หากบทเพลง ‘อย่าหยุดยั้ง’ (The O-Larn Project – อัลบั้ม กุมภาพันธ์ 2528) คือแรงกระตุ้นชั้นเยี่ยมให้ต่อสู้ฝันฝ่าทุกปัญหาสู่ความสำเร็จ ‘นางแมว’ (หิน เหล็ก ไฟ – อัลบั้ม หิน เหล็ก ไฟ) ก็คงเป็นหัวหอกแหวกทุกกระแสนำพาบทเพลงร็อกเข้าสู่ผับ/เธคทั่วไทย พ่วงด้วยหลายเพลงฮิตรวมกันเป็นอัลบั้มที่ได้รับการกล่าวขานว่าดีที่สุดในประวัติศาสตร์เพลงของเมืองไทย พร้อมยอดจำหน่ายมากกว่า 1 ล้านตลับ เช่นเดียวกับเพลง ‘หลงกล’ (หิน เหล็ก ไฟ – อัลบั้ม คนยุคเหล็ก) และ ‘ง่ายเกินไป’ (The Sun – ชุดที่ 2 อัลบั้ม เสือ สิงห์ กระทิง แรด) ที่เป็นกระแสให้คนร้องตามกันทั่วประเทศ ในยุคที่อัลเทอร์เนทีฟแทรกซึมไปในดีเอ็นเอของใครหลายคน จนมาถึง ‘ศรัทธา’ เพลงให้กำลังใจที่พร้อมปลุกไฟในตัวคุณให้ลุกขึ้นสู้กับนานาอุปสรรค ก็ได้รับเสียงตอบรับยอดเยี่ยม พร้อมปลุกกระแสร็อกให้ฟื้นคืนชีพเฉกเช่นเดียวกับชื่ออัลบั้ม ‘Never Say Die’ (หิน เหล็ก ไฟ)
‘โป่ง – ปฐมพงศ์ สมบัติพิบูลย์’ มีส่วนร่วมกับทุกความสำเร็จของทุกบทเพลงที่กล่าวมา ผู้ชายคนนี้คือ Idol ของใครหลายคน แต่สำหรับวงการเพลงไทยเขาคนนี้คือ ‘Rock Icons’ ตัวจริงเสียงจริง การันตีด้วยผลงานชั้นยอดตลอดสามทศวรรษบนเส้นทางสายดนตรี และแน่วแน่มุ่งไปในทิศทางสายร็อก ตั้งแต่ยุคบุกเบิก ตั้งไข่ เฟื่องฟูถึงจุดสูงสุด จนมาถึงในวันนี้ในยุคที่วงการดนตรีเปลี่ยนผ่านจากอนาล็อกสู่ดิจิตอลอย่างสมบูรณ์แบบ ความซบเซาแทรกสู่วงการจนแม้แต่ค่ายใหญ่ยักษ์ยังซึมเศร้า แต่เขาก็ยังคงยืนหยัดพร้อมกับคำว่า ‘Rock Never Die’
วงการเพลงทุกวันนี้เป็นอย่างไร
เดี๋ยวนี้ไม่เหมือนแต่ก่อน มันเล็กมากแล้ว เพราะธุรกิจเพลงทั่วไปมันซบเซามากๆ ขนาดบริษัทใหญ่ๆ ยังได้รับผลกระทบอย่างหนักเลย จากที่เคยเป็นอัลบั้มก็แปรเปลี่ยนเป็นซิงเกิ้ลหมดแล้ว มันกลายเป็นนำเสนอคอนเทนต์ในส่วนประกอบอื่นๆ ไปมากกว่า ทั้งตัวสินค้าหรือมือถือ ไม่ได้เป็นการขายเพลงเป็นหลักเหมือนสมัยก่อน นอกจากว่าจะมีใครเปรี้ยงออกมาเขาถึงจะทำต่อ ซึ่งทุกวันนี้ก็ใช้โมเดลแบบนี้กันหมด มันก็เลยดูเหมือนซบเซาไป แต่พวกชาวร็อกที่อยู่ได้ดิน เขาก็ยังมีกลุ่มของเขาอยู่เหมือนเดิมไม่ได้ขยายตัวหรือหดหายไปไหน ก็ยังอยู่กันแบบเล็กๆ เหมือนเดิม ซึ่งยุคดิจิตอลแบบปัจจุบันนี้นี่แหละที่เป็นเรื่องดีกับกลุ่มเล็กๆ คือ มันสื่อสารกันง่ายขึ้น เห็นกันเร็ว ตอบโต้กันง่ายขึ้น ช่องทางโซเชียลเน็ตเวิร์คมากมายให้คนติดตามได้ง่ายขึ้น
ทางอยู่รอดของผู้ผลิตคืออะไร
