Frank Herrgott : ‘มุมบวกของเสียงดนตรี สรรสร้างสิ่งดีๆ ให้สังคม’

เรื่อง : อิทธิพล เนียมสวัสดิ์
ภาพ : พานุวัฒน์ เงินพจน์
ไม่บ่อยนักที่ mars จะมีโอกาสพูดคุยกับชาวต่างชาติ ยิ่งไปกว่านั้นบทสนทนาหลักยังเป็นประเด็นเกี่ยวกับประเทศไทยเสียด้วย

Frank Herrgott นักเปียโนและโปรดิวเซอร์ชาวฝรั่งเศส ที่ฝากผลงานในประเทศไทยไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ในบทบาทของนักดนตรี ผู้แต่งทำนอง เรียบเรียงเสียงประสาน และโปรดิวเซอร์ ให้กับศิลปินชื่อดัง อาทิ แสตมป์ อภิวัชร์, บุรินทร์ บุญวิสุทธิ์, บอย โกสิยพงษ์, Room39, ชิน ชินวุฒ, เบน ชลาทิศ, โก้ มิสเตอร์แซกแมน และเจนนิเฟอร์ คิ้ม รวมไปถึงบทบาทด้านการทำเพลงโฆษณา และสร้างสรรค์เพลงให้เวทีคอนเสิร์ต พร้อมด้วยผลงานดนตรีสะท้อนคาแรคเตอร์ของตนเอง ภายใต้ชื่อ ‘Frank Herrgott &Friends’ ร่วมกับนักร้องนักแต่งเพลงชื่อดังมาร่วมกันแชร์ความรู้สึกออกมาในรูปแบบงานดนตรี นำเสนอแนวคิด ‘ผสานดนตรีคลาสสิกกับดนตรีป๊อบร็อกของไทย’ ผ่านเนื้อหาแนวให้กำลังใจผู้ฟัง

แม้ไม่ใช่เลือดเนื้อเชื้อไขของไทยแท้ๆ แต่ก็กล้าพูดได้เต็มปากว่า หัวใจของหนุ่มตาน้ำข้าวรายนี้ เต็มเปี่ยมไปด้วยความเป็นไทย และพร้อมที่จะสร้างสรรค์สิ่งดีๆ เพื่อสังคม ในดินแดนที่ ‘น่าอยู่ที่สุด’ สำหรับเขาในวันนี้

จุดเริ่มต้นบนเส้นทางดนตรี
ผมเกิดในครอบครัวที่รักในเสียงดนตรี ทุกๆ คนชอบฟังเพลง ชอบเรื่องของดนตรี และด้วยแต่ละคนมีความชอบแตกต่างกันไป ผมเลยโชคดีได้ฟังดนตรีหลายแบบ (หัวเราะ) จนเริ่มเรียนดนตรีครั้งแรกตอนอายุ 9 ปี และจริงจังมากขึ้นตอนอายุ 12 ปี จากนั้นก็เลือกเรียนดนตรีเป็นหลัก จนจบด้านดนตรีแจ๊สและคลาสสิกจากฝรั่งเศส ก็เดินทางไปศึกษาต่อที่ Berklee College of Music เมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา เรียนจบก็เดินทางกลับปารีส มาทำงานด้านดนตรีให้กับค่ายเพลง อีก 13 ปี จนมาประมาณช่วงปี 2003 มาประเทศไทยครั้งแรก ตั้งแต่วันนั้นก็มาเที่ยวทุกๆ ปีเลย จนมาปี 2006 ผมมีโอกาสได้ร่วมงานกับศิลปินไทย ก็เริ่มทำงานในวงการดนตรีในประเทศไทยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา


ส่วนตัวชอบดนตรีแนวไหน
ผมคิดว่าดนตรีเป็นภาษาที่สื่อสารความคิดความรู้สึกของศิลปิน ถ้าศิลปินอยากมีรสนิยมที่ดีต้องสามารถฟังได้ทั้งหมด แต่แน่นอนว่าต้องมีบางแนวที่ชอบเป็นพิเศษ ก็อย่างเช่น แจ๊ส ป๊อบ ชอบเมโลดี้เพราะๆ กรูฟดีๆ ซึ่งส่วนใหญ่หาฟังได้ในแนวฟังก์ โซล ป๊อบ และแจ๊ส อย่างไรก็ตาม หลายคนมักคิดว่าผมเป็นนักเปียโนแจ๊ส แต่จริงๆ แล้วผมทำงานกับนักร้องป๊อบค่อนข้างเยอะนะ ทั้งโปรดักชั่นด้านอิเล็กทรอนิกส์ และอื่นๆ อีกเยอะแยะมากมายเลย

