'อคติของสังคม กฎหมาย และความเป็นไทในชีวิตคู่ของคนข้ามเพศ' ดร.เสรี วงษ์มณฑา


ราว 2,400 ปีก่อนคริสตกาล กษัตริย์ฟาโรห์ในราชวงศ์ลำดับที่ 5 แห่งอาณาจักรอียิปต์โบราณ ได้มีรับสั่งให้ฝังศพบริวารชาย ‘นัมโฮเทป’ และ ‘นิอังค์คานุม’ ไว้ในหลุมเดียวกัน และให้จารึกข้อความด้วยอักษรภาพไฮโรกลิฟส์ใจความว่า ‘อยู่ด้วยกันในชีวิต และอยู่ด้วยกันในความตาย' นับเป็นคู่รักร่วมเพศคู่แรกที่มีการค้นพบในประวัติศาสตร์
ใกล้เข้ามาอีกนิดในยุคกรีก หากเด็กชายวัยทีนคนใดจะก้าวผ่านสู่ความเป็นผู้ใหญ่ได้นั้น นอกจากจะได้รับการอบรมสั่งสอนจากชายผู้อาวุโสกว่าแล้ว ยังต้องร่วมหลับนอนฉันคู่รักกับครูของตน และถือเป็นหน้าที่อันทรงเกียรติ โดยเฉพาะในกองทัพนั้นการเสพสมกันเองระหว่างนักรบด้วยกันถือว่าเป็นโซ่คล้องรวมพลังให้เป็นหนึ่งเดียว แต่เมื่อคริสต์ศาสนารุ่งเรือง การแสดงความรักต่อคู่ของตนแบบชายรักชายถือเป็นเรื่องผิดบาป และเป็นผู้ก่ออาชญากรรมที่มีโทษถึงประหารชีวิต โดยเรียกกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมเช่นนี้ว่า sodomy ซึ่งปัจจุบันในบางประเทศยังมีการใช้กฎหมายปราบปรามกลุ่มรักร่วมเพศกันอยู่
ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2450) ประเทศไทยได้ตรากฎหมายอาญาสำหรับคนรักร่วมเพศขึ้น ใจความว่า มาตรา 242 ผู้ใดทำชำเราผิดธรรมดามนุษย์ ด้วยชายก็ดี หญิงก็ดี หรือทำชำเราด้วยสัตว์เดรัจฉานก็ดี ท่านว่ามันมีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนขึ้นไปจนถึงสามปี และให้ปรับตั้งแต่ห้าสิบบาทขึ้นไปจนถึงห้าร้อยบาทด้วยอีกโสดหนึ่ง’ ซึ่งอิงมาจากกฎหมายของฝรั่ง แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2499 กฎหมายข้อนี้ก็ถูกยกเลิก
แม้ที่กล่าวมาข้างต้นจะเป็นเพียงบทบันทึกเล็กๆ ของการต่อสู้ระหว่าง ‘คนรักร่วมเพศ’ และ ‘คนเกลียดคนรักร่วมเพศ’ แต่ก็ทำให้เราเห็นรอยต่อวิวัฒนาการทางสังคมที่ความหลากหลายทางเพศนั้นมิได้เกิดขึ้นเพียงระยะเวลาสั้นๆ หรือเป็นแค่ค่านิยมในบางยุคสมัย กล่าวอีกนัย คนกลุ่มนี้เป็นบรรพบุรุษของคนรุ่นเราซึ่งอาจจะเป็นใครบางคนที่ยังยึดมั่นในความเกลียดชังหรือไม่ชอบพอต่อคู่รักร่วมเพศจนถึงทุกวันนี้
และก่อนที่ พ.ร.บ. คู่ชีวิต ที่ให้สิทธิคนรักร่วมเพศเท่าเทียมกับคู่สมรสแบบชายจริงหญิงแท้จะถูกประกาศใช้ในประเทศไทย เรามาทบทวนกันว่าเหตุใดสังคมบ้านเราที่กลุ่มคน ‘รักหมดใจ’ ‘รักเผื่อไว้’ และ ‘เกลียดเข้าไส้’ ถึงยัง ‘อยู่กันได้’ ในความหลากหลายแตกต่างทางเพศ กับ ดร. เสรี วงษ์มณฑา

สถานการณ์ของคนเพศที่ 3 ตอนนี้เป็นยังไงบ้าง
ปัจจุบันการยอมรับการดำรงอยู่ของเพศที่ 3 มีชัดเจนมาก พวกเกย์ เลสเบี้ยน และไบเซ็กชวล กฎหมายหลายๆ ประเทศยอมรับเรื่องการแต่งงาน กฎหมายหลายๆ ประเทศยอมรับการเปลี่ยนคำนำหน้าของคนที่แปลงเพศแล้ว อย่างบ้านเราอาจจะไม่เรียกว่าการแต่งงาน แต่เป็นการยอมรับในการเป็นคู่สมรสที่จะให้มีผลเหมือนกับผัวเมีย เช่น เรื่องการรับมรดก การเซ็นผ่าตัด การรับศพ อะไรต่างๆ เหล่านี้ได้ผ่านเป็นกฎหมายเมื่อปีที่แล้ว เพียงแต่รอประกาศในราชกิจจานุเบกษา แล้วในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 50 ก็เขียนไว้ถึงการรองรับความหลากหลายทางเพศ ห้ามไม่ให้มีการอคติเนื่องจากเพศ เชื้อชาติ ศาสนา คือเรื่องเชื้อชาติศาสนาเรามีมานานแล้ว แต่ตอนนี้มีคำว่าเพศลงไปด้วย

