‘มนุษย์ต่างดาวมีจริง? ไสยศาสตร์เชื่อได้?’ : ดร. ก้องภพ อยู่เย็น

ชื่อของ ดร. ก้องภพ อยู่เย็น เป็นที่รู้จักในสังคมไทยอย่างกว้างขวางเมื่อปี 2010 หลังจากออกมาแสดงความคิดเห็นในเรื่องภัยพิบัติทางธรรมชาติทั่วโลกที่จะทวีความรุนแรงขึ้นในอนาคตอันใกล้ (ในปี 2009 กระแสความกลัวเรื่องภัยพิบัติล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางทั่วโลกเมื่อภาพยนตร์เรื่อง ‘2012’ ออกฉาย ซึ่งหนังเรื่องนี้สร้างจากคำทำนายของปฏิทินชาวมายาที่ว่ามนุษย์จะพบเจอกับวันอวสานโลกในปี 2012) สื่อมวลชนและนักวิชาการทั่วโลกต่างออกมาบอกว่าน่าจะมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่ในปี 2012 แต่กลับกัน ดร. ก้องภพกลับบอกว่าที่รุนแรงที่สุดนั้นเป็นปี 2013 …เมื่อเรา (คนในยุค 2016) ย้อนกลับไปดูเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติในปี 2013 ก็พบว่าเกิดภัยพิบัติที่รุนแรงถึง 10 เหตุการณ์สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นซุปเปอร์ไต้ฝุ่นพัดถล่มฟิลิปปินส์, แผ่นดินไหวขนาด 7.8 แมกนิจูดในปากีสถาน, แผ่นดินไหวขนาด 7.2 แมกนิจูดในฟิลิปปินส์, น้ำท่วมใหญ่ในรอบ 50 ปีที่จีน, อุกกาบาตน้ำหนัก 7,000 ตันตกลงมาและระเบิดในชั้นบรรยากาศ ฯลฯ โดยภัยพิบัติทางธรรมชาติเหล่านี้นั้น ดร.ก้องภพกล่าวว่าเป็นผลพวงเชื่อมโยงกับการระเบิดของดวงอาทิตย์และลมสุริยะที่แผ่มากระทบโลก

เรื่องราวข้างต้นที่ว่ามานั้นแทบไม่น่าเชื่อเลย หาก ดร. ก้องภพ ไม่ได้เป็น วิศวกรอาวุโสระดับ 14 (สูงสุดอยู่ที่ระดับ 15) ที่อายุน้อยที่สุดประจำศูนย์การบินอวกาศก็อดเดิร์ด (Goddard Space Flight Center) ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือนาซ่า (National Aeronautics and Space Administration-NASA) และไม่ได้ศึกษาเรื่องการระเบิดของดวงอาทิตย์และลมสุริยะที่ส่งผลกับภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างจริงจังต่อเนื่อง

และอย่าเพิ่งเชื่อในทุกคำตอบกับบทสัมภาษณ์นี้หากคุณยังไม่ได้พิจารณาอย่างรอบด้าน!

เห็นว่าอาจารย์มีงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องการระเบิดของดวงอาทิตย์และลมสุริยะ อยากทราบที่มาที่ไปว่าเป็นอย่างไร แล้วมันจะมีผลกระทบอย่างไรกับโลกบ้าง
แน่นอนว่าเราศึกษาเพราะเราสงสัย แล้วก่อนที่เราจะศึกษาก็ต้องเปิดอ่านตำราของคนที่เขาศึกษามาก่อนเพื่อดูว่าสิ่งที่เขาศึกษามาก่อนตอบคำถามข้อสงสัยของเราได้หรือเปล่า ถ้าเขาตอบคำถามข้อสงสัยเราได้ก็จบแค่นั้น แต่ถ้าตอบไม่ได้เราก็ต้องค้นต่อไป แล้วก็ค้นหาความจริงในสิ่งเหล่านั้น
ในเรื่องปฏิกิริยาดวงอาทิตย์มีคนศึกษามาเยอะ แต่ศึกษาว่ามันมีปฏิกิริยาเกิดขึ้น มีพลิ้วมีริ้วรอยยังไง แต่ยังไม่ได้ศึกษาหรือตอบคำถามไม่ได้ว่ามันจะปะทุเมื่อไหร่ เกิดเมื่อไหร่ อันนี้เป็นปริศนาทางวิทยาศาสตร์ซึ่งยังตอบคำถามไม่ได้ ผมจึงสงสัยและหาคำตอบด้านนี้ ซึ่งก็ได้พบคำตอบแล้ว เข้าใจแล้ว รู้แล้วว่ามันเป็นยังไง เพียงแต่ว่าความรู้เหล่านี้ต้องใช้ชุดความเข้าใจคนละแบบกับที่เรียนกันมา
อย่างเช่น ถ้าผมอยากจะทราบว่าคนคนนี้ วันพรุ่งนี้เขาจะทำอะไรบ้าง เราก็ต้องดูพฤติกรรมที่เขาตอบสนองกับสภาพแวดล้อมว่าเขาตอบสนองแบบไหน เราไม่ได้ไปดูข้างในว่ามันขยับเขยื้อนยังไง เราดูภาพรวมดูสภาพแวดล้อมที่เขาอยู่อาศัย กรณีของดวงอาทิตย์เช่นเดียวกัน ถ้าเราดูภายในของดวงอาทิตย์ เราจะไม่สามารถเข้าใจอะไรได้เลยว่าเขาต้องตอบสนองยังไง ทำไมวันนี้ไม่ปะทุ ทำไมวันนั้นถึงมีปฏิกิริยา แต่ถ้าเรารู้จักดูสภาพแวดล้อมรอบๆ ดวงอาทิตย์ซึ่งมันเปลี่ยนแปลงไป มันจะตอบได้ว่าทำไมปฏิกิริยาดวงอาทิตย์ถึงเกิดในวันดังกล่าว และส่งผลยังไงต่อโลก นั่นคือเราดูเหตุปัจจัย สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้น
เหตุปัจจัยมันมีทั้งภายนอกและภายใน แต่ในตำราเรียนที่เรียนกัน ถ้าไปศึกษากันเขาก็จะบอกว่าปฏิกิริยาดวงอาทิตย์มีเหตุปัจจัยจากภายใน เป็นปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชั่น เขาตีแค่นั้น เขาไม่ได้มองอะไรข้างนอกเลย นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเขาคาดการณ์อะไรไม่ได้เลย

