ไม่กี่วันก่อนหน้า ซีรี่ย์ที่กล่าวขานกันว่าเป็นสุดยอดละครขวัญใจวัยรุ่นแห่งยุคสมัย อย่าง “Hormones วัยว้าวุ่น” ซีซั่นสอง เริ่มออนแอร์อย่างเป็นทางการ พร้อมกับกระแสพูดถึงอึงคะนึง ทั้งในโลกจริงและโลกเสมือน-ออนไลน์…
ไม่กี่ชั่วโมงถัดจากนี้ ภาพยนตร์ไทยที่หลายคนรอคอย จะเริ่มเดินหน้าเก็บกวาดรายได้ในโรงหนัง และคงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ที่ “ฝากไว้ในกายเธอ” หนังเรื่องใหม่ของค่ายจีทีเอช จะได้ทีมนักแสดงหลักทั้งสามชีวิต เป็นคนเดียวกันกับซีรี่ส์เรื่อง “ฮอร์โมนส์”
ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะว่า จากรูปลักษณ์หน้าตา ทั้งของซีรี่ส์และภาพยนตร์ มีทิศทางบางอย่างที่สอดคล้องกันอย่างยากจะปฏิเสธ จนหลายคนอดคิดไม่ได้ว่า นี่มันคือ “ฮอร์โมนส์เวอร์ชั่นจอเงิน” ใช่หรือเปล่า?
“สิ่งที่อยู่ในหนัง มันพูดถึงปัญหาสังคมที่กำลังระบาดอยู่ในตอนนี้เลยค่ะ ซึ่งก็คือเรื่องการตั้งท้องในวัยเรียน การทำแท้ง ที่ส่งผลต่ออนาคต สิ่งนี้เป็นปัญหามากในปัจจุบันมากๆ ค่ะ” เก้า-สุภัทสรา นักแสดงนำฝ่ายหญิงของหนัง “ฝากไว้ในกายเธอ” ให้ความเห็นแก่เราในเบื้องต้น
แต่ไม่ว่าเพราะอะไร? เพราะกินสไปรท์ไม่ใส่ถุง หรือเพราะชีวิตวัยรุ่นมันยุ่งและเหนื่อย ทุกเรื่องราวย่อมมีที่มา ก่อนประตูโรงหนังจะเปิด เราเดินเข้าไปสนทนากับดารานำทั้งสามคน “มาร์ช-จุฑาวุฒิ ภัทรกำพล”, “เก้า-สุภัทสรา ธนชาต” และ “ต่อ-ธนภพ ลีรัตนขจร”
จากวัยรุ่นที่หัวหมุนด้วยปัญหาในโลกของการแสดง เรามาฟังพวกเขาถกเรื่องวัยรุ่น และไม่แน่ว่า ปัญหาทั้งหลายทั้งปวงนั้น เราอาจจะพบหนทางคลี่คลาย ด้วยถ้อยคำของ “วัยรุ่นเจ้าปัญหา” กลุ่มนี้ ก็เป็นได้…
ทั้งสามคนโด่งดังมาจากซีรี่ย์ฮอร์โมนส์ซึ่งวางตำแหน่งแห่งหนของตนเอง ในฐานะภาพแทนของวัยรุ่นร่วมสมัย ตรงนี้มีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง
เก้า : ถ้าเป็นตัวแทนของพวกเขาได้จริง ก็ดีใจนะคะ เหมือนเราถ่ายทอดให้พวกเขาเห็นมุมต่างๆ แล้วย้อนกลับไปมองชีวิตของตัวเอง เก้าอยากให้ทุกคนคิดเยอะๆ กับละครกับหนังที่พวกเราเล่น แน่นอนว่ามันไม่ใช่สิ่งที่เราจะต้องทำตามหรือยกให้เป็นเป็นแบบอย่าง หรือเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่ควร เหตุผลที่เรานำเสนอ เราแค่อยากให้มองว่า นี่ล่ะผลกระทบที่ตัวละครต้องเจอ และคิดมองย้อนไปในมุมตัวเองว่า ถ้าต้องเผชิญปัญหาแบบนี้ เราจะรับมือยังไง ไหวหรือเปล่า
