ชัดๆ! คำให้การเพลง ‘ประเทศกูมี’ จากปาก ‘Rap Against Dictatorship’


เพลงนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร?
เนื้อหาสุดโต่งไปไหมสำหรับผู้มีอำนาจรัฐ?
ทำไมใช้ฉากหลังเอ็มวีเป็นเหตุการณ์ 6 ตุลา 19?
และมีใครเป็นนายทุนอยู่เบื้องหลัง?

คำถามเหล่านี้เกิดขึ้นในหัวแน่นอนเมื่อคุณได้ดูและฟังเพลง ‘ประเทศกูมี’ ของกลุ่ม ‘Rap Against Dictatorship’ หรือ RAD ซึ่งปล่อยเอ็มวีตัวเต็มลงยูทูปเมื่อวันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยเอ็มวีที่ว่านี้ใช้ฉากหลังจำลองเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ที่กลุ่มผู้ประท้วงใช้เก้าอี้พับตีร่างของนักศึกษาที่ถูกแขวนคอในการประท้วงการกลับมาของ จอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่หนีออกนอกประเทศในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516
 
และเหมือนประจวบเหมาะเลยทีเดียว เมื่อมีคลิปการให้สัมภาษณ์ถึงที่มาที่ไปของการทำเพลงนี้อย่างละเอียดยิบ (สัมภาษณ์ในวันที่ 14 ตุลาคม วันเดียวกับวันปล่อยเอ็มวี)
ลองไปอ่านคำให้การของพวกเขาทั้ง 3 คน
Jacoboi, Liberate P และ ET

Liberate P : ผมทำเพลงเกี่ยวกับการเมืองอยู่แล้ว แล้วมันมีเพลงหนึ่งที่มันดองไว้ มันชื่อเพลงว่า 'ประเทศกูมี' เนี่ยแหละ ผมมองว่าเพลงนี้ สามารถสื่อสารกับคนเมืองได้ สื่อสารกับคนชนชั้นกลางได้ว่าประเทศกูมีอะไร เราไม่ได้สื่อสารไปในเชิงโจมตีนะครับ แต่เราสื่อสารไปในเชิงให้เขามาร่วมกับเรา พูดว่า ประเทศมันมีอะไร ผมรู้สึกว่าผมทำคนเดียวไม่ไหว ผมก็เลยชวนเพื่อนพี่ คุณ Jacoboi , ET , แล้วก็ Hock Hacker เป็น 4 คนที่มาร่วมกันแล้วก็ตั้งชื่อว่า Rap Against Dictatorship

Jacoboi : หลักๆ คือ ต่อต้านเผด็จการ เหมือนคำว่า Against Dictatorship มันก็ตรงตัว เราจะเห็นว่าเนื้อเพลงที่แร็พเปอร์ 10 คนร่วมกันร้องมันไม่ได้พูดประเด็นเดียวกันหมด ไม่ได้พูดไปในทิศทางเดียวกันเป๊ะๆ แต่ว่าแกนหรือธีมที่คุมอยู่คือ Against Dictatorship แล้วพูดถึงว่าประเทศกูมีอะไรในสายตาของแต่ละกัน มันก็มีการกระจัดกระจายอยู่ประมาณหนึ่งผมว่ามันก็คือเสน่ห์ของเพลงแร๊พ

ET : ความจริงคือว่าเราตั้งใจรวบรวมคนที่คิดไม่เหมือนกันเข้ามาอยู่ในเพลงนี้แหละ เพราะว่าคนที่คิดไม่เหมือนกันมันมีจุดร่วมบางอย่างอยู่คือ Dictatorship

Liberate P : RAD มันไม่ใช่รูปแบบของวง แต่มันเป็นโปรเจ็ค เป็น Hub หนึ่งที่ให้คนที่อยากพูดทางการเมืองเข้ามาตรงนี้ คือใครอยากพูดเรื่องการเมืองอาจจะมาเสนอเราภายหลังก็ได้ว่า มีเพลงทางการเมืองที่อยากให้เราช่วย

Jacoboi : ในโปรดักซ์ต่อๆ ไปก็อาจจะมีศิลปินวนเวียนมา ไม่ใช่ในรูปแบบที่มีอยู่ 10 คนตอนนี้ แล้วเป็นแบบนี้ทุกเพลง เราไม่อยากทำเพลงหนึ่งแล้วมันก็หายไป เลยเซ็ตอัพตรงนี้ขึ้นมาเพื่อให้อยู่ต่อไปได้

พิธีกร : RAD เนี่ย ในทางหนึ่งมันก็มาจากคำว่า Radical ด้วย คือสุดโต่ง แล้วผลงานที่ทำออกมาจะสุดโต่ง แบบที่คนอื่นเขาฟังแล้วเกินไปหรือเปล่า สุดโต่งไปหรือเปล่า