หมายความว่าภัยพิบัติอย่างแผ่นดินไหวหรือพายุเฮอร์ริเคนที่เราไม่ทราบกันก่อน นั่นเพราะเราไปผิดทางเหรอ
เพราะเราดูไม่ครบ ดูแค่ข้างในไม่ดูข้างนอก ไปตั้งสมมุติฐานว่าเหตุเกิดจากภายในเพียงอย่างเดียว พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่าสิ่งต่างๆ ในโลกนี้เกิดขึ้นด้วยเหตุปัจจัยอันหลากหลาย เมื่อสิ่งนั้นมีสิ่งนี้จึงมี เมื่อสิ่งนั้นตั้งอยู่สิ่งนี้จึงตั้งอยู่ เมื่อสิ่งนั้นดับไปสิ่งนี้จึงดับไป นั่นคือสัจธรรมคือความจริงที่อยู่เหนือวิทยาศาสตร์ใดๆ บนโลกนี้
วิทยาศาสตร์เป็นแค่กระบวนการไม่ใช่ความจริง เป็นแค่กระบวนการพิสูจน์ความจริง แต่กระบวนการนั้นก็มีการตั้งสมมุติฐานอีก ถ้าสมมุติฐานไม่ตรงต่อสัจธรรมแล้วสิ่งที่ได้ก็ไม่ใช่ความจริง เพราะฉะนั้นถ้าเกิดใครไปยึดว่าวิทยาศาสตร์ตอบคำถามทุกอย่างบนโลกได้แล้ว คนเหล่านั้นจะเข้าใจผิดได้ง่ายมาก จะคิดว่าวิทยาศาสตร์คือความจริงซึ่งไม่ใช่ วิทยาศาสตร์จริงๆ แล้วก็คือศาสนา เพราะวิทยาศาสตร์ก็ตั้งอยู่บนสมมุติฐาน สมมุติฐานถ้าไม่ตรงต่อหลักสัจธรรมก็จะเป็นแค่ความเชื่อ คือพิสูจน์ไปตามความเชื่อของคนเหล่านั้น เชื่ออย่างไหนก็ทำอย่างนั้นจึงเห็นตามที่เชื่อ แต่ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ที่แท้จริง

สิ่งที่อาจารย์วิจัยอยู่และได้ค้นพบคำตอบแล้ว ในอนาคตถ้าจะเกิดภัยพิบัติอะไรที่มันแรงกว่านี้ เราสามารถคาดคะเนได้แล้วใช่ไหม
ได้ เพราะถ้าเมื่อเราเข้าใจถึงเหตุปัจจัยเราก็จะคาดการณ์ได้ เช่น คนคนนี้เรารู้ว่ามันโกรธเพราะอะไร เอาเหตุปัจจัยนี้ไปใส่ปุ๊บมันจะโกรธทันที เรารู้ว่าเดี๋ยวดวงอาทิตย์จะระเบิดนะ ถ้ามีเหตุปัจจัยตรงนี้มันจะระเบิด แต่ถ้าเหตุปัจจัยมันไม่ครบมันก็ไม่ระเบิด หรือมันระเบิดก็ไม่เยอะ

