถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนของที่นี่จะดีขึ้น กระดาษแผ่นเล็กๆ ที่เรียกว่าเงินกระจายไปทั่ว โครงสร้างเศรษฐกิจเริ่มเปลี่ยนแปลง ประเทศไทยมีโรงแรมเยอะขึ้น การท่องเที่ยวก็เริ่มขยายตัว ดังนั้นเศรษฐกิจไทยเติบโตมาตั้งแต่ 30 ปีก่อนแล้ว มันคล้ายจะช่วยให้ทุกคนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น — แต่ไม่ใช่สำหรับลอน

ประเทศที่เจริญแล้ว ยังมีการค้าประเวณีอยู่ไหม แล้วถ้ามีทำไมถึงเป็นแบบนั้น
เดเร็ก: มีแน่นอน แต่อีกมุมหนึ่ง พวกคนรวยก็ชอบเดินทางไปประเทศยากจน อเมริกาเป็นประเทศที่ร่ำรวยอยู่แล้ว ซึ่งเป็นไปได้ว่า ตลาดค้าประเวณีของที่นั่นจะมีราคาสูง เพราะฉะนั้นการเดินทางมาประเทศไทยด้วยค่าเงินของตะวันตก จึงทำให้ค่าอยู่ค่ากิน หรือแม้กระทั่งค่าท่องเที่ยวทางเพศของที่นี่มีราคาถูกมาก มันไม่เหมือนกับการใช้ชีวิตอยู่ที่อเมริกาเลย

จูเลีย: ชัดเจนและน่าเศร้าอย่างยิ่งที่ในอเมริกาเองก็มีพวกไร้ศีลธรรมที่ชักนำผู้หญิงชาวต่างชาติเข้ามาสู่ธุรกิจการท่องเที่ยวทางเพศอยู่มากมายเช่นเดียวกัน ฉันคิดว่าเหตุผลอย่างหนึ่งคือหญิงสาวต่างชาติมีราคาถูกและง่ายต่อการตกหลุมพรางของคนพวกนี้ มีซ่องโสเภณีที่เปิดให้บริการด้วยหญิงสาวชาวต่างชาติอยู่ทั่วอเมริกา หญิงสาวพวกนี้ต่างตกหลุมพราง ฉันเคยอ่านบทความหนึ่งที่พูดถึงหญิงสาวจำนวนมากที่ติดอยู่ในกับดักเช่นเดียวกันนี้ในประเทศออสเตรเลีย — ใช่ นั่นคือประเทศร่ำรวย แต่ก็มีพวกไร้ศีลธรรมที่นำหญิงสาวผู้โชคร้ายเข้ามาเรื่อยๆ — นั่นเพราะคำคำเดียวเลยคือ 'เงิน' พวกเขาไม่สนใจว่าผู้หญิงเหล่านั้นจะสูญเสียศักดิ์ศรีไปมากน้อยแค่ไหน พวกเขาต้องการแค่เงิน ดังนั้นเราจึงมีคนชั่วอยู่มากมายในตะวันตก… ไม่สิ มีคนชั่วอยู่มากมายในโลกใบนี้ คำตอบของการค้ามนุษย์ในประเทศที่เจริญแล้วก็เหมือนกับประเทศอื่นๆ คือ เกิดจากความโลภ และการสร้างโอกาสเพื่อจะเอาเปรียบคนด้อยโอกาส โชคร้ายที่ความโลภแพร่กระจายไปทั่วจักรวาล และไม่ได้อยู่ในประเทศเดียว หรือในประเทศยากจนเท่านั้น

