รักกิจ ควรหาเวช ความชัดเจนของตัวตนบนถนนแห่งศิลปะ

    สำหรับคำว่า กราฟฟิตี้ (Graffiti) กับสังคมไทยนั้น คงต้องยอมรับถึงความไม่ลงรอยในด้านวัฒนธรรม และแนวคิด อีกทั้งคนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจ มองศิลปะบนกำแพง หรือข้างถนนเป็นเพียงอาการ ‘คะนอง’ ของวัยรุ่นเท่านั้น ซึ่งเป็นไปไม่ได้หากจะกล่าวว่า “ทั้งหมดคืองานศิลป์” เพราะต้องยอมรับว่าส่วนใหญ่ที่พบก่อความเสียหายให้กับอาคารบ้านเรือน หรือทรัพย์สินทางราชการ คล้ายทำเพื่อสนองความอยากเด่นอยากดัง สร้างพื้นที่ให้ตัวเองและพวกพ้อง

ดังนั้นกลุ่มคนผู้ตั้งใจสร้างผลงานเพื่อแสดงออกถึงแนวคิดต่อสังคม หรือต้องการบ่งบอกความมีตัวตนที่ “คิดเป็น” จึงมักเลือกบริเวณซึ่งได้รับอนุญาต หรือจุดลับสายตา ไม่ทำลายความสวยงามที่มีอยู่เดิม เพื่อสร้างสรรค์ผลงานของตัวเอง

เมื่อกล่าวถึง กราฟฟิตี้ หลายท่านอาจนึกถึงศิลปินในวงการนี้ เช่น ‘ตั้ม-พฤษ์พล มุกดาสนิท’ ผู้ใช้นามแฝง MMFK (mamafaka) ศิลปินแนว Street Art (สตรีทอาร์ต) และกราฟฟิกดีไซเนอร์ ที่เพิ่งล่วงลับไปเมื่อปลายปี 2556 หรือจะเป็น ‘P7 – พีระพงศ์ ลิ้มธรรมรงค์’ ศิลปินผู้มีผลงานแนวโมเดิร์นอาร์ตเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ

ส่วนศิลปินอีกหนึ่งท่านกำลังมีชื่อเสียงด้วยผลงานจาก Block Stencil ถูกดีไซน์มาเพื่อรังสรรค์งานในแบบที่เป็นตนเอง บุคคลคนนี้ที่ mars ต้องขอจับเข่าคุยด้วยคือ ‘รักกิจ ควรหาเวช’ ศิลปินแนวสตรีทอาร์ต ผู้มีผลงานแนวกราฟฟิตี้ ใช้สีสันลายเส้นเป็นเอกลักษณ์โดดเด่น และหลายคนกำลังพูดถึงเขาในขณะนี้

‘รักกิจ’ เริ่มฉายแววด้านศิลปะตั้งแต่สมัยเรียนในระดับชั้นอนุบาล จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่ครูประจำชั้นเลือกเขาเป็นตัวแทนประกวดวาดภาพ แม้ความสำเร็จในวันนั้นจะเป็นเพียงอันดับ 3 มีของรางวัลเป็นกบเหลาดินสอ แต่ก็ยิ่งใหญ่พอจะทำให้เขาค้นพบตัวเอง และมุ่งมั่นหาความรู้ด้านงานศิลปะตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ซึ่งเขาเผยถึงช่วงชีวิตจากจุดเริ่มต้นนี้ว่า…

