จักรยาน Trails : ความมันท้าทายบนพาหนะ 2 ล้อ


ช่วงระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ถ้าพูดถึงกีฬาแนวเอ็กซ์ตรีมในบ้านเรา พูดง่ายๆ มันแทบจะกลายเป็นไลฟ์สไตล์อีกชนิดหนึ่งของวัยรุ่น หรือผู้ที่อยากท้าทายความตื่นเต้นในรูปแบบใหม่ๆ มาให้ชาวไทยได้รู้จักอยู่เสมอๆ ไม่ว่าจะเป็นสเกตบอร์ด โรลเลอร์เบลด ต่อมาก็เป็นจักรยานเสือภูเขา หรืออย่างฟรีรันนิ่ง กับแมดฮอบในช่วงปัจจุบัน
แต่ใครจะรู้บ้างว่า กีฬาที่เรียกว่าจักรยาน Trials นั้น มันเป็นกีฬาเอ็กซ์ตรีมอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งเหล่าชนที่ชื่นชอบความท้าทายประเภทนี้ ได้เล่นมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งเชื่อได้เลยว่า อาจจะยังไม่รู้จักกีฬาชนิดนี้ดีพอนัก เพราะ Trials ในประเทศไทยนั้น ยังมีคนเล่นอยู่ไม่มากนัก

“กีฬา Trials มี 2 ประเภท ประเภทแรก เป็น Trials ปกติ เน้นการกระโดด ปืนป่าย ใช้ทักษะสูงในการทรงตัวอยู่บนรถขณะเล่นท่าต่อเนื่องโดยเท้าไม่แตะพื้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการเผชิญกับอุปสรรคต่างๆ ในเฉพาะจุดที่ตั้งไว้
“ส่วนประเภทที่ 2 เรียกว่า Street Trials คือเป็นการผสมผสานกันระหว่าง Trials  Street และ BMX ซึ่งการเล่นจะให้ความอิสระมากกว่า” จักรกฤษณ์ ทองอ่อน หรือ อ.แดง ไบค์ช็อป อดีตนักกีฬาเอ็กซ์ตรีมทีมชาติไทย อธิบายถึงประเภทของกีฬา Trials คร่าวๆ ก่อนกล่าวถึงความท้าทายของเอ็กซ์ตรีมชนิดนี้
“ตอนแรกผมเคยเล่นกีฬาจักรยานเอ็กซ์ตรีมมาก่อน แต่วันหนึ่งได้เห็นคลิปของ Danny MacAskill (นักกีฬา Trials ผู้มีชื่อเสียง) ที่สามารถนำพาจักรยานฝ่าไปในสถานที่จำกัด ซึ่งมันเป็นการท้าทายอย่างหนึ่งว่า เราก็สามารถทำได้อย่างเขานะ มันทำให้เราเปลี่ยนความคิดไปเลย

ความท้าทายของ Trials นี่เอง ต่อยอดด้วยคำตอบของ “บอส-กฤษกร แป้นปั้น” นักศึกษาวิศวะ ปี 1 ม.พระนครเหนือ ที่ว่า “ความสนุกตื่นเต้นท้าทาย มีตั้งแต่ตอนเริ่มฝึกตอนแรกเลยคือ ต้องชนะใจตัวเองให้ได้ครับ เพราะฝึกช่วงแรกๆ จะใช้ความอดทนในการฝึก trackstan (การบาลานซ์อยู่กับที่โดยไม่เอาขาลง) ครับ เพราะมันเป็นท่าพื้นฐานของกีฬาชนิดนี้ ถ้าผ่านช่วงนี้ไปได้ ก็จะเป็นเร็วขึ้นครับ ซึ่งท่านี้สามารถนำไปใช้กับการปั่นจักรยานทั่วไปได้ เช่น ตอนติดไฟแดง ไม่อยากเอาขาลง เราก็ใช้เทคนิคการ trackstand ได้ เรื่องความสนุกของกีฬาชนิดนี้คือ มันเล่นได้ทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นในบ้าน หน้าบ้าน ลานกว้าง หรือแม้แต่บริเวณน้ำตกที่มีหิน
เมื่อถามถึงสถานที่และท่ายอดฮิต บอส ก็ให้คำตอบเพิ่มเติมว่า “สถานที่หลักๆ ที่จะได้เห็นเหล่า Trials เล่นกันแน่ๆ ก็คือพระราม 8 ตลิ่งชัน พระราม 7 ทาวน์อินทาวน์ และย่านสนามราชมังคลากีฬาสถาน และท่ายอดฮิตของ Trials ก็คงจะเป็นท่า back wheel hop หรือ rear wheel hop ครับ โดยท่านี้เป็นการกระโดดโดยใช้ล้อหลังล้อเดียว หรืออยู่ในที่แคบๆ ที่ไม่สามารถวาง 2 ล้อได้ก็จะใช้ท่านี้ครับ

