ระหว่างศรัทธาและความงมงาย : ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์

เกือบ 4 ทศวรรษเต็มเข้าไปแล้ว หากจะนับหมุดหมายของการคร่ำหวอดในฐานะนักเขียน-นักหนังสือพิมพ์ โดยนับตั้งแต่ปี 2517 เป็นต้นมา ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ ยังยึดมั่นในอุดมการณ์และอุดมคติของวิชาชีพด้วยวัตรปฏิบัติที่มิเปลี่ยนแปลงจากอดีต

พร้อมกับประโยคที่สั่นสะเทือนวงการหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนเมื่อหลายปีก่อน ที่เขาบอกว่า
“ผมพร้อมจะเป็นไดโนเสาร์ที่ตายในยุคของการสูญพันธุ์ ดีกว่าจะเป็นไดโนเสาร์ที่รอดชีวิตเพราะวิวัฒนาการกลายมาเป็นเหี้ย…”

อีกมุมที่หลายคนไม่รู้ว่า ในรอบหลายปีที่ผ่านมา ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ ได้ศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนาต่างๆ ศาสนาเปรียบเทียบ ลัทธิความเชื่อต่างๆ และวิทยาศาสตร์ทางจิต อย่างคร่ำเคร่งและลงลึก โดยสะท้อนผ่านออกมาในฐานะคอลัมนิสต์ของนิตยสาร และพิมพ์เผยแพร่เป็นพ็อกเกตบุ๊กหลายเล่ม อาทิ โลกหน้ามีจริง, แวมไพร์ : ภูตผี ปิศาจ ซาตาน แม่มด และศาสนา, 2012 โลกาวิปโยค?, ภูเขาวิหารและโดมแห่งศิลา

เพราะฉะนั้น ท่ามกลางวิกฤติศรัทธาของศาสนา และความสับสนงงงวยกับลัทธิแปลกประหลาดที่ผุดโผล่ขึ้นมาในสังคมไทย มาพูดคุยกับเขาเพื่อจะสะท้อนภาพด้านลึกซึ้งที่เกิดขึ้นในสังคมว่า เขามองมันอย่างไร?

การหันเหความสนใจจากเรื่องการเมืองมาสู่เรื่องลัทธิ เรื่องศาสนา และศาสนาเปรียบเทียบ เป็นเพราะอะไร …เรื่องวัยหรืออายุมีผลหรือเปล่า
อาจจะเป็นส่วนหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้ทั้งหมด ก็นั่งคิดอยู่เหมือนกัน เพราะเคยมีคนถามเรื่องนี้อยู่ไม่น้อย เมื่อลองย้อนคิดทบทวนตัวเอง คือค่อยๆ ซึมมา คิดว่าน่าจะเป็นช่วงที่ความคิดทางการเมืองที่เราเคยสนใจในแง่สังคมนิยมมันพังทลายลงมา เพราะทั้งรัสเซียทั้งจีนอะไรต่างๆ เหล่านี้ แล้วก็กลุ่มคนที่เขาเคยคิดอย่างนี้เขาก็พยายามที่จะหาความคิดใหม่ๆ ส่วนของเราน่าจะเป็นจากความพยายามที่จะคิดว่า มันจะมีอะไรคืบหน้าไปกว่านั้นไหม ที่จะมาทดแทนความรู้สึกในเชิงสังคมนิยม มันก็ค่อยๆ ซึมมาเรื่อยๆ

แต่สิ่งที่น่าจะเป็นตัวจุดประกายให้หันมาทางนี้และมีน้ำหนักเป็นพิเศษก็น่าจะเป็นการได้ไปอ่านเรื่อง 'ไกวัลยธรรม' ของท่านพุทธทาส เล่มนั้นท่านผู้การสันทัด ธนะภูมิ อดีตผู้การสันติบาล ก็เป็นคนที่โทรศัพท์มาบ่อยๆ มาพูดคุย เอามาฝากให้ก็ได้อ่าน แล้วรู้สึกว่าหลายอย่างมันตอบคำถามที่ลึกลงไปเสียกว่าเรื่องการเมือง