อย่างในระยะอันใกล้ อาจารย์บอกได้ไหมว่าโลกเราจะเจอกับอะไรบ้าง
มีหลายอย่างที่โลกจะต้องเผชิญ คือถ้าเราสังเกตถึงความเปลี่ยนแปลงของท้องฟ้า ภูมิอากาศ เราก็จะเห็นว่าท้องฟ้าในอดีตกับปัจจุบันมันไม่เหมือนกัน อย่างเมื่อก่อนท้องฟ้ามันจะใส เครื่องบินบินไปมันจะไม่ค่อยมีไลน์เป็นเส้นๆ เท่าไหร่ แต่เดี๋ยวนี้มันเป็นเส้นๆ มันบ่งบอกถึงปริมาณรังสีจากนอกโลกที่เข้ามามีสูงขึ้น เพราะว่าตัวรังสีนี้ไปทำปฏิกิริยากับน้ำเร่งการเกิดไอน้ำ เมื่อมีพวกวัตถุที่วิ่งด้วยความเร็วสูงวิ่งผ่านมันก็จะไปเร่งการก่อตัว ซึ่งจะเห็นได้ชัดกว่าเมื่อ 30 ปีก่อน เราก็ต้องตั้งคำถามต่อแล้วว่าทำไมรังสีมันเข้ามาเยอะกว่าเดิมล่ะ เมื่อก่อนทำไมไม่มี มันใช่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือเปล่าก็ลองพิสูจน์ดู รังสีกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มันคนละเรื่องกันเลย

มันไม่ใช่กิจกรรมของมนุษย์บนโลกนี้เหรอที่ทำให้รังสีเข้ามาเยอะ
มันก็มีส่วนบ้างแต่ว่าไม่ได้โดยตรง คือตัวรังสีมันก็มีเรื่องของสนามแม่เหล็กโลกซึ่งนักวิทยาศาสตร์เขาก็ศึกษามาแล้วว่ามันหดตัวลงนะ ความเข้มมันก็ลดลง ความแปรปรวนก็เยอะขึ้น รังสีก็เข้ามาเยอะขึ้น คือบางคนมีความเชื่อว่าโลกร้อนเป็นเรื่องที่มนุษย์เป็นคนทำ ก็เอาเรื่องพวกนี้ไปเชื่อมโยงทุกอย่าง มันเลยกลายเป็นความเชื่อที่พิสูจน์ไม่ได้หรือพิสูจน์ไปตามความเชื่อนั้น กลายเป็นศาสนาไป เป็นศาสนาที่เชื่อแบบอยากมีเหตุผลบ้าง แต่ก็เป็นความเชื่อที่งมงายอยู่
พูดเรื่องเหตุผลมันก็แล้วแต่จะอ้างอะไรก็ได้นะพูดจริงๆ อย่างเช่นผมบอกว่ามนุษย์บินไม่ได้ โดยให้เหตุผลว่าเพราะมนุษย์มันหนักกว่าอากาศมันเลยบินไม่ได้ อย่างนี้คือเหตุผลใช่ไหม แต่มันไม่จริง เพราะตอนนี้เราสร้างเครื่องบินได้แล้ว บางคนบอกว่ากฎฟิสิกส์ แต่มันก็ไม่จริงอยู่ดี ความจริงคือ หนึ่ง-เมื่อรู้แล้วรู้ด้วยตนเอง อย่างที่สอง-มันเป็นจริงเสมอ ทีนี้จริงเสมอมีอย่างเดียวเท่านั้นคือสัจธรรม มันเป็นเรื่องของสมมุติ ตั้งสมมุติฐานขึ้นมามันมีเจตนาเพื่ออะไร นั่นคือวิทยาศาสตร์ เราต้องรู้เจตนาให้แน่ชัด ต้องมีเป้าหมายที่แน่ชัด ถ้าไม่มีเป้าหมายแล้วก็ออกไปทางมั่วๆ ก็สรุปกันออกมาว่าอันโน้นไม่มีอันนี้มันเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าเจตนามันไม่ชัดเจน เจตนาไม่บริสุทธิ์ก็มี
ผมยกตัวอย่างว่ามีคนล่องเรือไปออสเตรเลีย ไปค้นพบว่ามีตุ่นปากเป็ด แล้วก็ล่องเรือกลับไปประเทศอังกฤษบอกว่าเราค้นพบสัตว์ชนิดใหม่แล้วชื่อว่าตุ่นปากเป็ด ไอ้คนที่อยู่ที่นั่นไม่เคยเห็นก็จะให้เหตุผลว่าที่บ้านมันมีแต่เป็ดแล้วก็ตุ่น มันไม่มีหรอกนะว่าตุ่นกับเป็ดผสมพันธุ์กัน มันก็จะเชื่ออย่างนั้น ก็เรียกว่าไม่สร้างสรรค์ คือไม่ได้ดูเจตนาของคนที่มาพูดว่าเขาหวังอะไร เขาไม่ได้ดูเจตนา เขาดูตัวเขาเองว่าเขาไม่เคยเห็นแสดงว่ามันไม่มี เสร็จแล้วก็ไปอ้างเหตุผลเพื่อไปสนับสนุนความเชื่อของตัวเอง นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นของวงการวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน คือจะเน้นการปฏิเสธ แล้วจะเป็นกันทั่วโลกไม่ใช่เฉพาะเมืองไทย

