Genius ทางอารมณ์ ใครก็เป็นได้ แครธริน ทรงพัฒนะโยธิน

เรื่อง : เอกลักษณ์ มุสิกะนันทน์
ภาพ : อิศเรศน์ ช่อไสว

หากคุณต้องการพ็อกเก็ตบุ๊คเอาไว้อ่านยามว่างสักเล่ม สไตล์ใดกันเล่าตอบโจทย์ความชื่นชอบได้ชัดเจนที่สุด อาจเป็นนิยายแฟนตาซีมีพ่อมด มังกรยักษ์ บ้างโรแมนติกรักโลกสวย บางครั้งลงลึกถึงจิตฆาตกรตามแบบนิยายสืบสวน หรือจะเป็นหนังสืออีกหลากแนวให้คุณเลือกสรรอาทิ ประวัติศาสตร์ และ How to เป็นต้น แต่จะมีสักกี่เล่มช่วยเสริมสร้างพลังทางจิตใจ ให้เรามองเห็นเบื้องลึกในเหตุ และผลของสิ่งที่อยู่ตรงหน้า พร้อมรับมือมันด้วยสติ และรอยยิ้ม

Genius ทางอารมณ์ หนังสือแนว Feel good สำหรับให้เราใช้จัดการอารมณ์ตนเองได้อย่างชาญฉลาด โดย แครธริน ทรงพัฒนะโยธิน หรือ แคท หญิงสาวผู้ค้นพบอีกด้านหนึ่งของโลกที่เธอแทบไม่เคยสัมผัสมาก่อน ขณะกำลังศึกษาด้านการบริหารธุรกิจระหว่างประเทศที่ Pepperdine Universityสหรัฐอเมริกา โดยเน้นเรียนวิชาที่เกี่ยวกับการเงินเป็นส่วนใหญ่ ตามด้วยศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่ University College London มหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งด้านจิตวิทยาของอังกฤษ เป็นรองเพียง Harvard เท่านั้น

ผลงานของเธอถูกยอมรับจากผู้อ่านให้เป็นงานเขียนด้านจิตวิทยาที่เข้าใจง่าย สามารถนำไปปรับใช้ได้จริง ซึ่ง mars ขอพาคุณไปรู้จักกับหญิงสาวผู้พยายามศึกษาเข้าไปในส่วนลึกความคิดทั้งของตน และผู้อื่น กระทั่งเข้าใจความเป็นไปของสิ่งรอบตัว นอกเหนือไปกว่านั้นเธอมีรอยยิ้มส่งผ่านพลังความสุขยังคนรอบข้างให้ได้สัมผัสเสมอ

เริ่มต้นชีวิตการศึกษานำมาสู่ความสนใจด้านจิตวิทยา
มีอย่างหนึ่งชอบมากของอเมริกาคือหลักสูตรที่ให้เด็กเรียนหลายๆ วิชาก่อน จากนั้นค่อยเลือกสาขาที่ชอบ แคทเลือกเรียนการเงินคนอาจมองว่าด้านนี้เบื่อ ตัวเลขเป็นอะไรที่ไม่ชอบ เช่นคอนเซ็ปต์เงินในอนาคต หรือในอดีต มันไม่สนุกมันไม่เข้าใจ แต่สำหรับเรากลับรู้สึกเอ็นจอย ชอบที่สุดในบรรดาแขนงต่างๆ ของมาเก็ตติ้ง หรือเซล อะไรพวกนี้ จากนั้นทำมาเรื่อยๆ

“ในใจคิดมาตลอดว่าคนที่จะประสบความสำเร็จ และมีความสุขด้วยคือคนที่นอกจากทำสิ่งที่ตัวเองทำได้ดีเพื่อเลี้ยงตัวเองก็ต้องทำในสิ่งที่รักด้วย อย่างแคททำการเงินได้ดี แต่คำถามคือมันเป็นสิ่งที่แคทชอบที่สุดหรือเปล่า…