มองประเทศอื่นๆ เขาเปิดกว้างในเรื่องความหลากหลายทางเพศมาก สื่อเองก็นำเสนอความหลากหลายและเท่าเทียมกันมาช้านาน แต่ทำไมบ้านเราถึงมีคนที่มีอคติกับคนกลุ่มนี้อยู่
อันนี้ขึ้นอยู่กับคนมากกว่า คนบางคนก็ยังยึดมั่นอยู่ในแบบแผนดั้งเดิมว่าต้องเป็นชายจริงหรือหญิงแท้ถึงจะคู่กันได้ หญิงกับหญิง ชายกับชาย จะมาคู่กันเขารับไม่ได้ เพราะฉะนั้นในเชิงกฎหมายมีแล้ว แต่ในเชิงพฤติกรรมก็แล้วแต่ใจคนมากกว่า อย่างมีละครเวทีเรื่องหนึ่งที่นิวยอร์ก เนื้อเรื่องประมาณว่า มีหนุ่มคนที่รับมรดกจากพ่อเป็นโรงงานรองเท้า แต่รองเท้าของพ่อเนี่ยเชย ถูกตีกลับมา 900 คู่ เธอก็กลับมาคิดว่าจะทำยังไงต่อกับโรงงาน ตอนหลังมีเพื่อนเป็นเกย์มาแนะนำว่าให้ทำรองเท้าเปรี้ยวๆ ของสาวประเภทสองสิ เพราะสรีระเท้าของผู้ชายไปใส่รองเท้าของผู้หญิงมันไม่เหมาะ แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องเอารองเท้าไปโชว์ที่งานแฟชั่นวีกที่มิลาน เขาเองก็ไปจ้างผู้หญิงมาใส่ เพื่อนก็บอกว่าในเมื่อเธอเจาะกลุ่มลูกค้าแบบนี้ทำไมไม่เอาสาวประเภทสองมาใส่ล่ะ เขาบอกว่านี่งานมิลานเชียวนะ งานใหญ่ขนาดนั้นจะเอาชื่อเสียงไปเสี่ยงกับภาพลักษณ์ได้อย่างไร คือลึกๆ เขาก็ยังหวั่นไหวว่าคนจะมองรองเท้าเขาแล้วไม่ยอมรับกับอะไรแบบนี้ แต่ตอนหลังก็ตัดสินใจว่าจะไปโชว์เอง ขณะที่โชว์เองก็เก้ๆ กังๆ เพราะเขาเป็นผู้ชาย ไม่ใช่เกย์ แต่พวกเพื่อนที่เป็นเกย์ก็แอบบินจากลอนดอนไปมิลานแล้วก็เอารองเท้ามาใส่โชว์ให้ นี่คือสิ่งที่เราเชื่อว่าเป็นอย่างนั้น
อย่างตัวเราเองก็มีหลายๆ คนเชื่อถือ แต่เขาจะไม่ยอมเลือกเราเป็นพรีเซ็นเตอร์สินค้าหรอก เพราะตัวเขาเองอาจจะยอมรับได้ แต่เขาห่วงว่าลูกค้าจะยอมรับแล้วหรือยัง สมมุติว่าฉันกับ ดร.เสรี ไม่มีอะไรหรอก ฉันนับถือเขา แต่ในเมื่อลูกค้าเขาเป็นล้านๆ คน จะไปพรีเซนต์ยาสีฟันว่าหายเสียวฟัน ไปพรีเซนต์ว่าน้ำปลานี้อร่อยเขาต้องคิดหนักนะ เพราะเขาไม่รู้ว่าลูกค้าเขาคิดยังไง
การที่คนบางคนยอมรับเกย์ แต่ไม่ยอมใช้งานเกย์ในบางเรื่องมันก็มาจากสาเหตุนี้ อย่างอาจารย์ใหญ่บางคนอาจจะยอมรับเกย์เป็นครูได้ แต่ขณะเดียวกัน เขาก็คิดว่าผู้ปกครองรับได้หมดหรือยัง แล้วถ้าผู้ปกครองรับไม่ได้ล่ะจะเกิดอะไรขึ้นกับโรงเรียนเขา ตรงนี้คนอาจจะด่าว่าอาจารย์ใหญ่อคติ ซึ่งในความจริงเขาอาจไม่อคติเลยก็เป็นได้ แต่เขาต้องคิดอีกมุมหนึ่งว่าโรงเรียนนี้มีผู้ปกครอง 2,000 กว่าคนเชียว แล้วฉันจะเสี่ยงไหม
อาจารย์ใหญ่ที่ยอมรับครูที่เป็นเกย์แต่ก็ต้องคิดถึงผู้ปกครองเด็กที่ไม่ยอมรับ เจ้าของแบรนด์ที่ยอมรับพรีเซ็นเตอร์ที่เป็นเกย์แต่ก็ต้องคิดถึงลูกค้าที่ไม่ยอมรับ อาจารย์ทั้งหลายที่ยอมรับว่าคนนี้เป็นคณบดีได้ แต่ขณะเดียวกันก็ห่วงสายตาคนนอก เพราะตอนเราเองเป็นคณบดีที่คณะวารสารฯ ก็โดนไปรษณียบัตรเขียนมานะ ถามว่าคณะวารสารฯ นี่ไม่มีชายจริงหญิงแท้ที่เก่งกว่านี้แล้วเหรอถึงต้องเอากะเทยมาเป็นคณบดี มันเป็นแบบนี้