ง่ายๆ เลยก็คือ ลงทุนให้เหมาะสมกับตลาด ถ้าเราเป็นจุดเล็กๆ ก็ไม่ควรลงทุนให้มากจนเกินไป เอาให้พอดีๆ เดี๋ยวนี้ถ้าทำเล็กๆ มันพอคอนโทรลได้ จะเห็นว่าควรใช้ตรงไหนอย่างไร ถ้าไปปล่อยมิวสิควิดีโอแบบสมัยก่อน ทำกันที 4-5 แสน ลงทุนกันทั้งอัลบั้มเป็นล้าน แล้วยอดขายแบบนี้ ดาวน์โหลดฟรีก็เยอะอีก ตายพอดี ไม่มีใครทำแบบนั้นอีกแล้ว เราก็ทำให้มันเล็กลงแบบพอดีตัว
อย่างเช่นของผม ตอนนี้มีช่องทางคือ Facebook ของ ‘หิน เหล็ก ไฟ’ (www.facebook.com/stonemetalfire) ก็จะมีวิทยุ ‘Rock Station’ ก็มีคนวนเวียนอยู่ไหนนี้ 4-5 แสนคน สมมุติเราขายได้ 5,000 – 10,000 นึง ก็ลงทุนให้พอดีกัน
ตอนนี้แต่ละวงก็พยายามมีแฟนคลับเป็นฐานของตัวเอง สมมุติมีฐาน 500 คน พรีออเดอร์ 500 คนนี้สั่งซื้อแน่นอนโอนเงินเรียบร้อย เราก็ผลิตให้พอดี นอกเสียจากว่า โอ้โหดันบูมขึ้นมา YouTube ยอดวิวเยอะมากๆ เขาก็ได้เงินจาก YouTube ด้วย สินค้าก็ขายได้ดีด้วย เราก็สามารถไปดีลกับผู้สนับสนุนได้อีกระดับหนึ่ง ก็ดันเขาต่อเนื่องไปทีละสเต็บ แต่ถ้าลงทุนตูมเดียวแบบแต่ก่อน บริษัทใหญ่ยังไม่ทำเลย เราคงไม่ซ่าไปทำแน่นอน (หัวเราะ)
สายร็อกเหมือนสายอื่นไหมที่ว่าอยู่ได้ด้วยโชว์
แน่นอนครับ เช่นกันกับทุกแนว คือเรื่องโชว์นี่แหละสำคัญ เพราะว่าถ้าเล่นดี โชว์สนุก ยังไงคนก็ยังไปดูอยู่ อันนี้เลียนแบบกันไม่ได้ มันเป็นตัวตนที่ชัดเจนของเรา โชว์มันก็อปปี้ไม่ได้ แต่มีก็อปปี้โชว์ (หัวเราะ) มีโป่ง หินเหล็กปูนทราย, โป่ง เดอะร็อก และมีล่าสุด โป่ง เหล็กดัด ก็ดีครับสนุกดี ผมก็ไม่ได้ว่าอะไร ก็รู้จักกัน เขาก็มาขออนุญาตผม ผมก็ยินดีนะ แต่ว่าบางทีมีเรื่องของลิขสิทธิ์ก็ต้องระวังกันด้วย (หัวเราะ)
แล้วทิศทางต่อไปของวงการเพลงไทยในอนาคตล่ะ?
คาดเดายากมากเลย แต่คงกลับไปเป็นเหมือนเดิมไม่ได้แน่นอน แม้แต่ญี่ปุ่นเอง เพื่อนๆ ที่โน่นที่เป็นวงที่มีชื่อเสียงก็ซึมไปเหมือนกัน เขาบอกชอบเมืองไทยที่นี่มันร้านให้เล่นเยอะ เขาต้องการเล่นต้องการโชว์อย่างมาก แต่ที่โน่นทุกครั้งที่เล่นต้องทำเป็นคอนเสิร์ต ไม่มีเล่นในผับ มีก็น้อยมากๆ เขาก็ต้องแพลนตลอดปี เพื่อให้ได้มีงานเล่น และแน่นอนก็ต้องเป็นงานใหญ่ตลอดซึ่งมันใช้งบประมาณค่อนข้างสูง เขาบอกว่ามาเมืองไทยสนุกกว่ามีที่ให้เล่นตลอด แต่ที่ญี่ปุ่นก็มีขอดีคือ CD เพลงยังขายได้ ร้าน CD ใหญ่ๆ ยังอยู่ได้ แต่บ้านเราไม่เหลือแล้ว
ผมก็ว่ามันน่าจะทรงๆ อยู่แบบนี้ แล้วโอกาสที่จะกลับไปเหมือนเดิมก็คงยาก แต่ว่าจะเกิดกลุ่มย่อยเยอะขึ้น กระจัดกระจายมากขึ้น อย่างถ้าผมมีฐานแฟนเพลงหนึ่งหมื่นคนแน่นอนแล้ว ผมก็จะบริหารคนกลุ่มนี้ได้ง่ายขึ้น เล่นคอนเสิร์ตอย่างน้อยๆ ก็จะมีคนกลุ่มนี้ไปดูแน่นอน มีผลงานขายก็จะมีคนกลุ่มนี้รอซื้อ เราก็บริหารงบลุงทุนได้ง่ายให้พอดีกับคนกลุ่มนี้ เหมือนกับที่ตอบในคำถามข้างต้นคือ เปิดโอกาสให้กลุ่มเล็กๆ ได้ลืมตาอ้าปากมากขึ้น และทุกวันนี้บริษัทใหญ่ๆ ก็ใช้วิธีนี้ ทุกคนลงมาในโลกออนไลน์ Facebook, YouTube กันหมด ไม่มีใครเทงบทำมิวสิควิดีโอ 5 แสน แล้วเอามาลงแค่ใน YouTube สมัยนี้ไม่มีแล้ว