เช่นเดียวกับที่เราคุยกันไปแล้ว ในเรื่องความรุนแรงต่อสตรี สิ่งเหล่านี้เกิดจากการขาดความเคารพต่อมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นเพศหญิงหรือชาย ความจริงที่ว่าผู้ตกเป็นเหยื่อของการท่องเที่ยวทางเพศได้รับเงินตอบแทนนั้น ไม่ได้ทำให้สถานะความเป็นเหยื่อของพวกเขาลดน้อยลงเลย คุณเชื่อไหม นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมายังประเทศไทยหรือประเทศโลกที่สามอื่นๆ เพราะตั้งใจจะซื้อหาเซ็กซ์ถูกๆ ที่พวกเขาพอจะมีปัญญาซื้อได้ นักท่องเที่ยวเหล่านี้ชอบเด็กผู้หญิงอายุน้อยอย่างลอน พวกเขาไม่คิดถึงศักดิ์ศรีของเด็กผู้หญิง หรือเคารพในความเป็นมนุษย์ของเธอเลย พวกเขาเรียกร้องในสิ่งที่ไม่มีทางได้จากภรรยาหรือแฟนหากยังอยู่ประเทศที่ตนจากมา อันที่จริงผู้ชายเหล่านี้คงถูกจับเข้าคุกข้อหาอาชญากรรม หากแสดงพฤติกรรมทางเพศเหมือนอย่างที่ทำในประเทศไทยนี้ในอเมริกา แคนาดา หรือออสเตรเลีย นักท่องเที่ยวทางเพศมักเป็นพวกไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น พวกเขาเนื้อตัวสกปรก อ้วนฉุ และติดเหล้า แน่นอนพวกเขาไม่มีทางหาผู้หญิงในประเทศของตัวเองได้ ก็เลยต้องเดินทางมาในประเทศโลกที่สาม และหากพวกเขาได้อยู่กับผู้หญิงสักคน พวกเขาก็จะคุยกับพวกเธออย่างดูถูก พวกเขาจะด่าทอ และพยายามควบคุมเธอโดยการใช้เงินข่มขู่ ฉันไม่ได้หมายความว่านักท่องเที่ยวต่างชาติกับหญิงสาวชาวไทยจะมีความสัมพันธ์ระยะยาวไม่ได้นะ บางคู่เกิดเป็นความรักก็มีให้เห็นมากมาย แต่ส่วนใหญ่แล้วสิ่งเหล่านี้มีที่มาจากความต้องการเงินทองของผู้หญิงก่อนเป็นอันดับแรก แล้วหากคนสองคนอยู่ด้วยกันโดยไม่ได้รัก ผลลัพธ์ก็มักจะไม่มีความสุขเสมอ

ขณะที่เด็กสาวอาจบริการนักท่องเที่ยวโดยการมอบความสุขให้ แต่ส่วนใหญ่พวกเธอต้องทำลงไปเพราะพวกเธอไม่มีการศึกษาหรือทักษะที่จะสามารถหาเลี้ยงตัวเองด้วยวิธีอื่น พวกเธอยังมีหน้าที่หนักอึ้งที่ต้องรับผิดชอบต่อครอบครัวในหมู่บ้าน เราจะพบว่ามีบ่อยครั้งทีเดียวที่เด็กสาวเหล่านี้ดูถูกวิธีหาเลี้ยงชีพของตัวเอง หรือแม้กระทั่งหยามเหยียดลูกค้า

มีการซื้อบริการทางเพศในเด็กแม้กระทั่งในกลุ่มผู้มีการศึกษา หรือผู้มีการศึกษาเองก็ยังเข้าไปเกี่ยวข้องกับธุรกิจค้าประเวณีด้วยใช่ไหม
จูเลีย: แน่นอน และคำว่า 'พวกไร้ศีลธรรม' นั่นคือคำสุภาพที่สุดเท่าที่ฉันจะนึกออกในการใช้เรียกคนพวกนี้แล้วนะ (หัวเราะ)

มนุษย์สามารถมีการศึกษาและละโมบโลภมากไปพร้อมๆ กันได้ แล้วยิ่งมีการศึกษา มันก็ย่อมง่ายที่คุณจะมองหาหนทางที่ง่ายและดีกว่าในการหาเงินให้ได้เยอะๆ สิ่งที่น่าจะสลดคือ วิธีการที่บางคนคิดได้คือ การนำผู้หญิงจากประเทศไทยหรือประเทศในอาเซียนเข้ามาค้าบริการทางเพศ