เขามองว่าคนกลุ่มนี้เป็นคนกลุ่มน้อย ควรจะเลือกคนกลุ่มใหญ่ก่อน?
ไม่ใช่ เขามองว่าคนกลุ่มนี้เป็นข้อพิพาท มันยังไม่จบในเชิงข้อพิพาททางสังคม ส่วนทางกฎหมายมันจบไปนานแล้ว มันมีเคสขึ้นมาหลายครั้งแล้วว่า อยู่ด้วยกัน (แบบสามีภรรยา) แล้วเกิดอุบัติเหตุจะผ่าตัดแต่เซ็นให้ไม่ได้ ต้องไปตามญาติ หรือตายจะเอาศพออกมาก็ไม่ได้ ต้องตามญาติ ทีนี้บางคู่ถูกถีบออกมาจากบ้าน อาจจะออกมาตั้งแต่อายุ 15-16 เพราะพ่อรังเกียจ อาจจะออกมาดิ้นรนอยู่ด้วยตัวเองจนกระทั่งได้คู่ผัวตัวเมีย แต่ถึงเวลาตายกลับรับศพไม่ได้ กู้เงินด้วยกันก็ไม่ได้ ภาษีก็เสียแบบคนโสด ไม่สามารถเอาคู่สมรสมาลดหย่อนได้ เขาก็เลยแก้กฎหมายอันนี้ซึ่งผ่านแล้วนะ
ในแง่คนเราเข้าใจ มันมีทั้งคนที่ยอมรับเราและไม่แคร์คนอื่น มีคนที่ยอมรับเราแต่แคร์คนอื่น และคนที่ไม่ยอมรับเรา เราจะต้องแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ไม่ยอมรับยังไงก็ไม่ยอมรับ เขาจะใช้คำต่างๆ นานา วิปริต วิตถาร คำเหล่านี้ก็จะอยู่ในปากของคนกลุ่มนี้ ทีนี้กลุ่มที่ยอมรับซึ่งมีเยอะกว่าก็ได้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือกลุ่มที่ยอมรับโดยดุษณีโดยไม่แคร์คนอื่น อีกกลุ่มคือยอมรับ แต่เขาคิดไปอีกขั้นหนึ่งว่าคนที่เกี่ยวข้องกับเขาจะยอมรับได้ไหม

อย่างเมืองนอก ผู้ที่อยู่ในแถวหน้าหรือชนชั้นนำก็ออกมาประกาศตัวตนชัดเจนในเรื่องเพศของตัวเอง แสดงว่าเขาต้องการให้สังคมเองเห็นเพศสภาพในสังคมอย่างที่มันเป็นอย่างแท้จริง
มันก็มีแล้วทั้งนายกเทศมนตรี มีเกย์ที่เป็นนายกรัฐมนตรี เขาก็เอาคู่ของตนเองมาเปิดเผยด้วย แม้แต่ตัว CEO คนปัจจุบันของแอปเปิลก็ยอมรับว่าตัวเองเป็น ถามว่าออกมาแสดงตัวแบบนี้ต้องเตรียมใจไหม? แน่นอน แต่อยู่ที่เขาจะแคร์มากน้อยแค่ไหนเท่านั้นเอง กลุ่มที่ไม่ยอมรับเนี่ย เขาไม่แคร์ละ เพราะคนพวกนี้เปลี่ยนไม่ได้ แต่คนที่ยอมรับโดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มเราต้องทำความเข้าใจ คืออย่าไปโกรธเขาเพราะเขาต้องห่วงสถาบัน ห่วงแบรนด์ ห่วงโรงเรียน โรงแรม เพราะถ้าธุรกิจหรือสถาบันของเขาต้องเกี่ยวพันกับคนจำนวนมาก เขาก็ต้องห่วง

แล้วสถาบันที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศล่ะ
ยังไงเขาก็ปฏิเสธ ยังไงเขาก็ไม่ยอมรับ แต่ไปถามพวกที่เป็นกะเทยว่าเคยมีอะไรกับตำรวจหรือทหารไหม เราว่าหาได้ครบ ไม่ขาดหรอก แต่เขาต้องบอกไม่มี หรือถ้ามีก็ต้องบอกว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ตราบใดที่เขาปฏิบัติหน้าที่ได้ดีมันก็ไม่ว่ากัน ประโยคอย่างนี้เขาไม่กล้าพูดหรอก เขาต้องบอกว่าในกองทัพไม่มี ซึ่งพวกเราที่เป็นเกย์ก็จะหัวเราะเยาะ บางคนอาจจะมองว่าถ้ามีตำรวจทหารที่เป็นเกย์อาจจะเป็นรุกก็ได้ นั่นก็ไม่จริงอีกเหมือนกัน