แสดงว่านักวิทยาศาสตร์จะมีความเชื่ออยู่ชุดหนึ่งแล้วก็จะมีอีโก้อยู่อีกชุดหนึ่งที่คอยควบคุมอีกที?
อีโก้เป็นสิ่งที่น่ากลัว อีโก้คือความเชื่อมั่นในตัวเอง คำว่าตัวตนมันไม่มีหรอกนะ แต่เราไปยึดมันเอาไว้แล้วก็ไปยึดชุดของความเข้าใจส่วนหนึ่งเอาไว้ แล้วก็เข้าใจว่าชุดความเข้าใจนั้นมันจะอธิบายธรรมชาติทั้งหมดได้ แต่มันก็ไม่จริง

อาจารย์เลยมองกลับไปที่พุทธศาสนา?
ใช่ ถ้าเราจะศึกษาทางวิทยาศาสตร์ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้แล้วผลสรุปออกมาตรงกับความเป็นจริงมากที่สุดจะต้องใช้ความเข้าใจที่ตรงต่อสัจธรรมเป็นตัวตั้ง หนึ่งคือเรื่องเจตนาที่บริสุทธิ์ สองคือตั้งสมมุติฐานให้ตรงต่อสัจธรรม

ทำไมถึงต้องเป็นพุทธศาสนา
พุทธศาสนามีชุดความเข้าใจที่ถูกต้องและไม่เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาและพิสูจน์ได้ นั่นคือสัจธรรม ความจริงแท้ก็คือความจริงแท้ ผมจะยกตัวอย่าง เช่นเรื่องปฏิกิริยาดวงอาทิตย์นี่ ถ้าเขามีความเข้าใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นจากตัวมันเอง โดยไม่ต้องมีสาเหตุปัจจัยอะไรอย่างอื่นเลย มันไม่ใช่สัจธรรมนะ คือก่อนสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้มันต้องอาศัยอีกสิ่งหนึ่ง แต่กลับไปบอกว่ามันเกิดขึ้นจากตัวมันเองแล้วตั้งสมมุติฐาน ทุกอย่างมันก็ผิดหมดเลย อย่างเช่นบอกว่าเกิดจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชั่น แล้วก่อนเกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชั่นมันมาจากไหนต้องถามก่อน คือการรวมศูนย์มันเป็นจุดหรือเรียกว่าสภาวะความมีตัวมีตน ภาษาธรรมะเรียกว่าอัตตา จะเห็นว่ามองโลกก็เป็นจุดเล็กๆ มองดวงอาทิตย์ก็เป็นจุดเล็กๆ มอง Black Hole ก็เป็นจุดเล็กๆ มอง Big Bang ก็เป็นจุดเล็กๆ เป็นอัตตาทั้งสิ้น นี่คือวิทยาศาสตร์แบบตะวันตก แต่ถ้ามองแบบตะวันออกก็จะมองว่าจุดนั้นไม่สามารถเกิดขึ้นได้ถ้าไม่อาศัยสิ่งปัจจัยรอบๆ จุดนั้นมีความแปรปรวนก็ไม่ได้เกิดจากตัวมันเอง เกิดจากสภาวะแวดล้อมรอบๆ เหมือนมนุษย์ไม่สามารถอยู่ได้ถ้าไม่มีอากาศ มนุษย์ก็จะไม่มีกิจกรรมเคลื่อนไหวได้ถ้าเอาอากาศออกไป ทั้งๆ ที่อากาศมันเป็นคนละส่วนกัน แต่เราไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านั้นเลย นั่นคือสัจธรรม ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนสัมพันธ์กัน ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน ไม่อย่างนั้นความมีตัวมีตนจึงไม่สามารถเกิดขึ้นได้

ถ้ามองย้อนกลับไปถึงผู้ที่ค้นพบสัจธรรม แสดงว่าพระพุทธเจ้าก็เป็นนักวิทยาศาสตร์
เหนือกว่า เพราะวิทยาศาสตร์เป็นกระบวนการ แต่ว่าท่านอาศัยกระบวนการที่สังเกตเห็น พิจารณาแล้วก็ตั้งสมมุติฐานเหมือนกันแล้วก็แก้ไขไปเรื่อยๆ จนได้เป็นชุดของความเข้าใจที่สูงสุดไม่เปลี่ยนแปลง ความจริงแท้เป็นอยู่หนึ่งเดียว

