Blowin’ in the songs
โดย : ประมวล ดาระดาษ
p_daradas@hotmail.com
(ตำนานร็อกเรือเหาะ 8)
หลังจากการแตกวงของเดอะ ยาร์ด เบิร์ดส์ จิมมี เพจ ก็ได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงต่อการก่อตั้งวงใหม่ แรกๆ ก็ใช้ชื่อว่า เดอะ นิว ยาร์ด เบิร์ดส์ โดย จิมมี เพจ เล่าไว้ว่า
พวกเขากำลังจะก่อตั้งวงใหม่ก็ประชุมจะก่อตั้ง และแบ่งหน้าที่ เช่นกัน ก็จะมีทั้งตนเองและเบค เล่นกีตาร์ คีธ มูน ตีกลอง และอาจมี นิค ฮอฟกินส์ เล่นเปียโน แต่อีกคนในกลุ่มที่ไม่ได้มาร่วมคือ โจนส์ซี ในตำแหน่งมือเบส
“…คีธ มูน (มือกลองวง เดอะ ฮู) บอกว่าน่าจะไปหามือเบส และนักร้องนำที่เอนท์วิสเติล แต่หลังจากถกเถียงกันเสร็จ เราตกลงใจที่จะหานักร้องนำคนอื่น ก็หมายตาที่สตีฟ วินวูด แต่ก็ยังไม่ลงตัว คนต่อมาก็เป็น สตีฟ มาริออทท์ ก็น่าจะดี แต่ผมก็ถูกขู่ว่า “จะเล่นกีตาร์พร้อมกับนิ้วที่เดี้ยงใช่ไหม ถ้าไม่อยากล่ะก็อยู่ห่างๆ เจ้า(สอง)สตีฟไว้”
จากนั้นแนวคิดนี้ก็ตกไป ก็ต้องมองหาใครอื่นต่อไป ปีเตอร์ แกรนท์ ก็มีความทุกข์ใจไม่น้อยในขณะนั้นต่อการจัดการวงที่เพิ่งแตกและรวมตัวกันใหม่ เขาเล่าว่า
“ผมล่ะรักและนับถือจิมมีจริงๆ ผมก็ว่าผมสนิทกับจิมมี มากกว่าใครๆ ทุกคนในวงเดอะ ยาร์ด เบิร์ดส์ แล้วเชียว ผมศรัทธาในความพรสวรรค์และความสามารถที่ยิ่งใหญ่ของเขา ผมต้องการให้เขาสร้างสรรค์อะไรก็ตามที่ยิ่งใหญ่สำหรับเขาในช่วงเวลานั้น แน่ละ ผมจะรู้สึกผิดหวังอย่างแรงถ้าจะไปละเลยหรือเป็นอิสระจากทางด้านธุรกิจเสียทีเดียว ผมก็ไม่รู้หรอกว่าตอนนั้นเขาคิดอะไรอยู่…”
จิมมี เพจ เล่าว่า ตอนกำลังคิดจะตั้งวงใหม่ก็ได้งานเล่นบันทึกแผ่นให้กับ โดโนแวน ในเพลง “เฮิร์ดดี เจอร์ดี แมน” และจอห์น พอล โจนส์ ก็เป็นคนเรียบเรียงดนตรีในเพลงนี้ ระหว่างช่วงหยุดพักเขาขอร้องผม ว่าขอเป็นมือเบสในวงที่จะตั้งใหม่
จอห์น พอล โจนส์ เป็นมือเรียบเรียงเสียงประสานได้อย่างไม่น่าเชื่อ โดยปราศจากข้อโต้แย้ง ก็คงไม่ได้มาหางานทำ คงต้องการแสดงออกทางศักยภาพของตนเองมากกว่า ต่อการทำงานร่วมกันเป็นวง การมีวงนั้นเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่งดงาม แต่ก็ไม่ใช่ได้รับสิ่งต่างๆ ทั้งหมด เราก็คุยกันเกี่ยวกับเรื่องนี้ และร่างข้อตกลง ข้อเสนอแนะต่างๆ นานา ต่อการที่จะตั้งวงใหม่
จอห์น ต้องการที่จะมีส่วนอยู่เบื้องหลังดนตรีทั้งหมด และสามารถสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามในบทเพลง เขามีพื้นฐานทางดนตรีที่เหมาะ มีแนวความคิดที่เชี่ยวชาญพิเศษ ผมไม่พลาดโอกาสที่จะร่วมงานกับเขา