ถ้ามองกลับไปในยุคกรีก เรื่องแบบนี้มันมีมานานแล้ว
อย่างในหนังเรื่องอเล็กซานเดอร์มหาราช เขาพยายามพรีเซนต์ว่าออกสงครามตลอด ไม่ได้อยู่กับลูกกับเมีย เวลามีอารมณ์ต้องการทางเพศขึ้นมาก็ใช้พวกทหารนั่นแหละ ซึ่งตรงนี้พวกกรีกก็โกรธเหมือนกัน
เมื่อไหร่ก็ตามที่เรารู้ว่าคนในโลกนี้ไม่ได้ยอมรับร้อยเปอร์เซ็นต์ การปฏิเสธจะดีกว่า อย่างท่านมุ้ยเองท่านทำเรื่องนเรศวร ท่านก็ทำให้เรามองเห็นว่าพระมหาอุปราชาของหงสาเป็นกะเทย แต่ท่านพูดนิดเดียว มีฉากที่อยู่กับผู้ชายฉากเดียว แต่ไม่ได้มีการพัฒนาขยายความ

มองในด้านสื่อบ้าง เรายอมรับและเผยแพร่ผลงานของคนกลุ่มนี้กันมากขึ้น แต่เอาเข้าจริงการที่ออกไปแสดงตัวตนผ่านสื่อขนาดนั้นมันมีผลข้างเคียงมากแค่ไหน
มีคนที่หมั่นไส้ มีคนที่ต้องการเห็นความปกติในความหมายของเขามากที่สุด ฉะนั้นอะไรก็ตามที่เขาคิดว่าไม่ปกติเขาก็รับไม่ได้ เหมือนอย่างเช่นที่บิลลี่ (บิลลี่ โอแกน) ออกมาพูดถึงฉากที่ผู้ชายจูบกันในซีรีส์คลับฟรายเดย์ (Club Friday The Series) ตรงนั้นมันเป็นการแสดงความรัก ไม่ว่าจะหญิงรักชาย หรือชายรักชาย ก็จะเห็นการแสดงความรักแบบในภาพนั้น แต่ตัวเขายอมรับภาพนั้นไม่ได้ เมื่อเรารักกันเราก็กอดกัน เมื่อรักกันเราก็จูบกัน แต่คนที่เขาต้องการเห็นความปกติ เขารับภาพพวกนี้ไม่ได้

ความปกติที่ว่ามา เอาเข้าจริงมันเป็นความปกติไหม
ไม่รู้เหมือนกัน มันเป็นนิยามของสังคมไง ที่สังคมยอมรับว่าผู้ชายกับผู้หญิงต้องอยู่ด้วยกัน เกินจากนั้นคือไม่ปกติ

ถ้ามองในความเป็นธรรมชาติของมนุษย์ และศึกษาย้อนหลังกลับไป จะเห็นว่าความปกตินั้นมันมีความหลากหลายอยู่ข้างในมากเลยนะ
มันเป็นสังคมไง แต่เผอิญว่าสังคมส่วนใหญ่มันเป็นแบบนี้ ทั่วโลกก็เป็น ส่วนที่ยอมรับมากที่สุดก็น่าจะเป็นกลุ่มสแกนดิเนเวียน เขามีเสรีภาพหลายด้าน ทั้งด้านสื่อหรือด้านความคิดอะไรก็ตาม

เขามีรากความคิดยังไงถึงยอมรับความต่างในเรื่องพวกนี้ได้
เขาคงคิดว่าทุกคนมีเสรีภาพในร่างกายของตนเอง เพราะฉะนั้นอยากทำอะไรก็ทำ อย่างตะวันออกเรากรอบเยอะ

ในพุทธศาสนา มีคำถามในการทำพิธีบวชว่า ปุริโสสิ (เจ้าเป็นผู้ชายหรือไม่) ทำไมถึงถามเช่นนั้น
เขาไม่ต้องการให้กะเทยเข้ามาบวช เพราะในที่สุดแล้วมันอาจจะไปเกิดพฤติกรรมทางเพศได้ในเมื่อรักเพศเดียวกัน เป็นข้อห้ามที่กันไว้ไม่ให้เกิดปัญหา เพราะอย่าลืมว่าพระในพุทธศาสนานั้นห้ามเรื่องการเสพกาม ฉะนั้นเมื่อผู้ชายอยู่กับผู้ชายแล้วพึงพอใจกัน การเสพกามก็เกิดขึ้นได้

แต่ในปัจจุบันก็ดูเหมือนเปิดกว้าง เพราะเห็นมีการบวชให้กับเกย์หรือกะเทยกันมากขึ้น
(หัวเราะ) จริงๆ ถ้าเปิดกว้าง คำถามที่ว่ามาต้องไม่มีแล้ว เพราะถ้ามีก็เท่ากับให้นาคโกหก แม้ในทางปฏิบัติเราจะยอมรับ แต่คำถามนั้นจะมีอยู่ทำไม ตัดคำถามไปซะเพื่อไม่ให้พระโกหกตั้งแต่เข้าร่มกาสาวพัสตร์

