คุยกับ ‘กัญชาชน’ ประเทศและสังคมจะได้ประโยชน์อะไร หากกัญชาถูกกฎหมาย?


16 ตุลาคม 2018 สภาพอากาศของเมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดาเข้าขั้นย่ำแย่ อากาศหนาวเย็นไต่ระดับลงไปที่อุณหภูมิต่ำกว่า 4 องศาเซลเซียส อีกไม่กี่วินาทีจะเที่ยงคืน Ian Power ยืนตัวสั่นอยู่หน้าร้านขายของแห่งหนึ่ง ทว่าร้านแห่งนั้นไม่ใช่ร้านขายของทั่วไป มันคือร้านขาย ‘กัญชา’ ที่เคยถูกจำกัดความให้เป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศแคนาดามาเกือบ 90 ปี

ปี 2015 Justin Trudeau นักการเมืองหนุ่มวัย 43 ปี ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศแคนาดา โดยชูประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นคือการทำให้ ‘กัญชา’ ในประเทศเป็นสิ่งถูกกฎหมายและใช้ได้ในเชิงนันทนาการ “มันไม่มีคำว่าตลาดมืดสำหรับเบียร์” เขาว่า แล้วสำหรับกัญชาทำไมมันถึงจะเป็นไปไม่ได้

“ตอนนี้เรามีระบบที่ไม่เวิร์กเอาเสียเลย” Justin Trudeau เจ้าของคำพูดดังกล่าวชนะการเลือกตั้งในปีนั้น แต่เขาก็ต้องใช้ระยะเวลาถึง 3 ปีถึงจะผลักดันนโยบายที่เคยหาเสียงไว้ให้เป็นรูปธรรม

นาฬิกาขยับ วันที่ 16 ตุลาคมเปลี่ยนเป็นวันที่ 17 หลังรอมานานราวหนึ่งชั่วโมง Ian Power กลายเป็นประชาชนแคนาดาคนแรกที่ได้ซื้อกัญชาแบบถูกกฎหมาย “มันเป็นช่วงเวลาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของผม” เขาว่า “ผมหลั่งน้ำตา มันจะไม่มีตรอกมืดๆ อับๆ อีกต่อไป”

คำถามคือ ทำไมสิ่งที่ถูกมองเป็นตัวแทนของ ‘ความไม่ดี’ มาตลอดถึงต้องถูกกฎหมาย?

ไม่กี่ปีที่ผ่านมา กัญชาถูกหยิบยกมาถกเถียงถึงคุณและโทษทั้งในเชิงการแพทย์ เศรษฐกิจ และการใช้ทั่วไปอย่างแพร่หลาย บ้างก็ว่า เราถูกปกคลุมด้วยมายาคติ กัญชานั้นมีประโยชน์มากกว่าโทษเป็นไหนๆ แต่บางส่วนก็ยังส่ายหน้าไม่สนใจ ในประเทศไทยเองก็มีกลุ่มอย่าง ‘กัญชาชน’ หรือ ‘Highland’ ที่ออกมาเคลื่อนไหวและพยายามให้ความรู้ผู้คนถึงประเด็นดังกล่าว โดย ‘ไกด์-รัฐพล แสนรักษ์’ ผู้ก่อตั้งกลุ่มมองว่า แท้จริงแล้ว “มันอาจไม่เกี่ยวกับเรื่องศีลธรรม แต่มันเกี่ยวกับระบบบริหารจัดการของรัฐมากกว่า”

ในขณะที่อุรุกวัยเป็นประเทศแรกที่ให้กัญชาเป็นสิ่งถูกกฎหมายในเชิงนันทนาการ และมีประเทศที่สองอย่างแคนาดาตามมา เรื่องของกัญชาในประเทศไทยกำลังอยู่จุดไหนกันแน่?