ก่อนที่จะมาเป็นโปรดิวเซอร์ ทำอะไรมาบ้างแบ่งปันประสบการณ์ให้ฟังหน่อย
ที่ฝรั่งเศสผมแบ็คอัพให้ศิลปินเยอะอยู่เหมือนกันนะ ทำงานร่วมกับค่ายใหญ่ๆ อย่าง Sony, BMG มีแต่งเพลงให้กับศิลปินหลายท่าน ส่วนใหญ่สิ่งที่ผมชอบทำมีอยู่ 4 อย่าง คือ ชอบเล่น ชอบแต่งเพลง อันนี้ก็แต่งไว้เยอะ ชอบอะเรนจ์ ซึ่งที่ประเทศไทยก็ทำเยอะ อยากทำให้เพลงดูใหม่ๆ ก็เอาเพลงมาให้ผมอะเรนจ์ให้อะไรแบบนี้ และสุดท้ายคือ ชอบสอนดนตรี ตอนนี้ก็สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยรังสิต กิจกรรมส่วนใหญ่ของผมก็วนเวียนอยู่กับ 4 ข้อดังกล่าว

ที่ว่ามาเมืองไทยครั้งนั้นแล้วก็มาอีกในทุกๆ ปี ประทับใจอะไรในเมืองไทย
ก็ไม่ต่างจากที่ชาวต่างชาติส่วนใหญ่ประทับใจครับ ไม่ว่าจะเป็น อาหาร ผู้คน ผู้หญิง (หัวเราะ) อากาศ ทะเล ตลาด ก็ประมาณนี้ ก็เยอะเนอะ (หัวเราะ) หลังจากนั้นพอผมกลับฝรั่งเศสก็ตั้งวงดนตรีแจ๊สของตัวเองใช้ชื่อว่า ‘Siam’ ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากการเดินทางมาเที่ยวเมืองไทยหลายต่อหลายครั้ง เลยคิดว่าต้องหัดเรียนภาษาไทย ก็เลยมีเพื่อนมากขึ้น เข้าใจวัฒนธรรมไทยมากขึ้น เพราะเวลาเรียนเขาจะไม่ได้สอนแค่ภาษา แต่จะได้ใกล้ชิดกับคนไทยด้วย มีโอกาสได้พูดคุยทำความรู้จักกัน และได้มีโอกาสอ่านหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย ก็คิดว่าสิ่งที่ชอบมากที่สุดเกี่ยวกับประเทศไทยคือ ประเทศไทยเป็นสังคมที่แข็งแรง มีวัฒนธรรม ทุกคนเข้าใจกัน มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ดี รักกันอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข ช่วยเหลือกันตลอด นี่คือสิ่งที่ประทับใจมาก

มองว่าวงการดนตรีของไทยกับที่ฝรั่งเศสแตกต่างกันอย่างไร
เพลงของไทยมีลักษณะเฉพาะของตัวเองที่แตกต่าง ผมก็ได้เล่นกับนักดนตรีไทยมาก็เยอะ ถ้าให้พูดถึงมาตรฐานก็อยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนเรื่องของดนตรี ตอนนี้ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนไป มีศิลปินมากขึ้น มีคนมีความรู้มากขึ้น หลายๆ ครั้งผมก็ชอบที่จะเล่นกับคนไทยมากกว่าชาวต่างชาติ ด้วยหลายๆ อย่างที่ผมสัมผัสได้ คนไทยจะทำอะไรเรียบร้อย ไม่เรื่องมาก ไม่สร้างปัญหาให้วุ่นวายเท่าไร ตรงนี้ชอบมากๆ
แต่สิ่งที่ขาดไปของนักดนตรีไทย คือ ความหลากหลาย เพราะส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนที่ดีนัก เลยต้องทำดนตรีที่เน้นขายได้ ไม่ค่อยมีใครส่งเสริมคนที่ทำดนตรีแบบใหม่ๆ จึงไม่แปลกที่จะหาความหลากหลายได้ยากมาก แต่ในอีกมุมหนึ่งก็ถือเป็นเรื่องดีของผม ที่จะได้มีพื้นที่สำหรับสร้างอะไรใหม่ๆ