นั่นก็ต้องย้อนไปถามทางสถาบันสงฆ์ที่ดูแลเรื่องนี้
แต่เชื่อเถอะพระไม่กล้าแตะเรื่องนี้หรอก ทำเป็นเหมือนไม่รับรู้เรื่องทางโลกีย์ แต่เอาจริงๆ พระก็ดูทีวีไม่ได้หรอกนะ แต่เขาก็ดูกัน พระมหาสมปอง (พระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต) ออกมาทำรายการแกรมมี่ทุกเช้า เอาจริงๆ ทำไม่ได้หรอกนะ เพราะหนึ่ง มีค่าตัว นั่นเท่ากับพระทำมาหากิน แล้วเรื่องที่ทำตลกบางเรื่องก็ไม่เหมาะที่พระจะเล่นตลกแบบนั้น

แต่ก็อาจจะมองได้ว่า ถึงเวลาต้องเปลี่ยนวิธีการสอนการเทศน์เพื่อให้ธรรมะเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
ถ้าอย่างนั้นก็ต้องมีการสังคายนา แล้วเราก็ต้องมาดูกันเรื่องเกี่ยวกับสิ่งที่สงฆ์จะทำได้ เพราะถ้าระเบียบยังอยู่แต่ไม่เคารพระเบียบก็ไม่ถูกต้อง ฉะนั้นถ้าเราคิดว่าระเบียบมันไม่ทันสมัยเราก็ปรับระเบียบให้คนที่ทำตัวทันสมัยไม่เป็นผู้ผิดระเบียบ ไม่อย่างนั้นมันจะกลายเป็นขัดแย้งกันระหว่างความเป็นผู้ผิดระเบียบกับความเป็นผู้ทันสมัย ทีนี้จะเอายังไงกันล่ะ เมื่อไหร่เราจะพูดว่าให้พระดูทีวีได้ล่ะ เราคิดว่าอะไรก็ตามที่ระเบียบมันใช้ไม่ได้แล้วก็ต้องแก้ให้มันทันสมัย เหมือนอย่างที่เราจำได้แม่นมากคือ คณะศิลปศาสตร์มีตึก 5 ชั้น แล้วก็มีป้ายว่าห้ามนักศึกษาขึ้นลิฟต์ ตอนหลังศิลปศาสตร์เพิ่มอีก 3 ชั้นเป็น 8 ชั้น เด็กที่เขาเรียนชั้น 8 ก็ทนไม่ไหวต้องแอบขึ้นลิฟต์ทั้งที่ป้ายยังอยู่ อาจารย์ท่านหนึ่งแกขวางทุกคนที่จะขึ้น แต่แกพูดดีนะ ถ้าเธอเป็นนักศึกษาอ่านป้ายนี้ออกเธอต้องไม่ขึ้น แต่ถ้าเธอคิดว่าการไม่ให้ขึ้นลิฟต์มันไม่ถูกต้อง เธอต้องไปคุยกับเลขานุการคณะให้เอาป้ายนี้ออก เมื่อเอาป้ายออกเธอค่อยขึ้น แต่ถ้าเธอแอบขึ้นเธอไม่เคารพกฎระเบียบ

นั่นหมายความว่าเราต้องเคารพกฎก่อน
ใช่ แต่ถ้ากฎนั้นมันไม่ใช่ก็ต้องเปลี่ยนกฎ ต้องไปล็อบบี้ เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริง เรียนชั้น 8 จะให้เดินเหรอ ต้องให้ขึ้นลิฟต์ เมื่อเขาสร้างตึกมา 8 ชั้นแต่เขาไม่สนใจที่จะถอดป้ายนั้นออก ไม่สนใจในการพิจารณาว่าถึงเวลาแล้วที่จะยอมให้เด็กขึ้น
กฎที่ขัดแย้งกันในสังคมเราก็ยังมีเยอะมาก อย่างเช่น บริเวณเช็กอินสนามบินก็จะเขียนไว้ว่าเฉพาะผู้โดยสารเท่านั้น อย่างคนจีนที่ส่งแม่แก่เฒ่ากลับไปซัวเถา เขาจะปล่อยแม่เข้าไปเช็กอินโดยที่ไม่เดินเข้าไปด้วยเหรอ หรือคนที่จะส่งลูกไปเรียนภาษาอังกฤษภาคซัมเมอร์เขาจะส่งลูกที่รั้วข้างนอกแล้วให้ลูกเช็กอินเองเหรอ แล้วป้ายตรงนั้นจะเขียนไว้ทำไม หรืออย่างรถป้ายแดง กฎหมายเขียนไว้ว่าขับได้ตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตก ซึ่งกฎหมายนี้เขียนตั้งแต่สมัยที่รถไม่ติด หรือยังมีรถไม่มาก แล้วทะเบียนรถออกมาอย่างรวดเร็ว แต่สมัยนี้ทะเบียนรถออกมาช้า การจดทะเบียนก็ช้า และรถก็ติด ถ้าเราออกจากสีลมกลับบ้านเมืองนนท์ยังไงก็มืด แต่เราก็ไม่แก้ระเบียบไง เราใช้วิธีการ random เอา วันนี้จับได้ วันนี้ก็ปล่อยไป คนขับป้ายแดงบางคนโดนบางคนก็ไม่โดน มันเป็นการลักลั่นระหว่างภาคปฏิบัติกับระเบียบต่างๆ เรื่องของเกย์เราแก้ระเบียบแล้ว แต่ในพฤติกรรมของคนบางคนก็ยังไม่ไปไหน

