“กัญชาใช้มากไปก็เพี้ยน อำนาจใช้มากไปประเทศก็พัง” ไข่ มาลีฮวนน่า



บนเวทีคอนเสิร์ตและในแวดวงศิลปินเพลงเพื่อชีวิต ‘ไข่ มาลีฮวนน่า’ หรือ ‘คฑาวุธ ทองไทย’ ถือเป็นนักร้องที่มีน้ำเสียงทรงพลังและการแสดงสดเป็นเอกลักษณ์ มีแฟนเพลงติดตามผลงานอย่างเหนียวแน่นที่สุดคนหนึ่ง หลายห้วงเวลา เมื่อมีการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคม หรือกลุ่มคนตัวเล็กๆ ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิอันพึงมีพึงเป็นของตัวเองซึ่งถูกล่วงล้ำ ลิดรอน เรามักจะเห็นเขาปรากฏตัวร่วมในการเคลื่อนไหวเสมอ “ทำเท่าที่ทำได้ ใช้บทเพลงเป็นสื่อ ให้กำลังใจกัน” ล่าสุด เมื่อมีกิจกรรม ‘เดินเพื่อผู้ป่วย : กัญชารักษาโรค’ ของหมอเดชา ศิริภัทร เขาเข้าร่วมเพราะเห็นด้วยกับแนวคิดของหมอพื้นบ้านท่านนี้ในการผลิตยาจากกัญชาเพื่อใช้บำบัดรักษาผู้ป่วยบางโรคอย่างไมเกรน ลมชัก มะเร็งที่ไม่สามารถเข้าถึงยาและการรักษาได้ ถือเป็นการลุกขึ้นมาเพื่อเป็นปากเสียงแทนผู้ป่วยซึ่งเป็นชาวบ้าน “คนใกล้ตายรอได้ไหม รอให้ออกกฎหมายได้ไหม รอไม่ได้!” เขาบอก “คนเราเวลาจะจมน้ำ เมื่อมีกิ่งไม้เล็กๆ ลอยมา ก็จับกิ่งไม้นั้นด้วยความหวัง”

mars talk มีนัดชวนคุยกับ ‘ไข่ มาลีฮวนน่า’ ในหลากหลายประเด็นเกี่ยวกับกัญชา ทั้งเพื่อทางการแพทย์ สันทนาการ คุณและโทษ ประโยชน์ที่คนในประเทศจะได้หากปลดล็อกกัญชาเสรี รวมถึงมุมมองที่ต้องทำความเข้าใจใหม่ และภาพผู้ร้าย 30 ปีที่ผ่านมาของกัญชา ซึ่งเขาย้ำว่าเป็นเรื่องจริงที่มักไม่ค่อยมีใครพูดถึง

เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา เห็นอาจารย์ไข่ เข้าร่วมเดินกับหมอเดชา ศิริภัทร ในการรณรงค์ให้ปลดล็อกกัญชาเสรีเพื่อการแพทย์ มองเห็นอะไรในกิจกรรมนี้ เห็นอะไรในสิ่งที่หมอเดชาได้ทำไว้

ผมมองว่ามันเป็นความล่มสลายของบรรดาผู้ล่าอาณานิคม ผู้เคยอยู่ใต้อาณัติเริ่มแข็งแรงขึ้น พูดแบบตรงไปตรงมาคือโลกตะวันตกอ่อนแรงลง เริ่มมีการกลับคืนมาสู่โลกของภูมิปัญญาตะวันออก สิ่งที่ถูกกดทับกำลังจะกลับคืนมาในปัจจุบัน

ในอดีตผมคือลูกหมอยา พ่อผมคือหมอยาพื้นบ้าน หมอยาสมุนไพร สิ่งที่พ่อบอกในสมัยเด็กคือกัญชาเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่ง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยผอมแห้งแรงน้อยกินข้าวได้ นอนหลับ ทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น นั่นคือความรู้ในอดีต กับอีกสิ่งที่ถูกกดทับมาโดยตลอดคือกัญชาเป็นยาเสพติด ต้องหลบๆ ซ่อนๆ แต่ตลอดการร่วมเดินรณรงค์กับคุณหมอเดชา ศิริภัทร ผมได้ความรู้มากมายมหาศาลเหลือเกิน หมอเดชาได้ให้ความรู้มากกว่าสิ่งที่ผมรู้มาในอดีต หนึ่งคือคุณหมอเดชาทดลองใช้กัญชาด้วยตัวเองเมื่ออายุ 65 ปีจนถึงอายุ 71 ปี เยียวยาอาการมือสั่น ซึ่งคือต้นเหตุโรคพาร์กินสันแล้วหาย สองคุณหมอเป็นต้อกระจกแล้วใช้น้ำมันกัญชารักษาก็หาย ตาของชายวัย 71 ใสเหมือนตาของเด็ก ไม่ต้องใช้แว่นสายตา สามโรคคือไมเกรนก็หาย สี่คือสมองซึ่งนักวิทยาศาสตร์ทดลองมาแล้วว่าซีกขวาสร้างสรรค์ ซีกซ้ายความทรงจำ สมองจะเชื่อมซีกขวาและซ้ายเข้าด้วยกัน