กัญชาในแคนาดาเพิ่งกลายเป็นสิ่งถูกกฎหมายเมื่อเร็วๆ นี้ มองดูเขา แล้วย้อนดูเรา คุณมีความคิดเห็นอย่างไร

แคนาดาผลักดันเรื่องนี้มาค่อนข้างนาน และมีการใช้ทางการแพทย์ในระยะเวลาเกือบๆ สิบปีที่ผ่านมามีการผลักดันเป็นนโยบายทางการเมือง จนกระทั่งผ่านมาสองสามปีเขาก็ทำจริงๆ ตามที่สัญญาไว้ นั่นคือภาพของแคนาดาว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร คือมันมีระยะเวลาของมันอยู่ และพอมองย้อนกลับมาที่ไทย เราอาจจะต้องเริ่มจากสเต็ปที่เขาผ่านมาตั้งแต่สิบปีที่แล้ว เพราะสภาพสังคมและความเข้าใจมันอาจจะยังอยู่แค่ในสภาวะการปรับเปลี่ยนเพื่อใช้ทางการแพทย์ เปรียบเทียบกันแล้วมันอาจเป็นเรื่องของไทม์ไลน์ว่า เขาเดินมาถึงจุดไหน และเรากำลังอยู่ตรงไหน

ตอนนี้หน้าที่หลักๆ ของเพจ ‘กัญชาชน’ คืออะไร

มันคือการให้ความรู้ ให้ความเข้าใจว่า กัญชาคืออะไร มีดีอย่างไร มีโทษอย่างไร ใช้อย่างไร ที่อื่นเป็นอย่างไร คนในสังคมนั้นเขามีมุมมองแบบไหนต่อกัญชา เรากำลังเผยแพร่ชุดความรู้ความเป็นจริงที่ผู้คนอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่า โลกมันเป็นแบบนี้

กัญชาเป็นสิ่งผิดกฎหมายในไทยมาค่อนข้างนาน ทำไมอยู่ๆ ถึงอยากให้มันถูกกฎหมาย

ผมไม่ได้คิดว่ามันนานน่ะครับ มันแค่ไม่เกินแปดสิบปี แต่มนุษย์เนี่ย เราใช้กัญชามาน่าจะเกือบๆ 8-9 พันปีแล้วจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เพราะฉะนั้น 80 กับ 8,000 เมื่อเทียบกันแล้วมันเป็นตัวเลขที่น้อยมาก และการเกิดขึ้นของกัญชาผิดกฎหมายมันไม่ได้มาจากความจริงว่า มันเลวร้าย แต่มันมาจากโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) ที่ถูกสร้างขึ้นมา เพราะในช่วงปี 1930 กว่าๆ เนี่ย มันมีการสร้าง propaganda อย่างมโหฬารว่า กัญชาเป็นสิ่งเลวร้าย ด้วยหลายองค์ประกอบ เริ่มจากในยุค 20s ที่แอลกอฮอล์ผิดกฎหมายในสหรัฐฯ หลังจากนั้นอีก 10 ปี AlcoholProhibition เนี่ยมันไม่ได้ผล เขาเลยเลิกเพราะมันเกิดการขาดแคลนงบประมาณของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดของทางฝั่งอเมริกา ช่วงนั้นจะมีแคมเปญของพวกบริษัทยา กระดาษ พลาสติก น้ำมัน ผ้า ที่ร่วมกันสร้างมายาคติว่าพืชชนิดนี้มันเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมต่างๆ มันจึงกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ซึ่งในช่วงนั้นชัดเจนว่า มันมีการสร้างความเชื่อที่แปลกประหลาด โดยการโยนให้กัญชาเป็นตัวร้ายของสังคม ซึ่งความจริงในปัจจุบันมันไม่ได้เป็นแบบนั้น

มันมาจากเรื่องทางการเมือง?

