เทพแห่งคีตศิลป์ ‘โอฬาร พรหมใจ’ : ยิ่งใหญ่ แต่ไม่เคย ‘หยุดยั้ง’


จะนิยามความหมายอย่างไรดี
เพราะทุกคำจำกัดความ คล้ายจะดูต่ำต้อยลงทันที เมื่อเอ่ยชื่อผู้ชายคนนี้
“โอ้-โอฬาร พรหมใจ” หรือที่ใครต่อใครถนัดลิ้นเรียกขาน “โอ้ ดิ โอฬารฯ” อันเป็นทั้งชื่อจริงและชื่อวงดนตรีที่ผู้คนบนเส้นทางนี้ต่างค้อมคารวะ

เขาคืออัจฉริยะ เขาคือพญาอินทรีผู้มีกีตาร์เป็นดั่งกรงเล็บ เขาคือเทพในความคิดของปัญญาชน คือก็อดแห่งคีตบรรเลง คือขุนขวานในต้นแบบแสวงหาของแวดวงเมทัล ร็อก คือคิงของสำเนียงกีตาร์แนวนีโอคลาสสิกที่แสนหวาน เขาคือกีตาร์ฮีโร่ของละอ่อนผู้อยากก้าวตามอีกไม่รู้เท่าไรต่อเท่าไหร่ และสุดท้าย…เขาคืออะไรต่อมิอะไรอีกหลายอย่าง สุดแท้แต่ใครจะเอ่ยถึง
แต่สิ่งหนึ่งซึ่งไม่มีใครลืมเลือน เขาเปรียบเสมือนสุ้มเสียงแห่งพลังแรงใจที่ส่งผ่านยุคสมัยจากอดีตจวบจนปัจจุบัน บทเพลงซึ่งเป็นตำนานอย่าง “อย่าหยุดยั้ง” ถูกขับขานจากรุ่นสู่รุ่น ปลุกเร้าพลังฝัน บันดาลพลังชีวิตให้กับผู้คน มิเสื่อมคลายมนต์ขลัง…

“มีหลายคนเหมือนกันนะที่บอกว่าทำไมเล่นแต่เพลง ‘อย่าหยุดยั้ง’ บ่อยเหลือเกิน มีหลายเวอร์ชันมาก” ศิลปินรุ่นลายคราม กล่าวด้วยน้ำเสียงเนิบนาบ
“พี่ก็บอกว่า ยกตัวอย่างแบบนี้ดีกว่า ทำไมหนังแบบแม่นาคพระโขนง เขาทำหลายเวอร์ชัน คือพี่มองว่าบางที วิธีการฝึกฝน วิธีการทำงาน เราเอางานของเราเองมาเรียบเรียงใหม่ มันก็ยิ่งสนุก เราทำงานให้มันสมบูรณ์แบบมากขึ้น เพราะสมัยก่อน เราอาจจะไม่รู้อะไรมากเท่านี้ เครื่องไม้เครื่องมืออาจจะไม่ตอบสนองจินตนาการเราเท่ากับตอนนี้ เราก็สามารถที่จะนำมาทำใหม่ได้ หนังบางเรื่องอย่างอวตาร (Avatar) รอตั้งนานกว่าจะได้ทำ รอเครื่องไม้เครื่องมือ เทคโนโลยี อันนี้เป็นแค่มิติหนึ่งของวิธีคิดวิธีการทำงาน

“มีหนังอยู่เรื่องหนึ่ง พี่จำชื่อไม่ได้ ที่มันล้ำสมัย 50-60 ปี ล้ำสมัยมาก หนังขาวดำ เรื่องอะไรนะ” ศิลปินรุ่นใหญ่เว้นวรรคเล็กน้อย นิ้วชี้ของเขาเคาะลงไปบนตัวกีตาร์อย่างใช้ความคำนึง

“เมโทรโพลิส (Metropolis) หรือเปล่าครับ” ผมว่า
“ใช่ๆ เห็นไหมว่ามันเหลือเชื่อมาก ทำได้อย่างไร บ้า (เน้นเสียง) คนบางคนมันบ้า มันมีจินตนาการ มันไม่ใช่ธรรมดา ดูหนังของชาร์ลี แชปลิน สิ มันเป็นงานอาร์ตทั้งนั้นเลย”

...ตลอดระยะเวลากว่าสองชั่วโมง บทสนทนาไหลเรื่อยไม่เร่งร้อน ผ่อนคลายราวสายลมที่พัดไกวกิ่งไม้ และคล้ายกับสายน้ำที่ฉ่ำพรมผาหิน ความรู้สึกเสมือนหลุดเข้าไปในโลกแห่งจอมยุทธ์ โลกทั้งโลกที่เคยหมุนก็เหมือนจะหยุด พลางทัศนาจอมยุทธ์ผู้ยิ่งใหญ่ร่ายวรยุทธ์เพลงกระบี่ มันดูเรียบง่ายอยู่บ้างในบางทีกับวิถีกระบี่ในบางกระบวนท่า
แต่ใช่หรือไม่ว่า บางครั้งบางที วิถีอันสูงส่งก็คืนสู่สามัญ?…