“ตอนเอ็นทรานซ์ขอเป็นคณะอะไรก็ได้ให้มีศิลปะ ช่วงแรกคิดว่าตัวเองชอบสถาปัตย์ แต่พอสอบติดคณะครุศาสตร์เอกศิลปะศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยิ่งทำให้ค้นพบอีกด้านว่าไม่ได้ชอบวาดรูปตึกอะไรพวกนั้น เพราะ ‘ครุอาร์ต’ จบมาต้องเป็นครู จึงมีวิชาหลากหลาย drawing, งานปั้น, สีน้ำมัน, สีน้ำ, วิธีเขียนแบบ หรืองานออกแบบโลโก้ เราเรียนหมดทุกอย่าง
สมัยเรียนรุ่นพี่ที่คณะมีชื่อเสียงหลายท่าน จึงรู้สึกว่าเราถูกรายล้อมด้วยคนเก่ง ยิ่งครุอาร์ตจุฬาฯ รุ่นหนึ่งมีแค่ 40 คน นอกจากสนิทกันในชั้นปีแล้วยังใกล้ชิดรุ่นพี่ที่เคยออกแบบปกเทปให้ศิลปินดังๆ จึงเกิดเป็นแนวคิดว่าอยากทำปกหนังสือ ปกซีดีบ้าง ช่วงใกล้จบทำทีสิตจึงเลือกพวกสิ่งพิมพ์ เพราะส่วนตัวชอบดูแม็กกาซีน ปกซีดี ติดเข้าร้านหนังสือบ่อยมาก แต่ก็ไม่ได้มีสตางค์ซื้อนะ อาศัยเปิดๆ ดูหามุมมองใหม่ๆ แต่จบมาก็ยังไม่อยากเป็นครู เพราะคิดว่ายังอยากใช้เวลาทำงานก่อน มันมีอะไรให้ทำอีกเยอะ

เริ่มต้นการทำงานก็อยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์ทำ Illustrator ซึ่งมันก็คล้ายกับ Drawing บ่อยครั้งลูกค้าไม่มีงบถ่ายรูป ต้องทำภาพประกอบเพื่อทดแทนภาพถ่ายให้ได้ ซึ่งรายละเอียดจะเยอะมาก แต่หลังๆ เบื่อเพราะคนมาแนวนี้เยอะ จึงทดลองทำอะไรต่างออกไปเช่นเอา Photoshop เข้ามาผสม จนวันหนึ่งทาง นิตยสาร Computer Arts จากประเทศอังกฤษติดต่อมาให้ออกแบบปก ตอนนั้นก็ตกใจ เพราะเรื่องภาษาอังกฤษโง่มาก (หัวเราะ) เสียดายไม่ตั้งใจเรียนภาษาตั้งแต่เด็ก ทำให้การทำงานกินเวลาหลายขั้นตอน เพราะต้องให้เพื่อนช่วยแปล”

    นอกจากชื่อเสียงที่ได้มาจากการออกแบบสิ่งพิมพ์ รักกิจยังถูกยกให้เป็นสตรีทอาร์ตอันดับต้นๆ ของเมืองไทย เขาเปิดเผยที่มาที่ไปจากงานบนหน้าคอมพิวเตอร์สู่ศิลปะบนกำแพงว่า
    “เป็นคนที่เมื่อมีโอกาสเข้ามาจะรับไว้ก่อน ตอนนั้น ‘พี่หมู Ductstore’ (นนทวัฒน์ เจริญชาศรี) ซึ่งเป็นรุ่นพี่ที่ครุอาร์ต ชวนเข้ามาทำกราฟฟิกดีไซน์ ทำได้ 2 ปี จึงออกมาทำฟรีแลนช์ จากนั้นไปรวมตัวกับเพื่อนกลุ่ม ‘Bored’ คือเบื่อระบบการทำงาน เบื่อลูกค้าเวลาทำงานประจำ รวมกลุ่มกันเพื่อปลดปล่อยงานที่ไม่ค่อยอิงตลาด แต่งานส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยได้สตางค์ คิดเพียงอยากทำงานที่ชอบ

วันหนึ่งพี่ ‘อนุทิน วงศ์สรรคกร’ เจ้าของบริษัท คัดสรรดีมาก’ เปิดบริษัททำฟอนต์ชวนไปคุย ครั้งแรกคิดว่าให้ไปออกแบบโปสเตอร์จึงรับปาก แต่สุดท้ายให้ไปบรรยายเกี่ยวกับฟอนต์ คือเป็นคนชอบตรงนี้นะแต่ด้วยความที่ไม่ได้เรียนด้านฟอนต์มาโดยตรงจึงไม่รู้ว่ามีทฤษฎีอะไรผิดอะไรถูก เราแค่ใช้ความรู้สึกตามความชอบเท่านั้น อีกทั้งคนที่ขึ้นบรรยายมาจากต่างประเทศ และมีแต่คนเก่งๆ เมื่อเก่งไม่เท่าเขา เราจึงฉีกไปอีกแนว ลองหาฟอนต์รอบๆ ตัว และไปสะดุดที่ฟอนต์ Stencil