สิ่งที่คุณกำลังทำจะเปลี่ยนแปลงอะไรในวงการเพลงไทยได้บ้าง
อย่างแรกเลยคือโปรดักชั่น เรื่องนี้เข้าใจนะว่าทำไมเพลงไทยถึงโปรดักชั่นไม่ดี เพราะว่ามีปัญหาเรื่องของเงิน มีปัจจัยเรื่องของค่าใช้จ่ายมาผูกมัดอยู่ เมื่องบน้อยก็ต้องจำกัด เปียโนก็ถูกแทนด้วยเปียโนไฟฟ้า เสียงเครื่องสายเครื่องเป่าที่ถูกแทนที่ด้วยคีย์บอร์ด ทุกอย่างเล่นและอัดด้วยโปรแกรมเสียเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้ไปอัดแบบเรียลด้วยเครื่องสด เพราะมันค่าใช้จ่ายสูง ผมก็พยายามจะทำตรงนี้ให้ออกมาดีที่สุด
อีกเรื่องหนึ่งคือส่วนของนักร้อง ผมอยากให้นักร้องมีพลังมากขึ้น เพราะในประเทศไทยจะมีวัฒนธรรมเรื่องของความขี้เกรงใจ นักร้องก็เลยดูสุภาพเกินไปนิด แถมเมืองไทยยังชอบเพลงช้าหรือว่าเพลงอกหักอีก ยิ่งทำให้นักร้องดูนิ่มไปใหญ่ นี่แหละที่ผมอยากเปลี่ยนนิดหน่อย ให้คนที่อยากฟังดนตรีแบบนี้ยังฟังได้ ผมไม่ได้บอกว่าเราจะไม่มีเพลงอกหัก หรือเราจะไม่มีโปรดักชั่นแบบนี้ ไม่ใช่นะครับ แค่อยากให้มีความหลากหลาย
ผมว่านักดนตรีของไทยมีทุกอย่างของนักดนตรีที่ดีแล้ว แค่ต้องเปลี่ยนนิดหน่อยเท่านั้นเอง เช่น ผมอาจจะให้เพื่อนมาเล่นไวโอลินจริงๆ แทนที่จะใช้คีย์บอร์ดมาเล่นแทน อะไรง่ายๆ แบบนี้ที่ผมอยากจะเปลี่ยนอะไรทีละนิดละหน่อย แต่มันจะดูดีมากๆ

แล้วถ้าให้มองมาที่ผู้ฟังล่ะ ผู้ฟังคนไทยเป็นอย่างไร ในสายตาคุณ
ตอนนี้คนไทยหลายคน เริ่มสนใจที่จะเลือกฟังมากขึ้น มีความพยายามที่จะค้นหาวงใหม่ๆ เพลงใหม่ๆ หลากหลายแนวมาฟังมากขึ้น และเขาเหล่านั้นรู้สึกอยากให้มีอะไรตื่นเต้นในวงการเพลงไทยบ้าง และพร้อมจะสนับสนุนความหลากหลายต่างๆ สิ่งตรงนี้มีเพิ่มขึ้นมากเลย คนเริ่มสนใจกับงานบันเทิงต่างๆ มากขึ้น อย่างงานศิลปะ ละครเวที ก็ได้รับความนิยมมากขึ้นต่อเนื่อง และพยายามหาความรู้และทำความเข้าใจกับสิ่งใหม่ๆ ในโลกให้มากขึ้น ผมว่าตรงนี้น่าตื่นเต้นดี