เติบโตจากยุคอนาล็อกจนมาเป็นดิจิตอล ปรับตัวมากน้อยแค่ไหน
ใช้เวลาพอสมควรนะ ตอนแรกนี่มึนเลย คือเราติดตามข่าวจากต่างประเทศด้วย ทุกคนก็มีปัญหากันหมด บริษัทใหญ่ๆ ก็มีการปลดพนักงานกันมากมาย นักแต่งเพลงมีการเคลื่อนย้ายกันอุตลุด เราก็ดูว่ามันแย่แล้ว จากอัลบั้มก็มาขายเป็นเพลง เพลงก็มาดาวน์โหลดกัน เพลงภาษาอังกฤษอาจจะได้เปรียบเพราะฟังกันได้ทั่วโลก ภาษาไทยนี่ยิ่งลำบากไปใหญ่เลย ซึ่งมันก็เห็นว่ามีการหดตัวชัดเจน อย่างผมก็เคยทำ ‘Real and Sure’ ร่วมกับ RS ไปลงทุนห้องอัดรอไว้ ก็ยังต้องเลิกรากันไป ขายของทิ้งหมด แล้วมาทำโฮมสตูดิโอเล็กๆ ที่บ้าน เราก็ต้องปรับตัว จนมาอยู่ในจุดนี้ก็โอเคแล้ว รับมือได้
รวมไปถึงขั้นตอนการทำงานต่างๆ ด้วย?
ใช่ครับ เมื่อก่อนผลิตเพลง สมมุติว่าเราต้องอัดกลอง โห…ทั้งอัลบั้ม แค่อัดกลองก็หมดค่าห้องอัดเป็นแสนแล้ว เดี๋ยวนี้เหลือเพลงเดียวต้องทำอย่างไรให้มันพอดีกัน อย่างของผมที่เตรียมแผนไว้ ‘โป่ง & The Sun’ ก็ว่าจะทำเป็น EP มีประมาณ 5 เพลง ให้ต้นทุนมันต่ำลงมาหน่อย อันไหนที่อัดที่บ้านได้ก็ทำไป อย่างร้องก็ทำได้เองไม่ยาก หรือกีตาร์นี่ไม่มีปัญหาเลย เอาไมค์จ่อแอมป์อัดในตู้เสื้อผ้ายังได้ เสียงก็ดีด้วย แต่อย่างไรกลองก็ต้องอัดสด ถึงแม้จะมี Samp ดีๆ หรือกลองดิจิตอลที่ทุกวันนี้พัฒนาขึ้นมามาก สำหรับเมืองนอกนี่ดีถึงขนาดสูสีกับคนจริงๆ ตีแล้วนะ เพียงแต่ว่าในบ้านเราซาวด์เอนจิเนียที่จะมาปรับมาใช้เทคโนโลยีดังกล่าวยังไม่ถึงพอ คือถ้าทำเล็กๆ ใช้ซาวนด์สำเร็จที่เขามีให้มานี่ผมว่าดีเลย แม้จะสู้คนจริงๆ ไม่ได้ แต่ก็ดีมากๆ เลย
จริงหรือไม่ที่ว่าคน Mix Down คือคนกำหนดทิศทางของเพลงทั้งหมด
ใช่เลย มันเป็นสไตล์ของใครของมัน สมมุติถ้าเราใช้นาย ก. ก็เป็น สไตล์นาย ก. ไปเลย ของต่างชาติเองเขาก็เลือกแบบนั้น คนนี้สไตล์แบบนี้ คนนั้นสไตล์แบบนั้น เขาจะรู้กัน มีลิสต์กันอยู่ อย่าง ‘Bob Rock’ ทีทำให้ Aerosmith, Bon Jovi, Metallica เขาก็จะมีซาวด์ที่เป็นเอกลักษณ์ของเขา อาจจะหนักเบาลงไปตามดนตรีของแต่ละวง แต่ก็ยังคงมีกลิ่นเฉพาะตัวของเขาอยู่ และแน่นอนว่าแต่ละวงก็จะมีซาวนด์เอนจิเนียคู่บุญอยู่ และคนที่เก่งๆ เขาจะรู้สไตล์ของวง เขาจะไม่เปลี่ยนวงคุณจะคงสไตล์คงซาวนด์ไว้ แต่จะใส่กลิ่นตัวเขาลงไปเท่านั้นเอง คือมันก็ยากอยู่นะ ต้องเลือกให้ถูกคน ซึ่งบ้านเรามันเลือกไม่ได้ มันมีน้อย (หัวเราะ)
ได้ข่าวว่าพี่โป่งกลับมาเปิด ‘Real and Sure’ อีกครั้ง