มันเป็นเรื่องของการเมือง เรื่องของธุรกิจ เรื่องของอะไรหลายๆ อย่าง เพราะถ้ามองกลับไปจริงๆ มันเป็นพืชที่มีประโยชน์มาก เพราะมันสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ได้หลายอย่าง

โดยส่วนตัวอะไรเป็นแรงขับให้อยากเคลื่อนไหวในประเด็นนี้

เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้วผมไปอยู่ที่อเมริกา ซึ่งในช่วงนั้นเราป่วยเป็นไมเกรน ก็เลยไปหาหมอ หมอก็เลยแนะนำว่า นอกจากการกินยามันมีทางเลือกอย่างกัญชานะ ผมก็เลยสนใจ ลองดู และมันก็ได้ผลจริงๆ กับโรคที่เราเป็น เลยเริ่มศึกษามากขึ้น จนไปเจอเรื่องมะเร็ง ซึ่งเผอิญครอบครัวผมทั้งพ่อ ปู่ ย่าเนี่ยเสียชีวิตจากมะเร็ง เราเลยคิดว่า เฮ้ย ครอบครัวเราผ่านอะไรพวกนี้มา เราก็สนใจมาก เลยไปศึกษากับคนที่เป็นมะเร็งและใช้จริงๆ ไปเจอกับคนที่เขาปลูก ถึงได้รู้ว่า จริงๆ แล้ว เขาใช้กันมายี่สิบกว่าปีแล้ว โดยที่เราไม่เคยรู้เลย ซึ่งพอไปเจอกับคนป่วยที่ใช้กัญชา เราพบว่าคุณภาพชีวิตของเขาค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับคนในครอบครัวเรา คือกินได้ นอนหลับ ใช้ชีวิตได้ ทำงานได้ บางคนเขาก็จะรู้สึกว่า มะเร็งมันก็เป็นโรคเหมือนเบาหวาน เป็นโรคเรื้อรังอย่างหนึ่ง ผมเลยรู้สึกว่า เฮ้ย มันก็ไม่ได้แย่เหมือนที่โรงเรียนหรือระบบการศึกษาในไทยเคยสอนเรามา

หลังจากนั้น แม่ผมป่วยเป็นมะเร็ง ผมเลยต้องกลับมาดูแลแม่ที่ไทย ตอนนั้นเลยคิดว่า อยากเอากัญชามาลองดูเพื่อช่วยแม่ ลองคุยกับแม่ว่ามันได้ผล แต่แม่ก็กลับปฏิเสธว่า ยังไงเขาก็ไม่เอา เพราะเขาเชื่อว่า มันคือยาเสพติด มันมีแต่โทษ ไม่มีทางดีได้ คนรอบข้างก็ไม่เชื่อ ทุกคนปฏิเสธ จนสุดท้ายแม่ก็เสียชีวิตอย่างค่อนข้างเจ็บปวดทรมาน ผมเลยรู้สึกว่า แค่ทัศนคติแย่ๆ กับสิ่งที่เราถูกปลูกฝังมาในอดีต ในระบบการศึกษา มันสามารถทำให้คนเราปฏิเสธสิ่งที่แม้กระทั่งอาจกลายเป็นทางรอดของตัวเองได้เลยด้วยซ้ำ ผมเลยเริ่มมาทำเพจด้วยอยากให้คนไทยรู้ว่า มันมีอีกด้านหนึ่งที่เราไม่เคยมอง


คำจำกัดความอย่าง ‘ของมึนเมา’ ของกัญชาที่เราถูกปลูกฝังกันมา กลายเป็น ‘ยารักษาโรค’ ได้อย่างไร

ในทางการแพทย์มีการใช้อย่างเป็นทางการในประเทศต่างๆ มาไม่ต่ำกว่ายี่สิบปี ปัจจุบันน่าจะมีเกือบๆ สามสิบโรคที่เขาอนุญาตให้ใช้ในการรักษา มันมีการศึกษาวิจัยที่มารองรับเรื่องนี้ชัดเจนในหลายๆ กลุ่มโรค ซึ่งการค้นพบย้อนหลังไปยี่สิบปี มันเป็นการค้นพบการหลั่งสารในร่างกายของเราเองที่มันคล้ายๆ กับสารในกัญชา ซึ่งระบบการทำงานเหล่านี้เป็นระบบค่อนข้างใหญ่ในร่างกายเรา มันมีความสำคัญ และเป็นกุญแจที่ไขไปสู่การเกิดโรค และการรักษาโรค หรือช่วยบรรเทาการเกิดโรค คือเราใช้กัญชามา 8,000 ปี แต่เราเพิ่งค้นพบความลับเหล่านี้เมื่อไม่กี่สิบปีที่แล้ว นี่คือหนึ่งในเหตุผลว่าทำไมมันถึงเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

