เรื่อง : บุญโชค พานิชศิลป์
จุดกำเนิด ‘บิกินี’ และพิพิธภัณฑ์ชุดชั้นในแห่งแรกของโลก
วันที่ 5 กรกฎาคม 1946 ไม่กี่วันหลังจากสหรัฐอเมริกาทำการทดลองระเบิดปรมาณูที่บิกินีอะทอลล์ ในเขตไมโครนีเซียของมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์ ประกอบด้วยเกาะ 23 เกาะ ครอบคลุมพื้นที่ 594.1 ตารางกิโลเมตร จนต้องโยกย้ายประชากรออกจากเกาะหลายครั้ง ในกรุงปารีสก็มี ‘ระเบิด’ อีกรูปแบบหนึ่งหล่นลง
วันนั้นเป็นวันที่หลุยส์ เรอารฺด์ (Louis Reard) นักออกแบบแฟชั่นเสื้อผ้าชาวฝรั่งเศส จัดงานโชว์ผลงานชุดว่ายน้ำขึ้น และเกณฑ์นางแบบระดับนางงามมาพร้อมหน้ากันที่สระว่ายน้ำพิสซีน โมลิตอร์ ไม่ห่างจากสนามโรลองด์ การ์โรส์ เพื่อนำเสนอผลงานออกแบบที่เขาตั้งชื่อว่า ‘บิกินี’ ตามกระแสข่าวที่ผู้คนติดตามในขณะนั้น
แต่ชุดว่ายน้ำซึ่งเป็นชิ้นส่วนผ้าสองชิ้นปกปิดร่างกายในสมัยนั้นดูเป็นเรื่องท้าทายเกินไปสำหรับสังคม และมันถูกมองว่าเป็นการยั่วยุมากกว่าความคิดสร้างสรรค์ นอกจากนางแบบหลายคนจะปฏิเสธที่จะสวมใส่ชุดบิกินีแล้ว ผู้ชมที่ได้รับเชิญเข้าชมยังแสดงความไม่พอใจกับผลงานของเรอารฺด์ด้วย
ทว่าชุดบิกินีสองชิ้น ขนาดปกปิดพอดีของสงวน ที่มิเชลีน แบร์นาร์ดินี นักระบำเปลือยจากคาสิโน เดอ ปารีส์สวมใส่เป็นแบบนั้น กลายเป็นภาพข่าวสร้างความฮือฮาให้กับสังคมโลกได้
ต้นกำเนิดแฟชั่นบิกินี
หากไม่นับอาภรณ์สองชิ้นที่ปกปิดอวัยวะส่วนสำคัญบนเรือนร่างสตรีในโบราณกาลว่าเป็นงานออกแบบตามสมัยนิยม คำว่าแฟชั่นของชุดชั้นในสองชิ้นถือกำเนิดขึ้นจริงๆ ครั้งแรกราวปี ค.ศ.1900 โดยวาเลนติน เลร์ (Valentin Lehr) นักออกแบบชาวเมืองไฟร์บวร์กของเยอรมนี เป็นที่นิยมสวมใส่กันในกลุ่มผู้ชื่นชอบวัฒนธรรมเปลือยกายในบางเวลา ปี 1902 เริ่มปรากฏชุดว่ายน้ำสตรีทำจากผ้าเจอร์ซีย์ ผ้ายืด และผ้าไหม แต่ในยุคสมัยนั้นการเปลื้องผ้าในที่สาธารณะยังเป็นเรื่องผิดกฎหมาย