อย่างกรณีของเบน ชลาทิศ ที่เมื่อก่อนก็แมนๆ แต่พอออกมายอมรับ แทนที่สังคมจะต่อต้านกลับเป็นยินดีต้อนรับมากขึ้น
ถูก ตอนนี้หลายๆ คนดีใจที่ตัวเองตัดสินใจแสดงออก เพราะได้งานเยอะขึ้น เอกกี้ (เอกชัย เอื้อสังคมเศรษฐ์) ก็ได้งานเยอะขึ้น แล้วก็อ๊อฟ (ปองศักดิ์ รัตนพงษ์) ก็สบายขึ้นด้วย ไม่เกร็ง

แสดงว่าสังคมทุกวันนี้ยอมรับมากขึ้นในความเป็นเพศที่สาม
ถูกต้อง แต่ในขณะเดียวกันถ้าเราต้องทำอะไรกับคนหมู่มากเขาก็ยังมีความระแวงอยู่ ไม่ใช่ว่าใจไม่รับนะ แต่ความกลัวยังมีอยู่ เราจะรู้ได้ยังไงล่ะ เพราะคนที่เกี่ยวข้องกับเรามีเป็นแสนเป็นหมื่นเป็นล้าน แล้วในจำนวนนั้นมีกี่คนที่มีอคติรุนแรง

ในสถาบันครอบครัวล่ะ วันหนึ่งคุณพ่อมีลูกมีเต้าแล้วก็ออกมายอมรับว่าฉันเป็นอีกเพศหนึ่ง
คิดว่าสังคมยอมรับขึ้นนะคะ แต่ให้รับได้ 100% คงเป็นไปไม่ได้ สมัยก่อนอายุสิบกว่าพอยอมรับว่าเป็นก็ถูกเตะ ถูกถีบ ถูกไล่ออกจากบ้าน คือแม้จะเป็นยุคนี้ที่เราเปิดกว้างมากขึ้น แต่นิสัยคนที่ไม่ชอบก็ยังคงค้างอยู่ ไม่มีทางหมดไปได้ เราอาจจะยังไม่เปิดรับการเปลี่ยนแปลง

ในสังคมเรามี 3 กลุ่ม กลุ่มแรกยอมรับโดยดุษณี กลุ่มสองตัวเองยอมรับแต่ก็ยังกังวลถึงคนอื่น กลุ่มสามคือไม่ยอมรับเลย อาจารย์อยากจะบอกอะไรกับคนกลุ่มที่สาม
กลุ่มที่สามเราไม่อยากยุ่งด้วย ไม่อยากบอกอะไร ปล่อยไป แล้วก็ไม่ฟังไม่สนใจ เพราะเราทำอะไรเขาไม่ได้หรอก ส่วนกลุ่มที่สองเราก็เข้าใจเขานะ จะไม่โกรธไม่น้อยใจ เรารู้ว่าเขาต้องระวัง อย่างเขาเป็นอาจารย์ใหญ่ ไม่มีคนมาเรียนที่โรงเรียนเขาจะเป็นยังไง เขาเป็นเจ้าของแบรนด์แต่คนแอนตี้สินค้าเขาเพราะใช้เราเป็นพรีเซ็นเตอร์จะทำยังไง เราก็ต้องเข้าใจเขา

แนวโน้มอีก 10 ปีข้างหน้า เรื่องนี้ในสังคมไทยจะเป็นยังไง
มันต้องดีขึ้นเรื่อยๆ นะเราว่า เพราะอย่างน้อยที่สุดก็ประกอบอาชีพกันได้ทุกๆ อาชีพแล้ว ในวงการบันเทิงกลายเป็นสีสันไปแล้ว

ว่ากันว่าเพศที่สามเป็นคนที่มีอัจฉริยภาพซ่อนอยู่
ไม่ใช่หรอก เราว่ามันเกิดจากสภาพจิตใจของตัวเองที่รู้ว่าต้องพยายามมากกว่า คือถ้าเก่งเท่ากับคนที่เป็นชายจริงหญิงแท้ คนที่เขาคัดเลือกเข้าทำงานเขาจะเลือกเราทำไม ฉะนั้นเราต้องผลักดันตัวเองให้เหนือกว่าจนกระทั่งให้เขามองข้ามแล้วก็เลือกเรา ต้องเด่นมากๆ จนรู้สึกว่าไม่เอาแล้วจะเสียดายนะ นั่นแหละเลยทำให้เกิดแรงผลักดัน ไม่ใช่อัจฉริยะอะไรเลย แต่วิริยะกว่าคนอื่น