นั่นคือสิ่งที่คุณหมอเดชาทดลองกับตัวเอง ขณะเดียวกันก็รักษาผู้ป่วยด้วย มีการจดบันทึกสถิติโดยทีมงานอย่างละเอียดจากผู้ป่วย 3,000 กว่ารายที่เป็นโรคมะเร็ง อัลไซเมอร์ โรคลมชัก รักษาอย่างต่อเนื่อง ปรากฏว่าหลายโรคมีอาการดีขึ้น ส่วนที่หายเลยนี่คือไมเกรน พาร์กินสัน นี่คือสิ่งยืนยันว่ากัญชามีประโยชน์จริงๆ จากผู้ที่ทดลองใช้จริงๆ มาแล้วยาวนานอย่างคุณหมอเดชา

กัญชาเพื่อการแพทย์ กับเพื่อสันทนาการ ต้องไปพร้อมๆ กันไหม?

ต้องยอมรับว่าประเทศไทยเราเอง เราไม่สร้างทรัพยากรบุคคลให้มีวินัยมาอย่างยาวนาน มันมีสองส่วนคือผู้รักษากฎหมาย ผู้ใช้กฎหมาย กับผู้ที่ถูกบังคับโดยกฎหมาย ถ้าหากไม่ลูบหน้าปะจมูกเองแล้ว มันสามารถที่จะควบคุมโดยวินัยได้ อย่างโซนนิ่งในโลกตะวันตกเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีห้าม ทำไมในสวีเดน ฮอลแลนด์ ในหลายๆ รัฐของอเมริกาเขาถึงสามารถทำได้ ผมว่าสันทนาการไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ บังคับโซนนิ่งแบบพอเหมาะพอดี ทุกเรื่องในโลกใบนี้ถ้าเกินพอดี เกินสมดุลมันก็เป็นโทษ เป็นพิษ เป็นภัยทั้งสิ้น

ในส่วนอื่นๆ หากสามารถทำเป็นอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องอุปโภค บริโภค มูลค่ามันจะมหาศาลมากๆ ถ้าเราเปิดกว้างในทุกภาคส่วน ในวิสาหกิจชุมชนของชาวบ้าน เหมือนที่ภาครัฐทำเรื่องใยกัญชง แต่สังคมกลัวภาพผู้ร้าย 30 ปีที่ผ่านมาของกัญชาที่ถูกมองเป็นยาเสพติด ภาพมันน่ากลัวนะระหว่างคนหนึ่งสูบกัญชากับอีกคนที่สูบบุหรี่ ทั้งที่นิโคติน แอลกอฮอล์โทษของมันมีมากกว่ากัญชามากมาย แต่เรื่องของผลประโยชน์ เรื่องของธุรกิจต่างหากที่ทำให้กัญชาถูกกดทับ ฉะนั้นเขาถึงได้กลัวว่าหากกัญชาเสรีขึ้นมาจริงๆ คนจะสูบกัญชาพันลำทั่วบ้านทั่วเมือง แล้วที่ทุกปีทุกเทศกาลที่เรามานั่งนับศพกันอยู่ ไม่ใช่มาจากแอลกอฮอล์เหรอ ไม่เคยเห็นควบคุมกันได้เลย