อันนี้เปิดเองทำเองทั้งหมด หลังจากครั้งก่อนร่วมกันกับ RS เราก็อาศัยแรงกระเพื่อมจากยุคที่การสื่อสารง่ายขึ้น เห็นกันเร็วตอบโต้กันง่ายขึ้นนี่แหละมากระตุ้นวงการกันอีกดอก หลังจากซบเซากันมานาน ก็ไม่ได้ทำใหญ่อะไรมากก็พอดีๆ ตัว อยากให้มีความคึกคักขึ้นมาเท่านั้นเอง นอกจากนี้ก็เพื่อมาลุยงานของตัวเอง มาดูแลงานชุด ‘ถนนพระอาทิตย์’ ที่ได้คืนมาจาก Bakery Music และบางเพลงที่ต้องประสานกับ RS ต่อไป รวมไปถึงเพลงใหม่ๆ ชุดใหม่ๆ ที่จะผลิตภายใต้สังกัด ‘Real and Sure’ ทั้งหมด เอามารวมไว้ในการดูแลของเราทั้งหมดมันจะง่ายขึ้น ดูแลง่าย ใช้งานง่าย จะไป Featuring กับใครก็ง่าย เพราะเราไม่มีเงื่อนไขมาก เน้นสนุกไป (หัวเราะ)
นอกจากนี้ก็จะมีน้องๆ ที่พยายามหาเข้ามา มีการจัดการประกวด ‘Super Rock Project’ คัดสรรวงหรือศิลปินรุ่นใหม่ๆ ด้วย ก็มากันเยอะเป็นร้อยวงเลย เราก็คัดจนเหลือประมาณ 10 วง ใครชอบแนวนี้ก็ช่วยกันผลักดันไป ก็คงจะต้องหาผู้สนับสนุนเพื่อส่งเสริมน้องๆ ต่อไป
‘Real and Sure’ จะสร้างอะไรให้กับวงการเพลงไทยได้บ้าง
อย่างน้อยก็ตั้งใจกระตุ้นให้คนที่เขาฝึกอย่างจริงจังไม่เฉาไปกับความซบเซา อย่างน้อยมีที่ระบาย มีที่ให้ออก มีที่ให้โชว์ ถ้าเขาฝีมือดีจริงเวลาเราไปติดต่อกับใครก็ง่ายขึ้น เพราะเราอยู่ตรงจุดนี้มานานอาจจะมีคอนเน็คชั่น มีสายป่าน มีช่องที่มากกว่าเด็กๆ ก็จะได้แนะนำเขาให้ไปต่อ เป็นเครื่องหมายการค้าไปว่าเด็กพวกนี้เขาตัวจริง เขาเล่นได้จริง เขาแต่งเพลงได้เอง เราก็กระตุ้นและผลักดันกันไป แต่ข้อสำคัญก็ต้องหาผู้สนับสนุนเพื่อจะได้กระตุ้นได้ทั้งวงการเพลง ซึ่งก็ยังไม่แน่ว่ามันจะเป็นอย่างที่คิดไหม อยู่ที่เพลงของแต่ละวงที่จะออกมา ถ้าเพลงเขาได้รับความนิยม มันก็เป็นฐานพลังที่จะส่งพวกเขาไปอยู่ในจุดที่สูงขึ้น
ให้อิสระในการทำเพลงของแต่ละวงแค่ไหน
ผมให้เต็มที่นะ เพราะการเข้าไปก็คือการนำของเราเข้าไป อาจจะชี้กว้างๆ ไว้ เช่น แบบนี้อย่าไปทำนะ หรือให้เป็นแนวทางบ้าง อย่างผมจะชอบเพลงที่มีเนื้อแบบให้กำลังใจ เพราะว่าถ้าแต่งแล้วมันโดนจะอยู่ได้นาน เป็นอมตะ ผมก็จะบอกน้องๆ ว่าลองคิดดูนะว่าทำได้ไหม อย่างเพลงรักมันก็เหมือนเพลงทั่วไป นอกจากจะเป็นเพลงรักที่มุมมองแตกต่างจากคนอื่น แล้วมันดันโดนใจผู้ฟังก็อาจขายได้ ที่เหลือก็แล้วแต่ว่าจะไปแตกโจทย์กันอย่างไร จะเป็นร็อกเต็มที่จะแบบเปียโนหรืออะคูสติกกีตาร์ก็แล้วแต่เขาเลย
ส่วนเรื่องของลิขสิทธิ์เพลงนี่ผมก็ให้เขาไปเลย คืออาจจะถือร่วมกันไปตลอดสัญญา แต่เมี่อหมดสัญญาแล้วผมก็ยกให้เขาไป คือไอ้ที่เราเคยโดนมา เราก็จะไม่ทำกับเขา (หัวเราะ)
ทุกวันนี้เดินสายโชว์ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์เพลงด้วย?