อย่างเรื่องมะเร็งกัญชาจะช่วยอย่างไร

มะเร็งมันมีการทดลองที่ชัดเจนแล้วในระดับเซลล์ว่า มันทำให้เซลล์มะเร็งเกิดกระบวนการฆ่าตัวตาย ส่วนการทดลองในสัตว์ก็ค่อนข้างชัดเจนว่าได้ผล คือการทำให้เซลล์มะเร็งตาย แต่ไม่ทำให้เซลล์ปกติตายไปด้วย ไม่เหมือนการใช้คีโม ตอนนี้กำลังอยู่ในกระบวนการทดลองเพื่อใช้ในคน แต่ที่ใช้กันหลักๆ อย่างแพร่หลายในยุโรป อเมริกา ก็คือการลดความเจ็บปวด ช่วยกระตุ้นความอยากอาหาร ทำให้กินได้นอนหลับ ซึ่งองค์ประกอบต่างๆ เหล่านี้ที่มีการรับรองทางการแพทย์แล้วเนี่ย มันทำให้คนป่วยใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

สุดท้ายถ้ากัญชาในประเทศไทยจะถูกจำกัดไว้ให้ใช้ได้แค่ในเชิงการแพทย์อย่างเดียว ไม่ถูกขยายไปสู่ด้านนันทการจะโอเคไหม

คือมันคงโอเคในมุมมองของผู้ป่วยน่ะครับ แต่จริงๆ แล้วกัญชามันไม่ได้ถูกใช้แค่ด้านนั้นด้านเดียว มันมีทั้งการใช้เพื่อความเพลิดเพลิน เพื่อความผ่อนคลายด้วย แต่ถ้าเรายังจัดการปัญหากับการใช้เพื่อความผ่อนคลาย ด้วยการทำให้มันเป็นโทษทางอาญา มันก็คงไม่ใช่การจัดการปัญหาที่ดีแน่นอน

จากความพยายามที่ผ่านมา ตอนนี้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกัญชาในสังคมไทยเป็นอย่างไร

ขอย้อนกลับไป 5 ปีที่แล้วก่อนว่า ตอนนั้นสิ่งที่เราเห็น ภาพที่สังคมเข้าใจเกี่ยวกับกัญชามันมืดสนิทมาก มองไปทางไหน หนังสือพิมพ์ ทีวี ทุกอย่าง เราจะเห็นมุมมองแค่เพียงด้านเดียว นั่นคือจับคนเสพกัญชา คนเสพกัญชาทำเรื่องราวร้ายๆ ไม่ดี มันไม่มีมุมอื่นที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงเลย แต่หลังจาก 5 ปี ตอนนี้เราเห็นว่า สื่อหลักเริ่มหันมาพูดถึงการใช้กัญชาในทางการแพทย์ เริ่มหันมาพูดถึงมุมมองอื่นๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อนในสังคมไทย มีคนจากภาครัฐ ป.ป.ส. องค์การเภสัช ลุกขึ้นมาสนับสนุน ผลักดันให้เรื่องนี้เกิดขึ้น และเรากำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายหลักๆ นั่นคือ จะอนุญาตให้ใช้ในทางการแพทย์ได้ ซึ่งมันค่อนข้างเป็นการเปลี่ยนแปลงในสเต็ปที่ค่อนข้างใหญ่

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้เรายังขยับไปได้ไม่เร็วนักคืออะไร