“มันก็ไม่ใช่นะคะ คือเราทำเพราะทำได้โอเค แต่สุดท้ายเราไม่ได้รู้สึกหลงใหลกับมัน จนอยากนอนหลับแล้วตื่นออกมาก็เป็นการเงิน ด้วยความที่เป็นคนชอบอ่าน อย่างเวลาทำงานจะเอาหนังสือไปนั่งอ่านเวลาว่าง พักเที่ยง หรือหลังเลิกเรียนกลับมาก็นอนหลับไปกับหนังสือ รู้สึกว่าตัวเองหาโอกาสมาตลอดว่าอยากทำอะไรที่เรารัก แล้วต้องสามารถสร้างเนื้อสร้างตัวเองได้

การเรียนทำให้ค้นพบตัวเอง
“การเรียนธุรกิจมันคือจุดเปลี่ยนของชีวิตเหมือนกัน เพราะรูปแบบการเรียนการสอนในสหรัฐอเมริกาเขาเน้นให้ทำงานกลุ่ม เน้นให้เราเจอคนหลายประเภท เจอคนที่คิดอะไรไม่เหมือนเรา มันทำให้รู้สึกเหมือนถูกผลักออกมาจากโลกของตัวเอง ต้องพยายามเข้าใจคนที่แตกต่างจากเราอย่างสิ้นเชิง อย่างบางคนเก่งเรื่องการพูด ต่างจากแคทสมัยก่อนไม่ได้เป็นคนพูดคลี่องนะคะ ติดๆ ขัดๆ ตลอด เรียกว่าเราต้องทำหลายอย่างที่ไม่คุ้นชินทางจิตวิทยาของตัวเอง

ตรงนี้จุดประกายว่าอยากลุกขึ้นมาศึกษาเพิ่มเติมเพื่อเราจะได้เป็นนักเรียนธุรกิจที่ดีขึ้น กระทั่งได้รู้เกี่ยวกับทฤษฎี 'พุทธิปัญญา' ทำให้เราเข้าใจโครงสร้างสมองที่แตกต่างกันของแต่ละคน ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดมาพร้อมเราส่วนหนึ่ง และสภาพแวดล้อมส่วนหนึ่ง จากนั้นจึงอิน และตื่นเต้นมากถึงขั้นผลักให้เราไปเรียนต่อด้านนี้”

สิ่งที่ได้จากพุทธิปัญญา
“สิ่งหนึ่งเปลี่ยนไปคือเรามีความสุขขึ้นเยอะมาก ความสุขที่เกิดส่วนหนึ่งมาจากข้างใน อีกส่วนมาจากเราสามารถเข้าใจ และสื่อสารกับคนอื่นได้ดีขึ้นเพราะเราเข้าใจเขา มันคือความสุขที่เกิดขึ้นตั้งแต่จากครอบครัว เพื่อน งาน และอีกหลายๆ อย่าง เราได้สัมผัสด้วยตัวเอง โดยเฉพาะอะไรที่เกี่ยวข้องกับคนดีขึ้นจากหน้ามือเป็นหลังมือ

“ตัวอย่างภายนอกเช่นบ้านของแคทมีพี่น้องสี่คน แต่ละคนต่างกันมาก อย่างน้องคนที่สองค่อนข้างเพื่อนเยอะ ออกไปข้างนอกได้เรื่อยๆ แคทเห็นเขาก็คิดว่าไม่เหนื่อยบ้างหรือ อย่างสมัยเด็กเราค่อนข้างทะเลาะกันบ่อยเพราะแคทไม่เข้าใจเขา แล้วแคทอยากให้เขาเป็นแบบที่เราคิด เพราะคิดว่าดี ส่วนเขาก็ไม่เข้าใจเราบอกว่าทำไมเราไม่เป็นแบบนั้นแบบนี้

“พอเรียนทฤษฎีเกี่ยวกับเรื่องพุทธิปัญญา ทำให้เข้าใจว่าคนเราเกิดมามีอะไรหลายๆ อย่างในสมองที่ผูกไว้ เหมือนกับถูกวางโครงสร้างในแบบตัวเอง ยกตัวอย่างกรณีฝาแฝด ถ้าเราไปดูโครงสร้างสมองเขาก็ไม่ได้เหมือนกันทั้งหมด แล้วเราเป็นพี่น้องโตในสภาพแวดล้อมแบบเดียวกัน ไม่ได้หมายความว่าต้องเหมือนกัน มันไม่ได้เป็นแบบนั้น