มองเรื่องของธุรกิจเพลงในเมืองไทยอย่างไร
ผมว่าไม่ค่อยดี แต่ก็อย่างว่าเป็นกันทั่วโลก แย่กันหมด ตอนนี้ยกเว้นประเทศญี่ปุ่น ไม่มีใครซื้อ CD แล้ว แต่ถามว่าทำไมเขาถึงยังขาย CD ได้ ก็เพราะว่าเขาห้ามดาวน์โหลด ซึ่งก็แปลกว่าเป็นประเทศที่พัฒนามากแต่ว่าห้ามดาวน์โหลด คราวนี้พอ CD ขายไม่ได้ หนทางหาเงินก็ยากขึ้นไปอีก
และ สิ่งที่ประเทศไทยแย่กว่ามากๆ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น คือเรื่องของลิขสิทธิ์ ยกตัวอย่างเช่น ค่ายเพลงใหญ่ค่ายหนึ่งจะให้ค่าลิขสิทธิ์กับนักแต่งเพลง 7,000 บาท หลังจากนั้นเป็นลิขสิทธิ์เพลงจะเป็นของค่ายไปตลอดกาล อันนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่แย่มากๆ สำหรับนักดนตรี ถ้าจะต้องเจอแบบนี้
แต่ว่าเส้นทางได้เงินจริงๆ ของนักดนตรีตอนนี้ก็คือการแสดงสด การทัวร์นี่แหละที่สร้างรายได้ดีที่สุด อย่างล่าสุดผมคุยกับคุณบอย โกสิยพงษ์ เขาก็บอกว่าถ้าผมอยากจะทำงานในวงการดนตรีของไทยจริงๆ อยากปั้นศิลปินใหม่ให้มีชื่อเสียง ก็ต้องจัดทัวร์คอนเสิร์ต เพราะในประเทศไทยตอนนี้ถ้าอยากให้ผลงานประสบความสำเร็จก็ต้องทัวร์ ตรงนี้สำคัญมาก ต้องรู้จักผู้จัด รู้จักสื่อ ต้องมีคอนเน็คชั่นต่างๆ และที่สำคัญคือต้องทำโชว์ให้ดี เล่นสดให้คนประทับใจ

เห็นว่าตอนนี้รวมตัวกับเพื่อนๆ ทำค่ายเพลงอยู่ ช่วยพูดถึงสักหน่อย
ใช่ครับเราใช้ชื่อว่า ‘Bing Factory Music’ เป็นการรวมตัวของคน 4 คนจากหลากหลายอาชีพ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ประกาศข่าว นักเขียน และนักดนตรี ทุกคนรักในเสียงเพลง และอยากจะทำเพลงดีๆ ที่นำเสนอเนื้อหาเรื่องการให้กำลังใจแก่ผู้คนในสังคม จึงเกิดเป็นโปรเจ็คต์แรก ‘Frank Herrgott & Friends’ ที่รวบรวมเพื่อนในแวดวงดนตรีของผมมาทำเพลงกันแบบเพื่อนช่วยเพื่อนจริงๆ
ผมเคยทำงานกับศิลปินหลายคน ผมบอกเพื่อนให้เขามาช่วยทำเพลงกันหน่อยได้ไหม ก็ได้ ‘แสตมป์ อภิวัชร์’ มาช่วยในซิงเกิ้ลแรกชื่อเพลงตัวอักษร’ ได้ ‘หนึ่ง ETC’ กับ ‘นะ Polycat’ มาช่วยในเพลง ‘Goodbye’ ซึ่งผลตอบรับก็โอเคมาก เพราะการที่เรามีคำว่า Featuring กับศิลปินคนดังพ่วงท้าย มันทำให้เราเข้าถึงคน ถึงสื่อได้ง่ายขึ้น ตอนนี้เราก็มีแผนที่จะออกกับศิลปินที่มีชื่อเสียงอีกท่านหนึ่ง เพื่อให้บริษัทมีชื่อเสียงขึ้นมา
อย่างไรก็ดี ศิลปินดังเขาไปทัวร์กับเราไม่ได้ เพราะเขาก็มีงานของเขาเยอะอยู่แล้ว อย่างแสตมป์เขาก็มีงานทุกวัน ผมก็เลยคิดว่าอาจจะทำเป็นคอนเสิร์ตใหญ่ เพื่อให้ศิลปินดังมาร่วมงานมาร้องเพลงในงานให้ผมได้ เพื่อแก้ปัญหาในจุดนี้ไปก่อน
สเต็บต่อไปที่ผมมองไว้คือ เราจะต้องปั้นศิลปินใหม่ในนาม Bing Factory Music เอง โดยจะโปรโมทเพลงอย่างจริงจัง และเมื่อมีชื่อเสียงระดับหนึ่งก็จะเริ่มทัวร์ทั่วประเทศ วางไว้ว่าในปี 2559 จะมีศิลปินใหม่อย่างน้อย 2-3 คน ตอนนี้ก็กำลังหาอยู่