มันคือเรื่องเดียวกับเมื่อ 5 ปีที่แล้ว นั่นคือเรื่องของมุมมองของสังคม เพราะการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมาย หรืออะไรก็ตาม มันจะมาจากความรู้สึกของคนในสังคมเป็นหลัก คือถ้าความเข้าใจโดยรวมของสังคมดีขึ้น ผมคิดว่าความเปลี่ยนแปลงมันก็จะง่ายขึ้น ยกตัวอย่างจากเรื่องความเปลี่ยนแปลงในการแพทย์ พอสังคมเข้าใจ จากโพลล์สำรวจต่างๆ เสียงต่อต้านก็แทบจะไม่มี ผมเซอร์ไพรส์มากที่คนสนับสนุนเจ็ดสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ ซึ่งนี่คือการเปลี่ยนแปลงทางกระบวนการคิดที่ถือว่าใหญ่ แต่อุปสรรคก็คือ นอกเหนือจากเรื่องการแพทย์ เมื่อเราพูดถึงการใช้ในอีกด้านหนึ่ง เราก็อาจต้องทำความเข้าใจกันอีกรอบ

ปัจจัยอะไรในเชิงรูปธรรมที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในกระบวนการเข้าใจ

มันมีหลายปัจจัยมากๆ เลย ทั้งองคาพยพหลักของสังคมเราเลยดีกว่า ทั้งการเปลี่ยนทางด้านกฎหมาย การเมือง สังคม วัฒนธรรม อย่างแรกเราไม่ได้เรียกร้องอะไร แต่เรากำลังพยายามทำความเข้าใจกับสังคมว่า มันน่าจะมีประโยชน์ต่อประเทศในแง่ไหนบ้าง เรื่องอคติมันมีอยู่แล้ว แต่ความจริงมันก็คือความจริง คือเราพูดความจริงว่า เฮ้ย วิทยาศาสตร์มันบอกมาแบบนี้นะ เพราะฉะนั้นเราควรมาพิสูจน์กัน ไม่ใช่มาถกเถียงกันด้วยอารมณ์

ขอบเขตของการที่จะทำให้กัญชาถูกกฎหมายที่คิดไว้คืออะไร

การทำให้ถูกกฎหมายมันอยู่ภายใต้ขอบเขตบางอย่างอยู่แล้ว อย่างเหล้า บุหรี่ทุกวันนี้ มันก็คือการวางข้อกำหนด (regulation) บางอย่างเพราะฉะนั้นการทำให้กัญชาถูกกฎหมายมันก็จะเป็นหนึ่งในวิธีการเหล่านั้น อย่างแคนาดาเขาก็มีการจำกัดว่า ต้องอายุเท่าไหร่คุณถึงจะซื้อได้ หรือใช้ได้ที่ไหนบ้าง ปลูกได้กี่ต้น คือมันต้องมีข้อจำกัดบางอย่างเพื่อให้องค์รวมของสังคมสามารถรับได้ เพราะฉะนั้น หลักๆ เลย คือต้องมีกฎเกณฑ์ให้เราอยู่ร่วมกันได้

ถามตรงๆ ว่าคุณเป็นผู้เสพด้วยหรือเปล่า

ถือว่าเป็นผู้ใช้ครับ แต่ผมไม่ใช่ heavy user ไม่ใช่อยู่ดีๆ ผมอยากสูบกัญชาก็สูบ แต่โอเค มันมีบ้างที่บางครั้งเราต้องการการผ่อนคลาย เวลาเราเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานหนักๆ ผมรู้สึกว่า มันก็เป็นทางเลือกในการผ่อนคลายที่โอเค ถ้าเทียบกับการดื่ม เราไม่ได้มองว่ามันเลวร้ายกว่าการดื่มแอลกอฮอล์ คือเราใช้แล้ว ไม่ได้ไปก่อความเดือดร้อนแก่ใครใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งมันไม่ควรเป็นความผิดด้วยซ้ำ