Jacoboi : แล้วเกินไปไหมล่ะครับ

ET : ผมว่าโดยส่วนตัวนะ เราไม่ได้สุดโต่งขนาดนั้น ความจริงแล้วเราประนีประนอมมากเลย การที่เราจะทำอะไรออกมาทุกวันนี้

Jacoboi : คำว่า Radical ที่เราเอามาใช้มันสะท้อนตัวตนเรามากกว่า แต่ว่าเวลาที่เราจะพูดกับคนอื่น หรือคนที่ไม่ใช่พวกกันเอง เราก็ต้องมีวิธีสื่อสารที่ทำให้เขาเข้าถึงและเข้าใจเราได้
อย่างหนึ่งที่เราตั้งเป้าไว้ในการทำเพลง ‘ประเทศกูมี’ เราไม่ได้ต้องการที่จะเป็นศัตรูกับประชาชนด้วยกันเอง เพราะประเด็นของเราจะพูดเรื่องอำนาจรัฐเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นคนฝั่งไหนเลยนะ

ET : จริงๆ เราไม่ได้ Radical ขนาดนั้น ขนาดเราประนีประนอมนะ ยังมีคนถามไถ่กันมาเลยว่า โอเคไหม ปลอดภัยไหม (หัวเราะ) คือมันตลกตรงที่ว่า แม้มันไม่ได้ Radical ขนาดนั้น แต่มันยังเกิดภาวะนั้นขึ้นมาอยู่

Liberate P : คนมันกลัวเกินเหตุ

Jacoboi : จริงๆ แล้วเพลงนี้มันอยู่ภายใต้กฎหมาย 100% ผมมั่นใจมากว่าเพลงนี้ไม่มีอะไรเกินไปกว่ากฎหมายเลย คนแม่งยังเป็นห่วง แสดงว่าคุณอยู่ในประเทศที่ Mindset ของคนถูกทำอะไรบางอย่างที่มันไม่ปกติแล้ว

พิธีกร : นั่นแหละกำลังจะเป็นคำถามต่อว่า ตัวคุณสำหรับเพลงนี้ไม่ได้ Radical เลย แต่สำหรับผู้มีอำนาจรัฐ ถ้าฟังเพลงนี้มัน Radical เกินไปสำหรับพวกเขาหรือเปล่า

Jacoboi : ไม่รู้ครับ ช่างเขา

Liberate P : ผมว่าไม่นะ ผมว่าใครเขาก็ด่ากันป่ะฮะ

Jacoboi : เอาจริงๆ เนื้อหาในเพลงเนี่ย เรามีแร๊พเปอร์ 10 คน ร่วมกันเขียน ต่างคนต่างเขียนของตัวเอง แต่ว่าถ้าเราเอาเนื้อหาของ 10 คน มาจับแยกแล้วกระจายๆ กันไป แล้วเราไปเสิร์ชในอินเตอร์เน็ต ผมว่าแม่งมีทุกประเด็นที่คนอื่นๆ เขาพูดกันไปหมดอยู่แล้ว แค่ไอ้แร็พเปอร์ 10 คนเอาตรงนี้มากรองเป็นเพลงเท่านั้นเอง
ถามว่าเราพูดอะไรใหม่ไหมในเพลงนี้? ไม่มีอะไรใหม่นะ มันเป็นประเด็นที่คนพูดกันเต็มโลกอินเตอร์เน็ตไปหมด โลกจริงๆ ด้วยซ้ำ

ET : แต่ที่เขาจะห่วง เขาจะห่วงว่าวัยรุ่นมันเอากันด้วยเว้ย แบบนั้นหรือเปล่า

Liberate P : ใช่ๆ อันนี้มีความเป็นไปได้

ET : เพราะว่าวันนี้ปล่อยมาวันแรก (14 ตุลาคม 2561) คอมเมนท์ก็เอาเรื่องนะ คึกคักใช้ได้

Liberate P : ก็ต้อง Monitor กันดีๆ

Jacoboi : เป็นหนึ่งใน Objective ของเราคืออยากให้คนที่มีกำลังวังชาอยู่ตอนนี้ คนที่กำลังทำงาน หรือว่าเป็นวัยรุ่นอยู่ หันมาสนใจเรื่องพวกนี้ เพราะเรารู้สึกว่าการใช้ดนตรีสื่อสารเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ง่าย แล้วโดยเฉพาะเพลงแร็พด้วยมันเข้าถึงง่าย ใครก็ฟังได้ ไม่มีใครในโลกนี้แร็พไม่ได้ แร็พดีไม่ดีก็อีกเรื่องหนึ่ง เก่งไม่เก่งไม่รู้ แต่ว่าทุกคนแร็พได้ ทุกคนฟังได้ แล้วสามารถเอาไปทำตามได้