ณ ร้านรวงขนาดปานกลาง ห่างออกไปจากเขตเมืองของจังหวัดนนทบุรี เบื้องหน้าคือศิลปินนักร้องนักดนตรีผู้เป็นตำนาน พ้นจากชายคาร้านออกไป เป็นยอดไม้ใบไม้ที่แดดบ่ายทอทาบ แลดูวิบวับยามลมพัดไกว ส่งเสียงวู่ไหวคลอไปกับเสียงแผ่วเบาจากการตั้งสายกีตาร์ จนดูประหนึ่งว่าทั้งสองอย่างสอดประสานกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียว

กับคนบางคน ใช้คำว่า “อุทิศตน” ยังดูน้อยเกินไป เมื่อเทียบกับหัวจิตหัวใจที่เขามีให้กับบางสิ่ง มันคือลมหายใจ มันคือทุกสิ่ง และถ้าจะว่ากันตามจริง มันคือชีวิต มันคือจิตวิญญาณ และลมปราณเนื้อหนัง ของเขา…

“ตอนนี้ก็เล่นดนตรี อัดเสียง ไม่ได้ทำอย่างอื่น มีแต่ลมหายใจคือดนตรี แต่อัลบัมตัวเองยังไม่เสร็จเลย 7 ปีแล้ว” พี่โอ้ เกริ่นถึงชีวิตปัจจุบัน พลางเล็งมองจ้องสายกีตาร์
“มันเป็นรูปแบบของเราหรือเปล่าที่จะต้องทิ้งช่วงนานๆ ต่อการทำงานหนึ่งชิ้นหนึ่งชุด” ผมโยนคำถาม ศิลปินแห่งตำนาน ยิ้มเล็กน้อยก่อนตอบ
“คือมันแล้วแต่อารมณ์ มันไม่ใช่งานคอมเมอร์เชียล เราก็ทำไปเรื่อย มีอารมณ์ก็ทำ แต่บริษัทเขาก็ติงๆ อยู่เหมือนกันว่าเมื่อไหร่จะเสร็จสักที หลังจากอัลบัมรวมตัวกับโป่ง (โป่ง หิน เหล็ก ไฟ) 12 ปีหลังจากนั้นมา ก็ยังไม่มีอัลบัมใหม่เลย จริงๆ พี่จะทำงานหนึ่งชุด ทุกปีๆ ก็ทำได้”

เสียงจากสายกีตาร์ไฟฟ้าซึ่งยังไม่ถูกเสียบปลั๊ก จากสายหนึ่งถึงสายที่หก ยินแว่วแผ่วเบาสลับกันไปมา ขณะลูกบิดสำหรับปรับสายปรับเสียง ถูกบิดปรับอย่างละเมียดบรรจง เพื่อหาโทนเสียงในสไตล์เพนทาโทนิก สเกล และดูเรียน โหมด เป็นสำเนียงหลากเสียงในคีตภพ

“มันรู้สึกว่างานของเราต้องมีความชุ่มฉ่ำมากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะพี่เคยทำมาหลายครั้ง คือตั้งใจว่าจะต้องทำงานให้เสร็จภายในวันนั้นวันนี้ ก็พบว่าเรื่องเวลามันรบกวนจิตใจเรามาก บางคนอาจจะบอก มืออาชีพเขาทำแป๊บเดียวก็เสร็จ ใช่ แต่ลองฟังให้ดีสิ มันไม่มีความรู้สึก ถึงจะมีก็เป็นความรู้สึกที่เฟกๆ อย่าหลอกตัวเองเลยว่า เฮ้ย ฟังดูดี…เราต้องเคารพตัวเองเสมอ สำหรับข้อผิดพลาดที่ผ่านมาแล้ว เราก็นำมาแก้ไขปรับปรุงศึกษาว่า นอกจากเรื่องความช่ำชอง เราต้องฝึกฝนอะไรบ้างเพื่อทำให้มันเกิดความสมบูรณ์แบบในระยะเวลาที่กำหนดได้ อันนี้ถ้าทำได้น่ะนะ”