ส่วนมือเบสของวงจอห์น พอล โจนส์ กล่าวว่า “ผมก็ประเมินฝีมือจิมมี มาปีแล้วปีเล่า เราต่างมาจากเซาท์ ลอนดอนเหมือนกัน และแม้แต่ในปี 1962 ผมก็ยังจำถ้อยคำที่ผู้คนเขาพูดกันได้ดีว่า “พวกคุณจะต้องฟังเพลงของนีล คริสเตียน และวงครูเสดเดอร์ ก็เพราะว่าวงนี้มีมือกีตาร์หนุ่มน้อย ที่ฝีมือไม่น่าเชื่อว่าเยี่ยมเกินอายุ”
ผม (จอห์น พอล โจนส์) ได้ยินชื่อจิมมี มาก่อนที่จะได้ยิน แคล็ปตัน หรือเบคเสียอีก
จิมมี เพจ เล่าว่า “พวกเรา คือหมายถึงเดอะ ยาร์ด เบิร์ดส์ ก็ยังคงคำนึงวันเวลาที่เรายังจะย้อนคืนวง แม้แต่จะแตกกันไปแล้ว เมื่อจอห์น พอล โจนส์ มาชวนว่าเราจะต้องทำอะไรร่วมกันสักอย่างแล้ว
ผมก็คิดถึงนักร้องนำ และมือกีตาร์คนที่สองอย่าง เทอร์รี รีด แต่เขาก็ไปติดการแสดงอยู่กับมิกกี โมสต์ ซึ่งตอนนี้เป็นศิลปินเดี่ยว เขาก็แนะนำให้มาหาโรเบิร์ต แพลนท์ ซึ่งตอนนั้นร้องอยู่ในวง ฮ็อบทวีดเดิล
เมื่อผมให้เขามาออดิชันและผมได้ยินน้ำเสียงของเขา ผมก็คิดว่าน่าจะมีวิธีการบางอย่างในน้ำเสียงที่ต้องหาเอกลักษณ์ให้เจอ แต่ผมก็ยังคิดไม่ออกหรอก เพราะเขาบอกว่าร้องเพลงมาหลายปีแล้วแต่ไม่ดังสักที
แต่ โรบิร์ต แพลนท์ ก็เป็นคนที่น่าทึ่ง ต่อเมื่อได้ไปฟังเขาร้องในคืนหนึ่ง เมื่อมาเปรียบเทียบกับเดโมเทปที่เขานำมาให้ที่เขาทำไว้กับวง “แบน ออฟ จอย”
ผมก็เลยตกลงใจว่าไม่มีปัญหาสำหรับน้ำเสียงของเขา ก็มีข้อยกเว้น และมีคุณภาพและมีจุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ผมก็เลยขอร้องเพื่อให้เขาลงมาที่แพงเบิร์น เพื่อจะได้พูดคุยและตกลงกัน ปัญหาที่มีก็คือ ผมไม่สามารถที่จะเล่นในรูปแบบที่หลากหลาย แต่รู้วิธีที่จะทำอย่างไรดี บางทีก็อยากทำดนตรีฮาร์ดร็อกและอื่นๆ อีกหลากหลาย แต่พอมาได้ยินโรเบิร์ตร้อง ผมก็คิดได้ว่า ต้องให้เขาเป็นคนกำหนดรูปแบบ
ส่วน โรเบิร์ต แพลนท์ ผู้ที่เป็นตัวเลือกสุดท้ายของวง ก็กล่าวต่อกรณีริเริ่มตั้งวงใหม่ว่า “เราต้องการมือกลองที่รู้จักรักษาเวลา คนนั้นผมก็รู้จักมาเป็นปีแล้ว คือ บอนโซ บอนแฮม ผมรู้ในตัวหมอดี ก็ใช้เวลาล่าหาตัวที่ออกซฟอร์ด ตอนนั้น เขากำลังแสดงอยู่
“คุณกำลังจะได้ไปเล่นกับเดอะ ยาร์ด เบิร์ดส์เชียวนา” เขาไม่เชื่อและย้อนว่า “อยู่ที่นี่ก็ดีแล้วนี่” เขาคงเข็ดเขี้ยวกับความลำบาก
ผมก็พูดจาโน้มน้าวอยู่นาน ไม่มีอะไรที่จะทำให้เขามั่นใจอย่างแท้จริง นอกจากประวัติศาสตร์ในวงการเพลงป็อปอเมริกาเท่านั้นที่จะบันทึกชื่อเขาไว้