แล้วถ้าจะให้วงการวิทยาศาสตร์ไปได้ไกลกว่านี้ อาจารย์เห็นว่าควรทำอย่างไร
หนึ่งคือต้องปล่อยวางสิ่งที่เข้าใจในตำราเรียน ปล่อยวางสมมุติฐานที่เราเคยเชื่อเคยยึดถือในตำราเรียน ปล่อยวางความเข้าใจที่ทุกคนเคยยึดถือสืบทอดตามๆ กันมา ต้องคิดเสมอว่าเรายังไม่รู้อะไรมากมาย แล้วสิ่งที่เราศึกษามานั้นเป็นแค่ส่วนเล็กๆ เท่านั้น ถ้าคนอื่นที่เขาศึกษาค้นพบอะไรอีกมุมมองหนึ่งที่ไม่ตรงกับเรามันก็ถูกได้ ใช่ว่าเราจะปฏิเสธทุกอย่าง นี่คือการทำงานวิทยาศาสตร์ที่ถูก แต่สุดท้ายก็ต้องดูที่เจตนา
บางคนพิสูจน์เพื่อหวังอะไร หวังจะดัง หวังจะมีชื่อเสียง อยากจะได้เงิน นี่ก็คือเจตนาไม่ดี ก่อนอื่นเราจะเลือกเชื่ออะไรเราต้องดูที่ใจคน ถ้าจิตใจคนไม่ดีสิ่งที่พูดออกมาก็มีความเข้าใจที่ผิดๆ แฝงอยู่ แต่มันก็มีอีกเรื่องหนึ่งคืออาศัยการที่ถูกสอนกันมาแล้วคนจำนวนมากเชื่อแบบนั้นก็เลยเชื่อไปเลยว่านั่นคือความจริง นี่ก็เลยกลายเป็นปัญหา และดราม่าจะเกิดขึ้นในวงการวิทยาศาสตร์ แต่ความจริงแล้วเมื่อมีคนค้นพบอะไรใหม่เราก็ต้องดูว่าเขาทำเช่นนั้นเขาก็ต้องมีเหตุผลของเขา เพื่อตอบคำถามข้อสงสัยอะไรบางอย่างเขาจึงทำ ประชาชนที่รับฟังข้อมูลข่าวสารก็อย่าเพิ่งเชื่ออะไร ที่จริงก็คือกาลามสูตร 10 นั่นแหละ ให้ดูประโยชน์ที่จะได้รับต่อตนเองและส่วนรวม

มีคนตั้งข้อสังเกตว่า เราวิวัฒนาการมาได้อย่างไร ใช่จากลิงหรือเปล่า เพราะว่าทุกวันนี้ก็ยังหาห่วงโซ่ที่หายไปไม่พบ มีใครหรืออะไรหรือเปล่าที่มาเติมเต็มสายพันธุ์ให้เราวิวัฒนาการ ตรงนี้อาจารย์พออธิบายได้ไหม
เอาอย่างนี้เพื่อความเข้าใจ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นมีความหลากหลายที่จะเป็นไปได้ เรามีการโคลนนิ่งใช่ไหม เรารู้จักการตัดต่อพันธุกรรม อันนี้เป็นวิวัฒนาการปกติหรือเปล่า? ก็ไม่ใช่ สัตว์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาบนโลกนี้มันก็มีหลายเหตุปัจจัย สภาพแวดล้อมมันก็ไม่เหมือนกัน ซึ่งหากถามว่าจะเป็นวิวัฒนาการจากคนเป็นลิงหรือไม่ ก็ลองดูสิว่าลิงสมัยเมื่อ 40 ปีก่อนกับลิงสมัยนี้มันฉลาดขึ้นไหม? ลิงก็ยังเป็นลิงเหมือนเดิมเพราะว่ามันเป็นคนละสายพันธุ์ มันไม่ได้วิวัฒนาการจากอันนี้มาเป็นอันนี้ มันแค่แตกแขนงออกไป
มนุษย์ไม่ได้มาจากลิงเสมอไป คือเราต้องใช้หลักเหตุผลว่ามันมีการแตกแขนงสาขาของสิ่งมีชีวิตที่หลากหลาย แล้วการเกิดขึ้นมามันไม่ใช่ว่าจะต้องจากตรงนี้มาเป็นตรงนี้เสมอไป เราต้องคิดตามนี้ว่ามันมีหลากหลาย

ถ้าอย่างนั้นก็อาจเป็นไปได้ว่าเราอาจจะเกิดจากสิ่งมีชีวิตนอกโลกอย่างที่หนังไซไฟยุคหลังๆ ตั้งคำถามกันถึงเรื่องผู้สร้าง?
ก็เป็นไปได้ ลองดูเชื้อแบคทีเรียสิว่ามันเกิดตายกี่ Cycle แล้วมันเคยกลายพันธุ์หรือเปล่า ลองสังเกตจากเชื้อแบคทีเรียสิ มันไม่กลายพันธุ์ใช่ไหม แต่มันมีสายพันธุ์ใหม่ที่มันผสมกันได้ ข้ามสายพันธุ์กันได้ แต่มันไม่กลายของมันเอง