ราวทศวรรษ 1930s เริ่มมีเทรนด์ผิวสีแทน ชุดว่ายน้ำสองชิ้นที่เรียกว่า ‘Palm Beach Combination’ กลายมาเป็นที่นิยม ท่อนล่างออกแบบคล้ายกระโปรงสั้นหรือกางเกงรัดรูป ส่วนชิ้นบนออกแบบคล้ายยกทรง ช่วงปี 1932 ในเยอรมนียุคปรัสเซียเริ่มออกกฎห้ามโชว์เนื้อหนังอีกครั้ง และยิ่งเข้มงวดมากขึ้นเมื่อพรรคนาซีเรืองอำนาจ ชุดว่ายน้ำที่ได้รับอนุญาตให้สวมใส่ได้ในยุคนั้นเป็นเพียงชุดชิ้นเดียว ท่อนล่างเป็นกางเกงรัดรูปเท่านั้น
เดือนพฤษภาคม 1946 ฌากส์ ไฮม์ (Jacques Heim) แฟชั่นดีไซเนอร์ในปารีส ออกแบบชุดว่ายน้ำสองชิ้น และตั้งชื่อว่า ‘Atome’ จากการทิ้งระเบิดในฮิโรชิมา เพียงแต่กระแสไม่แรง ไม่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เหมือนผลงานของหลุยส์ เรอารฺด์ ที่ปล่อยนำเสนอในอีกสองเดือนถัดมา พร้อมชื่อ ‘บิกินี’ ที่พาดพิงไปถึงข่าวการทดลองระเบิดปรมาณูบี-29 ของกองทัพสหรัฐฯ ลูกแรกในความสนใจของคนในสังคม
คนต้นคิดบิกินี
บิกินีเผยความแปลกเหมือนเช่นเกาะปะการังในทะเลใต้ และถือเป็นการปฏิวัติกฎระเบียบการแต่งกาย ที่มาพร้อมกับการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ และการใช้คำกระตุ้นการขาย เช่น ‘ก้าวหน้า’ ‘กึกก้อง’ ‘เร้าใจ’ ‘น่าตื่นเต้น’ เป็นต้น ก่อนผลกระทบในแง่ลบของระเบิดปรมาณูจะตามมาในทศวรรษ 1970s เมื่อประชากรในพื้นที่รอบบริเวณบิกินีอะทอลล์เริ่มล้มป่วยด้วยโรคมะเร็งจากสารกัมมันตภาพรังสี
หลุยส์ เรอารฺด์ ผู้คิดค้น ‘บิกินี’ อดีตเคยเป็นวิศวกรเครื่องยนต์ก่อนจะผันตัวเองเป็นดีไซเนอร์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากเย็น เพราะครอบครัวของเขาทำธุรกิจชุดชั้นในอยู่แล้ว เขาได้ไอเดียจากการตระเวนตามชายหาดแซงต์ โตรเปซ์ ดัดแปลงจากชุดว่ายน้ำแบบเต็มตัว นำมาออกแบบเป็นชุดบิกินีรูปทรงสามเหลี่ยม แม้ไม่ประสบความสำเร็จในช่วงเวลานำเสนอผลงาน แต่เขาก็ทำการจดสิทธิบัตรไว้ในวันที่ 18 กรกฎาคม 1946 ภายใต้หมายเลข 19431 พร้อมชื่อ ‘บิกินี’
ชุดบิกินีของเขาประกอบด้วยชิ้นผ้ารูปสามเหลี่ยมสี่ชิ้น ผ้าสามเหลี่ยมสองชิ้นเชื่อมต่อกันด้วยเชือกผ้าเป็นกางเกงใน และผ้าสามเหลี่ยมอีกสองชิ้นเกี่ยวคล้องเย็บติดกันเป็นยกทรง นักวิจารณ์กล่าวถึงผลงานของเขาว่า “บิกินีชิ้นเล็กมาก มันเปิดเผยตัวตนของผู้สวมใส่ไปจนถึงชื่อแม่!”