    ข้อดีของฟอนต์ตัวนี้คือมันถูก มีแค่กระดาษกับคัตเตอร์ ทีนี้เวลาเราทำมันจะพ่นได้เพียงประโยคเดียว เสียเวลา ข้อจำกัดอีกอย่างคือถ้าต้องการตัวหนังสือใหญ่ๆ กระดาษก็ขนาดไม่พออีก จึงตั้งโจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้บล็อกบล็อกเดียวสามารถพ่นเป็นตัวอักษรได้ทั้งหมด จึงใช้วิธีไปดึงเอาโครงสร้างตัวอักษรไทยว่าแต่ละจุดมีอะไรบ้าง กระทั่งได้ ‘one block Stencil’ ที่คิดค้นขึ้นมา พ่นได้ทั้งไทย – อังกฤษ พลิกแพลงหลากหลายสามารถปรับไปได้เรื่อยๆ นี่คือโอกาสแรกทำให้ชีวิตเปลี่ยน และทำให้รู้ว่าจริงๆ งานสวยๆ ไม่ได้จำกัดเพียงในคอมพิวเตอร์…


    ตรงนี้เป็นโอกาสให้ ‘พี่ P7’ ชวนไปพ่นกำแพง เราก็ต้องมานั่งคิดแล้วว่าจะไปเพ้นท์กำแพงใหญ่ๆ จะเอาอะไรไปสู้กับเขาเพราะทุกคนเก่งหมด และอย่างที่บอกว่าเป็นคนไม่ปฏิเสธโอกาส เมื่อชวนมาก็รับปากไปก่อน สุดท้ายกลายเป็นกดดันตัวเองว่าจะทำอะไร จึงหยิบเอาบล็อก Stencil มาจัดทำ คือ ‘นำงาน Design มาบวกกับงานศิลปะ’ แล้วเราก็รู้สึกว่า เฮ้ย!!! อันนี้แหละ มันไม่เคยมีใครทำ พอเราทำได้ก็เริ่มสนุกกับมัน ไม่ค่อยแคร์ความสวยงาม มองเรื่องไอเดียตอบสนองสิ่งที่ต้องการสื่อมากกว่า”

เมื่อค้นหาแนวทางการนำเสนอพบ ‘รักกิจ’ จึงเดินหน้าหาจุดเชื่อมระหว่างงานศิลป์ของตนกับความเข้าใจของผู้ชม โดยงานกราฟฟิตี้ จาก Stencil มีพัฒนาการเรื่อยๆ ทั้งด้านลวดลาย และระยะเวลาการสร้างงาน
“งานชิ้นงานแรกๆ เป็นรูปคน ยอมรับเลยว่ามันดูแบนๆ ดร็อปจากคนอื่น แต่มันก็สนุกดีตรงที่เราสามารถเอาชนะขั้นตอนบนกำแพงใหญ่ๆ ได้ พอทำได้พี่ P7 ชวนไปทำที่อื่นต่ออีก ก็กดดันตัวเองตลอด ข้อด้อยของงานเราคือความล่าช้า คนอื่นวันเดียวเสร็จก็ไปกันหมดแล้ว แต่ของเราตั้ง 2 วัน จึงรู้สึกว่าวิธีมันไม่เวิร์ค พอเจอปัญหามากขึ้นครั้งหน้าก็หาวิธีการไปแก้ให้เร็วขึ้น จากเมื่อก่อนมีรายละเอียดมากก็ตัดทอน พอคิดวิธีการใหม่มาแก้ปัญหาตรงนี้ก็ยิ่งสนุก ใช้พลิกแพลงไปสู่งานไม้ วัสดุผสม เมื่อวิธีการมันชัดเจนในสไตล์ของเราคนจะจดจำได้ว่าคือตัวเรา”