มาร์ช : จริงๆ สิ่งที่บอกเล่าในหนัง มันก็มีพื้นฐานมาจากสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม เพียงแต่เราหยิบมาถ่ายทอดในรูปแบบที่ต่างกัน สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ถ่ายทอดในรูปแบบหนังผี ซึ่งบางคนอาจจะคิดว่ามันเว่อร์หรือเปล่า มีผีมาหลอก แต่มันก็เป็นการสอนรูปแบบหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นถึงผลที่ตามมาหลังจากเราไปทำนู่นนี่นั่น เชื่อว่าวัยรุ่นหรือใครก็ตามที่เข้าไปดู เขาจะรู้สึกว่าเขาเหมือนอยู่ในโลกของตัวละครนั้นจริงๆ ก็จะลุ้นตามทุกฉาก จะรู้สึกพอๆ กับ หรือใกล้เคียงกับตัวละครที่เจอเลย จะอินมาก และอย่างน้อยก็น่าจะมีประโยชน์ในการสอนเรื่องนี้ครับ คือการท้อง
ต่อ : ผมว่าเรื่องสะท้อนความเป็นจริง มันเป็นสิ่งที่หนังหรือละครทุกๆ เรื่องพยายามทำกันอยู่แล้ว ไม่ว่าภาพยนตร์หรือซีรี่ย์อะไรต่างๆ มันมักจะอ้างอิงมาจากชีวิตจริง
สำหรับพวกเรา คิดว่าสื่อมีส่วนที่จะทำให้คนทำตามบ้างหรือเปล่า
มาร์ช : (นิ่งคิด) คือมันประกอบหลายอย่างมากครับ ในการที่เด็กคนหนึ่ง หรือใครก็ตาม ที่จะทำการกระทำใดๆ ที่มันรุนแรงอย่างเงี้ย ซึ่งมันขึ้นอยู่กับ…หนึ่ง ประสบการณ์ พื้นฐาน ครอบครัวตั้งแต่เด็กว่า เจอเรื่องอะไรมาบ้าง มีการคิด วิเคราะห์ จากสิ่งที่เขารับมากขนาดไหน ในการที่เขาทำตาม สองก็คือสื่อที่เขาเสพ ถ้าสื่อเหล่านั้นไม่ได้สื่อให้เห็นถึงผลเสียหรือผลที่ตามมาจากการกระทำนั้นๆ ก็อาจจะทำให้เขารู้สึกว่าการทำอย่างนั้นมันไม่มีพิษมีภัย เขาก็อาจจะทำตามได้
แต่สำหรับเรา เราทำตัวอย่างที่ไม่ดีออกมาปุ๊บ ตัวละครไปเจอปัญหานู่นนี่นั่น เจอปัญหาแบบนี้ เจอผลปัญหาแบบนี้ แต่เราก็สื่อผลที่ตัวละครเหล่านั้นได้รับด้วย ซึ่งอันนี้ คนดูสามารถรับรู้และวิเคราะห์ได้ว่า ถ้าเราทำการกระทำแบบนี้ มันจะได้รับผลกระทบยังไง มันเป็นการลองผิดลองถูกให้เขาดูเป็นตัวอย่าง ซึ่งอย่างน้อยดูแล้วน่าจะวิเคราะห์ได้ คิดต่อได้ว่าแต่ละคนทำแบบนี้แล้วจะได้รับผลยังไง คือเหมือนเราเป็นหนูทดลองให้ก่อน
แต่ละคนมองวัยรุ่นยุคนี้อย่างไรบ้าง
