มันน่าจะเป็นศุกร์ใดศุกร์หนึ่งของเดือนกันยายน ในตอนที่เรายกหูโทรศัพท์ ต่อสาย ติดต่อขอสัมภาษณ์หญิงสาวคนหนึ่งเพื่อนำบทสนทนาระหว่างเธอกับเรามาตีพิมพ์ใน mars magazine ฉบับที่ท่านกำลังถืออยู่ในมือขณะนี้
“ปกติพี่ไม่ค่อยชอบออกสื่อเท่าไหร่นะ”เสียงแหบห้าว ห้วนกระชับ ทว่ามีความอ่อนน้อมอยู่ในที ตอบกลับมาแบบนั้น เมื่อเธอได้รู้ว่า สิ่งที่เราต้องการ คือการนำคำถาม-คำตอบเกี่ยวกับชีวิตของเธอมาลงตีพิมพ์ในนิตยสารมากถึง 10 หน้า…
“พี่ไม่ใช่เช เกวารา ชีวิตพี่ไม่ได้น่าสนใจเป็นมหากาพย์ขนาดนั้น”
นั่นไม่ใช่การบอกปัดด้วยความรำคาญ ไม่ใช่การปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใย แต่เกิดจากความถ่อมตนของผู้หญิงคนหนึ่งที่ไม่เคยคิดว่าตัวเองมีดีเหนือใคร ยืนยันกับเราตลอดเวลาว่า “พี่คือผู้หญิงธรรมดา” ไม่เคยเหาะเหินตีลังกา มีชีวิตราบเรียบ ค่อยๆ เดินขึ้นบันไดไปอย่างช้าๆ ไร้โชค ไร้วาสนา แค่ยิ้มรับกับโอกาสที่วิ่งเข้ามา และลงมือทำมันอย่างจริงจัง เมื่อพิจารณาแล้วว่า งานเหล่านั้นเป็นสิ่งที่เหมาะที่ควรกับตัวเอง
แต่ถ้าเธอคือคนธรรมดาจริง หญิงสาวคนนี้ก็ย่อมต้องเป็นผู้หญิงธรรมดา ซึ่งเป็นเจ้าของบทเพลงแห่งยุคอย่าง 'ควายเท่านั้น' ในฐานะนักร้องสาวเสียงทรงพลังนาม 'มาม่า บลูส์' จากยุค 90s เคยทำงานบริษัทโฆษณาชั้นแนวหน้าในตำแหน่งก๊อบปี้ไรเตอร์และครีเอทีฟ ก่อนขยับมาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณา ที่สุดท้ายผลงานชิ้นเอกของเธออย่าง 'สำนึกรักบ้านเกิด' ก็กลายมาเป็นตัวอย่างให้ผู้สนใจศึกษาวิชาโฆษณาได้เรียนรู้กันจนถึงปัจจุบัน นี่คือหญิงสาวที่กล้าลุกขึ้นมาทำสารคดีเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของไทย ในยุคสมัยที่ความขัดแย้งทางการเมืองเรื่องสีเสื้อกำลังคุกรุ่น เพื่อออกฉายทางโทรทัศน์ในชื่อ 2475 (ตามชื่อ พ.ศ. ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ประชาธิปไตย) แถมยังเป็นคนที่ปลุกบุคคลซึ่งมีตัวตนจริงอยู่เกือบสุดของชายขอบประวัติศาสตร์อย่าง 'ขุนรองปลัดชู' (ขุนรองปลัดชู วีรชนคนถูกลืม [2011]) หรือ 'บราเดอร์ฮีแลร์' (ฟ.ฮีแลร์ [2015]) ให้ฟื้นตื่นกลับมามีชีวิตผ่านมนต์ขลังของภาพยนตร์
นั่นล่ะ แม้จะย้ำนักย้ำหนาว่าเธอคือผู้หญิงธรรมดา เทียบไม่ติดกับนักปฏิวัติอย่างเช เกวารา แต่ถ้าเธอพอใจจะยืนยันเช่นนั้น เราก็พอใจที่จะบอกกับเธอเช่นกันว่า ตอนนี้ คนที่เราอยากนั่งคุยด้วยยาวๆ ไม่ใช่นักปฏิวัติจากคิวบา แต่เป็นผู้หญิงธรรมดาที่ชื่อ แหม่ม-สุรัสวดี เชื้อชาติ ต่างหากล่ะ
ตอนที่นิตยสารติดต่อขอสัมภาษณ์ ทำไมพี่แหม่มถึงตอบกลับมาว่าไม่ค่อยอยากออกสื่อ ทั้งที่เมื่อก่อนก็เคยเป็นนักร้องที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่านั่นคืองานเบื้องหน้าที่ย่อมมีคนจับจ้องตลอดเวลาอยู่แล้ว
สมมุติถ้ามีคนชวนไปร้องเพลง มีคอนเสิร์ตที่จะเอาเพลงเก่าๆ มาร้อง พี่ก็จะไม่ไป เพราะตอนนี้พี่กลายเป็นคนเบื้องหลังไปแล้ว เมื่อก่อนที่ร้องเพลง เพราะกำลังเป็นวัยรุ่น กำลังสนุกอยู่กับช่วงวัยนั้น มีคนมาชวนให้ไปร้อง เลยตกปากรับคำ แต่พี่ไม่เคยมองว่าพี่เป็นนักร้องมืออาชีพเลยนะ พี่แค่ร้องด้วยความรู้สึก ตอนนั้นทำด้วยความสุข พอทางนิตยสารติดต่อมา พี่เลยรู้สึกว่าการที่จะให้คนมาอ่านชีวิตของเราหลายๆ หน้าได้เนี่ย นั่นแปลว่าชีวิตของเราต้องมีความน่าสนใจมากพอ แต่ความจริงคือพี่ไม่ใช่เช เกวารา ที่จะมีเรื่องราวให้เขียนถึงเป็น 10 หน้าได้ไง ดังนั้นพี่เลยไม่ค่อยอยากออกสื่อเท่าไหร่ เพราะสิ่งที่พี่พูดได้ก็แค่เฉพาะเรื่องงานของพี่เอง ซึ่งจริงๆ แล้วมีคนอีกมากมายเลยนะที่มีคุณค่าพอจะได้ออกสื่อเหล่านี้ เราควรเว้นพื้นที่ตรงนี้ไว้ให้เขา โอเคแหละว่าพี่เคยทำงานเพลง เคยเป็นนักร้องคนหนึ่ง แต่ถามว่ามันเป็นมหากาพย์ที่น่าสนใจขนาดนั้นไหม ก็คงไม่ใช่มั้ง คือพี่จะรู้สึกว่าในสังคมนี้ มันมีคนจำนวนมากเลยที่เชื่อมั่นตัวเองแบบผิดๆ ยกย่องตัวเองให้มีเกียรติเกินความเป็นจริง เช่น บางคนไปเป็นครู ไปเป็นอาจารย์พิเศษ ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีความรู้อะไรเลย สำหรับพี่คำว่าอาจารย์พิเศษ ใครคนนั้นต้องพิเศษจริงๆ แต่คนที่พี่เห็นส่วนใหญ่กลับไม่ใช่ ซึ่งนั่นอาจเพราะสังคมเรามักมองอะไรแบบฉาบฉวย คนที่เชิญคนนู้นคนนี้ไปพูด ไปเป็นอาจารย์ ก็อาจไม่ได้รู้จักใครคนนั้นดีพอ คือด้วยความที่เคยเป็นนักเรียนที่เจอครูดีๆ มาเยอะ พี่จะรู้สึกว่า คำว่าครูต้องมีทัศนคติของการเป็นผู้ให้ ให้ความรู้ ให้ข้อคิด ไม่ใช่เอาชื่อเสียงที่คิดว่าตัวเองมีมาเป็นครู มาหากินกับเด็ก แล้วเด็กก็แห่กันไปเรียน แล้วสิ่งที่เรียนก็คือการเรียนกับวีดิโอ แบบนี้เรียกว่าครูเหรอ ถ้าพี่เป็นนักเรียน พี่ก็อยากให้ครูมานั่งกับพี่ตรงนี้ ต้องอยู่ด้วยกันจนถึงฝั่ง