ตอนนี้ส่วนใหญ่จะเป็นร้านที่เขาจ่ายอยู่แล้วเป็นรายปี นอกเสียจากว่าเป็นงานกลางแจ้งหรืองานใหญ่ๆ ก็แล้วแต่งานไป เช่น ถ้าเราจะจัดคอนเสิร์ตก็จ่ายเขาเป็นงานๆ ไป แต่ส่วนใหญ่ที่เดินสายเล่นก็ในร้านมากกว่า วงผมโชคดีที่เล่นในร้านที่เป็นเพื่อชีวิตได้ด้วย ก็มีแฟนเพลงที่เป็นวัยรุ่นตีกันในสมัยก่อนโตขึ้นมาเลิกตีแล้ว ก็เข้ามาดูพวกผม (หัวเราะ)
อะไรทำให้พี่อยู่ได้ตั้งแต่ยุคต้นที่เป็น ‘The O-Larn Project ’ มาสู่ยุคกลางที่เป็น ‘หินเหล็กไฟ-The Sun’ และก็ยังมีผลงานอย่างเพลง ‘ศรัทธา’ ที่เกิดขึ้นในยุคที่คนบอกว่า ‘ร็อกตายไปแล้ว’
สำหรับเพลงไทย ไม่ว่าจะร็อกหรือไม่ร็อก เพลงช้ามันจะอยู่ได้นานกว่า ได้รับความนิยมมากกว่า ส่วนของผมที่มาถึงวันนี้คือผมตั้งใจว่าแต่ละชุดจะมีเพลงให้กำลังใจอยู่อย่างน้อยหนึ่งเพลง พยายามจะทำให้ดีที่สุดให้เพลงนั้นอยู่ได้ตลอดไปโดยไม่มีกาลเวลา ซึ่งตอนที่เราคิด เราก็ไม่รู้หรอกว่าจะทำได้หรือเปล่า ก็พยายามตั้งใจทำมัน และก็พยายามตั้งระยะเวลาการออกอัลบั้มไม่ให้มันหายไปนาน พยายามให้ออกอย่างสม่ำเสมอ อันนี้เราก็ดูจากวงต่างประเทศเป็นแบบอย่างว่าเขามีวีธีการออกอัลบั้มอย่างไร มีระยะห่างแค่ไหน ต้องมีความถี่ตลอด ถ้าไม่มีเพลงใหม่ก็ต้องแทรกอะไรเข้ามา เช่น แสดงสดหรือกิจกรรมต่างๆ เพื่อไม่ให้หายไปจากกระแส
อย่างที่กลับมารวมกันทำ ‘หิน เหล็ก ไฟ ชุด Never Say Die’ ก็มีเพลง ‘ศรัทธา’ ที่ได้รับความนิยม ตอนแรกก็ไม่ได้กะว่าจะเป็นเพลงโปรโมตหรอก เนื้อที่เขียนแน่นมากใส่เต็มเหนี่ยว ไม่เหมาะกับการพาณิชย์เลย เพราะเพลงให้กำลังใจทุกๆ เพลงผมจะตั้งใจเขียนอย่างมากด้วยความชอบเป็นการส่วนตัว ก็กะว่าเอาวะให้เป็นเพลงที่ดีสักเพลงหนึ่ง ซึ่งก็ถือว่ายังโชคดีที่มีเพลงฮิต มีเพลงที่คนชอบ เราก็เลยมีงานให้เล่นตลอด เพราะถ้าไม่มีเราก็คงเงียบหายไป (หัวเราะ) คือเพลงนี้เราก็ตั้งใจวางไว้แหละว่าจะเป็นเพลงที่ให้กำลังใจให้อยู่นานๆ และมันบังเอิญได้อย่างที่เราคิด ก็เลยอยู่ได้ตลอด
เปรียบเทียบแล้วพี่โป่งก็เหมือนเป็น ‘ครูเพลง’ คนหนึ่ง ที่คิดเพลง เขียนเพลง สร้างเพลงเองทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบ ช่วยแบ่งปันวิธีคิดงานให้น้องๆ รุ่นหลังสักหน่อย
ก็ทำเหมือนเดิมมาตลอด คือมีดนตรีเป็นหลักก่อน แล้วค่อยเอาเนื้อที่เราจดไว้หรือที่เรามีคอนเซ็ปต์ไว้มาใส่ เราก็ดูว่าดนตรีที่แต่งมานี้ มันน่าจะเข้ากับคอนเซ็ปต์แบบไหนที่เราแต่งมา คือถ้าไปเขียนเนื้อก่อนหรือไประบุเมโลดี้ก่อน ถ้าเราไม่กว้างพอที่จะกล้าใช้คำหรือกล้าใช้โน้ตต่างๆ มันจะทำให้เราแคบ คือภาษาไทยจะมีวรรณยุกต์ที่กำหนดให้เราต้องลงในคอร์ดที่ปกติแล้วในเพลงร็อกมันจะถูกบังคับ ซึ่งมือกีตาร์จะไม่ชอบแน่ๆ (หัวเราะ) คือภาคกีตาร์ของเพลงร็อกต้องให้อิสระ ให้เขาเล่นเต็มที่เลย จะใช้อะไรก็จัดมาเลย แล้วเราค่อยเอาเนื้อไปเกาะเมโลดี้เขาอีกที มันจะง่ายกว่า