ช่วงหนึ่ง ฮิลลารี คลินตัน หาเสียงว่าหากได้เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐฯ เมื่อไหร่ จะเปิดโปงเรื่องมนุษย์ต่างดาวให้รับรู้กัน อาจารย์มองเรื่องนี้ว่ายังไง
ผมมองว่า ถ้ามันมีก็อาจจะมีมานานแล้วก็ได้ เพียงแต่ว่ายังไม่เคยเปิดเผย ถ้าเปิดเผยก็ดี ซึ่งผมก็รู้แล้วว่ามันมี เพราะว่าจะได้มีข้อมูลเยอะขึ้นอีก ไม่เห็นมีความเสียหายอะไรนี่ ถ้าทำก็ทำไปสิ ควรจะทำตั้งนานแล้ว เพียงแต่ว่ามันจะเป็นภาระของผู้ที่มาเปิดเผยมากกว่า มาอธิบายสิ่งเหล่านี้ว่า ถ้าเปิดเผยทำไมคุณถึงเพิ่งมาเปิดเผย แล้วก่อนเปิดเผยคุณรู้อะไรบ้าง คุณนำข้อมูลตรงนั้นไปทำอะไรบ้าง ทำไมถึงไม่มาบอกเรา เรื่องของผลประโยชน์? เรื่องของอำนาจ? หรือว่าเรื่องของอะไร มันต้องคอยอธิบายเยอะแยะมากมายนะ ก็เลยตั้งคำถามขึ้นมาว่าทำไมเพิ่งมาบอกตอนนี้ แต่อะไรจะจริงหรือไม่จริงสุดท้ายตัวเองก็ต้องพิสูจน์ด้วยตัวเอง ค้นคว้าเอง เข้าใจด้วยตัวเอง จึงได้คำตอบที่แท้จริง เพราะว่าการที่คนคนหนึ่งจะมาบอกว่าอะไรจริงหรือไม่จริงมันก็ยังมีเรื่องมุมมองของเขาอยู่ ยังติดยังสงสัยอยู่ดี สุดท้ายถ้าหายสงสัยได้ก็โอเค เมื่อหายสงสัยแล้วก็เอาสิ่งเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ ปรับทัศนคติตนเองก็ช่วยได้

อาจารย์พูดอย่างนี้ ทำให้มองไปถึงไสยศาสตร์ที่ชอบชวนคนอื่นมาเชื่อเพราะตัวเขาได้ประโยชน์ ในฐานะที่อาจารย์เป็นนักวิทยาศาสตร์ เราควรจะเชื่อไหมกับเรื่องไสยศาสตร์
เราควรเชื่อในสิ่งที่เป็นประโยชน์ นั่นคือสิ่งที่เชื่อควรนำมาซึ่งปัญญาและศักยภาพในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในชีวิตให้ดีขึ้น อันนั้นก็โอเค แต่ถ้าเผื่อไสยศาสตร์บางอย่างที่เสกของเข้าท้องแบบนั้นมันใช้ในทางที่ผิด คือข้อมูลข่าวสารต่างๆ มันก็เป็นแค่ข้อมูลข่าวสาร แต่ผู้ที่รับข้อมูลข่าวสารนั้นมีสติปัญญาก็ใช้ข้อมูลนั้นมาในเชิงสร้างสรรค์ ไว้พัฒนาตนเองและผู้อื่น
เหมือนกับวิทยาศาสตร์ทำไมคนถึงเชื่อ เพราะว่ามันมีประโยชน์ไง ประโยชน์ต่อตนเองและกับผู้อื่น ส่วนไสยศาสตร์อย่างเรื่องฮวงจุ้ยมันจริงหรือเปล่าก็ลองพิสูจน์สิ ถ้ามันจริงก็เอาไปปฏิบัติ แต่ถ้ายังไม่ได้พิสูจน์แล้วตัดสินเราก็จะกลายเป็นผู้งมงายอีกแบบหนึ่ง แล้วถ้าเผื่อคนคนนั้นเขาทำได้จริงๆ ล่ะ แล้วเราไปตัดสินเขา เราก็ผิดเอง เป็นบาปกรรมตัวเองอีก