งั้นเพื่อทำความรู้จักกันให้มากขึ้น อยากให้ช่วยเล่าหน่อยว่า พี่แหม่มเติบโตมาแบบไหน
ยุคที่พี่เติบโตมาคือยุคหลังเบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomers กลุ่มประชากรที่เกิดในช่วงปี 2489-2507 หรือช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2) มาหน่อยหนึ่ง เป็นยุคที่ทุกคนกระเสือกกระสนด้วยตัวเอง พ่อแม่ไม่มีอะไรให้ เป็นยุคของการต่อสู้ ส่วนพี่ก็อยู่ในครอบครัวฐานะเกือบปานกลาง คือค่อนข้างยากจนเกือบถึงปานกลาง (หัวเราะ) มีพ่อเป็นช่างตัดผมในร้านตัดผมเล็กๆ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มีแม่เป็นแม่บ้าน ซึ่งทั้งคู่ก็ไม่ได้เรียนสูงอะไร น่าจะจบกันแค่ชั้น ม.3 พ่อกับแม่คงคิดว่าจะทำอย่างไรดีให้ลูกที่มีอยู่สองคนเนี่ยได้เรียนสูงๆ เขาเลยพยายามสอนลูกให้เก่งภาษา ให้อ่านหนังสือที่ไม่ใช่แค่ตำราเรียน บ้านพี่เลยรับหนังสือพวกสกุลไทย ชัยพฤกษ์ ลลนาเป็นประจำ เราได้อ่านนวนิยายกันเยอะตั้งแต่เด็ก ค่อนข้างจะเป็นหนอนหนังสือทั้งบ้าน แต่ด้วยความที่บ้านฐานะไม่ดี การที่จะส่งเด็กสองคนเข้ามาเรียนกรุงเทพฯ จึงเป็นเรื่องยาก ตอนแรกพ่อส่งพี่สาวเข้ามาก่อน ให้มาอยู่กับป้าที่กรุงเทพฯ ตอนนั้นพ่อมีแรงส่งพี่สาวแค่คนเดียว พี่เกือบไม่ได้มา คือสำหรับคนต่างจังหวัดมันยากนะ อาจฟังดูไม่ยากใช่ไหม บางคนอาจคิดว่าถ้ามาเรียนโรงเรียนรัฐบาลค่าเทอมคงไม่แพงอะไร แต่ความจริงคือค่าครองชีพมันหนักมากเลย ตอนนั้นพี่เกือบไม่ได้มา แต่ด้วยความเป็นเด็ก เราเลยไม่ยอม ดื้อ อยากมาอยู่กรุงเทพฯ แบบพี่สาวบ้าง สุดท้ายพ่อเลยตัดสินใจไปเป็นกรรมกรก่อสร้างที่ตะวันออกกลาง ย้ายที่ทำงานไปเรื่อยๆ จากอิรัก ไปอิหร่าน ไปดูไบ ไปซาอุฯ ย้ายไปเรื่อยๆ เพื่อให้ลูกได้มีโอกาสเข้ามาเรียนกรุงเทพฯ พี่จบ ป.6 ที่ต่างจังหวัด แล้วย้ายขึ้นมาเรียน ป.7 ที่กรุงเทพฯ จนกระทั่งสอบเข้า ม.ศ.1 ที่โรงเรียนสตรีวิทยา แล้วเรียนระดับมหาวิทยาลัยต่อที่ธรรมศาสตร์ นั่นหมายความว่าตั้งแต่ ป.7 จนเรียนจบมหาวิทยาลัย เราต้องใช้เงินจากกำลังของผู้ชายคนหนึ่งที่ไม่มีโอกาสได้อยู่กับครอบครัวจนลูกโตเป็นสาวทั้งหมดเลย พ่อจากบ้านไปตั้งแต่พี่อยู่ ป.6 กลับมาอยู่ถาวรอีกทีก็ตอนที่พี่เรียนจบปริญญาตรีแล้ว โชคดีหน่อยที่ตอนเรียนมหาวิทยาลัย เราเรียนมหาวิทยาลัยรัฐที่ค่าเทอมไม่แพงมากนัก พี่เพิ่งมานั่งคิดตอนหลังว่า ถ้าต้องเรียนมหาวิทยาลัยเอกชน แล้วต้องจ่ายค่าเทอมเป็นแสน พี่คงไม่มีปัญญา คือปัญญาในที่นี้ไม่ใช่ความฉลาดนะ แต่เป็นเรื่องของฐานะล้วนๆ เลย
เป็นปมด้อยไหมที่เด็กคนหนึ่งไม่ได้มีโอกาสอยู่กับพ่อเลย
ไม่นะ พี่ไม่เคยมองว่าเป็นปมด้อย แต่สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่ทำให้เราค่อนข้างมีความเพียรพยายาม แต่เรื่องที่พี่เสียใจคือ การที่ไม่มีโอกาสได้ตอบแทนพระคุณพ่อเลย คือพอเรียนจบธรรมศาสตร์ แต่งงานมีครอบครัว มีลูก พ่อได้เห็นหน้าหลานได้ไม่นานพ่อก็เสีย พี่ไม่มีโอกาสได้ตอบแทนเขา คือเราไม่รู้หรอกว่าการตอบแทนจริงๆ แล้วคืออะไร แต่แค่คิดว่าเราควรได้ใช้ชีวิตอยู่กับเขาบ้าง พอพ่อเสียไปแล้ว ถึงได้รู้สึกว่าจริงๆ แล้วพี่สนิทกับเขามาก อาจไม่ได้สนิทในแง่ที่ไปไหนมาไหนด้วยกันตลอดเวลา แต่สนิทกันในเชิงความคิด เพราะเราคิดอะไรเหมือนเขามาก เช่นเรื่องทัศนคติในการใช้ชีวิตอะไรแบบนี้ แต่มานั่งคิดได้ก็ตอนที่เขาตายไปแล้ว
จากเด็กบ้านนอก พอได้เข้ามาอยู่กรุงเทพฯ ตอนนั้นรู้สึกอย่างไร ตื่นตาตื่นใจไหม
รู้สึกหวาดกลัวมากกว่า จำความรู้สึกได้ว่าพี่กลัวมาก กลัวว่าจะสู้คนอื่นไม่ได้ พี่จะคิดว่าเด็กกรุงเทพฯ เขาต้องมีความรู้มากกว่า หรือทันสมัยกว่าเรา อย่างเรื่องการฟังเพลงนี่ก็เป็นสิ่งที่สามารถพิสูจน์รสนิยมได้เร็วที่สุดเลยนะ ซึ่งตอนพี่อยู่ใต้ เพลงหรือวิทยุมันก็มาไม่ค่อยถึงหรอก จะฟังเพลงทีก็ต้องไปหยอดตู้เพลงฟังเอา สมมุติมีเพลงของ Bee Gees มาใหม่ พี่ก็ต้องไปหยอดเหรียญฟังเพลงตามร้านค้า แน่นอนว่าคนกรุงเทพฯ คงได้ฟังเพลงใหม่ๆ ไวกว่าพี่มาก พี่ก็จะคิดว่า นี่ไง แค่เรื่องรสนิยมในการฟังเพลงก็ไม่เท่ากันแล้ว
ความหวาดกลัวในที่นี้ คือการกลัวว่าคนอื่นจะมองว่าเราเป็นเด็กบ้านนอก?