คือเรื่องการเมืองโดยทั่วไปเราก็ต้องการสู้เพื่อความถูกต้อง เพื่อศีลธรรม เพื่อเสรีภาพที่เป็นจริงเป็นจัง คุณธรรม ศีลธรรม สังคมนิยมเขาจะสอนสิ่งเหล่านี้ไว้เยอะ แต่ว่าศาสนาหรือเรื่อง 'ไกวัลยธรรม' ที่ว่ามันลึกลงไปอีก ลึกกว่าการเมืองเยอะแยะเลย ก็เป็นคำตอบคำอธิบายให้เราได้ว่า เสรีภาพที่แท้จริงมันน่าจะเป็นอะไร ความยุติธรรมที่แท้จริงมันน่าจะเป็นอะไร ในสิ่งที่เราแสวงหาทางการเมือง ทำไมมันจึงหาไม่ได้สักที ไม่ใช่แค่ตัวเราแหละ แต่เป็นคนแต่ละรุ่นๆ ที่ค้นหาคำตอบ มันก็เลยเกิดการโน้มน้าวเข้าไปหาสิ่งเหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ

ก่อนมาสนใจศึกษาในหลายๆ ศาสนา ในช่วงวัยรุ่น คุณมองศาสนาแบบเด็กที่เติบโตมาในยุค 60s หรือฮิปปี้ไหม
น่าจะเป็นอย่างนั้น ที่จริงไม่ใช่คนรุ่นเราด้วยซ้ำ คนรุ่นพ่อรุ่นแม่จะมีความเชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรม เรื่องโลกนี้โลกหน้า เรื่องตายแล้วมีชีวิตใหม่ มันอ่อนลงมาทุกที เรียกว่าแทบจะไม่เชื่อ ถ้าลองเทียบกับคนรุ่นปู่ที่ยังมีความเชื่อเรื่องพวกนี้สูง อย่างคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ของเรา อย่างมิชชันนารีฝรั่งมาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ที่บ้าน ก็นั่งเถียงกับฝรั่งจนกระเจิดกระเจิงไปเลย คือความเชื่อเรื่องพวกนี้มันลดลงมาเรื่อยๆ

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเรื่องไม่แปลกที่เราจะคิดอย่างนี้ ไม่มีศาสนาแบบฮิปปี้ คิดในมุมอย่างนี้ก็เป็นพื้นฐานของคนในสังคมส่วนใหญ่ยุคนั้นอยู่แล้ว จะเป็นอย่างนี้ในเรื่องความไม่เชื่อและความไม่สนใจในศาสนา มันเป็นปกติของสังคมที่มันเป็นไป แต่อาจจะไม่หนักเท่าคนยุคนี้ เช่นว่ายุคเรายังเป็นวัยรุ่น มันยังมีความคิดเชิงจิตวิญญาณอยู่ อย่างฮิปปี้ที่ว่ามันก็เป็นจิตวิญญาณชนิดหนึ่ง ความฝันถึงเสรีภาพของ John Lennon อะไรเหล่านี้ 'Turn on, Tune in, Drop out' ของศาสดาแอลเอสดี (LSD – Lysergic acid diethylamide ยาหลอนประสาทหรือโอสถหลอนจิตในยุคบุปผาชน ทศวรรษที่ 1960) Timothy Leary ก็ยังไขว่คว้าหาสิ่งเหล่านี้

คนรุ่นนี้เข้าหาศาสนาหนักไปทางมงายด้านพิธีกรรมมากกว่า อย่างมีลัทธิประหลาดๆ เกิดขึ้นมามากมาย แล้วคนพร้อมที่จะยอมรับด้วย คิดอย่างไรกับตรงนี้
ถ้าเราเคยอ่านพวกประวัติศาสตร์ ก็จะไม่แปลกใจถึงภาวะเหล่านี้ คือตั้งแต่กรีกมาแล้ว พอสังคมนี้มันโน้มไปสู่วัตถุมากๆ มาถึงจุดสูงสุด พอหมดยุคทองของกรีก แม้กระทั่งภาพวาดมันจะผิดเพี้ยนวิปริตไปเลย เกิดการนำเอาศาสนาตะวันออกแปลกๆ มาสู่อาณาจักร โรมันก็เหมือนกัน ยุคใกล้ๆ เสื่อม มีการบวงสรวงโดยนำเด็กมาฆ่า อะไรแบบนี้ มันเป็นภาวะที่เกิดขึ้นมาตลอด แล้วอังกฤษช่วงกระแสวัตถุมันไปอย่างแรง