การค้ามนุษย์ถือเป็นรายได้อันดับสามของอาชญากรรม รองจากการค้ายาเสพติดและอาวุธ พวกค้ามนุษย์จะเอาเปรียบคนยากจนที่ไม่มีทางเลือก น่าเศร้าที่มนุษย์มีธรรมชาติอย่างที่เราเห็น นั่นคือมีคนที่ใช้ประโยชน์จากมนุษย์ผู้อ่อนแอนับล้านคน นั่นหมายความว่า มีคนที่ถูกกดขี่อยู่นับล้านเช่นกัน ดังนั้นคนที่รู้สึกหดหู่กับการค้ามนุษย์ ซึ่งอาจหมายถึงพวกเราทุกคน จึงมีหน้าที่ที่จะต้องช่วยลดจำนวนคนและครอบครัวที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ — เราทุกคนต้องช่วยกัน และเหนืออื่นใด การต่อสู้กับธุรกิจการค้าประเวณีต้องเป็นภารกิจสำคัญของรัฐบาลด้วย เช่น พวกเขาต้องบังคับใช้กฎหมายลงโทษนักท่องเที่ยวทางเพศ ปลุกจิตสำนึกของผู้ชาย โดยหวังว่าพวกเขาจะเข้าถึงมนุษยธรรม และตระหนักว่าเงินของพวกเขาไม่สามารถคืนศักดิ์ศรีที่ถูกพรากไปจากเด็กสาวเหล่านั้นด้วยการกระทำของพวกเขาได้เลย และขอให้ผู้ชายพวกนี้จงพิจารณาผลจากการกระทำของตนเองให้ดีว่า พวกเขาได้ทำลายเด็กๆ ลงไปอย่างไรบ้าง ทั้งในฐานะบุคคล อาชีพ และสังคมของพวกเธอ

กลับไปที่เรื่องหนังสือ สุดท้ายแล้วพวกคุณคาดหวังให้คนอ่านได้อะไรจากเรื่องราวของลอน
จูเลีย: ความมุ่งหมายจริงๆ ของเราในตอนเริ่มต้นเขียนหนังสือเล่มนี้ มันไม่ใช่การเขียนขึ้นเพื่อสาธารชนทั่วไปแต่อย่างใด ทว่ามันคือการสนับสนุนความหวังและความฝันของลอนให้ปรากฏขึ้นมา เพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้แก่เหล่าเด็กๆ ที่กำลังอยู่ในวังวนของธุรกิจค้าบริการทางเพศ ดังนั้นความคาดหวังของลอนก็คือความมุ่งหมายของเราด้วย

เพื่อนของฉันที่เป็นชนชั้นกลางในเมืองไทย กลุ่มคนที่ฉันเอ่ยถึงไปก่อนหน้านี้ หลังอ่านหนังสือเล่มนี้จบลง พวกเขากังวลและเป็นห่วงลอนและเด็กสาวที่ต้องมีชีวิตคล้ายลอนเป็นอย่างมาก หญิงสาวหนึ่งคนในจำนวนนั้นเข้าร่วมมูลนิธิเพื่อช่วยเหลือเด็กผู้หญิงที่ต้องตกลงไปสู่วังวนของการค้าบริการทางเพศ เช่น มูลนิธิน้ำพุแห่งชีวิต (คริสตจักรน้ำพุแห่งชีวิต — พัทยา) เราคาดหวังว่า เราจะสามารถสร้างแรงจูงใจคล้ายกับศูนย์ฝึกอบรมวิชาชีพสำหรับสตรีแห่งนี้ได้ และสามารถมองเห็นสิ่งที่ใครก็ตามทำลงไปเพื่อช่วยเหลือเด็กหญิงผู้โชคร้าย เช่น เป็นผู้บริจาค เป็นอาสาสมัคร มีมูลนิธิที่ยอดเยี่ยมในประเทศไทยมากมายที่อุทิศตัวเพื่อช่วยเหลือหญิงสาวเหล่านี้ ฉันรู้มาว่าที่มูลนิธิน้ำพุแห่งชีวิต หญิงสาวจะได้เรียนรู้วิชาชีพ เช่น การตัดผม การนวด รวมถึงภาษาอังกฤษหรือเยอรมัน พวกเธอกำลังได้รับการสอนทักษะฝีมือรวมถึงได้เรียนรู้ภาษาไปพร้อมๆ กัน องค์กรแบบนี้มีอยู่ทั่วประเทศไทย แต่คนส่วนใหญ่มักไม่รู้ ดังนั้นสิ่งที่ฉันคาดหวังจริงๆ จึงอยู่ในส่วนท้ายของหนังสือเล่มนี้ ซึ่งมีชื่อและเบอร์โทรศัพท์ขององค์กรเหล่านี้อยู่ โดยหวังว่ามันจะสามารถชักนำใครก็ตามเข้าสู่การช่วยเหลือผู้คนที่กำลังประสบปัญหา