ช่วงปีแรกบิกินีของเรอารฺด์ไม่ได้รับความนิยมเลย เพราะยังไม่มีใครกล้าพอจะสวมใส่ อีกทั้งตามชายหาดหลายแห่งมีกฎห้าม ไม่ว่าในอิตาลี สเปน หรือโปรตุเกส กระทั่งในปี 1949 เริ่มมีการผ่อนปรน ตำรวจริมชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนอนุญาตให้สวมบิกินีได้ ขณะเดียวกันยังมีกฎห้ามแถบชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก หรือแม้แต่ในสหรัฐอเมริกาเองก็ยังเป็นเรื่องต้องห้าม
อย่างไรก็ดี หลุยส์ เรอารฺด์ยังคงประกอบธุรกิจบิกินีในกรุงปารีสต่อไปได้อีกนานถึง 40 ปี
การกลับมาของบิกินี
ทศวรรษ 1950s เทรนด์แฟชั่นคือ ‘เอวกิ่ว’ หญิงในฝันจะต้องมีสะโพกกลมกลึงและทรวงอกเต่งตึง ชุดว่ายน้ำสองชิ้นดูเหมือนไม่ตอบสนองหญิงใดที่ต้องการรัดเอวให้กิ่ว แต่ก็ยังมีข้อยกเว้นสำหรับบางคน อย่างมาริลีน มอนโรที่สวมชุดบิกินีถ่ายภาพในปี 1953 หรือในปีเดียวกัน บริจิตต์ บาร์โดต์ ซึ่งตอนนั้นยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก สวมชุดบิกินีลายหมากรุกสีชมพูไปร่วมเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์
กระทั่งล่วงเข้าทศวรรษ 1960s บิกินีหวนกลับมาในกระแสข่าวและสายตาของชาวโลกอีกครั้ง ไบรอัน ไฮแลนด์นำมาพูดถึงในเพลงฮิต ‘Itsy Bitsy Teenie Weenie Yellow Polka Dot Bikini’ เออร์ซูลา แอนเดรสส์สวมบิกินีให้กลายเป็นภาพจำในหนังเจมส์ บอนด์ ‘Dr. No’ (บิกินีจากภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกนักสะสมประมูลไปเมื่อปี 2001 ในราคา 60,000 ดอลลาร์)
หลังจากนั้นเป็นยุคปฏิวัติของคนรุ่นหนุ่มสาว ที่ความโป๊เปลือย หรือแม้กระทั่งเรื่องเพศไม่ใช่ประเด็นต้องห้ามอีกต่อไป จนถึงยุคปัจจุบัน บิกินีได้พัฒนาไปตามกระแสแฟชั่น โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและแถบละตินอเมริกา มีการออกแบบ ‘ไมโครกินี’ เป็นชุดบิกินีทรงสั้น
หรือชุดว่ายน้ำของผู้หญิงมุสลิมที่ปิดคลุมเนื้อหนังมังสาไม่ให้อุจาดตา ที่เรียกว่า ‘เบอร์กินี’ ก็มาจาก ‘เบอร์กา’ ผสมกับ ‘บิกินี’ นั่นเอง
พิพิธภัณฑ์ศิลปะบิกินี
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา Bikini Art Museum พิพิธภัณฑ์ศิลปะบิกินีแห่งแรกของโลกเปิดตัวที่บาด รัปเปเนา ‘เมืองหลวงแห่งชุดว่ายน้ำ’ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐบาเดน-เวือร์ตเทมแบร์ก ประเทศเยอรมนี จัดแสดงวิวัฒนาการแฟชั่นชุดว่ายน้ำตั้งแต่ปี 1880 ถึงปัจจุบัน บนพื้นที่ราว 2,000 ตารางเมตร
ภายในนอกจากจะจัดแสดงแฟชั่นบิกินีแล้ว ยังมีเรื่องราวบอกเล่าทั้งด้วยชุดจำลอง ภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหว จากยุคต้องห้าม เรื่องอื้อฉาว ไปจนถึงการต่อสู้ของสตรีเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิของตนเอง และต้นกำเนิดบิกินีของหลุยส์ เรอารฺด์
นอกจากนั้นยังมีนิทรรศการหมุนเวียน เช่น ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 74 ปีของ ‘บิกินี’ มีการจัดแสดงงานศิลปะ Pin-up จากกรุของบันนี ยีเกอร์ (Bunny Yeager) หรือ ‘The Queen of PinUp’ ที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปินดังอย่างคริสตินา อะกีเลรา, ลานา เดล เรย์ และแคที เพอร์รี จัดแสดงไปจนถึงต้นปีหน้า
ทั้งหมดเป็นการรวมภาพวิวัฒนาการของแฟชั่นนุ่งน้อยห่มน้อยของสตรีเพศ ซึ่งมีจุดกำเนิดจากระเบิดในใจกลางกรุงปารีสที่สร้างความอื้อฉาวให้กับสังคมโลก และเป็นผลพวงจากระเบิดทดลองในทะเลใต้ที่ก่อโศกนาฏกรรมให้กับมวลมนุษยชาติ
อ้างอิง:
https://www.faz.net/aktuell/stil/mode-design/der-bikini-feiert-70-jubilaeum-nach-erfindung-in-st-tropez-14323637.html
https://www.bikiniartmuseum.com/news-presse/provokativ-so-feministisch-der-bikini-hat-geburtstag