“ต่อมาพอเข้าใจว่าน้องของเราเขาจะรู้สึกมีพลังขึ้นมาเมื่อได้อยู่ในสังคม ส่วนแคทโดยธรรมชาติเป็นคนชอบอยู่กับตัวเอง รู้สึกมีพลังเวลาได้อยู่ในโลกส่วนตัว มีจินตนาการมาก นั่นหมายความว่าเรามีบ่อเกิดจากอะไรไม่เหมือนกัน จากนั้นจึงมีความสุข และยินดีในสิ่งที่เขาแฮปปี้ และเป็นตัวของเขาเอง สามารถให้กำลังใจในสิ่งซึ่งเหมาะกับเขาจริงๆ เหล่านี้เป็นอย่างหนึ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับคนที่แคทรักดีขึ้นมากๆ

“ส่วนเพื่อนร่วมงาน ปัญหาหนึ่งเห็นชัดเจนระหว่างการทำงานคือความเครียด ซึ่งเป็นปัญหาในยุคปัจจุบัน คนเราไปทำงานแล้วเครียด พอเครียดทำให้เรียนรู้ได้ไม่ดีเท่าที่ควร มันส่งผล ต่อ productivity (กำลังการผลิต) ที่ไม่ดีนัก แคทคิดว่าตัวเองทำงาน และสามารถจัดการปัญหาเกี่ยวกับความเครียดได้ดี ว่ากันว่านักจิตวิทยาที่เก่งจะเห็นได้ก็คือเมื่อเขาบรรลุแล้ว นั่นคือเขาไม่โกรธใครรอบตัวเลย พอเราบรรลุจะเข้าใจว่าทำไมคนบางคนเสียงดัง คนบางคนถึงทำสิ่งแตกต่างจากเรา บางคนทำไมพูดจาไม่เพราะ หรือทำไมเขาถึงเลือกทำสิ่งที่ผิดในความรู้สึกเรา

“นักจิตวิทยาเป็นคนที่มองแล้วสามารถเข้าใจสมองเหล่านี้ที่แตกต่างจากเขาได้ดี ซึ่งแคทรู้สึกว่าการเข้าใจทฤษฎีความคิดที่แตกต่างจากเรามาก ๆ ทำให้เวลาไปทำงานเจอคนที่เขาแตกต่าง หรืออาจสร้างความเครียดให้ แม้ไม่ใช่ว่าจะมีความสุขเสียทีเดียว แต่อย่างน้อยก็เข้าใจ และไม่เครียด”

การพัฒนาด้านบุคลิกภาพ
“เรื่องบุคลิกภาพเป็นคลาสหนึ่งของการเรียนธุรกิจที่นั่น สิ่งที่เน้นมากคือนักเรียนธุรกิจของเขาต้องมีความสามารถในการสื่อสาร ในการนำเสนอ ในการมีบุคลิกภาพที่คนเจอแล้วฉันอยากใช้งานเธอ ฉันอยากอยู่ทีมเดียวกับเธอ ตรงนี้คือส่วนสำคัญของการทำงานในชีวิตจริง

“แคทเขียนเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ เหมือนเขาพยายามช่วยเราปรับสิ่งที่อยู่ภายนอกเช่นการออกเสียง ลักษณะมือ หรืออะไรต่างๆ แม้ไม่ได้ช่วยอะไรที่ลึกซึ้งจริงๆ อาจเพราะแคทไม่ค่อยเชื่อเรื่องการปรับภายนอก แต่มันเป็นจุดเริ่มต้นให้คิดว่าหลายคนเขาไม่ได้เรียนคอร์สพวกนี้ เขาก็ประสบความสำเร็จมากมายในอาชีพ นักธุรกิจหลายท่านเรียนประถมเอง ไม่ได้จบมหาวิทยาลัย ไม่ได้ผ่านคอร์สบุคลิกภาพ ทำไมเขายังได้ดี ทุกคนอยากทำงานกับเขา ทุกคนมีเพื่อนฝูงมากมาย