“เคยนั่งฟังงานเก่าๆ ของตัวเอง แล้วเกิดความรู้สึกแบบว่า บ้าเอ๊ย เราทำอะไรลงไปวะนี่ หรือเปล่าพี่” ผมถามหยั่งเชิง
“ก็คงจะไม่เป็นแบบนั้นร้อยเปอร์เซ็นต์ มันก็มีเหมือนกัน โอ้ อยากแก้ไขตรงโน้น อยากแก้ไขตรงนี้ พอเวลาผ่านไปสิบปี เราก็ยังมีข้อผิดพลาดอยู่ ฉะนั้น เวลาเราทำงานชิ้นใหม่ เราก็ต้องปรับเปลี่ยนบางสิ่งบางอย่างที่เราไม่รู้ ต้องเรียนรู้ เข้าไปหามันให้ได้”
“นึกว่าคนแบบพี่โอ้ ดิ โอฬาร ไม่ต้องศึกษาแล้ว เทพแล้ว” ผมพูดแหย่ ศิลปินรุ่นใหญ่หัวเราะร่า และตอบกลับรวดเร็ว
“โอ้ ไม่ใช่ๆ พี่ไม่ใช่เทพ พี่ยังเรียนรู้ตลอดเวลา ยิ่งรู้เข้าไปลึกๆ เรายิ่งรู้สึกว่าไม่จบสักที เรามีหลายอย่างที่ต้องเรียนรู้อีกเยอะ ยิ่งเข้าไปลึก ยิ่งห่าง ความรู้นั้นยิ่งห่างเราไปไกลมากเลย เราถึงอยากจะเข้าไปให้ได้ ยิ่งเข้าไปยิ่งห่าง ความรู้ไม่มีที่สิ้นสุดไง”

“อัลบัมที่บอกว่าทำมา 7 ปี แต่ยังไม่เสร็จ จะอารมณ์ประมาณไหนครับ” ผมย้อนกลับไปถึงประโยคก่อนหน้า
“เป็นงานบรรเลงอย่างเดียว”
“สไตล์แบบคิทาโร (Kitaro)” ผมถาม
“โอ…เปรียบเทียบกับคิทาโรกันเลย จริงๆ งานบรรเลงมันมีเป็นแสนเป็นล้านชิ้น ถ้าเราจะทำ มันก็ต้องเป็นแบบ ดิ โอฬาร สิ” พูดพลางหัวเราะพลาง

คำกล่าวในบรรทัดก่อนหน้า คงมิใช่อหังการแห่งศิลปินที่กล่าวขึ้นลอยๆ เพราะสำหรับผู้ที่รับรู้เรื่องราวของโอ้ ดิ โอฬาร ย่อมตระหนักในการมีเอกลักษณ์และสไตล์ที่แตกต่าง ไม่เหมือนใคร มันคือวิถีแห่งการสร้างสรรค์ตามแนวทางแห่งตน
“ทุกวันนี้ พี่ก็ยังขับเคี่ยวกับตัวเองอยู่ตลอด การขับเคี่ยวก็คือว่า เราเปิดใจอยู่เสมอ พร้อมรับหลายเรื่องซึ่งผ่านเข้ามาในชีวิตที่มันจะส่งผลต่อดนตรีของเรา เราเซนซิทีฟกับทุกๆ เรื่อง เราเห็นคนที่ลำบาก เราก็รู้สึกเศร้าใจ เราเห็นคนที่ประสบความสำเร็จ เราก็ชื่นชม”


“พี่โอ้ได้ฟังงานเพลงยุคใหม่ๆ บ้างไหม”
“ส่วนใหญ่ไม่ได้หา ฟังจากลูก ลูกเปิดก็ได้ยิน แต่ไม่รู้ว่าใครเป็นใครบ้าง เพราะไม่ได้แสวงหาครับ” เสียงจากการปรับสายกีตาร์ยังคงดังเป็นระยะๆ และบางขณะ ตัวกีตาร์ถูกยกขึ้นมาเล็งแล จากปลายสุดด้านหนึ่งไปยังปลายสุดอีกด้าน คล้ายคำนวณความเที่ยงตรงของเส้นสาย ผมปอยสยาย หยิกยาว ดูเท่ราวกับนักปรัชญาเมธี รุงรังแต่ทว่ามีแบบฉบับตามสไตล์ศิลปิน จะว่าไป ผมรู้สึกคล้ายนั่งอยู่เบื้องหน้าของจอมยุทธ์ผู้ยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น “อึ้งเอี๊ยะซือ” หรือ “อั้งชิดกง” ทุกท่านล้วนสูงส่งในชั้นเชิงวรยุทธ์ เพียงแต่วรยุทธ์ของโอ้ ดิ โอฬาร หยั่งรากฝังลึกผนึกเป็นเนื้อเดียวกับดนตรีและเสียงกีตาร์…

“คิดว่ามันอยู่ในช่วงเวลาที่เราต้องสร้างงานของตัวเอง ไม่ใช่ไม่อยากฟังนะ อยากฟัง แต่ไม่มีเวลาไปหาฟัง ดังนั้น ก็สุดแท้แต่ฟ้าจะกรุณาปรานีให้เราได้ยินเพลงดีๆ บ้าง อะไรอย่างนี้” พี่โอ้ ดิ โอฬาร หัวเราะฮาๆ ตบท้ายคำพูด ก่อนผมจะตามด้วยคำถามถัดไป