แน่นอน เรากลัวจะโดนดูถูก คิดง่ายๆ เลยว่าความรู้ไม่เท่าเขา ทำให้ช่วงแรกๆ พี่เป็นคนขี้โมโหง่ายมาก ไม่เอาใครเลย พี่จะคิดว่าอยู่คนเดียวดีกว่า กว่าจะปรับตัวได้จริงๆ ก็นาน ตอนเข้าไปเรียนที่สตรีวิทยา เคยมีเพื่อนมาทักว่า สวัสดีจ้ะ ชื่ออะไรจ๊ะ พอมีเพื่อนมาทักแบบนี้ เราจะตอบเขาไปแค่ว่าชื่อแหม่ม แล้วไม่พูดอะไรกับเขาอีกเลย ซึ่งผ่านไปหลายปีแล้วนะกว่าเพื่อนคนนั้นจะมาถามว่า ตอนนั้นมึงเป็นอะไร ทำไมพูดด้วยถึงไม่พูดด้วย พี่ก็บอกว่ากูกลัวมึงไง แต่สุดท้ายด้วยความเป็นเพื่อน เลยไม่มีกำแพงใดๆ มากั้น ซึ่งเพื่อนคนนั้นยังเป็นเพื่อนที่คบกันอยู่จนถึงตอนนี้
ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามากรุงเทพฯ จนถึงตอนนี้ ทั้งในแง่ตัวตนและในแง่สังคมมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง
สุดท้ายพี่ว่าเราไม่ได้เปลี่ยน นิสัยใจคอลึกๆ ของเราไม่ได้เปลี่ยน เราเปลี่ยนแค่รูปกายภายนอก เปลี่ยนด้านกายภาพ แต่แก่นแท้ของเราไม่เคยเปลี่ยนไปเลย เรื่องอื่นๆ คือสิ่งที่ปรุงแต่งตัวตนของเราขึ้นอีกชั้น เช่น ความอยากรู้เรื่องนั้นเรื่องนี้ ความอยากทำหนัง แต่นิสัยใจคอของพี่มันเป็นอย่างนี้ พี่เป็นคนพูดตรงมาก คิดอะไรก็พูดไปอย่างนั้น เวลาเจอเพื่อนเก่าเขาจะบอกว่าพี่ไม่เปลี่ยนไปเลย ซึ่งพี่ก็มองว่าเพื่อนไม่เปลี่ยนเหมือนกัน
แล้วเรื่องความหวัง ความฝัน หรือสิ่งที่อยากเป็นล่ะ เปลี่ยนไปบ้างไหม
ตอนแรกพี่อยากเป็นนักข่าว ด้วยความที่เป็นเด็กอีกนั่นแหละ แต่จริงๆ แล้วทำไมถึงอยากเป็นนักข่าว พี่ก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน คงเพราะเป็นคนชอบอ่านหนังสือมั้ง เพราะตอนนั้นพี่มองแค่ว่าการได้เป็นนักข่าวจะได้เขียนข่าว ต้องวิเคราะห์ข่าวต่างๆ แล้วพอเข้าไปเรียนที่คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยความไม่รู้ ตอนแรกพี่ก็คิดว่ามันคงเรียนแค่ทำข่าว ไม่รู้ว่ามีสาขาอื่นๆ อีก เช่น โฆษณา ประชาสัมพันธ์ ตอนนั้นพี่ก็เรียนเกี่ยวกับทำข่าว แล้วไปฝึกงานเป็นนักข่าวในสำนักข่าวแห่งหนึ่ง ซึ่งที่ไปสมัครฝึกงาน จริงๆ แล้วก็เพราะว่าเขาจะให้ค่าจ้างวันละ 500 บาท
ตอนที่พี่ฝึกงานเป็นประมาณช่วงปี 2526-2527 ที่มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการ กทม. ซึ่งครั้งนั้นพลตรีจำลอง ศรีเมือง ได้ตำแหน่งไป พี่ได้รับมอบหมายให้ไปทำข่าวการเลือกตั้ง นักข่าวจะต้องไปประจำตามจุดลงคะแนนเสียงต่างๆ ซึ่งพี่ได้ไปที่เขตพระโขนง ยุคนั้นยังไม่มีโทรศัพท์มือถือเลยมั้ง จำได้ว่ามีแต่เพจเจอร์ พี่ต้องแลกเศษเหรียญไปจากบ้าน พกติดตัวเอาไว้ เพื่อใช้หยอดตู้โทรศัพท์สาธารณะ คือเวลาจะทำอะไร พี่จะเป็นคนค่อนข้างเตรียมพร้อม ในกระเป๋าก็จะมีทั้งช็อกโกแลต ขนม นม น้ำ (หัวเราะ) ของกินนี่ขาดไม่ได้ แล้วพี่ก็ไปบอกอาซ้อร้านขายของไว้ว่า เดี๋ยวหนูจะมาโทรศัพท์ที่ร้านซ้อตลอดเลยนะ พอได้ข่าวมา พี่ก็จะวิ่งมาโทรศัพท์ให้ไวที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่เหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกไม่ชอบใจคือ ตอนทำข่าวเลือกตั้ง ทางเขตพระโขนงเขาเปิดประตูให้สำนักข่าวสำนักหนึ่งเข้าไปรับข่าวแค่สำนักเดียวก่อน สำนักอื่นอีกเจ็ดแปดสำนักได้คิวทีหลัง จำได้ว่าสำนักข่าวที่ได้รับข่าวก่อนดูเหมือนจะใหญ่โตมากนะ ใส่เสื้อแบบนักข่าวเท่ๆ มาเลย ตอนนั้นพี่เพิ่งอายุสิบแปด ก็ยืนงงๆ ว่าทำไมเขาได้เข้าก่อน พอทางเขตไม่ให้เข้า พี่ก็โวยวายเลย ทุบประตู ตะโกนว่าทำไมพี่เขาได้เข้า แต่พวกหนูไม่ได้เข้า ตอนนั้นนักข่าวสำนักอื่นๆ คงจะมองว่าพี่บ้ามั้ง อาจคิดว่าจะโวยวายทำไม รออีกหน่อย เดี๋ยวก็ได้ข่าวแล้ว แต่พี่มองว่านั่นคือตัวตนของพี่ พี่รักความยุติธรรม สุดท้ายทางเขตก็เถียงไม่ออก พี่โวยจนทุกสำนักได้เข้าพร้อมกัน พอเข้าไปปุ๊บ พี่นักข่าวจากสำนักที่ได้เข้าก่อน ซึ่งเขาน่าจะเป็นรองหัวหน้าฝ่ายข่าวการเมืองอะไรสักอย่าง เขาก็ยื่นนามบัตรให้ ถามว่าพี่เรียนที่ไหน เรียนจบแล้วให้ไปหาเขา เขาจะรับเข้าทำงาน พี่รับมา แล้วคิดในใจว่ายังไงก็ไม่ไปหรอก ตอนนั้นรู้เลยว่าสัจธรรมของประเทศไทยเนี่ย มันคือความเป็นระบบอุปถัมภ์ที่มีโคตรเยอะ แล้วอาชีพนักข่าวคงต้องมาเจอกับระบบแบบนี้ตลอดเวลา พี่เลยคิดว่าพี่ไม่ทำดีกว่าว่ะ ตอนนั้นเด็กๆ ใจร้อน เลยตัดสินใจว่าไม่เป็นแล้ว คือพี่อาจซวยด้วยแหละที่ดันมาเจอเหตุการณ์แบบนี้พอดี ถ้าไม่เจอ ตอนนี้พี่อาจเป็นนักข่าวที่ดีไปแล้วก็ได้นะ (หัวเราะ)