ส่วนมือกลองฟ้าคำรามในอนาคตที่ไว้ท่าทีในตอนนั้นกล่าวว่า
“ผมก็ต้องคิดไตร่ตรองหนัก มันไม่ใช่การคาดหยั่งของผู้ที่รู้อนาคตที่ดีที่สุด แต่มันจะเป็นการถูกจับตรึง ไร้ซึ่งอิสระ ต่อการที่จะมีชื่อเสียงขจรขจาย ผมรู้ดีว่าในการเล่นอยู่ในวง แบนด์ ออฟ จอย ว่าอะไรคือสิ่งที่โรเบิร์ต แพลนท์ ทำ และรู้ดีเมื่อมีจิมมีเข้ามา ก็ต้องมีดนตรีที่ดีกว่าเกิดขึ้น และแสดงออกมา”
เมื่อรวมตัวกันได้ก็เริ่มต้นซ้อม จอห์น พอล โจนส์ กล่าวถึงความรู้สึกในขณะนั้นว่า “แรกๆ ผมไม่ได้เล่นดนตรีในแนวบลูส์ ก็ตามโรเบิร์ตไป จึงเกิดความสนใจขึ้น ตอนซ้อมวันแรกๆ เล่นเอาความรู้สึกและอารมณ์ในการเล่นหายไปเหมือนกัน”
ส่วนเรื่องเกี่ยวกับการตั้งชื่อวง จิมมี เพจ เล่าว่า “เราก็มานั่งล้อมวง เพื่อคิดชื่อวงกัน แล้วความทรงจำเมื่อหลายเดือนก่อนก็ผุดขึ้น จากปากของคีธ มูน เราก็ลองพิจารณาถึงชื่อต่างๆ มี “แมด ด็อก” ชื่อนี้ตกไปเพราะฟังแล้วแนวทางดนตรีคงจะไม่มีอะไรใหม่ เมื่อใครๆ ได้ยินชื่อ หรือไม่ควรจะมีชื่ออะไรที่ธรรมดา อย่าง วีเจ็ทเทเบิล หรือ เดอะ โพเตโต อะไรแบบนั้น
โดยความคิดที่แหลมคม ต้อง เลด เซพพลิน…อา เลด เซพพลิน นึกออกแล้ว จดลงบนกระดาษ มันเหมือนบอลลูนที่ทะยานนำหน้า แต่เรือเหาะนี่มันมีโครงสร้างของเหล็กเล็กน้อย บินได้เหมือนผีเสื้อเพราะเบา และบรรทุกสิ่งของได้มาก
เป็นเรื่องตลกมากในอังกฤษ เราโชคไม่ดี แฟนๆ ว่าเราไม่มีอะไรใหม่ ก็เลยเรียกว่า เดอะ นิว ยาร์ด เบิร์ดส์ เพราะภาพลักษณ์และดนตรีที่ติดตัวผมมา ตอนอยู่วงเดอะ ยาร์ด เบิร์ดส์ มันไม่ใช่ เลด เซพพลิน
แต่เราได้รับการต้อนรับอย่างดีในอเมริกา เราก็เริ่มต้นแสดงในคืนหนึ่งๆ ได้เงินน้อยกว่า 1,500 เหรียญ และเล่นต่อรอบได้ 200 เหรียญ แต่สิ่งนี้มีคุณค่า เราไม่ใส่ใจ เราไปอเมริกาเพื่อเล่นดนตรี เพราะตอนนั้น เดอะ ยาร์ด เบิร์ดส์ เล่นต่อคืนได้ 2,500 เหรียญ เลด เซพพลิน ขอแค่ ,เหรียญ ก็เป็นการเริ่มต้นที่ดีถมไปแล้ว
ตอนนั้น ปีเตอร์ แกรนท์ ก็ตามมาเป็นผู้จัดการให้ เลด เซพพลิน เขาเล่าถึงความหลังที่ต้องไปเริ่มต้นที่อเมริกาว่า “ก่อนที่เราจะเริ่มทำแผ่นลองเพลย์ เราก็ทำงานที่นี่ (เบอร์มิงแฮม) ไม่ได้ เหมือนจะถูกหัวเราะเยาะจากผู้คน ต่อการรวบรวมวงและทำงานตามแนวทาง ผมไม่อยากถูกตราหน้าเยาะหยันจากใครๆ ว่ามันเป็นการเสียเวลาเปล่า ก็ไม่อยากจะออกชื่อ
ผมมีความมั่นใจมากต่อจิมมี เพจ ซึ่งเป็นทั้งนักดนตรีและโปรดิวเซอร์ผู้ควบคุมการสร้างสรรค์ จอห์น พอล โจนส์ ก็เป็นนักดนตรีที่ยิ่งใหญ่บนเวทีนั้น โรเบิร์ต มีทุกสิ่งทุกอย่างในตัว บอนแฮม นั้นเป็นแบบอย่างที่ยอดเยี่ยมของวง