เดเร็ก: แม่ของผมตอบได้ดีมากแล้วครับ (หัวเราะ)

จริงๆ แล้วพวกคุณอยากให้คนกลุ่มไหนได้อ่านหนังสือเล่มนี้มากที่สุด
เดเร็ก: ผมเพิ่งได้รับจดหมายจากคนที่ทำงานที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือเด็กๆ เหล่านี้ คล้ายจะเป็นนักวิทยาศาสตร์เพื่อสังคม หรือนักสังคมสงเคราะห์จากออสเตรเลีย เพราะก่อนหน้านี้ผมส่งจดหมายและหนังสือไปให้เพื่อนๆ ที่ทำงานทางด้านสังคมสงเคราะห์ที่ออสเตรเลีย และคนที่นั่นชอบหนังสือเล่มนี้มาก ผมแน่ใจว่ามันกำลังถูกส่งต่อไปเรื่อยๆ แต่แน่นอนว่าเราไม่มีนักอ่านที่เราอยากให้เขาอ่านหนังสือเล่มนี้เป็นพิเศษหรอก

จูเลีย: สำหรับฉัน ฉันคิดว่าคงเป็นใครก็ตามที่มีหัวใจอยากเรียนรู้เรื่องราวในแบบที่ลอนเจอ ใครก็ตามที่ต้องการอ่านเรื่องราวของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งผู้ต้องดิ้นรนอยู่กับโศกนาฏกรรมอันโหดร้ายในประเทศนี้ นั่นคือนักอ่านที่สามารถเป็นเป้าหมายชั้นเยี่ยมของเรา ฉันปรารถนาให้หนังสือเล่มนี้ไปปรากฏอยู่ในหัวใจของใครสักคน และในฐานะผู้หญิงนั่นคือสิ่งสำคัญสำหรับฉันเป็นอย่างยิ่ง เพราะมีหลายสิ่งหลายอย่างเหลือเกินที่ประเดประดังเข้าใส่ชีวิตลอน และชัดเจนว่ามันเป็นสิ่งที่ทำให้เธอต้องทุกข์ทรมาน — คุณลองพลิกเปิดหนังสือเล่มนี้แล้วสังเกตภาพถ่ายของลอนดูก็ได้ เราจะพบว่าเธอเป็นเด็กสาวที่สวยมากๆ คนหนึ่ง (ชี้ไปที่รูปหลังปกหนังสือรูปหนึ่ง) นี่คือรูปตอนเธออายุ 19 ปี คุณว่าไหม เธอสวยอย่างเหลือเชื่อจริงๆ ความสวยของเธอนั้นไร้ข้อกังขา แต่ถ้าคุณได้พบเธอในตอนนี้ เชื่อเถอะ ไม่ว่าใครก็ต้องเอาเธอมาเปรียบเทียบกับรูปถ่าย แล้วคงพูดว่า 'ฉันจะทำอะไรได้บ้างเพื่อเก็บรักษาเด็กสาวคนนั้นไว้ไม่ให้เปลี่ยนแปลงไปเป็นเหมือนเธอดั่งเช่นตอนนี้' ถ้าคุณได้พบเธอตอนนี้ เชื่อฉันเถอะว่า คุณจะสลดหดหู่มากๆ เพราะเธอไม่ใช่เด็กสาวผู้งดงามอีกต่อไปแล้ว ตั้งแต่ที่เธอโดนวินิจฉัยว่าเป็นโรคจิตเวช และโดนพรากลูกน้อยของตัวเองไป เนื่องจากโดนตัดสินว่าขาดไร้ความสามารถที่จะดูแลลูกได้ ชีวิตที่เธอกำลังดำเนินไปก็คล้ายจะมีแต่ปัญหา