“พี่พูดเหมือนไม่ได้ยินเพลงดีๆ มานานแล้ว”
ปรัชญาเมธีบนเฟรตกีตาร์ หัวร่ออีกครั้ง ก่อนจะว่า…
“จริงๆ เพลงมันก็ดีทุกเพลงนั่นแหละ เพียงแต่ว่าบางเพลงมันอาจจะไม่ถูกกับรสนิยมเราเท่านั้นเอง เพลงที่มีอยู่บนโลกนี้ มันเป็นเรื่องรสนิยมของคนฟัง ก็เลือกเสพงานตามรสนิยมของเรา คนเราขนาดมาจากพื้นที่เดียวกัน ยังเลือกชอบไม่เหมือนกัน ใครจะชอบเพลงสองคอร์ด ใครจะชอบเพลงในเชิงลึก ใครจะชอบเพลงที่มันประโลมใจ เชิงจิตวิญญาณ หรืออะไรก็ตามแต่ ก็เลือกได้ เพลงเกิดจากคน เขาเรียกว่า เท่าที่ภูมิเรามี ใครมีภูมิเท่าไหร่ ก็แสดงออกเท่านั้น…”

“แต่ละยุคสมัย มันมีอะไรที่สร้างแรงบันดาลใจให้เราได้ตลอด ถึงแม้ปัจจุบัน พี่บอกว่าไม่ค่อยได้ฟัง แต่บางที พอได้ยินเพลงใหม่ที่ลูกเปิด ก็สร้างแรงบันดาลใจให้เราได้ มันไม่ใช่แค่เพลงอย่างเดียว แต่เรื่องราวอื่นๆ ในโลก มันก็สร้างแรงบันดาลใจให้เราทำงานได้ ทุกอย่างมันอยู่ที่มุมมอง ทุกเรื่องราวสร้างแรงบันดาลใจให้เราได้หมด แต่เราต้องไม่ปิดตัวเราเอง เรื่องมด เรื่องปู เรื่องหอย เรื่องกุ้ง เรื่องใบไม้ไหว เรื่องลมพัด เรื่องรถรา เรื่องอะไรก็ตาม มันสร้างแรงบันดาลใจได้หมด เห็นไหม”

“พี่พูดเหมือนพี่บรรลุอะไรสักอย่าง” ผมว่าออกไปแบบซื่อๆ
ศิลปินใหญ่หัวร่อฮาๆ แล้วว่า
“ไม่ใช่หรอก เราแค่พูดในสิ่งที่เรารู้ อย่างเพลงของพี่มันก็ไม่ได้ครอบคลุมจักรวาลไปหมด บางเพลงพูดเรื่องผู้หญิง พี่ก็พูดในแง่มุมที่พี่รู้ เพลงพี่มันไม่ได้ตอบแบบครอบจักรวาล แต่มันจะพูดเป็นเรื่องๆ ไป บางทีเขียนเรื่องมด เรื่องน้ำ บางคนชอบ บางคนไม่ชอบ มีเยอะแยะ แต่คนเรามันจะทำอะไร ก็ต้องพยายาม ต้องศึกษาต้องค้นคว้าในเชิงลึก ถึงค่อยทำ ถ้าเราไม่แตกฉาน เราก็ต้องค้นคว้า เพราะเราต้องพูดแบบมีที่มา มีเหตุมีผล พิสูจน์ได้ว่ามันเกิดจากอะไร ไม่ใช่พูดสะเปะสะปะ ไม่มีประเด็น มันไม่ใช่นะ”

พี่โอ้กล่าวไป พลางละสายตาจากกีตาร์ ยื่นมือเอื้อมคว้าแก้วใบหนึ่งซึ่งวางอยู่ใกล้ๆ แก้วใบนั้นเจือเมรัยรสอันเป็นดั่งสายพระโลหิตที่กระตุ้นมูฟเมนต์พลังสร้างสรรค์ ปลุกเรียกสำนึกภายในที่แผ่วไหวอยู่ก้นบึ้งจิตวิญญาณ ก่อเกิดเป็นสำเนียงอันลึกเร้นซึ่งพระเป็นเจ้าประทานเฉพาะคีตศิลป์ผู้ไพเศษ น้อยคนนักจักได้รับพระพรนี้จากเบื้องบน

“ก็ดื่มบ้าง แต่ไม่ดื่มจัดเหมือนเมื่อก่อน เราดื่มเพราะมันทำให้เลือดลมสูบฉีด ทำให้กระฉับกระเฉง เมื่อก่อนนี้ดื่มจัด แต่หลังๆ มาเราห่วงสุขภาพตัวเอง คิดอยู่เสมอว่าต้องรักษาสุขภาพให้ดี กินอาหารต้องกินดี เราก็ต้องมีความรู้เรื่องโภชนาการเหมือนกัน ทุกสิ่งทุกอย่างมันต้องใส่ใจ”