พวกเราก็ไปอเมริกา ตั้งแต่ปี 1964 เมื่อผมไปกับวง แอนิมอลส์ ผมก็ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ที่นี่มาก จากการที่เป็นผู้จัดการวงใหม่ เลด เซพพลิน ผมรู้จักอเมริกันที่อยู่นอกประเทศดี อย่าง บิล เกรแฮม คือตัวอย่าง เขามีความเชี่ยวชาญพิเศษทางด้านธุรกิจที่นี่ แต่ไม่ใช่ด้านดนตรีร็อก แต่เป็นด้านการโปรโมต ผมรู้ว่าถ้าคุณมีสองที่ คือที่ฟิลมอร์ และที่ดีทรอยต์ ทั้งสองสถานที่สำคัญที่สุดของวงที่จะต้องไปเล่นให้ได้
เลด เซพพลิน เริ่มต้นในอเมริกาวันบ็อกซิง เดย์ สามคนในวงไม่เคยมาเหยียบอเมริกามาก่อน และไม่รู้ว่าจะต้องทำตัวอย่างไร ก็อยู่แถวย่านวานิลลา ฝัดจ์ และเมดิสันสแกว์ เพื่อแนะนำตัวว่าเป็นวงใหม่ที่เด่นจากอังกฤษ ซึ่งก็คงไม่ประทับใจแฟนๆ นัก
ผมก็แนะนำ การมาที่นี่ของพวกเขาจะต้องโด่งดังไปทั่วอเมริกา เพียงแต่ขอให้แสดงให้เต็มที่ และทำให้ผู้ชมประทับใจ พวกเขาก็ทำได้จริงๆ ในบอสตันผมเห็นพวกเขาแสดงครั้งหนึ่งถึง 4 ชั่วโมงเต็ม จนหมดแรงนั่นแหละถึงได้ยอมหยุด แม้ว่าการมาเที่ยวแรกอาจจะยังไม่ยิ่งใหญ่ แต่ก็แสดงให้เห็นว่าเป็นการปะทุระเบิดได้อย่างแท้จริง
“ผมขอให้ความเห็นว่าทำไมเราจึงมายิ่งใหญ่ในอเมริกา” จิมมี เพจ เล่าแทรกขึ้น “ผมก็เพียงแต่คิดว่า พวกเราได้ระวังพลังขับเคลื่อนในช่วงเวลานั้น ที่จะไม่ไปเล่นในรูปแบบของดนตรีแนวเวสต์ โคสท์เท่านั้น
บอกให้ก็ได้ว่า เราทะลุปราการ แจ้งเกิดมาได้ ก็ที่ซานฟรานซิสโก เราเล่นมาหลายที่แต่ไม่น่าภาคภูมิใจ อย่างที่บอสตัน ที ปาร์ตี้ และไคเนติก เซอร์คัสที่ชิคาโก นั้นโชคไม่ดี ทั้งๆ ที่พยายามแสดงให้ประทับใจแล้ว แต่หลังจากแสดงที่ซานฟรานซิสโกแล้ว เราก็ดังระเบิด
เราโชคดีมาก มันเป็นการประสบความสำเร็จที่รวดเร็ว และน่าทึ่ง ทางบริษัทแอตแลนติกลงทุนกับมันไปมาก เขาทำให้รู้ว่าพวกเราแต่ละคนในวงนั้นต่างคนต่างมา และย้ำว่าผมนั้นเคยเป็นสมาชิกของวงเดอะ ยาร์ด เบิร์ดส์ แต่เดี๋ยวนี้ออกจากวงมาแล้ว แต่แนวคิดนี้ในอังกฤษใช้ไม่ได้ มันทำให้ผมถูกต่อต้าน แม้แต่แผ่นเสียงก็ไม่ได้รับความสนใจ เพราะแฟนๆ คิดกันว่าก็แค่วงที่ขยาย แตกกิ่งออกมาจากวงเดิม แต่ในอเมริกานี่ดูเหมือนว่าเราจะโชคดีเหมือนการมารวมกันอย่างแท้จริง