แล้วตอนนั้นเป็นช่วงเดียวกับที่พี่ได้เรียนวิชาพื้นฐานการโฆษณากับรองศาสตราจารย์ ดร.เสรี วงษ์มณฑา ซึ่งพี่รู้สึกว่ามันสนุกมาก สนุกในแง่ที่ว่าโฆษณามันได้แข่งขันกันเชิงความคิด แล้วเป็นการแข่งขันที่แฟร์ แข่งกันที่สมอง คือพี่เองไม่ได้รู้สึกว่าพี่ฉลาดหรอก แต่คิดว่าอย่างนี้สิวะถึงจะแฟร์ เวลาอาจารย์สอน เขาจะชอบยกตัวอย่างการต่อสู้ฟาดฟันกันระหว่างโค้กกับเป๊ปซี่ สู้กันในระบบที่แฟร์มาก ทำให้พี่สนใจงานโฆษณา หาหนังสือเกี่ยวกับโฆษณามาอ่าน เงินก็ไม่ค่อยมีนะ คือตอนนั้นหนังสือพวกนี้มันแพงมากสำหรับนักเรียนอย่างเรา แต่ก็เก็บเงินซื้ออ่านตลอด อ่านหนักมากจนรู้ทุกซอกทุกมุมของธุรกิจโฆษณา เวลาพี่ชอบอะไรสักอย่างพี่จะทุ่มกับมันหมดตัวเลย สุดท้ายเลยตัดสินใจเลือกเรียนวิชาเอกโฆษณา วิชาโทเป็นภาพยนตร์ พอจบก็เริ่มต้นทำงานเป็นก๊อบปี้ไรเตอร์ในบริษัทเล็กๆ ชื่อ Excalibur ซึ่งเป็นเอเจนซี่อินเฮาส์ให้เบียร์ Kloster
หลายปีในวงการโฆษณา สนุกอย่างที่คิดไว้ไหม
ไม่มีอะไรไม่เป็นเหมือนอย่างที่คิด เพียงแต่มันเพิ่มเติมขึ้นมาจากสิ่งที่เราไม่รู้ มีทั้งเรื่องที่เหมือนอาจารย์สอน และสิ่งใหม่ที่ไม่เหมือน เช่น การคิดคอนเส็ปต์คือแบบนี้เองเหรอ เพราะชีวิตจริงกับการทำพอร์ตฯ มันไม่เหมือนกันเลย ชีวิตจริงเราไม่มีสิทธิ์ตั้งโจทย์ให้ตัวเองทำงานง่าย ความยากอยู่ที่ว่า เราจะทำงานบนพื้นฐานความจริงได้อย่างไร ซึ่งก็สนุกสนานดีนะ
ทั้งที่สนุก แต่สุดท้ายก็เลือกหันหลังให้งานเอเจนซี่โฆษณา
ไม่เชิงหันหลังนะ ตอนอยู่ที่ Excalibur พี่ไม่มีครูเลย ตอนนั้นมีพี่เป็นก๊อบปี้ไรเตอร์คนเดียว เราก็ทำงานไปตามมีตามเกิด ไม่มีใครมาแนะนำอะไร ซึ่งมันไม่เอื้อให้พัฒนาไปมากกว่านี้ได้เลย จนวันหนึ่งเจอประกาศในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ว่าทาง Leo Burnett รับก๊อบปี้ไรเตอร์อยู่ พี่ก็เลยไปสมัคร จนกลายเป็นก๊อบปี้ไรเตอร์อยู่ที่นั่นประมาณเก้าปี แล้วเปลี่ยนงานอีกครั้ง เพราะคิดว่าเราเริ่มโตแล้ว มาเป็น Creative Director ที่ Y&R อยู่อีกสองปี ซึ่งวิธีการของพี่สนุกมากนะ ตอนแรกที่ไปทำ Y&R พี่เดินเข้าไปแล้วเห็นน้องผู้ชายคนหนึ่งเดินอยู่คนเดียว พี่เลยถามพี่อีกคนว่า เด็กคนนั้นทำงานเป็นไงบ้าง เขาก็บอกว่ามันเป็นเด็กเหลือขอ ไม่มีใครเอามันหรอก พอได้ยินแบบนั้น พี่ก็เอามาเลย ชอบคนเหลือขอว่ะ (หัวเราะ) ปรากฏว่าตอนนี้เด็กคนนั้นโคตรจะได้ดีเลยนะ คือไม่ใช่ได้ดีเพราะพี่หรอก แต่เกิดจากโอกาสที่เราให้เขา แล้วพี่โคตรรักมันเลย พี่บอกมันว่า ให้จำไว้นะ พี่จะไม่ทิ้งพวกมึง ต่อให้คิดงานไม่ออก ทำไม่ได้ พี่ก็จะไม่ทิ้ง พี่ทำงานแบบนั้น แฮปปี้มาก ลูกน้องเป็นผู้ชายหมดเลย พี่เป็นผู้หญิงคนเดียว ทำงานไปประมาณสัก 2 ปีก็ลาออกมาเป็นผู้กำกับให้ Matching Studio ที่ลาออกตอนนั้นเพราะประจวบเหมาะกับเป็นช่วงปี 2539-2540 ก่อนเกิดวิกฤติการณ์เศรษฐกิจต้มยำกุ้งที่ทำให้ฟองสบู่แตก แล้ววงการโฆษณาตอนนั้นมันมีการเอาเปรียบกันเยอะ เอาเปรียบในแง่ที่ว่า สมมุติทำงานโฆษณา เราจะรู้ว่าถ้าลูกค้าจ่ายมา 5 ล้านบาท เงินที่เอเจนซี่ควรจะได้จากลูกค้าคือ 17.5% ของเงินทั้งหมด นี่คือทฤษฎีเลยนะ แต่มันจะมีบางเอเจนซี่ที่คิดต่ำกว่านั้น อาจจะคิดแค่ 5% ลูกค้าก็หนีไปหาที่นั่นหมด เริ่มมีการตัดหน้ากัน พี่ก็คิดว่าเอากันขนาดนี้เลยเหรอ พี่เป็นครีเอทีฟ ไม่ใช่ผู้บริหารก็จริง แต่เห็นแบบนี้แล้วไม่ชอบ ประจวบเหมาะกับที่ Matching Studio เสนอมาว่าไปอยู่ด้วยกันไหม ไปเป็นผู้กำกับ พี่ก็ตัดสินใจอยู่นานเป็นปีเลยนะ แต่จังหวะช่วงนั้นมันได้พอดี คือชีวิตเราไม่มีคำว่าทางลัด ไม่ใช้บันไดเลื่อนด้วยซ้ำ เรียบง่ายเป็นขั้นไปเหมือนเดินขึ้นบันได ไม่มีโชค ไม่มีวาสนา พอเจอเหตุการณ์แบบนี้ ได้เห็นความไม่เอาจริงในการดีลกับลูกค้า หรือแม้กระทั่งการตัดหน้ากันในวงการ พี่ก็เลยลาออกมาหาความเป็นอิสระ ที่เอื้อให้เราได้มีงานที่แสดงเอกลักษณ์ของตัวเองออกไปมากขึ้น
มีคำกล่าวที่ว่า ถ้าตัดอาชีพคนทำงานโฆษณาออกไปจากโลกใบนี้ โลกก็ยังหมุนต่อไปได้ การโฆษณาไม่ได้สร้างอะไรให้แก่โลกนอกจากการหลอกลวงเพื่อขายสินค้า พี่แหม่มคิดอย่างไรกับคำกล่าวนี้
นั่นอาจเป็นการมองจากมุมมองที่เห็นว่างานโฆษณามันไม่ได้บริสุทธิ์อีกแล้ว เราอาจแค่มาเจอช่วงที่มันยังไม่เจ๋งพอ คือยุคนี้ต้องทำตามโจทย์ ต้องทำเพื่อเงิน ไม่ใช่การทำงานแบบสร้างสรรค์ แต่อีกแง่หนึ่ง ถ้าเราทำโฆษณาด้วยความสร้างสรรค์ เราจะพบว่ามันอาจมีประโยชน์ก็ได้ การโฆษณาที่สร้างสรรค์และมีคุณภาพอาจสามารถชักจูงคนให้เห็นคุณค่าของต้นไม้ทุกต้นก็ได้นี่ เราอาจสามารถใช้วิชาชีพโฆษณา ทำให้คนอยากกลับไปอยู่บ้านเกิด หรือสามารถสร้าง corporate เชิงอนุรักษ์และสร้างสรรค์สังคมได้ ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้แก่มวลชนได้ ไม่ใช่แค่ทำงานตามโจทย์อย่างเดียว คุณมีโอกาสแน่ๆ ถ้าเดินไปหาโอกาสนั้น จงใช้พลังความสามารถของตัวเองในด้านบวก แต่พี่ตอบไม่ได้หรอกว่าโอกาสจะเกิดขึ้นกับเราตอนไหน ถ้าเราไม่วิ่งไปหามัน แต่ต้องอย่าละเลยตัวตนของตัวเอง อย่ารังเกียจตัวเอง
วิธีการต่อรองกับระบบที่ดีที่สุดคือการเดินเข้าไปประจันหน้ากับมัน?