เราจะมองคนหนึ่งคน ในมุมไหนได้บ้าง ดี? เลว? น่ารักน่าคบหา? หรือน่าทิ้งระยะห่าง แบบห่างๆ? แต่ไม่ว่าจะอย่างไร เชื่อว่ามีผู้คนจำนวนไม่น้อย มองผู้ชายวัยย่างแซยิดผมสีดอกเลาคนนี้ ในตำแหน่งแห่ง “ไอดอล” โดยเฉพาะในแวดวงศิลปินนักดนตรี ปฏิเสธไม่ได้หรอกว่า หลายคนอยาก “เป็น” เช่นเดียวกับ “โอ้ ดิ โอฬาร”

คนเราจะทำอะไร ก็ต้องศึกษา อะไรก็ได้ ถ้าเราจะพูด เราต้องศึกษา เราต้องแตกฉานในสิ่งนั้นๆ บางอย่างเราอาจจะพูดได้ไม่ครอบคลุม แต่อย่างน้อยก็ต้องพูดในเชิงมีทิศทางว่าการกระทำบางสิ่งบางอย่างมันเกิดจากอะไร เราอธิบายได้ บางคนได้แรงบันดาลใจจากงานของเรา เขาอาจจะเอาไปขยายความต่ออีกก็ได้ มันก็เหมือนสารตั้งต้น เราเกิดมาไม่ใช่ว่าไม่ได้ฟังเพลงของใครเลย แล้วเราเป็นของเราเอง ไม่ใช่หรอก มันจะต้องได้ยิน สร้างแรงกระตุ้น แรงบันดาลใจ เกิดขึ้นภายใน แล้วสั่งสมมา ประกอบกับเราเป็นคนช่างคิดก็ผนวกเข้าด้วยกัน ช่างคิดอย่างเดียวไม่พอ เราต้อง perform ได้ด้วย ต้องปฏิบัติได้ด้วย อย่างพวกช่างก็เหมือนกัน ช่างที่เก่งๆ ก็ต้องผ่านการฝึกฝน บางคนบอกว่าทำสมาธิก่อน ถึงจะทำได้ เราก็บอก เอ๊ย การทำงานนั่นแหละคือการทำสมาธิ…

“เรามุ่งมั่นอยู่กับสิ่งที่เราจะนำเสนอ นั่นคือการสร้างสมาธิด้วยตัวเราเอง ถ้าเรามัวแต่ไปหาที่ว่างนั่งสมาธิอย่างนั้น พี่ว่าบางทีมันน่าเบื่อด้วยซ้ำไป วิธีการที่พี่คิดเอาเองในการทำสมาธิ ก็คือ อย่างเช่นเวลาพี่กินปลา พี่ก็มีสมาธิ เพราะพี่รู้ว่า ส่วนไหนที่อร่อย ส่วนไหนที่ให้ประโยชน์ ตรงไหนมีคอลลาเจน ตรงไหนมี HDL (ไขมันส่วนดี) ตรงไหนมีโอเมก้า 3 อะไรอย่างนี้”

“เหมือนจะออกไปในทางธรรมะๆ” ผมแทรกขึ้นมา ภายหลังปล่อยให้ศิลปินใหญ่ร่ายยาวมาระยะ
“จริงๆ คนเรามันอยู่กับธรรมะตลอดเวลา เพียงแต่เราไม่เคยคิดถึงมัน ธรรมะมันอยู่รอบตัวทั้งนั้นแหละ”
“พี่โอ้คิดเรื่องพวกนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่”
“คิดมานาน แล้วก็ทุกวันนี้ยังคิดไม่หยุด ยิ่งคิดก็ยิ่งรู้สึกว่ามันยังไม่จบ ยิ่งคิดมันก็ยิ่งรู้สึกว่ามีเรื่องที่เราต้องเข้าไปหา เข้าไปรู้ เยอะแยะไปหมด เพราะว่าเรายังไม่รู้มันทั้งหมด ถ้าเราหยุดคิด นั่นหมายถึงว่าเราก็ปิดตัวเอง”

“ดูเหมือนปัญญา ความแยบคาย ความรอบรู้ เป็นสิ่งสำคัญมากเลยสำหรับพี่”
ก็เพราะว่าถ้าเราไม่มีความรู้ ไม่ใฝ่หาความรู้ เราคิดว่ามันไม่สนุก เราไม่รู้อะไรเลย เราก็อยู่กับที่ ความรู้บางอย่างมันอาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับดนตรีโดยตรง แต่เราหยิบมันเข้ามาใช้ในงานดนตรีได้ อย่างเช่น เรารู้เรื่องดิน เรื่องโภชนาการ เราก็เอาเรื่องเหล่านี้มาพูดในดนตรี ในบทเพลง สร้างแรงบันดาลใจให้บางสิ่งบางอย่าง เวลาเราปรุงอาหาร เราก็ต้องมีวัตถุดิบที่ดี ปรุงตามขั้นตอนที่มีคนทำไว้เป็นร้อยปี แต่เราสามารถประยุกต์ให้เข้ากับรสนิยมเราเองได้ บางสิ่งบางอย่างมันเกิดจากสิ่งพวกนี้ มันถึงเกิดมีสิ่งใหม่ๆ ไง ดนตรีก็เหมือนกัน…”