ไม่แน่ ลองทดลองจัดโซนนิ่งพิเศษดูสิ กลุ่มที่สูบกัญชาพันลำ หรือดื่มเบียร์ที่ทำจากกัญชาอย่างที่ต่างประเทศเขาทำกัน กับกลุ่มที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แล้วลองมาดูผลที่ตามมา เรื่องของอุบัติเหตุ ว่ามีผลที่ลดน้อยลงหรือเพิ่มขึ้นต่างกันอย่างไร ตอนนั้นแหละที่เราจะเข้าใจเรื่องของสันทนาการ ที่คนกลัวทั่วบ้านทั่วเมืองว่าถ้าเปิดเสรี คนจะหันมาสูบกัญชากันหมด ของที่มันถูกปิด ถูกกดมาตลอด 30 ปี อยู่ๆ จะให้มาพลิกความคิด ความเชื่อภายในวันสองวัน คงไม่ใช่เรื่องที่ง่ายดายสักเท่าไหร่

ถ้าเกิดมีการเปิดเสรีกัญชาจริงๆ สิ่งที่ประชาชนจะได้ประโยชน์คืออะไรบ้าง

ถอยหลังกลับไป 30 ปี ชาวบ้านเขาปลูกกัญชา ปลูกกระท่อมกันได้ปกติ ก่อนจะมี พ.ร.บ. ให้กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 อย่างคนภาคใต้ก่อนจะลงนาเขาจะเคี้ยวใบกระท่อม ย้ำอีกทีเคี้ยวใบกระท่อม ไม่ใช่ 4 คูณ 100 นะ ซึ่งใบกระท่อมช่วยให้สู้แดดสู้ฝนได้ ขึ้นจากงานนากลับบ้านเมียก็ต้มแกงกับข้าวใส่ใบกัญชา กินแล้วผ่อนคลาย หลับได้สบาย นี่คือตัวอย่างของประโยชน์ที่เห็นเป็นรูปธรรมง่ายๆ ในวิถีชีวิตของชาวบ้าน

เอาเข้าจริงๆ แล้ว ประเทศไทยจะปลดล็อกและปล่อยให้ประชาชนใช้กัญชาเสรีทางการแพทย์ได้หรือไม่ หรือท้ายสุดแล้วเราต้องรอกลุ่มทุนขนาดใหญ่ผลิตออกมาขาย จึงจะเข้าถึงได้

ไม่ใช่เรื่องซับซ้อนหรอก มันเป็นเรื่องของผลประโยชน์อย่างเดียว ซึ่งเรายังไม่รู้ว่ากลุ่มไหนจะได้ผลประโยชน์ ซึ่งผมก็ไม่ได้เจาะลึกเรื่องนี้ แต่ถึงจะไม่รู้ว่ากลุ่มไหน อย่างไรก็แล้วแต่ ขออย่าให้มีการผูกขาดสัมปทาน หากเป็นวิสาหกิจชุมชน ภาครัฐ มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล มารวมตัวกันตั้งกลุ่มผ่านระบบกระบวนการต่างๆ แล้วเสียภาษี อันนี้ผมถือว่าได้ผลประโยชน์ทุกภาคส่วนเลย

ขณะภาคประชาชนอย่างคุณหมอเดชาใช้กัญชาทางการแพทย์และทดลองรักษาผู้ป่วยเห็นผลในทางที่ดีขึ้นนานแล้ว แต่หน่วยงานของภาครัฐเพิ่งจะเห็นความสำคัญเรื่องนี้

ข้อที่หนึ่งเลย ผู้ป่วยเป็นมะเร็ง คนใกล้ตายรอได้ไหม รอให้ออกกฎหมายได้ไหม รอไม่ได้ การทำผิดติดคุกนี่ตายไหม ไม่ตาย เป็นหนี้เป็นสินตายไหม ไม่ตาย เป็นมะเร็งตายไหม ตาย ย้ำอีกครั้งความตายรอไม่ได้ ผมก็ตามข่าวเหมือนทุกคนในประเทศตามข่าวนั่นแหละ ที่คุณหมอเดชาบอกว่า ลองดูไหม เอาผู้ป่วยที่เป็นไมเกรนสัก 100 คน มาแบ่งครึ่ง หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขครึ่งหนึ่ง ทดลองรักษาด้วยวิธีการแพทย์สมัยใหม่สัก 7 เดือน คุณหมอเดชาครึ่งหนึ่ง ทดลองรักษาด้วยวิธีการของตัวเองสัก 2 เดือน แล้วมาดูกันว่าของใครหายมากน้อยกว่ากัน