ที่วางไว้จะเป็นแนวประมาณไหน
อะไรก็ได้ จริงๆ เพลงแรกที่เราอยากออก เรามีศิลปินคนหนึ่งอยู่ในใจแล้ว จะเป็นแนวประมาณป๊อบร็อก แต่จริงๆ ก็ไม่ได้ซีเรียส จะเป็นแนวอะไรก็ได้ ผมสนใจในตัวบุคลิกและความเป็นตัวเองของนักร้องหรือศิลปินมากกว่าแนวเพลง อยากจะออกร็อก ป๊อบ อิเล็กทรอนิกส์ บัลลาด โซล ฟังก์ หรืออะไรก็แล้วแต่ก็ได้ แต่อยากเจอคนที่มีบุคลิกชัดเจนจริงๆ เช่น สิงโต นำโชค หรือ ดา เอ็นโดรฟิน สองคนนี้คือคนที่มีบุคลิกแบบสุดยอดมากๆ สำหรับผม ผมอยากจะเจอคนแบบนี้

โปรดิวเซอร์ระดับโลกอย่าง David Foster พูดว่า ‘มีคนเคยบอกว่าโปรดิวเซอร์ต้องทำศิลปินให้เป็นตัวของศิลปินที่สุด แต่สำหรับ David Foster ไม่ใช่ ถ้าคุณจ้างผม คุณต้องเชื่อผม ต้องเป็นตามแบบที่ผมบอกเท่านั้น’ ในมุมนี้คุณคิดเห็นอย่างไร
เรื่องนี้ผมเคยอ่านมาเช่นกัน เพราะ David Foster ก็เป็นหนึ่งในฮีโร่ของผม คือต้องบอกว่ามีศิลปินหลายคนที่มีความสามารถสูง เก่ง แต่เขาไม่สามารถที่จะมีชื่อเสียงขึ้นมาได้ ทำไมล่ะ? เพราะเขาไม่มีคนที่จะมาช่วยกำกับดูแลไง ผมเข้าใจมานานแล้วว่าเรื่องแบบนี้โปรดิวเซอร์ช่วยได้ อย่าง Céline Dion ถ้าไม่มี David Foster ก็จะไม่มีทางเป็น Céline Dion แบบในวันนี้ได้เลย รวมไปถึงศิลปินชื่อดังอีกหลายๆ คนที่หากไม่มีโปรดิวเซอร์คนเก่งเข้ามาดูแล ก็จะไม่สามารถมาอยู่ในจุดปัจจุบันได้เลย
โปรดิวเซอร์จะเป็นคนแนะนำ สนับสนุน และทำงานร่วมกันตั้งแต่ต้นจนจบ ตั้งแต่การแต่งเพลง ไปจนเพลงเสร็จไปถึงการโปรโมท เชื่อหรือไม่ว่ามีศิลปินที่เก่งๆ เล่นเก่งๆ ร้องเก่งๆ มากมาย แต่ผลงานเพลงของเขาไม่ดีเหมือนที่เค้าแสดงออกมา หลายครั้งผมเห็นคนเก่งมากร้องเพลงคัพเวอร์ได้ดีมากๆ มีรสนิยมการร้อง การเล่นที่ดีมากๆ แต่ผลงานเพลงของเขาเองกลับไม่ได้แสดงออกถึงความสามารถนั้นๆ เลย หลายๆ คนเป็นแบบนี้ โปรดิวเซอร์นี่แหละจะนำความสามารถของศิลปินในจุดนี้มาใช้ โปรดิวเซอร์ที่เก่งๆ จะรู้ว่าศิลปินคนนั้นๆ เหมาะกับแนวไหนแบบไหน เขาจะเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของศิลปินคนนั้นๆ แต่ว่าเวลาเดียวกันโปรดิวเซอร์จะมีหน้าที่แนะนำ เลือกเพลง และสอนเกี่ยวกับทัศนคติต่างๆ
สำหรับผม ศิลปินใน Bing Factory Music ต้องมีความคิดความสามารถ เรามีการปรับจูนพูดคุยกัน ไม่ใช่แค่สวยแต่รูป ผู้หญิงสวยเซ็กซี่ไม่พอสำหรับเรา เราอยากได้คนที่ร้องเพลงแล้วสามารถแสดงออกถึงสิ่งที่เขาต้องการสื่อสารจริงๆ และเราอยากออกเพลงที่มันบวก เพลงที่ทำให้คนฟังแล้วรู้สึกดีขึ้น ตรงนี้แหละที่โปรดิวเซอร์ของเราจะทำความเข้าใจร่วมกับศิลปิน