คนที่ผ่านเรื่องราวแบบที่ลอนเจอมา และต้องลงเอยด้วยการมีภาวะทางจิต จะสามารถมีชีวิตต่อไปอย่างมีความสุขได้อย่างไร
เดเร็ก: เฉพาะเจาะจงไปที่ลอน เธอกำลังจะถูกโรงพยาบาลปล่อยตัวเร็วๆ นี้ เธอน่าจะได้รับเอกสารปล่อยตัวภายในเดือนนี้ และอีกหนึ่งหรือสองเดือนหลังจากนั้น เธอก็จะได้ออกจากโรงพยาบาลเสียที

เมื่อเธอได้รับอิสระ เธอจะต้องไปอยู่ในบ้านกึ่งวิถี (Half-way House-สถานที่พักฟื้นทางจิตใจ ลักษณะคล้ายสถานสงเคราะห์) เธอสามารถไปไหนก็ได้ในเวลากลางวัน แต่ต้องกลับบ้านกึ่งวิถีในเวลากลางคืน ที่สำคัญคือ เธอไม่ได้รับอนุญาตให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อีกแล้ว ตอนนี้เธอต้องการเริ่มต้นทำงานเพื่อที่จะนำพาชีวิตนอกโรงพยาบาลของตัวเองไปข้างหน้าอีกครั้ง แน่นอนว่าเธอยังต้องกินยาอย่างต่อเนื่อง เพราะเธอยังมีปัญหาการเชื่อมต่อตัวเองกับสังคม และเราก็หวังว่าเธอจะหาพื้นที่กึ่งกลางระหว่างชีวิตและบ้านกึ่งวิถีพบ เพื่อช่วยให้เธอได้กลับมาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอีกครั้ง

จูเลีย: เดเร็กตอบคำตอบในแง่บวก นั่นคือสิ่งที่เราหวังว่าจะเกิดขึ้นกับลอน แต่อีกแง่หนึ่ง เรากังวลเป็นอย่างยิ่งว่า เธอจะไม่สามารถอยู่ได้เพียงลำพังหากไม่ได้รับการดูแลตลอด 24 ชั่วโมง ใช่ เธอไม่จำเป็นต้องอยู่ในโรงพยาบาลหรอก แต่ก็ควรมีใครสักคนเฝ้าดูแลเธอตลอดเวลา เพื่อทำให้แน่ใจได้ว่าเธอได้รับการดูแลทางการแพทย์ที่ถูกต้อง เพราะถ้าเธอไม่ได้กินยา เธอจะสูญเสียการควบคุมตัวเองอีกครั้ง ดังนั้นหากเธอได้รับการปล่อยตัวจริงภายในเดือนสองเดือนนี้ เธอจะต้องมีใครสักคนอยู่เคียงข้าง และใครคนนั้นต้องเป็นส่วนหนึ่งในช่วงเวลาดีๆ ของเธอ แน่นอน ที่บ้านกึ่งวิถีนั้นพวกเขามีแม่บ้านที่จะคอยดูแลเธอเพื่อทำให้แน่ใจว่าเธอจะกินยาตามแพทย์สั่ง เพราะตอนนี้เธอยังเอาแน่เอานอนไม่ได้ บางครั้งยังโกรธเกรี้ยวหนักหน่วง บางครั้งก็ใช้กำลังกับข้าวของ คุณจะไม่มีทางรู้ได้หรอกว่าเธอกำลังเดินไปสู่ความสุขหรือความทุกข์ ไม่มีใครสามารถรู้ได้ เพราะเธอต้องปรับยาและการรักษาสภาพทางจิตไปตลอดชีวิต ดังนั้นในแง่ของการดำเนินชีวิตปกติของเธอแล้ว ฉันควรกล่าวกับคุณอย่างสัตย์ซื่อว่า ฉันคงไม่มีทางรู้ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ฉันทำได้เพียงแค่หวังว่า เธอจะมีความสุข