“ดนตรีที่นี่ แต่พอเราไปอยู่อีกเมืองหนึ่ง คนอีกเมืองไม่ชอบดนตรีของเรา เขาอาจจะยังไม่พร้อมที่จะเสพสิ่งใหม่ๆ เขาไม่ชอบ แต่เราปรับเอาดนตรีที่เขาชอบ เข้ามาอยู่ในดนตรีของเรา มันก็เกิดเป็นสิ่งใหม่ๆ และจูงใจให้เขารู้สึกว่าเป็นสิ่งใหม่ๆ ด้วย ในลักษณะเดียวกัน คนในท้องถิ่นนั้น เมื่อได้แรงบันดาลใจจากดนตรีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น เมื่อเขาย้ายถิ่นฐานไปที่อื่น เขาเอาดนตรีที่เกิดใหม่นั้น ไปผสมผสานกับดนตรีท้องถิ่นที่ไปอยู่ มันก็เกิดเป็นดนตรีใหม่อีก ก็จะเป็นการเดินทางของดนตรี เดี๋ยวนี้มันมีดนตรีที่เรียกว่า เวิลด์ มิวสิก (world music) เอาจิตวิญญาณของท้องถิ่นมาผสมผสาน คนท้องถิ่นได้ยินได้ฟังก็จะรู้สึกว่า เฮ้ย นี่ดนตรีของฉันนี่หว่า โอ…แหม็ง…ไปอยู่ตรงโน้นได้ ตรงนี้ได้ โอ้ๆๆ เขาชอบใหญ่เลย รู้สึกว่ารัก ผูกผัน รู้สึกหวงแหน ในวัฒนธรรมดนตรี หรือศิลปะของตัวเอง…”

ด้วยเหตุนี้ มันถึงต้องมีวิชาประวัติศาสตร์ศิลป์ ประวัติศาสตร์ของถิ่นที่อยู่ ประวัติศาสตร์ของสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะสิ่งพวกนี้ไม่ใช่เกิดมีในวันสองวัน แต่มันเกิดจากภูมิปัญญาของคน วิธีการคิด หล่อหลอมแล้วหล่อหลอมอีก เกิดเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เท่าที่มนุษย์กลุ่มหนึ่งคิดขึ้นมาสร้างขึ้นมาได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโครงสร้าง สิ่งก่อสร้าง ดนตรี ศิลปะ หรืออะไรต่อมิอะไร สิ่งอำนวยความสะดวก เรื่องเทคโนโลยี เรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้น มันเกิดขึ้นจากมันสมองของมนุษย์แต่ละท้องที่เพื่อตอบสนอง ไม่ใช่แค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ตอบสนองไปทั่วโลก ใครชอบแบบไหนก็รับเอา เสพเอา”

เวลาร่วมชั่วโมงผ่านไป ขณะบทสนทนาผ่านไหลไปเรื่อยๆ แดดบ่ายลงต่ำไปตามกาล บางขณะ อับแสงจากหมู่เมฆที่ปกคลุม และน่าจะเป็นครั้งที่สี่หรือที่ห้า ไม่แน่ใจ ผมเห็นเขา – – ศิลปินรุ่นใหญ่ – – หยิบยกแก้วสัมผัสรื่นรสรมณีย์เฉพาะตน ละเลียด ละเมียด นุ่มลึก และคลี่คลาย…

“ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ทำให้พี่คิดว่า คนเราจึงต้องมีความกล้า กล้าตัดสินใจที่จะทำอย่างที่เราต้องการ แล้วต้องมีแบบฉบับการทำงานของเราเอง เพราะคุณครูไม่ได้สอนแบบฉบับของครูให้เรา เขาแค่บอกบางสิ่งบางอย่างกับเรา แบบฉบับเราต้องมี เห็นไหมว่าเรียนห้องเดียวกัน งานวิชาเดียวกัน ก็ยังทำงานมาได้ไม่เหมือนกัน บางคนนับถือตัวเอง แต่บางคนนับถือวิธีการทำงานคนอื่น ก็พยายามเป็นแบบคนอื่น ยังไม่พ้น ไม่สามารถที่จะเป็นตัวของตัวเองได้ แต่พี่เชื่อว่าสักวันก็ค้นหาตัวเองได้ บางคนทำงานกับคนอื่น สังเกตวิธีการทำงานของคนอื่น เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเอง ให้หนาแน่น แล้วในที่สุดก็อาจจะใช้เวลาหน่อยกว่าจะค้นพบตัวเอง แบบนี้ก็มี บางคนช้า บางคนเร็ว แต่เป้าหมายก็คล้ายกัน คือความสำเร็จในวิชาชีพที่ตัวเองต้องการ