Bing Factory Music จะสร้างอะไรให้กับเมืองไทย
เราออกมาสองเพลงแล้ว ผมคิดว่าโปรดักชั่นของเพลงเราดีนะ เรากำลังเซตอัพด้านคุณภาพเพลง ผมคิดว่าในอนาคตคนเข้าใจและบอกว่า Bing Factory Music มีมาตรฐานและคุณภาพในด้านโปรดักชั่น
นอกจากนี้ ผมยังอยากให้คนได้เรียนรู้อะไรเกี่ยวกับชีวิตด้วย ผมพยายามเรียนรู้เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ เราสามารถอยู่ด้วยกันได้ด้วยหลากหลายปัจจัย ไม่ใช่แค่เงิน ในเพลงในผลงานของเราก็อยากจะสื่อสารแบบนั้น เช่นในเพลง ‘ตัวอักษร’ จะบอกเล่าเนื้อหาเกี่ยวกับโลกโซเชียล ผู้คนมีเสรีในการแสดงความคิดเห็นวิภาควิจารณ์ผ่านข้อความนับล้านนับแสนต่อวัน ซึ่งบ่อยครั้งพบว่าเป็นการทำลายผลงานดีๆ อย่างไร้เหตุผลทั้งที่ถูกสร้างสรรค์อย่างตั้งใจ หลายคนได้รับผลกระทบโดยตรงจากสิ่งนี้จนรู้สึกเศร้า ทุกข์ แต่ถ้ามองในด้านบวก เก็บเกี่ยวแต่คำแนะนำที่ดี จะพบว่าตัวอักษรเหล่านั้น ไม่ทำให้เราถึงตาย หรืออย่างเพลง ‘Goodbye’ ที่บอกว่า เราทุกคนมีปัญหา แต่ว่าบางครั้งเราต้อง ‘Say Goodbye’ ให้กับปัญหาเหล่านั้น
ถ้าทัศนคติของเรา ผลงานของเรา เพลงของเรา จะทำให้คนรู้สึกดีขึ้น จนอยากจะทำอะไรที่มีประโยชน์กับชีวิตตัวเองหรือกับสังคม ก็จะถือว่าน่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง นี่คือสิ่งที่เราอยากทำ
อีกข้อหนึ่งคือเราจะพยายามสร้างความหลากหลาย คุณจะได้ฟังเพลงที่คุณอาจไม่เคยได้ฟังมาก่อนในวงการเพลงไทย ผมอยากเปิดวงการเพลงไทยให้กว้างขึ้น

ณ จุดนี้วางแผนว่าจะอยู่เมืองไทยตลอดไปหรือไม่
เอิม…ตอบยากเลยครับ (หัวเราะ) นี่คือสิ่งที่พูดยากมากเพราะเราไม่รู้ว่าอีก 10 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร อีก 2 ปี หรือ 5 ปี ต่อไป เราจะทำงานอยู่จุดใด โลกตอนนี้เปลี่ยนแปลงเร็วมาก เร็วกว่าในอดีตมากๆ แต่ว่าแน่นอนตอนนี้ที่นี่คือประเทสที่ผมอยากอยู่มากที่สุด ส่วนในอนาคตก็ไม่รู้ว่าจะมีปัญหาอะไร แต่เป็นไปได้จริงก็ขอร้องอย่าให้มีอะไรเปลี่ยนแปลงเยอะกว่านี้เลย ตอนนี้ก็มีความสุขดีแล้ว (หัวเราะ)