เก้า : จริงๆ วัยรุ่นเป็นวัยที่มีความคิดความอ่านที่ไม่เหมือนกันนะคะ แล้วเราก็ไม่สามรารถไปตัดสินเขาได้ว่าเขาาจะทำตามมั้ย มันอยู่ที่ว่าพื้นฐานครอบครัวเขาสอนมาเป็นยังไงมากกว่า แล้วก็ให้ความรู้กับเขาแค่ไหน คือเก้าบอกทุกคนเสมอเลยว่า จริงๆ มันอยู่ที่พื้นฐานครอบครัวว่าให้การอบรมแก่เยาวชนยังไง ถ้าครอบครัวให้ความรู้แล้ว แต่ว่าน้องไม่ได้ปฎิบัติตาม พ่อแม่ก็ต้องย้อนกลับมาดูตัวเองว่าเราเลี้ยงลูกแบบผิดๆ รึเปล่า ซึ่งสิ่งรอบข้าง จริงๆ ก็มีส่วนเยอะนะ เราอาจจะอบรมน้องเขาดีแล้ว คือพ่อแม่แต่ละครอบครัว สอนลูกไม่เหมือนกันถูกมั้ยคะ ก็ถ้าครอบครัวให้การอบรมเต็มที่แล้ว แต่ว่าด้วยสิ่งแวดล้อม สังคมที่เขาอยู่ อาจจะชักจูงเขาไปได้ เราก็ทำไงได้ โชคชะตามันเป็นแบบนั้น
มาร์ช : คือจะไปให้เด็กอยู่ในกรอบตลอด ปลูกฝังให้โอ๋ตลอด ยังไงปัญหาเข้ามาอยู่แล้ว เป็นไปไม่ได้ที่ คนๆ หนึ่ง โตมาแล้วชีวิตโรยด้วยกลีบกุหลาบ ไม่นอกลู่นอกทางเลย มันแทบจะเป็นไปไม่ได้ เชื่อว่าคนที่เจอปัญหาเหล่านี้ ได้ลองนู่นนี้ โตขึ้นได้เป็นผู้ใหญ่ที่แข็งแกร่ง แล้วก็พร้อมที่จะรับมือปัญหาได้ทุกเรื่อง
ต่อ : ถ้าจะพูดปัญหาของวัยรุ่น ผมว่าพูดได้โดยรวมมากกว่า จริงๆ แล้ว ไม่ควรไปจำกัดกรอบวัยรุ่น หรือไม่ควรจะไปหาสิ่งที่เป็นคำถามว่าทำยังไงให้วัยรุ่นไม่เจอปัญหา ผมรู้สึกว่าชีวิตเรา ไม่ว่าจะเป็นเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ มันยังหนีปัญหาไม่ได้เลย ทำไมเราต้องกลัวปัญหาด้วย เมื่อสุดท้ายแล้วก็ต้องเจออยู่ดี มันคือสิ่งที่เราต้องเจอ ต้องลุยไปกับมันมากกว่า ยิ่งไม่เจอปัญหามาเท่าไหร่ พอเจอปัญหาตอนโต ยิ่งหนัก มันเหมือนว่าเราไม่มีภูมิ เรารู้สึกว่า จริงๆ ปัญหานี้มันเป็นภูมิของเรามากกว่า ถ้าเราได้เจอแล้ว
สิ่งสำคัญที่สุดคือครอบครัว ในมุมมองของผมนะ บางครั้งเราเจอปัญหาแล้วไม่รู้จะพึ่งใคร เราอาจจะมีมุมที่สิ้นหวัง หมดหวัง แต่ครอบครัวก็จะเป็นแบ็คอัพสุดท้าย ให้เขารู้สึกว่า หันกลับมาแล้วเขาเจอ นั่นแหละมันจะทำให้เขาได้สู้ต่อ ซึ่งมันก็มีวัยรุ่นหลายประเภท คือมันมีสองกรณีเลยที่เราเจอปัญหา คือ หนึ่ง ถลำลึก สอง กลับตัว ซึ่งอันนี้พูดตรงๆ เลย ไม่เลือกไม่ได้ หมายถึงว่า บางคนมันถลำลึกจริงๆ กับบางคนก็กลับมาได้จริงๆ ผมรู้สึกว่า ถ้ามันผ่านปัญหาแล้ว เรากลับตัวทัน มันจะได้ภูมิที่แข็งแกร่งมากๆ เหมือนเป็นของฝากจากการผ่านด่านอันหฤโหดมาได้
ครอบครัวคือเงื่อนไขสำคัญที่จะเป็นเกราะป้องกันให้กับวัยรุ่น?