พิธีกร : ก่อนหน้านี้เคยอ่านสัมภาษณ์มาว่า เขียนเพลงแร็พขึ้นมาโดยไม่ได้อยากให้ใครฟังเยอะแยะ แต่ครั้งนี้เหมือนอยากจะสื่อสารกับคนชนชั้นกลาง อยากจะสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ เพราะอะไรคราวนี้มันถึงเปลี่ยนไป

Liberate P : คือเมื่อก่อนนี้ผมอยากพูด ตอนนั้นมันเกิดจากเริ่มมีคนติดตาม มี Follower เพิ่มมากขึ้น เราก็เลยรู้สึกว่าอยากพูดการเมืองในมุมมองของผมบ้าง ผมรู้สึกว่าเพลงเหล่านี้มันยังไม่มีในแวดวงนะ ส่วนใหญ่เขาจะพูดในเรื่องคอรัปชั่น ด่าพระ ด่าตำรวจ แล้วช่วงหลังมานี่มันก็เกิดจากการตามเบื้องหลังการเมือง นักวิชาการบางกลุ่มที่เขาเริ่มเสนอมาว่า แนวทางหรือวิธีการที่เราจะแก้ไขได้มันอาจจะต้องแบบดึงกลุ่มที่เขาผลักไสออกไปให้เข้ามาจอยกับเรามากขึ้น มันเลยเกิดไอเดียตรงนี้ขึ้นมาว่าเราควรเลิก…มันไม่เชิงว่าเลิกด่าเขาน่ะ แต่ทำความเข้าใจเขามากกว่า เพราะบางทีสิ่งที่เขาพูดเนี่ยมันจริงนะ

Jacoboi : ถ้าดูในเอ็มวี ‘ประเทศกูมี’ มันจะจบด้วย ประโยคที่ว่า ‘All people unite’ คือในความเป็นจริงแล้ว ในโลกประชาธิปไตย คนมันจะ unite กัน สามัคคีกันไปในทางเดียวกันไม่ได้อยู่แล้ว เพราะว่าทุกคนมีความคิดที่แตกต่างหลากหลายกันอยู่แล้ว

ประเด็นของเราคือว่า เราเก็บพื้นที่ของเราไว้ตีกันเอง เรา unite กันในฐานะที่ไม่ให้อำนาจอย่างอื่นเข้ามาแทรกในอำนาจของประชาชน คือประชาชน unite กัน แต่ว่าความแตกต่างหลากหลายก็เข้ามาตีได้ แต่ว่าไม่ให้อำนาจรัฐ อำนาจรัฐแบบเผด็จการเข้ามา Dominate ในส่วนนี้

ที่เราใช้เหตุการณ์ 6 ตุลา (6 ตุลาคม 2516) เป็นแบล็คกราวน์ในเพลง เพราะผมมองว่ามันสะท้อนภาพชัดที่สุดแล้วในสภาวะที่องค์กรของรัฐเข้ามาสร้างความแตกแยกในหมู่ประชาชน แล้วก็เกิดการแบ่งฝ่ายที่หนักมาก หนักกว่าตอนนี้เยอะ

ผมคิดว่าถ้าเราปล่อยให้เป็นแบบนั้นไปเรื่อยๆ มันก็จะเกิดเหตุการณ์แบบนั้นได้ เราก็เลยเลือกจุดที่มัน Extreme ที่สุดขึ้นมาเพื่อที่ภาพมันจะได้ชัดว่า คนมันถูกรัฐทำให้แตกแยก เสร็จแล้วคนมันฟาดกันเองในระดับนั้น รัฐก็เข้ามาฉวยโอกาส ตอนนั้นมันก็เป็นเผด็จการฝ่ายขวาที่คลาสสิคเต็มตัว ผมว่าขวาที่สุดตั้งแต่บ้านเราเคยมี

พิธีกร : ในเนื้อเพลงจะมีพูดถึงตอนที่บอกว่า ‘ประเทศที่ศิลปินวางท่าเป็นขบถ’