แต่ว่าเพลงก็ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องเป็นแบบนั้นนะ เพราะบางทีก็มาจากหลายๆ ทาง เช่น หนังสือที่เราอ่าน หรือหนังที่ดู บางทีอยู่ๆ ก็ปิ๊งขึ้นมาชอบเรื่องราวแบบนี้ก็มีจดๆ เก็บไว้ แล้วก็ไปพูดให้มือกีตาร์ฟังว่าเราอยากได้เพลงแบบนี้ๆ น่าจะมีดนตรีประมาณแบบไหนดี ก็พยายามคิดกัน
ถ้าให้เลือกบทเพลงที่ชอบสักเพลง
ถ้าเป็นเพลงตัวเองนี่ โห… ยากเลย มันเยอะมาก (หัวเราะ) ก็ชอบทุกเพลงนะ เพราะผมแต่งเองทั้งหมด แต่ละเพลงจะมีมุมมองมีอารมณ์หลายหลากแตกต่างกันไปต่างกรรมต่างเวลา บางทีนั่งฟังเพลงเก่าๆ ยังคิดเลยว่า ‘โอ้โหเขียนได้แบบนี้เลยหรือ’ (หัวเราะ) คือตอนนี้เราไม่ได้คิดแบบนั้นแล้วไง เราจำไม่ได้ว่าอารมณ์นั้นเราคิดอะไร ก็จะเป็นลักษณะแบบนี้มากกว่า ส่วนเพลงคนอื่น ผมจะชอบ ‘Ozzy Osbourne’ ก็ชอบหลายเพลงเลย อย่าง Dreamer หรือ I Don't Know ส่วนใหญ่ผมจะฟังเพลงสากลมากกว่า เพลงไทยก็ทั่วๆ ไป
จะมีผลงานเพลงชุดใหม่เมื่อไร
ตั้งใจแรกว่าจะเป็นช่วงปลายปี 58 แต่คิดว่าไม่น่าจะทัน (หัวเราะ) คงจะเป็นช่วงต้นปี 59 น่าจะได้ฟังกัน เป็นลักษณะ EP ประมาณ 4-5 เพลง ตอนนี้เริ่มเขียนเนื้อไปประมาณ 2-3 เพลงแล้ว ใช้ชื่อว่า ‘โป่ง&The Sun’ พี่ป๊อบ (จักรรินทร์ ดวงมณีรัตนชัย) เล่นกีตาร์และดูแลภาคดนตรี ยังไม่แน่ใจว่าพิทักษ์ (พิทักษ์ ศรีสังข์) จะมาด้วยหรือเปล่า ตามตัวยากมากคนนี้ไปทำร้านอยู่เขาหลัก จ.พังงา แล้วไม่มาเล่นเลย ก็เสียดายฝีมือ ผมก็ยังชอบพิทักษ์อยู่นะ เพราะเขามีสไตล์ชัดเจนมากก็ยังอยากจะชวนเขามา แต่ก็ยังไม่ได้ตกปากรับคำกันว่าจะมาไหม คือถ้าจะชวนมาเล่นบันทึกเสียงในอัลบั้มน่าจะได้ แต่ทัวร์คงไม่ได้ เพราะหน้าที่ทัวร์เยอะๆ ร้านเขาก็เป็นไฮน์ซีซั่นเช่นกัน (หัวเราะ)
คิดไหมว่า จะเล่นดนตรีถึงเมื่อไร
ก็คงเล่นไปเรื่อยๆ จะย้อนไปเราก็เล่นตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนแล้ว ก็จะเล่นต่อไปเรื่อยๆ แหละ ทำไงได้ก็คนมันชอบนี่ (หัวเราะ) ก็อยู่ที่ผลงานเราจะดีไหม แล้วแฟนเพลงเขายังต้องการฟังเราอยู่ไหม ถ้าเขายังฟังอยู่คงเล่นไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดแรง เราก็ดูนักดนตรีรุ่นพี่เราทั้งเมืองไทยและต่างประเทศ โอ้โห 70 แล้ว รุ่นพ่อรุ่นปู่ยังกระโดดอยู่เลย อย่าง Ozzy ที่ไปดูล่าสุดก็ 67 แล้ว ร้องเพี้ยนหมดแรง (หัวเราะ) แต่เขาก็ยังมีพลังที่จะเล่นที่จะโชว์ ซึ่งมันก็เป็นสไตล์ของเขาไปแล้ว หรือเมืองไทยอย่างพี่แหลม (แหลม มอริสัน) 66 แล้ว แกยังเล่นเต็มที่และมีความสุขกับการเล่นในทุกๆ ครั้ง ผมก็ดูรุ่นใหญ่ๆ นี่แหละเป็นแบบอย่าง คือถ้าคนยังฟังอยู่ แล้วเรายังมีแรงเล่น มันก็ต้องลุยกันต่อ ต้องร็อกกันต่อไป
