มิใช่ผีอมตะ แต่เป็นป็อปไม่มีวันตาย

Blowin’ in the songs
โดย : ประมวล ดาระดาษ
p_daradas@hotmail.com

เพลงป็อป เป็นแนวเพลงที่มีลักษณะเมโลดี้ง่ายๆ โครงสร้างเพลงไม่สลับซับซ้อน โดยอาจจะรวมเพลงหลายๆ แนว อย่าง ร็อก, ฮิปฮอป, เรกเก้, แดนซ์, อาร์แอนด์บี, ฟังก์ หรือแม้แต่คันทรี หรือโฟล์ก มาเป็นพื้นฐาน

เพลงป็อป คือการพาณิชยศิลป์ มักจะถูกแต่งขึ้นเพื่อหวังแมสจากกลุ่มคนฟังกลุ่มใหญ่โดยได้แรงผลักดันจากค่ายเพลงใหญ่ ประเภทเพลงจากสำนักโมทาวน์ เป็นอาทิ

ป็อปนั้นจะว่าไปแล้ว ก็วัฒนาการมาจากดนตรีประเภท Ragtime จากนั้นก็มาสู่ยุคสวิง แจ๊สแบบฟังอย่างเดียว กระทั่งถึงเต้นรำได้ด้วย

แนวทาง ป็อป นั้นรวมได้ถึงบลูส์ที่มีต้นกำเนิดจากคนผิวดำในอเมริกา และดนตรีคันทรีที่เริ่มปรับจนกลายเป็นแนว เพลงร็อกแอนด์โรลล์ยุคแรกอย่างร็อกอะบิลลี่

ก็ต้องว่ากันตั้งแต่ในยุค 50s แม้จะออกแนวร็อกแอนด์ โรลล์ที่ได้รับความนิยม โดยร็อกตัวพ่อ (ปู่) อย่าง เอลวิส เพรสลีย์ เป็นหัวหอก

ต่อมาในยุค 60s เป็นยุคของขวัญใจวัยทีน แบบตำนาน เช่น เดอะ บีเทิลส์, เดอะ บีชบอยส์, คลิฟ ริชาร์ด, โรลลิ่ง สโตนส์ ฯลฯ ตามนั้น

สู่ยุค 70s ป็อปฮิต คือดนตรีดิสโก้ มีศิลปินอย่าง แอบบ้า, บีจีส์ และยังมีดนตรีประเภทคันทรี ร็อก ที่ได้รับความนิยมมากมายอย่าง ดิ อีเกิลส์ หรือดนตรีป็อปที่ได้รับอิทธิพลกึ่งๆ ป็อปร็อกอย่าง เดอะ คาร์เพนเทอร์ส, ร็อด สจ๊วต, คาร์ลี ไซมอน, เฌอร์ เป็นต้น

ไล่เรื่อยมายุค 80s มีศิลปินป็อปที่ได้รับความนิยมอย่าง ไมเคิล แจ็กสัน, มาดอนน่า, ทิฟฟานี, เจเน็ต แจ็กสัน‎, ฟิล คอลลินส์ เป็นตัวเอกแห่งยุค โดยแนวทางและลักษณะดนตรีจะมีการเจือดนตรีสังเคราะห์เข้าไป เพลงในยุคนี้ส่วนใหญ่จะเป็นเพลงเต้นรำและยังมีอิทธิพลถึงทางด้านแฟชั่นด้วย

ยุค 90s เริ่มได้อิทธิพลจากเพลงแนวอาร์ & บี เช่น เดสตินี ไชลด์, บอยซ์ 2 เม็น, เอ็น โวค, TLC, มารายห์ แครี, โดยยุคนี้มี Boy band แบบบูมสุดๆ ที่ได้รับความนิยมอย่าง นิว คิดส์ ออน เดอะ บล็อก, เทค แดท, แบ็กสตรีต บอยส์ ยืนโรงอยู่

ยุค 2000 มีศิลปินที่ประสบความสำเร็จอย่าง บียอนเซ่, บริทนีย์ สเปียร์ส, คริสติน่า อากีเลร่า, แบล็ค อายด์ พีส์, จัสติน ทิมเบอร์เลค ฯลฯ

ส่วนเทรนด์ป็อปอื่นเช่นแนว ป็อป-พังก์ อย่างวงซิมเปิล แพลน, เอวริล ลาวีน รวมถึงการเกิดรายการสุดฮิต อเมริกัน ไอดอลที่สร้างศิลปินอย่าง เคลลี่ คลาร์กสัน และเคลย์ ไอเคน แนวเพลงป็อปและอาร์ & บี เริ่มรวมกัน มีลักษณะเพลงป็อปที่เพิ่มความเป็นอาร์ & บีมากขึ้นอย่าง เนลลี เฟอร์ตาโด, ริฮานน่า, จัสติน ทิมเบอร์เลค เป็นต้น

นั่นคือ แนวดนตรีโดยรวมที่เรียกว่า ดนตรีป็อป กับศิลปิน ยุคสมัย ที่จัดเรียงแบบคร่าวๆ