หลังจากรับรู้เรื่องราวของลอน ความรู้สึกที่มีต่อประเทศไทยของพวกคุณเปลี่ยนไปไหม
จูเลีย: ไม่เลย ฉันยังรักประเทศไทย รักอากาศ รักอาหาร และรักการใช้ชีวิตของที่นี่ ความรู้สึกของฉันไม่เคยเปลี่ยนไป ฉันบอกลูกชายของฉันก่อนหน้านี้ว่า การได้รับรู้เรื่องราวของลอนคือการได้เรียนรู้อะไรบางอย่างเกี่ยวกับประเทศไทยเพิ่มเติม มันทำให้เราเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมของชาวอีสานเพิ่มขึ้น และจริงๆ แล้วเรื่องราวของลอนก็เป็นแค่ส่วนหนึ่ง เพราะสิ่งที่ฉันได้สัมผัสอีกอย่างนั่นคือความน่ารักของคนอีสานอีกด้วย

เราเคยคุยกัน ทั้งเดเร็กและฉันบอกว่ามันเปิดตาพวกเราให้รู้จักประเทศไทยมากขึ้น แน่นอน เรารู้สึกเศร้ากับด้านมืดบางอย่างของประเทศไทย แต่พวกเราก็ยอมรับว่าทุกประเทศมีจุดอ่อน ฉันไม่คิดว่าเป็นเรื่องบังเอิญที่พวกเราได้มาอยู่ที่นี่ ตอนนี้ พวกเรามีโอกาสที่จะเปลี่ยนชีวิตผู้หญิงเหล่านี้ ฉันหวังอย่างนั้นจริงๆ

คุณบอกเราในคำถามแรกๆ ว่า 'ชนชั้นกลาง' ยังคิดว่าประเทศไทยเป็น 'ประเทศแห่งรอยยิ้ม' และไม่สนใจชีวิตของผู้หญิงที่ติดอยู่กับการค้าประเวณี ขณะที่ฉันยอมรับว่าคำพูดนั้นจริงใน 'ระดับหนึ่ง' แต่จากการที่ฉันรู้จักประเทศไทยมาหลายปี ฉันรู้ว่ามีหลายคนที่เป็นห่วง ฉันมีเพื่อนมากมายที่เป็นห่วงชีวิตของผู้หญิงเหล่านี้อย่างลึกซึ้ง แต่อาจเพราะพวกเขาไม่รู้ว่าตัวเองจะสามารถช่วยแก้ปัญหาอย่างไร ในขณะที่คนอื่นเริ่มลงมือทำไปแล้ว หลายคนอุทิศตนเพื่อช่วยเหลือปัญหานี้อยู่ และในระดับสากลก็มีการตั้งองค์กรไม่แสวงหากำไรเพื่อให้การศึกษา มอบทุนการศึกษา การฝึกอาชีพ และอีกหลายอย่างให้แก่หญิงสาว นี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นจริงในโลกที่สาม โอกาสเหล่านี้จะช่วยให้พวกเธอสามารถพัฒนาทักษะที่จะใช้หาเลี้ยงชีพและยังคงความเคารพและมีศักดิ์ศรีในตัวเองได้

เดเร็ก: มุมมองของผมที่มีเกี่ยวกับประเทศนี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลย สิ่งที่ได้เรียนรู้คือสิ่งที่ทำให้เรากลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมแห่งนี้มากขึ้นต่างหาก
เรื่อง : ฆนาธร ขาวสนิท
ภาพ : อิศเรศน์ ช่อไสว

No Comments Yet

Comments are closed

user's Blog!

49/1 ชั้น 4 อาคารบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

49/1 4th floor, Phra-A-Thit Road, Chanasongkhram,Phanakorn Bangkok 10200

Tel. 02 629 2211 #2256 #2226

Email : mars.magazine@gmail.com

FOLLOW US ON

SUBSCRIBE