ต่อ : อันนี้อยู่ที่ว่าครอบครัวเราสนิทกันมากแค่ไหน หรือนิสัยดั้งเดิมเราคืออะไร ผมว่าวัยรุ่นเป็นปัญหาที่คุยเท่าไหร่ก็คุยไม่จบ เพราะมันมีเยอะจนเราตามแก้กันไม่หวาดไม่ไหว ทุกวันนี้ก็จะเห็นกันอยู่ว่า ทำไมปัญหาใหม่เกิดขึ้นได้ทุกวัน พอมีสิ่งเร้าขึ้นมาใหม่ มันก็จะมีคนทำปัญหาขึ้นมาใหม่ จนกระทั่งสุดท้ายแล้ว การหลีกเลี่ยงหรือการสร้างเกราะป้องกัน ผมว่าเราน่าจะกลับไปมองหน่วยความสัมพันธ์หรือหน่วยสังคมที่เล็กที่สุดคือครอบครัว
ผมเป็นคนที่สนิทกับครอบครัว ก็เลยมองครอบครัวเป็นหลัก เพราะผมรู้สึกว่าการที่เราสนิทกับครอบครัว หรือเปิดใจกับครอบครัว คุยกับพ่อแม่ ตั้งแต่เรื่องเพศหรืออะไรก็ได้ คุยได้หมดเลย ซึ่งมันแล้วแต่ความแนบแน่น อย่างถ้าเราแนบแน่นกับพ่อแม่ ก็จะช่วยได้มากเวลาคิดหรือทำอะไร เพราะหนึ่ง เรารักพ่อแม่ เราก็ไม่อยากทำให้พ่อแม่เสียใจ สอง ถ้าเรารู้สึกว่าพ่อแม่รักเรามาก เราก็ไม่จำเป็นต้องหาเกราะอะไรอีก ในเมื่อเรามีเกราะอยู่แล้ว
แล้วถ้าวัยรุ่นอีกพวกไม่มีครอบครัวพ่อแม่ล่ะ
เก้า : มันเป็นเรื่องที่พูดยากนะคะ ถ้าไม่มีครอบครัว มันอยู่ที่จิตใต้สำนึกของเด็กแต่ละคนค่ะ แต่ละคนมันไม่เหมือนกัน ถ้าการเติบโตเขาอยู่ในสังคมที่…สมมุติว่าอยู่ในสลัมหน่อย หรือว่าโตมาแบบไม่มีพ่อแม่ แต่ต้องไปทำงาน จริงๆ มันพูดยากว่าโตมา เขาจะเป็นยังไง ซึ่งเรื่องนี้ เก้าว่ามันเป็นสิ่งที่เราควรจะลงมือมาจัดการอย่างจริงจังซะทีอ่ะค่ะ เพราะเราไม่รู้ว่าอนาคต เขาจะไปทิศทางไหน เขาอาจจะไปก่ออาชญากรรม เขาอาจจะไปทำอะไรไม่ดีมั้ย ซึ่งมันเป็นเรื่องที่เราควรตระหนักมากๆ ถึงตรงนี้ค่ะ แต่ส่วนมาก ทุกคนละเลยแล้วไปมองถึงปลายเหตุ แล้วก็ไปมองคดีต่างๆ ว่าทำไมตำรวจไม่จัดการ แต่เราไม่ได้ดูต้นเหตุเลยว่า เราทำอะไรลงไปบ้างหรือเปล่า แล้วก็ไปแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ
ต่อ : ผมว่าสำหรับคนที่ไม่มีครอบครัวมันต้องดูแล เพราะว่าพวกนี้จะอ่อนไหวง่ายมาก เด็กกำพร้าเป็นคนที่อ่อนไหวจริงๆ ไปกับใครได้ง่ายมาก ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณเจอสภาพแวดล้อมและสังคมแบบไหนด้วย ถ้าเจอสภาพสังคมที่รุนแรง ป่าเถื่อน หรืออะไรอย่างนั้น เราก็จะเห็น เด็กที่เตลิดเปิดเปิง มีอะไรก็ใช้กำลังบ้าง แล้วสังคมพอขึ้นชื่อว่าเป็นเด็กที่ไม่มีโอกาส ผมรู้สึกว่า การไปตราหน้าเขา เหมือนโดนกันตั้งแต่แรกแล้ว กับการที่มีปัญหา แค่คำว่าเด็กมีปัญหาก็รู้สึกว่าเด็กผิดแล้วอ่ะ ผมว่ามันสำคัญมากนะกับการที่ทำไมอยู่ดีๆ คุณถึงไปมองว่า แค่เขาไม่มีพ่อแม่ คือเด็กมีปัญหาแล้ว ทั้งที่บางครั้งเราไม่เคยถามเขาว่า แล้วเขาเลือกได้มั้ย มันคือสิ่งที่ควรจะถามมากกว่า ก็มันเลือกไม่ได้อ่ะ แล้วสังคมมันเป็นแบบนี้อยู่ พอเขาเลือกไม่ได้แล้วถูกเป็นอย่างงี้มาแล้ว ก็ยังมีข้อจำกัดในสังคมอีกว่า ไอ้นั่นก็โดนรังเกียจ โดนล้อ ซึ่งมันเลยอาจจะพาให้เขาไปอยู่ในสังคมที่เขารู้สึกว่าสบายใจรึเปล่า โดยที่ตัวเองไม่รู้ว่ามันไม่ถูก