ใช่ อย่ายอมแพ้กับระบบ สิ่งที่เราต้องรู้คือ เราสามารถใช้อะไรจากระบบตรงนั้นได้บ้าง
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ใช่ไหมว่า ระบบโฆษณา มันคือการบอก 'ความจริงเพียงครึ่งเดียว' หรืออาจน้อยกว่านั้น
เรื่องบอกความจริงแค่ครึ่งเดียว มันเป็นทฤษฎีที่พูดกันมาตั้งแต่ยุคโน้นแล้ว พูดขึ้นมาเพียงเพื่อจะทำให้ตัวเองรู้สึกว่าไม่ได้เป็นคนบาป เพื่อจะปลอบตัวเองว่าเรายังบอกความจริงอยู่นะ แต่จริงๆ มันก็ผิดอยู่ดี บอกว่าไวเทนนิ่งทำให้ผิวขาว แต่ไม่ได้บอกเลยว่าผิวคุณจะเสียเพราะอะไรบ้าง คือจริงๆ แล้วงานโฆษณามันมีจรรยาบรรณรองรับอยู่ตั้งนานแล้ว แต่คนไม่ค่อยนำมาใช้ คิดแต่เรื่องการเอาชนะ คิดเรื่องถ้วยรางวัลกันอย่างเดียว
แต่จะโทษคนที่อยู่ในวงการโฆษณาทั้งหมดก็ไม่ถูกหรอก มันขึ้นอยู่กับหลายองค์ประกอบ เช่น เมื่อก่อนลูกค้าอาจมีจรรยาบรรณมากกว่านี้ หรือไม่ก็เมื่อก่อนลูกค้าไม่มีทางหักขาเอเจนซี่ได้เลย หัวหน้างานสามารถพูดกับลูกค้าได้ว่าถ้าคุณทำแบบนี้แสดงว่าคุณไม่มีจรรยาบรรณ แต่สมัยนี้ไม่มีใครกล้าพูดหรอก สำนึกมันหายไป สมัยก่อนการแข่งขันมันมีสำนึกรวมอยู่ด้วย ไม่ได้คิดแค่เรื่องเงินอย่างเดียว เรามีสิทธิ์ถึงขั้นปฏิเสธลูกค้า แต่วันนี้ ลูกค้ามีแต่จะไม่เลือกเรา พอลูกค้าไม่เลือก เราก็จะกลัวว่าเดี๋ยวไม่ได้เงิน ไอ้ความมีเกียรติตรงนั้นมันเลยหายไป
ทุกวันนี้พี่แหม่มนิยามตัวเองว่าเป็นคนทำงานด้านไหน
เป็นคนทำงานอิสระ แต่ขอให้ได้ทำในสิ่งที่เหมาะสม เหมาะควร งานหลักๆ คือการทำอะไรก็ตามที่ถ่ายทอดออกมาเป็นภาพยนตร์ เช่น ภาพยนตร์โฆษณา ภาพยนตร์ขนาดสั้น ภาพยนตร์ขนาดยาว ภาพยนตร์สารคดี
อย่างงานภาพยนตร์ ต้องมีเรื่องของจรรยาบรรณมาเกี่ยวข้องด้วยหรือเปล่า
ขึ้นอยู่ที่ตัวผู้สร้างแหละว่าเขาจะแคร์คนเสพขนาดไหน อยากให้คนดูมองเห็นอะไร หรืออยากให้เขาเห็นว่าเราเป็นคนแบบไหน อย่างตอนที่พี่ทำภาพยนตร์เรื่องขุนรองปลัดชู วีรชนคนถูกลืม (สร้างจากเรื่องราวของผู้นำคณะกรมการเมืองวิเศษไชยชาญ ที่มีชีวิตในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ซึ่งได้รวบรวมไพร่พลเข้าเป็นกองอาสาสมัคร 400 คน สังกัดกองอาทมาต เพื่อเข้าร่วมทัพของกรุงศรีอยุธยาต่อต้านการรุกรานของกองทัพพม่าในสงครามพระเจ้าอลองพญา) พี่คิดแค่ว่าคนต้องได้รู้เรื่องนี้บ้างว่ะ คนน่าจะได้รู้เรื่องของผู้ชายคนนี้ ว่าเขาทำอะไรให้แก่บ้านเมืองไว้บ้าง อยากให้คนได้รู้ถึงความรู้สึกของคนคนหนึ่งที่ต้องทำภารกิจนี้ ทั้งที่มันอาจทำให้เขาตายได้ คำถามคือเขาทำไปด้วยเหตุผลอะไร ซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องของปลัดชูในพงศาวดารมีอยู่แค่ไม่กี่บรรทัดเอง แต่พี่สามารถโยงเอาประวัติศาสตร์เล่มอื่นๆ มาถักทอได้หมด โยงเอาเล่มนั้นเล่มนี้ในสมัยเดียวกันมาอธิบายการเคลื่อนไหวตรงนั้น การที่มีพม่าเข้ามา มีพระเจ้าอลองพญา มีพระเจ้ามังระเข้ามา เราสามารถไปดูประวัติศาสตร์เล่มอื่นจากพม่าได้ พี่ก็โยงโน่นนี่นั่นเข้ามาสร้างเป็นบทจากข้อมูลที่มีอยู่จริง แล้วก็ใส่ความเป็นไปได้ลงไปในบทภาพยนตร์ เช่น พี่ต้องการให้การเดินทางเป็นแบบนี้ ความรู้สึกร่วมตรงนี้เป็นหน้าที่ของผู้กำกับและผู้เขียนบทแล้วว่า อยากให้คนดูมีความรู้สึกอย่างไร ซึ่งเรื่องประวัติศาสตร์พวกนี้ ขนาดพี่เองที่ถูกจ้างมาทำ ก่อนหน้านั้นพี่ก็ยังไม่รู้เลยนะ แต่เป็นคุณบุญชัย เบญจรงคกุล (อดีตผู้บริหาร Dtac) ชวนให้มาทำเรื่องนี้ คือเขาชวนนานแล้ว ตั้งแต่ที่พี่ทำโฆษณาชุดสำนึกรักบ้านเกิดให้ Dtac แต่ตอนนั้นพี่ปฏิเสธลูกเดียวเลย เพราะพี่คิดว่าพี่ทำหนังไม่เป็น พี่ไม่เคยทำหนังยาวมาก่อน อีกอย่างคือพี่ไม่เคยรู้เรื่องพวกนี้เลย พี่เองก็ทุเรศตัวเองนะที่ไม่เคยใฝ่รู้มาก่อน แต่พอมาทำแล้วก็คิดว่าโชคดีมากเลยที่ได้ทำ ได้บอกเล่าเรื่องเหล่านี้ให้คนอื่นรับรู้ แล้วพี่จะสนใจเรื่องพวกนี้ในเชิงการวิเคราะห์มากกว่า พอรวบรวมข้อมูลจากพงศาวดารต่างๆ ในสมัยนั้นได้ เราจะพบว่ามันยังไม่มีคำว่าชาติเกิดขึ้นเลย แต่ทำไมคนอ่างทอง คนอยุธยา คนวิเศษไชยชาญ ถึงต้องเดินทางรอนแรมไปเรื่อยๆ ผ่านสุพรรณบุรี ชะอำ ประจวบฯ หัวหิน ไปสู้กับพม่าที่เข้ามา เขาทำเพื่ออะไรวะ เอาสั้นๆ แค่นี้ก่อนเลย เราจะไปสู้กับเขาทำไม เพื่ออะไร เงินก็ไม่ได้ น่าคิดนะว่าทำเพื่ออะไร อันดับแรกไม่ได้ทำเพื่อตัวเองแน่ๆ เพราะถ้าตายไปก็เท่ากับสูญเปล่า แต่ที่รู้แน่ๆ เลยคือ เขาต้องเหนื่อย ต้องทิ้งครอบครัวมา ขนเกวียนขนอาวุธไปสู้กับพม่าที่ทัพใหญ่โต โดนหลอกไปสู้หรือเปล่า ก็อาจเป็นไปได้ ซึ่งสิ่งนี้มันต้องผ่านการวิเคราะห์จากหลักฐานที่พอจะหาได้ทั้งหมดเลย
อย่างขุนรองปลัดชู หรือภาพยนตร์เรื่องล่าสุดอย่าง ฟ.ฮีแลร์ ดูเหมือนจะเป็นการเล่าเรื่องของคนชายขอบทางประวัติศาสตร์กระแสหลักแทบทั้งหมด ไม่ใช่บุคคลที่อยู่ในแบบเรียนอย่างสมเด็จพระนเรศวร หรือสมเด็จพระศรีสุริโยไท ทำไมถึงเลือกเล่าเรื่องของคนเหล่านี้ คิดอย่างไรกับบางหน้าของประวัติศาสตร์ที่ถูกหลงลืม