มีอะไรจะแนะนำเด็กๆ รุ่นใหม่ที่สนใจเกี่ยวกับดนตรีบ้าง
เป็นคำถามที่น่าสนใจมากๆ เลย เป็นสิ่งที่ยากเย็นเหมือนกัน ผมสอนที่มหาวิทยาลัย ผมได้เห็นทั้งข้อดีและข้อเสียของลูกศิษย์ เพราะว่าตอนนี้ผมกำลังเขียนหนังสืออยู่สองเล่ม เล่มแรกอยากจะสอนเกี่ยวกับเกี่ยวกับ ปรัชญาและทัศนคติของศิลปิน ผมจะเขียนเป็นภาษาไทย ส่วนอีกเล่มหนึ่งจะเป็นเกี่ยวกับ เทคนิคสำหรับคนที่อยาก Improvise จะเน้นเรื่องเทคนิคเยอะหน่อย แต่ที่ผมอยากจะสอนในหนังสือนั้นจะมีแก่นอยู่เรื่องหนึ่งคือ ถ้าเราอยากจะช่วยสังคมให้ดีขึ้นจริงๆ ต้องทำทุกอย่างเพื่อให้สังคมดีขึ้นไม่ใช่แค่เพื่อตัวเอง
เวลาผมเห็นลูกศิษย์ที่ผมสอน บางคนอยากเล่นดนตรีแต่กลับสนใจเรื่องนี้อย่างผิวเผิน ผมจะพยายามสอนว่าหากสนใจอะไรก็ควรใส่ใจเรื่องนั้นๆ ให้อย่างเต็มที่ ต้องฟัง ต้องศึกษา ต้องขยันจริงๆ ถ้าอยากจะสื่อสารอะไรที่ถ่องแท้ จากนั้นก็เป็นเรื่องของทัศนคติ จริงอยู่ว่าดนตรีมีข้อดีหลายแบบ อาจเป็นเรื่องที่เราอวดได้ ช่วยจีบผู้หญิงได้ นี่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้น ใช่ครับมันเป็นสิ่งดี เพราะมันทำให้คนนิยมชมชอบคุณได้ แต่ว่าจริงๆ แล้วมันมีอีกหลายสิ่งที่สำคัญกับชีวิตมากกว่า อย่างเวลาผมเล่นเปียโนผมจะนึกถึงผู้ฟังเป็นสิ่งสำคัญ และที่เหนือกว่านั้น คุณต้องคิดว่าสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่นั้น มันจะช่วยอะไรให้สังคมหรือประเทศไทยดีขึ้น ถ้าทุกๆ คนพยายามรักษาไอเดียและทัศนคติแบบนี้ตลอดเวลา เชื่อได้เลยว่าต้องมีคนมาสนใจ และร่วมยินดีกับการที่จะมีคนคิดถึงเรื่องแบบนี้ด้วย ผมกำลังทำสิ่งนี้อยู่ พยายามสร้างทีมที่แข็งแรงที่มีความคิดแนวเดียวกัน ผมอยากได้คนที่มีความสามารถและมีทัศนคติพร้อมที่จะแบ่งปัน พร้อมทั้งสร้างสิ่งดีๆ เพื่อคนอื่นๆ ตอนนี้ทุกคนทราบดีว่าสังคมกำลังแย่ ตอนนี้คนคิดถึงแต่ตัวเองและเรื่องเงิน ฉะนั้นเราควรต้องมีคนที่ไปกระตุ้นจิตสำนึกตรงนั้น สร้างเป็นกระแสขึ้นมา นี่คือสิ่งที่ผมกำลังสอนเด็กๆ สอนลูกศิษย์ของผมอยู่ พยายามปลูกฝังตั้งแต่เยาวชนเพื่อให้เขามีความคิดในมุมบวกมากขึ้นอย่างยั่งยืน ตัวผมเองคิดแบบนี้มานานแล้วแต่แค่ลำพังตัวผมเองคงเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ ดังนั้นเมื่อมีโอกาสผมจึงขอถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ต่อๆ ไป ผมพยายามจะทำทุกๆ อย่างให้เป็นประสบการณ์ที่ดีแก่ทุกๆ คน



user's Blog!

49/1 ชั้น 4 อาคารบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

49/1 4th floor, Phra-A-Thit Road, Chanasongkhram,Phanakorn Bangkok 10200

Tel. 02 629 2211 #2256 #2226

Email : mars.magazine@gmail.com

FOLLOW US ON

SUBSCRIBE