ทำไมคุณหมอเดชากล้าลุกขึ้นมาท้าทาย ก็เพราะมันเป็นการลุกขึ้นมาเพื่อเป็นปากเสียงแทนผู้ป่วยที่เป็นไมเกรน เป็นมะเร็ง และโรคอื่นๆ ซึ่งเป็นชาวบ้าน เป็นคนยากไร้ ไม่มีเงินทอง เขาไม่รู้ว่าจะไปทางไหน ไม่รู้จะเข้าหาใคร คนเราเวลาจะจมน้ำ เมื่อมีกิ่งไม้เล็กๆ ลอยมา ก็จับกิ่งไม้นั้นด้วยความหวัง นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานในสังคมไทยและสังคมโลก ปฏิเสธไม่ได้ในด้านหลังของความมืด หลายคนไม่ได้มองชีวิตมนุษย์ด้วยกันเป็นมนุษย์ แต่มองเป็นผักปลา เป็นแค่หน่วยนับในสกุลเงินต่างๆ เท่านั้น คุณหมอเดชาจึงเป็นเสมือนกิ่งไม้เล็กๆ นั้นสำหรับชาวบ้าน เราจึงต้องออกมาช่วยกันเยอะๆ ประเทศไทยมีพลเมืองประมาณ 70 ล้านคน ลงชื่อได้ไหมสัก 20 กว่าล้านคน แล้วเสนอชื่อให้กับรัฐบาล เอาเรื่องทางการแพทย์ก่อน แล้วค่อยขยับไปสู่อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ทั้งใช้ในประเทศและส่งออก ผมเชื่อมั่นว่าทำได้ อย่าปล่อยให้คุณหมอเดชาต่อสู้อยู่อย่างเดียวดายเพียงลำพัง ต้องมาช่วยกัน

ตอนนี้ดูเหมือนพอจะมีความหวังอยู่บ้างจากการขับเคลื่อนของภาคประชาชน

โลกใบนี้มักถูกเปลี่ยนแปลงด้วยคนตัวเล็กๆ เสมอมา ใช่หรือไม่ในคืนที่มืดมิด แสงหิ่งห้อยเล็กๆ ก็เป็นแสงสว่างเทียบแสงจันทราได้ ถ้าเกิดแสงหิ่งห้อยเล็กๆ รวมกันเยอะๆ มันจะเป็นพลังแสงแห่งความหวังในค่ำคืนมืดมิดได้ นี่คือความหวังของคนตัวเล็กๆ

มีมุมไหนบ้างที่คนส่วนใหญ่ต้องทำความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับกัญชา

30 ปีมาแล้วที่กัญชาถูกทำให้เป็นผู้ร้าย เพราะฉะนั้นการต้องทำความเข้าใจใหม่จึงจำเป็นอย่างยิ่งยวด ต้องเอาตัวอย่างของผู้ป่วยที่หายจากมะเร็ง พาร์กินสัน ไมเกรน ลมชัก และอื่นๆ มาเผยแพร่ผ่านสื่อกระแสหลักต่างๆ ให้เยอะๆ เพื่อทำความเข้าใจกับคนในบ้านหลังใหญ่ที่ชื่อประเทศไทย ผมเชื่อว่าความเข้าใจจะเกิดขึ้นตามมา ใครที่ไม่มีญาติ พี่น้อง หรือคนในครอบครัวเป็นผู้ป่วย เขาจะไม่มีวันรู้หรือเข้าใจในความทุกข์นั้นหรอก เพราะฉะนั้น ต้องใช้เวลา ต้องมีผู้นำ ซึ่งแน่นอนว่าผู้นำต้องเหนื่อย ต้องเดินเข้าไปในทุกภาคส่วนเพื่อสร้างความเข้าใจใหม่ให้เกิดขึ้นว่ากัญชาไม่ใช่ผู้ร้ายฆ่าคน อย่างที่บอกนั่นแหละ ทุกอย่างอย่าใช้ให้มากเกินไป กัญชาถ้าใช้มากเกินไปก็เพี้ยน เหล้ากินมากเกินไปก็ตับแข็ง อำนาจถ้าใช้มากเกินไปประเทศก็พัง

อย่างล่าสุดมีข่าวกัญชา 22 ตันกำลังจะถูกเผา ขณะที่คุณหมอเดชาไม่มีวัตถุดิบในการผลิตเพื่อรักษาผู้ป่วย เพราะวัตถุดิบนามว่ากัญชายังถูกขังกรงอยู่ ใช้เมื่อไหร่ถูกจับเมื่อนั้น แม้แต่คนที่ใช้น้ำมันกัญชาเพื่อบำบัดความป่วยไข้ของตัวเองยังถูกตั้งด่านลอยเพื่อรีดไถเงิน มันเป็นเรื่องน่าเศร้าใจ น่าสะเทือนใจ แต่เป็นเรื่องจริงที่มักไม่ค่อยมีใครพูดถึง