Jacoboi : เราได้ใกล้ชิดกับคนที่ทำงานศิลปะจำนวนหนึ่งอยู่แล้ว ซึ่งคนพวกนี้เราจะเห็นว่าเขามีมาดที่เป็นขบถ กูแตกต่างจากคนอื่น กูไม่เหมือนใคร ไม่เชื่อง แต่ว่าเมื่อเราเห็นคนพวกนี้ต้องเผชิญหน้ากับอำนาจรัฐ เขาเชื่องมาก เขาไม่ได้เชื่องจากความกลัวนะ แต่เชื่องด้วย Mindset ของเขา ไม่ได้บอกว่าทุกคนเป็นแบบนั้นนะครับ แต่ผมเห็นคนแบบเนี้ยที่อยู่ในหมวดหมู่ศิลปิน ศิลปินในทีนี้ไม่ว่าจะเป็นนักร้อง นักดนตรี หรือว่าคนที่ทำงานศิลปะในแขนงอื่นๆ แล้วผมก็อยากจะเล่าเรื่องนี้ออกมา เพราะว่าไม่เคยมีใครพูดประเด็นนี้ออกมาตรงๆ สักที แต่เราอยู่ในแวดวง เรานั่งดูมัน แล้วเราก็อยากจะพูดถึง

พิธีกร : คราวนี้ทำออกมาดูมีโปรดักชั่นที่จริงจังกว่าที่ผ่านมา ทุนเราหามาจากไหนอย่างไรบ้าง

Jacoboi : ถ้าพูดถึงทุนที่เป็นตัวเงินเลยเนอะ เป็นเงินมาแล้วเราเอาไปจ่ายต่อได้ คำตอบเราคือไม่มีครับ แต่ว่าโปรดักชั่นทั้งหมดถ้าคิดเป็นตัวเงินมันสูงไหม ก็เยอะอยู่แหละ แต่ว่ามันเกิดจากการอาสาสมัคร พูดให้ตรงกว่านั้นคือเราไปขอแรงเขา เรามีคอนเน็คชั่นคนที่ทำงานด้านนี้ๆ ช่วยเหลือกันได้ แล้วก็ประกอบร่างกันขึ้นมาจนมันเสร็จเป็นตัวนี้ มันถึงได้นาน อย่างที่บอก ทำครึ่งปีกว่าจะเสร็จเพลงเดียว ถ้ามันมีทุนจริงๆ สองเดือนมันก็เสร็จแล้ว

Liberate P : ถ้าพวกเรามีทุนมันจะไม่นานขนาดนี้ โปรเจ็คนี้มันเริ่มจริงๆ เกินครึ่งปีอีกนะ อันนี้ไม่นับ 2 เพลงที่ผมปล่อยไปก่อนหน้านี้อีกนะ เพลงนี้ใช้เวลาจริงๆ เกินครึ่งปีเป็นต้นไป

ET : คือมันกลายเป็นว่าเราหาเพื่อนมาช่วยได้ง่าย ด้วยความที่ว่าไอเดียทางการเมืองมันค่อนข้างชัดด้วยช่วงนี้ พอเราขอความช่วยเหลือจากหลายๆ คนเขาก็โอเค แล้วมันง่ายจนเราตกใจว่า คนคนนี้ที่เคยคิดต่างจากเรายังช่วยเราเลย

Liberate P : อย่างที่บอกไปข้างต้น เราไม่ได้จะทำออกมาเพื่อที่จะเฮโลไปฝ่ายเดียวกัน พอเรารวมกลุ่มขึ้นมาเป็น RAD ได้เราก็ยิงหาศิลปินแล้วว่าเราจะชวนใครบ้าง ซึ่ง 10 คนนี้เราไม่จำกัดเรื่องไอเดียทางการเมืองเลย ใครจะแบบไหนเราโอเคหมด

Jacoboi : ผมคิดว่า พอเราเอา ‘Against Dictatorship’ แล้วพูดด้วยคอนเซ็ปต์ที่ว่า 'ประเทศกูมี' อะไรบ้างเนี่ย ไม่ว่าคุณจะใส่เสื้อสีไหน คุณพูดในมุมมองของคุณได้หมดเลย

Liberate P : มันเลยทำให้เขาอยากมาจอยกับเราโดยไม่ต้องไปใช้ค่าใช้จ่ายอะไร ประมาณนี้ พวกเรื่องทุนเรื่องอะไรมันเลยไม่เป็นเรื่องซีเรียสขนาดที่ต้องหาเงินมา

Jacoboi : ถ้าคุณดูแล้วอยากให้เรามีทุนทำอะไรต่อ สามารถ Funding เราได้นะครับ

ถอดความจาก / ฟังบทสัมภาษณ์เต็มๆ ได้ที่
https://www.facebook.com/VoiceOnlineTH/videos/461847337555681
ภาพ : MV ‘ประเทศกูมี’
ขอขอบคุณคลิปจาก VoiceOnline

user's Blog!

49/1 ชั้น 4 อาคารบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

49/1 4th floor, Phra-A-Thit Road, Chanasongkhram,Phanakorn Bangkok 10200

Tel. 02 629 2211 #2256 #2226

Email : mars.magazine@gmail.com

FOLLOW US ON

SUBSCRIBE