“ตรงนี้จุดประกายให้ไปศึกษาต่อแล้วพบว่าการที่เราพยายามปรับจากภายนอก เป็นการปรับที่ผิวเผิน ถ้าปรับตั้งแต่ภายในอย่างเรื่องอารมณ์มันแก้ปัญหาได้เยอะมากๆ อย่างคนที่เขาตื่นเต้น ไปสอนให้เขาพูดเสียงดังๆ หรือพยายามทำมือทำไม้ ก็จะมีสัญญาณหลายอย่างที่เขาควบคุมไม่ได้แล้วหลุดออกมาทำให้คนสังเกตเห็นว่ากำลังประหม่า เขาอาจพูดเสียงดังเพื่อกลบความกลัวก็ได้ เพราะฉะนั้นถ้าเราเริ่มจาก EQ (Emotional Quotient ) หรืออัจฉริยภาพทางอารมณ์ ปรับตั้งแต่ภายใน ก็เป็นการเสริมสร้างบุคลิกภาพที่ดีมากๆ ด้วยค่ะ

ความต่างระหว่างสังคมไทย และตะวันตก
“แคทออกจากระบบการศึกษาไทยตั้งแต่ ป.5 เลย สิ่งหนึ่งรู้สึกว่าเปลี่ยนแคทไปเยอะมาก ทำให้เราเป็นนักเขียนที่ดีขึ้น คืออเมริกาจะสอนให้เรารู้จักเรื่องการทำ Self-Reflection เหมือนให้เราค้นพบเบื้องลึกของตัวเราเอง คือให้คุยกับตัวเอง ถามคำถามหลายๆ อย่างที่เป็นการทำให้เรารู้จักตัวเองดีขึ้น เช่นชอบทำงานกับคนประเภทไหน มีความสุขที่สุดเวลาทำอะไร อะไรเป็นสิ่งที่เราทำในยามว่างแล้วสิ่งนั้นมีความหมายอะไรกับเรา

“พอกลับมาประเทศไทยได้คุยกับเพื่อน หลายๆ คนจะรู้สึกตื่นเต้นกับคำถามแบบนี้ ก็จะมานั่งคุยกันสนุกๆ แต่เขาอาจไม่ได้ฝึกทำอย่างนี้กับตัวเอง อย่างหนึ่งที่แคทรู้สึกว่ามันเปลี่ยนตัวเราเอง และเป็นเอกลักษณ์การศึกษาของที่นั่น คือการสอนให้เด็กเป็นคนรักเอกลักษณ์ของตัวเอง คุยกับตัวเอง ค้นพบในสิ่งที่ต่างจากคนอื่น และรักมันให้มากๆ”
บุคคลสำคัญที่ปลื้มเป็นพิเศษ
“แคทศึกษาประวัติศาสตร์จิตวิทยาสมัยที่เรียกว่า Behaviorism (พฤติกรรมนิยม) ของตั้งแต่ บี. เอฟ. สกินเนอร์ ขึ้นมา (B.F. Skinner หรือ Burrhus Frederic Skinner นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน เป็นผู้คิดทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบการกระทำ) สำหรับแคทมันเหมือนการศึกษาประวัติศาสตร์ แต่ไม่ได้ถึงขั้นมีนักจิตวิทยาในดวงใจ ส่วนหากถามว่ามีนักเขียนงานแนวเดียวกันในดวงใจหรือเปล่า แคทมีอยู่คนหนึ่งที่ปลื้มมากชื่อ ซูซาน เคน (SUSAN CAIN) เขาเขียนหนังสือชื่อ Quiet เขาพยายามต้อสู้ให้คนในอเมริกาเห็นว่า อเมริกาเป็นสังคมที่เสียงดัง สอนให้คนออกมาพูดแสดงความคิดเห็น แต่ส่วนตัวเขากลับเป็นคนเงียบ มีโลกส่วนตัวสูง การที่ต้องทำงานในวอลล์สตรีท ทำงานทนาย ทำให้ต้องพูดตลอดเวลา ซึ่งมันฝืนกับธรรมชาติของตัวเองตรงนี้คล้ายๆ กัน จึงไปศึกษาเพิ่มเติมว่าธรรมชาติเขาเป็นอย่างไร