ในเรื่องความรัก ว่ากันว่าเพศที่สามมักจะผิดหวังในความรัก นั่นเป็นเพราะว่า…
เพราะว่าส่วนใหญ่ไปรักคนปกติ คือไปรักผู้ชายแท้ ฉะนั้นจะอยู่กันไม่นานหรอก ถึงเวลาก็ต้องไป ตรงนี้เป็นสากลโลก ต้องยอมรับตรงนี้ คือรักเตรียมจาก ที่อยู่กันแก่เฒ่านั้นเขาต้องเป็นทั้งสองข้าง ถ้าเป็นข้างเดียวไม่ยั่งยืนหรอก คือในที่สุดคนที่ปกติเขาก็ต้องไปในเส้นทางที่ปกติของเขา

แล้วเรื่องอารมณ์ล่ะ มีบางคนมองว่าเพศที่สามอารมณ์รุนแรง
ไม่จริงเลย (ตอบเร็ว) วันก่อนในเสรีดราม่า (รายการโทรทัศน์ทางช่อง Super บันเทิง) เราก็ทำเรื่องนี้ สถิติตั้งแต่เดือนมกรามาจนถึงตอนนี้ ชายหญิงที่โกรธกันแล้วฆ่ากันตายมีเยอะมาก เกย์ยังไม่มีสักคู่เลย แต่เวลามีเกย์เป็นข่าวปั๊บเนี่ยข่าวแรง แล้วทำไมมาพูดกันอย่างนี้ล่ะ บางทีเกย์อาจจะละเมียดละไมมากกว่าหรือเข้าใจชีวิตมากกว่าด้วยซ้ำ อย่างถูกทิ้งเขาอาจจะบอกว่ามันเป็นธรรมชาติที่จะต้องโดนทิ้ง ชายจริงหญิงแท้อาจจะไม่เข้าใจ เขาเป็นของฉันจะมาแย่งฉันได้ไง เพราะฉะนั้นคำว่ารุนแรงนี่อาจจะเป็นแค่มโนมากกว่า ถ้าเอาสถิติมาวัดกันจริงๆ จะเห็นเลยว่าชายจริงหญิงแท้ฆ่ากันตายเท่าไหร่ คู่เกย์ฆ่ากันตายเท่าไหร่ 20 หรือ 30 ต่อ 1 มั้ง ไปดูได้เลย

ถ้ามองในภาพรวม ทำไมทุกวันนี้คนเราฆ่ากันเพราะความรักเยอะมาก
มันไปยึดความเป็นเจ้าของ แล้วก็ถือในศักดิ์ศรี คล้ายๆ กับถูกแย่งเหมือนกับแพ้ ถ้าเราไม่คิดเรื่องแพ้เรื่องชนะเราอยู่ได้ แล้วเราก็ต้องคิดสิ ก่อนหน้านั้นเขาก็ไม่ได้เป็นของเรา วันนึงเขาไม่อยากเป็นของเราแล้วก็ปล่อยเขาไป คิดอะไรกันมาก จะอยู่ได้นานแค่ไหนก็อยู่ที่เรายอมรับกันได้มากแค่ไหน เราจะไม่ใช้คำว่าทนนะ ใช้คำว่ายอมรับ เรารู้ว่าเขาเป็นอย่างนี้ เรารู้ว่าเขาขี้เมา เจ้าชู้ งก แต่เรายอมรับ

เด็กรุ่นหลังๆ ทั้งหลาย ถ้าเขาพร้อมจะเปิดตัว อาจารย์จะฝากบอกอะไร
ต้องถามว่าคิดถึงผลของการเปิดตัวแล้วหรือยัง ไม่ว่ากับครอบครัว กับเพื่อน กับที่ทำงาน ถ้าเราเปิดไปแล้วต้องตกงานยอมได้ไหม ถ้าเปิดแล้วครอบครัวรับไม่ได้พร้อมไหม ถ้าเปิดแล้วเพื่อนบอกเลิกคบรับได้ไหม ถ้าพร้อม 3 อย่างนี้ก็เปิด ไม่พร้อมก็อย่าเปิด เพราะชีวิตเราอยู่คนเดียวไม่ได้ เราต้องมีเพื่อน เราต้องมีครอบครัว เราต้องทำงาน แล้วงานดีๆ ก็หายาก ถ้าเราได้งานดีโดยที่เราปกปิดตัวเราไว้ ถ้าเราเปิดแล้วงานดีๆ นั้นจะเสียไปก็อย่าเพิ่งเปิด เช็ก 3 ประเด็นนี้ เสียเพื่อน เสียงาน เสียบ้าน ยังไงเราก็เสียไม่ได้