สิ่งที่กำลังเรียกร้องอยู่ ส่วนหนึ่งก็เพื่อความสะดวกของตัวเองด้วยหรือเปล่า

ผมคิดว่าเรื่องนี้มันเป็นเรื่องเล็กมากๆ คือถ้าต้องการสูบกัญชา ซื้อหาง่ายๆ ผมไม่จำเป็นต้องมาทำอะไรแบบนี้หรือเปล่า อยู่แบบเดิมมันก็ไม่ต้องเดือดร้อนอยู่แล้ว

คิดอย่างไรกับชุดคำอย่าง ‘ขี้ยา’ หรืออะไรทำนองนี้

ผมมองว่ามันเป็นการเหยียดละกัน มันเป็นการเอาชุดความคิดแบบเหมารวมมาจับ พอเห็นคนสูบกัญชาก็จะตีขลุมว่าต้องเป็นขี้ยา ผอมแห้งแรงน้อย งานการไม่ทำ เหมือนเขาเอาชุดความคิดที่เป็นแพทเทิร์นมาใส่ง่ายๆ เหมือนหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นในอดีต เหมือนคนเป็น HIV หรือเป็น LGBT คือในสังคมเรามีชุดความคิดเหล่านี้อยู่มากมายอยู่แล้ว ที่เรามักเอาไปยัดให้เขา ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้เป็นแบบนั้น เขาอาจจะทำงานทำการปกติ ไม่ได้ไปสร้างความเดือดร้อนให้ใครก็ได้ นี่ก็เป็นหนึ่งในประเด็นเหล่านั้น

กัญชาทำให้เสพติดได้ใช่ไหม

มีโอกาสเสพติด แต่เวลาเราไปเทียบทางวิทยาศาสตร์ เช่น กาแฟ น้ำตาล บุหรี่ แอลกอฮอล์ กัญชามีอัตราการเสพติดได้น้อยกว่าค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่าสูบกัญชาไปครั้งหนึ่งแล้วเราจะติด และต้องการมันไปตลอด การจะเข้าไปเสพติดอะไรมันต้องอาศัยการใช้เชิงพฤติกรรมวนๆ ซ้ำๆ และเข้าไปอยู่ในวงจรแบบนั้น แต่การจะเกิดวงกรแบบนั้น มันไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ อย่างที่เราคิด

สุดท้ายแล้วมันคือของชนิดเดียวกับสิ่งที่ถูกกฎหมายอยู่แล้วอย่างเหล้า หรือบุหรี่?

ใช่ครับ มันคือเครื่องมือในการผ่อนคลายชนิดหนึ่ง และถ้าพูดถึงเหล้ากับบุหรี่ เราสามารถเทียบได้ว่าอะไรอันตรายกว่ากัน ซึ่งมันมีงานวิจัยทั่วโลกแหละครับที่วิจัยออกมาว่าการจะวัดว่าอะไรอันตรายกว่าอะไร มันวัดจาก 3 ปัจจัย 1.การที่มันทำอันตรายกับตัวผู้ใช้ 2.เป็นอันตรายต่อสังคม 3.อัตราการเสพติด (dependency) ทั้ง 3 ปัจจัยที่กล่าวมา เมื่อเทียบกัญชากับบุหรี่ หรือแอลกอฮอล์ กัญชาจะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า

ครั้งหนึ่งในยุค 60s กัญชาเคยถูกมองจากกลุ่มบุปผาชนว่า มันเป็นสัญลักษณ์ของเสรีภาพ ถ้าวันหนึ่งมันถูกกฎหมายขึ้นมาในไทยมันสามารถกลายเป็นหมุดหมายที่บ่งบอกว่าเสรีภาพในบ้านเรากำลังเพิ่มขึ้นได้ไหม

กัญชามันเป็นตัวแทนของเสรีภาพ เพราะมีการต่อสู้มาโดยตลอดตั้งแต่มันถูกทำให้ผิดกฎหมาย เพราะฉะนั้นมันชัดเจนอยู่แล้วครับว่า มันเป็นหมุดหมายที่สำคัญ อย่างแคนาดามันก็เป็นช่วงเวลาที่สำคัญในประวัติศาสตร์ของเขาเหมือนกัน ดังนั้น ในบ้านเรา มันก็น่าจะแสดงให้เห็นว่า เรากำลังจะมีเสรีภาพที่เพิ่มมากขึ้น