“เขาเคยคิดมาตลอดว่าตัวเองแปลก หรือมีอะไรหรือเปล่าทำให้ไม่สามารถที่จะโผงผาง หรือต่อสู้ได้เหมือนทนายคนอื่น พอค้นพบสิ่งเหล่านี้เกี่ยวกับจิตวิทยาของคนลักษณะเฉพาะ เลยรู้ว่าเขามีเอกลักษณ์ขนาดไหน สามารถเปลี่ยนแปลงโลก เปลี่ยนทุกอย่างให้ดีขึ้น โดยเลือกทำงานที่เหมาะกับตัวเองจริงๆ และออกมาเป็นนักเขียนเรื่องเกี่ยวกับคนที่มีโครสร้างสมองลักษณะคล้ายๆ กัน ก็คือเป็น introvert (คนที่มีลักษณะ โลกส่วนตัวสูง) ตอนนี้จึงกลายเป็นกระแสที่ดังมากในอเมริกา คนที่เป็น introvert ก็ออกมาพูดมากขึ้น ได้ไปพูดบนเวทีโลก แล้วบิลเกตต์ก็บอกว่านี่คือการพูดที่เขาชอบที่สุด ซึ่งการเขียนของ ซูซาน เคน เป็นงานเขียนที่สวยมาก อ่านแล้วน้ำตาจะไหล ประทับใจมาก”

เริ่มต้นกับอาชีพนักเขียน
“ตั้งแต่ตอนเด็กแคทเป็นคนชอบการอ่านมาก ชอบเขียนด้วย คือมาคู่กัน สมัยอยู่มาแตร์ (โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย) คุณแม่ไปรับแทบทุกวัน ตอนนั้นมีห้างโซโก้ ไทยไดมารู ก็จะพาไปซื้อหนังสือแทบจะวันละเล่ม ซึ่งแคทรักการอ่านมาก ชอบเขียน อ่าน ศิลปะ ทีนี้เราโตมาในสภาพแวดล้อมของการทำธุรกิจ คุณพ่อเป็นนักธุรกิจทำงานกับ อากง อาม่า ซึ่งก็เป็นนักธุรกิจ คุณแม่ก็มีธุรกิจของตัวเอง เราเลยโตขึ้นมา ในครอบครัวที่มีแนวคิดแบบธุรกิจ แต่ยังไม่รู้ว่าต้องทำอะไร เลยไปเรียนต่างประเทศ”

จากความรักสู่ต้นฉบับงานเขียนชิ้นแรกในชีวิต
“มีโอกาสเขียนจริงจังช่วงมีการประท้วง Bangkok Shutdown ตอนนั้นธุรกิจแทบทุกที่ชะงัก ไม่มีการขยาย แคททำธุรกิจของตัวเอง แล้วได้เขียนหนังสือบ้าง เมื่อทำธุรกิจต่อไม่ได้จึงลุกขึ้นมาเขียนเป็นตัวขึ้นมา เหมือนฟ้าประทานนะคะ พอหนังสือออกมาได้รับความนิยมตั้งแต่อาทิตย์แรก แคทเลยยึดถือตรงนี้เป็นสิ่งที่ทำมาตลอด

“อันที่จริงแคทเริ่มต้นทำหนังสือของตัวเองตั้งแต่เด็กๆ คือเป็นสมัยหนังสือทำมือ แล้วพอเล่มแรกที่เขียนเป็นรูปเป็นร่างก็หนังสือนิทานเด็ก แล้วไปชนะรางวัลที่สิงคโปร์ ต้องแข่งกับนักเขียนเอเชียคนอื่นๆ ส่วนถ้าเป็นประเภท Non Fiction คือไม่ใช่แนวนิยาย Genius ทางอารมณ์ คือเล่มแรกของแคทค่ะ

รางวัล Children’s Literature
Children’s Literature เป็นรางวัลที่ได้จากหนังสือ ‘Amazing Tanida and Grandma Preat’ ลักษณะนิทานภาพของเด็กอายุประมาณ 5 – 10 ขวบ มันเป็นการแข่งขันระหว่างนักเขียนในอาเซียน แคทเขียนหนังสือเล่มนี้เป็นภาษาอังกฤษ มีแรงบันดาลใจมาจากคน และสิ่งรอบตัวทั้งนั้น โจทย์ของการทำหนังสือเล่มนี้คือการเขียนอะไรที่เป็นเอเซีย จึงอยากเขียนเรื่องเกี่ยวกับขนมไทย เพราะเดี๋ยวนี้เรามีพวกขนมกรุบกรอบ ขนมถุงสมัยใหม่ทำให้เราเริ่มหลงลืมขนมไทยไปแล้วว่ามีอะไรบ้าง อย่างตะโก้ ขนมชั้น กลีบลำดวน หรืออะไรที่ดูโบราณ เรียกว่าสิ่งที่เคยทำมาตอนเด็ก มันคือแรงบันดาลใจ แคทจึงเอามาเขียนเพื่อให้ประเทศอื่นเห็นขนมไทยที่น่าอร่อย แล้วเขียนเป็นกลอนภาษาอังกฤษ”