เคยให้สัมภาษณ์ว่าตัวเองก็เป็นโรคเกาต์ ไมเกรน เคยทดลองรักษาด้วยกัญชาไหม ได้ผลยังไง

ใช่ครับ ที่ผมไปร่วมกับหมอเดชา นอกจากช่วยรณรงค์เพราะเห็นด้วยกับแนวคิดของท่านแล้ว ส่วนหนึ่งผมไปปรึกษาเรื่องการรักษาตัวเองด้วย ตอนนี้ไมเกรนผมหายแล้ว เหลือโรคเกาต์ ส่วนหนึ่งมาจากตับผมไม่ดี โรคเกาต์ถ้าผมรักษาด้วยวิธีการแพทย์สมัยใหม่มันจะส่งผลต่อตับ ถ้าตับมีปัญหาก็จะส่งผลถึงไต ถ้าไตผมวาย ผมก็จะตายไว ผมยังอยากอยู่ดูโลกใบนี้ไปอีกนานๆ ยังมีเรื่องราวมากมายที่อยากทำ

จากนี้มีโครงการ หรือมีกิจกรรมอะไรที่จะทำเพื่อรณรงค์ในเรื่องนี้บ้าง

ไม่ใช่ผมคนเดียวหรอก ในบรรดาศิลปินทุกแขนง หรือทุกอาชีพให้ร่วมกันกับคนที่เห็นด้วยมาลงชื่อเยอะๆ แล้วส่งไปให้ส่วนกลางหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้ ให้ปลดล็อกกัญชาออกจาก พ.ร.บ. ยาเสพติดประเภท 5 ทำเท่าที่คนตัวเล็กๆ เสียงเล็กๆ จะร่วมกันทำได้

แว่วข่าวมาว่ากำลังจะมีคอนเสิร์ต 25 ปี มาลีฮวนน่า

ใช่ครับ ผมจะจัดช่วงปลายปีนี้ สถานที่มองไว้กับทางทีมงานคือเมืองทองธานี นอกเหนือจากโซนดนตรี ผมอยากยกแนวคิดจากงาน ‘ไทยแลนด์ 420 พันธุ์บุรีรัมย์’ และยกกิจกรรม องค์ความรู้ของคุณหมอเดชามาไว้ในภาคกลางวัน อยากให้มีเสวนากัญชาทางการแพทย์ แล้วให้ผู้ป่วยมาร่วมเสนอและแชร์ความคิด ประสบการณ์ต่างๆ สู่กันฟัง นี่คือสิ่งที่ผมตั้งใจจะทำ จากนั้นที่คิดไว้คือช่วงปี 2563 จะตระเวนไปภาคต่างๆ ใช้ดนตรีเป็นตัวนำ แล้วเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับกัญชาอย่างที่คุณหมอเดชาทำ

ส่วนในเรื่องงานเพลง ผมกำลังจะทำอัลบั้มชื่อ ‘25 ปี อย่าสิ้นหวัง’ ทำไมต้องไม่สิ้นหวัง เพราะเพลงมาลีฮวนน่าเป็นเพลงที่มาจากข้างใน มีเพลงหนึ่งชื่อ ‘หัวใจละเหี่ย’ บอกถึงโลกนี้มันสับสน ผู้คนผู้คนสร้าง บางครั้งหัวใจสะอื้น นั่นคือเมื่อ 25 ปีก่อน ในวันนี้เราอยากบอกคนคนนั้น หรือคนที่มีหัวใจละเหี่ยคล้ายๆ กันว่า อย่าสิ้นหวัง ให้มีหวังในชีวิต
ผู้ช่วยช่างภาพ : ธนกร เย็นสายสุข

user's Blog!

49/1 ชั้น 4 อาคารบ้านเจ้าพระยา ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

49/1 4th floor, Phra-A-Thit Road, Chanasongkhram,Phanakorn Bangkok 10200

Tel. 02 629 2211 #2256 #2226

Email : mars.magazine@gmail.com

FOLLOW US ON

SUBSCRIBE