รวมถึงเรื่องอื่นด้วยไหม เช่น มีการพูดกันว่ากัญชาอาจกลายเป็นพืชเศรษฐกิจได้

การที่กัญชาจะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจในประเทศไทย ผมมองว่าบ้านเรามีข้อได้เปรียบหลายๆ อย่าง เมื่อเทียบประเทศทางแคนาดา หรืออเมริกาที่เขามีสภาพอากาศโหดร้าย คือเอาง่ายๆ แค่ในอุตสาหกรรมยา ตัวเลขมันสูงมาก และความต้องการมันกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอีกสิบปีข้างหน้า จากการคาดการณ์ของสำนักต่างๆ ตัวเลขการเติบโตของมันจะอยู่ที่ 400-500 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นมันเป็นโอกาสที่ดีมากๆ ไม่ว่าของประเทศไหนก็แล้วแต่ที่จะสามารถผลิตพืชชนิดนี้เพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดการผลิตยา แต่ถ้าเราพัฒนาก่อน เข้าใจก่อน ทำได้ก่อน มันก็จะมีโอกาสเข้าไปสู่ตลาดได้ก่อน กลับกันถ้าเรามัวรีรอต่อไปเราอาจต้องนำเข้ายาของชาวบ้านมาใช้ก็ได้ ทั้งๆ ที่เราปลูกเองได้ ทำเองได้ ผลิตเองได้ ซึ่งการที่เราทำเองได้ มันหมายถึงต้นทุนที่ลดลง ทำให้โอกาสในการเข้าถึงยาของคนเพิ่มขึ้น ซึ่งเรื่องพวกนี้มันน่าจะไปไกลถึงการแก้ปัญหาในเชิงสาธารณสุขได้ด้วย

แล้วในส่วนของการใช้เพื่อนันทนาการ?

อย่างที่เราเห็นไปแล้วว่า อุรุกวัยเปิดไปแล้ว แคนาดาเปิดไปแล้ว อเมริกาหลายๆ รัฐเปิดไปแล้ว ในยุโรปเขาก็ยกเลิกโทษทางอาญา คือการใช้มันค่อนข้างได้รับการยอมรับ และอุตสาหกรรมก็กำลังขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายแล้วมันก็คือ กระแสโลก ที่จะล้มกันไปแบบโดมิโน่ เพราะฉะนั้นในอนาคตประเทศไทยก็คงไม่สามารถต้านกระแสโลกตรงนี้ได้ คำถามคือ เราจะเข้าไปตอนไหนมากกว่า

ที่คุยกันมาเราพูดถึงแต่ข้อดีของกัญชาราวกับมันเป็นยาวิเศษ จริงๆ แล้วมันมีข้อเสียบ้างไหม

ทุกอย่างไม่ว่าอะไรมันก็มีข้อดีข้อเสียเหมือนกันหมด กัญชามันก็มีข้อเสียหลายๆ อย่าง แต่ต้องบอกว่าข้อเสียมันอาจไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน สมมุติเงื่อนไขร่างกายของคุณเป็นโรคหัวใจ ซึ่งกัญชาจะไปกระตุ้นอัตราการเต้นของหัวใจ มันอาจจะไม่เหมาะ คุณก็ต้องหลีกเลี่ยง หรือคุณเป็นเยาวชน มันก็จะมีผลต่อการพัฒนาของสมอง

ดังนั้นการทำให้มันถูกกฎหมาย คือทางแก้ปัญหาที่เราจะสามารถกำหนดข้อบังคับการใช้งานของกัญชาให้ชัดเจน ผ่าน อย. หรืออะไรทำนองนั้น?