จริงๆ คือพี่เป็นคนที่ถูกเลือกให้ทำมากกว่านะ แต่พอได้มานั่งอ่านข้อมูลเหล่านี้ ไปเจอรายละเอียดเกี่ยวกับ ฟ.ฮีแลร์ (ภราดาฟร็องซัว ตูเวอแน (François Touvenet) หรือที่รู้จักในนาม ฟ.ฮีแลร์ (F. Hilaire) นักบวชคณะภราดาเซนต์คาเบรียล ผู้แต่งหนังสือแบบเรียนภาษาไทยในนาม 'ดรุณศึกษา') ว่า เขาได้ทำอะไรให้ประเทศชาติของเราบ้าง เห็นแง่มุมของฝรั่งคนหนึ่งที่แต่งหนังสือแบบเรียนภาษาไทย โดยสังเคราะห์ขึ้นจากมุมมองที่เขาได้มองเห็นวัฒนธรรมต่างๆ ของเราในตอนนั้น แล้วประวัติศาสตร์เล็กๆ เหล่านี้นี่แหละที่ทำให้เกิดคำถาม เช่น เอ๊ะ ทำไมในหนังสือดรุณศึกษา บราเดอร์ฮีแลร์ถึงพูดเรื่องความไม่ซื่อสัตย์สุจริต ทำไมท่านพยายามเน้นเรื่องเหล่านี้เป็นพิเศษ นั่นแปลว่าท่านเห็นอะไรบางอย่างในสังคมของเราหรือเปล่า ท่านอยากเห็นบ้านเมืองของเราดีขึ้นใช่ไหม ซึ่งคนแบบนี้น่ายกย่องไง ดีกว่าคนที่พูดแต่เรื่องของตัวเอง แต่นี่เขากำลังพูดเพื่อตักเตือนเด็กๆ ของเราในเรื่องความซื่อสัตย์ ในเรื่องสำนึกต่างๆ ผ่านแบบเรียน แล้วเรื่องพวกนี้มักทำให้พี่อิน อย่างตอนจะทำขุนรองปลัดชู พี่จะบอกคุณบุญชัยเสมอว่า ถ้าไม่อิน พี่ทำงานให้ไม่ได้นะ ที่ปฏิเสธคุณบุญชัยมาตลอด ทั้งที่เขาชวนให้ทำมามากกว่า 7 ปีเพราะพี่ไม่อิน แต่พอมาคิดดูตอนนี้ ก็บอกตัวเองว่า ที่มึงไม่อิน ก็เพราะมึงไม่เคยอ่านไง แต่พอได้อ่าน เราก็เริ่มสนใจ พี่ว่าใครก็ต้องสนใจ แล้วพอสนใจ เราจะรู้สึกทะเยอทะยานอยากทำ เหมือนเราไปอ่านเจอเรื่องหนึ่งมา แล้วอยากเล่าให้เพื่อนสนิทสักคนฟัง คิดแค่ว่าคนอื่นก็น่าจะอยากรู้เรื่องนี้ แต่ถ้ายืนพูดเฉยๆ อาจไม่มีใครฟัง แต่พอดีว่าเรามีโอกาสได้ทำหนัง ซึ่งมันมีพลังในการเล่าเรื่องได้เยอะกว่าแค่นั้นเอง
ถ้ายึดตามคำกล่าว 'คนชนะเท่านั้นที่ได้เขียนประวัติศาสตร์' เราจะเรียนรู้เท่าทันประวัติศาสตร์อย่างหลากหลายมิติได้อย่างไร
เขาถึงได้บอกว่า ประวัติศาสตร์ต้องเรียนจากทุกฉบับ ทั้งจากผู้แพ้ ผู้ชนะ ตอนพี่ทำขุนรองปลัดชู พี่ก็หาข้อมูลว่า หากเราพูดแบบนี้พม่าจะเสียใจไหม แต่ในขณะเดียวกันเราก็ไม่ได้มองในเชิงอวยไทยเลยนะ ฝั่งพม่าเราก็เชิญคนพม่ามานั่งคุยในแง่ประวัติศาสตร์จากมุมมองของเขาด้วยเหมือนกัน แต่พอเป็นคนดู คนฟัง บางครั้งเขาก็คงอยากฟังแค่ในสิ่งที่ตัวเองอยากได้ยิน ไม่ได้เปิดรับทุกเรื่อง ทั้งที่เราหามาทุกมุม พยายามจะให้เขาได้ยินทุกเรื่อง แต่เขาดันได้ยินแค่สิ่งที่เขาอยากจะฟังเท่านั้นเอง แต่ไม่ว่าจะเป็นในแง่มุมไหน มันเป็นเรื่องปกติที่ทั้งสองฝั่งจะต้องมีทั้งคนร้ายและดีผสมปนเปกัน มันถึงจะรวมเป็นโลกขึ้นมาได้
คือจะโทษคนเขียนประวัติศาสตร์เสียทั้งหมดไม่ได้ ต้องโทษคนเสพประวัติศาสตร์ที่ชอบมองอะไรอย่างฉาบฉวยด้วย
ใช่ ฉาบฉวย สังเกตสิว่าอะไรที่เป็นกระแส คนไทยจะรวดเร็วฉับไว แต่อะไรที่เป็นด้านลึกซึ้งละเอียดอ่อนเราจะไปไม่ถึง ทั้งที่แต่ก่อนเรามีช่างสิบหมู่นะ มีช่างที่ให้ความสำคัญกับรายละเอียด รู้ลึกรู้จริงในแต่ละด้าน แต่สิ่งเหล่านั้นมันหายไป หรืออีกมุมหนึ่ง เราอาจมองเชิงคอนเส็ปต์กันไม่เป็น เราอาจมองเป็นชิ้นๆ แบบช่างสิบหมู่ แบบการแกะผลไม้ แบบการสลักเงินสลักทองที่วิจิตรบรรจง เราอาจมองมันเป็นชิ้นๆ เป็นเศษเล็กเศษน้อย แต่เราไม่เคยมองภาพรวมว่าทั้งหมดคือศิลปะ เราไม่เคยมองเห็นป่าทั้งผืน แต่เรามองเห็นแค่ต้นไม้เป็นต้นๆ เราไม่เห็นแก่นของมัน ประเทศเราไม่เคยถูกสอนเรื่องแก่น สังเกตตั้งแต่เราเรียนมาตั้งแต่เด็กๆ ในแต่ละวิชาจะชอบไปลงรายละเอียด แต่ไม่เคยสนใจเรื่องแก่น แน่นอนว่าเคยมีการพูดถึงเรื่ององค์รวมของความคิด พูดเรื่องการบูรณาการ แต่สุดท้ายแล้วคนมาอธิบายเรื่องนี้ก็ยังไม่เข้าใจมันเลย เราเลยมีคำศัพท์ยากๆ แบบนี้เกิดขึ้นมากมาย แต่คอนเส็ปต์ใหญ่ไม่มี เราอาจต้องมีแนวความคิดรวบยอดที่ทำให้ได้เห็นโลกทั้งใบก่อน แล้วค่อยๆ ลงไปมองต้นไม้ทีละต้น
เราโฟกัสอะไรใกล้ๆ เกินไป จนมองไม่เห็นภาพกว้าง
ใช่ ภาพกว้างสำคัญมาก แต่สำหรับพี่ พี่คิดว่ามันก็สำคัญทั้งสองอย่างนะ แต่ควรลำดับความสำคัญให้ดีว่าอะไรควรมาก่อนมาหลัง แก่นควรมาก่อนหรือเปล่า เช่น ฉันต้องการทำหนังเรื่องนี้ เพื่อให้คนรู้สึกอย่างไร แก่นตรงนี้ที่เราคิดขึ้นมา มันดึงดูดคนได้พอหรือยัง
แล้วอย่างการทำสารคดีที่บอกเล่าเรื่องราวของการเปลี่ยนแปลงการปกครองในช่วงปี พ.ศ. 2475 (สารคดีเรื่อง 2475 ออกฉายทางช่อง Thai PBS ในปี 2555) ตอนนั้นทำไมถึงกล้าทำ เพราะช่วงที่สารคดีออกฉาย กระแสของความขัดแย้งเรื่องสีเสื้อก็ค่อนข้างเข้มข้นพอสมควร
ถ้ากลัวก็คงไม่ทำ ไม่กลัว แต่ท้าทายมากกว่า เพราะเราเองก็รู้เรื่องนี้น้อยมากเลย แค่ได้ยินเขาเล่ามา ได้ฟังเขาว่ามาแค่นั้น
แต่สุดท้ายตอนนั้น ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เยอะเหมือนกัน