แม้ในวันนี้ผลงานในสไตล์ของ ‘รักกิจ’ จะถูกยอมรับทั้งในและต่างประเทศ แต่เจ้าตัวก็ไม่ลืมที่จะกล่าวถึงศิลปินผู้ที่ช่วยผลักดันให้เขาสร้างพัฒนาการให้ตัวเองอยู่ตลอดเวลา
    “แรงขับของผมคือพี่ P7 เพราะเป็นคนกระตุ้นให้ทำงานใหม่เสมอ อย่างช่วงแรกเราทำ Stencil เป็นกวาง เราก็ทำกวางมันทุกงาน พี่เค้าให้คำแนะนำว่ากวางก็ทำเป็นแล้วลองทำตัวอื่นบ้างสิ เพราะอนเซ็ปต์ของพี่พีในการทำงานคือ ทำตัวไหนสมบูรณ์ก็จะฆ่าตัวนั้นไป คือจะไม่ทำซ้ำ ตรงนี้กดดันให้ต้องคิด พอถึงจุดที่อยู่ตัวรู้ว่าทำได้จากนั้นไปไหนก็ไม่กลัวแล้ว อย่างงานที่ประสบความสำเร็จมากคืองานล่าสุดที่ประเทศเกาหลี เราพอใจกับมันมาก”

    หลังสร้างผลงานบนกำแพงในสถานที่ต่างๆ รักกิจ ถูกมองว่าเป็น ‘กราฟฟิตี้’ คนหนึ่ง แต่เขากลับออกตัวว่าตนเป็นเพียงศิลปินประเภท ‘สตรีทอาร์ต’ เท่านั้น
งานที่ทำถ้าไปอยู่บนถนนมันก็คือสตรีทอาร์ตนะ แล้วที่เป็นงานโปรดักซ์มันคือผลต่อยอดจากสิ่งที่เราทำ ซึ่งขอเรียกว่างานบนกำแพง ส่วนกราฟฟิตี้จะอิงกับพวกตัวหนังสือ คืออยากจะแสดงออกว่านี่คือถิ่นเรา แล้วคนอื่นที่มาจากต่างถิ่น หรือหน้าใหม่ก็พ่นทับ บอมบ์กันไปบอมบ์กันมา
สรุปง่ายๆ สตรีทอาร์ต มาทีหลังกราฟฟิตี้ แต่กว้างกว่าเพราะ สตรีทอาร์ตไม่จำเป็นต้องอยู่บนกำแพง มันมีทั้ง Sculpture (ประติมากรรม), Street Installation (ศิลปะการจัดวาง) บางคนก็ไปเล่นกับปล่องลมพวกตุ๊กตาหน้าปั๊ม เรียกว่ามันหลากหลายมาก มันอยู่ที่ว่าใครเจอไอเดียอะไรกับพื้นที่ตรงนั้น ส่วนกราฟฟิตี้มันมีพื้นฐานพวกสเปรย์

    สำหรับชิ้นงานของผมที่ถูกบอมบ์ก็มีนะ ต้องยอมรับว่ากลุ่มคนที่มาทำตรงนี้มันหลากหลาย พอต่างกลุ่มต่างไอเดียกันมันก็ไม่ค่อยถูกคอกัน แต่ผมว่าถ้าเป็นกราฟฟิตี้แบบไทยๆ ขออย่าไปอิงฝรั่งเค้าเลย เพราะพวกกราฟฟิตี้ฝรั่งจะเกลียดสตรีทอาร์ตนะ เห็นเป็นไม่ได้จะไปบอมบ์แบบแย่ๆ เลย
ส่วนตัวพอมาทำงานสตรีทอาร์ตช่วงเมืองไทยกำลังบูมพอดีมันก็มีคนไม่ชอบ ยังโชคดีว่าไม่ค่อยเจออะไรแย่มากเท่าไหร่ เพราะส่วนใหญ่จะรู้จักกันอยู่แล้ว ยังมีการเคารพรุ่นพี่รุ่นน้อง เลยไม่ค่อยกล้ามาทำอะไรกันมาก สุดท้ายแบรนด์สินค้าเริ่มเข้ามา โชคดีที่แต่ละงานมันแตกต่างกันด้วย อย่างเสื้อผ้า รองเท้า นาฬิกา เครื่องดื่ม มันได้แง่ดีของการคิดว่าจะทำอย่างไรให้ชิ้นงานต่างกัน และเราก็ไม่ต้องยึดติดกับบนกำแพง แต่สามารถนำแนวทางเดียวกันมาออกแบบต่อยอดได้”