แล้วอย่างพวกดูดวงที่อาศัยการมองดูดวงดาว ตำแหน่งของดาวล่ะ ควรเชื่อไหม
คือมันมีบุคลิกลักษณะนิสัยที่มีความเชื่อมโยงกับเหตุปัจจัยนอกโลก มันมีอยู่จริง แต่ถ้าเราเกิดดูดวงเสร็จแล้วและเราไปเชื่ออย่างงมงาย เช่น เขาบอกว่าคนแบบนี้มีพฤติกรรมแบบนี้นะ ไม่เข้มแข็ง อ่อนแอ ถ้าเราเชื่อสิ่งเหล่านั้นเราก็เป็นอย่างนั้นไม่พัฒนาปรับปรุงตัวเอง อันไหนที่มันดีก็ดีแล้ว อันไหนที่ไม่ดีเราก็ปรับปรุง อย่างเขาดูว่าอนาคตคุณจะรวย แต่ถ้าคุณไม่ทำงานคุณก็ไม่รวย เรื่องพวกนี้มันเป็นเครื่องเตือนสติมากกว่า แต่ไม่ใช่เอาไปยึดว่ามันต้องเป็นแบบนั้น เห็นประโยชน์ของสิ่งเหล่านั้นแต่ขณะเดียวกันก็อย่าไปงมงาย สุดท้ายทุกอย่างก็ต้องพึ่งตนเองทำเองให้มันเกิดผล
บางทีเราไปคาดหวังว่าจะเป็นอย่างนั้น แต่เมื่อไม่ได้ตามหวังความทุกข์ก็เกิดขึ้น มันมีหลายเหตุปัจจัย สมมุติเรามีเป้าหมายที่จะสร้างตึกตึกหนึ่ง การดูฮวงจุ้ยโหงวเฮ้งก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะปรับภูมิศาสตร์อะไรให้มันดูดี ศาสตร์ต่างๆ ก็เป็นแค่เครื่องมือเฉยๆ มองให้เป็นเครื่องมือซะ แต่ว่าเราจะทำอย่างไรให้มันบรรลุเป้าหมายที่เราตั้งเอาไว้ ส่วนใหญ่เราชอบไปยึดติดกับเครื่องมือ เราจะสร้างตึกทั้งหลังเราดันไปยึดติดว่าเราต้องใช้ค้อนกับตะปูเท่านั้น

อาจารย์เข้าไปถึงหลักของพระพุทธศาสนาแค่ไหนแล้ว ถึงแก่นหรือยัง
แก่นของพุทธศาสนาคือการพ้นทุกข์ ถ้ายังมีทุกข์อยู่ก็ต้องฝึกต่อไป ตัวเองรู้อยู่แก่ใจ ต่อให้บอกไปคนอื่นก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ หรืออาจจะพิสูจน์ได้แต่ก็ไม่มีประโยชน์ เอาตนเองให้พ้นดีกว่า ถ้ายังติดขัดค้างคาใจเรื่องใดก็ยังติดขัดอยู่ ต้องฝึกต่อไป แต่ถ้ายังไม่ติดไม่ขัดก็จบ นั่นคือเป้าหมายในเรื่องพระพุทธศาสนา

เท่าที่คุยมาทั้งหมด ทั้งด้านศาสนาและวิทยาศาสตร์ อาจารย์คาดการณ์ได้ไหมว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้าสังคมโลกเราจะอยู่กันแบบไหน
ขึ้นอยู่กับทิศทางของโลกว่าโลกจะไปทางไหน แต่โดยรวมแล้วมันจะต้องลงต่ำสุดก่อนจะถึงจุดสูงสุดได้ คือสังคมจะเห็นว่ามันมีความเสื่อมในเชิงจริยธรรม จนถึงจุดจุดหนึ่งมันจะกลับมาดีขึ้น ถ้าเรามองสังคมโลกในปัจจุบันประชาชนทุกคนจะมีความเดือดร้อนมาก ความเป็นอยู่ถึงแม้ว่าในเชิงกายภาพจะมีความสะดวกสบายมากขึ้นแต่จิตใจมันสวนทาง คนจิตใจเสื่อมทรามมีการก่อการร้าย แต่พอมาถึงจุดจุดหนึ่งมันจะมีการเปลี่ยนแปลง อาจจะมีสงครามหรือมีภัยธรรมชาติให้เกิดขึ้น แล้วพอคนเริ่มมีการเรียนรู้จากการสูญเสียก็จะเริ่มดีขึ้น มีการพัฒนามากขึ้น ตอนนี้อยู่ในช่วงขาลง แต่สุดหรือยังก็ต้องดูกันต่อไป แต่ว่าก็มีสิ่งดีๆ ในโลกมากขึ้นทั้งในเชิงการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และในเรื่องของจิตใจมนุษย์ อย่างสมัยนี้คนไทยก็สนใจเรื่องธรรมะมากขึ้น ซึ่งก็เป็นแนวโน้มที่ดี แต่สำหรับโลกก็แน่นอนว่าจะต้องมีความขัดแย้งเกิดขึ้นในอนาคตซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประเทศไหนซึ่งไปทำคนอื่นไว้เยอะก็ต้องรับกรรม มันเป็นกฎแห่งกรรม ถ้าคนมีความเข้าใจในเรื่องกฎแห่งกรรมจะไม่ทำความชั่ว