คือพูดง่ายๆ หลังจากที่คนไม่เชื่อเรื่องพระเจ้าแล้ว มันก็เริ่มเกิดลัทธิแม่มดขึ้นมาในอังกฤษ ในการฟื้นฟูความเชื่อเดิมๆ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับแม่มดยุคใหม่เลย แต่มาดัดแปลงให้เป็นแม่มด ในอเมริกา สังคมวัตถุที่มันรุนแรงก็ทำให้เกิดลัทธิซาตานขึ้นมา เพราะเกิดสิ่งที่เรียกว่า 'ความพร่องทางจิตวิญญาณ' ซึ่งมันจะผลิตอะไรก็ได้เสมอเพื่อเป็นตัวยึดเหนี่ยว และเราจะไปว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ถูกก็ไม่ได้ เพราะถ้าว่าตามหลักศาสนาหรือประวัติศาสตร์ เวลาที่มนุษย์เกิดขึ้นมา มันเกิดขึ้นไม่เฉพาะร่างกายหยาบๆ มันมีความคิดความรู้สึก มีจิตวิญญาณอยู่ในตัวตั้งแต่แรก หรือพูดง่ายๆ มีศาสนาตั้งแต่มนุษย์รู้จักยืนสองขา บางคนเขาบอกว่ามีตั้งแต่ตอนยังเป็นไพรเมต (Primate) อยู่เลย ก็มีความรู้สึกเรื่องเหล่านี้อยู่

แล้วด้านมืดของศาสนาหรือลัทธิที่นำไปสู่ความงมงายล่ะ มองจุดนี้อย่างไร
ศาสนาซึ่งที่จริงพยายามพูดแต่ต้นว่า มันเป็นความรู้ เป็นองค์ความรู้ที่สูงสุด ซึ่งว่าไปแล้วก็คือ 'ปัญญา' ถ้าเราทั้งหลายสนใจมันในแง่ความรู้ มากกว่าสนใจในแง่ที่ว่า วิ่งหนีเข้าวัด หรือว่าอ่อนแอทุกข์ระทมจนไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่ อะไรเข้ามาก็คว้าไว้ ถ้าเราสนใจในแง่ศึกษาว่ามันเป็นความรู้ มันจะทำให้เราหลุดจากสิ่งที่เรียกว่าความงมงายทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบไหนก็ตาม ปัญญานั้นแหละสำคัญ สำหรับเมืองไทยในแง่การศึกษาองค์ความรู้ทางจิตที่เกี่ยวกับศาสนาที่มีปัญญาก็ไม่น้อยนะ ท่านพุทธทาสนี่ล่ะ เรียกว่าเจ้าของปัญญาตัวจริงเลยแหละ

กระแสในปัจจุบัน ซึ่งมีทั้งหนังสือ มีทั้งสำนักต่างๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องทางจิตเหล่านี้ ส่วนมากขายดีด้วย ควรมองปรากฏการณ์เหล่านี้ด้วยสายตาแบบไหน
มันไม่ใช่การแสวงหาปัญญาสิ อย่างที่บอกว่า เมื่อสังคมเสื่อม ร่างกายแข็งแรง แต่จิตใจระส่ำระสายและเสื่อมลง คนก็เลยคว้าอะไรก็ได้ การที่ไปคว้าอะไรก็ได้โดยที่ไม่ใช้ปัญญาอย่างถี่ถ้วน มันเป็นเรื่องปกติ ซึ่งมีมาตั้งแต่ยุคกรีก โรมัน อังกฤษ อเมริกา เป็นปรากฏการณ์ธรรมดา เพียงแต่ว่าถ้าเขาแต่ละคนเหล่านั้นไปคว้าเอามาอย่างมีเหตุผล ใช้ปัญญา หรือแม้กระทั่งใช้วิทยาศาสตร์ก็ได้ นั่นแหละเขาจะไปสู่เส้นทางที่เรียกว่าก้าวหน้ายิ่งกว่าทฤษฎีการเมือง เศรษฐกิจ ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ก็ได้

มองหนังสือ How to ที่มุ่งไปสู่ความสุข ความหลุดพ้นอย่างไร
เป็นยาชนิดหนึ่งสำหรับคนป่วย คือเขาป่วย เราจะไปปฏิเสธไม่ให้เขากินยาก็ไม่ถูก ถึงแม้ยานั้นมันจะไม่รักษาอาการป่วยของเขาขาดหาย แต่ถ้าชะลอๆ ลงไปบ้าง แล้วเขาไม่กินถึงขั้นไปสู่ลัทธิฆ่าตัวตาย และไม่โหมยาหนักเกินไปถึงขั้นทำให้เขากลายเป็นคนผิดเพี้ยนวิตถารเกินไปนัก ก็ให้เขากินต่อไป ไม่เห็นเป็นอะไร