ในฐานะศิลปินที่ไม่เคยมีข่าวเสียหายเลย ทั้งเรื่องครอบครัวหรือยาเสพติด ช่วยแนะนำการวางตัวให้กับน้องๆ ศิลปินรุ่นใหม่สักหน่อย
คือในยุคดิจิตอล โซเชียลเน็ตเวิร์คมันรวดเร็วมาก ไม่ว่าเราจะทำอะไรมันต้องระวังกว่าเดิม เมื่อก่อนผมทำอะไรอาจไม่มีใครเห็น ไม่มีใครไปตามถ่ายรูปตอนเดินห้าง (หัวเราะ) แต่เดี๋ยวนี้โทรศัพท์ก็ถ่ายรูปได้ชัดมาก ยุคนี้มันต้องระวัง ต้องวางตัวไว้เลยว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ ต้องมีสติระลึกถึงตลอดเวลา และทุกอย่างที่เราคิดว่าเป็นส่วนตัวเป็นตัวเรา แล้วเอาไปลงในโซเชียล นั่นก็จบแล้ว เพราะในนั้นมันไม่มีคำว่าส่วนตัวอยู่แล้ว บางทีเราคิดคะนองขึ้นมา อยู่บ้านทำอะไรบ้าๆ บอๆ แล้วถ่ายรูปลง สมมุติเรามีเพื่อนแค่ 10 คน แต่ไม่ใช่คนแค่นี้จะเห็น เพราะเพื่อนอีก 10 คนของเรามีเพื่อนอีกมากมายไม่รู้เท่าไร แล้วมันกระจายไปทันที เราอาจจะแค่คิดว่าทำขำๆ ตลกๆ กับเพื่อน แต่มันอาจจะเสียไปเลยก็ได้ และมันพร้อมจะเป็นข่าวได้ตลอดเวลา อีกทั้งกระแสในนั้นมันค่อนข้างจะคุมยาก สมมุติว่าคุณไปจุดประเด็นอะไรสักอย่าง คนจะแชร์จะไปบอกต่อแบบเร็วมาก แม้บางทีจะเอาไปใส่ไข่ใส่สีเป็นเรื่องไม่จริง แต่คุณเองก็เสียไปแล้ว ไม่มีสิทธิตามไปแก้ตัวได้ ฉะนั้น การทำอะไรที่มันผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์คต้องระวังมากๆ และต้องระวังตั้งแต่ต้นทางก็คือตัวเรา การวางตัวในทุกๆ สถานะ
แต่เราก็สามารถใช้มันให้เป็นประโยชน์ได้ เพราะว่ามันสื่อสารได้เร็ว การรับรู้ของผู้คนก็เร็วไปด้วย เราทำผลงานหรืออะไรดีๆ ออกมาเผยแพร่ออกไปมันก็เร็วไปด้วย เราก็ต้องพยายามใช้มันในทางที่ถูกและพยายามเสนอผลงานให้ต่อเนื่อง มันคงคาดหวังอะไรไม่ได้มากนักแต่ถ้าคุณรักที่จะทำงานดนตรี โดยเฉพาะที่เป็นดนตรีร็อก สำคัญคือคุณต้องรวมกลุ่มกันไว้ ผมดีใจที่มีหลายๆ คนพยายามที่จะทำอะไรเกี่ยวกับดนตรีร็อก มีการจัดงานอะไรมากมาย ใครทำผมก็ว่ามันโอเคหมด จะงานเล็กงานใหญ่หรืออย่างงาน ‘โคตรอินดี้’ ที่เขาจัดขึ้นทุกปี ผมก็ว่ามันดีมากเลย รวมๆ กันไว้จากกลุ่มเล็กๆ มันก็จะกลายเป็นก้อนใหญ่ แล้วกลุ่มเหล่านี้ไม่ใช่ธุรกิจร้อยเปอร์เซ็นต์ เขามีใจรักที่จะทำกันมาก่อนแล้ว แล้วถ้ามันทำแล้วได้ดีมันจะไปได้เลย มันไม่ใช่การแข่งขันที่เอาเป็นเอาตาย ถ้าร่วมมือกันได้มันจะดีมากๆ