แต่ส่วนใหญ่ก็ไปทางกฎแห่งการบริโภคมากกว่า อยากได้อยากมีอยากมั่งคั่ง
เขาเห็นว่าสิ่งนั้นสามารถนำความสุขมาให้ได้ แต่ที่เข้าใจว่ามันคือความสุขมันเป็นของชั่วคราวมากกว่า เขาจึงทุกข์เลยต้องแสวงหาสิ่งเหล่านั้น ทุกข์ไปเรื่อยๆ โลกจะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ความเข้าใจใหม่ๆ ทุกศาสนานั้นสอนให้ทุกคนเป็นคนดี อย่างพุทธศาสนาก็ได้รับการยอมรับจากคนทั่วโลกเพราะว่ามันแก้ปัญหาได้จริง อย่างผมก็ได้นำมาประยุกต์ใช้ในทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้ได้คำตอบที่มีความกว้างขวางมากขึ้น กว้างขวางในเชิงตอบคำถามตอบข้อสงสัยต่างๆ

อาจารย์คิดว่าเราควรจะอยู่กับความเชื่อและความจริงอย่างไร
ตระหนักไว้เสมอว่าเราเกิดมาเพื่อสร้างความดี เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ช่วยให้เขาพ้นจากความทุกข์ยากลำบาก เพราะฉะนั้นคนรุ่นใหม่ที่รู้ว่าตัวเองมีศักยภาพในด้านใดบ้าง นำศักยภาพด้านนั้นที่ตนเองเห็นว่าดีที่สุดมาใช้เพื่อพัฒนาสังคมให้เป็นสังคมที่น่าอยู่ ไม่เอาเปรียบหรือเบียดเบียนกัน ดูผลประโยชน์ของสังคมเป็นหลัก

แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสัญชาตญาณเราก็อยากจะแก่งแย่งชิงดีกัน?
แต่มันฝึกได้ การที่เราแก่งแย่งชิงดีนั้นก็เพราะว่าตัวเองยังไม่ดีจึงต้องไปชิงดี ตนเองยังไม่ดีเลยก็ทำให้ตนเองดีซะ ไปแย่งเขาก็แสดงว่าตนเองคุณสมบัติยังไม่พร้อมก็ต้องไปแย่งเขา ทำตัวเองให้มีคุณสมบัติที่ดีสิจะได้ไม่ต้องไปแย่งกัน พัฒนาตนเองให้ดีแล้วดูว่าตนเองมีศักยภาพช่วยเหลือใครได้บ้าง แทนที่จะชิงดีกันก็เป็นการให้ความดี ไม่ต้องแย่งกันเพราะเป็นการให้ไปหมด

แล้วกับวงการวิทยาศาสตร์ไทย อยากจะฝากข้อคิดอะไรไว้
ในวงการวิทยาศาสตร์นั้นก็ต้องขอฝากเอาไว้ว่า การพัฒนาวิทยาศาสตร์ทุกอย่างจะก้าวหน้าต่อไปได้ หนึ่ง-ผู้ศึกษาต้องมีจิตใจเปิดกว้าง สอง-จะต้องเข้าใจว่าการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์จะเน้นกลุ่มเป้าหมาย เป้าหมายคือการค้นพบสิ่งใหม่ๆ การเข้าใจสิ่งใหม่ๆ และการตอบคำถามข้อสงสัยต่างๆ โดยที่หมดความสงสัยได้ นี่คือเป้าหมายของวิทยาศาสตร์ที่แท้จริง ดังนั้นเมื่อมีนักวิทยาศาสตร์ค้นพบสิ่งใหม่ๆ ก็อนุโมทนาเขาถ้ามันมีประโยชน์ ถ้าสิ่งที่ค้นพบมันเป็นสิ่งใหม่แต่ว่ายังอธิบายได้ไม่เคลียร์ก็ช่วยทำให้มันเคลียร์ให้มากขึ้นกว่าเดิม มาช่วยกันดีกว่า คือเราไม่ไปยึดติดในทฤษฎีในสมมุติฐานเพราะว่าเราดูเป้าหมาย เราไม่ต้องไปยึดติดเครื่องมือ เป้าหมายสำเร็จเครื่องมือจะเป็นแบบไหนก็ได้ เครื่องมือไหนไม่เหมาะสมให้เปลี่ยนเครื่องมือซะ แล้วการพัฒนาวิทยาศาสตร์จะก้าวหน้า กฎฟิสิกส์ต่างๆ ก็เป็นแค่เครื่องมือ อย่าไปยึดมั่นในเครื่องมือ


เรื่อง : วรชัย รัตนดวงตา
ภาพ : อิศเรศน์ ช่อไสว

No Comments Yet

Comments are closed

user's Blog!

49/1 ชั้น 4 อาคารบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

49/1 4th floor, Phra-A-Thit Road, Chanasongkhram,Phanakorn Bangkok 10200

Tel. 02 629 2211 #2256 #2226

Email : mars.magazine@gmail.com

FOLLOW US ON

SUBSCRIBE