วิกฤติโลกปัจจุบัน หลายๆ คนบอกว่าเกิดจากศาสนา
อย่างที่ว่าต้นเหตุมาจาก 200 ปีที่แล้ว โลกมันหมุนไปสู่วัตถุแรง แล้วแรงที่ไปส่งผลกระทบต่อคนที่มีความรู้สึกทางจิต มันจึงเกิดการตอบโต้ พูดง่ายๆ ไม่ต้องเอาศาสนา เอาแค่โลกาภิวัตน์ก็ทำให้อัตลักษณ์ของผู้คนเกิดการสูญหาย เราจะเห็นการต่อต้านโลกาภิวัตน์อย่างมหาศาลเลย ศาสนาเป็นเรื่องยิ่งกว่าอัตลักษณ์ธรรมดาเสียอีก มันจึงเกิดสิ่งที่เรียกว่าแรงสวิงต่อต้าน เกิดพวกสุดโต่งในอิสลามในคริสต์ แม้กระทั่งในพุทธก็มีพวกสุดโต่ง มันก็เหมือนกับพวกชาตินิยมหรือลัทธิชาตินิยม

แต่ต้นเหตุของปัญหาจริงๆ มาจากโลกวัตถุ ไม่ได้มาจากโลกทางจิต สิ่งที่มันควรจะเป็นไปก็คือว่า ระหว่างวัตถุกับจิต ความรู้ระหว่างวัตถุกับจิตมันควรไปคู่กัน สมดุลกันเพื่อให้มันช่วยถ่วงกัน เพราะเชื่อว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ถ้าไปถึงจุดท้ายที่สุด มันจะกลายเป็นความรู้เดียวกับศาสนา เช่น การไปพบสิ่งที่เล็กที่สุดที่ตามองไม่เห็น ซึ่งยุคก่อนนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ามันไม่มี มันก็มีเรื่องของอะตอม โมเลกุล เล็กจนไปถึงควาร์ก (quark-อนุภาคที่มีขนาดเล็กกว่าอะตอม) เสียแล้ว อะไรบางอย่างที่นักวิทยาศาสตร์เคยคิดว่าไม่มี เช่น พลังงานมืด สสารมืด มันก็ดันมีอยู่แล้ว และหาคำอธิบายไม่ได้ มันเป็นอะไรบางอย่างแต่มันดำรงของมันอยู่ ซึ่งวิทยาศาสตร์ไม่สามารถให้คำอธิบายได้

มองศาสนาว่าถึงยุคเสื่อมหรือยัง
ตอนนี้กำลังเขียนเรื่องกลียุค พวกตะวันออกจะมองแปลก อย่างที่บอกว่าฝรั่งตะวันตกจะมองเวลาเป็นเส้นตรง นับเวลาจากการเกิดบิ๊กแบง เป็นเส้นตรงมา แล้วเกิดยุคไดโนสงไดโนเสาร์ แล้วลากไป ส่วนพวกตะวันออกจะเอาเส้นตรงมาม้วนให้ด้านหัวกับด้านท้ายมาบรรจบกันเป็นวงกลมแล้วเคลื่อนไป เขาก็เลยเชื่อมานานแล้วว่า เมื่อวงกลมไปถึงจุดรอบวงหนึ่งก็จะเสื่อม มันเริ่มจากเจริญในยุคผู้คนมีศีลธรรมไม่ต้องมีศาสนาเลย คนจนคนรวยไม่มี ถ้าตามอินเดียเขาเรียกว่าสัตยยุค หรือกฤตยุคนั่นเอง หลังจากนั้นวงล้อแห่งกาลเวลาก็จะเริ่มหมุน อธรรมก็จะเริ่มเกิด อยุติธรรมก็จะเริ่มเกิด ช่วงเวลาที่พวกเราอยู่เรียกว่ากลียุค เริ่มมาเมื่อประมาณห้าพันกว่าปีที่แล้ว