ผมรู้สึกว่า คนที่ไม่มีครอบครัว จะมีสัญชาตญาณในการอยู่รอดดิ้นรนเยอะกว่าคนอื่น เพราะเขารู้สึกว่าเขาไม่มีใคร ต้องรอดต่อไป ต้องหาอะไรเกาะ ซึ่งส่วนใหญ่ สิ่งเร้าที่ไม่ดี มักจะเกาะง่ายมากกว่า ถ้าในสังคมปกติอย่างเด็กแว้น เขาก็อยู่ในโลกของเขา ถ้าไม่เกิดการก่อกวน แต่ว่าสังคมสมัยนี้อาจจะยาก เพราะปัญหามันเยอะ ถ้าเรามองดีๆ สมมุติว่า ท่อเขาไม่ดัง ถ้าเขาเปลี่ยนเป็นจักรยาน เขาจะยกล้อก็ไม่มีใครว่า สมมุติว่าให้เขาไปเปลี่ยนเป็นจักรยาน ขับกันเป็นร้อยคันเลย ปิดถนนไปเลยเส้นหนึ่ง เดี๋ยวเราลาดยางให้ ให้ยกล้อเลยก็ไม่มีใครว่า
มาร์ช : ผมว่าปัญหานี้ กว้างมาก พูดยังไงก็ไม่จบ มันจะลามไปเรื่อยๆ พูดไปก็ไม่มีวิธีป้องกันร้อยเปอร์เซ็นต์ มันเป็นเรื่องของคน ของความคิด โอกาส ประสบการณ์ทุกอย่าง ที่เขาจะจัดการในสิ่งที่เขาเจอ ต่อให้เราทุกคนป้องกันเด็กคนหนึ่งทุกอย่าง เลี้ยงในครอบครัวอย่างดี แต่เราดูแลเขาไม่ได้ เราไม่ได้ติดกล้องเขาร้อยเปอร์เซ็นต์ ออกไปเจอสังคมอะไรนิดๆ หน่อยๆ ก็ดึงให้เขาลงเหวได้ สำคัญที่สุดก็คือตัวบุคคลนั้นๆ
ผมอ่านประวัติบุคคลที่มีชื่อเสียงมากมาย หลายคนเคยติดคุก ตอนเป็นเด็กเคยกำพร้า แต่โตมาประสบความสำเร็จ เยอะแยะมาก อย่างคริสเตียโน่ โรนัลโด้ เขาโตและเตะบอลในสลัม แล้วมีวันนึง แมวมองของสปอร์ติ้ง ลิสบอน มาเห็น และก็ดึงเขาไปเตะ ผมเชื่อว่าเขาเป็นคนที่กตัญญูมาก คือเพื่อนเขาในสลัมที่ส่งบอลให้เขาเตะ ในเกมที่แมวมองมาเห็น ตอนนี้เขาเลี้ยงดูเพื่อนคนนี้ตลอดชีวิต เอาตังค์ให้ร้อยล้าน
คือคนเรามันอยู่ที่โอกาสด้วย ทุกๆ อย่างมันควบคุมไม่ได้ โรเบิร์ต ดาวนิ่ง จูเนียร์ เคยติดคุกมา คือตอนที่เขาเล่นหนังเรื่องแรก ก็ไม่มีใครทราบว่าเคยติดคุกมา ไม่มีใครคาดคิดว่าเขาจะมาถึงจุดนี้ แต่เขาก็พิสูจน์ตัวเองว่าผลงานที่เขาได้ คือทุกอย่างมันขึ้นกับตัวเองด้วยสำคัญสุด อย่าไปจำกัดสิ่งแวดล้อมเขา ให้เขาทำด้วยตัวเอง
เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช, Varunya S.
ภาพ : ปัญญพัฒน์ เข็มราช
>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>><<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<
อัปเดตหลากหลายเรื่องราวข่าวสาร สาระบันเทิงได้ที่แฟนเพจ mars magazine