‘Genius ทางอารมณ์’
“ตอนที่รู้ว่าได้รับรางวัล กระโดดโลดเต้นอยู่ในใจ ดีใจมาก มันเป็นกำลังใจที่ดีมากๆ รู้สึกว่าโลกนี้ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ มันยากหมดอยู่แล้ว แต่ถ้าเราได้ทำในสิ่งที่มาทางของเรา แม้ยาก แต่จะเริ่มเห็นช่องทางต่างๆ มากขึ้น มันจะรู้สึกสนุกมากขึ้น อีกอย่างเมื่อมาถึงจุดที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นผลงานที่ดีก็รู้สึกมีพลังใจทำต่อ

“หนังสือ Genius ทางอารมณ์ เริ่มต้นเขียนมาคู่กันกับในส่วนของนิทาน ใช้เวลานานเพราะเป็น non fiction มีงานวิจัยที่ต้องอ่านเป็นร้อยๆ ชิ้น จากนั้นค่อยๆ วางโครงสร้าง ส่วน Children book มันง่ายตรงไม่มีโครงสร้างซับซ้อน มีแค่ ยี่สิบกว่าหน้า ซึ่งใช้ทักษะต่างกันโดยสิ้นเชิง

“เริ่มต้นแคทก็น่าจะมีความรู้สึกเหมือนนักเขียนหน้าใหม่หลายๆ คนนะคะ คือกลัวล้มเหลว ไม่เป็นที่นิยม ส่วนถ้าถามว่ากลัวตรงไหนไม่ดี ตรงไหนบกพร่อง แคทกล้าพูดตรงๆ เลยค่ะว่าเราดูแลมันเองทั้งหมดทุกขั้นตอน ถ้าตรงไหนไม่ออกมาเกิน 90% ของที่จิตนาการไว้จะไม่ปล่อยให้มันออกมา คือรู้ว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะทำอะไรให้เพอร์เฟกต์ 100% แต่ถ้าเรามัวกังวลแต่ตรงนี้งานก็จะออกมาช้า หรือเราจมอยู่กับมันจนถึงไฟใกล้จะหมด เราถึงต้องตัดใจ”

มีอะไรใน ‘Genius ทางอารมณ์’
“ในหนังสือ Genius ทางอารมณ์ ครึ่งแรกเป็นเรื่องจิตวิทยาของคนรอบตัว สอนให้เราเข้าใจว่าสัญชาตญาณของมนุษย์สอนให้เราชื่นชอบอะไร ทำให้เราหลงใหลกับสิ่งไหน มีปฏิกิริยากับอะไรหลายๆ ที่เรามองว่าไม่ดีหรือเปล่า เขาทำด้วยเหตุผลอะไร สามารถเข้าใจโลกรอบตัวเรา

“ส่วนสองเป็นเรื่องที่เขียนสนุกมากเพราะเกี่ยวกับตัวเราเอง เข้าใจถึงสารเคมีในสมองที่ทำให้เรามีลักษณะเป็นสัตว์สังคม เข้าใจการการกระทำหลายๆ อย่าง เช่นการเปรียบเทียบตัวเรากับคนอื่นอยู่เรื่อยๆ คือความอิจฉาที่เกิดจากตรงนี้มันเป็นสิ่งที่ดีนะคะ ไม่ได้แย่ เป็นสิ่งที่มีประโยชน์กับเรา เราต้องเข้าใจเพื่อใช้มันให้ถูกจุดประสงค์ ไม่มาทำให้ก่อความเครียด ทำร้ายสุขภาพจิตตัวเอง ซึ่งส่วนนี้เท่าที่ได้เห็นผลตอบรับจากผู้อ่านที่เขียนอีเมลมาหา เขาบอกว่ามันมีประโยชน์มากทำให้เข้าใจตัวเอง มีความสุขขึ้น รู้ต้นตอของปัญหา