เมื่อ ‘รักกิจ’ ข้ามพ้นจากการยึดติดในกรอบความคิด เข้าจึงมองไปข้างหน้าเสมอ โดยเจ้าตัวได้แง้มถึงผลงานในอนาคตว่า
    “เมื่อก่อนเป็นคนยึดติดกับการทำงานมากเกินไป ต่อจากนี้อยากจะพูดอะไร หรือสื่อสารผ่านงานให้มากขึ้น อย่างถ้าทำเป็นเสือเป็นสัตว์มันก็เห็นแล้วว่าเป็นตัวอะไร แต่หากมีการส่ง Massage มากขึ้นมันจะดีกับคนดู รับรู้อะไรมากขึ้น ส่วนการวางแผนอนาคตในรูปของบริษัทตอนนี้ยังไม่คิด เพราะตัวเองเป็นคนอยู่กับปัจจุบันมาก มีงานเข้ามาก็ทำให้ดีที่สุดแล้วก็จบไป จึงไม่ได้คิดว่าจะต้องมีใครมาช่วย หรือต้องไปขายงานยังไง เรามองว่าเราพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลาดีกว่า อย่าไปหยุดอย่าไปจมอยู่กับจุดจุดเดิม คือถ้าเราโตได้ คิดอะไรแปลกๆ ได้ก็ทำไปเพื่อที่มันจะได้ไม่หยุดนิ่ง
    อนาคตอยากต่อยอดสิ่งที่เรียนรู้มาด้วยการเป็นครู แต่ขอเก็บเกี่ยวประสบการณ์อีกสักระยะ เพราะเพิ่งอยู่ในวงการไม่กี่ปี ประสบการณ์คงไม่เพียงพอจะไปสอนใคร อีกทั้งตอนนี้ยังหมกมุ่น ยังกระหายในการสร้างงานอยู่


    ฝากถึงน้องๆ ที่จะเข้ามาทำงานศิลปะว่า ต้องรักจริงๆ ไม่ใช่คิดแค่พี่คนนั้นทำแล้วมีคนถ่ายลงหนังสือ มีผู้หญิงติดเยอะ หรือมีสตางค์ ต้องรู้จักนำไลฟ์สไตล์ตัวเองมาใช้กับงานศิลปะจริงๆ เพราะคนที่ทำงานตรงนี้เขาไม่มานั่งคิดหรอกว่างานตัวเองจะมีคนมาซื้อไหม หรือโพสต์ขึ้นเน็ตจะได้กี่ไลค์ มันต้องมีความสุขจริงๆ กับสิ่งที่ทำอยู่
ส่วนเรื่องการโพสต์งานลงโลกโซเชียล คือการบ่งบอกว่าเราได้ทำงานแบบนั้นแบบนี้ออกมาแล้ว เพราะบางทีคนไม่ค่อยเชื่อว่างานที่ออกแบบเป็นฝีมือคนไทยด้วยกัน พอเห็นในเว็บเมืองนอก แล้วมาเห็นของคนไทย ก็ไปด่าว่าไปลอกเขามา ทั้งที่ของไทยทำก่อนเพียงไม่ได้โพสต์เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องของแนวคิดใหม่ๆ ที่ต้องสร้างขึ้น