คนเล่นกีฬานี้หุ่นล่ำทุกคนและแข็งแรงแน่นอน เพราะมันใช้ทั้งตัวจริงๆ เพราะมันใช้แขน ขา หลัง หน้าท้อง ปีกหลังขึ้นหมด คือใช้น้ำหนักตัวเองเป็นเวตบอดี้ไปด้วยในตัว ถ้าเราเล่นแบบถูกวิธีนะ มันช่วยเรามาก ซึ่งมันก็ทำให้เราได้ศึกษาด้วยว่า ถ้าเราเล่นแล้วปวดหลัง แสดงว่ากล้ามเนื้อส่วนนี้มันยังใช้ไม่เต็ม เราก็ต้องไปฝึกเพื่อให้เห็นกล้ามเนื้อส่วนนั้น ให้รับแรงได้ เพื่อให้มีแรงที่จะไม่ปวดได้” แป๋ง-นคร นุ่นซ้าย ผู้อยู่เบื้องหลังการจัดงานกีฬา Street Trials ในเมืองไทย กล่าวถึงประโยชน์ของกีฬาชนิดนี้
จากที่อ่านมาถึงบรรทัดนี้ Trials ก็มีความท้าทาย ประโยชน์ก็มี แต่ทำไมถึงไม่เป็นที่สนใจในวงกว้างล่ะ
“คือพูดกันตรงๆ ว่าคนไทยยังเก่งสู้เขาไม่ได้ อย่างจีนหรือญี่ปุ่นก็หลุดแบบเก่งเลย หรือ เวียดนาม สิงคโปร์ ซึ่งทักษะเขาเด่นกว่าเราอีก ซึ่งถ้าเปรียบก็เหมือนฟุตบอลไทย และไม่มีใครสนับสนุนด้วย เพราะทุกวันนี้เราหัดกันเอง แกะเอง แต่จริงๆ แล้วมันมีเยอะ ที่ลึกกว่านั้น ซึ่งบางอย่างเราก็แกะแบบผิดๆ ถูกๆ บ้าง แต่ด้วยความที่ไม่มีอะไรผิดถูกอยู่แล้ว มันมีความฟรีสไตล์สูง มันก็เลยหลากหลายในการเล่นมากกว่า สนุกมากกว่า”

“ส่วนกระแสของ Trials มันก็เป็นช่วงๆ เช่นถ้าแบบที่ผมจัดการแข่งขันเมื่อตอนปีที่แล้ว มันก็จะบูมอยู่ช่วงหนึ่ง แต่เราจัดเอง สปอนเซอร์ไม่มี มันก็เงียบไง ไม่มีการสานต่อ สุดท้ายมันก็เงียบ รู้จักแค่เฉพาะกลุ่ม แต่ด้วยกลุ่มคนเล่นมันก็ไม่เยอะ เพราะคนภายนอกที่มองว่ากีฬาแนวนี้มันดูอันตราย เขามองแบบ เฮ้ย ขึ้นได้ไง ลงได้ไงเนี่ย แต่จริงๆ มันมีเทคนิค คนมองว่า ลงจากที่สูงแล้ว แล้วรถกับคนไม่เป็นไร ทำได้ไง คือถ้าคนปกติปั่นลงฟุตปาทยังจุกเลย แต่ด้วยทักษะที่ต้องเรียนรู้นี่แหละมันเลยเซฟ มันไม่ได้อันตรายอย่างที่คิด แต่มีความยากอยู่มั้ย มันก็มี มันต้องอยู่ในความเพียรอยู่ คือต้องฝึกจริงๆ
“อยากให้สมาคมใดสมาคมหนึ่ง ทั้งเอ็กซ์ตรีม หรือ จักรยานเข้ามารองรับกีฬานี้ เพื่อให้คนที่เล่นอยู่ ให้เค้ารู้สึกว่าเค้ามีบ้านอยู่นะ ไม่ใช่แบบโดดเดี่ยว เล่นไปวันๆ เกิดไปแข่งเมืองนอก กูต้องจ่ายตังค์เอง แล้วชนะกลับมา มึงค่อยมารองรับกู แล้วเงินลงทุนล่ะ ผมมองว่า ไม่สมเหตุสมผลเลย

“คือเมืองไทยมันมีคนเก่งแต่ไม่มีใครรองรับ เล่นเอง จ่ายตังค์เอง มีสปอนเซอร์ร้านช่วย เพราะผมมองจากตัวผมไงว่าเราแก่แล้ว เรามองให้เด็กรุ่นหลัง คือมีน้องอายุ 12 คนนึง เล่นเก่งมาก ฝึกไม่กี่เดือนเอง แล้วพอเด็กขนาดนี้ สนับสนุนต่อ ทำไมไม่ไปต่อ แต่คนไทยมองว่า เล่นนี่ไป ไม่มีทีมชาติ จะเล่นไปทำไม เพราะกีฬานี้ไม่ถูกจัดในทีมชาติ และเล่นไปก็ไม่ได้ตังค์ จะเล่นไปทำไม คนไทยคิดอย่างงี้ แต่เราเล่นกัน เพราะหนึ่ง ออกกำลังกาย สอง เล่นเป็นงานอดิเรก แต่อย่าหวังว่าไปแข่งสู้ฝรั่ง สู้ไม่ได้หรอก
“ทุกวันนี้เราเล่นเพื่อคนรุ่นหลังจากเรานี่แหละ ปูพื้นให้พวกเขา เพื่อสร้างองค์กรให้พวกเขาได้มีที่ยืนให้กับกีฬานี้ในประเทศต่อไป”





เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ขอบคุณภาพประกอบจาก : เฟซบุ๊ก Red Bikeshop, Pank Madass
ขอบคุณคลิปประกอบจาก : Jantakon Kok
อัปเดตหลากหลายเรื่องราวข่าวสาร สาระบันเทิงได้ที่แฟนเพจ mars magazine

No Comments Yet

Comments are closed

user's Blog!

49/1 ชั้น 4 อาคารบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

49/1 4th floor, Phra-A-Thit Road, Chanasongkhram,Phanakorn Bangkok 10200

Tel. 02 629 2211 #2256 #2226

Email : mars.magazine@gmail.com

FOLLOW US ON

SUBSCRIBE