มันแน่นอนอยู่แล้ว พี่รู้อยู่แล้วว่าการทำเรื่อง 2475 เราต้องเจอกับอะไร พี่เดาออกว่าจะต้องโดนวิพากษ์วิจารณ์ แต่เราก็ทำงานในวงการที่ต้องอดทนกับคำวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอดอยู่แล้ว เราเข้าใจหลักสมุทัย (เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดทุกข์) ในอริยสัจ 4 ว่าคืออะไร พี่ก็เลยไม่ทุกข์ ไม่ได้สนใจ ไม่ได้ใส่ใจ แล้วก็ไม่ได้ไปมองมัน หน้าที่ของเราคือการนำเสนอเรื่อง 2475 ซึ่งแน่นอนว่าส่วนหนึ่งจะชอบ และอีกส่วนจะโดนด่ายับ มันเป็นเรื่องธรรมดามาก คนที่ชอบก็บอกว่าไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อน พอเราเผยแพร่ออกมาว่า วิธีคิดของทางฝั่งคณะราษฎรเป็นแบบนี้ ฝั่งเจ้าเป็นแบบนี้ แต่ละฝ่ายตั้งใจอย่างไร ไม่สามารถลงตัวได้แบบไหน สุดท้ายลงเอยแบบใด บางคนก็เสียใจ บางคนรู้สึกว่าตัวเองผิดพลาด อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ (ผู้นำคณะราษฎร) เองก็รู้สึกว่าท่านอ่อนด้อยประสบการณ์ด้วยซ้ำ แต่นั่นคือเรื่องของประวัติศาสตร์ แต่สิ่งที่พี่คิดตลอดตอนทำเรื่อง 2475 คือตอนนั้นอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ อายุแค่ 26 ปี มันทำให้เราคิดว่า เฮ้ย ตอนเราอายุ 26 เราทำอะไรอยู่ คิดอะไรอยู่ มึงจะปฏิวัติประเทศไหม อย่างตอนเราอายุ 26 ตอนนั้นกูเพิ่งออกเทปพอดีว่ะ พี่ก็ตอบไม่ได้ว่าเราจะปฏิวัติประเทศไหม เราก็แค่ตั้งต้นคิดจากประสบการณ์ของคนอายุ 20 ว่าถ้าเป็นเรา เราจะโค่นล้มเจ้าไหมวะ นั่นคือเหลี่ยมมุมต่างๆ ที่เราต้องพลิกหา แต่ตอนที่รับทำ พี่คิดอยู่แล้วว่ากูโดนแน่ๆ
หลังจากได้กำกับสารคดีเรื่อง 2475 และได้รับรู้เรื่องราวเหล่านี้มากขึ้น ได้แง่คิดอะไรจากมันบ้าง
ส่วนตัวพี่คิดว่า ในช่วงปี 2475 ตอนนั้น เราคงไม่เข้าใจคำว่าประชาธิปไตยเท่าไรนัก อาจมีคนที่ไม่ค่อยเข้าใจว่ามันคืออะไร แม้กระทั่งทุกวันนี้ คำว่าประชาธิปไตยของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน เราเรียกร้องสิทธิ แต่หลายคนไม่เข้าใจเรื่องสิทธิของคนอื่น สนใจแต่สิทธิของตัวเอง กูจะจอดรถตรงนี้ ทั้งที่เขาห้ามจอด แล้วก็แถเรื่องสิทธิกันเยอะมาก แต่เราไม่เคยฟังสิทธิของคนอื่น สำหรับพี่นี่ไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่ถ้าเราเผื่อแผ่คำว่าสิทธิไปหาคนอื่นได้ โลกของเราจะงดงามขึ้นเยอะ หรือเรื่องระบบอุปถัมภ์ เมื่อไหร่มันจะหายไป คำว่าอำมาตย์จะหายไปไหม ต่อให้มีการเลือกตั้งอย่างสมบูรณ์แบบ มีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง สิ่งเหล่านี้ก็ไม่มีทางหายไปหรอก เพราะประเทศนี้มันชอบการอุปถัมภ์ ทำไมที่จอดรถถึงมีที่จอดเฉพาะของซุปเปอร์คาร์ล่ะ นี่ไงแค่เรื่องที่จอดรถยังแบ่งระดับชั้นกันเลย แต่มองอีกแง่ ถ้าเรามีซุปเปอร์คาร์ เราก็คงอยากจอดในที่ซุปเปอร์คาร์ใช่ไหม แต่ถ้าเราไม่มี เราก็อาจหมั่นไส้พวกซุปเปอร์คาร์ ประชาธิปไตยในใจมันยังไม่ออกมาเลย เพราะคนไทยยังพึงพอใจกับระบบอุปถัมภ์ เป็นความเคยชินในรากเหง้า แต่ถ้าจะหยิบประชาธิปไตยมาใช้ มันก็ต้องพยายามสลายรากเหง้านี้ให้ได้ ต้องเป็นคนใหม่ ยอมรับสิทธิของคนอื่นมากขึ้น พี่พูดได้เลยนะว่า ทุกครั้งที่พี่เข้าห้องน้ำ พี่จะสังเกตคนดึงกระดาษทิชชู่เช็ดมือ แล้วเจอน้อยมากที่จะมีใครดึงแค่แผ่นเดียว ทั้งที่กระดาษแผ่นเดียวมันก็พอที่จะเช็ดมือได้ทั้งสองข้าง แต่บางคนดึงสี่แผ่น พี่เห็นเยอะมาก ถ้าพี่เห็นใครดึงแผ่นเดียว พี่แทบจะเข้าไปขอบคุณเขาเลยนะ
ถ้ามองในเชิงโครงสร้าง เราจะแก้ปัญหาพวกนี้อย่างไร
มันถึงต้องมีการปฏิรูปไง แต่ผู้นำแต่ละคนก็ไม่สามารถแก้ปัญหาจากด้านบนได้ แล้วด้านล่างก็ไม่ได้อีก คนถึงต้องมาแก้ปัญหาด้วยตัวเองกันหมด เป็นการแก้ปัญหาจากสังคมย่อยๆ ทำไมเราถึงเห็นคนจับโจรเอง ทำไมคนในเฟซบุ๊กถึงรวมตัวกันต่อต้านนั่นนี่ พี่ว่าการรวมตัวของกลุ่มย่อยต่างๆ น่าสนใจมากนะ มันสะท้อนให้เห็นว่า เพราะเราเหลืออดแล้วที่จะรอให้คนที่มีหน้าที่รับผิดชอบลงมาทำ เราดูแลตัวเองดีกว่า แล้วการดูแลตัวเองเป็นเรื่องจำเป็นนะ เพราะถ้าแค่ในรั้วบ้านเรายังไม่สามารถจัดการได้ เราก็ไม่สามารถออกไปข้างนอกได้หรอก อย่างปี 2554 ที่น้ำท่วมใหญ่ ตอนแรกในหมู่บ้านพี่ก็กั้นน้ำกันแค่หน้าบ้านใครหน้าบ้านมัน พี่เลยไปคุยกันในหมู่บ้านว่า เรากั้นทั้งซอยเลยดีกว่า เราก็ลงขันกัน เพราะเจ้าของหมู่บ้านไม่ช่วยดูแล นี่แค่ระดับย่อยนะ คนในหมู่บ้านก็ช่วยกันขนกระสอบมาวาง แล้วหมู่บ้านพี่ก็เป็นหมู่บ้านเดียวในละแวกนั้นที่น้ำไม่ท่วม ตัวอย่างการทำสิ่งเล็กๆ ย่อยๆ แบบนี้ มันแสดงให้เห็นว่ามนุษย์เกิดมาเพื่ออยู่ร่วมกันในสังคม
แล้วสำหรับเรื่องประวัติศาสตร์ส่วนตัวล่ะ สิ่งที่พี่แหม่มหวงแหนที่สุดในประวัติศาสตร์ส่วนตัวของตัวเองคืออะไร