สำหรับนักดนตรี อยากเก่งก็ต้องฝึกฝน ต้องขยัน ทำกันต่อไปอย่าไปท้อ อาจจะดังสักซิงเกิ้ลแต่ก็ไม่สามารถเล่นคอนเสิร์ตได้ ก็ขยันออกซิงเกิ้ลกันหน่อย (หัวเราะ) เอาเป็น 3 เดือนสักซิงเกิ้ลหนึ่ง ปล่อยออกไปผ่าน YouTube เดี๋ยวก็มีคนมาสนใจ ไม่ต้องทำ MV ลงทุนสูงอะไร สำคัญที่สุดคือไอเดีย ถ้าคุณไอเดียดียอดวิวก็เยอะ ไม่จำเป็นต้องมีดารามาเล่นเหมือนสมัยก่อนแล้ว ใส่ความคิดความใส่ใจลงไป ก็อดทนและลุยกันต่อไป ถ้ารักก็ต้องลุย ผมว่าคนที่รักการเล่นดนตรี มันอาจจะมีเหนื่อยแต่มันไม่ท้อหรอก มันสนุกมากกว่า ก็เหมือนที่ผมลุยมาเมื่อก่อนแหละมันก็ใช่ว่าจะสำเร็จได้ในเร็ววัน มันต้องสู้กันมาทั้งนั้น แต่คนมันรักจะเล่น ก็ต้องลุยกันต่อไปนะ
เห็นว่าตอนนี้ลูกสาวพี่โป่ง (แองจี้ – ฐิติชา สมบัติพิบูลย์) ก็ได้เซ็นต์เข้าสังกัดแล้ว
ตอนนี้น้องแองจี้สังกัดกามิกาเซ่ ในเครือ RS ครับ คือผู้ใหญ่เขาเห็นว่ามีแววเลยให้ไปลองดู ก็ฝึกอยู่ที่ RS มาสองปีแล้ว ตั้งแต่อายุ 11 ปี ก็ถือว่าลองดูว่าจะรอดไหม เหมือนว่าพิสูจน์ตัวเอง คือก็ต้องต่อสู้กันไปด้วยวัฏจักรเดียวกันแบบที่บอกตอนแรก แต่บริษัทใหญ่ก็คงมีสื่อของเขามากกว่า
ผมก็สอนลูกนะว่า ถ้ารักที่จะมาทางนี้มันเป็นสายงานที่เหนื่อยเหมือนกัน ไม่ใช่มีแค่ความสนุก มันยากนะ ไม่ใช่แค่ทำเล่นๆ ถ้าลูกมีชื่อเสียงขึ้นมาสิ่งที่ยากที่สุดคือการรักษามันเอาไว้ แล้วอีกอย่างหนึ่งลูกเป็นผู้หญิงโอกาสเสียมันมีเยอะกว่าผู้ชายอยู่แล้ว ต้องวางตัวให้ดี ต้องระวังให้มากๆ จะไปไหนมาไหน ไปเดทหรืออะไรต่อไปพ่อไม่หวง แต่ต้องระวังตัว
นอกจากนี้ต้องฝึกฝนและไปเรียนเสริมอีก ถ้าชอบจริงๆ ก็เรียนดนตรีให้เป็นเรื่องเป็นราวเลย เพราะถ้าจะอยู่บนสายนี้อย่างแข็งแกร่งเราต้องรู้ เราต้องเป็นตัวจริง เพราะถ้าไม่รู้จริงแค่ไปเต้นเย้วๆ มันไม่รอดหรอก เดี๋ยวเดียวก็จบ เราก็ควรต้องเป็นดนตรีด้วยเพื่อเป็นพื้นฐานที่ดี แต่ดีที่เขาก็ชอบดนตรีด้วย เขาเห็นเราแต่งเพลงก็สนใจอยากเรียนรู้ อยากจะแต่งเพลงทำเพลงได้เอง ผมก็บอกให้ค่อยๆ ฝึกไป คอยหาโปรแกรมต่างๆ ให้เขาหัดเล่นไปลองดู ก็พยายามสอนเท่าที่เราทำได้ แต่สำคัญต้องไปเรียนเพิ่มไม่งั้นอยู่ไม่ได้หรอก สมัยนี้ร้องเพลงอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ต้องร้องได้ เต้นได้ เล่นดนตรีได้ เล่นละครได้ เป็นพิธีกรได้ ต้องครบเครื่อง เพราะวงการนี้การแข่งขันสูง ถึงบอกว่าต้องไปเรียนทั้งนั้น ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ แล้วจะไปทำเลยมันไม่ใช่ ก็สนับสนุนเต็มที่ ที่เหลือเขาก็ต้องพิสูจน์ตัวเองให้ได้
เรื่อง : อิทธิพล เนียมสวัสดิ์
ภาพ : อิศเรศน์ ช่อไสว