เพราะฉะนั้น ความเสื่อม ความเลวจึงเป็นปกติ นี่ยังปกติ ไม่ใช่สิ้นสุดที่ตรงนั้น ล้อเกวียนมันก็ยังหมุนจากกลียุคนี่เอง ก็จะไปสู่จุดเริ่มต้นของสัตยยุค เพราะความเสื่อมถึงที่สุดมันจะก่อให้เกิดจิตสำนึกที่ไขว่คว้าหาความดีงาม ก็จะเริ่มต้นสู่สัตยยุคขึ้นมาอีกครั้ง กลียุคก็จะเป็นอย่างนี้ จะเสื่อมถึงที่สุด เวลาเรามองความเสื่อมก็จะมักมองว่า โอ้! มันปวดร้าวเหลือเกิน แต่พวกศาสนาเขาจะมองว่าคือเงื่อนไขที่จะไปสู่ความดี ความเลวคืออะไร ความเลวก็คือเงื่อนไขที่นำไปสู่ความดี ความมืดคืออะไร ความมืดถึงที่สุดก็คือวันที่จะทำให้เรายินดีว่าใกล้จะสว่างแล้ว

โซเชียลมีเดียในยุคนี้ จะเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้ศาสนาไปสู่ทิศทางไหน
ตรงนี้พวกอิสลามก็พูดถึงอยู่ ไปเอาคัมภีร์อัลกุรอานมาอ้างอิงว่า Messiah หรือ Mahdi เสด็จมาถึง จะมีคำเขียนไว้ว่า ผู้คนจะสนทนากับพระมะฮ์ดีได้โดยตรงทั่วทั้งโลก เขาก็ตีความว่านี่หมายถึงอินเทอร์เน็ต เพราะฉะนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่า เทคโนโลยีเหล่านั้นใครเป็นผู้ใช้ ถ้าใช้ไปในทางที่ดีก็ดี ใช้ไปในทางที่แย่ก็แย่ สำหรับเทคโนโลยีต่างๆ ในยุคนี้ ถ้าพวกศาสนาเก่าๆ เขาคิดว่าไม่แปลก

ยุคก่อน ถ้าเราไปเปิดในพระไตรปิฎก ก็มีพราหมณ์คนหนึ่งที่พัฒนาทางด้านจิตมาถามพระพุทธเจ้าว่า เห็นกองทัพอสูรยกทัพมาจากฟ้า แล้วทั้งกองทัพไหลเข้าไปในสายบัว ฟังดูมันคล้ายๆ เหมือนกับออนไลน์หรือเปล่า แต่พระพุทธเจ้าบอกว่าเป็นไปได้ ไม่แปลกเลยเรื่องนี้ แต่มันไม่ได้ทำให้เกิดการลดทุกข์เลย ความมหัศจรรย์ทั้งหลายถ้าไม่ได้เป็นไปเพื่อให้เกิดการลดทุกข์เลย มันจะมหัศจรรย์ที่ไหน ในสไตล์พระพุทธเจ้าท่านว่าอย่างนี้ ก็ลองมานั่งคิดดูว่า เทคโนโลยีในปัจจุบันมันมหัศจรรย์แล้วทำให้เราหายทุกข์หรือเปล่า มันยิ่งโดดเดี่ยวอ้างว้างมากขึ้น มันไม่ได้มหัศจรรย์เลยในความหมายของพระพุทธเจ้า เราจึงมองเทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นเรื่องธรรมดา

คุณยังมีความหวังกับสังคมไทยว่า จะมีการพัฒนาองค์ความรู้ทางศาสนาไปสู่ปัญญา
มองในระดับสังคมโลกมากกว่า เพราะเมืองไทยหลายอย่างนั้นเกี่ยวกับอิทธิพลสังคมโลกสูง ไม่เฉพาะเมืองไทย ประเทศเล็กๆ ทั้งหลาย จะมีความข้องเกี่ยวกับโลกสูง แล้วคราวนี้ความเชื่อว่าโลกจะเปลี่ยน คิดว่าความรู้ทางวัตถุมันมาถึงจุดพีกของมันแล้ว มีแต่ลาดลงและเสื่อมลง ปัญหาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ปัญหาประชากร ปัญหาความระส่ำระสายทางการเมืองและเศรษฐกิจก็จะนำไปสู่การค้นหาหนทางใหม่ๆ นั่นล่ะความรู้ทางจิตก็จะขึ้นมา

บางส่วนจากคอลัมน์ interview นิตยสาร mars ฉบับเดือนกันยายน 2556
เรื่อง : พริบพันดาว โรดริเกวซ
ภาพ : สุวิทย์ กิตติเธียร, พาณุวัฒน์ เงินพจน์

No Comments Yet

Comments are closed

user's Blog!

49/1 ชั้น 4 อาคารบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

49/1 4th floor, Phra-A-Thit Road, Chanasongkhram,Phanakorn Bangkok 10200

Tel. 02 629 2211 #2256 #2226

Email : mars.magazine@gmail.com

FOLLOW US ON

SUBSCRIBE