แล้วโลกออนไลน์ล่ะ อยากฝากอะไรถึงทุกๆ เพศ
พูดความจริง อย่าดราม่า ไม่ว่าจะเพศอะไรก็อย่าดราม่า ทำไมคนสมัยนี้ดราม่ากันมากก็ไม่รู้ อย่างเรื่องอาหารการกิน พอแซลมอนถูกลงก็มานั่งเขียนกันว่า ตอนนี้แซลมอนที่กินกันเป็นแซลมอนเลี้ยง ซึ่งใส่สารโน่นนั่นนี่ รู้สึกว่ากินแล้วอันตราย เพราะราคามันถูกลง ปลาหิมะถูกลง ปลาดอลลี่ถูกลง เอามาเขียนหมด ถ้าเราอ่านมันทุกเรื่องนะไม่มีอะไรเหลือให้กินแล้ว อย่างเรื่องลูกชิ้นปลาทำจากงูทะเล เราก็ตั้งคำถาม 2 คำถามเลย หนึ่ง-งูทะเลกับปลาอันไหนถูกกว่ากัน ถ้าปลาถูกกว่างูทะเลแล้วเขาจะเอางูทะเลมาทำเหรอ ต้องเป็นคนขายของที่โง่มาก อันที่สอง-ถ้ามันเป็นงูทะเลจริงและทำกันมานานแล้ว เรากินแล้วเป็นอะไรหรือเปล่า ก็ไม่เป็น มันก็อร่อย แล้วมึงจะมาเขียนให้กูตกอกตกใจทำไม นี่ไงดร่ามากันเยอะ ทุกเรื่อง เสก (เสก โลโซ) มันจะตีกับเมียมันก็ปล่อยให้มันตีไปสิ เอาเขามาดราม่าทำไม
เชื่อไหมว่าตอนนี้มีคนไปเฝ้าดูคนที่ขับรถมาจอดในที่จอดรถคนพิการเพื่อจะดูว่าคนที่ลงมาจากรถพิการหรือเปล่า ถ้าไม่พิการปั๊บมันถ่ายเลย แล้วก็โพสต์ทันทีว่าเป็นคนเห็นแก่ตัว ก็เหมือนที่การ์ตูนเขาเขียนล้อ ผู้ชายสองคนนั่งอยู่ในรถไฟฟ้าแล้วมีผู้หญิงเดินมา ผู้ชายอีกคนรีบลุกให้ ผู้ชายคนนั้นก็ชมว่านิสัยดีจังเลย มันก็บอกว่าดีอะไร มึงหันมองข้างหลังดูสิมันตั้งกล้องรออยู่ ถ้าไม่ลุกมันถ่ายแน่นอน (เพจ Contrast) สังคมในโลกออนไลน์ทุกวันนี้ป่วยทางจิต หนึ่งพวกดราม่า สองพวกหลงตัวเองแล้วเซลฟี่เยอะมาก

แต่ก็เป็นสิทธิ์ที่ทุกคนพึงกระทำได้ เขาว่ากันอย่างนั้น
มันเป็นสิทธิ์หมดแหละ อยู่ที่จะทำสิ่งถูกหรือสิ่งผิด วันนี้เราจะเดินแก้ผ้าก็เป็นสิทธิ์ของเรา แต่ถามว่าควรทำไหมล่ะ แล้วการที่จะเขียนอะไรลงในเฟซบุ๊กก็เป็นสิทธิ์ของเรา เราทำสิ่งผิดหรือถูกล่ะ มันมีเส้นวัดยังไงเรื่องถูกผิด? ลองคิดว่าเราเป็นคนในสังคมสิ สังคมเขามองเรื่องนี้ยังไง บรรทัดฐานของสังคมมันก็มี ถ้าคิดว่าไม่สนใจก็ไปอยู่คนเดียว ถ้าอยู่ในสังคมก็ต้องยอมรับบรรทัดฐานของสังคมด้วย
คำว่าสิทธิ์มันก็มีความเหมาะความควรในการใช้ ไม่ใช่ใช้พร่ำเพรื่อ ดูว่ามันเหมาะมันควรหรือเปล่า ยืนด่าแม่หน้าบ้านมีคนมาบอกว่าทำอย่างนี้ได้ไง บอกว่าสิทธิ์ของฉันไม่ต้องมายุ่ง แบบนั้นเหรอ? การที่คุณดราม่าก็คือคุณมานั่งตอแหลในเรื่องที่ไม่ควรตอแหลกัน ป่วย! เป็นสังคมจับผิด ยืนผิด นั่งผิด นอนผิด โดนหมดแหละ แล้วใครที่เจอเรื่องผิดของคนอื่นมาลงได้ก็ดีใจ เพราะจะได้จำนวน Like ไง เสพติดจำนวนไลค์ ทำดีได้ไลค์น้อยเลยต้องทำอีกแบบหนึ่ง เรื่องแบบนี้ไม่มีเลือกเพศ มันอยู่ที่นิสัยคนแล้ว คนมีสำนึกไม่ทำกันหรอก


เรื่อง : วรชัย รัตนดวงตา
ภาพ : พาณุวัฒน์ เงินพจน์

No Comments Yet

Comments are closed

user's Blog!

49/1 ชั้น 4 อาคารบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

49/1 4th floor, Phra-A-Thit Road, Chanasongkhram,Phanakorn Bangkok 10200

Tel. 02 629 2211 #2256 #2226

Email : mars.magazine@gmail.com

FOLLOW US ON

SUBSCRIBE