ถ้าเราตั้งใจทำอะไรก็ตามที่มันดีที่สุดเท่าที่สติปัญญาของตัวเองไปถึง แล้วมันเกิดประโยชน์ได้ มันก็เป็นความภูมิใจ ขอให้ภูมิใจตัวเอง การภูมิใจตัวเองเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงชีวิตเราไปตลอด และเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับคนทำงานรุ่นหลังที่จะเดินตามมา คนรุ่นหลังก็ควรจะมองทุกอย่างแบบให้เห็นที่มาที่ไป ไม่ใช่เอาแค่ตรงจุดที่เป็นบทสรุปแล้ว ต้องดูว่ามันเกิดจากอะไรบ้าง มันมีความยากลำบาก มีความขมขื่น หวานอมขมกลืน อะไรบ้าง อย่างภาพเขียนที่สวยงาม ณะคนคนหนึ่งเขียนภาพนั้นๆ อาจจะเขียนขึ้นมาท่ามกลางความขมขื่น พลิ้วไหวทั้งน้ำตา เราจึงควรศึกษาประวัติศาสตร์ของคนทำงานด้วย เพื่อเป็นแรงบันดาลใจ เราจะได้ไม่ย่อท้อ และมีทิศทาง มีกำลังใจในการทำงาน


นับแต่ปี พ.ศ. 2512 ที่ชีวิตหมุนวนอยู่บนถนนสายดนตรี ผ่านพ้นและผ่านพบช่วงเวลาแห่งการพิสูจน์ เคร่งครัดเคี่ยวกรำจนช่ำชองถ่องแท้และคลี่คลายเป็นธรรมชาติ นับช่วงเวลาก็ร่วมห้าสิบปี กระนั้นก็ดี ท่าทีอ่อนโรยระโหยแรงเหมือนต้องการจะพัก หรืออยากจะหยุด กลับเป็นสิ่งที่สัมผัสแทบไม่ได้ในตัวของเทพคีตศิลป์ผมสีดอกเลาผู้นี้

“มีความทุกข์ร้อนในเรื่องอะไรบ้างไหมพี่ ทุกวันนี้”
หนุ่มวัยสามสิบต้นๆ โยนคำถามให้กับคนอายุมากกว่าเป็นเท่าตัว
“ก็มีบ้าง แต่แป๊บเดียวก็ลืม เพราะเรามีสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น คือมีลูกๆ การเจริญเติบโตของลูก หล่อเลี้ยงชีวิตเรา เรามีคนที่เรารัก เรามีความรัก เรามีความปรารถนาดี เราก็มีความสุข มีความทุกข์บ้าง แต่แป๊บเดียวเอง เพราะไม่รู้จะเอามันมาเก็บไว้ทำไม มันมีทางออกทุกอย่าง ไม่ช้าก็เร็ว เราถึงต้องรักษาชีวิตให้ดีที่สุด รักษาสติสัมปชัญญะของเราไว้ให้ดี ถ้าเราไม่มีสติ เราก็ไม่สามารถหาทางออกได้ มีสุขภาพที่แข็งแรงก็สามารถนำพาให้ทุกสิ่งทุกอย่างลุล่วงไปด้วยดี หาทางออกพ้น”

“แล้วเรื่องความคาดหวังล่ะครับ ไม่น่าจะหวังอะไรแล้วนะ ขนาดนี้แล้ว” ผมโยนคำถามในท่วงทำนอง “วรรณอำ..อำพราง” ศิลปินรุ่นลายครามหัวเราะแบบคุ้นเชิงก่อนจะว่า

ถ้าเกิดเราทำดีที่สุด ทำในสิ่งที่ดีที่สุด พี่ว่ามันก็ตอบตัวเราเองได้แล้วว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับสิ่งที่เราทำดีที่สุด ถ้าเกิดเราไปคาดหวัง แล้วมันไม่เป็นไปตามที่เราคาดหวัง ก็จะมีความรู้สึกผิดหวัง แต่พี่ไม่ใช่คนอย่างนั้น พี่ไม่เคยผิดหวังกับสิ่งที่ตัวเองทำ เพราะก่อนที่พี่จะทำอะไร พี่ไตร่ตรองดูแล้วว่าพี่ทำได้หรือไม่ได้ พี่ทำเท่าที่ภูมิตัวเองมี ภูมิเรามีแค่นี้ พรุ่งนี้เราจะรู้มากกว่านี้ อีก 3-4 วัน หรือปีหน้าปีอะไร เราอาจจะรู้อะไรๆ มากไปกว่านี้ แต่ ณ ขณะนี้ เราทำในสิ่งที่ตัวเองรู้ตอนนี้ให้ดีที่สุด กลั่นกรองให้ดีที่สุด