น่าจะเป็นสิ่งที่พ่อเขียนไว้แล้วเขาไม่ได้ทำ คือพ่อพี่เคยเขียนแปลนชีวิตของเขาไว้ตั้งแต่ตอนที่พี่อยู่ ป.6 ปี 2519 …เขาเขียน วาดรูปเป็นลายเส้นว่า เขาอยากทำนาในที่ของเขาที่อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช เขาเขียนเป็นเปอร์เซ็นต์ไว้เลยนะว่า บ้านจะอยู่ประมาณนี้ มีสระน้ำ ปลูกนั่นปลูกนี่ พี่มาเห็นก็ถามพ่อว่ามันคืออะไร นั่นเป็นครั้งแรกที่เราได้รู้สึกเรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่ พอมาอยู่ Matching จึงเข้าใจอย่างจริงจังตอนได้ทำโฆษณาสำนึกรักบ้านเกิดของ Dtac นั่นทำให้เราคิดถึงพ่อ มันคือความทรงจำที่ทั้งงดงามและเศร้าหมองที่สุดในชีวิต คือเราดีใจที่พ่อพูดถึงเรื่องนี้ แต่ก็เศร้าที่พ่อทำไม่สำเร็จ มันเลยติดอยู่ในใจ อยากทำแทนพ่อให้สำเร็จ อยากทำมาก
ปกติได้กลับบ้านที่ต่างจังหวัดบ้างไหม
ครั้งล่าสุดที่กลับไปเชียรใหญ่คือตอนย่าเสีย กลับไปทำบ้านปู่ที่แต่ก่อนเป็นกระต๊อบให้แข็งแรง แล้วยกที่ดินตรงนั้นให้เด็กคนหนึ่งที่พ่อเอามาเลี้ยง ให้เขาทำมาหากิน ส่วนที่ดิน 17 ไร่ก็มีญาติพี่น้องมาทำนา แต่ตัวเองก็รู้ว่านี่เป็นความปรารถนาของพ่อที่เขาอยากมาใช้ชีวิตเกษตรกร คือบ้านพ่ออยู่เชียรใหญ่ แต่บ้านที่เติบโตมาคือร้านตัดผมของพ่อที่อำเภอทุ่งสง อย่างทุ่งสงเพิ่งกลับไปเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง ไปทำบุญ เช่ารถตู้ไปทอดผ้าป่า
ความรู้สึกในการได้ไปเยี่ยมเยือนความทรงจำของตัวเองเป็นอย่างไร
ตอนกลับไปที่ทุ่งสง พี่ก็ไปยืนงงอยู่บนถนนนิกรบำรุง ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งร้านตัดผมของพ่อว่า บ้านเราอยู่ตรงไหนวะ คือตอนอยู่ทุ่งสง พ่อเคยเช่าห้องแถวเล็กๆ เปิดเป็นร้านตัดผมชื่อร้านท่านชาย พี่เลยให้รถตู้พาไปหา แต่ร้านนั้นคงไม่มีแล้วแน่ๆ พี่ยืนงงอยู่บนถนน แต่ตอนนี้ถนนแถวนั้นกลายเป็นถนนสี่เลนตัดใหม่หมดแล้ว พี่ก็งงว่าเราหลงหรือเปล่าวะ ยืนอยู่บนถนนนิกรบำรุง สักพักก็มีผู้ชายคนหนึ่งมองมา แล้วตะโกนเรียก เขาคงรู้จักพี่เพราะพี่เป็นนักร้อง หรือไม่ก็จำได้ว่าเป็นลูกของน้ามงคล เราก็มองเขาแบบงงๆ จำไม่ได้ว่าเป็นใคร พอเขาแนะนำตัว เราเลยถามว่าบ้านเราอยู่ไหน เขาก็ชี้ให้ดู ซึ่งตอนนี้กลายเป็นร้านขายอุปกรณ์ตกปลาเล็กๆ ไปแล้ว ความรู้สึกที่ยืนมองคือ เมื่อก่อนเราไม่เคยคิดเลยนะว่าบ้านที่เราเคยอยู่มันเล็กขนาดนี้ ใจมันสะเทือนเหมือนกัน แต่เราไม่ได้สนใจเรื่องความเปลี่ยนแปลงหรอก แค่คิดถึงตัวเอง คิดว่าเราเกิดที่นี่ โตที่นี่ แม่เลี้ยงเราตรงนี้ เราวิ่งเล่นตรงนั้น แต่เราไม่มีโอกาสได้ตายที่นี่เหรอวะ พอมาเห็นภาพตรงนี้ มันเลยกลายเป็นการมองกลับไปยังความทรงจำที่ทำให้เราเศร้าขึ้นมานิดหน่อย เศร้าปนสุขที่ได้เห็นชีวิตของตัวเอง ได้เห็นเรื่องราวในอดีต เช่น ถ้าเราเดินอ้อมโค้งไปนิดหนึ่ง ก็จะเจอถนนเส้นใหญ่เลย เดินไปอีกนิดก็จะเจอโรงหนัง แต่ตอนนี้สิ่งเหล่านั้นคงไม่อยู่แล้ว และเราก็ไม่มีทางเก็บสิ่งเหล่านี้ไว้ได้เลย
แต่สุดท้ายชีวิตคนคนหนึ่งก็ต้องเดินต่อไปข้างหน้า ในฐานะที่พี่แหม่มทำงานมาหลายด้าน ทั้งนักร้อง นักโฆษณา ผู้กำกับ มีคำแนะนำอะไรสำหรับคนที่กำลังเดินหน้าไปบนถนนชื่อชีวิตเส้นนี้บ้างไหม
สิ่งแรกก็คือการค้นหาตัวเองให้เจอ แต่เรื่องการค้นหาตัวเองให้เจอ ใครๆ ก็พูดได้แหละ แต่จริงๆ มันก็ยากเหมือนกัน ดังนั้นเราต้องซื่อสัตย์กับตัวเอง แล้วการซื่อสัตย์กับตัวเองมันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย มันอาจมีบททดสอบมากมาย ที่วันหนึ่งจะทำให้เรารู้สึกว่านี่ไม่ใช่ตัวเรานี่หว่า เราทำไปเพื่อเงินหรือเปล่าวะ หรือเราจะกล้าหาญมากพอที่จะปัดเงินจำนวนมากลงจากโต๊ะหรือเปล่า หรือเราจะเลือกไม่ทำอะไรตามกระแส ซื่อสัตย์ต่อตัวเองอย่างชัดเจน เป็นตัวเองจริงๆ โดยไม่หวังแค่ชื่อเสียงเงินทอง การเดินทางออกไปค้นหาอะไรบางอย่าง ต่อให้มันเป็นความทุกข์ แต่เชื่อสิว่าทุกคนจะชอบความทุกข์ทรมานแบบนั้น เหมือนในหนังเรื่อง Into the Wild (2007) ที่ตัวละครเอกยอมหักบัตรเครดิตเดินเข้าไปในป่า ซึ่งสุดท้ายอาจจบลงที่ความตาย แต่ถึงอย่างไรก็ก้าวไปเถอะ ก้าวไปให้ได้ก่อน ต่อให้เผชิญทุกข์ก็จะมีความสุขกับทุกข์นั้น แล้วถ้าประสบความสำเร็จ เราก็จะยิ่งสุขเข้าไปใหญ่
ทั้งหมดนี่คือการจัดการระหว่างความเป็นจริงกับสิ่งที่เราฝันว่า สิ่งที่ฝันกับสิ่งที่เราทำอยู่มันประกอบร่างเข้าด้วยกันได้ไหม สมมุติพี่จะเขียนเรื่องทวีปเอเชียผ่านสิ่งที่ตัวเองเห็น ก็ต้องวางแผนว่า จะเดินทางผ่านยังไงด้วยเงินหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาสองปีเต็ม จะหารายได้จากเส้นทางนี้ได้ยังไง เช่น อาจถ่ายรูปส่งมาขายระหว่างทางด้วย หรือจะทำวีดิโอคลิปสั้นๆ นำเสนอสิ่งแปลกใหม่ เป็นพิธีกรเอง คุยกับชาวบ้านเอง เพื่อจะได้เดินทางไปด้วยและมีรายได้ไปด้วย นี่คือการรวมความเป็นจริงกับฝันเข้าด้วยกัน พี่คิดว่ามีฝันก็ดี แต่เราต้องตื่นจากฝันให้ได้ด้วย อยู่กับความจริงให้ได้ด้วย ถ้าบาลานซ์มันดีๆ ชีวิตมันจะงดงาม แต่ไม่ว่าอย่างไรเราต้องกล้าที่จะแลก เพราะถ้าคุณไม่กล้าแลก ก็จะไม่ได้อะไรกลับมา
เรื่อง : ฆนาธร ขาวสนิท
ภาพ : อิศเรศน์ ช่อไสว