ใช่… คุณอาจเก่งในเรื่องวาดรูปอย่างเดียว อาจวาดรูปดอกไม้สวยมาก แต่มันก็ยังอยู่บนผืนผ้าใบ แล้วทำอย่างไรต่อ วันหนึ่งคุณอาจแทรกข้อความในชิ้นงานเพื่อสื่อสารกับคนดูมากขึ้น อย่าไปจมปลักกับอะไร ความภูมิใจมันมีสเต๊ปส์ของมัน แล้วต้องพัฒนา ต้องตั้งคำถามว่าจากนี้ต่อไปคืออะไร… ”

‘รักกิจ’ ทิ้งท้ายฝากถึงศิลปินรุ่นน้อง หรือใครก็ตามที่อยากก้าวเข้ามาสู่แวดวงเดียวกัน
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Graffiti และ Street Art

Graffiti (รอยขูดขีดเขียน) เป็นภาพวาดที่เกิดจากการขีดเขียนไปบนผนัง คำ “graffiti” เป็นคำศัพท์ที่มาจากภาษากรีก grafito ซึ่งแปลว่าการเขียนภาพลงบนผนังหรือกำแพง ในสมัยโบราณ โดยที่รู้จักกันทั่วไปจะมีลักษณะของการพ่น (bombing) เซ็นชื่อ หรือเป็นการเซ็นลายเซ็น โดยเริ่มต้นจากเมืองฟิลาเดลเฟียในรัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา จากนั้นจึงแพร่หลายในนิวยอร์กช่วงยุคคริสต์ทศวรรษที่ 60
Street Art (ศิลปะข้างถนน)ศิลปะที่สามารถพบเห็นได้ตามที่สาธารณะ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือตามข้างถนนทั่วไป ซึ่งปกติงานศิลปะแนวนี้มักค้านกับกฎหมายบ้านเมือง เพราะมักแสดงบนพื้นที่ที่ไม่ได้รับอนุญาต ทั้งนี้คนส่วนใหญ่มักรู้จักสตรีทอาร์ทในอีกชื่อหนึ่งว่า กราฟฟิตี้ (Graffiti) หรือการพ่นผนังด้วยสเปรย์ แต่ความจริงนั้นยังรวมถึงงานประติมากรรม (Sculpture) การพ่นผนังด้วยสีสเปรย์ โดยมีบล็อกกั้นสี (Stencil Graffiti) การติดสติ๊กเกอร์ (Sticker Art) การแปะโปสเตอร์โดยใช้กาวทา (Wheat Pasting) และศิลปะการจัดวาง (Street Installation) เป็นต้น”

    P7 “พีระพงศ์ ลิ้มธรรมรงค์” หรือในแวดวงศิลปะรู้จักเขาในนาม “P7” อาร์ติสต์หนุ่มที่มีผลงานแนวโมเดิร์นอาร์ตมาอย่างมากมาย ผลงานของเขาได้รับการยอมรับและจัดแสดงมาแล้วทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจัดตั้งกลุ่มชื่อ ‘DOB’ ประกอบไปด้วย P7, Rukkit, Never, Zids และ Chip 7



กลุ่ม TMC นี่ย่อมาจากคำว่า “Time Machine” เป็นกลุ่มเพื่อนที่มีความสนใจในงานกราฟฟิตี้เหมือนกัน จึงรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างงานศิลปะ และพ่นกราฟฟิตี้ ปัจจุบันนี้ TMC มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 5 คน ประกอบไปด้วย LEO, AO, KAR, BNS และ KHO
ภาพ : สุวิทย์ กิตติเธียร
เรื่อง : เอกลักษณ์ มุสิกะนันทน์

ขอบคุณภาพจากเพิ่มเติมจากเว็บ rukkit.wordpress.com, P7 และ TMC

user's Blog!

49/1 ชั้น 4 อาคารบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

49/1 4th floor, Phra-A-Thit Road, Chanasongkhram,Phanakorn Bangkok 10200

Tel. 02 629 2211 #2256 #2226

Email : mars.magazine@gmail.com

FOLLOW US ON

SUBSCRIBE