“ติดตามข่าวสารบ้านเมืองบ้างหรือเปล่าครับ”
ผมนึกถึงข่าวเมื่อหลายวันก่อน ดิ โอฬาร ไปขึ้นเวทีเล่นดนตรีขับกล่อมผู้ชุมนุม และหลายวันต่อมา เขาส่งกีตาร์ตัวหนึ่งอันเป็นสมบัติของตัวเอง ไปร่วมประมูลเพื่อหาทุนช่วยเหลือชาวนาในคอนเสิร์ต “โจ-ก้อง” ซึ่งตามข่าวนั้น บอกว่ากีตาร์ตัวดังกล่าวมีคนประมูลไปสี่หมื่นบาท
“จริงๆ ถ้าพี่เป็นคนที่มีเหลือเฟือ หนึ่งล้านพี่ก็ให้ แต่นี่ก็ช่วยเหลือไปตามบุญญาธิการ” พี่โอ้ ดิโอฬาร หัวเราะออกมาอีกรอบ ก่อนจะหันความสนใจไปวาดเรียวนิ้วปรับจูนกระแสพลังปราณให้สายกีตาร์ต่อ

“บุญญาธิการ” ของศิลปินคืออะไร? ใช่การที่เขาขับกล่อมประโลมโลกด้วยพลังสามารถที่มีอยู่ในตนหรือไม่? หรือในยามที่โลกเดือดร้อนด้วยภัยมาร พวกเขาเหล่าศิลปินก็พร้อมจะหนุนส่งให้ภารกิจของผู้คนเดินทางสู่ผลสำเร็จ และถ้าเช่นนั้น โอฬาร พรหมใจ กับอีกหลากหลายชีวิตในแวดวงศิลปิน ก็ได้ทำไปแล้วทั้งสองอย่าง ในการประท้วงที่ชื่นมื่นรื่นเริงของมวลมหาประชาชน ทั้งผู้คนนักประท้วงและศิลปินเพื่อสังคม เป็นปรากฏการณ์พิเศษ ดั่งเทศกาลวู้ดสต็อก ปราบมารกินเมือง…

บางคนก็พูดนะว่า ที่พี่ไปขึ้นเวที เป็นเรื่องการเมือง พี่บอกไม่ใช่หรอก พี่อยากให้กำลังใจคนที่อยู่ตรงไหนก็ได้ เราเห็นว่าดนตรีสามารถขับกล่อมพวกเขาได้บ้าง และสำคัญที่สุด เราก็มองเห็นว่าบางสิ่งบางอย่าง มันมีทิศทางที่บูดๆ เบี้ยวๆ เราก็ไม่สนับสนุนอยู่แล้ว พี่ก็หวังว่าหลายๆ ฝ่ายที่ไม่รักชาติ ไม่รักสถาบัน จาบจ้วง ไม่รู้สำนึกบุญคุณแผ่นดิน พี่ว่าสักวันหนึ่ง คุณไม่ต้องไปทำอะไรเขาหรอก เพียงแต่ภาวนาให้ทุกคนมีสติ กลับมาคิด มีจิตสำนึกขึ้นมาบ้าง ก็ภาวนาว่าให้เขามีดวงตาเห็นธรรม บางคนบอกพี่โอ้พูดอย่างนี้ พี่โอ้ดวงตาไม่เห็นธรรม พี่ก็ไม่ได้กังวลอะไร เพราะบางคนอยู่นิ่งๆ โดนด่าก็ยังมี แม้แต่องค์พระปฏิมายังราคิน ปูนปั้นอิมเมจของสิ่งที่เรานับถือ ก็ยังโดน แล้วนับประสาอะไรกับปุถุชนอย่างเราๆ”

…ดวงตะวันด้านฟ้าตะวันตกเริ่มคล้อยลอยต่ำ ลำแสงสุดท้ายของวันกำลังใกล้เข้ามา กับเรื่องวันเวลา ใครเล่าจะสามารถฉุดดึงให้ตรึงอยู่กับที่ ดุจเดียวกับวิถีของแต่ละคนที่ต้องดั้นด้นผจญไป จนกว่าแสงสุดท้ายของชีวิตจะลาลับ
โอฬาร พรหมใจ กระชับกีตาร์มั่นไว้ในมือ ก่อนค่อยๆ ลับหายจากสายตา เขามีภารกิจอีกหลายอย่างที่ต้องทำก่อนค่ำวันนี้ ชีวิตไยมิใช่เป็นเฉกเช่นนี้
ตราบเท่าที่ยังมีชีวิต มีหลายสิ่งให้คิด มีหลายสิ่งต้องทำ และบทเพลงบางเพลงก็ดูเหมือนจะเตือนย้ำ ให้กำลังแก่เราเสมอๆ…

“อย่าหยุดยั้ง”…


เรื่อง : อภินันท์ บุญเรืองพะเนา
ภาพ : จิรรรถ์ ภูจิตทอง



No Comments Yet

Comments are closed

user's Blog!

49/1 ชั้น 4 อาคารบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

49/1 4th floor, Phra-A-Thit Road, Chanasongkhram,Phanakorn Bangkok 10200

Tel. 02 629 2211 #2256 #2226

Email : mars.magazine@gmail.com

FOLLOW US ON

SUBSCRIBE