“ข้อมูลที่ในนั้นเป็นเทคนิคที่แคททำกับตัวเอง พิสูจน์แล้วว่าได้ผล สร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตที่ดีขึ้นจริง ไม่ใช่แค่ทฤษฎี หรือเรื่องที่เราไปอ่านแล้วอยากมาเขียนเล่า หมายความว่าเราเข้าใจตรงนี้อย่างถ่องแท้จริงจึงอยากเอามาถ่ายทอดต่อ”

ทฤษฎีแบ่งพาย
ในหนังสือจะมีเรื่องการแบ่งพายของแคท คือถ้าไปดูส่วนโมเดลของ EQ จะแบ่งเป็น 4 อัน สี่กรอบ เป็นข้างซ้าย กับข้างขวา

“ข้างซ้ายเป็นเรื่องสภาพแวดล้อมคนรอบตัว ส่วนข้างขวาเป็นเรื่องของตัวเอง ถ้ามี EQ เราต้องมีทั้งสองอัน แต่ก็จะแบ่งอีก อย่างด้านสภาพแวดล้อมจะมีเรื่องการเข้าใจจิตวิทยาคนอื่น แล้วก็การบริหารจิตวิทยา อารมณ์ผู้อื่น ส่วนของตัวเราจะแบ่งเป็น 2 ทักษะเหมือนกัน คือการเข้าใจจิตวิทยาตัวเราเอง เชื่อว่าหลายคนเข้าใจแต่บริหารไม่ได้ หรือบริหารได้แต่ไม่เคยเรียนมาก็ไม่เข้าใจ ซึ่งหนังสือของแคทแบ่งเป็นพาย 2 ซีกให้คนได้เข้าใจง่ายๆ”

ผู้อ่านจะได้อะไรจาก Genius ทางอารมณ์
“มีผู้ที่อ่านจบเล่มแล้วบอกว่ารู้สึกปล่อยวางทางอารมณ์ เข้าใจอารมณ์ตัวเอง และคนอื่น กลายเป็นคนที่มีความสุขมากขึ้น สามารถออกไปทำงาน เจอผู้คน บริหารอารมณ์จากการมีปฏิสัมพันธ์ได้ดีขึ้น กลายเป็นคนที่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์สูง

วุฒิภาวะทางอารมณ์มันไม่ได้มากับอายุ เราโตขึ้นแต่อารมณ์อาจยังเป็นเหมือนสมัยห้าปีที่แล้ว สิบปีที่แล้ว หรือบางคนที่เป็นเด็กแต่เรารู้สึกว่าเขามีความเป็นผู้ใหญ่มาก และมีความกระจ่างกับโลก ตรงนี้เป็นเรื่องต้องฝึกฝน แม้บางครั้งมาตามธรรมชาติของคนบางประเภท แต่คนบางประเภทไม่ใช่ เราจึงต้องรู้จักป้อนอาหารให้ตัวเองตรงนี้

Genius ทางอารมณ์ เป็นอาหารให้คนที่ต้องการเสริมสร้าง พัฒนา หรือบางคนเก่งอยู่แล้วคิดว่ายิ่งทำให้แกร่งมากขึ้นเพราะเรามีความสุข มันเป็นหนังสือที่แคทคิดว่าถ้าให้เราจินตนาการ ว่าสิบปีที่แล้วอยากอ่านอะไร แคทก็อยากอ่านเรื่องแบบนี้ ให้มีคนมาบอกเรื่องพวกนี้กับแคทค่ะ
ขอบคุณสถานที่ : Hotel Muse ,Bangkok : Hotel : Bar : Italian Restaurant
0 – 2630 – 4000 www.hotelmusebangkok.com

user's Blog!

49/1 ชั้น 4 อาคารบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

49/1 4th floor, Phra-A-Thit Road, Chanasongkhram,Phanakorn Bangkok 10200

Tel. 02 629 2211 #2256 #2226

Email : mars.magazine@gmail.com

FOLLOW US ON

SUBSCRIBE