เรามาดูประวัติความเป็นมาของเพลงป็อป คลาสสิกขึ้นหิ้งกัน ว่ามีที่มาอย่างไร ใครเป็นต้นฉบับที่แท้แบบออริจินัล
1. Can’t Help Falling in Love
เพลงนี้ เอลวิส เพรสลีย์ คือ ต้นฉบับ จากทำนองเพลงป็อป โรแมนติก เก่าแก่ของฝรั่งเศส “Plaisir d'Amour” โดย Johann Martini (1741-1816) เขียนโดย Hugo Peretti, Luigi Creatore และ George David Weiss. และใช้ประกอบภาพยนตร์ Blue Hawaii ที่เอลวิส เพรสลีย์ แสดงนำด้วย

2. Because You Love Me
เขียนเนื้อโดย ไดแอน วอร์เรน-เดวิด ฟอสเตอร์ รับหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์เพลงนี้ให้แก่ เซลีน ดิออน เพื่อนสาวร่วมเชื้อชาติ ในอัลบั้มที่ 21 คือ Falling into You (1996) อย่างไรก็ตาม เมื่อมีความเป็นสแตนดาร์ด ป็อปสูง เพลงนี้จึงใช้เป็นธีม ซอง ในภาพยนตร์ Up Close & Personal ในปีเดียวกัน

3. Unforgettable
เพลงที่เขียนโดย เออร์วิ่ง กอร์ดอน นักแต่งเพลงแห่งบรูกลิน นิวยอร์ก ศิษย์ของ ดุ๊ค เอลลิงตัน ผู้สอนให้เขารู้จักการเขียนเนื้อร้องนอกจากทำนอง แรกเขียนชื่อว่า Uncomparable ก่อนที่ทางห้างแผ่นเสียงในขณะนั้นขอเปลี่ยนเป็น Unforgettable เวอร์ชั่นที่โด่งดังที่สุดเป็นของ แน็ต คิงโคล ในปี 1951 เก่าแก่ทีเดียว

4. I Swear
เพลงคันทรี บัลลาด ที่โด่งดัง ซึ่งเขียนโดย Gary Baker และ Frank J. Myers ที่โด่งดังสองระลอกในปี 1994 เวอร์ชั่นแรกเป็นของนักร้องคันทรี จอห์น ไมเคิล มอนต์โกโมรี ในตอนต้นปี และอีกไม่กี่เดือนต่อมา บอย แบนด์ อเมริกัน All-4-One ก็นำมาคัฟเวอร์และโด่งดังไปทั่วโลกอีกครั้ง

5. Unbreak My Heart
เพลงนี้เขียนโดยนักแต่งเพลงมือดี ไดแอน วอร์เรน อีกแล้ว เพลงอยู่ในอัลบั้ม Secrets (1996) ของโทนิ แบร็กซ์ตัน โดย เดวิด ฟอสเตอร์ เป็นโปรดิวเซอร์ให้ มีกอสซิปว่าโทนิ แบร็กซ์ตัน ผู้ร้องไม่ชอบใจเพลงนี้สักเท่าไร เพราะมันตรงกับชีวิตจริงตอนนั้นของเธอเกินไป แต่เธอก็ร้องแบบได้อารมณ์ และประสบความสำเร็จได้แกรมมี่เพราะเพลงนี้ในปี 1997

6. I Will Always Love You
เพลงนี้ต้นตำรับเป็นเพลงแนวคันทรี จากฝีมือการเขียนของ ดอลลี พาร์ตัน ในปี 1974 ก็ประสบความสำเร็จและได้รับคำวิจารณ์ที่ดีสร้างชื่อเสียงให้แก่พาร์ตันอย่างมากในตอนนั้น และเพลงนี้ เดวิด ฟอสเตอร์ ก็มาเป็นโปรดิวเซอร์และเรียบเรียงเสียงประสานให้กับวิทนีย์ ฮุสตัน กับเวอร์ชั่นคัฟเวอร์ เพลงก็โด่งดังไม่แพ้กัน
เรามาฟังเพลงต้นฉบับแบบคันทรี ไม่ต้องออกแนว “ดีว่า” โหนแหลมสุดเสียงก็เพราะไปอีกแบบ ในสไตล์พอดีๆ เศร้า ซึ้ง

7. I Have Nothing
อีกเพลงที่โด่งดังจากภาพยนตร์เรื่อง “เดอะ บอดี้การ์ด” ที่วิทนีย์ ฮุสตัน และพระเอก เควิน คอสเนอร์ แสดงนำในปี 1993 ค่อยลบคำครหาได้หน่อย กับการที่ (ฮิต แมน) เดวิส ฟอสเตอร์ ส่วนมากหยิบเอาแต่เพลงเก่า คลาสสิกฮิต ของคนอื่นมาเรียบเรียงใหม่ หรือโปรดิวซ์ใหม่
เพลงนี้เขาเขียนเนื้อเอง โปรดิวซ์เอง และเรียบเรียงเอง แต่ก็ไม่วายว่ามี ลินดา ทอมป์สัน นักแต่งเพลงมือดี เข้าร่วมเขียนอีกจนได้

ป็อป สแตนดาร์ด แนวนี้ มักเป็นเพลงอมตะ วันนี้ แค่ 7 แทร็กก็หมดชั่วโมง และหลับฝันดีแล้วครับ

user's Blog!

49/1 ชั้น 4 อาคารบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

49/1 4th floor, Phra-A-Thit Road, Chanasongkhram,Phanakorn Bangkok 10200

Tel. 02 629 2211 #2256 #2226

Email : mars.magazine@gmail.com

FOLLOW US ON

SUBSCRIBE