ถูกต้องครับ ถ้ามันถูกกฎหมาย มันก็ชัดเจนขึ้นมาว่าใครควรใช้ ไม่ควรใช้ มีการให้ความรู้มากขึ้น เหมือนอย่างเหล้า คุณเป็นความดันคุณก็ไม่ควรดื่ม แต่เวลามันอยู่ในโลกใต้ดิน องค์ความรู้เหล่านี้มันไม่มีไง ก็ใช้กันแบบมั่วๆ ผิดๆ แถมยังเป็นของที่ไม่มีคุณภาพด้วย

สุดท้ายแล้วถ้าสิ่งที่หวังไว้เป็นจริง คือกัญชากลายเป็นสิ่งถูกกฎหมายทั้งทางการแพทย์ และนันทการ มองว่าภาพรวมของประเทศเราจะเป็นอย่างไร

มันก็คงเหมือนเดิมแหละครับ คือก่อนหน้าที่มันจะถูกกฎหมายเราจะจินตนาการไปได้ทั้งทางที่ดีและแย่ ในมุมมองด้านลบ คนก็จะจินตนาการว่า เดี๋ยวคนก็จะไปติดกัญชากันทั้งบ้านทั้งเมือง เดี๋ยวเด็กจะต้องมาใช้กันเละเทะ นี่คือข้อกังวลก่อนที่มันจะถูกกฎหมาย ในหลายๆ ที่ด้วย ไม่ใช่แค่ไทย ผมยกตัวอย่าง รัฐโคโลราโด ก่อนหน้านี้เขาก็กังวลกันว่า มันต้องเป็นอย่างนู้นอย่างนี้ แต่พอผ่านไปสี่ห้าปี ทุกอย่างมันเหมือนเดิมน่ะครับ คนใช้ก็เท่าเดิม เด็กเยาวชนไม่ได้ใช้มากขึ้น ตัวเลขลดลงด้วยซ้ำ เพราะมันไม่ได้ท้าทายอีกต่อไปแล้ว แต่สิ่งที่ต่างคือ 1.ไม่มีคนไปติดคุก 2.รัฐสามารถจัดการบริหารได้ สินค้ามีคุณภาพมากขึ้น และรัฐได้เงินภาษี นี่คือข้อแตกต่างชัดเจน

ถ้าขยับไปสู่เรื่องสารเสพติดชนิดอื่น เช่น ยาไอซ์ ยาบ้า ยาอี คุณมองอย่างไร

ผมมองว่าทุกอย่างต้องการการบริหารจัดการที่ดีกว่านี้ ผมไม่เคยคิดว่าการบริหารจัดการแบบใต้ดินที่ห้ามทุกอย่างแบบที่ประเทศไทยห้ามมันได้ผล สุดท้ายแล้ว มันมีอันไหนบ้างที่เราห้ามแล้วมันไม่มีล่ะครับ การพนัน ค้าประเวณี ยาเสพติด ทุกอย่างที่ห้าม เรามีหมด เพราะฉะนั้นมันชัดเจนว่าการบริหารจัดการแบบนี้มันล้มเลวอย่างสิ้นเชิง

รากของปัญหาจริงๆ มันอาจไม่ใช่เรื่อง ‘ความดี-ความชั่ว’ แต่มันคือเรื่องของการบริหารจัดการ?

ใช่ครับ เรื่องนี้มันไม่เกี่ยวกับเรื่องศีลธรรม ความดี ความเลว แม้แต่นิดเดียว มันเป็นปัญหาในเรื่องของการบริหารจัดการที่ไม่ชัดเจน หรือมันผิดฝาผิดตัว มันเลยเป็นปัญหาที่หมักหมมมาอย่างยาวนานจนถึงทุกวันนี้

user's Blog!

49/1 ชั้น 4 อาคารบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

49/1 4th floor, Phra-A-Thit Road, Chanasongkhram,Phanakorn Bangkok 10200

Tel. 02 629 2211 #2256 #2226

Email : mars.magazine@gmail.com

FOLLOW US ON

SUBSCRIBE