เราเป็นวงที่ไม่เคยมาลองทำงานร่วมกันอย่างแท้จริง แต่ต่อการร่วมผลิตอัลบั้มแรกในช่วงระยะเวลาเพียงแค่สองสามสัปดาห์ที่เรามั่นใจ ความลับของความสำเร็จในวันนั้นก็เนื่องมาจากดนตรีของพวกเรา ความสามารถในด้านร็อก แอนด์ โรล ที่เราสร้างความเร้าใจ จากสำเนียงในแนวทางร็อกต่อผู้ฟังผู้ชมนั่นเอง”
“ผมก็ไม่สามารถจะพูดได้หรอกว่ามันจะถึงจุดจบเมื่อไร แต่เราก็จะทำงานให้ยืนนานเท่าที่จะเป็นไปได้” จอห์น บอนแฮม กล่าว “เมื่อผมมาร่วมอยู่ในวง ตอนแรกผมไม่เคยรู้จักจิมมีเป็นการส่วนตัวมาก่อน ก็ขัดเขินอยู่บ้าง รู้แต่ว่าเขาเป็นดาราใหญ่ที่เคยร่วมงานกับคณะต่างๆ และเดอะ ยาร์ด เบิร์ดส์ แต่ขณะนั้นต่อโอกาสของวงก็ย่อมเปิดขอบเขตที่จะกระทำสิ่งต่างๆ ได้กว้างกว่าเดิม”
จอห์น พอล โจนส์ “ถ้าจิมมีไม่มั่นใจและต้องการจะไปเป็นดาราใหญ่ค้ำฟ้า และให้ความสำคัญทางด้านดนตรีน้อยกว่า เขาก็ย่อมเลือกเส้นทางของการเป็นดารานั้นๆ แล้ว เรารู้ดีว่าเขาต้องการจะส่งเสริมความเป็นเลด เซพพลิน ให้ยิ่งใหญ่ยืนยง เขาจึงระมัดระวังมากต่อการทำงานต่างๆ และก็สำเร็จ ผมไม่ใส่ใจหรอกว่าแฟนๆ จะจำผมไม่ได้ แล้วพูดว่า
“โอ..คุณไม่ใช่จิมมี เพจ นี่ ผมรู้สึกมีความสุขด้วยซ้ำไป ผมชอบอยู่เบื้องหลัง หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ผมก็มีแนวทางของตน เป็นมานานแล้วกับอัตตาแบบนี้”
จิมมี เพจ “ก่อนที่คนจะเห็นพวกเราในอเมริกา ก็มีเสียงเล่าลือของสาธารณชนว่า มีการจ่ายเงินให้แก่พวกเราล่วงหน้าโดยบริษัทแผ่นเสียง ดังนั้นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นก็คือ “อา..ก็แค่วงนายทุน พวกทุนนิยม เห็นแก่เงิน”
“… เขามาเห็นว่าเราไม่ได้เป็นอย่างนั้นก็ต่อเมื่อมาเห็นเราเล่นดนตรี 3 ชั่วโมงรวดต่อคืน โดยไม่หยุดเท่านั้น สำหรับบางคนก็พูดเป็นนัยว่า เลด เซพพลิน นั้นมีการกุเรื่อง กระตุ้นให้มีการเกิดเป็นวง เพราะสาธารณชนนั้นถูกหลอกง่ายอยู่แล้ว อย่างนี้เป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมสำหรับเรานัก คุณจะมาคำนวณนับ หรือประเมินพวกเราเหมือนเล่นสมการของสูตรเคมีไม่ได้หรอกต่อการมารวมกันของเราหลังแยกตัวออกมาจากเดอะ ยาร์ด เบิร์ดส์ อีกวงที่ถูกประณามแบบนี้ก็คือวงครีม แต่ความรู้สึกของผมขณะนั้นที่จะพิสูจน์ก็คือ แผ้วถางหนทางการทำงานไปก้าวต่อก้าว เราก็ต้องพยายามสะท้อนแสงและเงาออกเป็นชิ้นๆ ในทันทีทันใดให้มากกว่าเดิม และพยายามรวมสามัญสำนึกแห่งความเป็นดรามา ถ้าจะถามว่าทำไมจึงต้องเป็นอย่างนั้น มันก็อยู่ในนั้นแล้ว
เราไม่อยากเป็นวงที่ไม่มีคุณภาพ แต่สิ่งนี้ไม่มีใครรู้ได้หรอก นอกจากทำงานร่วมกันต่อไป ถ้าคุณดีพอ สิ่งต่างๆ ก็เกิด”